Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2533
หลังซื้อหุ้นจากปาล์มโก้ อนุตร์จะสร้าง "มรกต" ต่อไปอย่างไร?             
 


   
search resources

อนุตร์ อัศวานนท์
Food and Beverage
มรกต อินดัสตรี้ส์.,บมจ
ปาล์มโก้ โฮลดิ้ง




5 ปีกับการฟันฝ่าอุปสรรคและเกมการต่อสุ้ในตลาดน้ำมันพืช จนกระทั่งชื่อของ "มรกต" ในปัจจุบันก้าวขึ้นมามีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 4 ในตลาดน้ำมันพืชทั้งหมด และเป็นอันดับหนึ่ง ในตลาดน้ำมันพืชที่ทำจากผลปาล์ม...เกมการต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไปและยิ่งนับวันยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น แนวรุกต่อไปของ "มรกตฯ ไม่เพียงแต่การซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างปาล์มโก้ในมาเล-เซียเท่านั้น การแต่งตัวเพื่อเตรียมเข้าเป็นบริษัทมหาชนในปลายปีนี้ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของการขยายธุรกิจ

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาบริษัท ปาล์มโก้ โฮลดิ้ง ในมาเลเซียได้ประกาศขายหุ้นของ บริษัท ปาล์มโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ฮ่องกง) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ และถือหุ้นกิจการในประเทศไทย 2 บริษัท คือ บริษัทไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด กับบริษัท ปาล์มโก้ ทักษิณ จำกัด โดยขายให้กับบริษัท ซินรู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในราคา 76,820,450 บาท หรือ ประมาณ 7.9 ล้านริงกิต และจากการขายหุ้นในบริษัททั้ง 2 นี้ทางปาล์มโก้ได้กำไรถึง 49 ล้านบาท หรือประมาณ 5 ล้านริงกิต

จำนวนหุ้นที่ปาล์มโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ฮ่องกง) ถืออยู่ในบริษัท ไทยเม็กซ์ฯ มีทั้งหมด 188,650 หุ้น หรือ 39.3% และถืออยู่ในบริษัทปาล์มโก้ ทักษิณ อีก 210,000 หุ้น หรือ 35% โดยการขายหุ้นครั้งนี้จะช่วยเพิ่มกำไรและทรัพย์สินของกลุ่มปาล์มโก้ขึ้นอีก 3.3 เซนต์ต่อหุ้น สำหรับปี งบการเงินที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2534 นี้

จากคำบอกเล่าของศุภลักษณ์ อัศวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการของบริษัท ไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ ถึงกลุ่มที่เข้าซื้อหุ้นของปาล์มโก้อินเตอร์ฯ ในครั้งนี้คือ กลุ่มของคนไทยซึ่งมีอนุตร์ อัศวานนท์เป็นแกนนำ และจากการเข้าซื้อหุ้นจำนวนมากของปาล์มโก้มานี่เอง ทำให้สัดส่วนหุ้น ของกลุ่มอัศวานนท์ ซึ่งเดิมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองรองจากปาล์มโก้ คือ 19.55% กลายมาเป็น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ฯ นี้แทน ประกอบกับการที่อนุตร์ อัศวานนท์ จะเกษียรณอายุจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของธนาคารทหารไทยในสิ้นปีนี้ ทำให้หลายคนคาดเดาว่าอนุตร์จะเข้ามาบริหารงานอย่างจริงจังให้กับน้ำมันพืชมรกตในฐานะนักอุตสาหกรรม

บริษัท ไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 16 ล้านบาท จากการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจไทยกับมาเลเซีย

ผู้ที่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ นี้ขึ้นมาคือยุทธ ชินสุภัคกุล ซึ่งเดิมทำธุรกิจน้ำมันปาล์มด้วยการสั่งน้ำมันปาล์มสำเร็จรูปจากผู้ผลิตหลายรายในมาเลเซียเข้ามาแยกเป็นน้ำมันสำหรับปรุงอาหารกับส่วนที่เป็นไขมัน ในนามของบริษัท เคซี อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2523

และจากแนวความคิดที่ว่าน่าจะตั้งโรงงานกลั่นขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรอย่างเช่นที่บริษัทใหญ่หลายบริษัททำกัน จึงได้มีการชักชวนนักธุรกิจอีกหลายรายเข้าร่วมด้วย

อนุตร์ อัศวานนท์ เป็นผู้หนึ่งที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมในฐานะนายธนาคาร ซึ่งยุทธสนิทสนมเป็นอย่างดีในฐานะลูกค้าที่ใช้บริการผ่านธนาคารทหารไทย อนุตร์เข้าถือหุ้นในไทยเม็กซ์ ช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัทมากเป็นอันดับสามรองจาก บริษัท เคซีอุตสาหกรรม และดาโต๊ะ โรเบิร์ต ดับบลิว. เค. ซาน ชาวมาเลเซีย

ซึ่งการเข้ามาถือหุ้นในไทยเม็กซ์ของดาโต๊ะ โรเบิร์ต ดับบลิว.เค.ชานนี่เองคือจุดเริ่มต้น ของการเข้ามาของกลุ่มปาล์มโก้ในประเทศไทย

จากคำบอกเล่า กลุ่มปาล์มโก้ เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในมาเลเซีย ผู้ที่เริ่มก่อตั้งกลุ่มปาล์มโก้ขึ้นมาคือ ชาน ยิต มิง ซึ่งเป็นพ่อของดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชาน โดยเริ่มจากธุรกิจน้ำมันมะพร้าว จนขยายมาเป็นน้ำมันปาล์มเมื่อ ชาน ยิต มิง เสียชีวิตในปี 2525 ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชานซึ่งเป็นลูกชายคนโตจึงขึ้นเป็นประธานกลุ่มปาล์มโก้แทน นอกจากธุรกิจที่ เกี่ยวกับน้ำมันปาล์มแล้วกลุ่มปาล์มโก้ยังมีธุรกิจอีกหลายแขนง อย่างเช่นธุรกิจทางด้านเรียลเอสเตท หรือการร่วมทุนกับบริษัท คาโอ ของญี่ปุ่นทำกิจการในมาเลเซียเป็นต้น ซึ่งปัจจุบันปาล์มโก้ก็เป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียด้วย

และการเข้าร่วมกับนักธุรกิจไทยก็เป็นแนวคิดของการขยายธุรกิจออกไปอีกด้านหนึ่งของกลุ่มปาล์มโก้ในขณะนั้น

การเข้ามาของกลุ่มปาล์มโก้ในเมืองไทยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับ ครอบครัวของอนุตร์ในฐานะญาติห่าง ๆ ที่ศุภลักษณ์ ลูกชายของอนุตร์อธิบายว่า "ป้าสะใภ้ของผมเป็นน้องสาวของแม่ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชาน" อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการทำธุรกิจร่วมกัน จากการที่อนุตร์แนะนำให้ยุทธซื้อน้ำมันปาล์มจากลุ่มปาล์มโก้ จนในที่สุดก็ได้ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท ไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ ขึ้นมา

ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชาน เป็นหนึ่งในกรรมการชุดแรกของบริษัท ไทยเม็กซ์ฯ ซึ่งมีทั้งหมด 8 คนคือ อนุตร์ อัศวานนท์, อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์, ชาน ฟุค คุน, เตียว คา ทิน, ยุทธ ชินสุภัคกุล, โกวิท พรพัฒนนางกูร และเอกรินทร์ กฤษณยรรยง โดยมีอนุตร์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและยุทธเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2525 บริษัท ไทยเม็กซ์ฯ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 32 ล้านบาท และในครั้งนี้เองที่ทำให้ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชานกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทฯ แทนโดยถือหุ้นทั้งหมด 37.5% ในนามของบริษัท ปาล์มโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ฮ่องกง) จำกัด หลังจากนั้นบริษัทฯ ได้มีการเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่งเป็น 48 ล้านบาทในปี 2530 และหุ้นในส่วนของปาล์มโก้เพิ่มขึ้นเป็น 39.3%

นอกเหนือจากการถือหุ้นในบริษัทไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ แล้วกลุ่มปาล์มโก้ ยังถือหุ้นใหญ่จำนวน 35% ในบริษัทปาล์มโก้ ทักษิณ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ อีกหนึ่งแห่ง นอกจากนี้กลุ่มปาล์มโก้ยังถือหุ้นใหญ่ ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ จำกัด ในนามของบริษัทชินรู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ซาตู จำกัด และบริษัทแอตลาสเอเชีย จำกัด รวมหุ้นส่วนหนึ่งในธนาคารแหลมทองที่ขายให้กับสุระ จันทร์ศรีชวาลาในภายหลังด้วย

"การเข้ามาของกลุ่มปาล์มโก้ในประเทศไทยนั้นไม่ค่อยมีบทบาท หรือเป็นที่รู้จักมากมายอะไรนักเมื่อเทียบกับกลุ่มบริษัทธุรกิจข้ามชาติอื่น ๆ ที่เข้ามาลงทุนขยายกิจการในประเทศไทย และถ้าพูดถึงเงินลงทุนในกิจการต่าง ๆ ในเมืองไทยของกลุ่มปาล์มโก้ก็มีเพียงไม่กี่สิบล้านบาทเท่านั้น" แหล่งข่าวคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต

และที่ผ่านมาบทบาทของกลุ่มปาล์มโก้มีเพียงชื่อในฐานะของผู้ถือหุ้นใหญ่เท่านั้น ในเรื่องของการบริหารงานในแต่ละบริษัทแล้วเป็นหน้าที่ของกลุ่มผู้บริหารของไทยทั้งสิ้น มีก็แต่เพียงการส่งเจ้าหน้าที่จากมาเลเซียมาดูแลให้คำแนะนำเท่านั้น ส่วนที่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มปาล์มโก้มากที่สุดเห็นจะเป็นในเรื่องของการสร้างโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มซึ่งกลุ่มปาล์มโก้มีประสบการณ์ในด้านนี้มากที่สุด

กลุ่มปาล์มโก้เริ่มถอนตัวออกจากประเทศไทยด้วยการขายหุ้นกิจการต่าง ๆ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากหุ้นทั้งหมดในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ จำกัด หุ้นบางส่วนจำนวน 6% ในบริษัทไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ จึงได้ขายหุ้นที่เหลือในบริษัทไทยเม็กซ์ฯ และบริษัทปาล์มโก้ทักษิณออกไป พร้อมกับการลาออกจากการเป็นกรรมการของดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชาน, ชาน ฟุคคุน และเตียว คา ทินในบริษัท ไทยเม็กซ์ฯ นับเป็นการถอนตัวในกิจการทั้งหมดที่มีอยู่ในเมืองไทย

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกลุ่มปาล์มโก้เล่าให้ฟังว่า "ในช่วงหลัง ๆ กลุ่มปาล์มโก้ในมาเลเซีย มีปัญหายุ่ง ๆ ในหมู่พี่น้อง เมื่อก่อนเขาก็ทำกันดี แต่ตอนหลังต่างคนต่างไปทำธุรกิจนอกเหนือจากที่ทำอยู่ พี่น้องก็เลยทะเลาะกัน เขาก็เลยต้องขายกิจการออกไปเพื่อส่วนรวม เขาต้องการจะทำธุรกิจในมาเลเซียดีกว่าที่จะมาลงทุนทำธุรกิจในเมืองไทย ซึ่งไกลจากเขาและเขาเองก็ดูแลไม่ทั่วถึง อีกประการหนึ่งคือต้องการนำเงินไปชำระหนี้ด้วย"

ในขณะที่หนังสือพิมพ์ NEW STRAITS TIME ของมาเลเซียประจำวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมาได้ลงข่าวเรื่องความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัวชาน ซึ่งควบคุมบริษัท ปาล์มโก้ โฮลดิ้ง ได้ปะทุและสิ้นสุดลงในวันที่ 23 สิงหาคม เมื่อสตีเฟน ชาน ฟุคคุน ถูกปลดออกจากกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหารภายหลังที่เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้เพียง 6 เดือนเท่านั้นโดยที่ประชุมบอร์ดซึ่งมีดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชาน พี่ชายเป็นประธาน หลังจากการปลดชาน ฟุคคุน แล้ว ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชานได้เข้าเป็นกรรมการผู้จัดการแทน

ในรายงานข่าวชาน ฟุคคุน เปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการบริษัทนั้นเกิดขึ้นมาจากการตัดสินใจที่จะให้ผู้ถือหุ้นลงมติเกี่ยวกับการประชุมวิสามัญ เพื่อยอมรับการแต่งตั้งกรรมการ 2 คน คือ ดาโต๊ะ โมฮะเหม็ด ยูโซฟ ลาติฟและไซอิด อาซาฮารี ซะฮาบูดิน และเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริษัทได้รับจดหมายร้องเรียนจากผู้ถือหุ้นซึ่งกล่าวถึงความขัดแย้งในด้านผลประโยชน์ที่มีกับดาดต๊ะ ยูโซฟ และไซอิด ซะฮาบูดิน ถ้าทั้ง 2 คนนี้ยังเป็นกรรมการของบริษัทต่อไป

ความขัดแย้งได้ลุกลามขึ้นและเป็นผลให้มีการยื่นหนังสือมาจากบริษัทลูกของปาล์มโก้ (ROAD EXPRESS SDN BHD) ที่จะให้มีการเรียกคืนเงินกู้ที่บริษัทได้ให้กับกรรมการทั้ง 2 คน มูลค่า 3 ล้านริงกิต ซึ่งกรรมการทั้ง 2 คน มีหุ้นอยู่มากพอสมควร ชาน ฟุคคุน กล่าวอีกว่าในฐานะที่เป็นกรรมการผู้จัดการเขาเปิดประชุมขึ้นในวันที่ 9 เมษายน และกรรมการ 2 คนก็อยู่ในที่นั้นด้วย แต่ก็ไม่มีใครทำให้ทั้ง 2 คนลาออกได้ ซึ่งคณะกรรมการคนอื่นได้ตัดสินใจที่จะใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการกับกรรมการทั้ง 2 คนต่อมาในวันที่ 20 เมษายน คณะกรรมการตัดสินใจเรียกประชุมอีกแต่ ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชานกับกรรมการทั้ง 2 คนนั้นไม่เห็นด้วย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชานจึงได้เรียกประชุมและปลดน้องชายของตนเอง ซึ่งเรื่องนี้ชาน ฟุคคุน กล่าวหาว่าพี่ชายของตนมีส่วนรู้เห็นกับกรรมการทั้ง 2 คน รวมทั้งน้องเขยที่ชื่อเตียว คา ทินด้วย

กลุ่มที่รับซื้อหุ้นในกิจการต่าง ๆ จากกลุ่มปาล์มโก้คือกลุ่มที่มีอนุตร์เป็นแกนนำและการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท ไทยเม็กซ์ฯ และบริษัท ปาล์มโก้ทักษิณ ก็เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าตนเองอยู่ในฐานะของผู้ก่อตั้งบริษัท รวมทั้งมองแล้วว่าอนาคตของน้ำมันพืชจะไปได้ดีสามารถแตกแขนงไปยังธุรกิจอื่นได้อีกมากมาย และการที่บริษัทมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นคนไทยก็น่าจะเป็นผลดีต่อการนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นเมื่อกลุ่มปาล์มโก้ต้องการจะขายหุ้นในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องที่สอดคล้องเป็นอย่างยิ่ง

อนุตร์เข้ามาในบริษัทไทยเม็กซ์ฯ ในตำแหน่งของประธานกรรมการ โดยความเป็นจริงแล้วตำแหน่งนี้ไม่ได้มีบทบาทในแง่ของการเข้ามาบริหารงานมากนัก ส่วนมากจะเข้าร่วมประชุมด้วยในกรณีที่มีเรื่องสำคัญ ๆ อย่างเช่นการขยายโรงงาน การซื้อที่เพิ่มหรือการนำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นต้น ดังนั้นการบริหารงานส่วนใหญ่จึงตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารของบริษัทฯ มากกว่าถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการของบริษัทหลายครั้งแต่คนที่บริหารงานหลักยังคงเป็นสุระ นิยมวัน กรรมการผู้จัดการและศุภลักษณ์ อัศวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ

สุระ นิยมวัน เข้ามาแทนตำแหน่งของยุทธ ซึ่งลาออกไปด้วยสาเหตุเกี่ยวกับนโยบายการบริหารงานไม่ตรงกัน เมื่อปลายปี 2528 สุระจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2499 หลังจากนั้นเข้าอบรมหลักสูตร ELECTRIC UTILITY ประเทศสหรัฐอเมริกาและผ่านประสบการณ์การทำงานหลายแห่ง เคยเป็นเรือตรีประจำกรมนาวิกโยธินและกรมอู่ กองทัพเรือ, พนักงานบัญชีโทแผนกบัญชีเขื่อนภูมิพล กองคลังกรมชลประทาน, ผู้ควบคุมบัญชี โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะและโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ การลิกไนท์, ผู้จัดการสำนักงานโรงงานปุ๋ยเคมีแม่เมาะ, ผู้จัดการฝ่ายการเงินบริษัทปุ๋ยเคมีจำกัด, ผู้จัดการทั่วไปผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและกรรมการบริษัทยูเนียนคาร์ไบต์ไทยแลนด์ จำกัด และตำแหน่งสุดท้ายก่อนมาอยู่ไทยเม็กซ์ฯ เป็นผู้จัดการฝ่ายการเงินบริษัทสตาร์บล็อค

ส่วนศุภลักษณ์ อัศวานนท์ หลังจากจบปริญญาโท บริหารธุรกิจจาก OKALAHOMA CITY UNIVERSITY สหรัฐอเมริกาในปี 2522 ได้เข้าทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ฝ่ายสินเชื่อสาขาพนักงานสินเชื่อจนถึงปี 2525 จึงเข้ามาเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ในไทยเม็กซ์และในปี 2528 จึงขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการ

ธุรกิจในช่วงแรกของบริษัทไทยเม็กซ์ฯ ยังคงเป็นธุรกิจเดิมที่ยุทธทำต่อเนื่องมาคือการสั่งนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากมาเลเซียเข้ามาแยกส่วนแล้วบรรจุขายเป็นปี๊บให้กับร้านอาหาร, โรงแรม, ภัตตาคารและยี่ปั้วทั่วประเทศ อีกส่วนหนึ่งบรรจุเป็น BULK ขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเช่นโรงงานอาหารกระป๋องหรือโรงงานทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยใช้ชื่อ "มรกต" "เทพ" และ "โป๊ยเซียน" ซึ่งราคาของทั้ง 3 ยี่ห้อแตกต่างกันไม่มากนัก

ทางด้านโรงงานในระยะเริ่มแรกมีเพียงโรงงานแยกน้ำมันที่ถนนปู่เจ้าสมิงพรายเพียงโรงเดียวเท่านั้น ต่อมาในปลายปี 2527 จึงสร้างโรงกลั่นน้ำมันในเนื้อที่เดียวกับโรงงานแยกน้ำมันเสร็จ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่รัฐบาลปิดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ ดังนั้นโรงงานทุกแห่งจึงหันมาซื้อวัตถุดิบภายในประเทศแทน

การขยายเครือข่ายกิจการของบริษัท ไทยเม็กซ์ฯ จึงเริ่มขึ้นในปี 2527 อีกแห่งหนึ่งคือ การตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในนามของบริษัท สตูลปาล์ม ออยล์ จำกัด ขึ้นที่จังหวัดสตูล โดยการ รับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านในเขตนั้นนำมาสกัดเป็นน้ำมันดิบ แล้วส่งป้อนให้กับโรงงานแยกน้ำมัน ที่ปู่เจ้าสมิงพรายอีกทีหนึ่ง โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10 ล้านบาทและเพิ่มเป็น 20 ล้านบาท ในปี 2530 ซึ่งบริษัทไทยเม็กซ์ถือหุ้นอยู่ 50% ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมาหุ้นจำนวน 50% ที่ถือในนามของบริษัท ไทยเม็กซ์ฯ ได้ขายให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นของไทยเม็กซ์ฯ จนหมด เท่ากับว่าเวลานี้ บริษัท สตูลปาล์มออยล์ ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือของบริษัทไทยเม็กซ์ฯ อีกต่อไปแล้ว

ถัดจากนั้นในปี 2528 กลุ่มผู้ถือหุ้นในบริษัทไทยเม็กซ์ฯ ก็ได้ร่วมกันตั้งบริษัทในเครือขึ้นอีกแห่งคือ บริษัท ปาล์มโก้ ทักษิณ จำกัด ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยมีกลุ่มปาล์มโก้และกลุ่มบริษัททักษิณปาล์ม (2521) ถือหุ้นฝ่ายละ 35% ส่วนบริษัทไทยเม็กซ์ฯ ถือหุ้นอยู่เพียง 10% เท่านั้น ซึ่งตามโครงการเดิมที่วางไว้นั้นบริษัทนี้จะทำสวนปาล์ม และเมื่อปลูกปาล์มจนได้ผลแล้วจะสร้างโรงสกัดขึ้นที่นี่อีกแห่ง โดยได้ซื้อที่ดินไว้ตั้งแต่ปี 2526-2527 จำนวน 12,000 ไร่ซึ่งราคาขณะนั้นตกไร่ละ 3,000 บาท พร้อมทั้งลงมือปลูกไปบ้างแล้ว แต่ในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวถูกอุทกภัยถึง 2 ครั้ง ทำให้บริษัทฯ ต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่ว่าในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวควรจะเปลี่ยนโครงการไปทำอะไรที่มันให้ผลดีกว่าการปลูกปาล์ม หรือไม่เนื่องจากราคาที่ดินได้ถีบตัวสูงขึ้นมาก

หลังจากการขยายโรงกลั่นเสร็จและรัฐบาลได้ปิดการนำเข้าน้ำมันเป็นช่วงที่ผลผลิตปาล์มในเมืองไทยเพิ่มปริมาณมากขึ้นด้วย ทางบริษัทไทยเม็กซ์ฯ จึงขยายกำลังการผลิตจากเดิม 10,000 ตันต่อปีเป็น 40,000 ตันต่อปี (เต็มกำลังการผลิต)

