ผู้ก่อตั้งกลุ่มเอื้อวิทยาฯ คือประมุขของตระกูลชื่อนายใช้ เอื้อวิทยา เสียชีวิตเมื่ออายุ
52 ปี ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามฯ สงบบรรดาลูก ๆ ก็ ดำเนินกิจการต่อ
โดยทำด้านการสั่งสินค้าอุตสาหกรรมเข้ามาขาย มีสัมปทานป่าไม้ แต่พิจิตร เอื้อวิทยากล่าวว่าได้เลิกทำไปก่อนที่จะมีการสั่งยกเลิกจากทางราชการ
เพราะมันไม่ได้ทำกำไรสักเท่าไหร่ เน้นการซื้อของจากต่างประเทศเข้ามาขายมากกว่า
การขยายจากเทรดดิ้ง คัมปะนีเริ่มด้วยการขยายพื้นที่ด้านหลังสำนักงานที่เอกมัย
เป็น WORK SHOP เพื่อซ่อมเครื่องจักรทั้งหลายที่นำเข้ามาขาย เป็นส่วนงานบริการซึ่งพิจิตรอ้างว่าปัจจุบันก็ยังให้บริการซ่อมอยู่
ในส่วนของโรงงานที่ลาดกระบังนั้นเริ่มงานมาได้ 8 ปีแล้ว มูลเหตุมาจากการที่เอื้อวิทยาฯ
ก่อนที่จะแยกเป็นบริษัทหลาย ๆ บริษัทดังในปัจจุบันได้ถูกบริษัทชลประทานซีเมนต์ขอชื่อไปใช้ในงานโยธา
บังเอิญพิจิตรได้เข้าไปเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วยในครั้งนั้น ทำให้เอื้อวิทยาฯ
เข้าไปเกี่ยวข้อง กับงานของบริษัทชลประทานซีเมนต์และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ด้วย
จนพิจิตรกล่าวว่า "ผมวิ่งเข้าออกจนทาง EGAT หรือ กฟผ. นี่รู้จักผมดี"
พิจิตรได้รับคำแนะนำว่าเอื้อวิทยาฯ อาจจะทำเรื่องสถานีย่อยไฟฟ้าได้ เราจึงริเริ่มทำขึ้นแต่น้อยก่อน
เมื่อ EGAT เห็นว่าเอื้อวิทยาฯ สามารถทำได้ก็ให้ลองทำดู โดยเริ่มจากเสาไฟฟ้าขนาดเล็กประมาณ
96 เควีก่อน แล้วก็ขยายมาเรื่อย ๆ เป็นขนา ด 115, 220, 280 เควี จนปัจจุบัน
ทำ 500 เควี
การลงทุนทำโรงงานทำให้ต้องใช้เงินมาก ทั้งซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบ จึงต้องมีการกู้เอาจากธนาคารฯ
ซึ่งเอื้อวิทยาฯ เป็นลูกค้าเก่าแก่มานาน พิจิตรเปิดเผยว่า "ตลอดเวลาที่ติดต่อกับธนาคารฯ
มาเราไม่เคยมีปัญหาเลย จนกระทั่งธนิต พิศาลบุตรอดีตกรรมการผู้จัดการคนเก่าออกไป
มีกรรมการผู้จัดการใหม่เข้ามา มันเป็นจังหวะที่เรากำลังบูมอยู่ก็ต้องมาสะดุด
อย่างเรื่องแพ็คกิ้ง เครดิต ก็ไม่มีใครรู้เรื่องเลย ตอนนั้นเราก็เลยไม่ได้รับสิทธิที่แบงก์ชาติให้อันนี้"
บรรดารุ่นลูกของใช้มีรวมทั้งสิ้น 18 คน อย่างพิจิตรซึ่งเป็นคนท้าย ๆ แล้วนั้นเล่าว่าเขาจบเพียงมัธยม
3 ในประเทศไทยเท่านั้น แล้วถูกส่งตัวไปทำงานที่เมืองนอก เพื่อเป็นการฝึกงานไปในตัว
ส่วนมารุธนั้นเป็นชั้นหลานแล้ว
ผู้ถือหุ้นอยู่ในเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ปัจจุบันแยกออกมาเป็น 5 ตระกูล
ซึ่งก็เกี่ยวดองเป็นเครือญาติในเอื้อวิทยาทั้งสิ้นคือไวคกุล, เอื้อวิทยา,
กัลยาณะวงศ์, อุไรรัตน์ และเมืองแก้ว
