Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2533
การฟื้นตัวของนครหลวงไทยฝีมือหรือทางการช่วยกันแน่             
 


   
search resources

ธนาคารนครหลวงไทย, บมจ.
สม จาตุศรีพิทักษ์
Banking and Finance




ธนาคารนครหลวงไทยประสบปัญหาวิกฤตจนถูกแบงก์ชาติสั่งลดทุนให้เหลือเพียงหุ้นละ 5 บาท แม้กระนั้นก็ยังขาดทุนสะสมอยู่ถึง 1,000 กว่าล้านบาท ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งแบงก์ชาติขอให้เข้ามาช่วยกู้เรือลำนี้ใช้เวลาเพียง 3 ปีมีตัวเลขกำไรสะสมถึง 132 ล้านบาท ราคาหุ้นในตลาดพุ่งพรวดขึ้นกว่าเท่าตัว ประเด็นมีอยู่ว่าบนความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการนี้ เป็นผลมาจากฝีมือล้วน ๆ หรือจากการอุ้มชูของทางการ "NO BIRD SOARS TOO HIGH IF HE SOARS WITH HIS OWN WING" ข้อความที่เขียนไว้ในรูปติดฝาผนังห้องทำงานของ ดร.สมนั้นนับเป็นสุดยอดแห่งกลยุทธสู่ความสำเร็จที่น่าติดตามศึกษาในกรณีนี้ และไม่ลืมถามด้วยว่าถ้ากระแสลมตกจะทำอย่างไร...!!??

12 มกราคม 2530 ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งลดทุนธนาคารนครหลวงไทยจาก 800 ล้านบาทให้เหลือเพียง 40 ล้านบาท หรือ จากราคาพาร์หุ้นละ 100 บาทลงเหลือเพียงหุ้นละ 5 บาทอันเป็นราคาที่ต่ำที่สุดที่กฎหมายเปิดให้ทำได้

ซึ่งถ้าหากกฎหมายเปิดให้ลดต่ำลงกว่านี้ได้ทางแบงก์ชาติ ก็คงจะต้องลดลงให้ต่ำกว่านี้ เพราะถึงจะลดลงมากมายขนาดนี้แล้วยังไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ธนาคารในขณะนั้น ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้สั่งเพิ่มเติมอีกว่าให้ธนาคารเพิ่มทุนจากลดลงแล้วนั้นอีก 1,000 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียน 1,540 ล้านบาท ชำระกันเสร็จเรียบร้อยก็ตกถึงเดือนเมษายน 2530

พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์ครั้งใหญ่ของธนาคารนครหลวงไทย ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้สรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเป็นนักบริหารมืออาชีพ เข้ามาบริหารแทนกลุ่มมหาดำรงค์กุล ซึ่งบริหารอยู่เดิม เพื่อกู้สถานภาพของธนาคารให้คืนสู่ปกติโดยเร็ว เป็นธนาคารที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน และเป็นกำลังสำคัญในการเป็น กลไกในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

นอกจากคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งออกมาตามสัดส่วนการถือหุ้นของแต่ละฝ่ายที่เข้ามาในช่วงของการเพิ่มทุนครั้งใหม่ อันได้แก่กลุ่มเดิมคือกลุ่มมหาดำรงค์กุล กลุ่มจิราธิวัฒน์ กลุ่มสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่รักษาฐานของตัวเองไว้ได้ แล้วก็มีกลุ่มใหม่ เพิ่มเติมเข้ามาอีกเช่น กลุ่มศรีเฟื่องฟุ้ง-พานิชชีวะ กลุ่มบริษัทสุราทิพย์ หรือกลุ่มของเจริญ ศิริวัฒนภักดี และที่สำคัญขาดเสียมิได้คือกรรมการที่มาจากทางการ ซึ่งก็ได้เข้ามาซื้อหุ้นไว้ด้วยตามนโยบายในขณะนั้น

โดยรั้งเอาเฉลิม เชี่ยวสกุล อดีตรองผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คนที่เข้ามาเป็นประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร แทนบุญชู โรจนเสถียร ที่ลาออกไปก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

แล้ก็ได้ ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ นักบริหารมืออาชีพทางการเงินจากตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ เข้ามาช่วยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของธนาคาร

เรียกว่าเป็นตำแหน่งที่จะบอกถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวในการกู้ฐานะของธนาคาร ในอนาคตและนอกจากจะเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แล้ว ดร.สมยังเป็นกรรมการและกรรมการบริหารของธนาคารอีกด้วย

ณ 1 พฤษภาคม 2530 อันเป็นวันที่ ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามารับตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ และธนาคารได้เพิ่มทุนขึ้นมาเป็น 1,540 ล้านบาทแล้วนั้น มีตัวเลขที่เปิดเผยถึงความเสียหายที่อยู่ในประเภทหนี้สงสัยจะสูญอย่างเป็นทางการถึง 5,500 ล้านบาท มียอดขาดทุนสะสมอยู่ทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท

ดร.สมเข้ามาในเงื่อนไขความช่วยเหลือจากแบงก์ชาติอย่างน้อย 3 ประการคือ หนึ่ง แบงก์ชาติจะให้เงินช่วยเหลือในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% จำนวน 3,500 ล้านบาท สอง เงินช่วยเหลือในการเพิ่มทุน ในกรณีที่มีปัญหาเพิ่มทุนไม่ได้ สาม ให้การสนับสนุนในด้านการบริหาร โดยเฉพาะในระดับคณะกรรมการที่คนของทางการจะต้องเข้ามีส่วนในการดูแลอยู่ด้วย

ในช่วงที่เข้ามาใหม่ ๆ ดร.สมขอดึง ผดุง เตชะศรินทร์ จากรองผู้จัดการทั่วไปบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ที่เรียนหนังสือมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก ๆ ที่คณะพา-นิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ามาเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และดึงเอาบุญสม ตันจำรัส จากผู้ช่วยผู้จัดการสำนักกิจกรรมพิเศษ ธนาคารกรุงเทพ เพื่อนจากธรรมศาสตร์เช่นเดียวกันมาเป็นผู้จัดการสำนักกรรมการผู้จัดการ

เป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งสามเป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันมาก ชนิดที่เรียกว่านอกโต๊ะทำงานแล้วเรียกมึงกู ลื้ออั้ว ได้อย่างสนิทปากทีเดียว

ผดุงนั้นเติบโตและเชี่ยวชาญทางด้านสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อโครงการอุตสาหกรรม ที่เขาเคยรับผิดชอบอยู่ที่บรรษัท ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนไทยหรือการลงทุนร่วมกับชาวต่างชาติ จึงเป็นจุดเสริมที่ลงตัวได้อย่างสวยงามที่ ดร.สมกลับเติบโตมาทางการบริหารการตลาด ส่วนทาง ด้าน บุญสมนั้นเรียกว่าเชี่ยวกรากอยู่ในกิจกรรมสังคมวงการสื่อมวลชนมาเป็นเวลานานนับสิบ ๆ ปี มีเครือข่ายที่แนบสนิทกับนักข่าว เจ้าของหนังสือพิมพ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทหาร นักการเมือง

ระดับนำก็เรียกได้ว่ามีกันเพียงสามคนนี้เท่านั้นที่เป็นพวกกัน ส่วนที่เป็นปึกแผ่นในธนาคารอยู่ทุกวันนี้ถือว่ามาสร้างเอาทีหลังทั้งสิ้น

