Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2542
วานิช ขยายฐานธุรกิจที่ชำนาญ             
 

   
related stories

ธุรกิจเก่าภูเก็ต เติบโตใต้ขีดจำกัด
100 ปี เกาะภูเก็ต จากยุคเหมืองแร่ สวนยาง สู่การท่องเที่ยว

   
search resources

วานิชกรุ๊ป
อภิรักษ์ วานิช
Real Estate




"ตระกูลวานิช" มีธุรกิจที่ครอบคลุม ไปทั้ง 3 จังหวัด(ภูเก็ต กระบี่ และพังงา) มาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบันมีบริษัทในเครือกว่า 10 บริษัท ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสืบทอด มาตั้งแต่บรรพบุรุษผู้บุกเบิกธุรกิจเริ่มแรก ที่โดดเด่นที่สุดในขณะนี้ คือ ธุรกิจอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของตระกูลวานิช ด้วยการร่วมทุนกับธุรกิจระดับโลกอย่างยูนิลีเวอร์ แห่งยุโรป ซึ่งเพิ่งจะขายหุ้นทั้งหมดให้ตระกูลวานิชในช่วงวิกฤติการณ์ เศรษฐกิจที่ผ่านมา

ตำนานธุรกิจของตระกูลวานิช มีความเป็นมาค่อนข้างยาวนานที่ต้องเริ่มต้น ด้วยความยากลำบาก อดทนทำงานหนักใน ช่วงแรกที่เข้ามาทำมาหากินในประเทศไทย เมื่อประมาณเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา เจียร วานิช ชาวพังงา ที่ต้องทำงานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ด้วยการช่วยแม่ขายขนม จนโตเป็นหนุ่ม เปลี่ยนอาชีพเป็นตัดไม้และขายปลา ทำรถม้ารับจ้างคนในตลาดพังงา ทำให้มีรายได้ดีขึ้น จนสามารถซื้อเรือและออกไปทำโป๊ะจับ ปลาที่เกาะปันหยีและเกาะหมากน้อยในจังหวัดพังงา

เมื่อสามารถซื้อเรือได้หลายลำ เจียร ได้ติดต่อรับจ้างขนอุปกรณ์การทำเหมืองแร่ จากบริษัทฝรั่งและเป็นที่พอใจของนายจ้างฝรั่ง จึงตกลงทำสัญญาให้เป็นผู้รับเหมาในการขนฟืน ล้างแร่ ขนแร่ และรับเหมาก่อสร้างให้แก่บริษัทแต่เพียงผู้เดียว

หลังจากเป็นลูกจ้างบริษัทเหมืองแร่ฝรั่งและศึกษาดูงานอยู่พักหนึ่ง จึงได้เปิด กิจการเหมืองแร่ดีบุกของตนเองที่จังหวัดพังงา จนทำให้มีฐานะมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นเป็นคหบดีคนหนึ่งของจังหวัดพังงา

นอกจากทำเหมืองแร่แล้ว นายเจียร ยังได้ขยายงานโดยการซื้อเรือสำเภาหลายลำเพื่อขนส่งสินค้า และได้เปลี่ยนเป็นเรือยนต์รับส่งสินค้าระหว่างพังงา กันตัง ภูเก็ต และปีนัง และทำการเดินเรือจนกระทั่งได้เป็นเอเยนต์เรือต่างประเทศ

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ประ เทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภคเป็นอย่างมาก นายเจียรเป็นผู้หนึ่งที่ สามารถซื้อสินค้าจำเป็นต่างๆ ตลอดจนยารักษาโรคเข้ามาได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในขณะ นั้นรัฐบาลได้จัดตั้งบริษัทจังหวัดขึ้นตามจังหวัดต่างๆ นายเจียรได้รับแต่งตั้งเป็น"ผู้จัดการบริษัทจังหวัด"อยู่ 3 ปี จึงลาออก เนื่องจากมีกิจการส่วนตัวอยู่มาก และต่อมา ได้ขยายกิจการเข้ามายังจังหวัดภูเก็ต โดยเปิดสำนักงาน บริษัท เจียรวานิช จำกัด ขึ้น ที่จังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งลงทุนเพิ่มในส่วนของโรงงานยาง โรงงานน้ำมันมะพร้าวและทำการเดินเรือระหว่างประเทศ

ยุคสอง

นายเจียรมีลูกชายคนเดียวคือ เอกพจน์ วานิช เมื่อเรียนสำเร็จจากต่างประ เทศ เอกพจน์ได้กลายเป็นหัวแรงสำคัญในการดูแลกิจการของครอบครัว จากการที่เอกพจน์เป็นคนที่กว้างขวาง มีเพื่อนมาก หลังจากที่เข้ามาดูแลกิจการของครอบครัว เอกพจน์ได้ขยายกิจการออกไปอีกมากมาย ทั้งในจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ และขยายออกไปยังจังหวัดอื่นทั้งในภาคใต้และภาคอื่นๆ ถือได้ว่าในยุคที่เอกพจน์เข้ามาบริหาร กิจการ ธุรกิจของวานิช เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเอกพจน์เป็นกำลังสำคัญในการสร้าง เสริม และรักษาธุรกิจของตระกูลวานิช

โดยเริ่มจากกิจการ Shipping ซึ่งเดิมเป็นกิจการเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างกันตัง-ภูเก็ต-ปีนัง ได้มีการขยายงานโดยการเปิดบริษัทภูเก็ตโหงวฮก จำกัด ขึ้นที่ ภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีการร่วมลงทุน ทำ กิจการเดินเรือต่างประเทศกับบริษัท RCL ในประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย และเพื่อขยายงานการเดินเรือให้เพิ่มมากขึ้น จึง ลงทุนซื้อท่าเรือแหลมป่อง ที่จังหวัดกระบี่ เป็นท่าเทียบเรือน้ำลึก ขนาด 5 หมื่นตันกรอส ในการรับเรือเดินสมุทรรับสินค้าในเขตภาคใต้

ในส่วนของกิจการเหมืองแร่ ซึ่ง เป็นกิจการเดิม ได้มีการขยายทำเหมืองแร่ดีบุก ยิปซั่ม และวุลแฟรม ไปยังจังหวัด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และจังหวัด กาญจนบุรี

กิจการอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มนั้น หลังจากที่นายเจียรได้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไว้ที่อำเภออ่าวลึก จ.กระบี่ โดย การจัดตั้งบริษัทไทยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและสวนปาล์ม จำกัด ขึ้น เอกพจน์ได้ ขยายกิจการปาล์มน้ำมันเพิ่มด้วยการจัดตั้ง บริษัทสยามน้ำมันปาล์ม จำกัด บริษัท เจียรวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด และที่สำคัญที่สุดคือการร่วมทุนกับบริษัทยูนิลีเวอร์ จำกัด ประเทศอังกฤษ พัฒนาอุตสาหกรรม ปาล์มในนามของบริษัท ยูนิวานิช จำกัด เพื่อนำเทคโนโลยีสมัยใหม่จากต่างประเทศเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศไทย

นอกจากนี้แล้วได้มีการขยายการลงทุนที่นอกเหนือจากธุรกิจไลน์เดิมที่มีอยู่ด้วยการลงทุนสร้างโรงพยาบาลเอกชนแห่ง แรกในจังหวัดชลบุรี ชื่อโรงพยาบาลเอกชล เป็นอาคาร 6 ชั้น บนพื้นที่ 10 ไร่ ขนาด 105 เตียง

รุ่นที่ 3 มุ่งรักษาธุรกิจเดิม

หลังจากเอกพจน์เข้ามาดูแลกิจการ ทั้งหมดของวานิช เมื่อเจียรเสียชีวิตลง เอกพจน์ได้วางรากฐานการบริหารกิจการของวานิชไว้อย่างมั่นคง ในหลายๆกิจการ โดยเดินตามกิจการเดิมที่มีอยู่และยึดหลักขยายไปสู่ธุรกิจที่มีความรู้และมีความชำนาญเป็นหลัก เมื่อรุ่นที่ 3 ของตระกูลวานิช คือ ลูกๆ ของเอกพจน์ทั้งหมด 8 คน ซึ่งได้ รับการศึกษาจากต่างประเทศในสาขาวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของครอบครัวที่มีอยู่เดิม บริหารจัดการธุรกิจของครอบครัว อย่างเช่น พจนา มาโนช ที่หลังจากจบการศึกษาด้านการบริหารโรงพยาบาล ก็เข้ามาบริหารโรงพยาบาลเอกชล ที่จังหวัดชลบุรี อภิรักษ์ วานิช ซึ่งจบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเกษตร เชิงพาณิชย์ก็เข้ามาดูแลกิจการในส่วนของปาล์มน้ำมัน และรับหน้าที่ประธานกรรมการ บริหารบริษัทในเครือวานิช กรุ๊ป ทั้งหมด อังคนา วานิช ดูแลในส่วนของธุรกิจ พัฒนาที่ดิน อรนุช วานิช รับช่วงดูแลการตลาดของธุรกิจเหมืองยิปซัม และส่งออก ยิปซัมไปต่างประเทศ ในขณะที่รจนา วานิช รับผิดชอบดูแลสวนยางทั้งหมด

การบริหารงานของทายาทวานิชในรุ่นนี้ เป็นการรับช่วงบริหารกิจการของครอบ ครัว โดยยึดหลักในการบริหารจัดการตามรอยบรรพบุรุษ ที่มุ่งขยายการลงทุนในกิจการเดิมที่มีอยู่แล้วและมีความชำนาญ แทนการขยายการลงทุนสู่ไลน์อื่นๆที่เป็นกิจการใหม่และยังขาดประสบการณ์

ทันทีที่รุ่นที่ 3 ของวานิช เข้ามาบริหารกิจการ โดยการนำของอภิรักษ์ วานิช ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัทใน เครือวานิช กรุ๊ป ก็ได้เดินรอยตามบรรพ บุรุษ มุ่งขยายการลงทุนเดิมที่มีอยู่ให้ดี ที่สุด

"เราไม่เน้นลงทุนในกิจการตัวใหม่ๆ ที่ไม่มีความชำนาญ แต่จะพยายามขยายฐาน ธุรกิจเดิมที่มีอยู่ ในส่วนที่ทายาทแต่ละคนที่มีความรู้และความชำนาญให้ดีขึ้นเรื่อยๆ " อภิรักษ์ วานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือวานิช กรุ๊ป กล่าวย้ำ

อภิรักษ์บอกว่าหลังจากที่ตนและพี่ๆ เข้ามาดูแลบริษัทในเครือวานิช กรุ๊ป แทน คุณพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว ได้ตั้งปณิธานที่จะ ขยายฐานกิจการเดิมที่มีอยู่ให้ดีที่สุด เพราะ เป็นธุรกิจที่เรามีความชำนาญอยู่แล้ว โดยเริ่มจากเหมืองแร่ยิปซัม ได้มีการขอประทาน บัตรทำเหมืองยิปซั่มเพิ่มขึ้นเป็น 3 เหมืองในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัด สุราษฎร์ธานี มีการขยายการลงทุนโรงพยา บาลเอกชลจาก 120 เตียง เป็นโรงพยาบาล ขนาดเกือบ 300 เตียง และนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนธุรกิจอื่น เช่น สวน ยางพารา บริษัทขนส่งสินค้า และบริษัทอื่นๆ ที่ดำเนินกิจการไปได้เรื่อยๆ ไม่มีความหวือหวามาก

ธุรกิจที่เด่นที่สุดของตระกูลวานิชในยุคนี้ คือ ธุรกิจอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เพราะขณะนี้ บริษัทยูนิวานิช จำกัด มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งของประเทศไทย

เจียร วานิช ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีการปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2509 โดยการนำพันธุ์ปาล์มจากประ เทศมาเลเซียมาปลูกเพื่อการพาณิชย์ ที่อำเภออ่าวลึก จ.กระบี่ และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน และได้ตั้งบริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและปาล์มน้ำมัน จำกัด ขึ้น เพื่อรองรับปาล์มน้ำมัน ต่อมาเอกพจน์ วานิช ได้ซื้อโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นอีก พร้อมทั้งตั้งบริษัท สยามน้ำมันปาล์มและอุตสาหกรรมจำกัด และบริษัทเจียรวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มในกระบี่และสุราษฎร์ธานีเป็น 38,000 ไร่ มีคนงาน 800-900 คน

ในขณะนั้นบริษัทได้ร่วมทุนกับ ยูนิลีเวอร์จากประเทศอังกฤษ ในสัดส่วน 49:51 โดยยอมให้ยูนิลีเวอร์ถือหุ้น 51% แต่มีเงื่อนไขว่ายูนิลีเวอร์จะต้องนำเทค โนโลยีสมัยใหม่ทุกอย่างที่ดีที่สุดเข้ามาในประเทศไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาห กรรมปาล์มน้ำมันไทย และหลังจากที่ยูนิลี เวอร์เข้ามาบริหารได้สักระยะหนึ่งเห็นว่าบริษัทที่บริหารอุตสาหกรรมปาล์มมีถึง 3 บริษัท ทำให้ต้นทุนเพิ่มโดยไม่จำเป็นจึงรวม 3 บริษัทเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ "บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์มจำกัด "

ที่มาการร่วมทุนยูนิลีเวอร์

การปลูกปาล์มระยะแรกของวานิช เมื่อได้น้ำมันปาล์มมาก็จะส่งขายตลาดภาย ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะบริษัท ลีเวอร์บราเธอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่กรุงเทพฯ เพราะเป็นบริษัทใหญ่ในวงการสบู่ จำเป็นต้องใช้น้ำมันปาล์มมาก นั่นคือจุดเริ่ม ต้นของความสัมพันธ์อันดีของวานิชกับ ลีเวอร์ในฐานะพ่อค้ากับลูกค้า

จนกระทั่งบริษัทแม่ของลีเวอร์บรา เธอร์ฯ ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ คือ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ลอนดอน ได้ติดต่อมายังนายเจียรโดยตรง เพื่อขอร่วมทุนและขยายงานด้านนี้ เพราะขณะนั้นยูนิลีเวอร์ต้องการวัตถุดิบคือน้ำมันปาล์ม เพื่อผลิตน้ำมันพืช สำหรับบริโภคออกสู่ตลาด แต่การเจรจายังไม่แล้วเสร็จนายเจียรก็เสียชีวิตลงก่อน

หลังจากที่เอกพจน์ วานิชมารับช่วง บริหารกิจการปาล์มแทนนายเจียร วานิช และยูนิลีเวอร์ได้ติดต่อเข้ามาอีกในยุคที่เอกพจน์เข้ามาบริหารงานทั้งหมด ซึ่งช่วงที่เอกพจน์เข้ามาบริหารปาล์มน้ำมัน ไม่ได้มีเฉพาะยูนิลีเวอร์เท่านั้นที่ติดต่อขอร่วมหุ้นด้วย เพราะยังมีบริษัทจากลอนดอนและมาเลเซียติดต่อทาบทามเข้ามา ทำให้ทายาท ตระกูลวานิชต้องเร่งศึกษาข้อมูลถึงผลดีและผลเสียอย่างละเอียด ในที่สุดก็ตกลงร่วมหุ้นกับยูนิลีเวอร์

