Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2542
100 ปี เกาะภูเก็ต จากยุคเหมืองแร่ สวนยาง สู่การท่องเที่ยว             
 

   
related stories

ธุรกิจเก่าภูเก็ต เติบโตใต้ขีดจำกัด
ติลกกรุ๊ป ขอโตด้วยตนเอง
วานิช ขยายฐานธุรกิจที่ชำนาญ
หงษ์หยก ปักหลักธุรกิจพัฒนาที่ดิน
อุปัติศฤงศ์ กงสีเริ่มสั่นคลอน
เอกวานิช ยึดธุรกิจโรงแรม

   
search resources

ติลกกรุ๊ป
Tourism
Mining




จังหวัดภูเก็ต เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่จังหวัดพังงาเพียง 1,000 เมตร ด้วยช่องปากพระ ที่มีน้ำขึ้น-ลงไหล ผ่านเชี่ยวกรากหากนับระยะทางจากกรุงเทพฯถึงภูเก็ตในปัจจุบันก็ร่วม 900 กิโลเมตร

ว่ากันว่าเกาะภูเก็ต มีประ วัติศาสตร์ย้อนรอยไปได้นับพันปี จากบันทึกการค้นพบของ "คลอติส ปโตเลมี"ชาวกรีกที่เดินเรือมาทางใต้ผ่านช่องแคบมะละกา เรียกเกาะ นี้ว่า "จังซีลอน" เมื่อปี 643 (การค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ยืนยัน ว่า เป็นเกาะภูเก็ตด้วยอยู่ตำแหน่งเดียวกัน)

ตำนานแร่ดีบุก

ภูเก็ต เจริญเติบโตด้วยแร่ดีบุกมานับพันปี ด้วยหลักฐานที่ได้บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2367 ของร.ท. เจมส์ โลว์ ชาวอังกฤษอีกท่านหนึ่งที่แล่นเรือผ่านมา จากเค้าความเป็น จริงที่ยังมีให้เห็นและยืนยันได้ ณ ปัจจุบัน คือ ความอุดมสมบูรณ์ด้วย ธรรมชาติที่มีคุณค่าอนันต์

ทางด้านการเกษตร ไม่มีฤดูหนาว ฤดูร้อนอันยาวนาน ตั้งอยู่ในเขตมรสุม สภาพอากาศคล้าย เกาะหมาก หรือปีนัง มาเลเซีย สามารถปลูกเครื่องเทศ และพริกไทย รวมทั้งพืชผักเจริญงอกงามดี ทั้งยังมีสภาพพื้นที่สมบูรณ์กว้างใหญ่กว่าเกาะปีนังร่วม 3 เท่าตัว

สำคัญที่สุด ทั่วเกาะภูเก็ต ยังมีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ มีคุณค่ามหาศาลถูกค้นพบมานานนับพัน ปี คือ แร่ดีบุก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ประ เทศอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องการ ทั้ง ยังได้ทำการค้าขายสินแร่ดีบุก โดย เฉพาะกับฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยกรุง ศรีอยุธยา ยุคสมเด็จพระนารายณ์ มหาราช มีหลักฐานว่าเอกอัครราชทูต ฝรั่งเศส ได้ขอพระราชทานพระบรม ราชานุญาตผูกขาดค้าขายแร่ดีบุกที่ภูเก็ตแต่ผู้เดียว และจะมีเรือจาก "คลอรามันเดล"แล่นรับส่งสินค้ามา ยังภูเก็ตปีละ 1 ลำประจำทุกปี

เล่ากันว่า มีนักการค้าชาวฝรั่งเศส ชื่อ "วาเร่ต์"ที่เดินทางมาได้ทำนายไว้ว่าแร่ดีบุก จะสร้างความ เจริญในภูเก็ตในอนาคต และชาวเมืองได้อาศัยเลี้ยงชีพได้นานแสนนาน ทั้งจะเป็นหัวใจของประเทศสยามด้วย

เมื่อประมาณร้อยกว่าปี ยุค ต้นกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานการค้น คว้าทางประวัติศาสตร์ ค่อนข้างชัดเจนในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงครองราชย์ขณะนั้นเรียก "เมืองถลาง" มีชุมชนอยู่ 3-4 แหล่งคือ บ้านสะปำ บ้านป่าคลอก และบ้านหม่านิก บ้านกะทู้ มีอาชีพทำเกษตร หาของป่า และประมง

ในช่วงนั้น แม้ว่าการทำการ ค้ากับต่างประเทศจะซบเซา ด้วยเกิดสงครามจากการรุกรานของพม่า แต่ก็ยังมีการทำเหมืองแร่ดีบุก แต่ หลังจากเสร็จสิ้นสงครามก็ได้มีการ ฟื้นฟูการค้ากับต่างประเทศอีก ตอน นั้นอังกฤษได้ขยายอาณานิคมครอบครองเกาะปีนัง พร้อมกับติดต่อซื้อขายแร่ดีบุกกับภูเก็ต

ยุคผูกขาดเหมืองแร่

ในช่วงนี้ได้มีชาวจีนบางส่วนแล่นเรือสำเภาลำเลียงสินค้าไปยังเกาะปีนัง และได้ใช้ภูเก็ต เป็น จุดแวะส่งสินค้า รับน้ำจืด และ หลบ มรสุม จึงได้ตัดสินใจชักชวนกันหอบเสื่อผืนหมอนใบเข้ามาชนิด มาตายเอาดาบหน้า ดีกว่าอยู่ให้พวก อังกฤษข่มเหงกดขี่บนเกาะปีนัง กับ อีกส่วนหนึ่งอพยพหนีภัยอดอยากยากแร้นแค้น และภัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เข้ามารับจ้างเป็นกุลีหรือกรรมกรในเหมืองแร่

จากการที่แร่ดีบุกเป็นที่ต้อง การของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจมากนี่เอง จึงได้ มีการขอผูกขาดการทำเหมืองแร่ และจัดเก็บภาษีอากร ภาษีแร่ส่งส่วยไปเลี้ยงรัฐบาลกลางอย่างเป็นกอบเป็นกำ

สัมปทานการขุดแร่ในภูเก็ต ตกอยู่กับนายทุนต่างชาติและคนใกล้ชิดเจ้าเมือง โดยเฉพาะชาวอังกฤษและชาวจีนที่อพยพเข้ามาเป็นกุลีเหมืองแร่ แต่ได้ใช้สติปัญญา พลิกผันมาเป็นผู้ประกอบการเสียเอง ปรากฏว่าแนวโน้มความต้อง การแร่ดีบุกของประเทศมหาอำนาจ มีเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ เจ้าเมืองซึ่งมีอำนาจเต็มที่ จึงได้ผูกขาดการทำเหมืองแร่ดีบุกเสียเองในภายหลัง โดยกีดกันไม่ให้เอกชนไม่ว่าจะเป็น ชาวไทยหรือต่างชาติมีส่วนในการผลิตแร่ดีบุก

จะอย่างไรก็ตาม การทำ เหมืองแร่ในระบบผูกขาดนี้ ก็ยังต้องอาศัยกรรมกรจากราษฎรในท้องถิ่น ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวจีนอพยพ รวมทั้งชาวจีนที่เกิดใหม่ในภูเก็ต โดยการจ้างเหมาแรงงาน จึง เกิดการกดขี่ หักค่าอากรสารพัด ทั้งฝิ่น บุหรี่ และสุรา จนเกิดมีกลุ่ม ต่อต้านเรียกว่า "อั้งยี่" ขึ้น มีการ ปล้นสะดม ก่อความไม่สงบ

ต่อมาในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯเปลี่ยนแบบแผนการปกครองหัวเมืองใหม่ ทาง ภาคใต้ตอนบนฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุก มีภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ตะกั่วป่า และ ระนอง รวมเข้าด้วยกันในปี 2418 เป็นมณฑลภูเก็ต เพื่อการจัดเก็บภาษีอากร และภาษีเหมืองแร่ส่งเข้า คลังส่วนกลางเป็นระบบขึ้น

จากนั้นมาอีกไม่นาน แร่ ดีบุกราคาตกต่ำ เศรษฐกิจตกต่ำ การก่อการร้ายของกลุ่มอั้งยี่ทวีความรุนแรงขึ้น บ้านเมืองวุ่นวายธุรกิจอย่างอื่นไม่เข้ามาทดแทน เหมืองแร่ ราษฎรว่างงานมากขึ้น จน กระทั่งปี 2437 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ดีบุกขึ้นใหม่ ให้มีเสรีในการประกอบการ มากขึ้น และประกาศใช้ในมณฑลภูเก็ตเป็นแห่งแรก

พร้อมกับเปิดใหนายทุนจากอังกฤษ และต่างชาติเข้ามาประ กอบการทำเหมืองผลิตแร่ดีบุกได้ทั้งยังเปิดให้รับซื้อแร่ชาวบ้านทั่วไปในลักษณะของวัตถุดิบ แล้วส่งไปถลุงที่ปีนัง และสิงคโปร์

ยางพาราพืชเศรษฐกิจใหม่

ครั้นมาถึงปี 2444 ได้โปรด เกล้าฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง ) มาเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต หาวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา รวมทั้ง ความวุ่นวายจากกลุ่มอั้งยี่

จากประวัติของพระยารัษฎาฯ นั้น แจ้งว่าในช่วงที่เข้ามาปกครองมณฑลภูเก็ตอย่างเต็มตัวนั้นสถานการณ์บ้านเมืองยังระส่ำระสาย ภาวะเศรษฐกิจยังไม่กระ เตื้อง ประเทศมหาอำนาจยังแผ่อิทธิ พลคุกคามด้วยประสบการณ์และการเสี้ยมสอนของบุพการีให้รู้จักการช่วยตัวเองและอดออม จึงได้นำเอาวิธีการนี้มาแก้ปัญหาความอด อยากของราษฎร

ด้วยการกระตุ้นให้ราษฎรขยัน ประหยัด อดออม ลดรายจ่าย ที่ไม่จำเป็น เพิ่มพูนรายได้ด้วยกำลัง แรงงาน และสมองของตนเองจาก การทำเกษตรกรรม

มณฑลภูเก็ตเคยซื้อข้าวจากพม่า และอาศัยข้าวจากทางเมืองนครศรีธรรมราช พระยารัษฎาฯ ก็ให้หันมาปลูกข้าวทำนาเป็นอาชีพหลักในบริเวณที่ไม่ได้ทำเหมืองแร่ ปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ หมู เป็ด ไก่ เป็นอาชีพรอง เหลือจากการบริโภคใน ครอบครัวก็ให้นำไปขาย โดยการจัดตลาดนัดตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ ได้ซื้อขายกันเอง

แนวทางการแก้ปัญหารูป แบบดังกล่าวนี้ พบอุปสรรคมาก มาย นอกจากกำลังแรงกายของตนเองแล้ว ด้านทุนรอนก็มีความจำเป็นในการซื้อหาพันธุ์พืช แต่ราษฎรยากจน ทั้งยังขาดความรู้ทางด้านการตลาดเสาะแสวงหาพืช เศรษฐกิจมาปลูกเป็นหลัก

ระหว่างนั้นมาเลเซียซึ่ง อยู่ใกล้มณฑลภูเก็ตมากที่สุด ได้ปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกอยู่ดีกินดี แต่มาเลเซียก็หวงแหนพันธุ์ยางพารามากไม่ยอมให้รั่วไหลออก นอกประเทศได้โดยง่าย พระยารัษฎาฯก็ไม่ละความพยายาม สั่งให้เพื่อนพ้องและลูกหลานที่อยู่ทางมาเลเซียส่งมาให้ทีละเล็กทีละน้อย นำไปแจกจ่ายให้ราษฎรปลูกทำพันธุ์โดยผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน

ทางด้านปัญหาทุนรอนนั้น ได้มีพ่อค้านายทุนเสนอตัวมาให้กู้ยืม แต่ราษฎรกลับได้รับความเดือดร้อนจากการขูดรีดดอกเบี้ย พืชผลสัตว์เลี้ยงถูกนายทุนยึดใช้หนี้ทั้งดอกทั้งต้น

เมื่อเจอปัญหานี้เข้า พระยา รัษฎาฯ จึงเกิดความคิดใหม่ขึ้น โดยขอพระราชทานยืมเงินจากรัฐบาลกลางมาเป็นทุนหมุนเวียนให้ราษฎรกู้ยืมทำทุนโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ แทนการไปกู้ยืมจากนายทุน ความเป็นอยู่ของราษฎรทางภาคเกษตรกรรมก็เริ่มดีขึ้น มีการขยาย พื้นที่ทำกิน

พืชเกษตรที่ส่งเสริมให้ปลูกในขณะนั้น นอกจากยางพารา ที่เป็นพืชใหม่นำเข้าจากมาเลเซียแล้วยังมีมะพร้าว และหมากซึ่งเป็น ไม้ยืนต้น สลับกับการปลูกพืชผักสวนครัวปรากฏว่า ในส่วนของมะพร้าวกับหมากนั้น ได้กลับกลาย เป็นสินค้าวัตถุดิบส่งออกไปแปรรูป ที่ปีนังและสิงคโปร์ ในลักษณะของมะพร้าว และหมากแห้ง ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นรายได้ยังชีพราษฎรอีกช่วงหนึ่ง ขณะที่ยางพาราก็ตกต่ำ

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจช่วงแร่ดีบุกราคาตกนั้น ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการทำแร่ดีบุกที่ไม่ประสบผลสำเร็จ อันเนื่องมาจากพื้นที่ที่ได้รับสัมปทาน หรือจับจอง เอาไว้มีแร่ดีบุกน้อย บางแห่งก็ไม่มี เลยได้เปลี่ยนความคิดจากที่จะทำเหมือง กลับมาหักล้างถางพงทำเกษตรกรรมปลูกยางพาราแทน ใน กลุ่มนี้มีกุลีเหมืองแร่ที่เบื่อหน่ายจากการถูกกดขี่แรงงานรวม อยู่ด้วย

ประเด็นสำคัญในช่วงนั้นยังไม่มีการหวงแหนที่ดินทำกิน ใคร มีกำลังแรงกาย มีสมอง ปัญญาความสามารถบุกเบิกได้แค่ไหน ก็ทำไป ช่วงนี้คนขยันมุมานะได้เปรียบเต็มร้อย ทั้งพระยารัษฎาฯ ยังได้กำหนดไว้อีกว่า

"ราษฎรที่ปลูกพืชผัก ทำเกษตรกรรมได้ผลดีในเนื้อที่ 25 ไร่ จะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์แรงงานปีละ 15 วัน "

อาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะมะพร้าว และยางพารา จึงเฟื่องฟูคู่กับแร่ดีบุกมาตั้งแต่ยุคนั้น

เปิดการค้าต่างประเทศยุคใหม่

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ เหมืองแร่ใหม่ เปิดเสรีให้ต่างชาติเข้า มาประกอบการทำเหมืองได้ นอกจากนายทุนชาวอังกฤษซึ่งเป็นชาติดั้งเดิมแล้ว ยังมีนายทุนชาว ออสเตรเลีย คือ กัปตันเอ็ดเวิร์ด ที ไมลส์ นำเรือขุดแร่ที่มีระบบการขุด หาแร่ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งขุดได้ทั้งบนบกและในทะเล เข้ามาขุดหาแร่ดีบุกทางอ่าวภูเก็ต หรืออ่าวทุ่งคา อยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะเมื่อปี 2449

การประกอบการอุตสาห กรรมเหมืองแร่ดีบุกจึงเป็นรูปธรรม ตั้งแต่นั้นมา พระราชบัญญัติเกี่ยวกับแร่ดีบุกได้รับการแก้ไข และเกิด ขึ้นหลายฉบับ มีการกำหนดราคารับซื้อ - ขาย การเก็บค่าภาคหลวง แร่ นอกจากนั้นยังมีข้อตกลงระหว่างประเทศผู้ผลิตแร่ดีบุกให้ร่วมมือกันควบคุมโควตาการผลิต

อันเนื่องมาจากราคาแร่ ดีบุกตกต่ำ และล้นตลาด ประเด็นนี้เองที่ก่อให้เกิดความตกลงภาคี ดีบุกโลกในระยะต่อมา

เมื่อภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยน แปลง มีตลาดต่างประเทศเกิดขึ้นทั้งภาคอุตสาหกรรม และเกษตร กรรม เป็นช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจ มณฑลภูเก็ตไม่มีธนาคารการตกลง ซื้อขาย การจ่ายเงิน โอนเงินยุ่งยาก ต้องอาศัยผ่านทางธนาคารที่เกาะปีนัง ระยะทางห่างโขต้องแล่นเรือข้ามวันข้ามคืน ไม่สะดวกและปลอดภัย

พระยารัษฎาฯ จึงได้ตัดสิน ใจติดต่อธนาคารชาร์เตอร์ หรือ ชาร์เตอร์แบงก์ขยายสาขาจากปีนัง มาเปิดที่ภูเก็ต โดยจัดสถานที่ทำ การไว้ตรงหัวมุมสี่แยกตลาดใหญ่ พร้อมกับสร้างสถานีตำรวจอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนให้ความคุ้มครองเต็ม ที่ (สี่แยกโรงพักตลาดใหญ่ปัจจุบัน) ณ สถานที่ตรงนั้น ฝั่งตรงข้ามกับที่ตั้งธนาคารคือ คลองบางใหญ่ อดีตเป็นท่าเรือสำเภาขนาดใหญ่

"ชาร์เตอร์แบงก์" จึงเป็นธนาคารแรกที่เปิดทำการในจังหวัด ภูเก็ต ทำหน้าที่โอนรับจ่ายเงิน ซื้อ-ขายสินค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง สวรรค์บันดาลให้เกิดเศรษฐีขึ้นบนเกาะภูเก็ตหลายตระกูล ทั้งด้วยความมานะพยายาม อดออม ประหยัด รวมทั้งสติปัญญา และผลประโยชน์จากสงครามอำนวยให้ที่เรียกว่า "เศรษฐีสงคราม"ก็มี ส่วนใหญ่เป็นคนจีน หรือคนไทยเชื้อสายจีน

นั่นคือ... กลุ่มทำเหมืองแร่ ดีบุก และกลุ่มเกษตรกรทำสวนยาง พารา รวมทั้งพ่อค้า

เศรษฐีเหมืองแร่ และเศรษฐีสวนยางทั้งสองกลุ่มนี้ นอกจากได้รับผลประโยชน์จากการประกอบการของตนแล้ว ที่ดินอีกนับร้อยไร่ที่ทำการบุกเบิกแผ้วถางก็มีสิทธิเป็นเจ้าของมาจวบจนทุกวันนี้

ตามประวัติ และหลักฐานที่ยืนยันก็มีอยู่หลายตระกูลที่พอจะเอ่ยถึงได้แก่ ตระกูล ณ ระนอง ตัณฑวณิช หงษ์หยก โกยสมบูรณ์ บุญสูง วานิช เอกวานิช งานทวี ทองตัน แซ่อ๋อง หรือถาวรว่องวงศ์ อุปัติศฤงค์ ตันติวิท เชื้อชูวงศ์ อุดมทรัพย์ เป็นต้น

ธุรกิจการค้าของภูเก็ต และ จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันขณะนั้นขึ้นอยู่กับตลาดของปีนัง กับ สิงคโปร์ ราคาของแร่ดีบุก และยาง พารา จะขึ้นจะลงต้องคอยเงี่ยหูฟัง จากสถานีวิทยุของเขาประกาศทำการซื้อขาย โดยผ่านทางสิงคโปร์ เป็นคนกลาง

การขนส่งสินค้าทุกชนิดทำได้โดยเรือสำเภา และเรือกลไฟ ที่ท่าเรือคลองท่าจีน เกาะสิเหร่หรือ ที่เรียกกันว่า ท่าเรือนายหัวเจียร หรือท่าเรือเฒ่าแก่เจียร ทั้งนี้เนื่องจาการขนส่งสินค้าแทบทุกชนิดนายเจียร วานิช ต้นตระกูล"วานิช" เป็นผู้ดำเนินการ และแม้อยู่ระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ 2 ภูเก็ตขาด แคลนอาหารการกินทุกอย่าง แม้กระทั่งยารักษาโรค นายเจียรก็ยังสามารถนำเข้ามาได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก

อวสานแร่ดีบุก

ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังญี่ปุ่นพ่ายสงคราม 20-30 ปี ความต้องการแร่ดีบุกในตลาดมีเพิ่มขึ้น แร่ดีบุกกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง ราคาพุ่งสูงลิ่วดุจทองคำ บูมสุดขีดเหมือนกับเป็นลางบอกเหตุถึงกาลอวสาน

แร่ดีบุกไทย โดยเฉพาะที่ภูเก็ต และพังงาถูกส่งลำเลียงไปยังสิงคโปร์เพื่อทำการถลุง เป็นเรื่อง แปลกแต่จริง สิงคโปร์ไม่มีเหมืองแร่ ไม่มีแร่ดีบุก แต่มีโรงถลุงแร่ สามารถ กำหนดราคาแร่ดีบุกจากเมืองไทยได้ แต่เมื่อปี 2506 รัฐบาลได้อนุมัติ ให้บริษัท ไทย แลนด์สเมลติ้งแอนด์ รีไฟนิ่ง จำกัด (ไทยซาร์โก้) ตั้งโรงถลุงแร่ดีบุกในภูเก็ต เป็นโรงถลุงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยรับซื้อแร่ และทำการถลุงแร่ดีบุกที่ผลิตได้ ก็ต้องส่งออกผ่านทางสิงค โปร์ อีกนั่นแหละ

ขณะที่แร่ดีบุกกำบังบูมสุด ขีดนั้น รัฐบาลไทยก็ฉวยโอกาสตั้งองค์การเหมืองแร่ในทะเล (อ.ม.ท.) ขึ้นเมื่อปี 2518 เป็นรัฐวิสาหกิจทำการผลิตแร่ดีบุกแข่งกับภาคเอกชน ทำการผลิตในทะเลฝั่งอันดามันด้วย เรือขุดแร่เพียง 1 ลำ ในต้นปี 2524 นอกจากนั้นเปิดให้เอกชนเข้าไปขุดในเขตสัมปทาน ล้วนเป็นเรือแพดูดดำแร่ แล้วนำมาขายให้กับตัวแทนของตนอีกต่อหนึ่ง เป็นลักษณะของเสือนอนกิน

ตอนนี้เองที่เป็นชนวนก่อให้เกิดขบวนการค้าแร่เถื่อนกันอย่างคึกคัก มีการนำแร่หนีภาษีส่ง ออกไปขายให้โรงถลุงที่สิงคโปร์ เป็นยุคเจ้าพ่อเฟื่องฟู

นักแสวงโชคจากทุกภาคร้อยพ่อพันธุ์ แม่หลั่งไหลเข้ามาทั้งดูดดำแร่ ตั้งสถานบริการ บันเทิง ค้าประเวณี รวมทั้งอบายมุขทุกชนิดผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ตามแหล่ง ดูดดำแร่ฝั่งทะเลอันดามันทั้งภูเก็ต และพังงา เศรษฐกิจบูมสุด ๆ คดีอาชญากรรม ทะเลาะวิวาท ฆ่ากันตายก็พุ่งตาม

แต่....เหมือนฝัน แค่ช่วงพริบตาเดียว ร่วม 7 ปีเท่านั้น ตกปี 2530 แร่ดีบุกเริ่มล้นตลาด ราคาตกต่ำเรื่อยมา แม้กระทั่งภาคี ดีบุกโลกที่มีประเทศผู้ผลิตและส่งออกเป็นสมาชิก เป็นผู้ควบคุมโควตาการผลิต รวมทั้งกำหนดราคา หมดหนทางแก้ไขล้มไปในที่สุด

เหมืองแร่ทั้งบนบกและเรือ แพดูดดำแร่ในทะเลเขตสัมปทานของ อ.ม.ท. ก็หยุดกิจการในปี 2536 รัฐบาลมีมติให้ยุบเลิกในปี 2539 ส่วนบริษัททุ่งคา-อ่าวขาม หรือ บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ฯ อันเป็นบริษัท เรือขุดแร่ดีบุกยักษ์ใหญ่ และมีอายุ การทำเหมืองในภูเก็ตมากว่า 60 ปี หยุดกิจการลงในเวลาไล่เลี่ยกัน

ขณะเดียวกันกระแสอนุ รักษ์สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติทวี ความรุนแรงขึ้น มีการต่อต้านการทำเหมืองแร่ในทะเล พร้อมกับยืน ยันว่า การทำเหมืองแร่ในรูปแบบดังกล่าว เป็นการทำลายทรัพยากร ธรรมชาติใต้ทะเลอย่างโหดร้าย

แร่ดีบุกเมืองภูเก็ตตลอดแนวฝั่งทะเลอันดามันก็ถึงกาลอวสานแต่นั้นมา

ยุคบุกเบิกธุรกิจการท่องเที่ยว

ภูเก็ตมีพรสวรรค์ และเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สวรรค์สรรค์ สร้างมาให้แต่ดึกดำบรรพ์ มีธรรม ชาติที่สวยงามสมบูรณ์ที่สุด ทั้งบนบกและใต้ทะเล แม้จะถูกทำลายไปบ้างจากการทำเหมืองแร่ก็ยังมีมนต์เสน่ห์ต้องตาต้องใจผู้พบเห็น โดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่เดินทางผ่านเข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยว ที่เป็นยุโรปเกาะภูเก็ตจึงได้ฉายาใหม่

"ไข่มุกอันดามัน "หรือ "เพิร์ล ออฟ อันดามัน"

ชายฝั่งทะเลมีหาดทรายละเอียดสีขาว และน้ำทะเลสีครามสะอาด พร้อมเกาะแก่งบริวารจำนวนมาก ใต้ทะเลอุดมไปด้วยปะการัง กัลปังหา พืชพันธ์ และดอกไม้น้ำ รวมทั้งพันธุ์ปลาสวยงาม หลากสีสันล้วนธรรมชาติให้มา

กลับพลิกผันกลายเป็นขุมทรัพย์มหาศาลทำให้เกาะภูเก็ต และบริเวณใกล้เคียงบูมขึ้นอีกครั้ง หนึ่ง ด้วยธุรกิจใหม่ที่ทั่วโลกต่างต้องการนั่นคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ณ ปัจจุบันนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประชาชนโลกส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งที่ธรรมชาติให้มาเหล่านั้น ถ้ารู้จักกิน รู้จักใช้ ไม่ล้างผลาญทำลายก็จะเป็น ขุมทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ยังชีพราษฎรชั่วกัปชั่วกัลป์ ไม่มีหมดสิ้น

กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสธรรมชาติอันสวยงามที่แท้จริงของเกาะภูเก็ตกลุ่มแรก เมื่อประมาณ 20 ปีเศษที่ผ่านมา เป็นพวกฝรั่งผมยาว สะพายเป้ สกปรกมอมแมม กินง่ายนอนง่าย มีทั้งหญิงและชาย ต่างเรียกขานกันว่า "ฮิปปี้"

นักท่องเที่ยว "ฮิปปี้" เหล่านี้ กล่าวกันว่า มีพฤติกรรมชอบพเนจร หาสิ่งใหม่ ๆ เรียบง่ายเท่านั้นไม่ได้ เข้ามาสร้างสรรค์หรือทำให้เศรษฐ กิจโดยรวมของท้องถิ่นดีขึ้นมากนัก พวกนี้ใช้จ่ายกันอย่างประหยัดแม้ว่าระยะเวลาการมาอยู่พักแรมยาวนานถึงเดือน หรือสองเดือนก็ตามกางเต็นท์หรือเช่าเพิงพักชาวประมง ตามชายหาดฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต บริเวณหาดป่าตอง หาดกะรน กะตะ และหาดในหานเป็นที่หลบแดดหลบฝนหลับนอนพักพิง

จากการนำร่องเดินทางมาท่องเที่ยวของ "ฮิปปี้" กลุ่มนี้ ทำ ให้ชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่ตามหาด ต่าง ๆ เหล่านั้น ทั้งที่เป็นทิวสน ดงมะพร้าว มีอาชีพเป็นชาวประมง หรือทำเกษตร ต่างได้ความคิดใหม่ ทำการสร้างเพิงพัก กระต๊อบเล็ก กระท่อมน้อยขึ้นมารองรับ พร้อมร้านอาหาร เครื่องดื่มชนิดง่าย ๆ มี ขนมปัง ไข่ดาว ไส้กรอก กาแฟ ไก่ย่างไก่ทอด และผลไม้เป็นอาหารหลัก

ชาวบ้านเริ่มมีรายได้จากการลงทุนส่วนนี้ เป็นการเริ่มต้นของการทำธุรกิจรับนักท่องเที่ยว ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษามือใบ้ แสดงท่าทาง วัยรุ่นเริ่มเข้ามาคลุกคลีสนิท สนมขึ้น หัดพูดภาษา นานวันเข้าใจกัน ส่งสื่อถึงกันได้

แต่ไม่นานนัก กลุ่มพวก "ฮิปปี้" ก็ถูกผลักดันออกไปด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่อีกระดับ หนึ่ง โดยการส่งเสริมของภาครัฐ ที่ต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นตัวสร้างรายได้ให้ กับประเทศในภูมิภาคต่างๆ

องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ท. รัฐวิสาหกิจตัวใหม่จึงเกิดขึ้น โดย พล.ท.เฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นผู้อำนวยการบุกเบิกคนแรก และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" หรือท.ท.ท. ในปัจจุบันรับผิดชอบงานส่วนนี้

เมื่อมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นรับผิดชอบโดยตรง งานอันดับแรกคือ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ตาม สื่อต่างๆ ทั่วโลก ควานหาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติสวยๆ งามๆ และดินแดนประวัติศาสตร์นำไปโฆษณาทางภาคใต้ก็ไม่พ้นจังหวัดภูเก็ตที่มีธรรมชาติสวยงาม

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้จัด สรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการบินพาณิชย์ ทำการขยายสนามบินตามภูมิภาคต่าง ๆ ให้การท่าอากาศยาน แห่งประเทศไทยดูแลรับผิดชอบบริหาร ในเวลาต่อมาสนามบินภูเก็ต เป็นสนามบินหนึ่งที่ได้รับการขยายพัฒนาจนเป็นสนามบินนานาชาติที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่ง ของภูมิภาค

ภาคเอกชนบางส่วนก็ได้รับ การชักชวน ส่งเสริมจากภาครัฐ แต่ ก็มีบางส่วนที่ล่วงหน้าดำเนินการไป ก่อนเพราะเห็นอนาคต

ตอนนี้เองที่ทำให้ที่ดินตาม ชายหาด ชายทะเล แม้กระทั่งบนเขา สูงชัน ที่เคยไร้ค่าในอดีตแค่ไร่ละ 500-1,000 บาทยังไม่มีใครเหลียวแล ชั่วแค่ 23 ขวบปี พุ่งขึ้นเป็นไร่ละ 100,000 บาทถึง 1,000,000 บาท สำหรับทำเลดี ๆ ใกล้ชายหาด

โรงแรมป่าตองรีสอร์ท อาคารพาณิชย์ ป่าคอนกรีตต่างผุด ขึ้นเป็นดอกเห็ด ทดแทนทิวสน และ ดงมะพร้าว ธรรมชาติที่สวยงามบาง ส่วนเริ่มถูกมนุษย์ทำให้วิปริตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง บ้างเดินทางมาเป็นคู่ เป็น ครอบครัว แม้กระทั่งเป็นกรุ๊ปใหญ่ๆ นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่นี้แหละที่ปลุกเศรษฐกิจเกาะภูเก็ตให้คืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง หลังอวสาน แร่ดีบุก

ท่องเที่ยวเบ่งบาน

สิ่งแวดล้อมกลับอับเฉา

การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต มีอัตราการเติบโตสูงมากจากจำนวนไมกี่หมื่นคนในปี 2520 เพิ่มมาเป็น 6.96 แสนคนต่อปี และมาถึงปัจจุบัน ปี 2542 ช่วงระยะห่างกันแค่ 12 ปี สถิติการรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนอยู่ที่ 2.66 ล้านคนในปีนี้

สำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตนั้น ใน 1 ปีถูกแบ่งออก เป็น 2 ระยะคือ ช่วงโลว์ซีซั่น หมาย ถึงหน้ามรสุม หรือหน้าฝน นักท่อง เที่ยวยุโรปซึ่งมีกำลังซื้อสูงเข้ามาน้อย แต่ช่วงไฮซีซั่นเมื่อหมดหน้ามรสุมทางยุโรปเริ่มหนาวนักท่องเที่ยวในแถบนั้นต่างหนีหนาวเข้ามา พักผ่อนอาบแดดกัน เป็นช่วงที่การ เงินสะพัดมากที่สุด

เมื่อสภาพฤดูการท่องเที่ยวเป็นลักษณะนี้ ทุนรอนที่ทุ่มเท ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารโรงแรมอุปกรณ์ส่วนประกอบต่าง ๆ ตลอด จนกำลังแรงงานบุคลากรที่หลั่งไหลเข้ามาทำงาน ก่อให้เกิดภาวะการว่างงานในช่วงโลว์ฯ ดังนั้นต้อง ทำให้การท่องเที่ยวคึกคักทั้งปี

ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่อง เที่ยว และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดหนัก ใจ ต่างหาวิธีการแก้ไข ทางออกที่พบและทำได้คิดว่าดีที่สุดขณะนี้คือ การแสวงหาตลาดใหม่เข้ามาในช่วงโลว์รวมทั้งการจัดกิจกรรมเสริมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ชักชวนคนไทยด้วยกันจากภูมิภาคต่างๆ ให้เข้าไปเที่ยวโดยจัดแพ็กเกจ ทัวร์ และหาตลาดการประชุมทั้งใน และนอกประเทศ

ผลปรากฏว่าแผนดังกล่าว ได้ผลพอประมาณ ได้ตลาดนักท่อง เที่ยวจากเอเชียเข้ามาเสริมในช่วงโลว์แทนชาวยุโรปได้บางส่วน แต่กำลังซื้อน้อยกว่า ส่วนตลาดการประชุมนั้นยังไม่ดีเท่าที่ควรโดยเฉพาะจากต่างประเทศ สรุปแล้วแผนนี้พอจะมองเห็นอนาคตบ้าง แต่ยังไม่แจ่มใสเท่าที่ควร

ขณะเดียวกันทางด้านการ วางแผนรองรับความเจริญเติบโตทางธุรกิจท่องเที่ยวกลับถูกมองข้าม ต่างก็มุ่งหวังแต่จะกอบโกยผลประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่ได้มองภาพ รวมโดยเฉพาะภาคเอกชน ส่วนภาครัฐนั้นเมื่อวางนโยบายส่งเสริม ก็ส่งเสริมอย่างเดียว ไม่มีแผนอื่นหรือมีก็แค่เช้าชามเย็นชาม กับรอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเหตุเกิด

จังหวัดภูเก็ตในปัจจุบันจึง โตผิดสัดส่วนไม่สมประกอบ ป่าคอนกรีตผุดขึ้นระเกะระกะ บ้าง ก็ไปกระจุกอยู่ตามริมหาด ถนนคับแคบ น้ำเสียน้ำเน่าและขยะมูลฝอยถูกถ่ายเทและทิ้งลงชายหาด ในทะเล น้ำจืดอดีตที่ว่าสมบูรณ์กลับไม่พอบริโภค สิ่งแวดล้อมเริ่มเสียหาย

นี่....เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ทุกฝ่ายกำลังคิดแก้ไขทั้งเป็นเรื่อง ใหญ่ที่ค่อนข้างจะแก้ยากเข้าลักษณะ"วัวหายแล้วจึงคิดจะล้อมคอก" เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แก้เฉพาะหน้า ไม่ได้เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมได้แก่ การทำบ่อบำบัดน้ำเสีย การทำคูคลองระบายน้ำ แม้กระทั่งแหล่งกำจัดขยะมูลฝอยกว่า 300 ตันต่อวัน ในปัจจุบันเตาเผาขยะที่ว่าทันสมัยที่สุดในประเทศ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะรองรับได้กับแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี และอาจถึง 500 ตันต่อวันในปี 2545

ธุรกิจใหญ่พลิกบทบาท

จะอย่างไรก็ตาม กลุ่มนักลงทุนที่ฉกฉวยโอกาสทองทางด้าน ธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ตกลับ เป็นนักธุรกิจต่างถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เริ่มต้นด้วยการกว้านซื้อที่ดินจาก ชาวบ้านในบริเวณทำเลท่องเที่ยวมา ปั่นราคาเก็งกำไรกลุ่มหนึ่งกับกลุ่ม ผู้ประกอบการตัวจริง ที่มาดูโลเก ชั่น และกว้านซื้อที่ดินแต่กลุ่มหลัง มักจะเสียเปรียบอยู่ดี เพราะทำเลดีๆ ตกอยู่ในมือของพวกนายหน้า ที่ดินปั่นราคากันมาแล้ว

แม้กระนั้นก็ตาม ทางด้าน อดีตเศรษฐีเหมืองแร่ดีบุก และนายหัวสวนยางชาวภูเก็ตดั้งเดิมบางตระกูลก็ลังเล และศึกษาลู่ ทางอยู่นานพอสมควร ซึ่งเป็นคุณสมบัติของคนภูเก็ตอย่างหนึ่ง ในการตัดสินใจทำธุรกิจของชาวภูเก็ตกลุ่มนี้นั้น ต้องยกให้"ติลก ถาวรว่องวงศ์" ที่คนภูเก็ตเรียกกันว่า"นายหัวเต็กหลิม" ประธานบริษัทในเครือ "ติลกกรุ๊ป" ทั้งหมด

โดยการนำร่องด้วยการตั้งโรงแรมถาวร ที่ถนนรัษฎาเมื่อปี 2506 ควบไปกับการทำเหมืองแร่ ขณะนั้นจัดว่าเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของจังหวัดเป็นอาคาร 3 ชั้น และ อีกประมาณ 5 ปีต่อมาจึงได้ขึ้น โครงการหมู่บ้านนิมิตร และติลก ไทม์สแควร์ พร้อมกับโรงแรม พี.เอส. อินน์ ให้ฝ่ายภรรยาดูแล จนกระทั่งยุคต้นท่องเที่ยวบูม จึงได้ขึ้นโรงแรมระดับห้าดาวที่หาดกะรน และอ่าวนาคาเล กับในเมือง อีก 3 โรงแรมตามลำดับ จนถึงปัจจุบันได้แตกไลน์ธุรกิจไปอีกหลากหลาย ให้ทายาททั้งหญิงชายแยกย้ายกันดูแลบริหาร ทั้งหมดใช้ที่ดินที่ผ่านการทำ เหมืองแร่ และเงินทุนของตนเอง

จากนั้นก็ตามด้วยตระกูล "ณ ระนอง" ที่ได้ขึ้นโครงการศูนย์ การค้าเพิร์ลที่ถนนมนตรีเมื่อปี 2519 มีโรงแรมเพิร์ล 12 ชั้น โบว์ลิ่ง และภาพยนตร์ อยู่ภายใต้การบริหาร ของ "วิจิตร ณ ระนอง" ที่ได้ศึกษา ด้านธุรกิจการท่องเที่ยวมาโดยเฉพาะ ทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคม ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเมื่อปี 2521 เป็นนายกสมาคมคนแรก และผูกขาดตำแหน่งมายาวนานถึง 15 ปี จึงต้องสละตำแหน่ง นอกจาก นั้นยังมีตำแหน่ง ในวงการท่องเที่ยว อีกหลายตำแหน่ง เช่น ประธาน สมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย อดีตนายกสมาคมโรงแรมไทย กรรมการบริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น

นับว่า "วิจิตร" ได้พัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวของภูเก็ตตั้งแต่ ยุคเริ่มต้นมามากทีเดียวในช่วงที่นั่ง เก้าอี้นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ภูเก็ต และได้ขึ้นโรงแรมเพิร์ลวิลเลจ เป็นโรงแรมห้าดาว ที่บริเวณหาดในยาง บริหารงานเองเช่นเดียวกัน มีบริษัทโฮ่ยเซี้ยง จำกัด อันเป็นบริษัทดั้งเดิมที่ดูแลกิจการเหมืองแร่ ล่าสุดก็ได้เข้าร่วมทุนกับกลุ่มการบินไทย ทำครัวการบินป้อนอาหารให้สายการบินต่าง ๆ ที่บินมาภูเก็ต

อีกตระกูลหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงเพราะมีบทบาทในการพัฒนาเมืองภูเก็ตมามาก คือตระกูล "หงษ์หยก" มีบริษัทอนุภาษและบุตร จำกัดเป็นบริษัทแม่คอยดูแลควบ คุมธุรกิจในเครือข่ายอีกหลายบริษัท ที่อยู่ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นที่ 3 เช่น ธุรกิจบริการค้าน้ำมัน ธุรกิจบ้านจัดสรร บนที่ดินที่ผ่านการ ทำเหมืองแร่ของตนเอง ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ โรงแรมขนาดกลาง

ที่สำคัญที่สุดของตระกูลนี้คือการตัดสินใจสร้างสนามกอล์ฟ มาตรฐาน "ภูเก็ต คันทรี คลับ" บน ที่ดินเหมืองร้าง (ที่ดินที่ผ่านการทำเหมืองแร่มาแล้ว) กว่า 1,000 ไร่ ของบริษัทอนุภาษฯ ที่บ้านทุ่งทอง อ.กะทู้ เมื่อปี 2532 ด้วยความคิดของ "ร.ท.ภูมิศักดิ์ หงษ์หยก" ทั้งยังบริหารงานเอง

สำหรับตระกูลหงษ์หยกนี้ต้องเปิดปูมหลังกันสักเล็กน้อย ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งพรรคมนังคศิลา เปิดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งนางแร่ม พรหมโมบล บุณยประสพ ลงสมัคร ส.ส. ภูเก็ต ตระกูลหงษ์หยกให้การสนับสนุนเต็มตัว จนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หญิงคนแรกของภูเก็ตถึง 2 สมัย นอกจากนั้นทายาทรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ก็ยังเป็นนักการเมืองท้องถิ่นอยู่ในปัจจุบันทั้ง ส.จ. และ ส.ท. โดยเฉพาะ "ภูมิศักดิ์" หรือที่ชาวบ้านเรียก "โอวหมี่" มีตำแหน่งสูงสุดเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองภูเก็ต

ในจำนวนตระกูลเศรษฐีเก่าตระกูลเดียว หรือจะเรียกว่า "เศรษฐีสงคราม"ก็ไม่น่าจะผิดนักเพราะร่ำรวยจากธุรกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คือตระกูล "วานิช"ไม่ยอมตามกระแสสร้างโรงแรมอย่างตระกูลอื่น ยังคงยึดติดกับเกษตรกรรม ทำสวนปาล์ม และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่จังหวัดกระบี่เป็นหลัก ส่วนที่ จังหวัดภูเก็ตนั้นมีพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์โครงการวานิชพลาซ่า ที่ตั้งเป้าไว้สูงกลับไม่สำเร็จเท่าที่ควร กับ วานิช เบย์ฟร้อน บ้านพักตากอากาศ บนเชิงเขาอ่าวขาม

ตระกูลวานิชนี้มีความผูกพันกับนักการเมืองมาโดยตลอด ในยุคต้นตระกูลคือ "เจียร วานิช" เป็นเพื่อนสนิทกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพล.อ.ประภาส จารุ เสถียร จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการใหญ่ควบคุมดูแลธนาคาร กรุงเทพ สาขาภูเก็ต และเขตที่พล.อ.ประภาสมีอำนาจอยู่จนสิ้นอายุขัย ตกมาถึงรุ่นที่ 2 "เอกพจน์ วานิช" ผู้เป็นลูกชายก็ให้การสนับ สนุนพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลังโดยตลอดจนกระทั่งบั้นปลาย ของชีวิต ก็พยายามปลุกปั้นลูกสาว คือ อัญชลี วานิช ให้เป็นนักการเมือง แต่ผิดหวังในการเลือกตั้งปี 2531 จนกระทั่งในสมัยถัดมาปี 2535 ลงสมัครอีกครั้งในนามพรรค ประชาธิปัตย์ และได้เป็น ส.ส. หญิง คนที่ 2 ของภูเก็ต แต่ "เอกพจน์" ก็วายชนม์เสียก่อนจะได้เห็นความ สำเร็จของลูกสาว

สำหรับตระกูลอื่น อาทิ งานทวี ตันติวิท อุปัติศฤงค์ ตัณฑวนิช เอกวานิช โกยสมบูรณ์ ฯลฯ แม้จะโดดเด่นในธุรกิจท่อง เที่ยวเหมือนกัน โดยมีทั้งโรงแรม ภัตตาคาร สนามกอล์ฟ ไม่น้อยหน้าใคร แต่ก็เป็นการตามรอยมาภายหลังมีทั้งลงทุนในที่ดินเองและ ร่วมลงทุนกับนักลงทุนต่างถิ่น

อนาคตภูเก็ตที่ทุกคนอยากรู้

ในปัจจุบันภูเก็ตกำลังเฟื่องด้วยธุรกิจท่องเที่ยว ทุกชีวิตที่ผูกพันอยู่กับธุรกิจนี้ ต่างกำลังสนุกกับงาน กับเงินตราไหลมาเทมา ทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม แม้ จะถูกทำลายไปมากแล้ว แต่ก็ยังมี เค้าโครงและตำนานเหลือให้เห็นและเล่าสู่กันฟัง พอใช้ทำมาหากินกันได้ต่อไป

หลายส่วนของประเทศ แม้ กระทั่งในกรุงเทพฯกำลังได้รับความเดือดร้อนเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ สถาบันการเงินตลอดจนธุรกิจหลายสาขาอาชีพประสบชะตา กรรมล่มสลาย คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องไร้งาน รัฐบาลต้องกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศ จนคนไทย ทุกคนไม่เว้นแม้กระทั่งคนภูเก็ตและเด็กแรกเกิด ถัวเฉลี่ยหนี้หัวละ 5 หมื่นบาท

ต่างอิจฉาภาพพจน์เมืองภูเก็ต ไข่มุกอันดามัน ที่มีขุมทรัพย์ ทางการท่องเที่ยวให้ทำมาหากิน

จากภาพพจน์ที่เห็นก็น่าจะ เป็นอย่างนั้น ยิ่งค่าเงินบาทอ่อนตัว ในสายตาของชาวยุโรปเห็นว่าสินค้า ค่าใช้จ่ายถูกเมื่อเทียบค่าเงินของเขา ต่างก็อยากฉวยโอกาสมาเที่ยวจับจ่ายใช้สอย ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ

ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางด้านท่องเที่ยว เกิดความไม่สงบภายในประเทศ มี ปัญหาทางการเมืองแตกความสามัคคี นักท่องเที่ยวต่างเบนเป้าหมายเข้าไทยกันมาก และภูเก็ตเป็นหนึ่งปลายทาง

แต่ที่น่าเป็นห่วงก็ผู้ประ กอบการด้วยกันเองนั่นแหละ จะเป็นต้นเหตุให้ธุรกิจท่องเที่ยวพัง นักท่องเที่ยวพากันเข็ดขยาดด้วยกรณีการฉวยโอกาสปรับค่าโรงแรม ค่าใช้จ่ายเป็นเงินดอลลาร์แทนเงินบาทไทย

ต่างก็ขอความร่วมมือซึ่งกันและกัน อย่าให้มีกรณีนี้เกิดขึ้น

ทรัพยากรธรรมชาติของภูเก็ตที่ได้มีการทำนายกันว่า สามารถจะตักตวงหาผลประโยชน์เลี้ยงชีพได้ชั่วนิรันดรนั้น มีลางบอก เหตุว่าจะไม่เป็นดังคำทำนายนั้นเสียแล้ว ทั้งนี้จากความเป็นจริง และ เห็นกันได้ชัดเจนขณะนี้ทรัพยากร ดังกล่าวร่อยหรอลงทุกขณะด้วยการกระทำ

เป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กอบโกยกันผิดวิธี ใช้กันอย่าง สิ้นเปลือง โดยขาดการวางแผนล่วงหน้าที่รอบคอบรัดกุม เป็นการ ฆ่าและทำลายทรัพยากรเหล่านั้นอย่างโหดร้ายอีกด้วย

แค่บนฝั่งจนถึงชายหาด ยัง ทำลายกันไม่พอ มีการดิ้นรนขวนขวายลงไปทำลายกันจนถึงใต้ท้องทะเลที่แสนบริสุทธิ์ ปลาสวยงามจำนวนมากถูกจับขึ้นมา เพื่อเอาไปขายเลี้ยงเป็นปลาตู้ มันผิดธรรมชาติในที่สุด มันก็ต้องตาย ปะการัง กัลปังหา ดอกไม้ ใต้ทะเล และอีกมากมาย ถูกเก็บมาดัดแปลงเป็นเครื่องประดับ

นั่นเป็นตัวอย่างเศษเสี้ยวหนึ่งที่เป็นทรัพยากรใต้ทะเล ส่วนบนฝั่งนั้นธรรมชาติมหาศาลถูกทำลายดัดแปลงให้ เป็นอย่างอื่นทดแทน เช่น ป่าคอนกรีตงอกเงยขึ้นมาแทนทิวสน ดงมะพร้าว หญ้า และผักบุ้งทะเลดอกสีม่วง เป็นต้น

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เป็นภัย อันมหันต์ที่ต่างก็ทราบกันดี แต่ก็ยังฝ่าฝืน

ปัญหาที่กำลังเกิด และเป็นลาง บอกเหตุถึงหายนะในอนาคตเหล่านั้น ใช่ ว่าจะไม่มีใครคิดใครรู้ มีการเสาะหาแนว ทางแก้ไขเพื่อเตรียมรับความซบเซา และ จุดจบของการท่องเที่ยว ยังไม่รู้ว่าอีกนาน เท่าใด

ที่ถกกันผ่านไปแล้ว และถกกันอยู่อีกขณะนี้ คือการเตรียมโครงการอุตสาหกรรมขนาดย่อมไว้รองรับ และต้องไม่เป็นอุตสาหกรรมที่เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เล็งกันว่าน่าจะเป็นอุตสาหกรรมอเลกทรอนิกส์เพราะภูเก็ต มีท่าเรือสะดวกทั้งการนำวัตถุดิบเข้า และ ส่งผลิตภัณฑ์ออก

แต่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ทั้งทำเลที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งมีที่ดินของการรถไฟที่สามารถเชื่อมต่อมาจากคีรีรัฐนิคม สุราษฎร์ธานีไม่ไกลนัก

อีกแนวทางหนึ่งมองว่า ภูเก็ต น่าจะเป็นตลาด ตลาดที่จำหน่ายสินค้าได้ ทุกชนิด รวมทั้งเป็นตลาดกลางที่จำหน่าย ผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตร และต้อง เป็นผลิตภัณฑ์ที่นักท่องเที่ยวต้องการ รวมทั้งพืชเศรษฐกิจ โดยพังงา กระบี่ ต้องเป็นเมืองเกษตรกรรมทำการผลิตป้อนให้

และที่ยังถกกันไม่รู้จบ คือการให้ ภูเก็ตเป็นศูนย์การประชุมนานาชาติ ที่อยู่ ระหว่างการศึกษาแผน และความเป็นไป ได้ มีแนวโน้มว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ด้วยเหตุผลที่สำคัญ คือการคมนาคมสะดวกทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ก็สะดวกพร้อมและสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล ภูมิประเทศและอากาศก็เหมาะสมที่จะให้นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์ได้พักผ่อนเหมาะที่จะตั้งเป็นออฟฟิศ สำนักงาน ห้องแล็บ สำหรับผู้บริหาร และสั่งงานติดต่อสื่อสาร เข้าโรงงานอุตสาหกรรมได้ทั่วโลก

ตอนนี้อยู่ที่ทำเลว่าจะอยู่ที่จุดใด จะเหมาะสม ได้เล็งไว้ที่หาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง ซึ่งเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ สาธารณะที่ยังมีปัญหา กับผู้ดูแลที่ดิน คือ อ.บ.ต. เชิงทะเล ที่ยังหวงแหนที่ดินแปลง นี้อยู่

โครงการดังกล่าวมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ก่อนจะถึงวันนั้น สถานการณ์ต่าง ๆ คงจะเปลี่ยนไป และต้องมีอีกหลากหลายแนวทางมาให้ขบคิดกัน สุดแท้แต่ใครจะตัดสินใจนำร่องไปก่อน ถ้าถูกทางก็ประสบความสำเร็จ แต่หากผิดทางก็ต้องเหนื่อยตั้งหลักใหม่

ตัวอย่างมีให้เห็นมาตลอด เป็นเศรษฐีด้วยแร่ดีบุก ล้มละลายกับแร่ ดีบุกก็มีไม่น้อย เป็นเสี่ยสวนยางก็หลาย ราย ล่มจมกับสวนยางก็มี และที่ล่ำซำกับการท่องเที่ยวก็เยอะ ที่เหลือแต่ตัวเพราะธุรกิจท่องเที่ยวก็มีให้เห็น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us