Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2533
แบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การ VS เอื้อวิทยาฯ ชาวนากับงูเห่า?!?             
โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
 


   
search resources

ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ
เอื้อวิทยา, บมจ.
Banking and Finance
Metal and Steel




ค่าเสียหายจำนวน 501,190 ล้านบาทที่เอื้อวิทยาฯเป็นโจทก์ฟ้องเรียกร้องจากธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การผู้เป็นจำเลย ทำให้คดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์คดีหนึ่งในประวัติการฟ้องร้องตามขั้นตอนศาลของไทย ทั้งนี้เมื่อคำนวนดูสินทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การซึ่งจำเลยส่วนมากต่างเป็นผู้บริหารในธนาคารแห่งนี้นั้น มีเพียงกระผีกของวงเงินค่าเสียหายกว่าห้าแสนล้านบาทที่โจทก์เรียกร้อง

สินทรัพย์รวมของแบงก์สตางค์แดงเมื่อสิ้นปี 2532 มีเพียง 48,390 ล้านบาทเท่านั้น

ผู้ได้ฟังเรื่องราวเพียงคร่าวๆต่างหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง ผู้ใกล้ชิดมารุธกล่าวว่าโจทก์มีความมั่นใจมากว่าจะสามารถชนะด้วยการประนีประนอมยอมความ แม้จะเตรียมฟ้องในศาลอาญาไว้ด้วยก็ตามส่วนฝ่ายธนาคารฯต่างงุนงงที่อยู่ๆบริษัทลูกหนี้ซึ่งธนาคารส่งคนเข้าไปบริหารและดูจะดำเนินการไปได้ด้วยดี กลับพลิกลำมาฟ้องร้องธนาคารฯและคนที่ธนาคารฯ ส่งเข้าไป อย่างไรเสียธนาคารฯก็ยืนยันที่จะสู้คดีและไม่มีการประนีประนอมยอมความแน่

เหตุการณ์ที่เป็นเรื่องสามัญในสังคมธุรกิจสมัยใหม่ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ผู้คนจะให้ความสนใจและติดตามไปอีกนาน ลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่ได้เปลี่ยนสภาพความสัมพันธ์มาเป็นโจทก์และจำเลยตามลำดับต่างเป็นกิจการเก่าแก่ในสังคมธุรกิจไทย

ประวัติการกู้หนี้ยืมสินมีมานานก่อนที่ผู้บริหารรุ่นหลังจะเติบโตขึ้นมาบริหารงาน ทั้งในส่วนของธนาคารและบริษัทเอื้อวิทยาฯ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าผู้บริหารรุ่นหลังต่างรับมรดกหนี้มาจำนวนหนึ่ง และมีส่วนที่พอกพูนเพิ่มเติมขึ้นในภายหลัง ว่ากันว่าการฟ้องร้องครั้งนี้สะท้อนเบื้องหลังความคิดเห็นที่แตกต่างกันในด้านการบริหาร ซึ่งนำมาสู่จุดแตกหักที่จะเกิดในชั้นศาลในเร็ววันนี้

เอื้อวิทยาฯเป็นกิจการค้าขายเก่าแก่ที่ก่อตั้งมานานกว่า 90 ปี แต่เฉพาะบริษัทเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ที่เป็นลูกหนี้และโจทก์ของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การนั้นเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2510 เริ่มธุรกิจด้วยการเป็นตัวแทนค้าขายสินค้าต่างๆเกี่ยวกับเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ค้าขายเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ ระยะหลังได้ขยายมาทำโรงงานเพื่อผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาโทรคมนาคม รับจ้างชุบสังกะสี และผลิตน็อต ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ได้กลายเป็นรายได้หลักของบริษัทในเวลาต่อมา (ดูล้อมกรอบความเป็นมาของเอื้อวิทยาฯ)

แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดมารุธ เมืองแก้ว เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"ว่า "การฟ้องร้องครั้งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่มารุธคิดดำเนินการไว้ตั้งแต่เมื่อแบงก์เข้ามาซื้อหุ้นส่วนข้างมากเพื่อเข้ามาบริหารใน ปี 2530 แล้ว เพราะเอกสารต่างๆสมัยนั้นมารุธก็ยังเก็บเอาไว้อยู่ และอาจจะเอามาใช้ในคดีความครั้งนี้ด้วย"

นี่เท่ากับแสดงให้เห็นเจตน์จำนงของมารุธขณะที่ในอีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นความรอบคอบของเขาซึ่งไม่รู้ว่าในอนาคตจะได้บริษัทของตัวคืนมาหรือไม่

แม้ว่ามารุธจะเป็นหนึ่งในตระกูลเอื้อวิทยา แต่ปรากฏว่าเขาเป็นโจทก์แต่เพียงผู้เดียวในคดีนี้ โดยก่อนหน้าที่จะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นนั้น เขาได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ซึ่งเขาดูแลรับผิดชอบทางด้านจัดซื้อวัตถุดิบและประจำอยู่ที่โรงงานที่ลาดกระบังแล้ว

มารุธแต่งตั้งจักร์กริช เจษฎางกูร ณ อยุธยาและสุวัฒน์ ดุลยวิจารณ์เป็นทนายความฟ้องร้องคดีให้เขา ทนายทั้งสองมีสำนักงานกฎหมายอยู่ที่จังหวัดชลบุรี โดยจักร์กริชเชี่ยวชาญทางด้านโวหารการต่อสู้ความในศาล ส่วนสุวัฒน์เชี่ยวชาญในด้านการเขียนสำนวนฟ้องร้อง เพราะเป็นอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร และตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากราชการคือเป็นผู้พิพากษาประจำศาลอาญา กรุงเทพฯ

แหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยว่ามารุธไม่ได้รู้จักมักจี่อะไรกับทนายความทั้งสองคนนี้มาก่อน แต่เหตุที่มาโคจรพบกันได้เพราะความเชื่อถือในโหราศาสตร์ที่ชักนำมารุธให้สนใจทนายความในแถบตะวันออกซึ่งจะเป็นผู้ต่อสู้ให้เขาสามารถชนะคดีได้

สุวัฒน์เปิดเผย"ผู้จัดการ"ว่า "ตอนที่ได้รับการติดต่อมานั้นก็ประมาณต้นเดือนกันยายนได้ ผมไปว่าความที่เพชรบุรี กลับมาถึงชลบุรีประมาณ 2 ทุ่มมีโทรศัพท์เข้ามาว่ามีงานใหญ่ให้จักร์กริชไปกรุงเทพฯวันรุ่งขึ้นเพื่อไปทำงานให้บริษัทเอื้อวิทยาฯ ผมก็บอกว่าให้จักร์กริชไปเอาข้อมูลต่างๆมาดูกัน ครั้นบ่ายสามโมงวันรุ่งขึ้นก็โทรฯเข้ามาเรียกผมไปกรุงเทพฯด้วยว่างานนี้รับจะทำแล้ว ขอให้มาปรึกษากันหน่อย"

นั่นเป็นเหตุของการว่าความที่มีมูลค่าการเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหายกว่าห้าแสนล้านบาท สุวัฒน์เล่าด้วยว่าข้อมูลเอกสารมีมากมายและโจทก์ก็เกรงว่าทนายความทั้งสองจะไม่มีสมาธิในการศึกษาเรื่องราวของเขา จึงได้เช่าโรงแรมแถบบางแสนไว้พักเพื่อร่วมกันศึกษาข้อมูลและร่างสำนวนฟ้อง

กำหนดดีเดย์ของการส่งสำนวนนฟ้องศาลคือ 5 ตุลาคมซึ่งเป็นฤกษ์ยามที่มีการตรวจสอบมาเรียบร้อยแล้ว !

สำนวนฟ้องที่มีความยาวมากกว่า 40 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป ไม่รวมเอกสารท้ายฟ้อง ที่ได้ยื่นมาแล้วในวันฟ้องและจะยื่นต่อหน้าศาลในภายหลังอีกจำนวนมาก บรรยายข้อหาต่างๆมากมายโดยเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2529 ซึ่งบริษัทเอื้อวิทยาฯเริ่มเจรจาเรื่องหนี้สินกับธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ ปรากฎว่าสิ้นปี 2528 เอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 673.57 ล้านบาท และสิ้นปี 2529 มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 851.14 ล้านบาท(ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงินฯ)

หนี้สินเหล่านี้ไม่ใช่ของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การแต่เพียงแห่งเดียว แต่ธนาคารฯเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดประมาณ 700 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2529 รายอื่นๆเฉลี่ยไปรวมกันแล้วไม่ถึง 100 ล้านบาท เช่นธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย เป็นต้น

มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินเริ่มขึ้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2529 ธนาคารฯได้ทำหนังสือลงนามโดยนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ในฐานะกรรมการและผู้ควบคุมโครงการ ชี้แจงเรื่องการผ่อนผันหนี้และกำหนดวิธีการใช้หนี้โดยเริ่มด้วยการลดมูลค่าหุ้นจากราคาหุ้นละ 100 บาทเป็นหุ้นละ 25 บาท ธนาคารฯให้เหตุผลว่า เมื่อตรวจสอบฐานะทางการเงินของบริษัท ธนาคารฯ พบว่าบริษัทขาดทุนเป็นจำนวนเงินล้ำเงินทุนของบริษัทแล้ว

ทั้งนี้เอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์มีทุนจดทะเบียนเพียง 14 ล้านบาทเท่านั้น!!

ธนาคารฯมีข้อเสนอต่อมาโดยการจัดสรรหนี้สินเดิมใหม่ดังนี้ บริษัทฯ มีการเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 61 ล้านบาท มีเงินกู้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 อยู่ 300 ล้านบาทและอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 อีก 200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีส่วนที่แปลงหนี้เป็นหุ้นอีก 138 ล้านบาท หนี้สินเกือบ 700 ล้านบาทเหล่านี้ธนาคารฯเสนอคิดอัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ยร้อยละ 8.7 เท่านั้น!!

ในด้านของการบริหารธนาคารฯเสนอว่าจะเข้ามาร่วมบริหารโดยมีเงื่อนไขและนโยบายคือ ให้มีการจัดตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ โดยชั้นแรกให้มีคนของฝ่ายธนาคารเข้าเป็นกรรมการ 2 คนและคงฝ่ายผู้ถือหุ้นเดิมไว้ 3 คน

ตำแหน่งบริหารที่ธนาคารฯต้องการคือรองกรรมการผู้จัดการ และตำแหน่งผู้บริหารอาวุโสอีก 2 ตำแหน่ง ส่วนผู้ถือหุ้นเดิมยังให้เป็นกรรมการผู้จัดการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการรวม 3 ตำแหน่ง

ต่อมาให้มีการปรับปรุงโครงสร้างของบริษัทเสียใหม่ ทั้งนี้ธนาคารฯวิเคราะห์ว่าจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการบริหารดังนี้คือต้องลดต้นทุนในการบริหาร ลดต้นทุนในการจัดซื้อวัตถุดิบ ลดต้นทุนในกระบวนการผลิตที่โรงงาน ขยายงานด้านการตลาด บำรุงขวัญของผู้บริหารและพนักงานให้สูงขึ้น เพื่อให้บริษัทฯสามารถเอาชนะคู่แข่งในตลาดและสามารถทำกำไรสุทธิได้ตามเป้าหมาย

ส่วนงานที่ธนาคารฯจะเข้าไปดูแลรับผิดชอบคืองานด้านบัญชีการเงินและการตรวจสอบภายใน งานจัดซื้องานคลังวัตถุดิบและสินค้า งานผลิตเสาโครงเหล็กของโรงงานผลิตเสาโครงเหล็ก งานบางส่วนของการตลาดหากไม่สามารถดำเนินไปได้ตามเป้าหมายธนาคารฯจะเข้ามาดูแลด้วย และงานอื่นๆที่ธนาคารฯเห็นว่าเริ่มจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท

ข้อเสนอสุดท้ายของธนาคารฯคือเรื่องการขายหุ้นคืนแก่ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อกิจการของบริษัทฯมีกำไรดีขึ้น บริษัทฯสามารถใช้หนี้คืนให้ธนาคารฯ จนถึงระดับที่หลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ของบริษัทฯสมดุลกับยอดหนี้ ซึ่งธนาคารฯคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี

วิธีการขายคืนมีให้เลือก 2 วิธีซึ่งธนาคารฯเห็นว่าเป็นวิธีที่ยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายคือขายตามราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนั้นหากบริษัทฯสามารถเข้าไปจดทะเบียนเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯได้หรือขายตามมูลค่าราคาหุ้นที่ตราไว้ บอกดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะคิดทบต้นเป็นปีๆไปตั้งแต่เริ่มการจัดสรรหนี้จนถึงวันที่ขายคืน

หากบริษัทเอื้อฯตกลงตามหลักการข้อเสนอทั้งหมดของธนาคารตามที่กล่าวมา รวมถึงได้แสดงงบการเงินให้ธนาคารฯตรวจสอบจนเป็นที่พอใจรวมทั้งกรรมการของบริษัทเอื้อฯชุดปัจจุบัน(ปี 2529) ได้รับรองและค้ำประกันว่าหนี้สินของบริษัทฯจนถึงปี 2529 มีไม่เกิน 700 ล้านบาทแล้ว ธนาคารฯก็จะเริ่มแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญ 138 ล้านบาท โดยทำตามระเบียบของทางราชการและกฎหมายทุกประการ

ข้อเสนอจัดการแก้ปัญหาหนี้สินเอื้อวิทยาฯของแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การดูประหนึ่งการเข้ายึดกิจการลูกหนี้แล้วโดยสิ้นเชิง!!

บรรดาข้อเสนอข้างต้นเป็นแนวทางกว้างๆในการแก้ปัญหาจากฝ่ายแบงก์ ซึ่งปรากฎว่าในทางปฏิบัติแล้ว มีอะไรๆที่เป็นรายละเอียดต่างออกไปจากหลักการข้างต้นมาก !

การโอนหุ้นกระทำในเดือนมีนาคม 2530 ซึ่งในสำนวนฟ้องอ้างว่ามีการโอนหุ้นให้แบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การรวมทั้งสิ้น 75% หรือ 105,000 หุ้นในราคาหุ้นละ 25 บาท

มารุธอ้างว่าเขาได้รับเงินค่าหุ้นจำนวน 750 หุ้นที่ขายให้แบงก์ฯเพียง 750 บาทเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าหุ้นที่เขาขายมีราคาหุ้นละบาทเดียว ทั้งที่ในหนังสือของแบงก์ลงวันที่ 1 ธ.ค. ข้างต้นนั้น แบงก์เสนอว่าจะซื้อในราคาหุ้นละ 25 บาท

ทางด้านนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "แบงก์ฯซื้อมาในราคาหุ้นละ 1 บาทจริง ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นราคาที่สูงกว่าบรรดาบริษัทที่ล้มเหลวขาดทุนในโครงการทรัสต์ 4 เมษาฯเสียอีก หุ้นของบริษัทเหล่านั้นซื้อกัน 25 สตางค์เท่านั้น"

ขณะเดียวกันในหนังสือของแบงก์ลงวันที่ 1 ธ.ค. ได้กล่าวถึงเรื่องการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญมูลค่า 138 ล้านบาท ซึ่งแบงก์จะต้องทำตามขั้นตอนระเบียบกฎหมาย แต่ดูเหมือนแบงก์จะไม่ได้มีการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญตามที่เสนอไว้ เพราะเมื่อดูตามคำกล่าวของนิธิพัฒน์ มูลค่าหุ้นที่แบงก์ฯซื้อมาต้องมีราคาเท่ากับ 105,000 บาท หรือหากจะดูตามคำกล่าวของมารุธหุ้นที่แบงก์ซื้อก็ต้อง มีราคารวม 2,625,000 บาท

นอกจากนี้ตามพรบ.ธนาคารพาณิชย์ แบงก์ไม่สามารถถือหุ้นในกิจการอื่นๆได้เกินกว่า 10% ของทุนจดทะเบียนของกิจการนั้นธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การจึงถือหุ้นไว้เพียง 12,000 หุ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2530 โดยมีบริษัทในเครือเข้ามาถือด้วย (ดูตารางผู้ถือหุ้นบริษัทเอื้อวิทยาฯ)

ทั้งนี้บริษัทพรหมอำนวย, สยามพินิจและวันทนาการที่เข้ามาร่วมถือหุ้นในส่วนของแบงก์ฯนั้นลงทะเบียนถือหุ้นเมื่อธันวาคม 2530

การโอนหุ้นให้บริษัทในเครือในภายหลังได้เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องร้องแบงก์ ทั้งในประเด็นที่มีการโอนหุ้นโดยไม่บอกกล่าวให้ผู้ถือหุ้นเดิมทราบ และในเรื่องที่แบงก์โอนไปตามราคามูลค่าหุ้นคือหุ้นละ 100 บาท ขณะที่แบงก์ซื้อมาในราคาหุ้นละบาทเดียว!

หลังจากที่บริษัทเอื้อวิทยาฯโอนหุ้นให้แบงก์เรียบร้อยในเดือนมีนาคม 2530 เดือนถัดมาได้มีการประชุมสามัญครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2530 ซึ่งปรากฎมีสาระสำคัญหลายอย่างในรายงานการประชุมเป็นที่น่าสนใจ

การแถลงของนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ ผู้แทนธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การในการประชุมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นการอุ้มชูช่วยเหลือที่ธนาคารฯมีให้กับบริษัทเอื้อวิทยาฯอย่างมากๆ รวมทั้งการแก้ไขหนี้สินในครั้งนี้ นิธิพัฒน์กล่าวว่า "ถ้าธนาคารไม่ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัท บริษัทก็จะต้องล้มละลายขออย่าได้คิดว่า ธนาคารอยากจะเข้ามาร่วมในกิจการของบริษัท แต่เป็นความจำเป็นจริงๆที่ธนาคารจะต้องเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นและควบคุมกิจการของบริษัทเพราะธนาคารจะต้องให้ความช่วยเหลือบริษัท"

ถ้าเช่นนั้นธนาคารฯควรจะมีการเรียกหลักทรัพย์เพิ่มเพราะมีหนี้เกินมูลค่าหลักทรัพย์ที่นำไปจำนอง นิธิพัฒน์เปิดเผยว่า "ธนาคารฯไม่ได้มีการเรียกหลักทรัพย์อะไรมาเพิ่ม เพียงแต่ว่าธนาคารฯไปไถ่เครื่องจักรหรือหลักทรัพย์อื่นๆที่เขานำไปจำนองกับสถาบันการเงินอื่นมาจำนองกับธนาคารฯแทน ก็ไม่มีอะไรเพิ่ม เป็นเพียงการเปลี่ยนย้ายการจำนอง แล้วธนาคารฯก็ตีราคาให้เพิ่มขึ้นตามมูลค่าของหลักทรัพย์นั้นๆ

ในส่วนของเจ้าหนี้อื่นๆนั้น นิธิพัฒน์กล่าวว่า "เวลานี้ก็ยังคุยกับเจ้าหนี้รายอื่น เช่นธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยขอให้ธนาคารเหล่านี้ลดดอกเบี้ยให้ แล้วบริษัทฯก็ผ่อนส่งหนี้ไป ไม่เช่นนั้นจะถูกฟ้องแต่หนี้เหล่านี้ไม่ถึง 100 ล้านบาทและเราก็พยายามไถ่หนี้มาด้วย"

นิธิพัฒน์อ้างว่าการที่ธนาคารฯไปไถ่หนี้มาให้บริษัทเอื้อวิทยาฯนั้น ออกจะเป็นบุญคุณแก่ผู้บริหารชุดเก่าหรือผู้ถือหุ้นเดิมคือตระกูลเอื้อวิทยาเพราะหนี้เหล่านี้เป็นการค้ำประกันส่วนตัวเป็นส่วนมาก

นิธิพัฒน์ถึงกับกล่าวปนหัวเราะว่า "ผมเองก็ไม่ทราบว่าหลังจากที่เราทำบุญคุณให้ถึงขนาดนี้แล้วเขายังมาฟ้องเรานี่ ผมมองไม่เห็นเหตุจริงๆ"!?!

นิธิพัฒน์เปิดเผยความเป็นมาของการเข้าไปจัดการแก้ปัญหาลูกหนี้เอื้อวิทยาฯกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ทางฝ่ายจัดการของบริษัทฯได้มีหนังสือมาขอความกรุณา คือที่แบงก์นี่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่และบริษัทฯได้เอาหลักทรัพย์สำคัญๆมาจำนองไว้ที่นี่ มูลค่าประมาณ 100 กว่าล้านบาท และผู้ถือหุ้นต่างๆก็เอาทรัพย์สินส่วนตัวมาจำนอง และก็มาค้ำประกันส่วนตัวอีก ตอนนั้นแบงก์ก็อยากจะประคองไม่ให้ล้มพยายามช่วย ทีแรกเขาขอให้เราหยุดดอกเบี้ยชั่วคราวและเพิ่มวงเงินสินเชื่อแบงก์ก็ขอให้สนง.เอสจีวีเข้าไปตรวจสอบบัญชี แต่ทางบริษัทฯไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร แบงก์ก็ไม่สามารถทราบสถานการณ์ที่แท้จริงได้ ดังนั้นการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาจึงทำไม่ได้ ลักษณะการขาดทุนที่ผิดปกติอย่างนี้มันต้องมีเหตุอย่างอื่น อันหนึ่งที่เราทราบคือเงินสินเชื่อที่ให้ไปนี่ใช้ไม่ตรงจุดประสงค์ที่ขอกู้และมีการกู้สับสนคือเอาเงินในโครงการนี้ไปใช้โครงการอื่น และยังพบว่ามีการรั่วไหลไปทางอื่นๆด้วย"

นิธิพัฒน์ให้ความเห็นว่า "ความผิดพลาดของบริษัทฯส่วนหนึ่งมาจากการบริหารแบบครอบครัวซึ่งทำให้มีการใช้เงินสับสนปะปนระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องธุรกิจ"

นิธิพัฒน์อ้างว่าบริษัทเอื้อวิทยาฯมีข้อเสนอให้ธนาคารฯเข้าไปร่วมทุน ซึ่งธนาคารฯไม่สามารถทำได้เพราะทุนของบริษัทฯไม่มีค่าแล้ว ซ้ำยังติดลบอีกราว 300 บาทด้วยซ้ำ ธนาคารฯจึงเสนอให้ลดมูลค่าหุ้นลงแต่ทางบริษัทฯขอไม่ลดเพราะจะทำให้เจ้าหนี้รายอื่นๆและลูกค้าแตกตื่น ธนาคารฯจึงเสนอให้ขายหุ้นให้ธนาคารฯเพื่อจะได้สิทธิเข้าไปบริหารด้วย

ในที่สุดบริษัทฯก็ขายหุ้นให้ธนาคารฯ 75% นิธิพัฒน์กล่าวว่า "ธนาคารฯไม่ได้บังคับข่มขู่แต่อย่างใดเลย"

นิธิพัฒน์เปิดเผยในรายงานการประชุมเมื่อ 29 เมษายน 2530 ซึ่งชี้ให้เห็นความล้มเหลวในการบริหารด้านการเงินของเอื้อวิทยาฯว่า ในบางเดือนนั้นบริษัทฯมีการเบิกจ่ายเป็นจำนวนเงินสูงถึง 15-40 ล้านบาท บางโครงการบริษัทเอื้อวิทยาฯได้ไปขอกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ เช่นโครงการทางฟิลิปปินส์ และ มาเลเซีย โดยที่งานตามโครงการยังไม่เสร็จเรียบร้อยแต่บริษัทฯก็ได้ไปรับเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์มาหมดแล้ว นิธิพัฒน์อ้างว่าธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การได้หาทางช่วยเหลือแก้ไข เช่นงานโครงการเสาโทรคมนาคมกองทัพอากาศ บริษัทเอื้อวิทยาฯได้ไปรับเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์จนหมด แต่งานยังไม่เสร็จ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การต้องจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 125 ล้านบาท โดยคาดหมายว่าจะได้รับเงินคืนประมาณ 100 ล้านบาท

การบริหารการเงินเช่นนี้ทำให้บริษัทเอื้อวิทยาฯต้องประสบปัญหางูกินหางตลอดมา ทั้งนี้แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดบริษัทเอื้อวิทยาฯให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าบรรดาผู้บริหารที่เป็นคนในตระกูลเอื้อวิทยานั้นมักใช้วิธีประมูลงานมาในราคาต่ำ ถึงจะขาดทุนก็ยอมเพราะหวังผลความสัมพันธ์อันดีที่จะมีต่อๆไปในอนาคต และหวังว่าจะนำรายได้จากโครงการอื่นๆมาโปะไว้ในโครงการที่ขาดทุนได้ แต่โครงการที่ขาดทุนหรือย่างมากก็เสมอตัวนั้นมีมากกว่าโครงการที่กำไรมากมายนัก ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงประสบกับการขาดทุนสะสมต่อเนื่องหลายปี

นิธิพัฒน์เปิดเผย "ผู้จัดการ" อีกว่า "เมื่อผมเข้าไปดูนั้นพบว่าการทำสัญญาในโครงการต่างๆมีการเซ็นสัญญากันหลวมมาก ซึ่งทำให้บริษัทฯมีปัญหาเรื่องการเก็บเงิน โครงการใหญ่ ที่ผมมาสานต่อคือโครงการทำเสาโทรคมนาคมและเสาไฟฟ้าที่มาเลเซีย เสาไฟฟ้าที่ฟิลิปปินส์ ส่วนลูกค้ารายใหญ่ในไทยคือกฟผ. โครงการพวกนี้ก็สำเร็จ แต่บริษัทต้องขาดทุน"

นิธิพัฒน์เปิดเผยต่อไปว่าเมื่อธนาคารฯส่งคนเข้าไปตรวจสอบบัญชีของเอื้อวิทยาฯนั้น ปรากฎว่ามีการลงรายการบัญชีไม่ถูกต้อง บริษัทฯไม่มีระบบบัญชีต้นทุนที่ถูกต้อง จึงทำให้บรรดาผู้บริหารเข้าใจผิดในเรื่องต้นทุน การเสนอราคาเพื่อประมูลในงานต่างๆจึงกลายเป็นเสนอราคาอย่างที่ทำให้บริษัทฯต้องขาดทุน

"อย่างเรื่องต้นทุนการผลิตเสา เราพบว่าตกประมาณ 20 กว่าบาท เขาประมูลมาแค่ 17 บาทเมื่อคิดเฉลี่ยออกมาแล้ว นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ขาดทุนเขาก็ยอมรับว่าต้องเสนอราคาต่ำเพื่อสร้างผลงานแต่การจะไปสู้กับประเทศอื่นอย่างเกาหลีที่ยอมขาดทุนนั้น เราทำไม่ได้ ต่างประเทศมีทุนหนากว่าเราเยอะผมจึงเปลี่ยนนโบบายของบริษัทฯใหม่ว่า งานขาดทุนเราไม่รับ งานทางด้านเสาไฟฟ้าจะรับเฉพาะที่บริษัทมีกำไร หรืออย่างเลวที่สุดก็ต้องเสมอตัว เราไปเอากำไรทางด้านการขายสินค้าอุตสาหกรรม หรือรับจ้างชุบสังกะสีดีกว่า" นิธิพัฒน์กล่าวในที่สุด

นอกจากนี้นิธิพัฒน์อ้างด้วยว่าในการตรวจสอบบัญชีของเอื้อวิทยาฯ "ผมพบว่ามีการลงบัญชีไม่ถูกต้องเช่น รายการยอดที่เรียกว่าเงินทดรองจ่ายก่อสร้างประมาณ 81 ล้านบาทกับลูกหนี้การค้าที่ไม่มีตัวตนอีก 10 กว่าล้านบาท นี่เป็นยอดค่าใช้จ่าย แต่เขากับเอามาไว้ในรายการสินทรัพย์ ซึ่งทำให้กลายเป็นยอดขาดทุนน้อยลง"

การลงบัญชีและการตรวจสอบบัญชีที่ดูเหมือนจะใช้แนวคิดต่างกันเช่นนี้อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลออกมาเป็นว่า เมื่อแบงก์เข้าไปบริหารงานนั้นหนี้สินพอกพูนเพิ่มขึ้นไม่เว้นแต่ละปี จนล่าสุดปี 2532 ยอดหนี้สินรวมเพิ่มเป็น 1,328 ล้านบาทและยอดขาดทุนสะสมมีถึง 999.46 ล้านบาท(ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงิน)

สร้อยทิพย์ เอื้อวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่เมื่อเดือนเมษายน 2530 ก็ดูเหมือนจะยอมรับว่ามีความบกพร่องในการทำบัญชีของบริษัท ซึ่งเท่ากับสะท้อนว่าบริษัทฯมีปัญหาเกี่ยวกับระบบ บัญชีทั้งนี้เธอได้แถลงถึงกิจการของบริษัทในรอบปี 2529 ว่า "งบดุลฉบับที่บริษัทฯทำเสนอต่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญครั้งที่ 3/2530 เมื่อ 20 มีนาคม 2530 ได้แสดงผลขาดทุนสุทธิจำนวน 397.56 ล้านบาทคลาดเคลื่อนไปจากตัวเลขขาดทุนสะสมในงบดุลที่ผู้ตรวจสอบบัญชีลงนามรับรอง ซึ่งแสดงยอดขาดทุนสะสมจำนวน 409.47 ล้านบาท"

นั่นหมายความว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในทางบัญชีจริง!!

ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบบัญชีในช่วงแรกคือสินี ไวคกุลเป็นน้องสาวของกำหนด ไวคกุล ซึ่งเป็นสามีของอุษา ไวคกุล หนึ่งในเอื้อวิทยาซึ่งเป็นพี่สาวใหญ่และเป็นประธานบริษัทฯ

นิธิพัฒน์ให้ความเห็นว่า "จริงๆแล้วเอื้อวิทยาฯมีกำไรดีในช่วงแรก ทุนแค่ 6 ล้านบาทสามารถทำกำไรได้ 12 ล้านบาทในปี 2525 แต่เมื่อเริ่มมาทำโรงงานก็พังไปเรื่อย ชั่วเวลาเพียง 4 ปีให้หลังกลับขาดทุนถึง 409 ล้านบาทในปี 2529"

นิธิพัฒน์เน้นย้ำว่า "ลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าได้มีการใช้จ่ายเงินกันมาก และเป็นไปอย่างไม่มีหลักการ"!!!

เอื้อวิทยาพาณิชย์เป็นลูกค้าเก่าแก่ของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ มีการขอสินเชื่อกันมาเป็นเวลานาน ผู้ก่อตั้งคือใช้ เอื้อวิทยา ในส่วนของเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์นั้นเพิ่งตั้งเมื่อปี 2510 โดยบรรดาลูกหลานของใช้เริ่มแรกมีทุนจดทะเบียนเพียง 2 ล้านบาทและเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมี 14 ล้านบาท

เอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์เป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคารฯด้วยเช่นกันจนเ มื่อ ปี 2527 ก็มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้และดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนมากขึ้นกระทั่งหนี้สินที่มีอยู่ได้พอกพูนเกินกว่าหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน ฝ่ายสินเชื่อและฝ่ายต่างประเทศของธนาคารฯเริ่มเพ่งเล็งลูกหนี้รายนี้ มีการเข้มงวดเรื่องวงเงินสินเชื่อซื้อของต่างประเทศ (L/C) ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการซื้อวัตถุดิบคือเหล็กที่ได้เริ่มดำเนินงานมาแต่ปี 2525

ทั้งนี้เอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ได้มีการขยายงานโดยตั้งโรงงานผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูงเมื่อปี 2525 แต่การขยายงานครั้งนี้ใช้วิธีกู้เงินมาแทบจะ 100% ทั้งการซื้อที่ดินที่ถนนร่มเกล้า ซึ่งปัจจุบันขยายเพิ่มถึง 30 กว่าไร่การสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักรเหล่านี้ล้วนกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การมาทำทั้งสิ้น

บริษัทเอื้อวิทยาฯได้ทำการเพิ่มทุนบ้าง แต่แหล่งข่าวในบริษัทฯเปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า "มีการเพิ่มทุนอยู่ แต่เราพบในภายหลังว่าผู้ถือหุ้นบางคนใช้วิธีเอาเงินมาให้บริษัทฯกู้บริษัทฯก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แล้วผู้ถือหุ้นนั้นก็เอาดอกเบี้ยนั่นแหละมาลงเป็นทุนต่อไป ซึ่งมันก็เป็นเนื้อของบริษัทฯนั่นเอง นี่เป็นหลักฐานที่เราพบในภายหลังว่ามันเป็นทุนจำแลงและเป็นเหตุที่ทำให้ดอกเบี้ยของบริษัทฯเพิ่มขึ้น"

ประวัติการเพิ่มทุนของเอื้อวิทยาฯเท่าที่ "ผู้จัดการ"ตรวจพบหลักฐานคือปี 2510 เอื้อวิทยาฯจดทะเบียนก่อตั้งด้วยทุน 2 บ้านบาทแบ่งเป็น 20,000 หุ้นๆละ 100 บาทและมีการเพิ่มทุนเป็นระยะๆคือปี 2514 เพิ่มทุน 2 ล้านบาท ปี 2516 เพิ่มทุนอีก 2 ล้านบาท จนครั้งสุดท้ายเพิ่มในปริมาณที่สูงมากกว่าทุกครั้งคือ 8 ล้านบาทเมื่อปี 2525 โดยมีจุดประสงค์เพื่อการขยายงานด้านการส่งออกและหวังประโยชน์ที่จะได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เท่ากับในปี 2525 บริษัทมีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 14 ล้านบาทแบ่งเป็น 140,000 หุ้นๆละ 100 บาท

อย่างไรก็ดี "ผู้จัดการ" พบหลักฐานการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดกว่าเมื่อปี 2525 คือในเดือนมกราคม 2530 ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่บริษัทฯกำลังเจรจาเรื่องหนี้สินกับธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ กรรมการบริษัทฯได้เรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นวิสามัญครั้งที่ 1/2530 เพื่อพิจารณาเพิ่มทุนของบริษัทอีก 250 ล้านบาทโดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 2.5 ล้านหุ้นมูลค่าหุ้นละ 100 บาท ซึ่งจะทำให้ทุนจดทะเบียนของบริษัทเพิ่มเป็น 264 ล้านบาท

มติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นวิสามัญ ครั้งที่ 1/2530 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2530 ซึ่งให้เพิ่มทุนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท ได้รับการพิจารณายืนยันด้วยการลงมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นวิสามัญครั้งที่ 2/2530 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2530 แล้ว จึงเท่ากับว่ามติดังกล่าวสมบูรณ์เป็นมติพิเศษตามกฎหมาย

แต่ปรากฎว่าในงบดุลล่าสุดเมื่อสิ้นธันวาคม 2532 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานสอบบัญชี ดี ไอ เอ มีนางสุวิมล กฤตยาเกียรณ์เป็นผู้สอบบัญชีและนำส่งให้กรมทะเบียนการค้านั้น บริษัทเอื้อวิทยาฯยังคงมีทุนจดทะเบียนเพียง 14 ล้านบาทเท่านั้น !!!

หมายความว่าบริษัทเอื้อวิทยาฯไม่ได้ดำเนินการเพิ่มทุนตามมติพิเศษเมื่อต้นปี 2530 ที่ได้ส่งรายงานการประชุมไปให้กรมทะเบียนการค้าจริง

เป็นไปได้ว่าการขอเพิ่มทุนครั้งนี้ได้มีการทาบทามชักชวนแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วยตามที่นิธิพัฒน์อ้างกับ "ผู้จัดการ" แต่ทางแบงก์ปฏิเสธที่จะเอาเงินมาซื้อหุ้นซึ่งมีมูลค่าติดลบกว่า 300 บาท ในที่สุดการเพิ่มทุนจึงไม่สามารถทำได้สำเร็จ!!!

เมื่อธนาคารฯได้หุ้นและมีสิทธิในการบริหารแล้วนั้น คณะผู้บริหารชุดแรกที่ธนาคารฯส่งเข้าไปเป็นกรรมการมีนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์, เอกชัย อธิคมนันทะ , สุทธิชัย ไกรคุณาศัย, สมบูรณ์เกียรติ เกษมสุวรรณ์, สมคิด ณ นคร และอ้อยทิพย์ สถิรกุล เข้าแทนที่กรรมการที่ออกตามวาระและกรรมการที่ลาออกรวม 6 คน โดยมีกรรมการของผู้ถือหุ้นเดิมได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ 1 คน คือมารุธ เมืองแก้ว

อย่างไรก็ดี นิธิพัฒน์อ้างว่าเขาได้ให้สร้อยทิพย์ เอื้อวิทยาเข้ามาบริหารงานเหมือนเดิม โดยนิธิพัฒน์ขึ้นเป็นประธานกรรมการฯเท่านั้น ส่วนสมบูรณ์เกียรติเข้าร่วมในฐานะกรรมการคนหนึ่ง ยังไม่ได้ยุ่งเกี่ยวในการบริหารเพราะยังทำงานอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

นิธิพัฒน์กล่าวว่า "ที่สมบูรณ์เกียรติเข้าเป็นกรรมการเพราะทางกฟผ.เป็นลูกค้าของบริษัทเอื้อฯ อยู่มาก มีประสบการณ์และอาจจะรู้เรื่องดี จึงขอให้มาเป็นกรรมการโดยช่วงนั้นสมบูรณ์เกียรติเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารฯแล้ว แต่ยังไม่ได้ขึ้นเป็นกรรมการธนาคารฯทั้งในบอร์ดใหญ่และบอร์ดบริหาร"

ต่อมาสมบูรณ์เกียรติได้เข้ามาเป็นกรรมการธนาคารฯ (บอร์ดธนาคารฯ) และเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารฯ (บอร์ดบริหาร) จนเมื่อต้นปี 2533 จึงลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้ จัดการธนาคารฯ คงไว้แต่ตำแหน่งกรรมการธนาคารฯ อย่างเดียวรวมทั้งลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริษัทเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อต้นปี 2530 ในโอกาสเดียวกันด้วย

ทั้งนี้ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในบริษัทเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์เมื่อธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การเข้าบริหารจริงๆแล้วคือสมบูรณ์เกียรตินี่เอง!!

"ผู้จัดการ" พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์สมบูรณ์เกียรติ แต่ได้รับการปฏิเสธจากเลขาฯหน้าห้องอย่างไรก็ดี สมบูรณ์เกียรติเคยให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2532 หลังจากเข้าไปเป็นประธานกรรมการบริหารพร้อมกับผู้บริหารระดับสูงจากกฟผ. 2 คนคือประณัย สัตยวณิชเป็นกกรรมการผู้จัดการ และไพรัช ศุภวิวรรธน์เป็นรองกรรมการผู้จัดการได้ระยะหนึ่งแล้ว

สมบูรณ์เกียรติอ้างว่าเมื่อทีมงานบริหารของธนาคารฯเข้าไปร่วมงานในเอื้อวิทยาฯ ได้ช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นเป็นลำดับ โดยรับงานเข้ามาเรื่อยๆ และมีโครงการบางอันที่ไปสิ้นสุดในปี 2534 งานที่ดำเนินการอยู่ในช่วงปี 2532 คืองานซัพพลายเสาไฟฟ้าแรงสูง 500 เควีให้กฟผ.มูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท และงานติดตั้งเสาโทรคมนาคมให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมูลค่า 70 ล้านบาท

ปรากฎว่างานทั้งสองโครงการนี้ยังคงดำเนินการอยู่จนเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2533 ที่ "ผู้จัดการ" มีโอกาสไปเยือนโรงงานที่ถนนร่มเกล้า พบว่าก็ยังมีการผลิตเสา 500 เควีและเสาโทรคมนาคมอยู่

ในการสัมภาษณ์เมื่อปี 2532 สมบูรณ์เกียรติอ้างว่าในปีนั้นบริษัทเอื้อวิทยาจะรับงานผลิตโครงเหล็กอาคารสำหรับโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเจริญนครขนาด 50 ชั้น 2 แห่งของบริษัทสยามอรุณดีเวลล้อปเม้นท์ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างสว่าง เลาหะทัย แห่งเครือศรีกรุงวัฒนา กลุ่มอาซาฮีจุ่งเก้นแห่งญี่ปุ่นและธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การถือหุ้นด้วย 10% ซึ่งงานนี้นอกจากเอื้อวิทยาฯจะซัพพลายทางด้านวัสดุแล้ว ยังได้รับงานออกแบบโครงสร้าง โดยคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 5% ของมูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท

ปรากฎว่าจนถึงวันปิดต้นฉบับ "ผู้จัดการ" สอบถามไปยังบริษัทสยามอรุณฯทราบว่าโครงการโรงแรมที่ถนนเจริญนครแห่งนี้ยังไม่คืบหน้าแต่อย่างใด

สมบูรณ์เกียรติเล่าให้"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฟังถึงแนวความคิดและผลงานที่ได้ทำไปในเอื้อวิทยาฯว่า "ผมพยายามขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ออกไป และพยายามเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซึ่งมีสินค้าหลักคือเสาไฟฟ้า รวมทั้งขยายไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆเกี่ยวกับเหล็ก รายได้อีกทางหนึ่งที่บริษัทสามารถเพิ่มพูนขึ้นได้คือการรับจ้างชุบสังกะสีทั้งนี้บริษัทมีบ่อชุบสังกะสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย"

นอกจากนี่สมบูรณ์เกียรติกล่าวถึงโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณซอยเอกมัย ตรงข้ามไทปิงทาวเวอร์ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1ไร่เศษ เดิมเป็นสำนักงานเก่าของเอื้อวิทยาฯ แต่ปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่โรงงานที่ลาดกระบังคงเหลือแต่ฝ่ายการตลาดเท่านั้น โดยมีโครงการสร้างออฟฟิศ ทาวเวอร์ขนาด 24 ชั้น ซึ่งมีการออกแบบเรียบร้อยแล้ว

"ผู้จัดการ" สอบถามไปยังบริษัทสยามอรุณ ดีเวลล้อปเม้นท์ ซึ่งในสำนวนฟ้องอ้างว่าเป็นเจ้าของโครงการสร้างอาคารสำนักงานดังกล่าว ปรากฎว่าบริษัทฯมีโครงการจริงในซอยเอกมัยและยังไม่แน่ว่าจะพัฒนาเป็นอาคารสำนักงานหรือคอนโดมิเนียม

อย่างไรก็ดี เมื่อ "ผู้จัดการ" ไปเยือนสถานที่ดังกล่าวซึ่งยังคงมีสำนักงานของเอื้อวิทยาฯตั้งอยู่ มีฝ่ายการตลาดดำเนินงานอยู่ชั้นล่าง พิจิตร เอื้อวิทยาหนึ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งปัจจุบันรับผิดชอบด้านการติดต่อต่างประเทศกล่าวกับ "ผู้จดัการ"ว่าพื้นที่ด้านหลังก็ยังเป็นหน่วยบริการ

แต่ "ผู้จัดการ" สังเกตพบว่าสำนักงานแห่งนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร หน่วยบริการด้านหลังก็ดูเหมือนจะไม่มีพนักงานสักเท่าใดนัก

สมบูรณ์เกียรติกล่าวด้วยว่าธนาคารฯได้ให้ความช่วยเหลือหลังจากเข้าไปบริหารด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไป 20 ล้านบาทสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และได้ให้การสนับสนุนทุกโครงการที่บริษัทฯรับมาดำเนินงานซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 200 ล้านบาท รวมถึงการทำแบงก์การันตีเวลายื่นซองประกวดราคา

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้นิธิพัฒน์เปิดเผย "ผู้จัดการ" ในภายหลังว่า "ตอนนั้นธนาคารฯได้อัดฉีดเงินเข้าไปเพื่อจุนเจือโครงการต่างๆในรูปของวงเงินเบิกเกินบัญชี รวมเบ็ดเสร็จประมาณ 150 ล้านบาท เรารู้ว่าจะขาดทุนประมาณ 30 ล้านบาทแต่เราก็ต้องช่วยเขา"

สมบูรณ์เกียรติมั่นใจในอนาคตของเอื้อวิทยาฯมาก เขาได้วาดโครงการอันสวยหรูว่าเมื่อฟื้นตัวแล้วจะมีการแยกงานของบริษัทฯออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งทำทางด้านโครงเหล็กซึ่งสมบูรณ์เกียรติเปิดเผยว่ามีบริษัทต่างประเทศหลายรายสนใจขอร่วมทุนทำการผลิตด้วย อีกส่วนหนึ่งทำด้านส่งออก ซึ่งประมาณ 20% ของผลผลิตได้ส่งไปขายในประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน

สำหรับการชำระหนี้คืนธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การนั้น สมบูณ์เกียรติเล่าว่าได้กำหนดเป็นงวด งวดละ 25 ล้านบาท งวดหนึ่งนาน 6 เดือน และธนาคารได้หยุดคิดดอกเบี้ย คาดว่าในระยะ 10 ปีจะทยอยตัดหนี้เดิมที่มีอยู่ได้หมด

สมบูรณ์เกียรติกล่าวทิ้งท้ายในการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นด้วยว่า "ผมคาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทฯจะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 400 ล้านบาท มีกำไรไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้ทั้งหมด

ถ้อยแถลงในการให้สัมภาษณ์ของสมบูรณ์เกียรติ ณ ปลายปี 2532 เป็นวิมานอากาศไปในทันทีด้วยฝีมือของเขาเองในเดือนมีนาคม 2533 สมบูรณ์เกียรติและอดีตคนกฟผ.อีก 2 คนประกาศลาออกถอนตัวจากตำแหน่งทั้งหมดในเอื้อวิทยาฯ

แหล่งข่าวในเอื้อวิทยาฯบอก "ผู้จัดการ" ว่า "เหตุที่สมบูรณ์เกียรติลาออกก็เพราะเกิดน้อยใจกับนิธิพัฒน์ในเรื่องการซื้อเหล็กจากอาจิกาว่า" ทั้งนี้หลังจากที่สมบูรณ์เกียรติลาออกแล้ว นิธิพัฒน์ได้เข้าเป็นกรรมการผู้จัดการและแต่งตั้งฉัตรดนัย ป็นรองกรรมการผู้จัดการทำหน้าที่ควบคุมดูแลโรงงานที่ลาดกระบัง

แต่เมื่อ "ผู้จัดการ" สอบถามกับนิธิพัฒน์ถึงเหตุการลาออกของสมบูรณ์เกียรติ นิธิพัฒน์ตอบราวกับไม่เคยมีสมบูรณ์เกียรติเข้ามาเป็นกรรมการของเอื้อวิทยาฯว่า "มีเรื่องอะไรผมไม่ทราบ"

นิธิพัฒน์ได้ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" ในคำอธิบายอีกชุดหนึ่งที่ต่างกันไปจากการกล่าวของสมบูรณ์เกียรติเมื่อปลายปี 2532 ว่า "เราตั้งเป้าว่าจะพยายามลดดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยเป็นรายจ่ายใหญ่อันหนึ่งเราจะประหยัดการดำเนินงาน ทำกำไรให้ แล้วค่อยมาล้างหนี้ในภายหลัง ตั้งใจว่าประมาณ 10 ปีจะล้างหนี้หมด แต่ในปีแรกเราก็ทำอะไรมากไม่ได้เพราะงานใหญ่อย่างของกฟผ.นี่ไม่มีโครงการอะไรออกมาเราจึงเพียงแต่มาชำระสะสางโครงการที่ค้างๆอยู่ให้ขาดทุนน้อยลง "

ปีแรกที่เข้าไปคือ 2530 นิธิพัฒน์ยืนยันว่า "ผมทำกำไรให้ประมาณ 20 ล้านบาท หากไม่คิดเรื่องค่าเสื่อมของเครื่องจักร ไม่คิดดอกเบี้ยของหนี้เก่า ซึ่งล้วนเป็นรายจ่ายในทางบัญชี ไม่ใช่ตัวเม็ดเงิน"

การณ์เป็นดังนี้ นิธิพัฒน์ถึงกับสารภาพเกี่ยวกับจุดแตกหักที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องว่า "ผมก็ยังคิดไม่ออก เพราะผมก็พยายามคิดแก้ปัญหาให้บริษัทที่ผมเข้าไปทำนี่ก็ไม่ได้เอาเงินเดือนสักแดงเลยเพราะผมพยายามประหยัดทุกอย่าง เช่นเรื่องค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเมื่อปี 2529 มี 125.77 ล้านบาท เมื่อเราเข้าไปก็ลดลงมาเหลือ 39.62 ล้านบาทในปี 2530"

"หลังจากที่ทุ่มเททำให้เขาแล้ว ผมมาโดนอย่างนี้ผมก็รู้สึกท้อใจมาก ผมไม่ทราบว่าพวกเขาหวังอะไรกัน" นิธิพัฒน์กล่าว

ส่วนทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การกล่าวว่า "เท่าที่เราดูมาก็ไม่มีสาเหตุอะไร มารุธก็เพิ่งมาลาออกแค่ 2-3 วันก่อนจะมีการฟ้องร้อง และเราไม่ทราบเรื่องเลยจนเมื่อมีการลงในหนังสือพิมพ์ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเราก็ร่วมงานกันมาด้วยดี"

อย่างไรก็ดี นิธิพัฒน์และทวีศักดิ์ต่างให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า "หากให้เดาคงเป็นเรื่องในเครือญาติของเขา เพราะมีความขัดแย้งภายในกันอยู่แต่สำนวนที่ฟ้องมานี่ ผมดูว่าเป็นของพิจิตรกับมารุธนี่แหละ"

ในส่วนของกลุ่มเอื้อวิทยานั้น ปรากฎว่ามีกลุ่มย่อย 2 กลุ่มคือกลุ่มหม่อมเจ้าปรีชา กัลยาณะวงศ์กลุ่มหนึ่งและกลุ่มสร้อยทิพย์ เอื้อวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งโดยกลุ่มหลังมีมารุธร่วมอยู่ด้วยและมีความเห็นว่ากลุ่มหม่อมเจ้าปรีชาทำการบริหารผิดพลาด จึงต้องการให้กลุ่มหม่อมเจ้าปรีชาออกไป

หม่อมเจ้าปรีชาก็ไม่ได้บริหารแล้ว แต่ให้หม่อมราชวงศ์จุลปรีชา โอรสเป็นผู้บริหารแทน ทั้งนี้ตระกูลเอื้อวิทยามีอุษา ไวคกุลเป็นพี่สาวใหญ่ รองลงมาคือสร้อยทิพย์ เอื้อวิทยา ถัดมาเป็นหม่อมเกษร กัลยาณะวงศ์ บังอร เอื้อวิทยาและพิจิตร เอื้อวิทยาตามลำดับ บรรดาผู้ถือหุ้นเดิมทั้ง 24 คนก็คือเหล่าเครือญาติซึ่งล้วนเป็นลูกหลานทั้งสิ้น