ลักษณะการทำงานร่วมกันของคนทั้งสามอุปมาอุปมัย ผดุงเป็นฝ่ายผลิต เพราะจะเป็นคนวิเคราะห์ทำเงื่อนไข ตลอดทั้งกำหนดราคาในการให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ดร.สมนั้นเป็นฝ่ายขายทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ส่วนบุญสมเป็นฝ่ายสร้างภาพพจน์ใหม่ โดยวางแนวไว้ว่าให้เปิดเผยความจริงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ในช่วงเก็บกวาดบ้านซึ่ง ดร.สมบอกว่าเป็นช่วงสร้างฐานนั้นเขาก็ได้ค้นพบหนี้มีปัญหาเพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงรวมเป็นหนี้สงสัยจะสูญในเวลาต่อมาทั้งสิ้นถึง 8,000 กว่าล้าน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่รวมสินเชื่อที่ไม่เคลื่อนไหวเกินกว่า 6 เดือนอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท ดร.สมขอให้แบงก์ชาติยอมรับให้เป็นยอดหนี้มีปัญหาจริง ๆ 8,000 ล้านบาท ที่จะต้องตั้งพักแล้วทยอยตัดสำรองเป็นรายปีต่อไปเพื่อให้บัญชีมีความสะอาดสอ้านมากขึ้นก่อนที่เขาจะทำงานต่อไป

เขากล่าวว่ากลยุทธในการกู้นครหลวงไทยของเขาได้กำหนดไว้ 3 ขั้นตอน หนึ่ง สร้างฐานซึ่งเป็นช่วงของการแก้ไขฐานะเงินกองทุน ระบบริหารการจัดการ และการสร้างภาพพจน์เพื่อเรียกความเชื่อถือให้กลับมาโดยเร็ว โดยได้กำหนดไว้ให้เสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นปี 2531

สอง ขยายฐานรายได้โดยการขยายประเภทและชนิดการบริการให้มีมากขึ้น และขยายโครงสร้างข่ายการบริการให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อจะนำมาซึ่งการเพิ่มพูนรายได้ ซึ่งเขาเชื่อว่างานในขั้นตอนนี้จะข้าสู่ความเรียบร้อยภายในสิ้นปี 2532 สาม มุ่งสู่กำไร เขาตั้งเป้าหมายที่จะให้มีกำไรให้ได้ภายในสิ้นปี 2533 เพื่อที่จะปันผลในปี 2534

จากตัวเลขเพียงครึ่งปี 2533 นี้ปรากฎว่าดร.สม และทีมงานสามารถสร้างตัวเลขกำไรสะสมขึ้นมาแล้วถึง 132 ล้านบาทเมื่อปรากฎว่าพบหนี้ที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นถึง 8,000 กว่าล้านบาท ซึ่งหมายความว่าจะต้องใช้เวลายาวนานเกินกว่าที่ตั้งไว้ถึงจะตัดสำรองได้หมด ดร.สมจึงได้เสนอขอความช่วยเหลือจากแบงก์ชาติเพื่อขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอี ก 2,000 ล้านบาท เพื่อจะได้มีรายได้จากส่วนต่างมาชดเชยกันบ้าง แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวังเมื่อแบงก์ชาติไม่อนุมัติตาม ที่เสนอไป

"ในประเด็นเงินช่วยเหลือในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากมันได้กลายมาเป็นปัญหาการเมืองที่แบงก์ชาติถูกโจมตีมาก จึงทำให้ท่าทีของแบงก์ชาติต่อนโยบายนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้กระทบถึงเราด้วย" แหล่งข่าวในธนาคารนครหลวงไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เอกมล คีรีวัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติที่คุมสายงานกำกับ และตรวจสอบธนาคารพาณิชย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่านโยบายการช่วยเหลือในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำคงจะต้องเปลี่ยนไปค่อนข้างสิ้นเชิงในอนาคต เพราะว่าแบงก์ชาติต้องการให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีในระหว่างแบงก์ด้วยกัน

อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคม 2530 ธนาคารนครหลวงไทยได้เรียกชำระหุ้นเพิ่มทุนเข้ามาอีก 500 ล้านบาทโดยไม่มีปัญหา นัยเป็นทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 2,040 ล้านบาท ทางด้านเงินทุนดำเนินการจึงเป็นไปด้วยความราบรื่น

นอกจากการเก็บกวาดบ้านในด้านบัญชีและเงินทุนแล้ว ยังได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานภายในกันใหม่ โดยอาศัยความสามารถส่วนตัวอย่างน่าทึ่งของดร.สมในการประสานประโยชน์และทำความเข้าใจกับพนักงานที่มีอยู่เก่าแก่ซึ่งปกติจะไม่ค่อยยอมรับการ เข้ามาของนักบริหารมืออาชีพอย่างที่เคยผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด เพราะพนักงานของธนาคารนครหลวงไทยส่วนใหญ่พัฒนาตัวเองมาจากความเป็นอิสระในรูปแบบของคอมปาร์โด

เจ้าหน้าที่บริหารตั้งแต่ระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ลงมาล้วนแต่เป็นคนเก่าของธนาคารทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ดร.วันชัย อริยะพุทธิพงษ์ วิวัฒน์ วินิจฉัยกุล สองผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ นั้นมีภาพของผู้บริหารเดิมอยู่เต็มร้อย แต่ดร.สมสามารถประสานเข้ามาเป็นทีมงาน และมอบหมายงานให้อย่างเหมาะสม เพื่อร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับแบงก์ได้อย่างมาก

ดร.วันชัยได้รับมอบหมายให้ดูแลงานพัฒนาภายใน ทั้งด้านการพนักงาน การฝึกอบรม ซึ่งตรงกับปรีดา กาลวันตวานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งเป็นผู้บริหารชุดเก่าเช่นกัน ส่วนวิวัฒน์ ได้รับมอบหมายให้ดูงานด้านปฏิบัติการตามที่เขาถนัด และวิวัฒน์ก็ได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ในเวลาต่อมา ทั้งด้านการพัฒนาสินเชื่อโครงการการพัฒนากิจการสถาบันการเงิน ในเครือคือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวง และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าประมูลแข่งขันเข้ามาเป็นบริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้ทั้งสองบริษัท

เมื่อวิวัฒน์ วินิจฉัยกุล ลาออกเมื่อต้นปีที่ผ่านมาจึงได้ดึงเอา กุณฑล นาคพรหม จาก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารมหานคร ก่อนหน้านั้นเขาเป็นคนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิษย์เก่ามือดีทางด้านการบริหารการเงินของธนาคารกสิกรไทยมาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แทน

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อีกคนหนึ่งคือ สรรใจ ไชยภัฏ นั้นเป็นลูกหม้อของธนาคารที่อยู่มานานเกือบ 40 ปี ก่อนหน้าที่ ดร.สมจะเข้ามา 2 ปีเขายังมีตำแหน่งเป็นเพียง ผู้จัดการสาขาบ้านดอน ถูกดึงเข้ามาเป็นผู้จัดการสำนักงานภาค 3 และได้รับเลื่อนให้ขึ้นเป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่เมื่อกลางปี 2532 ที่ผ่านมา

อดุลย์ สมุทรโคจร เลื่อนขึ้นมาจากรองผู้จัดการฝ่ายให้เป็นผู้จัดการฝ่ายธนาคารก็เป็นคนเก่าที่ทำงานกับนครหลวงไทยมาถึง 37 ปี กูลฉวี คงคา ทำงานกับนครหลวงไทยมา 34 ปี เป็นผู้จัดการสาขาวงเวียนใหญ่ก่อนที่จะได้รับเลื่อนให้ขึ้นเป็นผู้จัดการสำนักงานภาค 1 เมื่อ ดร. สมเข้ามาบริหาร

รักษ์ หาญจริยากูล ทำงานกับนครหลวงไทยมาเป็นเวลา 36 ปีเป็นผู้จัดการสาขาประจำฝ่าย ดร.สมดึงขึ้นเป็นผู้จัดการสำนักงานภาค 2 ส่วนผู้จัดการสำนักงานภาค 3 สุวัฒน์ ภูรยานนท์ชัยนั้นดึงมาจากผู้จัดการสาขาบางแคเมื่อต้นปี 2530 หลังจากดร.สมเข้ามาไม่กี่เดือน

ฝ่ายการพนักงานหัตถา ศรีสุขพันธุ์ ก็ย้ายมาจากรักษาการผู้ตรวจการสาขาในสัปดาห์ ที่สองที่ดร.สมเข้ารับตำแหน่งใหม่ที่นครหลวงไทย สุนันทา ไทยแช่ม ผู้จัดการฝ่ายบัญชีก็ดึงมาจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายตรวจสอบ แทนจรูญ มงคลสืบวงศ์ ที่ย้ายไปเป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนเก่าแก่ที่มีอายุงานร่วม ๆ 30 ปีทั้งสิ้น แต่ในช่วงก่อนที่ดร.สมจะเข้ามามีตำแหน่งอยู่เพียงผู้จัดการสาขาหรือเทียบเท่าผู้จัดการอาวุโสเท่านั้นเอง

ส่วนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในยุคของดิลก มหาดำรงค์กุล เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ส่วนใหญ่ก็ยังยืนพื้นอยู่ที่เดิม หรือไม่ก็ได้รับมอบหมายงานที่มีความสำคัญมากขึ้น ที่ค่อนข้างเด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นกฤษฎา หุตะเศรณี ผู้จัดการฝ่ายวิจัยวางแผนที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นเลขานุการคณะกรรมการธนาคาร

ทวีศักดิ์ วิศิษฎ์วุฒิกุล ที่ถูกย้ายมาเป็นผู้จัดการฝ่ายการพนักงานก็ได้กลับคืนไปทำงาน ที่เขาถนัดในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ เลอศักดิ์ จุลเทศ สุทธิพงศ์ อิทธิพงศ์ สมชัย วนาวิทย์ ประพจน์ เนตรสุวรรณ ที่เติบโตมากับสายงานของตนต่างก็ยืนพื้นอยู่ตามเดิมแต่ได้รับการยกฐานะขึ้นตามหน่วยงานที่ยกระดับขึ้น คือผู้จัดการฝ่ายประมวลเร่งรัดประนอมหนี้ ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสาขา ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายธุรการ ตามลำดับ

คนที่โดนเก็บเข้ากรุก็ได้แก่ประสงค์ ภูวกุล และอาณัฐชัย รัตตกุล จากผู้จัดการฝ่ายนิติกรและผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจตามลำดับเข้าประจำสำนักกรรมการผู้จัดการ วิโรจน์ รัตนไชย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสฝ่ายตรวจสอบเข้าเป็นผู้จัดการฝ่ายอาวุโสสำนักตรวจงาน แต่กว่าคำสั่งประเภทนี้จะออกมาก็ได้ใช้เวลาในการดูงานดูใจกันมานานเลยปีไปแล้วทั้งสิ้น ฉะนั้นความรู้สึกที่ไม่ดีในหมู่พนักงานจึงไม่เกิดขึ้น การกระทำของฝ่ายบริหารกลับมีความชอบธรรมที่พวกเขายอมรับได้

"มันอาจแตกต่างจากกรณีอื่น ๆ ที่ผู้บริหารชุดใหม่เข้าไปแล้วจะต้องมีการล้างบางกันขนานใหญ่ ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำงานกันไม่ได้เลย แต่กรณีของเรากลับยิ่งได้รับความร่วมมือมากขึ้นกระตือรือร้นมากขึ้น กับตำแหน่งใหม่ งานใหม่ที่เขาได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ มีการเรียนรู้มากขึ้นผมว่ามันอยู่ที่ท่าที ท่าทีของดร.สมเป็นมิตร นบน้อมถ่อมตน และก็แสดงออกมาชัดเจนและจริงใจที่จะขอความร่วมมือ ขอการเสียสละเหมือนกับอาสาสมัคร เป็นบุคลิกส่วนตัว หรือจะเรียกว่าเป็นความสามารถพิเศษก็ได้ ประกอบกับความเชื่อถือในประวัติที่เคยมีมา" ผู้บริหารระดับสูงในธนาคารนครหลวงไทยคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ดร.สม พูดถึงกรณีเดียวกันนี้ว่าเขาต้องใช้ความจริงใจ ความบริสุทธิใจต่อกันที่จะร่วมงานกันและก็มีเกณฑ์มีกติกาในการทำงานร่วมกัน คนทุกคนมีคุณค่าอยู่ในตัวอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรที่จะให้คุณค่าที่มีอยู่นั้นเกิดประโยชน์เต็มที่ทั้งต่อตัวเองและสังคม

