จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม บริษัทโทรคมนาคมของไทยต่างก็ใช้เวที APEC 2003 ในครั้งนี้เป็นเวทีสำหรับการแจ้งเกิดบริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย
wi-fi
นิวัฒน์ รัตนปัญญา Project Engineer บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ
wi-fi บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กำลังสำรวจบริเวณโดยรอบของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่จัดประชุม ที่เขาและทีมงานของบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น
จะต้อง นำอุปกรณ์ Access Point ไปติดตั้งในจุดที่ได้คำนวณไว้แล้วว่า จะทำให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงหรือบริการ
wi-fi ครอบคลุมการใช้งานที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันถัดจากนี้
ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดหาบริการโทรศัพท์และโทรคมนาคมภายในประเทศในการประชุม
APEC 2003
นอกเหนือจากบริการทั่วไป เช่น การติดตั้งระบบสื่อสัญญาณความเร็วสูง โทรศัพท์สาธารณะทางไกล
โทรศัพท์พื้นฐาน ตามสถานที่ประชุมในจุดต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าประชุมแล้ว
เช่น ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์ข่าวย่อยทำเนียบรัฐบาล ศูนย์ข่าวย่อยอาคารใหม่สวนอัมพร
ศูนย์ข่าวย่อยกองทัพเรือ
งานนี้ยังเป็นโอกาสอันเหมาะเจาะที่บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จะใช้เวที APEC
เป็นเวทีประเดิมบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง wi-fi ที่มีชื่อบริการ
FlexiNet และบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ Web Phone เป็น 2 บริการใหม่ที่ ทศท
เตรียมเปิดตัวเร็วๆ นี้
ก่อนหน้านี้ ทศท นำบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ wi-fi ไปใช้สำหรับการประชุมกลุ่มย่อยของ
APEC ในต่างจังหวัดมาแล้ว
สำหรับการประชุมที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคมนี้ การติดตั้ง Access
Point ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทำหน้าที่เป็นสถานีรับส่งสัญญาณการใช้งาน เพื่อให้บริการ
wi-fi จำนวน 100 เครื่อง จะถูกนำไปติดตั้ง สถานที่จัดประชุม 4 แห่ง ประกอบไปด้วย
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โรงแรมรอยัลออคิดเชอราตัน ศูนย์ข่าวย่อยกองทัพเรือ และศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ในบรรดาสถานที่จัดประชุมทั้งหมด
ศูนย์ประชุมสิริกิติ์จะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของบริการ wi-fi เพราะนอกจากจะมีการติดตั้ง
Access Point มากที่สุด ยังมีผู้ให้บริการถึง 2 รายในเวลาเดียวกัน นอกจาก
ทศท คอร์ปอเรชั่นแล้ว ยังมีบริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์แห่งอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง
มาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางธุรกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผู้เข้าร่วมประชุมในงาน APEC หากไม่ต้องการใช้เครื่อง PC ตั้งโน้ตบุ๊คโต๊ะที่จัดเตรียมไว้
ก็สามารถใช้โน้ตบุ๊ค เครื่องปาล์มหรือ Pocket PC ที่หิ้วมาเองเชื่อมโยงเข้าสู่อินเทอร์เน็ตได้ทันทีโดยไม่ต้องหาโมเด็ม
เพื่อเชื่อมสายโทรศัพท์ให้ยุ่งยาก ข้อแม้มีอยู่ว่าโน้ตบุ๊คจะต้องมีอุปกรณ์
Wireless Lan Card บรรจุอยู่
"ทันทีที่เปิดเครื่องขึ้นมาหน้าจอคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย
จะปรากฏออกมา ขึ้นอยู่กับว่าลงทะเบียนไว้กับค่ายไหน" มนต์ชัย หนูสง ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนการตลาดและการขายสื่อสารข้อมูล
บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด
หากไม่มีอุปกรณ์ Wireless Lan Card ติดตั้งมากับเครื่อง สามารถยืมใช้ชั่วคราวจากผู้ให้บริการอย่างทีเอ
ที่เตรียมเอาไว้ 130 ตัว
สิ่งที่ผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย ต้องทำ คือการติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณให้ครอบคลุม
การใช้งานบนพื้นที่ 10,000 ตารางเมตรของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ให้มากที่สุด