"ผู้จัดการ" ค้นพบหลักฐานดั้งเดิมเริ่มแรกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเครือญาติตระกูลนี้มีความแตกต่างทางความคิดกันสูง และมีอยู่เป็นเวลานานแล้ว

26 พฤษภาคม 2510 บรรดาผู้ก่อตั้งบริษัทเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ได้มีหนังสือไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กระทรวงเศรษฐการเพื่อขอยกเลิกคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทฯทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า

"เนื่องด้วยมีการขัดแย้งกันอย่างมากในระหว่างผู้เริ่มก่อการที่จะเริ่มการประชุมตั้งบริษัท ข้าพเจ้าทุกคนจึงให้งดการประชุมตั้งบริษัทตามที่กำหนดไว้และเจรจาทำความเข้าใจกันในเรื่องขัดแย้งต่างๆ แต่ที่สุดก็ไม่อาจตกลงกันได้…จึงขอเรียนมาเพื่อจำหน่ายคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิบริษัทเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ จำกัด ออกจากบัญชีด้วย"

ผู้เริ่มก่อตั้งทั้งเจ็ดคือ กมล, พอจิตร, บังอร, สร้อยทิพย์ เอื้อวิทยา, อุษา ไวคกุล, หม่อมเจ้าปรีชา กัลยาณะวงศ์และรวีวรรณ บุณยรักษ์

เมื่อ "ผู้จัดการ" มีโอกาสพูดคุยกับพิจิตร เอื้อวิทยา หนึ่งในผู้ก่อตั้งและดำเนินงานบริษัทฯ มาจนปัจจุบัน หลังจากที่เฝ้ารอนับชั่วโมงที่สำนักงานถนนเอกมัย ซึ่งพิจิตรยังมานั่งทำงานอย่างสม่ำเสมอในตำแหน่งดูแลกิจกรรมพิเศษและติดต่อกับต่างประเทศเพื่อหางานเข้ามาให้บริษัทฯ ในที่สุดก็ได้พบและพิจิตรยอมรับว่า "เมื่อก่อนเรามีบริษัทหลายแห่ง แต่เนื่องด้วยผู้บริหารมีจำนวนมาก การตัดสินใจอะไรก็ลำบาก และต่างคนต่างก็มีความคิดของตน ก็เลยมาแยก ส่วนเรื่องการฟ้องร้องครั้งนี้นี่ ผมว่าต่างคนต่างจิตต่างใจเรื่องนี้ความจริงตามไปถามที่แบก์และโรงงานซึ่งแบงก์ส่งคนไปคุมอยู่ และมารุธก็นั่งอยู่ที่โรงงานด้วยน่าจะดีกว่า ผมว่าเขาคงมีความคิดอะไรของเขา และผมก็มีความคิดของผม"

อย่างไรก็ตาม พิจิตรปฏิเสธว่า "ผมยังตามมารุธไม่เจอ จะปรึกษาเรื่องงานที่ลาวนี่ยังตามหาตัวไม่เจอ เรื่องการฟ้องนี่ผมไม่รู้ เขาไม่ได้มาปรึกษาเลย ผมก็รู้จากหนังสือพิมพ์เหมือนกัน วันนั้นผมเล่นกอล์ฟอยู่ที่ปัญญาฯ มีคนมาถามมาก ๆ ผมเลยต้องหนี เพราะเล่นกอล์ฟนี่ต้องมีสมาธิ ชื่อทนายผมยังไม่รู้ว่าเป็นใคร อะไรที่ไหน

"ผู้จัดการ" ก็พยายามตามหาตัวมารุธผู้เป็นโจทก์เพียงผู้เดียวในคดีนี้ด้วยเหมือนกัน แต่ตลอดเวลาที่ไต่ถามไปที่บ้านหรือสำนักงาน ก็จะได้รับคำตอบว่าไปต่างประเทศ กลับมาแล้วแต่ไม่อยู่บ้าน กระทั่งทนายความสุวัฒน์ผู้ว่าความให้ก็ยอมรับว่า ผมไม่สามารถติดต่อมารุธได้ ทราบแต่ว่าย้ายที่พักบ่อย"

มันก็น่าแปลกใจไม่น้อยที่บุคคลซึ่งฟ้องร้องกล่าวหาผู้อื่นในวงเงินที่มากมายมหาศาลเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ ควรจะได้ปรากฎตัวต่อสาธารณะเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเรียกร้องความเป็นธรรมของตน แต่ไม่มีใครได้พบเขา!

สำนวนฟ้องที่ "ผู้จัดการ" ได้รับมาจาก ทนายโจทก์เมื่อเดินทางไปสัมภาษณ์ ที่ชลบุลีนั้น บรรยายข้อกล่าวหาต่าง ๆ ไว้อย่างพิสดารถึง 14 ข้อหา

เรื่องการซื้อหุ้นจำนวน 105,000 หุ้น หรือ 75% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งผู้แทนธนาคารฯ คือนิธิพัฒน์ได้ตกลงว่าจะซื้อในราคาหุ้นละ 25 บาท แต่เมื่อถึงเวลาจ่ายเงินกลับจ่ายให้ในราคาหุ้นละบาทเดียว

มารุธยอมรับเงินและอ้างว่า "จำเลยที่ 1 (หมายถึงธนาคารฯ) ข่มขืนใจ โดยอ้างว่าถ้าโจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัททุกคนไม่ยอมรับ…ก็ไม่สนับสนุนช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัท และจะฟ้องร้องให้บริษัทฯ ล้มละลายด้วย"

เรื่องการที่แบงก์โอนหุ้นให้บุคคลภายนอก 3 บริษัท จำนวน 93,000 หุ้น โดยโอนให้ในราคาหุ้นละ 100 บาท ขณะที่แบงก์รับโอนมาจากผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ในราคาหุ้นละ 25 บาท (จ่ายจริงหุ้นละบาทเดียว) ซึ่งมารุธเห็นว่าแบงก์ฯ จงใจทำผิดสัญญาที่ตกลงไว้กับบริษัทเอื้อวิทยาฯ มีเจตนาทำลายหุ้นของบริษัทเอื้อวิทยาฯ มีเจตนาเข้ายึดครองบริษัทเอื้อวิทยาฯ

ข้อหานี้โจทก์คิดค่าเสียหาย 10,000 ล้านบาท

แบงก์ได้ปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ประกอบการค้าขายซ้อนกับบริษัทฯ คือผลิตภัณฑ์เครื่องส่งกำลังโซ่ของบริษัทเรโนลด์ จำกัด และนำผลกำไรเป็นของตนเอง ข้อหานี้คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 90 ล้านบาท

ธนาคารฯ โดยตัวแทนในฐานะกรรมการจัดการธุรกิจของบริษัทฯไม่ได้จัดทำสมุดบัญชีต่าง ๆ ของบริษัทฯ และไม่ได้เก็บรักษาไว้ที่สำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทฯ กลับนำไปซุกซ่อนไว้ในที่เร้นลับไม่เปิดเผยให้กรรมการคนอื่น ๆ ดู ข้อหานี้คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

เรื่องการที่นิธิพัฒน์จำเลยที่ 12 ในฐานะประธานกรรมการบริษัทเอื้อวิทยาฯ จงใจทำผิดกฎหมาย ทำให้บริษัทเสียหายทางทรัพย์สินและชื่อเสียงเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินค่าชดเชยให้ปราณีต ปาลัครกุล

ข้อหานี้เรียกค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ข้อกล่าวหาข้อ 8 เกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งพนักงาน การกำหนดเงินเดือนพนักงานและการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ คิดเป็นค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท

เรื่องการประมูลผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 เควีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ซึ่งโจทก์ (มารุธ)เห็นว่าควรจะเสนอประมูลโดยลดราคาให้ต่ำลงมาเมื่อเทียบกับบริษัทจากเกาหลีใต้ แต่ ผู้บริหารจากทางแบงก์ไม่ยอม เพราะถ้าลดราคาลงมาจะทำให้ไม่มีกำไร แต่โจทก์มองว่าถึงจะไม่มีกำไร แต่บริษัทฯ ก็จะมีงานป้อนให้พนักงานในโรงงานได้ทำและทำให้บริษัทฯ มีโอกาสรับงานต่อไปของ กฟผ.

