ข้ามฟ้าสู่เวียนนาโครงการเปิดโลกศิลปะไทย - ญี่ปุ่นข้ามฟ้าสู่เวียนนาเพื่อการกุศลสู่ดินแดนมาตุภูมิ
นิทรรศการศิลปะจะเกิดขึ้นที่ Palais Harrach พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่เก่าแก่ใหญ่โตแห่งหนึ่ง
ณ กรุงเวียนนา เมืองหลวงของประเทศออสเตรียในวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2543 นี้
โดยประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย ดร.โทมัส ไครส์ติล ให้เกียรติมาเปิดงาน
เป็นงานใหญ่ระดับประเทศที่มี นวรัตน์ กิติยากร ณ อยุธยา ผู้หญิงไทย ตัวเล็กๆ
คนหนึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดงานนี้ขึ้น
ชื่อของนวรัตน์ในเมืองไทยเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มคนที่สนใจอ่านเรื่องราว
ต่างๆ ในราชวงศ์ของไทย เพราะเธอได้ถ่ายทอดถ้อยคำบรรยายเรื่องเหล่านั้นผ่านนามปากกาที่ชื่อว่า
"พานพระศรี" และยังมีผลงานเกี่ยวกับสารคดีการท่องเที่ยวต่างๆ อีกมากมาย
รวมทั้งเคยเป็นประชาสัมพันธ์ระดับแนวหน้าของโรงแรมใหญ่ๆ หลายโรงแรม และปัจจุบัน
เป็นผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ในเครือบริษัทประสิทธิ์พัฒนา จำกัด ของ
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์
แต่ในกรุงเวียนนาหลายคนรู้จัก เธอในฐานะคนไทยคนเดียวที่ได้รับรางวัลเหรียญทองเวียนนา
ฟิลฮาร์โมนิกา (Wiener Philharmoniker) ซึ่งมีผลงานเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศออสเตรียให้รู้จัก
ด้วยข้อเขียนสารคดีทางภาพยนตร์และวิดีโอต่างๆ เธอได้รับรางวัลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศออสเตรีย
หลังจากที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ติดตามผลงานของเธอไม่น้อยกว่า 10 ปี
ย้อนหลังกลับไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน ช่วงหนึ่งของเวลาที่ผ่านเลยมานั้น
เธอได้มีโอกาสขับรถท่องเที่ยวไปทั่วยุโรป และในการเดินทางครั้งนั้นเธอได้ไปหลงทางอยู่ในกรุงเวียนนา
และปรากฏว่าในเวลาต่อมาเธอได้หลงรักเมืองเล็กๆ ทางเหนือของเทือกเขาแอลป์
ซึ่งมีแม่น้ำดานูบไหลผ่านนี้เป็นอย่างมาก จนต้องแวะเวียนกลับมาเที่ยว อีกหลายต่อหลายครั้ง
"จนถึงวันนี้พี่กลับไปกรุงเวียนนาไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง ได้รับเชิญบ้าง
ไปท่องเที่ยวพักผ่อนบ้าง ไปทำงาน ทำสารคดีต่างๆ เป็นเมืองที่พี่ชอบมาก หน้าร้อนก็ชอบสีสันอันสวยงามของดอกไม้
หน้าหนาวก็เล่นสกี เมืองนี้เคยเป็นจักรวรรดิที่รุ่งเรืองมากในอดีต และพี่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์
การได้คุยกับชาวบ้านสูงอายุในชนบท ทำให้เราได้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์
ที่บางเรื่องไม่มีการบันทึกด้วยซ้ำไป" นวรัตน์พูดถึงเสน่ห์ของเมืองเวียนนาให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
"ที่มาของงานศิลปะนี้เกิดจากเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ในประเทศญี่ปุ่นได้มีองค์กรอิสระหนึ่งชื่อ
"อาซาฮี อาร์ต คอมมิวนิเคชั่น" ซึ่งมีศิลปินสมัคร เล่นสมัครมาเป็นสมาชิกไม่ต่ำกว่า
3,000 คน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนและเจ้าของกิจการกลุ่มหนึ่ง ที่หลังจาก
