การประกาศรวมกิจการกันของ บล.เอบีเอ็น แอมโร เอเชีย และ บล.แอสเซ็ท พลัส
เป็นการบ่งบอกแนวโน้มที่แจ่มชัดว่า ก่อนถึงเดือนมกราคม 2548 บริษัทหลักทรัพย์ในระบบทั้งหมดจะต้องลดน้อยลงเหลือไม่ถึง
37 แห่ง
ลูกค้าที่เทรดหุ้นอยู่กับโบรกเกอร์เบอร์ 8 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอบีเอ็น
แอมโร เอเชีย (AST) น่าจะพอใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้รับทราบว่าโบรกเกอร์ที่เขาใช้อยู่
กำลังมีแผนจะควบรวมกิจการกับ บล.แอส เซ็ท พลัส (ASSET) เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสในการทำกำไรให้เขาเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยได้รับจากการเทรดหุ้นในกระดานเป็นหลัก
โดยจะได้รับกำไรจากสิทธิในการซื้อหุ้นจอง (Initial Public Offering : IPO)
เข้ามาอีก
"การรวมกิจการกันของเรา จะเป็นลักษณะ 1+1 ที่มีผลลัพธ์มากกว่า 2" ดร.ก้องเกียรติ
โอภาสวงการ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร ASSET ประกาศในวันแถลงข่าวการควบรวมกิจการ
เมื่อต้นเดือนก่อน
ทั้ง AST และ ASSET ต่างมีจุดเด่นในการทำธุรกิจที่ไม่เหมือนกัน AST มีความโดดเด่นในเรื่องการเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้น
ครองส่วนแบ่งตลาดมูลค่าการซื้อขายหุ้นบนกระดานเป็นอันดับ 2 รองจาก บล. กิมเอง
ส่วน ASSET ถือเป็น บล.ที่มีความชำนาญเรื่องการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาด
ครองส่วนแบ่งการเป็นที่ปรึกษาในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นแกนนำในการจัดจำหน่ายหุ้น
IPO ถึง 57% เป็นอันดับ 1 ของ บล.ที่ทำธุรกิจ นี้ทั้งระบบ
ที่สำคัญคือหุ้น IPO ที่ ASSET เป็นที่ปรึกษาและแกนนำในการอันเดอร์ไรต์
ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ถูกจัดให้เป็นหุ้นบลูชิป และเมื่อหุ้นตัวนั้นได้เข้ามาซื้อขายในตลาดแล้ว โอกาสที่ลูกค้าซึ่งได้สิทธิ์ในการซื้อหุ้นจะได้รับกำไร มีมากกว่าขาดทุน
ขณะที่ AST แม้จะเป็นโบรกเกอร์รายใหญ่ มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายมากกว่าเดือนละ
10% แต่ธุรกิจนี้ก็กำลังจะพบกับจุดปรับเปลี่ยนที่สำคัญ เมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กำลังจะยกเลิกการกำหนดอัตราค่านายหน้าขั้นต่ำในเดือนมกราคม 2548
นโยบายนี้จะมีผลทำให้ บล.ที่เน้นแต่ธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2543-2544 ซึ่งมีผลให้หลายบริษัทต้องขายใบอนุญาตทิ้ง
แล้วหันไปทำธุรกิจอื่น
AST ก็ไม่แตกต่างจากบริษัทเหล่านี้ เพราะทุกวันนี้รายได้หลักของ AST คือค่านายหน้าในการซื้อขายหลักทรัพย์
ทางออกที่ดีที่สุดของ AST หากไม่รีบหาธุรกิจอื่นทำเพิ่ม เพื่อกระจายสัดส่วนรายได้
ก็ต้องหาพันธมิตรใหม่ ที่จะสามารถช่วยเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน
AST เลือกประการหลัง
การรวมกิจการกันของ AST และ ASSET มีสะพานเชื่อมสำคัญอยู่ 2 จุด
จุดแรก ทั้ง AST และ ASSET มีธนาคารกรุงเทพ และคนในตระกูลโสภณพนิช ร่วมเป็นผู้ถือหุ้น
โดย AST นั้น ธนาคารกรุงเทพถืออยู่ในสัดส่วน 9.95% นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอเซียเสริมกิจ
โฮลดิ้ง คัมปะนีของตระกูลโสภณพนิช ถืออยู่อีก 10.28% ชาตรี โสภณพนิช พ่อของชาลี
โสภณพนิช ประธานกรรมการ AST ถืออยู่ 2.13% และสิริญา โสภณพนิช 2.05% ไม่นับรวมบัณฑร ลิ้วประเสริฐ คนเก่าคนแก่ของชาตรี ที่มีส่วนถือหุ้นอยู่ด้วย 0.88%
ส่วน ASSET มีธนาคารกรุงเทพ ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 7.50% และตัวของชาตรีก็ยังถือหุ้นในนี้ด้วย 8.22%
การเจรจาตกลงที่จะรวมกิจการกันในส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงไม่น่าเป็นปัญหา
โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ ที่ย่อมต้องมองเห็นถึงอนาคตของ AST ภายหลังเดือนมกราคม
2548 อย่างแจ้งชัดแล้ว
สะพานเชื่อมจุดที่ 2 น่าจะอยู่ที่ตัวของ ดร.อุดมศักดิ์ ชาครียวณิชย์ กรรมการผู้จัดการ ASSET
"จุดเริ่มต้นของการควบรวมกิจการกันครั้งนี้ เกิดจากการพูดคุยกันของผู้บริหาร
ของทั้ง 2 บริษัท และเห็นพ้องต้องกันถึงแนวทางนี้" เป็นคำตอบของ ดร.ก้องเกียรติ
ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่ถามในวันแถลงข่าวว่า Deal นี้ระหว่าง
AST กับ ASSET ใครเป็นผู้เริ่มต้นชักชวนกันก่อน
ดร.อุดมศักดิ์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กับดร.ก้องเกียรติ ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งใน ASSET เขาเคยเป็นรองประธาน
บริหารอาวุโส ของบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON)
แต่ก่อนที่ ดร.อุดมศักดิ์จะเข้าไปทำงานใน STECON เขาเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ
ให้กับ AST ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเพียง บล.เอเชีย อยู่ถึงกว่า 3 ปี ทำหน้าที่ดูแลลูกค้าเทรดหุ้นที่เป็นนักลงทุนต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาวะการซื้อขายหุ้นขณะนั้นในแต่ละวัน
ในนาม บล. เอเชียกับผู้สื่อข่าว
การรวมกิจการกันครั้งนี้ใช้ลักษณะ ที่ให้ AST เป็นผู้เข้าไปซื้อ ASSET
โดยการแลกหุ้น ผู้ถือหุ้นของ ASSET 1 หุ้น สามารถ แลกเป็นหุ้นของ AST ได้
1.083333 หุ้น และหลังจากการรวมกิจการ มูลค่าของ AST จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 12,000
ล้านบาท
ส่วนโครงสร้างการบริหาร ชาลี โสภณพนิช จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ (Chairman)
ดร.ก้องเกียรติเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ประทีป ยงวณิชย์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการ
ดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ ดร.อุดมศักดิ์เป็นกรรมการผู้อำนวยการ ดูแลธุรกิจวาณิชธนกิจ
ถือเป็นโครงสร้างของบริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถทำธุรกิจได้อย่างครบวงจร
ทั้งทางด้าน Trading และ Investment Banking ที่มีทั้งธนาคารกรุงเทพ และธนาคาร
ABN Amro คอยหนุนหลัง