Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2533
COCOON WAR ในจิม ทอมป์สันไหมไทย             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 


   
search resources

อุตสาหกรรมไหมไทย, บจก
โตคิว
Silk




ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้การประกาศข่าวของบริษัทเมอริล ลินซ์ แคปิตอล มาร์เกตโบรกเกอร์ค้าหลักทรัพย์ชั้นนำแห่งสหรัฐอเมริกาในฐานะเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุนของบริษัทเดอะแบรี่ แฟมิลี่ อินเวสเมนท์ คอร์ปอเรชั่นเกี่ยวกับการขายหุ้นในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย (THE THAI SILK COMPANY) ให้กับบริษัทโตคิว ดีพาร์ทเมนท์สโตร์เปรียบเสมือนการแจ้งข่าวอย่างไม่เป็นทางการให้บรรดากรรมการและผู้ถือหุ้นจำนวน 101 คนของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยได้รับทราบ

เนื้อหาโฆษณาขนาดเศษหนึ่งส่วนสี่หน้าที่ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และ เดอะเนชั่นนั้นได้บ่งบอกว่า เดอะแบรี่ แฟลิมี่ อินเวสเมนท์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 24.2% ในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยนี้ได้ขายหุ้นจำนวนนี้แก่โตคิวดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ โดยทางอ้อมผ่านบริษัทเนวาดา คอร์ปอเรชั่นซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมปานีในบริษัทเดอะแบรี่แฟมิลี่อีกทีหนึ่ง

"โตคิวเข้ามาซื้อหุ้น BLUE CHIP WITH GOLD RIB อย่างหุ้นบริษัทของจิมทอมป์สันไหมไทยได้ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่มั่นคงมากๆ" ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเน้นถึงการลงทุนที่ไม่มีอัตราเสี่ยง

ในอดีตเมื่อครั้งปี 2516 พระยาไชยยศสมบัติ ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัทได้เคยแจ้งว่ามูลค่าหุ้นของจิมทอมป์สันไหมไทยถ้าคำนวณจากเงินปันผลจะมีราคาประมาณ 6,000-7,000 บาท แต่ถ้าคำนวณโดยรวมเอาทรัพย์ของบริษัททั้งหมดจะมีมูลค่าถึงหุ้นละ 40,000 บาท โดยขณะนั้น ราคาพาร์ของหุ้นตก 1,000 บาท

"เวลานี้ราคาหุ้นของบริษัทก็ประมาณ 200 เท่าของราคาพาร์ 100 บาท ทำให้ไม่มีใครอยากจะสละหุ้นเลย" ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งคำนวณมูลค่าให้ฟัง

อัตราการเติบโตของผลการดำเนินงานและกำไรของบริษัทนี้งดงามมาก ปีที่แล้วยอดขายพุ่งถึง 930 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 196 ล้านบาท มีกำไรสุทธิต่อหุ้นถึงหุ้นละ 983.20 บาท (ดูตารางผลการดำเนินงานประกอบ)

นอกจากนี้บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยยังมีกิจการในเครือเป็นอุตสาหกรรมครบวงจรอีก 4 กิจการคือ บริษัทซิลโก้การ์เมนท์ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2518 เพื่อตัดเย็บเสื้อผ้าไหมไทยสำเร็จรูปซึ่งเป็นการทำมูลค่าเพิ่มให้แก่ผ้าไหมโดยในระยะแรกศุภพงษ์ มังกรกาญจน์เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรก ปัจจุบันศุภพงษ์เป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและอรศรี วังวิวัฒน์เป็นกรรมการผู้จัดการซิลโก้ฯแทน ปีที่แล้วซิลโก้ฯมีกำลังผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เน็คไทและสินค้าอื่นๆ มากกว่า 500,000 ชิ้น ต่อมาเมื่อตลาดของชำร่วยมีศักยภาพเติบโตได้ดีก็จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชำร่วยผ้าไหมไทย โดยแยกการผลิตและการจำหน่ายในนามของบริษัทนิ๊คแน๊คที่เพิ่งก่อตั้งในปีนี้

ต่อมาในปี 2521 บริษัทอุตสาหกรรมไหมและพิมพ์ผ้าก็เกิดขึ้นจากการซื้อกิจการของหจก.ชูพันธ์อุตสาหกรรมและร่วมลงทุนกับบริษัททาวนุส เท็กทริลดรุกซ์ ซิมเมอร์ แอนด์ โคหรือเรียกสั้นๆว่า "ทาวนุส" ซึ่งช่วยด้านเทคนิคเครื่องจักรย้อมผ้า พิมพ์ผ้าและอาบน้ำยา โดยปีที่แล้วพิมพ์ผ้าไหมได้ 689,000 หลาและพิมพ์ผ้าฝ้ายถึง 908,000 หลาโดยงานพิมพ์ผ้าฝ้ายนี้มีลูกค้าประจำที่จ้างพิมพ์เช่นบริษัทไอซีซีผู้ผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อแอร์โรว์ ว่ากันว่าค่าจ้างพิมพ์ผ้าที่โรงพิมพ์แห่งนี้แพงที่สุด