"ตามปกติแล้ว 1 Access Point จะสามารถรองรับผู้ใช้ได้คราวละ 253 คน แต่ครั้งนี้เราจะเปิดให้ใช้ได้พร้อมๆ
กันไม่เกิน 30 คน" วราวุฒิบอก
อุปกรณ์ Access Point จำนวน 30 จุด เป็นจำนวนชุดอุปกรณ์ที่บริษัททศท คอร์ปอเรชั่น
จะนำไปติดตั้งตามพื้นที่หลักๆ ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เช่น ห้องเพลนนารี
ฮอลล์ ห้องประชุมย่อย ส่วนการจัดนิทรรศการ
"ลักษณะที่ติดตั้งไม่เหมือนกับโทรศัพท์มือถือ wi-fi จะบริการเป็นจุดๆ หรือ
Hotspot ที่คาดว่าจะมีคนมาใช้งานมากเช่น บริเวณห้องประชุม ร้านกาแฟ"
สำหรับทีเอนั้นมีข้อได้เปรียบกว่ารายอื่น ตรงที่ได้มีการลงนามความร่วมมือร่วมกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงที่มีชื่อว่า TA wi-fi แก่ผู้ที่มาออกบูธสัมมนาในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มาตั้งแต่ช่วงกลางปี
Access Point ที่มีความเร็วในการเชื่อมต่อ 11 Mbps จำนวน 40 จุด ถูกติดตั้งในบริเวณงาน
ซึ่งทีเอเชื่อมั่นว่า จะเพียงพอสำหรับสื่อมวลชนประมาณ 4,000 คน ที่เป็นเป้าหมายหลักสำหรับการให้บริการของ
TA wi-fi
ความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จากศูนย์ประชุมสิริกิติ์ไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
จะเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือเมโทรแลน ที่เชื่อมต่อด้วยเคเบิลใยแก้วความเร็วสูง
ส่งผล ให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตภายในประเทศ กำหนดไว้ 1 กิ๊กกะไบต์ ในขณะที่หากเชื่อม
ต่ออินเทอร์เน็ตนอกประเทศ ความเร็วจะลดลงเหลืออยู่ที่ 45 เมกะไบต์ ซึ่งเป็นความเร็วที่ทีเอประเมินว่า
น่าจะเพียงพอสำหรับการใช้งานได้อย่างสะดวก
ผู้สื่อข่าวจากทั่วทุกมุมโลกสามารถลงทะเบียนขอรับบัตร ที่ระบุ User name
และ Password ใช้บริการ wi-fi ของทีเอ จำนวน 4,000 ใบ ไปใช้ได้ฟรีๆ ไม่จำกัดชั่วโมงการใช้งานจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม
"สิ่งที่ผู้สื่อข่าวจะได้ใช้คือ uplodes อีเมลได้ฟรี และใช้ได้ทุกเวลา
ไม่ว่าอยู่ในห้องประชุม หรือร้านกาแฟในศูนย์สิริกิติ์" ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์
รองผู้อำนวยการและหัวหน้ากลุ่มพัฒนาพันธมิตร และโซลูชั่น บริษัทเทเลคอมเอเซีย
คอร์ปอเรชั่น บอก
Photo Library เนื้อที่บนอินเทอร์เน็ตสำหรับบรรจุภาพในการประชุม APEC ให้สำนักข่าวต่างๆ
ดึงไปใช้งานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
"ความคาดหวังของเราอยู่ที่ทำให้ต่างชาติมองว่า เมืองไทยมีเทคโนโลยี และที่สำคัญเป็นหน้าที่ของบริษัทในไทย นพปฎล เดชอุดม ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไป
สายงานอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์ของทีเอบอก
การเป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมบวกกับจำนวนการใช้งานของโน้ตบุ๊คที่เพิ่มขึ้น
และการลงทุนที่ไม่ยุ่งยากของบริการ wi-fi ทำให้ทีเอ, ทศท และซีเอส ล็อกซอินโฟ
ต่างก็บรรจุบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไว้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางธุรกิจในอนาคต
หลังงาน APEC สิ้นสุดลงจะเป็นจุดเริ่มต้นการเปิดตัวบริการ wi-fi ภายใต้ชื่อบริการ
"FlexiNet" ของ ทศท คอร์ปอเรชั่นอย่างเป็นทางการ
"เป็นเรื่องของความสะดวกและเป็น trend ของโลก ลูกค้าในช่วงแรกน่าจะเป็น
นักธุรกิจที่ต้องเดินทาง ชาวต่างชาติส่วนใหญ่มีโน้ตบุ๊ค จุดที่ติดตั้งจะต้องสอดคล้องกัน
เช่น โรงแรม สนามบิน ศูนย์การค้า" มนต์ชัยบอก
สำหรับทีเอ ภารกิจการต่อจิ๊กซอว์ภาพธุรกิจสร้างชุมชนบรอดแบนด์ เพื่อทำให้ผู้ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทุกที่ทุกเวลายังคงเป็นคัมภีร์ประจำใจของค่ายนี้
นอกเหนือจากการมีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านเครือข่าย ADSL ที่เชื่อมโยงผ่านโครงข่ายโทรศัพท์
2.6 ล้านเลขหมายไปยังครัวเรือนของลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันมีโครงการ
Metro Net ด้วยการสร้าง "ท่อ" ไฟเบอร์ออพติก ความเร็ว 5 กิ๊กกะไบต์ เชื่อมโยงไปยังอาคาร
30 แห่งใจกลางเมือง เพื่อให้ลูกค้าประเภทองค์กรไว้ใช้บริการ
ทีเอหวังไว้ว่า บริการ TA wi-fi ที่ทีเอจะต้องลงทุนติดตั้ง Access Point