รีไทร์ตัวเองจากตำแหน่งทางธุรกิจต่างๆ แล้วก็จะมีไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบเหมือนกันคือ
การวาดภาพ และการท่องเที่ยวไปทั่วโลก ต่อมาคนกลุ่มนี้ก็มีความคิดว่าแทนที่จะท่องเที่ยวอย่างเดียวก็น่าจะทำประโยชน์อะไรคืนให้สังคมด้วย
เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่าน่าจะรวบรวมผลงานฝีมือตัวเองไปจัดนิทรรศการด้วย รายได้ที่ได้มาก็จะได้บริจาค
เพื่อการกุศล ให้ประเทศนั้นๆ ไป" เธอเล่าย้อนให้ฟังถึงที่มาของงาน
ส่วนสาเหตุที่เมืองไทยได้เข้าไปร่วมงานนี้ด้วยเป็นเพราะว่า Mr.Shimizu
ประธานของอาซาฮี อาร์ต ได้มาปรึกษาหารือกับฝ่ายไทยคือ โชติ พึ่งเจริญพงศ์
ประธานวิมานเอ็นเตอร์ไพรซ์ และสามีของนวรัตน์ คือ ม.ร.ว.สมลาภ กิติยา-กร
ซึ่งช่วยงานการกุศลของสภากาชาดไทยเรื่องเอดส์มานานแล้ว ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้เงินจากการท่องเที่ยวเข้ามา
และยังได้เงินบริจาคองค์การกุศลด้วย
งานนิทรรศการศิลปินญี่ปุ่นก็เลยเกิดขึ้นในเมืองไทยครั้งแรก เมื่อปี 2541
ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผลงานที่นำมาแสดงประมาณ 400 ภาพ รายได้จากงานนี้ได้มอบให้สภากาชาดไทยในโครงการลดเอดส์จากแม่สู่ลูก
ซึ่ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระ วรราชาทินัดดามาตุ ทรงเป็นประธานอยู่
"ปีที่แล้วศิลปินเหล่านั้นพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เข้าเฝ้าด้วย บางคนก็อายุมากแล้ว บางคนก็หูตึงแต่ในหลวงท่านคุยด้วยอย่างไม่ถือพระองค์
ทำให้คนกลุ่มนี้ประทับใจกันมาก และจะกลับมาแสดงผลงานอีกครั้งในเมืองไทย ในวันที่
29 พฤศจิกายน 2542 นี้ที่หอศิลปแห่งชาติถนนเจ้าฟ้า โดยรายได้ทั้งหมดเข้ามูลนิธิชัยพัฒนา"
จากความสำเร็จในการจัดงานที่กรุงเทพฯ เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ทาง
อาซาฮีอาร์ต ต้องการจัดงานใหญ่อย่างนี้ในประเทศอื่นบ้าง โดยเสนอให้นวรัตน์เป็นคนจัดการเรื่องพิธีการต่างๆ
ให้
ซึ่งเธอก็ตกลง แต่มีข้อแม้ว่าทุกครั้งที่จัดงานในต่างประเทศ ต้องปันส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือการกุศลไทย
และขอให้คนไทยและศิลปินไทยมีส่วนเข้าร่วมทุกครั้ง ซึ่งทางญี่ปุ่นก็ยอมตกลงในเงื่อนไขนี้
และเธอก็เลือกออสเตรียประเทศ ในฝันของเธอจัดงานในต่างประเทศในความรับผิดชอบของเธอครั้งแรก
โดยรายได้ครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งจะเข้ามูลนิธิ MOWE ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการกุศล
เน้นการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่มีปัญหา ส่วนที่ 2 จะบริจาคแก่สภากาชาดออสเตรีย
ส่วนที่ 3 ก็จะกลับคืนสู่ประเทศไทยให้กับโครงการลดเอดส์จากแม่สู่ลูก
"ถ้าจะให้คนไทยจัดเอง คงบอกว่าไม่ เพราะดิฉันคงไม่ไปสนับสนุนให้คนไทยไปช่วยเหลือการกุศลชาติอื่น
ในขณะที่เพื่อนร่วมชาติต้องการความช่วยเหลือ แต่งานนี้ญี่ปุ่นเป็นผู้เสนอ
และออกค่าใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่ เพราะเขามีความพร้อมมากกว่าเรา"
ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน นวรัตน์จบการศึกษาระดับปริญ-ญาตรี