แนวทางการขยายทำโรงงานที่เอื้อวิทยาฯ ดำเนินมานั้นนับเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง
ว่าไปแล้วเส้นทางธุรกิจของเอื้อวิทยาฯ ดูไปได้ดีอย่างมาก ๆ กล่าวคือบริษัทฯมีความสัมพันธ์เป็นอันดีกับหน่วยราชการที่เป็นลูกค้าโดยตรง
ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฯ องค์การโทรศัพท์ฯ กรมชลประทานฯ บริษัทฯ มีธนาคารฯ
หนุนหลังอุ้มชู บริษัทฯ มีความชำนาญงานในตลาดที่ทำอยู่ มีเครดิตชื่อเสียงในฐานะผู้บุกเบิกตลาดรายแรก
ๆ ในไทย และยังมีความสัมพันธ์กับผู้ค้าต่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องการติดต่อซื้อวัตถุดิบ
ปัจจุบันโรงงานเอื้อวิทยาฯ ที่ลาดกระบัง ถนนร่มเกล้ามีพื้นที่ประมาณ 30
กว่าไร่ พนักงานโรงงานฯ มีทั้งสิ้น 756 คน มีงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ
50 โครงการ งานโครงการใหญ่สุดในเวลานี้คือรับจ้างบริษัท สุมิโตโมทำเสาไฟฟ้า
TOWER ขนาด 500 เควี ประมาณ 540 ตัน ถัดมาเป็นโครงการผลิตเสาโทรคมนาคมขององค์การโทรศัพท์
บริเวณโรงงานแบ่งเป็นโรงย่อยหลายหน่วย โรงหน้าทำงานเล็กๆคล้ายโรงกลึง ต่อด้วยบริเวณ
PACKING สินค้าเพื่อส่งของให้ลูกค้า ถัดมาเป็นโรง BOLT&NUT ผลิตน็อตและแหวนต่างๆมีโรงชุบสังกะสี
(GALVANIZING) ซึ่งเป็นตัวทำรายได้สำคัญอันหนึ่งให้บริษัทฯ
หน่วยที่ใหญ่ที่สุดดูเหมือนจะเป็นโรงผลิต TOWER และ SUBSTATION ซึ่งมีคนงานประมาณ
180 คนในโรงนี้มีทั้งส่วนที่ใช้แรงคน (MANUAL) และส่วนที่ดำเนินงานด้วยคอมพิวเตอร์
โดยมีเครื่องตัดเจาะเหล็กด้วยคอมพิวเตอร์ชื่อ L-COM มี 2 ตัวและเครื่อง H-COM
1 ตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมหน่วยกล่าวว่าเป็นเครื่องตัดเจาะเหล็กเครื่องแรกๆที่มีการสั่งเข้ามาในเมืองไทย
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่โรงงานว่างสำหรับให้เช่า ซึ่งปัจจุบันบริษัทโตโมเอะ
ผู้รับเหมาทำโรงไฟฟ้าที่ระยองได้มาเช่าพื้นที่ทำอุปกรณ์อยู่ด้วย
เอื้อวิทยาฯมีการนำเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในงานออกแบบ TOWER &
SUBSTATION โดยมีเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ 1 ตัวและมีจอเทอร์มินัลอีกมาก เจ้าหน้าที่วิศวกรในหน่วยนี้มีประมาณ
30 คน
สินทรัพย์ที่มีประมาณ 343 ล้านบาท (ปี 2532) ของเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ทำให้อนาคตของบริษัทฯดูจะไปได้ดี
แต่เมื่อเกิดเรื่องขัดแย้งในหมู่ผู้บริหารขึ้น ถึงแม้โรงงานฯจะเดินต่อไปได้เรื่อยๆ
แต่ธุรกิจก็ต้องชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและผลงานที่สั่งสมมาหลายสิบปีอย่างน่าเสียดาย
!!