กำลังการผลิตส่วนหนึ่งที่เหลือนี้กลายเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้บริษัทไทยเม็กซ์ฯ กระโดดเข้ามาในตลาดน้ำมันขวดในชื่อของมรกตแต่เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้ค่ายนี้ตัดสินใจเข้าสู่ตลาดการแข่งขันที่ดุเดือดนี้คือ น้ำมันขวดเป็นน้ำมันที่พอมีกำไรและเป็นตลาดที่แน่นอน ในขณะที่น้ำมันบรรจุปี๊ปเป็นตลาดคอมเมอดิตี้ที่มีการแข่งขันราคากันมากรวมทั้งมีการขึ้นลงของราคาในช่วงของวันแตกต่างกันออกไป คล้ายกับราคาทองหรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งควบคุมค่อนข้างยาก

การเข้าตลาดน้ำมันพืชบรรจุขวดครั้งแรกในปี 2528 เป็นการนำเข้าไปวางขายในร้านแบบธรรมดาโดยขอให้ร้านที่เคยขายแบบปี๊ปให้ช่วยขายให้ ส่วนในห้างสรรพสินค้าวางได้บ้างไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะห้างใหญ่ ๆ วางไม่ได้เลยเนื่องจากว่าสินค้ายังไม่เป็นที่รู้จัก

น้ำมันพืชมรกตเริ่มทำการตลาดครั้งแรกในปี 2529 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่น้ำมันพืชโลตัส ซึ่งทำจากน้ำมันปาล์ม ของค่ายลีเวอร์บราเธอร์วางตลาดและเป็นช่วงจังหวะที่น้ำมันพืชองุ่นซึ่งเป็นน้ำมันถั่วเหลืองทำการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และวางตลาดใหม่ทั้งประเทศ ช่วงนั้นเองเป็นช่วงที่น้ำมันปาล์มถูกกระแสต่อต้านจากกลุ่มน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าวจาก 5 ค่ายประกอบด้วยกุ๊ก, ทิพ, องุ่น, ชิม, คิง ซึ่งรวมตัวกันในนามของ "ชมรมน้ำมันพืชเพื่อสุขภาพ" ทั้งนี้เพื่อเป็นการสกัดกั้นความได้เปรียบในเรื่องราคาของน้ำมันปาล์มที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ซึ่งทางค่ายน้ำมันปาล์มเองก็ใช้จุดนี้เป็นกลยุทธ์หลักในการเจาะตลาด

หากจะเปรียบเทียบราคาขายปลีกของน้ำมันพืชแต่ละยี่ห้อในช่วงปี 2529 แล้ว ปรากฎว่าองุ่นราคาสูงที่สุดคือ 26 บาทต่อขนาดบรรจุ 1 ลิตรในขณะที่กุ๊ก, ทิพ, คิง, เกสร, มรกตอยู่ในราคาเดียวกันคือ 24 บาท ส่วนชิมราคา 23 บาทและโลตัสราคาต่ำสุดคือ 22 บาท

น้ำมันปาล์มขณะนั้นถูกจู่โจมด้วยโฆษณาเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีกรดไลโนเลอิคน้อยส่วนน้ำมันถั่วเหลือง รำข้าวและข้าวโพดมีกรดตัวนี้มากจึงช่วยลดโคเลสเตอรอลได้ โฆษณาชิ้นนี้ ลงติดต่อกันอยู่ 2-3 วันจึงถูกระงับไป

หลังจากนั้นไม่นาน องุ่นก็ออกแคมเปญโฆษณาของตัวเองใหม่ (ในขณะที่ค่ายอื่นยังเงียบอยู่ทำใหหลายคนมองว่าองุ่นคือผู้อยู่เบื้องหลังของการก่อตั้งชมรมในครั้งนั้น) เน้นที่ความเป็นน้ำมันถั่วเหลือง 100% ไม่มีไขและไม่มีโคเลสเตอรอลตามด้วยชุดที่ 2 ที่บอกว่าน้ำมันถั่วเหลืองตราองุ่นช่วยลดโคเลสเตอรอล ซึ่งการเคลมในจุดนี้นี่เองที่ทำให้น้ำมันปาล์มต้องออกมาโวย และทำเรื่องร้องเรียนไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแคมเปญ โฆษณาชิ้นนั้นจึงถูกระงับไป

การสวนกลับจากน้ำมันปาล์มเกิดขึ้นหลังจากที่มองดูการสกัดกั้นของน้ำมันถั่วเหลืองอยู่พักใหญ่ ด้วยการออกแคมเปญโฆษณาเชิงวิชาการโดยอ้างผลวิจัยโนเบิลไพรซ์ถึง 3 ชิ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกันคือตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2530 เป็นการออกในนามของสมาคมน้ำมันปาล์มซึ่งเพิ่งก่อตั้งจากการรวมกลุ่มของน้ำมันปาล์มที่ประกอบด้วยล่ำสูง (น้ำมันพืชหยก), ลีเวอร์ (น้ำมันพืชโลตัส), และไทยเม็กซ์ฯ (น้ำมันพืชมรกต)

