แฟรนไชส์ร้านแว่นตาใหญ่สุดในฝรั่งเศสเมินตลาดทุน หันซบอกกองทุนร่วมลงทุน
เมื่อ Alain Afflelou เจ้าของแฟรนไชส์ร้านแว่นตาที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส
วางแผนจะขยายสาขาร้านแว่นตาของตนเพิ่มขึ้นอีก 136 สาขา และรุกตลาดสเปน จากที่มีอยู่แล้ว
500 สาขาในฝรั่งเศสและบางประเทศในยุโรป เขาไม่ได้ไปพบนายแบงก์ ไม่ขายหุ้น
IPO แต่กลับหันไปหา Maurice Tchenio นายทุนผู้กว้างขวางในวงการกองทุนร่วมลงทุน
ผู้เป็นเจ้าของ Apax Partners กองทุนร่วมลงทุน (venture capital) ที่เก่าแก่ที่สุดกองทุนหนึ่งของสหรัฐฯ
และยุโรป
Afflelou ใช้เงินที่ได้จากการทำข้อตกลงกับ Apax จำนวน 98 ล้านยูโร ขยายสาขาไปทั่วสเปน
โดย Apax ถือหุ้น 48% และที่เหลือเป็นของ Afflelou หลังจากนั้น Apax ยังช่วยให้บริษัทของ
Afflelou เข้าตลาดหุ้นเมื่อปีกลาย และขายหุ้น IPO ได้ 69 ล้านยูโร ซึ่งสร้างความผิดหวังให้แก่
Afflelou ไม่น้อย เพราะเป็นจำนวนเพียงครึ่งเดียวของที่เขาคาดว่าจะระดมมาได้
แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดยั้ง Afflelou ผู้มีสายตายาวไกลได้กลุ่มบริษัท Alain
Afflelou ซึ่งล่าสุดมีรายได้ 374 ล้านยูโร และมีสาขาร้านแว่นตาอยู่ในเบลเยียม
ลักเซมเบิร์ก เลบานอน โมร็อคโคและตูนิเซีย ได้วางแผนจะซื้อร้านเพิ่มอีกในอิตาลี
โปแลนด์และเช็ก รีพับ บลิกภายในสิ้นปีนี้ เพราะยิ่งขยายสาขามากเท่าไร โอกาสที่เขาจะขายกรอบแว่นที่ติดแบรนด์ของตัวเองได้มากขึ้นก็มีมากเท่านั้น
เมื่อปีกลายกำไรขั้นต้นที่ Afflelou ได้รับจากการขายกรอบแว่นแบรนด์ของตัวเอง
พุ่งสูงขึ้นทันทีที่เขาสามารถหาที่ว่างได้เพิ่มมากขึ้นสำหรับวางกรอบแว่นแบรนด์ของตนเอง
บวกกับการใช้ลูกเล่นทางการตลาดอย่างการขายแว่นตาชุด La funny ซึ่งมีแว่นกันแดด
4 อันอยู่ในกระป๋อง หรือชุด La forty ซึ่งเป็นแว่นสายตายาว 4 อันสำหรับลูกค้าวัยกลางคน
นี่ยังไม่นับงบโฆษณาที่เขาทุ่มไม่อั้นถึง 30 ล้านยูโรต่อปี
Tchenio "เจ้าพ่อ" Apax ชื่นชม Afflelou ไม่น้อย เพราะเขาเห็นว่าธุรกิจของฝรั่งเศสที่จะประสบความสำเร็จได้ในทุกวันนี้ควรจะต้องรู้ว่า
การเป็นเพียงผู้นำตลาดเฉพาะในฝรั่งเศสนั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว แต่จะต้องเป็นผู้นำตลาดในยุโรปด้วย
และแผนการที่จะเป็นผู้นำตลาดของยุโรปก็จำเป็นต้องใช้เงินทุนเพิ่มขึ้น แต่ดูเหมือนว่าแหล่งทุนดั้งเดิมอย่างตลาดทุนในยามนี้
กลับหวงแหนเงินและไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะลงทุนเท่าไรนัก ในขณะที่บริษัทเองก็ไม่ต้องการก่อหนี้เพิ่มหากแต่
ต้องการจะลดหนี้ ดังนั้น Afflelou จึงไม่ใช่ผู้ประกอบ การเพียงรายเดียวที่หันกลับไปซบอกกองทุนร่วมลงทุน
แทนตลาดทุน ซึ่งกำลังผลักไสให้บริษัททั้งน้อยและใหญ่ในฝรั่งเศสต้องหันกลับไปจูบปากกับนักลงทุนประเภท
venture capitalist อีกครั้ง "ผู้ซื้อเพียงรายเดียวที่มีอยู่ในตลาดทุกวันนี้คือ
กองทุนร่วมลงทุน ทั้งหลาย เพราะมีแต่พวกเขาเท่านั้นที่มีเงินสดๆ อยู่ในมือ
"Yann Duchesne กล่าว เขาเพิ่งเปิดออฟฟิศในปารีสของกองทุนร่วมลงทุนชื่อ
Doughty Hanson ที่มาจากลอนดอนไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา