ในสถานการณ์ที่อธิปไตยของประเทศคูเวตยังมีความไม่แน่นอนจากการที่ประเทศถูกยึดครองโดยกองกำลังของอิรัก
คูเวตออยล์ยังคงเดินหน้าต่อไปในธุรกิจน้ำมันของตน
ไมเคิล อาร์ เบน ผู้อำนวยการบริษัท คูเวตออยล์ (ประเทศไทย) ยืนยันว่าเรื่องของสถานการณ์
ในคูเวตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย แต่เรื่องของธุรกิจนั้นก็เป็นสิ่งที่หยุดไม่ได้เช่นกัน
"สองเดือนที่แล้วผมกลับไปที่สำนักงานใหญ่ที่ลอนดอน พนักงานที่เป็นคนไทยที่นี่ถามผมว่าผมตีตั๋วเครื่องบินเที่ยวกลับไว้ด้วยหรือเปล่า"
เบนพูดถึงแง่มุมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในความรู้สึกต่อสถานะของคูเวตออยล์หลังอิรักบุกคูเวตไม่นาน
ไมเคิล เบน เป็นคนอังกฤษ เขาเริ่มงานด้านธุรกิจน้ำมันกับบริษัท เชลล์ เคมาคอล
ยูเค เป็นเวลา 12 ปี ก่อนที่จะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของบริษัท
กัลฟ์ ออยล์ ในปี 2520
หลังจากนั้นในปี 2526 เขาเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ คูเวต
ปิโตรเลียม อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น ซึ่งเป็นบริษัทขายน้ำมันให้กับสายการบินในเครือคูเวต
ออยล์ อีกห้าปีถัดมาเขาเริ่มงานใหม่กับบริษัทในเครืออีกแห่งหนึ่งของคูเวต
ปิโตรเลียม อินเตอร์เนชั่นแนล ในฐานะผู้อำนวยการด้าน PUBLIC AFFAIRS
คูเวตออยล์คือองค์กรที่ทำธุรกิจน้ำมันของรัฐบาลคูเวต ตามแนวนโยบายที่จะรักษาความมั่งคั่งจากทรัพยากรน้ำมันให้ตกอยู่กับตัวเองมากที่สุด
แทนที่จะปล่อยให้บริษัทน้ำมันตะวันตกเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ไปแต่เพียงฝ่ายเดียว
ปี 2523 รัฐบาลคูเวตตั้งบริษัท คูเวต ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่นหรือเคพีซีขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการด้านน้ำมันนับตั้งแต่การซื้อน้ำมันดิบจากรัฐบาล
คูเวตในราคาตลาดโลก ทำหน้าที่เป็นผู้กลั่น ขนส่ง ขายน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์ที่กลั่นแล้ว
อีกสามปีต่อมา เคพีซี ก็ซื้อกิจการน้ำมันในยุโรปของกัลฟ์ ออยล์ คอร์ปอเรชั่นแห่งสหรัฐอเมริกา
ตามแผนการขยายธุรกิจน้ำมันจากการเป็นเพียงผู้ผลิตและขายน้ำมันดิบ เข้าไปสู่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันสำเร็จรูป
โรงกลั่นน้ำมันสามแห่งและสถานีบริการน้ำมันของกัลฟ์ออยล์ในยุโรปที่คูเวตออยล์
ซื้อมาด้วยเงินราว 600 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงรองรับแผนการดำเนินธุรกิจค้าน้ำมันแบบครบวงจรได้อย่างเหมาะเจาะ
คูเวตออยล์ตั้งบริษัท คูเวต ปิโตรเลี่ยม อินเตอร์เนชั่นแนล หรือเคพีไอ สำหรับทำธุรกิจปั๊มน้ำมันพร้อม
ๆ กับสร้างยี่ห้อของตนขึ้นมาว่า "Q8"
"อ่านว่า คิวเอ็ดนะครับ ไม่ใช่ คิวแปด" เบนย้ำถึงชื่อที่ถูกต้องของ
8 ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะใช้ชื่อนี้เพื่อให้มีนัยไปถึงชื่อคูเวตด้วย
โรงกลั่นทั้งสามแห่งในเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และอิตาลี สามารถกลั่นน้ำมันรวมกันได้วันละ
230,000 บาร์เรล เมื่อบวกกับประสิทธิภาพของโรงกลั่นภายในประเทศ คูเวตออยล์กลั่นน้ำมันได้มากกว่าวันละ
700,000 บาร์เรล และปั๊มน้ำมัน 8 ในยุโรป 9 ประเทศ มีอยู่ 6,500 แห่ง
ส่วนแบ่งตลาดน้ำมันของ Q8 ในยุโรปนั้นมีตั้งแต่ 2.5% ในอังกฤษ 11% ในอิตาลีและสูงสุด
23% ในเดนมาร์ก
ปลายปี 2532 คูเวตออยล์ ตัดสินใจเปิดตลาดน้ำมันนอกทวีปยุโรปเป็นครั้งแรก
ด้วยการขยายการลงทุนมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกโดยมีประเทศไทยเป็นหัวหาด
การตัดสินใจขยายการลงทุนไปต่างประเทศของคูเวตออยล์นั้น แม้ว่าจะอยู่บนเหตุผลทางธุรกิจเป็นสำคัญ
แต่ในวันนี้ที่แผ่นดินถิ่นเกิดถูกรุกราน การตัดสินใจเช่นนี้รวมทั้งการตั้งสำนักงานใหญ่ที่ลอนดอน
ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจน้ำมันของโลกตั้งแต่ปี 2526 นับว่าเป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่สุด
ที่มีผลทำให้คูเวตออยล์ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้
"เป็นการกระจายความเสี่ยงซึ่งเราก็ไม่ได้คาดคิดเอาไว้แต่แรกเหมือนกัน
เป็นบทเรียนที่สำคัญของเราจากการถูกบุกครั้งนี้" เบนกล่าว
ผู้บริหารระดับสูงของคูเวตออยล์ ซึ่งมีอยู่เก้าคน สามารถหลบหนีออกจากคูเวตได้อย่างปลอดภัย
และขณะนี้ทุกคนอยู่ที่ลอนดอน
แต่สงครามก็คือสงครามที่ต้องสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น โดยไม่เลือกว่าใครเต็มใจจะเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นกับคูเวตออยล์คือแหล่งน้ำมันดิบภายในประเทศและโรงกลั่นถูกทหารอิรักยึดครอง
โชคดียังเป็นของคูเวตออยล์อยู่เล็กน้อย ก่อนหน้าที่อิรักจะบุกไม่กี่วัน เรือบรรทุกน้ำมันส่วนใหญ่ได้เดินทางออกจากคูเวตพร้อมกับน้ำมันเต็มอัตราบรรทุก
คูเวตออยล์ มีบริษัทเรือบรรทุกน้ำมันชื่อ คูเวตออยล์ แทงค์เกอร์ คอร์ปอเรชั่น
ซึ่งเป็นเจ้าของเรือบรรทุกน้ำมัน 30 ลำ ตั้งแต่ขนาด 25,000 ตันไปจนถึงเรือบรรทุกน้ำมันสำเร็จรูป
และเรือบรรทุกน้ำมันดิบขนาดน้ำหนักก่อนบรรทุกถึง 250,000 ตัน
แต่น้ำมันที่ไปกับเรือใช้ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น คูเวต ออยล์ ต้องหาแหล่งน้ำมันดิบอื่น
ซึ่งในขณะนี้ได้ตกลงที่จะซื้อน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียได้แล้ว
"เราคงต้องลงทุนในเรื่องการสำรวจน้ำมันนอกประเทศมากขึ้น จากเดิมที่เคยเน้นแต่การสำรวจในประเทศ"
เบนพูดถึงผลกระทบอีกประการหนึ่งจากการที่ต้องสูญเสียแหล่งน้ำมันดิบอันมหาศาลภายในประเทศไป
เมื่อต้องเปลี่ยนฐานะจากผู้ขายน้ำมันดิบมาเป็นผู้ซื้อน้ำมันดิบบ้าง เงินในกระเป๋าที่เคยควักง่ายจ่ายคล่องนับจากนี้ไป
ก็ต้องคิดกันอย่างละเอียดรอบคอบว่าสมควรจะจ่ายในเรื่องใดบ้าง เพราะต้องกันไว้จ่ายค่าน้ำมันดิบด้วย
สองสามวันหลังจากที่อิรักบุกคูเวต รัฐบาลสหรัฐฯ และอังกฤษ ได้สั่งอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลและเอกชนคูเวตที่ไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเทของอิรัก
คูเวตออยล์ก็อยู่ในข่ายที่โดนอายัดทรัพย์สินด้วย แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ได้มีการเจรจากับธนาคารกลางของสหรัฐฯ
และอังกฤษให้ยกเลิกการอายัด เพราะคูเวตออยล์เป็นกิจการของรัฐบาลคูเวตซึ่งยังคงได้รับการรับรองจากนานาชาติอยู่
"ฐานะการเงินของเราในตอนนี้นับว่ามั่นคงมาก เรามีเงินสดหมุนเวียนและเงินฝากในธนาคารอยู่
400 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว เราต้องบริหาร CASH FLOW
อย่างระมัดระวังมากขึ้น" เบนกล่าว
แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว คูเวตออยล์ยังคงยืนยันในนโยบายที่จะเข้ามาปักหลักเหมือนเดิม
คูเวตออยล์ได้ร่วมกับคนไทยชื่อ โอเวอร์วี เทคโนโลยี ซัพพลาย ตั้งบริษัท คูเวตออยล์
ประเทศไทยขึ้นเมื่อต้นปีนี้ เพื่อดำเนินกิจการปั๊มน้ำมัน Q8 ในประเทศไทยโดยเปิดบริการเป็นแห่งแรกแล้วที่กิโลเมตร
8 ถนนรามอินทรา และภายในสิ้นปีนี้จะเปิดให้ได้ 5-6 ปั๊ม ในวงเงินลงทุน 10
ล้านเหรียญสหรัฐ
โครงการลงทุนต่อมาคือความตั้งใจที่จะลงทุนในโครงการวางท่อขนส่งน้ำมันจากศรีราชาไปสระบุรี
ร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยคูเวตออยล์จะลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท
สุดท้ายคือ ลงทุนในโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการตั้งโรงกลั่นน้ำมันและวางท่อน้ำมันในโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลหรือซีบอร์ดที่ภาคใต้
ซึ่งขณะนี้สำนักงานใหญ่คูเวตออยล์ลอนดอนกำลังคัดเลือกที่ปรึกษานานาชาติ ที่เสนอตัวเข้ามาทำการศึกษา
และจะใช้เวลาทำการศึกษาประมาณหกเดือน
"ตอนนี้ยังไม่มีนโยบายที่แน่นอนว่า คูเวตออยล์จะลงทุนสร้างโรงกลั่นหรือไม่
แต่การว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้นั้นก็เป็นการสร้างความผูกพันในระดับหนึ่งแล้วว่า
Q8 เอาจริงเอาจังกับการลงทุนในเมืองไทย" เบนพูดเอาไว้อย่างนี้เพื่อตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า
เรื่องของสงครามใครจะรบก็รบกันไป สำหรับ Q8 แล้วขอก้มหน้าก้มตาทำมาหากินในเมืองไทยต่อไป