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และลงเรียนใหม่ในคณะวารสารศาสตร์จากธรรมศาสตร์
ซึ่งช่วงนั้นมีการเปิดวิชาโทรทัศน์เป็นปีแรก แต่วงการโทรทัศน์ยังไม่เป็นที่รุ่งเรืองอย่างปัจจุบัน
ดังนั้นเมื่อจบมาเธอก็ได้มาฝึกงานกับกำพล วัชรพล ที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ไทยรัฐ
ซึ่งฝึกเป็นผู้สื่อข่าวทุกหน้ายกเว้นหน้าอาชญากรรม หลัง จากนั้นก็ไปเขียนสคริปต์หนัง
ไปทำละครทีวี แล้วก็เริ่มไปทำงานกับโรงแรม มณเฑียร
"ที่จริงตอนนั้นที่บ้านบอกว่าเรียนจบแล้วห้ามทำงานอยู่ 2 อย่างคือ งานโรงแรมกับนักข่าว
เพราะเป็นงานที่เลิกดึกดื่นไม่ค่อยเป็นเวลา แต่ดูเหมือนว่าเรากลับชอบทั้ง
2 อย่าง" เธอเล่าและบอกว่าได้ทำงานที่โรงแรมมณเฑียรเป็นแห่งแรก
จะว่าไปแล้ว โรงแรมนี้เปรียบเหมือนสำนักตักศิลาที่เป็นเวทีสร้างคนที่
มีชื่อเสียงหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เกรียง ไกร อุณหนันทน์ หนูแหวน ฐิติมา สุตสุนทร
วงดนตรีฮอทชิลี วงฮอท เปปเปอร์ ภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ อา-จารย์เสรี วงษ์มณฑา
อัญชลี จงคดีกิจ ศักดิ์ชัย กาย เพราะล้วนแล้วแต่มีเวทีที่มณเฑียรเป็นตัวสปริงบอร์ด
ส่งให้ขึ้นไปอยู่บนถนนสายบันเทิงอย่างสวยงามทั้งสิ้น
รวมทั้งตัวนวรัตน์เอง แต่เธอทำงานอยู่ที่มณเฑียรเพียง 2 ปี ก็ย้ายไปอยู่โรงแรมในเครือของไฮแอท
เหตุผลก็เพราะ "มันเป็นอะไรที่อินเตอร์" ซึ่งชีวิตการทำงานโรงแรมหลังจากนั้นก็อยู่โรงแรมเชนเรื่อยมาไม่ได้อยู่โรงแรมของไทยอีกเลย
การทำงานที่โรงแรมทำให้เธอมีโอกาสได้พบกับคนดังต่างๆ มาก มาย บทสัมภาษณ์ต่างๆ
จึงเป็นสิ่งที่เธอ มีโอกาสได้เก็บเกี่ยว และถ่ายทอดลงหนังสือต่างๆ เช่นกันเช่นเมื่อคราวมีโอกาสได้สัมภาษณ์เจ้าชายอัลเบิร์ต
แห่ง ประเทศโมนาโค โอรสของเจ้าชายเรนิ เยร์ที่ 3 และเจ้าหญิงเกรซ, จิมมี่
คาร์ เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เคนนี่ รอเจอร์ นักร้องวงสี่เต่าทอง
รวมทั้งมีโอกาสได้เจอและสมรสกับ ม.ร.ว.สมลาภ กิติยากร จนมีทายาทด้วยกัน
2 คนคือ หม่อมหลวงปวริศน์ กิติยากร น้องเฟม และหม่อมหลวงภัทรสุดา หรือน้องวงเวียน
ซึ่งปัจจุบันอายุ 14 ปี และ 6 ปีตามลำดับ
นวรัตน์ใช้ชีวิตทำงานโรงแรมอยู่ 16 ปี และตั้งใจว่าจะลาออกพักผ่อนอยู่ที่บ้าน
แต่ออกได้เพียงวันเดียว ดร. อาทิตย์ก็โทรมาชวนทำงานที่นี่
ปัจจุบันเธอทำงานให้ดร.อาทิตย์ มาประมาณ 5 ปีแล้ว นอกจากรับผิดชอบงานด้านประชาสัมพันธ์ให้กับทางโรงพยาบาลแล้ว
ยังมีงานของบริษัทต่างๆ ในเครืออีกมากมาย งานกุศลข้ามชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นอีกงานหนึ่งที่ท้าทายให้เธอทำ
แต่ต้องเหนื่อยจากการเดินทางอย่างมาก เช่นในเรื่องการติดต่อสถานที่ซึ่งต้องเป็นสถานที่ใหญ่โตสวยงามเพื่อดึงดูดให้คนมาเข้าร่วม
ซึ่งต้องติดต่อประสานงานระดับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของออสเตรียหลายคน รวมทั้งรายงานความคืบหน้าของการจัดงานให้เจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดี
ทราบทุกระยะ
"ความจริงแล้วงานที่อยากทำที่สุดในวันนี้ก็คืองานเขียนหนังสือ ปลูกผักปลูกหญ้าอยู่ที่บ้าน
จัดบ้าน เลี้ยงลูก" เธอย้ำด้วยน้ำเสียงจริงจัง