อัมพรอาจจะเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดในบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเพียงคนเดียว
ที่สรรพนามขึ้นต้นว่า "หมอ" ที่คนส่วนใหญ่เรียกขานเธอมาจนถึงวันนี้
เธอเป็นศิษย์เก่าจากคณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาทางด้านวิทยาศาสตร์บัณฑิตจากสถาบันเดียวกัน
ก่อนจะมายึดอาชีพทันตแพทย์ใน บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น
"ระหว่างเป็นแพทย์ฝึกหัด มีคนไข้เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การโทรศัพท์ฯ มารักษาก็เลยชวนมาทำงาน"
อัมพรเล่าถึงที่มาของการเข้ามาสอบบรรจุเป็นทันตแพทย์ในองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
ตั้งแต่ปี 2522
ในวัย 38 ปีของเธอ จุดพลิกผันในชีวิตเริ่มขึ้น เมื่อได้รับ การชักชวนจากผู้ใหญ่คนหนึ่งให้เปลี่ยนสายงาน
ทำให้เธอตัดสินใจเข้าห้องเรียนอีกครั้งในหลักสูตร Young Executive MBA ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เป็นนักศึกษาที่อายุมากที่สุดในรุ่น
"เป็นการเรียนที่หนักมาก แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้กับการทำงานในช่วงต่อๆ
มา"
หลังเรียนจบอัมพรหันหลังให้อาชีพทันตแพทย์ประจำหน่วยงานนี้ไปทำงานด้านนโยบายและแผนวิสาหกิจ
ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐวิสาหกิจแห่งนี้อยู่ระหว่างการแปรสภาพองค์กร งานในครั้งนั้นนอกจากจะทำให้เธอเป็นภาพรวมทั้งหมดขององค์กร
ยังทำให้เธอถูกเลือกจากที่ปรึกษาบริษัทไพรซ์วอเตอร์ เฮาส์คูเปอร์ (ชื่อเดิม
คูเปอร์ แอนด์ ไรแบนด์) ให้เข้าอยู่ในทีมแปรสภาพองค์กรขององค์การโทรศัพท์ฯ
ไปสู่การเป็นบริษัทเอกชนที่ทำขึ้นมาได้หลายปี
"ที่จริงแล้ว อาชีพทันตแพทย์ก็ถือเป็นอาชีพที่ต้องให้บริการอย่างหนึ่ง
สอดคล้องกับทิศทางของการแปรสภาพองค์กรของที่ให้ความสำคัญกับงานบริการมากขึ้น
คิดว่าน่าเป็นจุดที่ทำให้ถูกเลือก"
ด้วยบุคลิกที่มีใจบริการนี้เอง บวกกับวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนทางด้าน MBA
ที่ร่ำเรียนมา อัมพรถูกเลือกให้มาดูแลตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนนโยบาย และบริการการตลาด
ควบคู่อีกตำแหน่ง และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ทศท เริ่มทำโปรโมชั่นการตลาดให้กับบริการ
pin phone โทรศัพท์พื้นฐาน แข่งขันกับเอกชนอย่างทีเอ
"เป็นช่วงที่นำความรู้ที่ร่ำเรียนมา โดยเฉพาะ Strategic planning และ Marketing
planning 2 วิชาหลัก"
เมื่อรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ต้องแปรสภาพเป็นเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ
ที่ต้องแข่งขันกับเอกชนที่แข็งแกร่งอย่างจริงจัง เธอได้รับชักชวนให้เข้ามาร่วมงาน
โดยเริ่มต้นด้วยการเข้าเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วมการค้า ระหว่าง ทศท และ
กสท. ก่อนจะเข้ามารับผิดชอบบุกเบิกงานด้านการตลาดอย่างเต็มตัวให้บริษัทร่วมค้าแห่งนี้
"ยอมรับเลยว่ายากมาก ตอนจะย้ายมาหลายคนเตือนว่าแน่ใจแล้วเหรอ ทีมงานก็มีอยู่แค่
100 กว่าคนเท่านั้น แต่เมื่อเดินหน้าแล้ว ก็ต้องไม่กลัว"
ข้อมูลสำรวจโทรศัพท์มือถือที่น่าใช้ที่สุดที่เว็บไซต์แห่งหนึ่งทำขึ้น ปรากฏว่าไทยโมบายที่ติดอยู่ในอันดับ
4
"ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ โฆษณาก็ทำได้แค่ print ad แต่ผลออกมาขนาดนี้ ก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว"
อัมพรเล่าถึงด้วยความภาคภูมิใจ
ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของโทรศัพท์มือถือ ไทยโมบาย ได้เตรียมปรับเปลี่ยนโลโกใหม่ให้ดูทันสมัยมากขึ้น
พร้อมๆ กับอัดฉีดงบประมาณโฆษณาทีวี เพื่อสร้างบุคลิกใหม่ให้กับแบรนด์ไทยโมบาย
ในการเป็นโทรศัพท์มือถือเพื่อประชาชน อันเป็นภารกิจใหม่ของอัมพรและทีมงาน
สำหรับการแข่งขันที่เพิ่งเริ่มต้นของไทยโมบาย