เอเปก ซีอีโอ ซัมมิต 2003 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งปิดฉาก วานนี้ ประสบความสำเร็จอย่างสูง
โดยซีอีโอกว่า 500 คน ส่วนใหญ่ เห็นว่า เขตค้าเสรีจำเป็น รัฐต้องลงทุนด้านสาธารณูปโภค
ต้องสานต่อความเป็นหุ้นส่วน ชาติ-แปซิฟิกเอเชีย พร้อมหนุนแนวคิด "มหาเธร์"
ค้าเสรีต้องเสมอภาคทุกด้าน พร้อมหนุนการเจรจาการค้ารอบโดฮา ขณะที่การประชุมสะท้อนความสำเร็จใช้วัฒนธรรมไทยผสมผสานวัฒนธรรมทั่วโลก
สร้างบรรทัดฐานด้านนี้ในอนาคต ด้านผู้นำทางธุรกิจวิจารณ์การ ประชุมสุดยอดเอเปก
ห่างเหินจากประชาชนคนเดินดิน และขาดความมุ่งมั่นในการผลักดันการเจรจาการค้าโลก
นายวัชระ พรรณเชษฐ์ ประธานอำนวยการจัดประชุม สุดยอดผู้นำเอกชนเอเปก (APEC CEO
Summit 2003) กล่าววานนี้ (21 ต.ค.) ว่าการจัดงานประชุม สุดยอดผู้บริหารเอกชน APEC
CEO Summit 2003 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ 18-21 ต.ค. โดย คณะทำงานประกอบด้วย
สภาหอ การค้าไทย สภาอุตสาหกรรมไทย และสมาคมธนาคารไทย ประสบความสำเร็จอย่างสูง
การประชุมครั้งนี้ มีตัวแทนผู้บริหารสูงสุดภาคเอกชนทั่วโลก เยี่ยมชมงานและร่วมประชุมสัมมนา
หัวข้อต่างๆ ถึงกว่า 500 คน ยังไม่รวมประสบการณ์ ความรู้ ตลอด จนวิสัยทัศน์ที่ผู้บริหารเอกชนต่างแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นประโยชน์พัฒนา
เศรษฐกิจประชาคมเอเปกให้ก้าวสู่โลกยุคหน้าของการค้าได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง เป็นไปตามเป้าหมายหลัก
ทั้งเวที APEC CEO Summit และเวทีเอเปกใหญ่ ที่ตั้งความหวังไว้
"การประชุมครั้งนี้ ให้ความชัดเจนของ การค้าเสรี (Free Trade) ว่าเป็นสิ่งจำเป็น
และเห็นพ้องกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกทุกระดับการเจรจา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทคณะทำงาน APEC CEO Summit 2003 ทำให้ความร่วมมือภาคเอกชนเกิดขึ้นได้อย่างมากมายตลอด
3 วันของการประชุมสัมมนา" นายวัชระกล่าว
เขากล่าวว่า คณะทำงาน APEC CEO Summit 2003 มีข้อสรุปหลายประเด็น ประการ แรก
คือจากนี้ต่อไปต้องเกิดความร่วมมือกันทุกฝ่ายของประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อสร้างบรรยากาศเป็น
"หุ้นส่วน" ซึ่งกันและกัน ที่จะลดความแตกต่าง อำนวยความสะดวกต่างๆ ต่อกันทำธุรกรรมการค้าและเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี ความมั่นคง ความปลอดภัย พลังงาน ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยี
และการสื่อสาร ตลอดจนส่งเสริมเกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นทุกจุด ทุกระดับ
เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาคม
นอกจากสร้าง "หุ้นส่วน" ซึ่งกันและกัน ที่ประชุม APEC CEO Summit 2003
ยังเห็นว่า เป็นหน้าที่ทุกฝ่ายประชาคมนี้ ที่ต้องสร้างธรรมาภิบาล และบรรษัทภิบาล
เพื่อให้การเป็น "หุ้นส่วน" ต่อกันก้าวหน้า ยั่งยืน และขยายการเติบโต
เศรษฐกิจของเอเปก
หนุนมหาเธร์ค้าเสรี