โฆษณาทั้ง 3 ชิ้นของค่ายน้ำมันปาล์มสรุปได้ใจความว่า ผลงานวิจัยชนะรางวัลโนเบลของดร.ไมเคิล เอส. บราวน์และดร.โจเซฟ แอลโกลสไตน์แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ รัฐเท็กซัสได้ค้นพบว่าไขมันไม่อิ่มตัวโพลีอันแซททูเรท และโมโนอันแซททูเรทเหมาะที่จะบริโภคมากกว่าไขมันอิ่มตัว (มีมากในไขมันสัตว์) ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโคเลสเตอรอล นอกจากนี้ดร.สกอต เอ็ม. กรันดีผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์และวิทยาศาสตร์เมืองดัลลัสก็ยังได้ค้นคว้าเพิ่มเติมพบว่าโมโนอัน แซททูเรท ซึ่งมีมากในน้ำมันมะกอกและน้ำมันปาล์มโอเลอีนสามารถลดโคเสเตอรอลในเส้นเลือดได้ดีมาก

ส่วนโพลีอันแซททูเรท ซึ่งมีมากในน้ำมันถั่วเหลืองก็ช่วยลดโคเลสเตอรอลได้เช่นกัน แต่ถ้าบริโภคมาก ๆ อาจไปกระตุ้นการสร้างตัวของเนื้องอกและขัดขวางระบบคุ้มกันโรคของร่างกาย

การต่อสู้ในศึกโคเลสเตอรอลระหว่างน้ำมันพืชองุ่นและน้ำมันปาล์มได้รับการไกล่เกลี่ยจากผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์จนเรื่องนี้จบลงได้ในช่วงปีเดียวกันนั้น

จากผลพวงความหาญกล้าของน้ำมันพืชองุ่นในครั้งนั้น ทำให้องุ่นกลายเป็นน้ำมันพืชที่มาแรงในตลาด พร้อมกับส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบันน้ำมันพืชองุ่นก้าวขึ้นเป็นผู้นำ ด้วยส่วนแบ่งตลาดประมาณ 25% ในขณะที่เจ้าตลาดเดิมคือ ทิพและกุ๊กอยู่ในราว 18% และ 22% ตามลำดับ

เช่นเดียวกันกับการต่อสู้ของน้ำมันพืชมรกต ในฐานะน้ำมันปาล์มที่ต้องการจะเกิดให้ได้ การทำตลาดอย่างจริงจังจึงเริ่มขึ้นในช่วงปี 2530-2531 นี่ถ้าดูจากข้อมูลของบริษัท มีเดียโฟกัสเกี่ยวกับการใช้งบโฆษณาของน้ำมันพืชแต่ละยี่ห้อจะเห็นได้อย่างเด่นชัดคือในปี 2529 มรกตใช้งบในการโฆษณาเพียงล้านบาทเศษหรือประมาณ 3.5 % ของงบโฆษณาน้ำมันพืชทั้งหมด 35 ล้านในขณะที่กุ๊กใช้มากที่สุดประมาณ 10 ล้านบาทและองุ่นใช้เกือบ 5 ล้านบาท

ในปีถัดมา 2530 องุ่นกลับใช้งบโฆษณามากที่สุดคือ 13.5 ล้านบาทหรือ 31% ในขณะที่กุ๊กมาเป็นอันดับสอง 8.5 ล้านบาทเศษส่วนมรกตใช้เพียง 6 แสนกว่าบาทเท่านั้น ในปี 2531 องุ่นยังคงใช้มากที่สุดแต่จำนวนเงินลดลงเหลือ 7.9 ล้านในขณะที่ทิพมาเป็นอันดับสอง 6.6 ล้านตามด้วยมรกต 4.5 ล้านบาท สำหรับปี 2532 องุ่นยังคงใช้งบเป็นอันดับหนึ่ง 15.7 ล้านบาทหรือ 30% ตามด้วยมรกต 12.3 ล้านบาทและกุ๊ก 7.9 ล้านบาท และในปี 2533 จากงบโฆษณาตั้งแต่เดือนมกราคม- สิงหาคม ปรากฏว่าองุ่นใช้งบไปแล้ว 15.8 ล้านบาทหรือ 27.9% ตามด้วยกุ๊ก 12.6 ล้านบาทและมรกต 9.2 ล้านบาท