ภายใต้เงื่อนไขการร่วมทุน คือ ลีเวอร์ฯ ถือหุ้น 51% วานิชถือ 49% ตามนโยบายของบริษัทแม่ที่อังกฤษ ที่ต้องให้ลีเวอร์ฯถือหุ้นมากกว่า 50% และสัญญาจะนำเทคโนโลยีทางด้านการจัดการสวนปาล์ม, โรงงานและระบบการจัดการมาปรับปรุงอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศไทย ซึ่ง ทางวานิชยอมให้ลีเวอร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แต่ตำแหน่งประธานต้องมาจากฝั่งไทย

เหตุผลที่ยอมร่วมทุนกับลีเวอร์นั้น ทางวานิชมองว่ายูนิลีเวอร์เป็นบริษัทที่มีสวนปาล์มและโรงงานปาล์มเป็นของตัวเองมากที่สุดบริษัทหนึ่งของโลก เช่น โคลัมเบีย อเมริกาใต้ เคนยา แอฟริกา เซาต์ไอร์แลนด์ ไนจีเรีย และมาเลเซีย ด้วยเครือข่ายใหญ่และเป็นที่รู้จักและเชื่อถือกันทั่วโลก น่าจะมีระบบการบริหารงานที่ดีและเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาบริหารธุรกิจปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะเกิดประ โยชน์กับวานิช และการพัฒนาอุตสาหกรรม ปาล์มน้ำมันในประเทศไทย

หลังจากที่วานิชได้ร่วมทุนกับยูนิลี เวอร์แล้ว ก็เริ่มมีการจัดองค์กรบริหาร รวมทั้งหลักการบริหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ให้การทำงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และลดต้นทุนในการผลิตลง รวมทั้งบริษัทต่างๆ เป็นบริษัทเดียวภายใต้ ยูนิวานิช

สิ่งแรกที่ชาวสวนปาล์มในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียงได้รับคือ เทคโน โลยีที่ทันสมัย จากบริษัทเช่น ตัวแมลงช่วย ผสมเกสร ชื่อ ฮีโลเปเปียส ซึ่งบริษัทนำมาจากแอฟริกา อันเป็นผลวิจัยของยูนิลีเวอร์ที่ลอนดอน มาแทนแรงงานคน ทำให้บริษัท ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเตรียมเกสรถึงปีละ 6-7 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มผลผลิตจาก การใช้แรงงานปกติหลายสิบเปอร์เซ็นต์ มีการนำระบบฉีดยากำจัดวัชพืชด้วยเครื่อง "อัลตราโลโบรุ่นสเปรย์เอยร์" ซึ่งสามารถลดการสูญเสียยาเคมีอย่างมหาศาล โดยโรงงานมีการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม และการสูญเสียในการผลิต ต่าง ๆ ได้ปีละไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

"เมื่อปีที่แล้ว ทางยูนิลีเวอร์เปลี่ยนนโยบายขายหุ้นบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกับคอนซูเมอร์ โปรดักส์ ออกทั้งหมด สวนปาล์ม ก็เป็นหนึ่งในกิจการที่ยูนิลีเวอร์ไม่ต้องการถือหุ้นไว้อีกแล้ว เขาเข้ามาถามว่าวานิชพร้อม จะรับซื้อหุ้นของเขาทั้งหมดไว้หรือไม่ หากเรา ไม่ซื้อเขาก็จะขายคนอื่นๆ ซึ่งตอนนั้นสภาวะ เศรษฐกิจตกต่ำอย่างที่สุด ค่าเงินบาทดิ่งเหว เราจึงรับซื้อหุ้นไว้ทั้งหมด เพราะเป็น กิจการที่บรรพบุรุษสร้างมาให้ เราต้องรักษา ไว้ให้ดีที่สุด"