อย่างไรก็ตาม คณะทำงาน APEC CEO Summit 2003 ยังเห็นด้วยกับถ้อยแถลงของ ดร.มหาเธร์
โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ว่า โลกการค้าที่เสรีต้องเสมอภาคทุกๆ ด้าน และ
ทุกๆ ฝ่ายร่วมอยู่ด้วย ไม่ว่าด้านประเทศ ภูมิภาค ความแตกต่างด้านพัฒนาขีดความสามารถเศรษฐกิจ
ตลอดจนถึงภาคเอกชน และปัจเจก บุคคล
ประการที่ 2 คณะทำงาน APEC CEO Summit 2003 ใช้ความพยายามตลอดเวลาจัดงาน สร้างบรรยากาศเป็นกันเอง
ผ่านกิจกรรม วัฒนธรรม และการสังสรรค์ เพื่อสร้างมิตรภาพร่วมกันระหว่างผู้บริหารสูงสุดภาคเอกชน
หนุนเป้าหมายโดฮา
ด้วยการอยากเห็นบรรยากาศกระตือรือร้น นี้ สร้างความร่วมมือทุกฝ่าย ทุกระดับ เพื่อส่งสัญญาณไปยังเวทีประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก
2003 ว่าจะสนับสนุนผลักดันเป้าหมายโดฮา ที่เป็น ความหวังทุกฝ่ายให้ประสบความสำเร็จรวดเร็วที่สุด
"เราเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือร่วมทุนกันของ ภาคเอกชน จะเป็นกลไกสำคัญ นำไปสู่เป้าหมาย
โดฮา ให้ปรากฏเป็นรูปธรรมในภาคปฏิบัติ และสร้างความมั่นใจร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ
ภาคเอกชน ที่จะเดินไปสู่เป้าหมายของโดฮาร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์" นายวัชระกล่าว
ประการที่ 3 คณะทำงาน APEC CEO Summit 2003 ภาคเอกชน ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ นำวัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรมเก่าแก่และมีเอกลักษณ์แห่งหนึ่งของโลกผสมผสานกับรูปแบบ และวิธีดำเนินกิจกรรมระดับนานาชาติได้อย่างกลมกลืน
เป็นวิถีที่จะเกิดขึ้นในประชาคมโลกยุคหน้า
รับ 5 ข้อเสนอแนะเอแบก
วานนี้ (21 ต.ค.) สมาชิกสภาที่ปรึกษาธุรกิจ เอเปก (ABAC : APEC Business Advisory
Council) เข้าพบผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปก ณ โรงแรม รอยัล ออร์คิด เชอราตัน
เพื่อ เสนอข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ประกอบด้วย กระตุ้นให้สมาชิกเอเปกเป็นต้นแบบเร่งรัดการดำเนินการตาม
Doha Development Agenda กระตุ้นให้มีความ มั่นคงปลอดภัยของระบบการเงิน และการค้าภูมิภาค
เสริมสร้างขีดความสามารถ ส่งเสริม ให้มีบรรษัทภิบาล และอำนวยความสะดวกของ เอเปก
เสนอข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจ
นายวิพรรธ์ เริงพิทยา ประธานสมาชิกสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก 2003 เปิดเผยว่าการเข้าพบผู้นำทั้ง
21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกครั้งนี้ เป็นโอกาสดี ซึ่งภาคเอกชนเอเปกสามารถเสนอมุมมองโดยตรงต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับโลก
ทั้งประเด็นเศรษฐกิจ และการค้า
"ไทยเป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเจรจาปีนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและภาครัฐบาลอย่างยิ่ง
เพราะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นจริงจัง ซึ่งเอื้อต่อการนำไปสู่การค้าเสรีในที่สุด"
นายวิพรรธ์กล่าว