และในปีเดียวกันนี้โรงทอผ้าไหมของบริษัทก็เกิดขึ้นในปี 2521 ภายใต้ชื่อบริษัทหัตถกรรมทอผ้าไหมไทย เพื่อขอการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแต่นโยบายรัฐขณะนั้นหันไปสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่าโรงงานหัตถกรรม ทำให้บริษัทนี้ต้องยุบตัวลงในปี 2527 แต่โรงทอผ้าไหมที่ปักธงชัยเนื้อที่ 200ไร่ก็ยังคงดำเนินการอยู่ โดยปีที่แล้วมีการทอผ้าไหมได้ถึง 932,000 หลาซึ่งมีมูลค่า 180 ล้านบาทโดยมีกี่ทอผ้าอยู่ 540 กี่ในโรงงาน

ปีที่แล้วโครงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมก็เกิดขึ้นในนามของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรไหมไทย มีเนื้อที่ทำฟาร์มกว้างขวางถึง 2,000 ไร่ที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีบริษัทไหมจีนเข้าร่วมถือหุ้น 20% ของทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทและได้รับการส่งเสริมการลงทุนยกเว้นภาษีการค้าและภาษีนำเข้าเครื่องจักร 7 ปี

นอกจากนี้ยังมีกิจการโรงงานสาวเส้นไหมที่ปักธงชัย ซึ่งได้ทดลองเดินเครื่องจักรเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ก็จะทำให้เป้าหมายการผลิตไหมยืนและไหมพุ่งได้ประมาณ 120 ตันต่อปีและศูนย์ผลิตไข่ไหมและการปลูกหม่อนไหมฟาร์ม 1 และ 2 ที่ปักธงชัยซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของจริยา หงษ์สมบัติผู้จัดการที่จบปริญญาโททางเกษตรโดยตรงและดูแลนักวิชาการ 20 กว่าคนที่ผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันวิจัยหม่อนไหมที่ประเทศจีนแล้ว กลับมาปลูกต้นหม่อนรวม 3.6 ล้านต้นบนเนื้อที่ 1,250 ไร่และอีก 1,000 ไร่ได้ทะยอยปลูกในปีนี้ และแผนการผลิตไข่ไหมให้ได้ 30,000 แผ่นๆละ 20,000 ฟอง เพื่อสามารถผลิตรังไหมได้ 800 ตันเป็นวัตถุดิบของโรงงานสาวเส้นไหม

ถึงกระนั้นก็ตามศูนย์รับซื้อไหมดิบของบริษัทที่อำเภอเมือง จ.ขอนแก่นของจิมทอมป์สันไหมไทยก็ได้ซื้อไหมดิบปีที่แล้วถึง 231, 000 กิโลกรัมหรือคิดเป็นมูลค่าถึง 203 ล้านบาท

ถึงจุดนี้ผลประโยชน์ด้านเงินทองอันมีค่ามหาศาลนี้สำหรับผู้ถือหุ้นจึงเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นทุกทีในทุกครั้งที่มีการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งจะต้องมีผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งที่แสดงความเซนซิทีฟต่อการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่คนอื่น แม้ว่าคนๆนั้นจะคือผู้ที่ทำงานเพื่อความก้าวหน้าขององค์กรก็ตาม

ดังเช่นการคัดค้านการกระจายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยจำนวน 220,000 หุ้นซึ่งได้มีการพิจารณาจัดสรรหุ้นจำนวน 10% หรือ 22,000 หุ้นแก่พนักงาน ได้มีผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งค้านว่าจะทำให้ผู้ถือหุ้นทุกคนรวมทั้งของกลุ่มตัวเองต้องสูญเสียผลประโยชน์ส่วนตนเองให้กับพนักงานเป็นจำนวน 5% ของสัดส่วนผู้ถือหุ้น และได้อ้างว่าการกระทำ ดังกล่าวยังเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

ขณะที่ผู้ถือหุ้นฝ่ายหนึ่งปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป โดยขัดต่อการบริหารงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการกระจายหุ้นและประโยชน์สู่พนักงานโดยส่วนรวม ซึ่งเป็นปณิธานดั้งเดิมของนายห้างจิม ทอมป์สันผู้ได้รับสมญานามว่า THE KING OF THAI SILK นี้ ผู้ซึ่งพนักงานเก่าแก่คนหนึ่งกล่าวว่านายห้างจิมนี้มีแต่ "ให้" ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีแต่ "รับ" ลูกเดียว

"ทุกปีมร.เฮนรี่ ทอมป์สันซึ่งเป็นหลานของนายห้างจิม ท่านสละหุ้นประมาณ 1% ของส่วนที่ถือไว้ให้แก่พนักงานที่อุตสาหะวิริยะ มร.ทอมป์สัน พูดไว้เลยว่าถ้าตายไปแล้ว แก จะเหลือเพียงหุ้นเดียวให้ลูกหลาน ส่วนที่เหลือให้ผู้ทอและพนักงาน" ชอบ ปั้นดี ผู้จัดการหน้าร้านจิมทอมป์สันไหมไทยที่ทำงานเก่าแก่นานนับ 30 กว่าปีเล่าให้ฟัง

คุณสมบัติของกรรมการบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยที่มีอยู่ 9 คนนี้กล่าวกันว่าวัยวุฒิและคุณวุฒิต้องทำประโยชน์ให้กับบริษัทได้ นับตั้งแต่ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ที่เรียกันว่า "คุณนายพื้น อาสาสงคราม" และเหล่ากรรมการ 9 คนคือจิตร โชติกเสถียรซึ่งมีธุรกิจท่องที่ยวบริษัทคอสโมทัวร์ วิลเลียม แมคออร์ บูทซ์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เกื้อ สวามีภักดิ์อดีตผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงไทย เฮนรี่ เบอร์ลิ่ง ทอมป์สันผู้เป็นหลานของนายห้างจิม พงษ์ศักดิ์ อัสสกุลนายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอ อรศรี วังวิวัฒน์ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทซิลโก้การ์เมนท์ นาท ชัยเจริญ คนเก่าแก่ที่สุดที่ระหกระเหินตามนายห้างจิมในยุคแรกเป็นผู้รู้ในวงการค้าผ้าไหมคนหนึ่ง สุรินทร์ ศุภ-สวัสดิพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตและพิเชฐ บูรณสถิตย์พร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการแทนคุณนายพื้น

เป็นที่น่าสังเกตุว่าจุดแข็งของกรรมการ 9 คน ดังกล่าวนี้นอกจากจะสูงด้วยประสบการณ์แล้วยังมีความต่อเนื่องอันยาวนานด้านสายสัมพันธุ์ส่วนตัวและทางธุรกิจ ที่หล่อหลอมความเป็นปึกแผ่นของแนวความคิดการบริหารที่กุมสภาพการณ์ได้ดีมากในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

เรื่องราวของความแตกแยก ระหว่างผู้ถือหุ้นอย่างแคโรไลน่า วินสตัน แบรี่ ภริยาหม้าย และทายาทของยอร์จ แบรี่ได้ประทุขึ้นในวาระประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2528 ซึ่ง ยืนยันมติการเพิ่มทุนบริษัทจาก 10 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท

ในการประชุมครั้งนี้ศรีลำพูน ธรรมเกษมผู้ถือหุ้นคนหนึ่งได้เสนอถอดถอนแคโรไลนา แบรี่ออกจากตำแหน่งกรรมการ แล้วเสนอนาท ชัยเจริญเข้ามาแทน โดยศรีลำพูนได้กล่าวในที่ประชุมว่ากรรมการท่านหนึ่งซึ่งอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถอุทิศเวลาและปฏิบัติงานได้เต็มที่ และที่ผ่านมาหลายปีก็มิได้ช่วยกิจการบริษัทเท่าที่ควร ในที่สุดมติที่ประชุม ก็ถอดถอนแคโรไลนา แบรี่ ออกจากกรรมการเมื่อปี พ.ศ. 2528 และกลายเป็นเหตุให้ต้องฟ้องร้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายมูลค่า 35 ล้านบาทกัน โดยมีมิสวิสแคโรไลน่า วินสตัน แบรี่เป็นโจทก์ฟ้องจำเลย 12 คน คือบริษัท ผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัททั้ง 9 คนรวมถึงเจ้าหน้าที่กรมทะเบียนการค้าด้วยในฐานะผู้จดทะเบียนกรรมการ

ค่าสินไหมทดแทนที่แคโรไลน่า แบรี่เรียกนั้น ได้แก่ค่าบำเหน็จกรรมการปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 26 ปี หรือจนถึงอายุ 85 ปี ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับและค่าที่พักโรงแรมโอเรียนเต็ล ปีละ 2 ครั้ง ๆ ละ 2 สัปดาห์เป็นเงิน 8,445,920 บาท และค่าเสียหายจากการเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติคุณอีก 20 ล้านบาท รวมค่าทนายและค่าดอกเบี้ยอีกแล้วเป็นค่าสินไหมทดแทนถึง 35,016,001.98 บาท

ในที่สุดคดีนี้ใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าคำพิพากษาให้ยกฟ้อง มิสซิส แบรี่ต้องพ่ายแพ้ยับเยิน!!

"ถ้าเขาไม่ใช้ทิฐิและไม่ใช่คนรวย เขาอาจจะเข้าใจอะไรง่ายขึ้น และยอมรับว่าในคราวหน้าการเลือกกรรมการก็อาจจะเลือกเขาเข้ามาใหม่ แต่เมื่อเขามีทิฐิมีเงินและอยากมีตำแหน่ง และคิดว่าถ้าฟ้องแล้วชนะก็จะมีเงินเพิ่มสมบัติ มันก็เป็นเรื่องของคน ๆ หนึ่งที่แล้วแต่จะคิดเอาเอง" แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง

เรื่องราวการฟ้องร้องกรณีการถอดถอนกรรมการของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยได้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2497 ยุคแรกเริ่มของกิจการ ซึ่งมีท้าวแพง ชนะนิกรเป็นกรรมการผู้จัดการได้ถูกกล่าวหาว่าสั่งจ่ายเงินแก่ตนเองโดยผิดกฎหมายและตั้งกิจการค้าส่วนตัวแข่งกับบริษัทไหมไทย จนต้องถูกถอดถอนออกจากกรรมการ แต่ท้าวแพง ชนะนิกร ได้ทำหนังสือคัดค้านการจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่และเกิดเป็นปัญหาจนเป็นคดีถึงศาลแพ่ง ในที่สุดได้มีการประนีประนอมยอมความกันได้ เวลาต่อมาท้าวแพง ชนะนิกรและภริยาก็ได้ขายหุ้นส่วนหนึ่งให้แก่ยอร์จ แบรี่