อภิรักษ์เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ตอนแรกที่เข้ามาดูแลยูนิวานิชฯ ต้องยอมรับว่าหนักใจพอสมควร เพราะก่อนจะรับซื้อ กลับมาโดยมารยาทแล้วเราจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ปล่อยให้ยูนิลีเวอร์เป็นคนจัด การบริหารทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามเราก็สามารถฝ่าจุดนั้นมาได้ เพราะได้มืออาชีพที่เคยบริหารยูนิวานิชมา 6 ปี เข้ามาร่วมงานด้วยและผู้บริหารของยูนิวานิชฯก็ล้วนแต่มีฝีมือดีมาก ตอนนี้คงจะไม่เกินความจริงมากนักหากจะกล่าวว่า ยูนิวานิชฯ เป็นบริษัทอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่มีผลประกอบการอยู่ในอันดับต้นๆของอุตสาห กรรมนี้ในประเทศไทย

"เราวางแผนที่จะนำยูนิวานิชเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาว่าจะ เข้าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศหรือต่างประ เทศดี ส่วนจะเมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับความ เหมาะสมและความพร้อมของยูนิวานิช"

ธุรกิจเรียลเอสเตท

ธุรกิจพัฒนาที่ดิน เป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่ตระกูลเก่าแก่ในภูเก็ต เกือบจะทุกตระกูล เข้าไปลงทุนในยุคที่เหมืองแร่หมดราคา แม้ แต่ตระกูลวานิช ซึ่งตั้งปณิธานไว้ว่าจะขยาย การลงทุนสู่ธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว และถนัดเท่านั้น แต่ธุรกิจพัฒนาที่ดินก็สามารถที่จะทำให้ทายาทของวานิชยอมทุ่มทุนขยายการ ลงทุนสู่ธุรกิจพัฒนาที่ดินจนได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าธุรกิจพัฒนาที่ดินเป็นธุรกิจเดียว ที่ทายาทวานิชขยายการลงทุนนอกไลน์เดิมที่ตระกูลมีอยู่

อังคนา วานิช เห็นว่าธุรกิจเดิมของ ครอบครัวซึ่งเน้นหนักไปที่การทำสวนปาล์ม สวนยาง และอุตสาหกรรม ซึ่งไม่เหมาะกับเธอและลูกสาวอีกหลายคนในตระกูลวานิช หลังจากที่เธอได้ช่วยงานด้านสวนปาล์มมาระยะหนึ่ง ประกอบกับวานิชมีที่ดินแปลงสวยๆที่เหมาะจะนำมาพัฒนาได้หลายแปลง จึงได้ขอที่ดินจากพ่อ (เอกพจน์ วานิช) ที่บริเวณตัวเมืองภูเก็ตมาพัฒนาเป็นโครงการ อาคารพาณิชย์ ภายใต้โครงการ "วานิช พลาซ่า" จำนวน 98 ยูนิต เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา กลับประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม ปิดโครงการได้ในเวลาอันรวดเร็ว

อังคนาเล่าว่า หลังจากปิดโครงการวานิชพลาซ่าได้แล้ว ไม่อยากที่จะหยุดอยู่ที่โครงการเดียว อยากจะทำโครงการที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยบ้าง จึงได้ขอที่ดินจากคุณพ่อบริเวณอ่าวมะขาม ซึ่งเป็นที่ดินที่คิดว่า จะสร้างบ้านอยู่ของครอบครัว มาพัฒนาเป็นโครงการ"วานิช เบย์ฟรอนท์ วิลล์" สร้าง เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับขายให้กับลูกค้าชาวต่างประเทศและนักธุรกิจจากกรุงเทพฯ ที่ต้องการจะมีบ้านไว้พักผ่อนยามเกษียณอายุ มีทั้งหมด 46 ยูนิต ตอนนี้ขายไปแล้วประมาณ 50%