จากการทำการตลาดอย่างจริงจังนี่เองทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของมรกตจากเดิมในช่วง 2 ปีแรกของการเข้าตลาดมีไม่ถึง 5% ขึ้นมาถึง 15% ในปัจจุบันกลายมาเป็นอันดับ 4 ในน้ำมันพืชทั้งหมดและเป็นอันดับหนึ่งในตลาดน้ำมันพืชที่ทำจากน้ำมันปาล์มและถ้าดูจากปริมาณการขายในช่วง 4 ปีหลัง ปรากฏว่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณปีละ 30-40%

เมื่อดูรายได้จากการขายของบริษัทฯ แล้วเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงแม้ว่าในบางปีผลประกอบการ จะออกมาขาดทุนทั้งนี้ศุภลักษณ์ได้อธิบายถึงเหตุผลว่า "เป็นเพราะการลงทุนในช่วงเริ่มกิจการนั้นบริษัทฯ ต้องใช้เงินลงทุนถึง 200 ล้านบาทในขณะที่ทุนจดทะเบียนเพียง 16 ล้านบาทและเรียกเก็บจากผู้ถือหุ้นเพียง 50% เท่านั้น ดังนั้นเงินที่นำมาลงทุนส่วนใหญ่บริษัทฯ กู้จากแบงก์มาดังนั้นจึงมีภาระในการชำระหนี้ดอกเบี้ยให้แบงก์ทุกปี"

และจากความสำเร็จของน้ำมันพืชมรกตในตลาดบรรจุขวดนี่เองที่สร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัทไทยเม็กซ์ฯ ในการที่จะขยายกิจการของบริษัทฯ ต่อไปนอกเหนือจากการเป็นผู้ผลิตน้ำมันพืชแล้ว โครงการที่จะทำต่อไปคือการผลิตสินค้าในหมวดอาหารเช่นข้าวถุงตรามรกต, น้ำมันบรรจุถุง, แป้งทอดกรอบรวมถึงอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากน้ำมันพืช โดยการผลิตกรดไขมันป้อนโรงงานยาสีฟันและเครื่องสำอางอีกด้วย นอกเหนือจากการรับเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทเสรีวัฒน์และบุตรจำกัดไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีโครงการที่จะจัดซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 เท่าคือจาก 100 ตันต่อวันเป็น 200 ตันต่อวันและมีโครงการที่จะสร้างโรงงานใหม่ขึ้นบนเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการหาซื้อสถานที่เพื่อสร้างเป็นโรงงานผลิตสินค้าต่อเนื่องที่ใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนส่วนนี้ประมาณ 200-300 ล้านบาท

จากแนวความคิดในการขยายกิจการดังกล่าวนี้ทำให้บริษัทฯ ต้องระดมทุนด้วยการนำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์โดยเริ่มจากการเปลี่ยนชื่อจากเดิม บริษัท ไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด มาเป็นบริษัท มรกต อินดัสตรี้ส์ จำกัด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมกับการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 48 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาทหุ้นที่เพิ่มขึ้นจำนวน 5.2 ล้านหุ้นนี้จะกระจายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม 2.8 ล้านหุ้นที่เหลืออีก 2.4 ล้านหุ้นจะกระจายให้กับประชาชนทั่วไปกำหนดขายในราคาหุ้นละ 95 บาทจากราคาพาร์10 บาท โดยมอบหมายให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์เป็นแกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นให้ ซึ่งจะมีการยื่นเรื่องให้ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาในเร็ว ๆ นี้

"ถึงแม้ว่าแนวโน้มในอนาคตของบริษัท มรกต อินดัสตรี้ส์ จะดูสดใสจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกปีและจากแผนการขยายกิจการออกไปในหลาย ๆ ส่วนก็ตามแต่สำหรับที่นี่แล้วไม่จำเป็นที่คนอย่างอนุตร์จะต้องมานั่งบริหารอย่างเต็มตัวเพราะยังมีธุรกิจอื่นที่อนุตร์จะต้องทำอีกมากและสำคัญมากกว่า ดังนั้นข่าวการกลับเข้ามาของอนุตร์ในบริษัทมรกตจึงเป็นเพียงการกลับมาในตำแหน่งของประธานกรรมการอย่างเช่นที่เคยเป็นมาตั้งแต่ปี 2525-2530 เท่านั้น" และนั่นคือคำ ยืนยันของศุภลักษณ์ อัศวานนท์ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการของไทยเม็กซ์และลูกชายของอนุตร์

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us