บรรยากาศการหารือกับผู้นำครั้งนี้ ดำเนิน ไปด้วยบรรยากาศฉันมิตรอย่างยิ่ง ผู้นำทั้ง
21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปกตอบสนองอย่างดีต่อข้อเสนอแนะทั้ง 5 จากสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก
ก่อนสมาชิกเอแบกหารือกับผู้นำ ได้เสนอรูปแบบ และประเด็นที่จะเสนอเบื้องต้นก่อนด้วย
เนื่องจาก 5 ข้อเสนอแนะหลักจากเอแบก สู่ผู้นำเอเปก นายวิพรรธ์กล่าวว่านายกรัฐมนตรี
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าใจข้อจำกัด ปัญหา และอุปสรรคที่ภาคธุรกิจประสบอย่างดี
ดังนั้น ข้อเสนอแนะที่ 1 กระตุ้นให้สมาชิกเอเปกเป็น ต้นแบบเร่งรัดการดำเนินการตาม
Doha Development Agenda จึงประสงค์ให้ผู้นำเศรษฐกิจ สมาชิกเอเปกส่งสัญญาณชัดเจนไปยังผู้เกี่ยวข้อง
เพื่อให้การค้าพหุภาคีภายใต้ WTO ประสบความ สำเร็จ สามารถดำเนินตามกำหนดเวลา รวมถึงเปิดตลาด
และลด ละ เลิก อุดหนุนการค้า
ข้อเสนอแนะที่ 2 กระตุ้นให้มีความมั่นคงปลอดภัยระบบการเงิน และการค้าภูมิภาค
ประเด็นนี้ ผู้นำเอเปกเข้าใจอย่างดีต่อประเด็นดังกล่าว ข้อเสนอแนะที่ 3 เสริมสร้างขีดความสามารถ
ผู้นำเอเปกตระหนักความสำคัญการเสริมสร้างขีดความสามารถทุกระดับ ทั้งระดับสถาบัน
องค์กร และบุคลากร ตามที่เอแบกเสนอ
ข้อเสนอแนะที่ 4 คือส่งเสริมให้มีบรรษัทภิบาล ผู้นำเอเปกเข้าใจอย่างดีว่า การมีบรรษัทภิบาล
เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อการตัดสินใจเข้ามาดำเนินธุรกิจและลงทุน รวมถึงความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภูมิภาค
และข้อเสนอแนะที่ 5 การอำนวยความสะดวกของเอเปก เสนอข้อเสนอแนะ จากภาคธุรกิจ
ผู้นำธุรกิจชี้เอเปกห่างเหินประชาชน
เหล่านักธุรกิจที่มีโอกาสกระทบไหล่ผู้นำทางการเมือง อาทิ ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาของจีน
และคอลิน พาวเวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แนะนำว่าเอเปกจำเป็นต้องปรับปรุงในด้านการสื่อสาร
ปีเตอร์ ชาร์ลตัน ประธานกรรมการเฟิร์สต์ ชาร์ลตัน คอมมิวนิเคชั่นส์จากออสเตรเลีย
ชี้ว่าหากไม่มีความคืบหน้าใดๆ ประชาชนทั่วไปจะมอง ว่าการประชุมเอเปกเป็นแค่การมาพบกันปีละครั้งของบรรดาผู้นำ
ที่จะต้องสวมเสื้อผ้าแปลกๆ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยแน่นหนา และงานเลี้ยงต้อนรับใหญ่โตมโหฬาร
เฮอร์แนน ซอมเมอร์วิลล์ ประธานกรรมการสมาคมธนาคารแห่งชิลี สำทับว่าผู้นำเอเปกควรมุ่งมั่นกับการฟื้นการเจรจาการค้าโลก
"มีการพูดกันมากเรื่องเป้าหมายโบกอร์ แต่จะมีความหมายอะไร ในเมื่อสมาชิกเอเปกไม่สามารถตกลงกันได้ตั้งแต่การประชุมที่แคนคูน
การเป็นกลุ่มความร่วมมือที่ไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมาย แถมยังไม่สามารถหาจุดยืนร่วมกันได้ในประเด็นสำคัญๆ
จะมีความหมายอะไร"
ผู้นำทางธุรกิจมองว่า แถลงการณ์ร่วมของ ผู้นำเอเปก ที่ประกาศสนับสนุนการเจรจาการค้า
โลกซึ่งกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ณ นครเจนีวาปลายปีนี้ ไม่ถือเป็นความพยายามที่เพียงพอ