"ตอนนี้ก็ขายไปได้เรื่อยๆ ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจต่ำ โครงการพัฒนาที่ดินทั่วประเทศได้รับผลกระทบกันมาก แต่โครงการวานิชเบย์พรอนท์ วิลล์ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะลูกค้าหลักจะอยู่ที่คน ต่างประเทศ ทำให้ลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น จะกระทบบ้างก็ในส่วนของลูกค้าคนไทย ที่ยอดขายลดลงประมาณ 20% "

อังคนากล่าวว่า การขยายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้น ยังจะมีต่อไปในอนาคต เพราะตระกูลวานิชยังมีที่ดินแปลงสวยๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาได้อีกหลายแปลง

บทเรียนการบริหารจากยูนิลีเวอร์

อภิรักษ์กล่าวถึงการบริหารบริษัท ในเครือวานิช กรุ๊ป ว่าระบบยังเป็นสิ่งที่ดี ที่สุด ซึ่งเห็นได้จากกรณีที่เราร่วมทุนกับทาง ยูนิลีเวอร์ เขาได้สร้างระบบในการบริหารที่ดีให้กับเรา ซึ่งได้กลายเป็นจุดแข็งที่จะสามารถขยายกิจการออกไปได้มาก

อภิรักษ์กล่าวว่า การถอนตัวของลีเวอร์ฯ ไม่มีผลกระทบต่อตลาดน้ำมันปาล์มของยูนิวานิช เพราะระบบบริหารและบุคลากรยังเหมือนเดิมทั้งหมด

ระบบการบริหารที่ได้เรียนรู้มาจากการร่วมทุนกับลีเวอร์ฯ ที่สำคัญๆ เช่น การ สร้างและดูแลทรัพยากรบุคคลเป็นหัวใจขององค์กรในระยะยาว, การเกษตรที่ต้องพึ่งการจัดการที่ดีทั้งในส่วนของการผลิต และการตลาด "มืออาชีพ"ที่ดีสำหรับบริษัทต้องมาจากการ"สร้าง" ไม่ใช่มาจากการ"ซื้อ"

ต้นทุนเงินเดือนไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดในการได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ในบริษัทที่มีขนาดใกล้เคียงกัน

และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีความ สำคัญยิ่งสำหรับพนักงานทุกระดับ

"การบริหารจัดการบริษัทในวานิช กรุ๊ป เราพยายามที่จะนำระบบสากลมาใช้ให้ ได้มากที่สุด ลดระบบการบริหารแบบกงสีลงเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังเป็น Transition Period อยู่คิดว่ายังคงต้องใช้ เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการค่อยๆ เปลี่ยน แปลงวัฒนธรรมองค์กร ตัวอย่างก็คือขณะนี้ยูนิวานิชเป็นสากลเต็มรูปแบบแล้ว และบริษัทเจียรวานิช ซึ่งเป็นบริษัทแม่ไม่มีสิทธิเข้ามาบริหารจัดการบริษัทอื่นเป็นเพียงบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทลูกเท่านั้น ซึ่งการบริหารในลักษณะนี้เราเริ่มมาตั้งแต่คนรุ่นที่ 3 เข้ามาบริหารจัดการแล้ว"

อภิรักษ์กล่าวว่า การบริหารงานเน้น หลักไม่ประมาท ไม่ลงทุนตามกระแสเศรษฐ กิจ จะเลือกขยายการลงทุนในกิจการที่มีความถนัดเท่านั้น จะเน้นการขยายฐานและ คุณภาพของธุรกิจ จะไม่เน้นปริมาณหรือจำนวนของบริษัทที่มีอยู่ในกลุ่ม ทำให้ หลายๆ คนมองว่าเติบโตช้า แต่เมื่อวิกฤติ การณ์เศรษฐกิจเกิดขึ้นมาธุรกิจจึงได้รับผล กระทบน้อยมาก

วานิชในวันนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งตระกูล เก่าแก่ที่เข้ามาทำธุรกิจบนเกาะภูเก็ตและสามารถรักษาธุรกิจที่บรรพบุรุษสร้างไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าจะผ่านมรสุมมาหลายลูก

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us