ย้อนหลังไปเมื่อครั้งแรกที่ยอร์จ แบรี่นักธุรกิจการเงินและนักค้าที่ดินชาวแคลิฟอร์เนียได้พบกับเพื่อนเก่าอย่างนายห้างจิม ทอมป์สันที่ฮ่องกง แล้วได้รับการชักชวนจากนายห้างจิมให้ เข้ามาถือหุ้นในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย ซึ่งเพิ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤสจิกายน 2493 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 แสนบาท แบ่งออกเป็น 500 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท

"ยอร์จ แบรี่โดยตัวของแกเองเป็นคนค่อนข้างประนีประนอมและครอบครัวค่อนข้าง มีเงิน เมื่อมีคนชวนก็เอาเงินมาลงทุนด้วย โดยลงเงินประมาณ 1,000 เหรียญ ซึ่งก็ตกประมาณสองหมื่นกว่าบาทถ้าเทียบเป็นค่าเงินสมัยนี้ก็หลายแสนบาทอยู่" คนเก่าแก่ในบริษัทเล่าถึงอดีตเมื่อ 30 กว่าปีก่อนให้ฟัง

ยอร์จ แบรี่ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ 90 หุ้น เป็นอันดับสองรองจากนายห้างจิม ทอมป์สัน ซึ่งถือหุ้นอยู่ 100 หุ้น และต่อมาครอบครัวตระกูลแบรี่ก็ได้ทะยอยรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเก่าเช่นท้าวแพง ชนะนิกร อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทซึ่งเคยถูกกรรมการบริษัทลงมติไม่ไว้วางใจ จนถึงขั้นถอดถอนออกจากกรรมการ ซึ่งต่อมากรณีการฟ้องร้องเรื่องการถอนชื่อจากกรรมการของมิสซิสแคโรไลน่าก็เกิดขึ้นเช่นกัน

ครอบครัวตระกูลแบรี่ได้เข้ามาหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันถือหุ้นในบริษัทจนกระทั่งครอบครัวของแบรี่ได้ครองหุ้น 24.4% ของทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทในปัจจุบัน โดยแยกเป็นการถือครอง 24.2% ในรูปของบริษัทเดอะแบรี่ แฟมิลี่ อินเวสเมนท์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนวันอิสเฟิส เมืองเรโน มลรัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา และอีก 0.2% แบ่งเป็นถือในนามส่วนตัวสำหรับคนละครึ่งระหว่างสองแม่ลูกคือมิสซิสแคโรไลน่า วินสตัน แบรี่ประธานกรรมการบริษัทเดอะแบรี่ฯ กับวินสตัน เอ.แบรี่ซึ่งขณะนี้อาศัยอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย

ในระยะเริ่มต้นกิจการบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยนั้นมีกรรมการอยู่ 14 คน แต่ไม่ยอร์จ แบรี่เป็นกรรมการอยู่ด้วย จนกระทั่งเวลาล่วงไปถึงปี 2516 ยอร์จ แบรี่จึงได้รับการจดทะเบียนเป็นกรรมการบริษัททั้ง ๆ ที่เขาได้รับเลือกเป็นกรรมการร่วมกับเกื้อ สวามิภักดิ์ อดีต ผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงไทย ตั้งแต่ปี 2510 แล้ว ยอร์จ แบรี่ได้ขอลาออกจากการเป็นกรรมการในปี 2527 เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพและมีการเลือกแคโรไลน่า วินสตัน แบรี่ ภรรยายอร์จขึ้นมาเป็นกรรมการแทน

ระหว่างที่ยอร์จ แบรี่เป็นกรรมการอยู่นั้นได้บินมาประชุมปีละ 1-2 ครั้ง ครั้งหนึ่งในการประชุมเมื่อปี 2511 ภายหลังจากการหายสาบสูญที่ประเทศมาเลเซียของนายห้างจิม ทอมป์สันแล้ว ได้มีการเสนอตั้งมูลนิธิจิม ทอมป์สันขึ้นมาเพื่อทำประโยชน์ต่อส่วนรวมและเป็นที่ระลึกถึงนายห้างจิม รวมทั้งการเสนอให้จ่ายเงินเดือนเต็มแก่นายห้างจิมจนกว่าศาลจะสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี โดยเงินจำนวนนี้ให้อยู่ภายใต้ความดูแลของชาร์ล ยู เซฟฟิลด์กรรมการผู้จัดการที่รับช่วงภาระกิจนี้ในห้วงเวลาแห่งความสับสนยุ่งเหยิง จากการหายสาบสูญของนายห้าง จิมเมื่อปี 2510 นั้น

แต่ข้อเสนอนี้ยอร์จ แบรี่คัดค้าน !!

ความกินแหนงแคลงใจต่อครอบครัวแบรี่ได้พอกพูนขึ้นตามกาลเวลา ยอร์จ แบรี่สิ้นชีวิตลงเมื่อปี 2527 ทิ้งมรดกจำนวนมหาศาลไว้เบื้องหลังให้กับภริยาหม้ายและบุตรของเขา ซึ่งภายหลังได้ก่อเรื่องราวถึงขั้นฟ้องร้องในคดีดังกล่าวข้างต้น และเมื่อแพ้คดีก็ได้ขายหุ้นส่วนใหญ่ 14.2% ที่ถือครองไว้นานนับ 30 กว่าปี แก่บริษัทโตคิว ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ยักษ์ใหญ่ห้างสรรพสินค้าแห่งญี่ปุ่นในปีนี้เอง (ดูตารางผู้ถือหุ้น)

บริษัทโตคิว เป็นห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2462 มีทุนจดทะเบียน 27,507.5 ล้านเยน กลุ่มบริษัทโตคิว มีบริษัทในเครือถึง 351 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจหลัก 4 กลุ่มคือกลุ่มดีเวลลอปเมนท์ (72 บริษัท) ที่รวมการพัฒนาที่ดินด้วย กลุ่มการขนส่ง (55 บริษัท) กลุ่มค้าปลีกและจัดจำหน่าย (85 บริษัท) และกลุ่มธุรกิจด้านที่พักตากอากาศ (RECREATION & LEISURE) จำนวน 131 บริษัท

รายได้ของโตคิวจากกลุ่มการค้าปลีกซึ่งมีห้างสรรพสินค้าโตคิวซึ่งรวมถึงธุรกิจนำเข้าและส่งออกเป็นแกนหลัก ในแต่ละปีทำรายได้ถึง 42.2% ของยอดรายได้รวมทั้งหมดซึ่งในปี 2531 ทำได้ 3,108,500 ล้านเยน

กิจการโตคิวในต่างประเทสมีสาขาทั่วโลกตามเมืองสำคัญๆ เช่นทีกรุงปารีส ฮอนโน ลูลู ที่ฮาวาย ลอสแองเจลีส นิวยอร์ค ฮ่องกง ซึ่งมีห้างฮ่องกง โตคิว ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ที่สิงค-โปร์และที่กรุงเทพเป็นต้น

"การขายหุ้นให้โตคิวเป็นเรื่องที่ผมไม่แน่ใจเท่าไหร่นัก เพราะเมอริล ลินซ์ประกาศออกไปก็เป็นการสร้างโฆษณาสำหรับกิจการของเขาเอง จริง ๆ เขาจะซื้อขายอย่างไร เขาก็ไม่จำเป็นต้องบอกเรา เพราะชื่อบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ก็ยังเป็นชื่อบริษัทนั้น" สุรินทร์ ศุภสวัสดิพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายการผลิตซึ่งเป็นลูกหม้อเก่าแก่ผู้มีอายุการทำงานไม่ต่ำกว่า 30 ปี ของบริษัทไม่ออกความเห็นประการใดเกี่ยวกับการที่โตคิวซื้อหุ้น

ขณะที่พิเชฐ บุรณสถิตย์พร ผู้ช่วยของวิลเลียม แมคออร์ บูทซ์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทได้ตอบปฏิเสธถึงผลกระทบใด ๆ จากการเปลี่ยนแปลงนี้

"โตคิวเป็นดีสทริบิวเตอร์จัดจำหน่าย จิม ทอมป์สัน ไหมไทยมาประมาณ 5 ปีแล้ว เขาชำนาญทางด้านการขายสินค้าสำเร็จรูป โดยเขาเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์และฮ่องกง และมีเป้าหมายการขายแต่ละปีตามสัญญา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการจิมทอมป์สันไหมไทยเล่าให้ฟังถึงบทบาทของโตคิว

โดยประวัติส่วนตัวของทั้งผู้บริหารระดับสูงคนไทยทั้งสองนี้ สุรินทร์ ศุภสวัสดิ์พันธุ์ ผู้บริหารวัย 53 ปี จัดได้ว่าเป็นคนที่สำคัญมาก ๆ ในการวางรากฐานการผลิตให้กับบริษัทสุรินทร์เป็นคนเก่าแก่ที่ทำงานให้กับนายห้างจิมมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่สุรินทร์จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ เขาได้ไต่เต้าจากงานเสมียนแล้วก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายส่งออกและ ผู้จัดการฝ่ายผลิตตามการเติบโตขององค์กรที่ขยายไปสู่อุตสาหกรรมครบวงจร สุรินทร์มีความสามารถพูดและอ่านภาษาจีนได้อย่างดี ซึ่งส่งเสริมให้เขาสามารถติดต่อประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญ และโนว์ฮาวด้านไหมจากจีน ซึ่งเป็นแหล่งซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของโลกได้อย่างดี และเขายังได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมไหมไทยอีกด้วย

"เขาทำงานหนักมากในยุคแรกที่เริ่มบุกเบิกโครงการสาวไหมและฟาร์มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ปักธงไชย จังหวัดนครราชสีมา บางครั้งลุยงานมากจนป่วยหนักก็มี" แหล่งข่าวเปิดเผย

ปัจจุบันโครงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมูลค่าสองร้อยล้านบาท ภายใต้ชื่อบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรไหมไทย อยู่ในมือบริหารของนักสู้งานคนนี้ที่จะต้องทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าภายใน 3 ปี จะผลิตเส้นไหมได้ 120 ตันต่อปีเพื่อทดแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งแนวโน้มในอนาคตแปรปรวนตามภาวะเศรษฐกิจการเมืองโลก

ขณะที่พิเชฐนักบริหารหนุ่มอนาคตสดใสวัย 40 ปี อีกคนนั้นมีอาวุโสด้านอายุงานน้อยกว่าสุรินทร์ 17 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการบัญชี และไต่เต้าจารกงานตำแหน่งสมุห์บัญชีบริษัทและล่าสุดได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการดูแลงานบริหารทั่วไปด้านบุคคล การเงินและการตลาด นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการบริษัทแทนคุณนายพื้น อาสาสงคราม ประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัท

พิเชฐมีฐานะเป็นลูกเขยของอรศรี วังวิวัฒน กรรมการผู้จัดการบริษัทซิลโก้การ์เมนท์ พิเชฐสมรสกับปิ่นทิพย์ และมีลูกสาวสองคนชื่อ ศัษยาและจารุภัทร

แต่ผู้บริหารระดับสูงซึ่ง LOW PROFILE มาก ๆ และเป็นคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ทำหน้าที่กุมนโยบายบริษัทให้เติบโตไปในทิศทางที่วางแผนไว้คือวิลเลี่ยม แมคออร์ บูทซ์!!

วิลเลียม บูทซ์เป็นอดีตทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี ผู้เดินทางเข้ามาเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2506 ขณะนั้นเขาอายุเพิ่งจะพ้นเบญจเพส 25 ปี วิลเลียม บูทซ์ ซึ่งมีกิจการส่วนตัวส่งออกผ้าไหมได้บังเอิญพานพบกับนายห้างจิม ทอมป์สันซึ่งได้ชักชวนให้เขาเข้ามาร่วมงานด้วย

นับว่าการตัดสินใจเลือกบูทซ์เข้ามาครั้งนั้น เป็นเสมือนการเลือกทายาททางธุรกิจในอนาคตที่ถูกต้อง เพราะในเวลาต่อมาเมื่อเซฟฟิลด์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2516 บูทซ์ขณะนั้นอายุ 35 ปี ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ห้าที่ครองตำแหน่งนานที่สุดถึงปัจจุบัน

ตลอดเวลาอายุบริษัท 40 ปี จิม ทอมป์สันไหมไทยมีกรรมการผู้จัดการที่วางรากฐาน ในแต่ละทศวรรษทั้งสิ้น 5 คน โดยคนแรกคือ มจ. สนิธรังสิต, ท้าวแพง ชนะนิกร, เจมส์ เฮนรี่ วิลสัน ทอมป์สัน, ชาร์ล ยู เชฟฟิลด์และบูทซ์

ช่วงเวลาที่บูทซ์เป็นกรรมการผู้จัดการตั้งแต่ปี 2516 เขาได้เดินทางไปทำงานอย่างหนักด้านการเปิดตลาดการค้าระดับโลกหาทางเพิ่มปริมาณการขายในตลาดต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น สหรัฐ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมันและอิตาลี

"การเดินทางครั้งนี้ทำให้ทราบถึงภาวะการค้าของตลาดที่แตกต่างกันในยุโรปและอเมริกา ผ้าไหม 6 เส้น จำหน่ายได้ดีที่สุด ส่วนผ้าไหมบางจำหน่ายได้น้อยเพราะราคาสูงกว่าผ้าไหมของจีน ทำให้เราทราบแน่นอนว่าเป้าหมายการผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดยุโรปและอเมริกาในปีหน้า" นี่คือการแถลงผลดำเนินงานเมื่อคราวเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในปีแรก 2516

บูทซ์จบการศึกษาด้านปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์บริการธุรกิจจากสหรัฐอเมิรกา โดยกำเนิดบูทซ์เกิดที่วอชิงตันเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2481 มีบิดาชื่อ "แคเรน" และมารดาชื่อ "คาร์เปน"

"แกเป็นคนมีศีลอยู่ในใจและเป็นคนขยันมาก ทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงสองสามทุ่มทุกวัน วันเสาร์ก็ยังแวะไปเยี่ยมและกินข้าวกับพนักงานที่โรงพิมพ์ผ้าเป็นประจำ อุปนิสัยใจคอและความเป็นอยู่เป็นไทยมาก ๆ ไหว้พระได้เรียบร้อยน่านับถือ" คนเก่าแก่ของร้านจิมทอมป์สันไหมไทย เล่าความประทับใจให้ฟัง

กล่าวกันความบังเอิญโชคดีของบูทซ์เกี่ยวข้องกับเลข 9 นั้นมีอยู่มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเลขที่ตั้งบริษัทคือ 9 ถนนสุริวงศ์หรือวันเวลาปิด-เปิดคือ 9A.M-9P.M. กรรมการบริษัทก็มีอยู่ 9 คน และบ้านเลขที่ของบูทซ์ 91

การถือหุ้นของบูทซ์ในจิมทอมป์สันไหมไทยนี้ ส่วนหนึ่งถือในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดอีริค ซึ่งตั้งในปี 2520 อีริคหรือ "ภาวพันธ์ บุนนาค บูทซ์" เป็นชื่อของบุตรชายของบูทซ์ที่เกิดจาก "พัฒศรี บุนนาค" ภรรยาคนแรกซึ่งเป็นผู้ริ่เริมทำร้านบูติคที่เพลินจิต เป็นแห่งแรกชื่อ "ซัมธิง ดิฟเฟอร์เรนซ์"

ห้างหุ้นส่วนอีริคนี้ในยุคแรกเริ่มมีหุ้นส่วนอยู่ 3 คนคือ วิลเลี่ยม บูทซ์ พัฒศรี บุนนาค และมรว. วิภานันท์ รังสิต ผู้เป็นธิดาของ มจ. ปิยะรังสิต และมจ. วิภาวดี รังสิต ซึ่งปัจจุบันเป็นคู่ชีวิตของบูทซ์ และมีธิดาคนหนึ่งชื่อปริศนา ดอรา รังสิตบูทซ์

เมื่อห้างโตคิวซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นก้าวเข้ามาในทศวรรษที่ 4 ของจิมทอมป์สันไหมไทย หลายฝ่ายได้วาดหวังว่าธุรกิจจะดำเนินไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าเดิม

โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนมีประเทศหลัก ๆ 3 ประเทศคือตลาดญี่ปุ่นซึ่งปีที่แล้วได้นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากทั่วโลกเป็นเงิน 2 แสนล้านบาท โดยส่วนแบ่งตลาดครึ่งหนึ่งเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นระดับสูงซึ่งมาจากฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และสหรัฐ นี่คือคู่แข่งของจิมทอมป์สันไหมไทย

ส่วนตลาดสินค้าผ้าไหมที่สิงคโปร์และฮ่องกง ทางห้างโตคิวจัดจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปของจิม ทอมป์สันไหมไทยด้วย "ระบบการค้าแบบญี่ปุ่น จะต่างกับประเทศอื่น ๆ ตรงที่ไม่ว่าสินค้านั้นจะระดับสูงหรือจะแพงจะถูกอย่างไรก็ตามที ส่วนใหญ่จะอยู่ในดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ผิดกับประเทศอื่น ๆ ที่สินค้าชั้นดีจะไม่เข้าดีพาร์ทเม้นท์ แต่จะอยู่ในร้านบูติค ดังนั้นระบบการค้าของญี่ปุ่นจึงเหมาะสมที่จะให้โตคิวขาย เขามีเอาท์เลทและมาร์เกตติ้งเนทเวิร์คอยู่แล้ว" สุรินทร์ ศุภสวัส-ดิพันธุ์ ซึ่งอดีตเป็นผู้จัดการฝ่ายส่งออกให้ความเห็นกว้าง ๆ

ปัจจุบันจิมทอมป์สันไหมไทยกระจายไปขายทั่วโลกได้โดยผ่านระบบดีสทรีบิวเตอร์ ที่กระจายไปทั่ว 27 ประเทศ

"ดีสทรีบิวเตอร์แต่ละประเทศที่เรามีอยู่ส่วนใหญ่ทำสัญญาให้เขาเพียงผู้เดียว ทุก ๆ ปี มีคนเสนอตัวเข้ามาแต่เราก็ให้ไม่ได้ เพราะคนเก่าเขาทำได้ตามเป้าหมายและไม่ผิดสัญญา แต่ประเทศหนึ่งสามารถมีเอเยนต์มากกว่าหนึ่งได้ เช่นในฮ่องกงโตคิวขายของสำเร็จรูป แต่เอเยนต์อีกรายเขาเป็นอินทีเรียดีไซน์ เขาก็ขายผ้า" พิเชฐ บูรณสถิตย์พร ผู้บริหารตลาดเล่าให้ฟัง

ทุกวันนี้ยอดขายต่อปีของจิมทอมป์สันไหมไทยที่พุ่งสูงเกือบพันล้านบาทนั้น 65% เป็นยอดขายจากหน้าร้าน ส่วนอีก 35% เป็นยอดส่งออก

"ยอดขายหน้าร้านในประเทศปีที่แล้ว 600 กว่าล้านบาท (ดูตารางยอดขาย 10 ปี ก้าวกระโดดประกอบ) แต่มันเป็นเอกซ์ปอร์ตจำบังเพราะคนไทยซื้อแค่ 10 กว่า % แต่ลูกค้าชาวต่างประเทศถึง 80 กว่า % เวลาผมขายของได้ชิ้นหนึ่งเรานึกถึงว่า คนชนบทเขาก็ได้รับส่วนแบ่งนี้ด้วย" ชอบ ปั้นดี ผู้จัดการหน้าร้านเอ่ยด้วยความภูมิใจ

"40-50% จะเป็นลูกค้าญี่ปุ่นซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะอำนาจการซื้อสูง จากตัวเลขเราพบว่าญี่ปุ่นจะตั้งใจมาซื้อ 10 คน จะซื้อถึง 9 คน แต่สำหรับลูกค้าฝรั่งมา 10 คน จะซื้อ 3 คน ลูกค้าญี่ปุ่นเขา CRAZY แบรนด์ของเรามาก ๆ ตอนนี้ ข้อมูลเราพบว่าผู้ชายญี่ปุ่นซื้อมากกว่าผู้หญิง" ผู้จัดการหน้าร้านเล่าให้ฟังถึงการประมวลผลจากระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเพิ่งนำมาใช้ในงานบริหารการขายได้ 2 ปีกว่าว่าสามารถเก็บข้อมูลทั่วไปของลูกค้าได้ละเอียด

แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่ายอดขายในปีนี้จะเฉื่อยลงเพราะผลกระทบจากสงครามอิรักในตะวันออกกลาง ทำให้ปัญหาภาวะราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น กระทบต่อการท่องเที่ยวโดยตรง นักท่องเที่ยวน้อยลงและการขายก็ตกลง

"ในระยะหลังมีการแย่งทัวร์ซื้อทัวร์ทั้ง ๆ ที่ลูกค้าตั้งใจจะมาที่นี่ แต่ที่นี่นโยบายไม่มีการจ่ายค่าน้ำ เพราะถ้าเราจ่ายก็เท่ากับเอาเงินลูกค้ามาจ่าย สู้เอาเงินนี้ไปเพิ่มคุณภาพไม่ดีกว่าหรือ" ผู้จัดการหน้าร้านคนเก่าแก่เน้นหนักถึงการรักษาชื่อเสียงและคุณภาพที่ตีราคาเป็นเงิน ไม่ได้

ถึงวันนี้การขายหุ้นของตระกูลแบรี่ให้กับทางห้างโตคิวยักษ์ใหญ่ด้านการตลาดของญี่ปุ่น เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่น่าจับตามอง ขณะเดียวกันจุดนี้เองที่ทำให้ทั้งสามฝ่ายแฮปปี้

ตระกูลแบรี่ก็ได้เงินก้อนใหญ่มหาศาลเป็นผลตอบแทนการลงทุนที่ยาวนาน ตลอด 30 กว่าปีที่ถือหุ้นบริษัทนี้มา

ฝ่ายผู้บริหารและผู้ถือหุ้นบริษัทจิมทอมป์สันไหมไทยก็แฮปปี้ ไม่ต้องลำบากใจกับคนในตระกูลแบรี่ และที่สำคัญยังได้พันธมิตรทางธุรกิจอย่างโตคิวเข้ามาเป็น INTERNATIONAL WORLDWIDE DISTRIBUTOR ในการจัดจำหน่ายผ้าไหมไทยอีกด้วย

ส่วนโตคิวก็สมประสงค์ในธุรกิจที่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนที่จะเป็นแค่ตัวแทนจำหน่ายที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรในการบริหารหรือกำหนดนโยบาย

ดังนั้น ก้าวต่อไปของจิมทอมป์สันจึงราบรื่นเหมือนแพรไหม เมื่อพ้นเรื่องยุ่งยากใจภายในผู้ถือหุ้นนี้แล้ว และโครงการขยายตลาดทั้งในและนอกประเทศได้ถูกวางแผนไว้แล้ว

โดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้ได้ไปเปิดเอาท์เลท "JIM THOMPSON SHOP" ที่โรงแรงโอเรียนเต็ล นับว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มเอาท์เลท เพื่อบริการลูกค้าระดับสูงหลังจากที่มีลักษณะการบริหารตลาดแบบคอนเซนเวลทีฟ มานานกว่า 30 ปี

"ในประเทศไทยเราจะไม่มีเอเยนต์ เพราะเรามีร้านของเราเอง และถ้าหากจิมทอมป์สันชอพที่โอเรียนเต็ลประสบความสำเร็จ เราอาจจะพิจารณาเปิดหลายแห่ง แต่คงจะต้องเลือกทำเลที่ดีมาก ๆ ไม่ใช่เที่ยวเปิดตามศูนย์การค้า เราไปอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง อันนี้คือความเป็นจิมทอมป์สันไหมไทย" พิเชฐ บูรณสถิตย์พรเล่าให้ฟัง

นอกจากนี้โครงการขยับขยายพื้นที่ขายที่ชั้น 2-3 ของตึกสำนักงานใหญ่สุริวงศ์ เป็นแผนกขายผ้าตกแต่งบ้าน (HOME FURNISHING) ซึ่งเป็นแผนกใหม่ที่เติมโตตามภาวะความต้องการทางเศรษฐกิจทีมีการก่อสร้างโรงแรมและคอนโดมิเนียมก็จะเสร็จสมบูรณ์ในปีหน้าพร้อม ๆ กับสำนักงาน 5 ชั้น แห่งใหม่ที่ปลูกสร้างบนเนื้อที่ 1 ไร่ที่สุขุมวิทซอย 93

สิ่งสำคัญที่จะทำให้จิมทอมป์สันไหมไทยยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองก็คือการลงทุนผลิตวัตถุดิบปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเองที่ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ถ้าหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้จิมทอมป์สันเป็นยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมไหมไทย ที่มีการทำแบบครบวงจรตั้งแต่ผลิตวัตถุดิบเส้นไหมเองจนกระทั่งถึงอุตสาหกรรมการทอ การพิมพ์และการตลาดการขายทั่วโลก ด้วยการอาศัยชื่อเสียงและคุณภาพที่สั่งสมมานานนับ 4 ทศวรรษ

ฉะนั้นเป้าหมายสู่ความเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยระดับโลกจึงเป็นการทอฝันที่ใกล้เป็นจริงขึ้นในไม่ช้านี้!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us