Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2533
ทางออกของผู้ซื้อคอนโดฯ ที่สร้างไม่เสร็จ             
 

   
related stories

ข้อมูลบุคคล ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร

   
search resources

สุวรรณ วลัยเสถียร
Real Estate




เนื่องจากในระยะ 2-3 ปีผ่านมานี้เกิดการบูมในธุรกิจคอนโดมิเนียมหรือที่เรียกว่าอาคารชุดกันมาก ทั้งประเภทที่เป็นอาคารชุดเพื่ออยู่อาศัยและอาคารสำนักงาน แต่เนื่องจากการทำธุรกิจคอนโดฯไม่ถือว่าเป็นธุรกิจจัดสรร เหมือนพวกหมู่บ้านจัดสรร ทาวเฮาส์ ตึกแถว หรือนิคมอุตสาหกรรม จึงไม่อยู่ในการควบุคมของทางราชการ

ส่วนกฎหมายหรือพระราชบัญญัติอาคารชุดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะเข้าไปมีบทบาท ใช้บังคับก็ต่อเมื่อมีการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์หรือสร้างไปแล้วกว่า 80 % จึงจะยื่นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาคารชุดทำการแบ่งกรรมสิทธิกันเป็นชั้นเป็นห้องได้

แต่ตราบใดที่ยังสร้างไม่เสร็จ ยังไม่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาคารชุด กรรมสิทธิของผู้ซื้อห้องชุดก็ยังไม่เกิดขึ้น

ยิ่งกว่านั้นจะปรากฎให้เห็นว่าระหว่างโครงการกำลังก่อสร้างขึ้นนั้นได้มีการเปิดขายห้องชุดกันไปแล้วล่วงหน้า แต่สัญญาที่ทำขึ้นมาเพื่อขายห้องชุดที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างนั้นเป็นแต่เพียงสัญญาจะซื้อจะขาย หรือที่เรียกกันว่า "สัญญาจอง" นั่นเอง

อันสัญญาจองหรือสัญญาจะซื้อจะขายนี่เองที่มักมีปัญหาข้อพิพาทขึ้นโรงขึ้นศาลกันมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างเช่นปัจจุบัน ซึ่งก็พอจะแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ

หนึ่ง โครงการที่ผู้ซื้อจองไว้นั้นสร้างต่อไปไม่สำเร็จไม่อาจจะไปจดทะเบียนนิติบุคคลแบ่งแยกกรรมสิทธิการถือครองห้องชุดได้

สอง องค์ประกอบและเงื่อนไขของตัวโครงการไม่ครบถ้วนตรงตามที่ได้บอกกล่าวหรือโฆษณาขายเอาไว้ในตอนแรก

ในความเห็นของผมคิดว่าสัญญาจองหรือสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำขึ้นมานั้นให้หลักประกัน หรือการคุ้มครองแก่ผู้ซื้อน้อยมากเพราะว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินซึ่งไม่มี ตัวตนในปัจจุบันคือขายอาคารซึ่งจะก่อสร้างขึ้นมาเสร็จในอนาคต และประเด็นที่ทำให้มันยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งกว่า คือแม้คอนโดฯจะเป็นสิ่งปลูกสร้างก็ตาม แต่มันก็ตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ ถ้าการซื้อขายนั้นยังไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การซื้อขายนั้นไม่ถือว่ามีผลใช้บังคับกันได้ ดังนั้นถ้าเจ้าของที่ดินรายหนึ่งไปทำสัญญาจอง หรือสัญญาจะซื้อจะขายไว้สัก 20 ฉบับกับคน 20 คน แล้วก็ไปจดทะเบียนเอากับคนสุดท้าย 19 คนแรกที่ทำสัญญากันมาก่อน แม้จะจ่ายเงินกันแล้วเรียบร้อยก็จะไม่ได้ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินนั้นไป

พูดจริงๆ ถ้าโครงการสร้างไม่เสร็จนี่ ผู้จองเสียเปรียบมากๆ ในเมื่อตนเองเสียเปรียบอย่างนี้ อันนี้ก็มีเหตุผลหลายประการอันที่หนึ่งคือว่าหลายคนคงจะเชื่อว่าผู้จัดทำโครงการจะต้องทำสำเร็จเพราะเป็นบุคคลที่มีความเชื่อถือในวงการธุรกิจ และในระหว่างที่จองซื้อนั้นคอนโดฯก็ยังมีไม่มาก ฉะนั้นจองไว้แล้ว ถ้าเผื่อวันหลัง ถึงแม้ว่าตัวเองจะไม่เอา หรือจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ยังโอนสิทธิการจองนั้นให้แก่คนอื่นได้ ไม่ต้องรอจนกว่าจะสร้างเสร็จ

อีกประการหนึ่งคือการเก็งกำไร เพราะเท่าที่รู้กันว่าในระยะสองสามปีที่ผ่านมานี้ราคาคอนโดฯมันเพิ่มขึ้นมาก กำไรดีกว่าเอาเงินไปฝากแบงก์เสียอีก

แต่ถ้ามันเกิดภาวะเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นมา ธุรกิจนี้จะต้องได้รับผลกระทบและผู้จองคอนโดฯอาจได้รับความเสียหาย

เพราะสัญญาจะซื้อจะขายนั้นตามกฎหมายเป็นแต่เพียงบุคคลสิทธิ์ คือสิทธิเหนือบุคคล ไม่ใช่ทรัพยสิทธิหรือสิทธิเหนือทรัพย์สิน ทั้งนี้เพราะว่าสัญญาที่จะซื้อขายกันนั้นยังสร้างไม่เสร็จยังไม่มีรูปร่างขึ้นมา ซึ่งอันนี้ถ้ามองในแง่กฎหมายจริงๆแล้วผู้จองมีความเสี่ยงสูงมากเพระถือว่าเจ้าของโครงการผิดสัญญาพอผิดสัญญาผู้ซื้อก็ต้องพิสูจน์ว่าได้รับความเสียหายเท่าไหร่ เมื่อทราบว่าได้รับความเสียหายเท่าไหร่แล้วก็ไปบังคับเอากับเจ้าของโครงการให้จ่ายเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยเพื่อทดแทนค่าเสียหายของผู้ซื้อ

ทีนี้ถ้าเจ้าของโครงการไม่มีเงินหรือทรัพย์สินจะจ่ายนคืนผู้ซื้อก็ต้องยึดทรัพย์เขามาชำระหนี้ ซึ่งถ้าทรัพย์สินเขามีมากก็พอจะเอามาชำระได้เพียงพอ แต่ถ้าทรัพย์สินเขาไม่พอจ่าย ก็เฉลี่ยกันไป ซึ่งอาจได้คืนสัก 10-20%

โดยเฉพาะในระยะหลัง ๆ นี้เราจะพบบ่อยมากก็คือว่ามีการใช้ชื่อกันคนละชื่อระหว่างเจ้าของโครงการกับเจ้าของที่ดินบางโครงการใช้ชื่อแยกกันถึง 4 บริษัท ระหว่างเจ้าของโครงการ เจ้าของที่ดิน ผู้บริหารโครงการ และผู้บริหารการขาย ยิ่งทำให้ผู้จองเสียเปรียบมากยิ่งขึ้นไปอีกถ้าโครงการเกิดมีปัญหาขึ้นมาภายหลัง เพราะคู่สัญญาที่รับจองนั้นอาจไม่มีทรัพย์สินอะไรเลยก็ได้

ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายอะไรที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้จองโครงการคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะดังที่กล่าวมาแล้วนั้น หนทางก็อาจมีบ้างแต่ก็เป็การใช้กฎหมายอื่นทางอ้อม ซึ่งก็เป็นลักษณะการขู่กันมากกว่าที่จะหวังผลในทางชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น นั่นคือกฎหมายเกี่ยวกับการฉ้อโกง

องค์ประกอบของความผิดฐานฉ้อโกงระบุว่า เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้อื่นส่งทรัพย์ให้ โดยเจตนาทุจริต

แต่มันจะฟ้องฉ้อโกงในกรณีนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานชัดเจนว่าเจ้าของโครงการมีเจตนาทุจริตหลอกลวง เพื่อให้ผู้จองยอมส่งเงินค่าจองให้ เช่นคนที่บอกขายนั้นไม่มีเจตนามาตั้งแต่เริ่มต้นที่จะทำการก่อสร้างคอนโดขึ้นมา เพียงแต่เปิดสำนักงานขายทำการโฆษณาบอกว่าจะสร้างอย่างนั้นอย่างนี้ มีแผนที่และแบบจำลองอย่างดี แต่พอรับเงินจองเข้ามามากๆ วันหนึ่งก็ปิดสำนักงานหนีไปเฉย ๆ อย่างนี้เข้าข่ายฉ้อโกงอย่างชัดแจ้ง

บางกรณีแม้จะมีเจตนาก่อสร้างโครงการขึ้นมาจริงๆ แต่เจตนาทุจริตฉ้อโกงอาจเกิดขึ้นทีหลังเมื่อโครงการเริ่มมีปัญหากรณีนี้ก็อาจพิสูจน์ได้ เช่นเริ่มด้วยการจัดหาที่ดิน ออกแบบทำการก่อสร้างขึ้นมา และต้องการให้โครงการนั้นสำเร็จลุล่วงไปจริง ๆ โดยในระหว่างนั้นก็รับเงินงวดค่าจองไปเรื่อยๆ

แต่ถึงวันหนึ่งโครงการเริ่มมีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินหรือปัญหาในเรื่องการบริหารใดๆ ก็ตามทำให้โครงการดำเนินไปไม่ตลอด เจ้าของโครงการเองก็รู้แน่ชัดว่าโครงการดำเนินต่อไปไม่รอดแน่ๆ แต่ก็ไม่แจ้งให้ผู้จองทราบเรื่องเพื่อส่งเงินจองคืนหรือกระทำการอย่างใดๆ ก็แล้วแต่ที่ทำให้เห็นว่าเจ้าของโครงการมีความสุจริตใจ กลับยังอ้างว่าโครงการไม่มีปัญหาและยังรับเงินค่างวดจองต่อไปเรื่อย ๆ แล้วในที่สุดโครงการก็หยุดและเจ้าของโครงการก็หนีไป

อย่างนี้พอจะเรียกได้ว่าเจ้าของโครงการมีเจตนาไม่สุจริตเกิดขึ้นแล้วและเข้าข่ายฉ้อโกงได้เหมือกัน แม้จะมีเจตนาดีมาตั้งแต่เริ่มตั้น แต่ตอนหลังเจตนามันไม่ดีเสียแล้ว

ลักษณะที่สอง คือองค์ประกอบของโครงการไม่เป็นไปตามสัญญาหรือที่ได้โฆษณา ไว้ เช่นบอกว่าโครงการมีลิฟท์ 8 ตัว พื้นปูหินอ่อน มีที่จอดรถถึง 1,000 คัน มีห้องประชุมขนาดใหญ่และขนาดเล็กหลายห้อง มีสระว่ายน้ำ มีสนามเทนนิส ถ้าเป็นคอนโดตากอากาศก็บอกว่าที่ติดทะเล ห้องชุดทุกห้องสามารถมองเห็นทะเลได้ชัดเจน อย่างนี้เป็นต้น แต่พอโครงการเสร็จแล้วไม่มีองค์ประกอบตามที่ให้สัญญาไว้

กรณีอย่างนี้ก็เคยมีการฟ้องร้องกันมาแล้ว ซึ่งผู้จองก็อาจปฏิเสธที่จะไม่รับโอน พร้อมทั้งขอให้เจ้าของโครงการส่งเงินค่าจองคืนพร้อมกับดอกเบี้ย หรือบังคับให้เจ้าของโครงการทำองค์ประกอบให้ครบตามที่ได้สัญญาไว้

ส่วนความผิดอาญาฐานฉ้อโกงในกรณีนี้ในความเห็นของผมคิดว่าเข้าองค์ประกอบกฎหมายครบถ้วน เพระถือว่าเป็นการแสดงเจตนาอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้อื่นยอมจ่ายเงินจองให้แก่ตนเอง

อย่างไรก็ตามการบรรเทาความเสียหายทั้งสองลักษณะที่กล่าวมานี้ ผู้จองที่ได้รับความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจะต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอความเป็นธรรม บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น และเอาผู้กระทำผิดอาญาไปลงโทษนั้นจะต้องมีพยานหลักฐานอย่างครบถ้วนพร้อมที่จะพิสูจน์จึงจะดำเนินการให้บรรลุผลได้

ที่กล่าวมานี้เป็นหลักที่ประชาชนจะต้องพึ่งตัวเองเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาในสถาพกฎหมายปัจจุบัน

แต่สำหรับอนาคตถ้าจะให้การคุ้มครองผู้ซื้อจองคอนโดฯ ให้แน่นหนาขึ้นกว่านี้ตามปริมาณของคอนโดฯที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป รัฐบาลก็ควรจะออกกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะ

สิ่งที่ผมเห็นในขณะนี้ก็คือว่า ความพยายามของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่จะให้มีการแจ้งความโฆษณาของธุรกิจนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับฐานะทางทรัพย์สิน บุคคลที่รับผิดชอบ และรายละเอียดของโครงการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นมาตรการป้องกัน แต่ก็เป็นการใช้กฎหมายทางอ้อมมากเหลือเกิน

ส่วนในการออกมาตรการหรือกฎหมายเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดความรัดกุมมากขึ้นนั้นเบื้องต้นที่สุดนั้น ผมเห็นว่าควรจะกำหนดให้การทำธุรกิจคอนโดมิเนียมเป็นธุรกิจจัดสรรที่ดินที่จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของราชการเช่นเดียวกับธุรกิจที่ดินธุรกิจประเภทอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้ก็ควรจะมีการกำหนดเงินจดทะเบียนให้สูงขึ้น เพื่อให้สมน้ำสมเนื้อกับตัวโครงการ มีการควบคุมการใช้เงินทุนระหว่างทุน เงินกู้ และเงินค่าจอง ในสัดส่วนที่พอเหมะ หรืออาจกำหนดให้เงินจองของประชาชนเป็นเงินกู้อย่างหนึ่ งซึ่งจะต้องไปฝากไว้กับแบงก์ที่สนับสนุนโครงการเพื่อไม่ให้นำเงินจองมาใช้โดยตรงกับโครงการ

สำหรับสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาจองนั้นทางการควรจะออกแบบสัญญาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งควรจะเป็นสัญญาที่เป็นกลาง เพราะสัญญาจองที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เป็นสัญญาที่ฝ่ายผู้ขายทำขึ้นมาเองฝ่ายเดียว ซึ่งในความเห็นของผมแล้วคิดว่าไม่มีรายละเอียดที่จะให้หลักประกันแก่ผู้จองได้อย่างเพียงพอ

และอันสุดท้ายก็อาจให้มีการทำประกันภัยสัญญานั้นไว้ เพราะนอกจากจะเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้จองแล้วยังสามารถใช้เป็นหลักประกันความเสี่ยงแก่เจ้าของโครงการอีกด้วย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us