การย้ายบ้านหนีความแออัดในเมืองไปอยู่ชานเมือง
ด้วยหวังว่าจะดีต่อสุขภาพอาจกลายเป็นการหนีเสือปะจระเข้
การย้ายบ้านหนีความแออัดและมลพิษกลางใจเมือง ไปอยู่แถบชานเมืองที่ยังมีสภาพแวดล้อมคล้ายชนบท
ดูเหมือนน่าจะทำให้เรามีสุขภาพดีขึ้นทั้งทางกายและใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับบางคนและผลการศึกษาหลายต่อหลายชิ้นในสหรัฐฯ
และยุโรป ดูเหมือนจะชี้ว่า การอยู่อาศัยในแถบชานเมืองอาจทำให้คุณอ้วนขึ้นได้
Karen Gatt แม่บ้านวัย 31 ผู้กลุ้มใจกับรูปร่างจ้ำม่ำของตน อุตส่าห์อพยพครอบครัวย้ายจากกลางกรุงเมลเบิร์นไปอยู่ชานเมืองเมื่อ
4 ปีที่แล้ว ด้วยหวังว่าสภาพแวดล้อมรอบๆ บ้านใหม่ที่มีสวนสาธารณะหลายแห่งและทางเท้าก็ดูสะอาดเรียบร้อยน่าเดิน
จะทำให้ Gatt และครอบครัวได้มีโอกาสออกกำลังกายด้วยการเดินได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ
Gatt อยู่แต่ในบ้านดูทีวีมากกว่าจะออกไปนอกบ้าน และไปไหนมาไหนโดยรถยนต์ไม่ใช่ด้วยการเดิน
น้ำหนักของเธอซึ่งเดิมก็มากอยู่แล้วคือ 118 กิโลกรัม จึงพุ่งพรวดขึ้นเป็น
136 กิโลกรัม และยังได้โรคความดันโลหิตสูงและโรคซึมเศร้าแถมมาอีก
ผังเมืองที่ไร้ระเบียบของย่านชานเมืองคือตัวการสำคัญที่ต้องรับผิดชอบปัญหาโรคอ้วน
ที่กำลังแพร่ไปในหมู่ชาวตะวันตกรวมถึงออสเตรเลีย ผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย
Maryland ที่ศึกษาเคาน์ตี้ 448 แห่งในสหรัฐฯ พบว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคอ้วน
กับผังเมืองที่ไร้ระเบียบ ซึ่งทำให้บ้านกับที่ทำงานและร้านค้าตั้งอยู่ห่างไกลกันจนไม่สามารถเดินถึงกันได้โดยสะดวก
และต้องใช้รถยนต์เท่านั้น ส่งผลให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ชานเมืองขาดการออกกำลังกายในรูปของกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
เช่นการเดินไป ซื้อของในร้านขายของชำใกล้ๆ บ้าน และผลที่ได้ก็คือโรคอ้วน
นอกจากนี้ การที่พ่อแม่กลัวว่าลูกๆ จะไม่ปลอดภัย จึงไม่ยอมปล่อยออกไปเล่นนอกบ้าน
เด็กๆ จึงต้องแกร่วอยู่แต่ในบ้านหรือวิ่งเล่นบริเวณหลังบ้าน ซึ่งถูกตัวบ้านที่ใหญ่โตเบียดบังเนื้อที่ไปจนเหลือเพียงน้อยนิดตามความนิยมในการสร้างบ้านสมัยนี้
เด็กๆ ก็เลยพลอยเป็นโรคอ้วนไปด้วย
ผลการวิจัยขององค์การอนามัยโลกพบว่าในอังกฤษและออสเตรเลีย ซึ่งประชาชนนิยมหนีไปซื้อบ้านอยู่ชานเมืองตามอย่างคนอเมริกันนั้น
อัตราการเกิดโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 3 เท่านับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา แต่ผู้วางผังเมืองเพิ่งเริ่มตระหนักถึงปัญหาโรคอ้วน อย่างไรก็ตามภาคเอกชนเริ่มรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการออกแบบทางสถาปัตยกรรม
ที่สนับสนุนให้ประชาชนได้เคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนที่เอื้อต่อการออกกำลัง
รวมทั้งจัดเขตที่เรียกว่า "calm zone" ซึ่งเป็นเขตที่จะกำหนดให้รถต้องแล่นช้าๆ
เพื่อให้ปลอดภัยต่อคนเดินถนน ก็จะทำให้คนนิยมเดินกันมากขึ้น ขณะนี้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ
ได้ทรงสร้างเมืองทดลองขึ้นที่ชานเมือง Poundbury ใกล้ๆ กับกรุงลอนดอน โดยมีการวางผังเมืองให้ประชาชนสามารถไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องใช้รถยนต์
และให้รถยนต์แล่นอยู่รอบนอกของเมืองหรือกำหนด ให้แล่นช้าๆ เมื่อผ่านถนนสายหลัก
ทำให้นักเรียนสามารถเดินจากบ้านไปโรงเรียน และประชาชนเดินจากบ้านไปที่ทำงานหรือไปสวนสาธารณะได้
ผังเมืองแบบนี้ทำให้ทางเท้าและทางรถจักรยานไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางสัญจรไปมา
แต่ยังเป็นสถานที่ออกกำลังกายของประชาชนอีกด้วย
สำหรับ Karen Gatt ซึ่งรอให้นักวางผังเมืองมาแก้ปัญหาโรคอ้วน ให้แก่เธอไม่ไหว
เธอจึงได้เริ่มกินอาหารสุขภาพและออกกำลังมากขึ้นด้วยการเดินไปเดินมาในบริเวณหลังบ้านแคบๆ
ของเธอนั้นเอง โดยใช้ราวตากผ้าช่วยพยุงตัว ในที่สุด Gatt สามารถลดน้ำหนักจาก
136 กิโลกรัม ลงเหลือเพียง 70 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งเธอได้เขียนเล่าประสบการณ์ของเธอไว้ในหนังสือชื่อ
"Clothesline Diet" Gatt กล่าวว่า "คุณต้องไม่ยอมให้การไม่มีทางเท้ามาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ออกกำลัง"
แปลและเรียบเรียงจาก Newsweek October 6, 2003
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
linpeishan@excite.com