จำนวน 100 จุด ในบริเวณพื้นที่โรงแรม สนามบิน ศูนย์ประชุม ร้านอาหาร จะเป็น
"จิ๊กซอว์" ที่เติมเต็มยุทธศาสตร์บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับลูกค้าที่ต้องเดินทางตลอดเวลา
"Data wire free เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของเรา สร้างประสบการณ์การใช้บรอดแบนด์
ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน ออกไปข้างนอกก็เจอ Hotspot เรียกว่ามีชีวิตอยู่กับบรอดแบนด์เลยก็ว่าได้"
เทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาการเชื่อมโยงการใช้งานระหว่างโครงข่าย ADSL กับเครือข่าย
PCT และโทรศัพท์มือถือ เพื่อเกื้อกูลต่อการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยไม่ติดข้อจำกัดในเรื่องความแตกต่างของอุปกรณ์ปลายทาง
ทำให้ทีเอเริ่มมองเห็นโอกาสเหล่านี้
"เครื่องรุ่นใหม่ๆ ที่พัฒนาออกมา จะหาคลื่น wi-fi ก่อน ถ้าไม่เจอจะหาคลื่น
PCT จากนั้นจึงไปหาคลื่นของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเวลานี้มีเครื่องรุ่นที่ออกมารองรับเทคโนโลยีนี้แล้ว"
ณัฐวุฒิอธิบายคุณสมบัติการใช้งาน
จะว่าไปแล้ว แนวคิดนี้ไม่ต่างไปจากค่ายชินคอร์ปอเรชั่น นำโดยซีเอส ล็อกซอินโฟ
ที่จะใช้ประโยชน์จากโครงข่ายดาวเทียมของชินแซทเทลไลท์ โครงข่ายโทรศัพท์มือถือเอไอเอสสร้างเครือข่ายบริการบรอดแบนด์ที่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
สำหรับซีเอส ล็อกซอินโฟ เป็นผู้ให้บริการรายแรกๆ ที่นำบริการ wi-fi สนับสนุนการประชุม
APEC ที่จัดขึ้นในหลายจังหวัดมาตั้งแต่ช่วงต้นปี รวมทั้งในวันที่ 20-21 ตุลาคมนี้
ที่พวกเขาจะนำบริการ wi-fi เข้าร่วมให้บริการ ยกเว้นสถานที่จัดประชุม 3 แห่ง
ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ รัฐสภา และทำเนียบรัฐบาล โดยแจกบัตร Shin Hotspot Kit
จำนวน 10,000 ใบ (บัตร 1 ใบ ใช้ได้ 1 ชั่วโมง) ไว้แจกผู้ร่วมประชุม
"ผมไม่ต้องการคิดจะสร้าง Image จากงานในครั้งนี้" อนันต์ แก้วร่วมวงศ์
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทซีเอส ล็อกซ อินโฟ บอก "เป็นธุรกิจที่เราไม่ได้หวังผลกำไร
เป็นเพียงแค่การรักษาฐานลูกค้าในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น"
อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการเหล่านี้ ต่างก็มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
และจุดที่ให้บริการไม่แตกต่างกันนัก แต่ละรายจึงต้องช่วงชิงโอกาส จับมือกับเจ้าของสถานที่เพื่อสร้างเครือข่ายบริการของตัวเอง
เพื่อเป็น "ตัวเลือก" ที่ดีที่สุดในสายตาลูกค้า
การทำข้อตกลงกับเจ้าของสถานที่ มักจะทำแบบ exclusive ให้มีผู้ให้บริการแค่เพียงรายเดียว
และอายุสัญญาอย่างน้อยๆ ควรจะไม่ต่ำกว่า 1 ปี
ผู้ให้บริการเกือบทุกรายตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะต้องมีพื้นที่ติดตั้ง
Access Point สำหรับให้บริการไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง เช่น สนามบิน โรงแรม ร้านกาแฟ
ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ร้านฟาสต์ฟู้ด งานนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ใครจะมีเครือข่ายธุรกิจและให้ข้อเสนอกับเจ้าของสถานที่ได้ดีกว่ากัน
แต่สำหรับผู้ใช้บริการก็คือ เมื่อใช้บริการของค่ายใด ก็ต้องนำไปใช้ในสถานที่
ที่ผู้ให้บริการตกลงกับเจ้าของสถานที่ เช่น เมื่อใช้บริการ TA wi-fi ได้ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์
และยังนำไปใช้ที่ห้างสรรพสินค้าไอทีมอลล์ หรือร้านเคเอสซี แต่หากจะนำไปใช้ในห้างสรรพสินค้าเกษรพลาซ่า
ก็ต้องไปสมัครใช้บริการ wi-fi ของซีเอส ล็อกซ อินโฟ หรือหากไปร้านกาแฟสตาร์บัคส์
ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้บริการของเคเอสซี อินเทอร์เน็ต
เวลานี้จึงมีแนวคิดว่า อนาคตข้างหน้าผู้ให้บริการเหล่านี้อาจต้องตกลงแชร์การใช้งาน
Access Point ร่วมกัน นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ยังทำให้พวกเขาไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อนเหมือนกับที่แล้วมา
แต่แนวคิดนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อไรคงต้องอาศัยเวลา เพราะ wi-fi เวลานี้ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น