การพลาดโอกาสครั้งนี้คิดค่าเสียหายเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

เรื่องการผลิตบานประตูน้ำในโครงการเขื่อนกั้นน้ำโขง-ชี-มูล ซึ่งทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสรับงานคิดค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท

ข้อกล่าวหาวที่ 11-13 เป็นเรื่องของการสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจ เสียเครดิตชื่อเสียง ทรัพย์สินในการติดต่อธุรกิจกับต่างประเทศ ในกรณีของบริษัทไฟรด์โก อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งอิสราเอล กรณีการซื้อเหล็กจากประเทศจีนและรัสเซีย ความเสียหายเหล่านี้คิดรวมเป็นมูลค่า 250,000 ล้านบาท

เรื่องการลงโฆษณาสินค้าที่ไม่ใช่ของบริษัทฯ ในสมุดหน้าเหลือง AT&T คิดค่าเสียหาย 500 ล้านบาท

สองข้อหาสุดท้ายคิดข้อหาละ 50,000 ล้านบาท เป็นเรื่องการติดต่อซื้อขายที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างที่ถนนเอกมัยซึ่งเป็นสำนักงานของบริษัทฯ และเรื่องการแก้ไขดวงตราสำคัญของบริษัทฯ

รวมค่าเสียหายจากข้อกล่าวหาวทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 501,190 ล้านบาท !!!

คดีธุรกิจที่เป็นประวัติศาสตร์คดีนี้เป็นที่สนใจจับตามองของหลายฝ่าย แน่นอนว่าธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้ความสนใจด้วย นิธิพัฒน์อ้างว่า "ธนาคารชาติมีคำสั่งให้แบงก์ฯ เสนอแผนการจัดการหนี้ทั้งหมด ซึ่งแบงก์ก็เสนอไปโดย มีสาระสำคัญว่าแบงก์คิดว่าสามารถทำกำไรได้ แต่กำไรตัวนี้คงจะไม่คุ้มกับรายจ่ายประจำคือตัวที่เป็นดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา อย่างไรก็ดีแบงก์จะลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 5% หรืออาจจะให้หยุดบางส่วน คือให้ลดภาระดอกเบี้ยลงเหลือปีละ 20-30 ล้านบาท และเราก็ทำกำไรล้างหนี้ได้ทีละน้อย หลักการเป็นอย่างนี้"

แบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การไม่ยอมตัดหนี้เอื้อวิทยาฯ เป็นหนี้สูญ โดยจัดชั้นไว้เป็นหนี้สงสัยจะสูญ ในหมายเหตุประกอบงบการเงินงวดธันวาคม 2532 และ 2531 ของธนาคารฯ ได้มีการรายงานว่า "ธนาคารมีลูกหนี้ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดสภาพหนี้ใหม่ และธนาคารได้เข้าควบคุมการบริหารงาน ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2532 และ 2531 มีจำนวนรวมประมาณ 4,424 ล้านบาท และ 3,986 ล้านบาทตามลำดับ ลูกหนี้เหล่านี้มีหลักประกันประมาณ 1,781 ล้านบาท ฝ่ายบริหารของธนาคารเชื่อว่าจะเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้เหล่านี้ได้ครบ"

นอกจากเอื้อวิทยาฯ ซึ่งมีหนี้พอกพูนขึ้นเป็นระดับพันกว่าล้านบาทแล้วนั้น แบงก์ยังมีรายของกลุ่มเสถียรภาพอีกหลายร้อยล้านบาท และกลุ่มอื่น ๆ อีกเป็นระดับหลายร้อยล้านบาท

ปรากฎว่าโดยส่วนมากนั้น แบงก์มักประสบปัญหาต่าง ๆ นานาในการติดตามทวงเก็บหนี้ ซึ่งเรื่องนี้ทวีศักดิ์ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า "เป็นกรรมของแบงก์นี้จริง ๆ"

เป็นที่รู้กันดีในวงการธนาคารพาณิชย์ว่าแบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การนั้นมีปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อ แล้วตามเก็บไม่ได้จำนวนมากมาย จนธนาคารชาติต้องเข้ามาสอดส่งดูแลในช่วงปี 2529 นอกจากนี้ยังมีเรื่องของวิธีคิดวิธีบริหารกิจการธนาคารสมัยใหม่ ซึ่งแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การได้ชื่อว่าเป็นแบงก์ที่มีแนวทางการบริหารแบบอนุรักษ์ที่สุด

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานกรรมการธนาคารฯ ก็ยอมรับว่า "ไม่ต้องการให้เป็นแบงก์อิเล็กทรอนิกส์ ยังมีนโยบายอนุรักษ์ของเดิมเอาไว้ ถ้าเปลี่ยนแปลงให้ได้ชื่อว่าทันสมัย แล้วให้พนักงานเก่าแก่ออกไป ไม่จำเป็นที่จะต้องทำ"

ผู้เชี่ยวชาญในวงการธนาคารพาณิชย์ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "แม้จะมีคนหนุ่มรุ่นใหม่ ๆ ที่ธนาคารชาติส่งเข้าไป ก็ยังเป็นอีหรอบเดิม เพราะพวกเขาไม่สามารถทำการเปลี่ยนแปลงอะไรได้มา กและแนวคิดแบบอนุรักษ์ที่เป็นมาอย่างไรก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น"

กรณีที่สะท้อนอันหนึ่งคือสมัยที่เกริกเกียรติเข้ามาบริหารแบงก์ใหม่ ๆ เมื่อปี 2530 เขามีแนวคิดที่จะทำตราสารเงินฝากดอกเบี้ยลอยตัว (FLOATING RATE NOTES) เพื่อหาแหล่งเงินทุนให้เอื้อวิทยาฯ แต่ปรากฎว่าแนวคิดนี้ก็ไม่สามารถทำได้ โดยไม่ได้มีการแถลงว่าติดขัดปัญหาการขออนุญาตแบงก์ชาติ หรือเป็นปัญหาของแบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การเอง

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงคือวิธีคิดวิธีการบริหารแบงก์ปล่อยวงเงินโอดีให้ผู้บริหารเอื้อวิทยาฯ มาเป็นเวลานานด้วยความรู้จักมักคุ้นระหว่างผู้บริหารชุดเก่า เมื่อผู้บริหารแบงก์ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ของเอื้อวิทยาฯ ก็ได้นำคนจากกฟผ. เข้าไปร่วมบริหารด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะความรู้จักมักคุ้นที่คนของกฟผ. มีกับผู้บริหารเอื้อฯ

ด้วยเหตุนี้เองที่สมบูรณ์เกียรติ อดีตคนการไฟฟ้าฯ ค่อนข้างมั่นใจในอนาคตของเอื้อวิทยาฯ ที่อยู่ในมือของเขาอย่างมากๆ

วิธีคิดวิธีบริหารแบบนี้คือแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ที่เป็นรากฐานความคิดทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของสังคมไทยมาแต่โบราณ !!!

กล่าวในส่วนของลูกหนี้ก็คงจะหนีคำอธิบายเช่นว่าได้ยาก ขณะที่กล่าวหาแบงก์เรื่องวิธีบริหารหนี้กลุ่มลูกหนี้เองก็มีลักษณะการบริหารเงินที่ไม่รัดกุมดังคำพูดของนิธิพัฒน์ ความคุ้มเคยในการเบิกเงินเกินบัญชีที่เคยทำมาแต่ไหนแต่ไรเป็นนิสัยติดตัวมาตลอด แม้ว่าลักษณะบัญชีแบบนี้จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงมากก็ตาม

ขณะที่แบงก์มีแนวคิดอนุรักษ์ และใช้วิธีบริหารแบบมีลำดับชั้น โดยการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ต้องเสนอตามขั้นตอนและให้กรรมการบริษัทอนุมัติ ซึ่งวิธีคิดวิธีปฏิบัติแบบนี้ขัดแย้งกับบุคลิกค้าขายของกลุ่มผู้บริหารเดิมอย่างมาก

แหล่งข่าวใกล้ชิดมารุธเปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า "ตามสำนวนฟ้องจะเห็นได้ถึงวิธีคิดวิธีบริหารงานของมารุธและกลุ่มจำเลยคือคนของแบงก์ คือพวกที่เป็นพ่อค้านี่จะตัดสินใจรวดเร็วฉับไว เพราะวินาทีที่ผ่านไปมีค่าเป็นเงินทองทั้งสิ้น จะซื้อเหล็ก จะต่อรองราคา ยังจะต้องมาผ่านการอนุมัติจากประธานกรรมการฯ มันก็ไม่ทันกินแล้ว"

โอกาสทางธุรกิจที่สูญเสียไปจะมีค่ามากมายมหาศาลตามที่ฟ้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ในชั้นศาล

กรณีศึกษานี้ดูจะเข้าตำรา "ชาวนากับงูเห่า" ในสังคมไทยโดยแท้ !!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us