ประมาณกลางปี พ.ศ.2547 ABU DHABI Conference Palace Hotel โรงแรมใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก
จะเปิดตัวอวดโฉมกับชาวโลก
ความหมายที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของการเปิดตัวครั้งนี้ น่าจะอยู่ที่ฝีมือการตกแต่งภายในทั้งหมดเป็นของบริษัท
ลีโอดีไซน์ กรุ๊ป ภายใต้การบริหารงานของ คงศักดิ์ ยุกตะเสวี
คงศักดิ์ยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า เฉพาะงานตกแต่งภายใน ที่ลีโอ ดีไซน์รับมามีมูลค่าประมาณ
800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การที่บริษัทเล็กๆ จากประเทศไทยสามารถคว้างานชิ้นใหญ่
ยักษ์นี้มาได้ ท่ามกลางการแข่งขันกันระหว่างบริษัทที่มีชื่อเสียง หลายบริษัทของโลก
ทั้งประเทศในอเมริกาและยุโรปจึงเป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียว
"การเปิดใจรับบริษัทจากเอเชียมากขึ้น อาจจะเป็นผลจากเหตุการณ์วันที่ 11
กันยายน บ้างแต่ไม่ใช่สาเหตุหลักในการตัดสินใจแน่นอน เพราะในกลุ่มตะวันออกกลางและประเทศในอาหรับนั้น
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาการก่อสร้างทุกอย่าง ถือว่ามาตรฐานจากยุโรปและอเมริกานั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก
แต่ที่เราได้งานครั้งนี้ เพราะในวันพรีเซ็นต์งานได้เสนอสิ่งที่โดนใจเขามากกว่า"
Abu Dhabi Conference Palace Hotel เป็นโรงแรมระดับแกรนด์ลักชัวรี่ที่รัฐบาล
อะบูดาบีเป็นเจ้าของสร้างขึ้นโดยให้มีวัตถุประสงค์ให้เป็นแลนด์มาร์คของเมือง
และใช้เป็นที่ประชุมหมุนเวียนและเป็นที่พักผ่อนของกษัตริย์ทั้ง 6 เมือง ของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์
ลีโอ ดีไซน์ เป็นบริษัทออกแบบตกแต่งภายในที่ตั้งมานานกว่า 30 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ออกแบบโรงแรมให้กับเชนบริหารโรงแรมนานาชาติ
และเคยเป็นผู้ออกแบบพระราชวังในประเทศ บาห์เรน และโรงแรมในประเทศคูเวต และดูไบมาแล้ว
การเรียนรู้ในไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของคนชั้นสูงในกลุ่มประเทศอาหรับนั้นเป็น สิ่งที่เขามีโอกาสเรียนรู้และศึกษามาพอสมควร
จึงสามารถออกแบบ ได้สอดคล้องกับความต้องการ รวมทั้งให้ความสำคัญในเรื่องของ
ความเป็น unique แปลกใหม่ หรูหราไม่เหมือนใคร ในขณะเดียวกัน ต้องมีกลิ่นอายของความเป็นอาหรับอยู่ด้วย
จาก 40 กว่าบริษัทที่เสนองานชิ้นนี้เข้าไปได้รับการคัดเลือก เหลือเพียง
4 บริษัท และมีการจัดบูธแสดงที่พระราชวังแห่งหนึ่งในรัฐอาบูดาบี โดยมีกษัตริย์ของรัฐนี้เป็นผู้เลือก
ผลการตัดสินปรากฏว่าบริษัท Wimbery Allison Tong & Goo จากประเทศอังกฤษ
ได้งานออกแบบตัวโครงสร้างทั้งหมด ส่วนงานก่อสร้างจะมีผู้รับเหมาทั้งหมด 3
ราย และบริษัท Kem-pinsKi เป็นเชนบริหารโรงแรม
การได้งานมาว่ายากแล้ว แต่พอทำงานร่วมกับทีมงานกับผู้บริหารยิ่งยากกว่า
เพราะระยะแรกเขายังไม่ยอมรับเราว่าเราจะทำงานได้มาตรฐานหรือเปล่า ความคิดของเราจะตามเขาทันหรือเปล่า
ตอนแรกเราจะรู้สึกกดดันในเรื่องนี้มาก พอสัก 6-8 เดือน ห้องตัวอย่างออกมาดีมาก
เขาก็ยอมรับเรามากขึ้น
แต่ก็หวังไว้ว่าผลงานของเราครั้งนี้จะทำให้เขายอมรับสถาปนิกหรือดีไซเนอร์จากเมืองไทยมากขึ้น"