จะเห็นว่าในระดับโครงสร้างแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก เพียงแต่ใช้โครงสร้างเดิม เป็นฐานแล้วก็กระจายงานออกไปทั้งในด้านการจัดการ การอำนวยสินเชื่อ และงบประมาณ ให้สมส่วนสมฐานะ ทำให้งานเกิดความคล่องตัว

โครงสร้างองค์กรในการบริหารระดับรองลงมาจากคณะกรรมการบริหารแล้ว ดร.สมในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ยังได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดการขึ้นมาอีกคณะหนึ่งทำหน้าที่ในการกลั่นกรองเรื่อง วางแนวนโยบายและติดตามงาน และเสมือนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาของกรรมการผู้จัดการใหญ่ไปด้วยในตัว อันเป็นการสะท้อนถึงลักษณะของการทำงานกันเป็นทีม ที่ผู้บริหารระดับสูง ได้ทำเป็นแบบอย่างแก่เจ้าหน้าที่ระดับรอง ๆ ลงมา

คระกรรมการชุดดังกล่าวประกอบไปด้วยผู้บริหารภายในธนาคารล้วน ๆ โดยมีดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน มีรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ทั้งสองคน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ทั้งสามคน และบุญสม ตันจำรัส ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกฤษดา หุตะเศรณี ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและวางแผนเป็นกรรมการร่วมกัน

ในการปฏิบัติงานได้มีการแบ่งสายงานรับผิดชอบออกมาค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ลงมาจนถึงระดับผู้จัดการฝ่าย (โปรดดูผังโครงสร้างองค์กรประกอบ)

ในการสร้างคุณภาพประสิทธิภาพในการทำงานก็ได้มีการปรับปรุงระบบบัญชี ระบบข้อมูล ระบบการรายงาน การตรวจสอบให้ดีขึ้น โดยอาศัยผลจากการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำควบคู่กันไปพร้อมกัน

ทางด้านคนเพียงแต่ปรับปรุงทัศนคติและวิธีการทำงานของคนให้เข้ากับระบบใหม่ โดยมีการตั้งศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาบุคคลที่มีโปรแกรมการฝึกอบรมทั้งในและนอกสถานที่ร่วม 40 หลักสูตรเริ่มตั่งแต่การอบรมความรู้พื้นฐาน ทักษะในการปฏิบัติงาน ไปจนถึงความรู้เฉพาะด้านที่จำเป็นต่ออาชีพ ด้านสินเชื่อ บัญชี การตลาด เศรษฐกิจซึ่งในระยะแรกนั้นมีพนักงานผ่านการอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ถึง 3,000 กว่าคนจากพนักงาน 6,000 คน จนถึงสิ้นปี 2532 พนักงานของธนาคารได้ผ่านการอบรมจนครบทุกคน

"ในด้านการเตรียมคนไว้แทนงานในตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งนับแต่นี้ไปจะมีพนักงานเกษียณกันมาก เราก็ได้เตรียมไว้ค่อนข้างพร้อมในขณะนี้" บุญสม ตันจำรัส ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสรักษาการผู้จัดการสำนักกรรมการผู้จัดการกล่าว

นอกจากการอบรมให้ความรู้แล้วธนาคารยังได้สร้างขวัญและกำลังใจแก่พนักงาน โดยการออกตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ และรับทราบปัญหาจากพนักงานกันเป็นการใหญ่ ได้มีการเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่พนักงานในอัตราที่ใกล้เคียงกับธนาคารขนาดใหญ่

เงินโบนัสที่พนักงานเคยได้รับปี ละ 5 เดือนก็ไม่ตัด เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่าเงินตอบแทนพิเศษ เพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมายที่ระบุว่าจะจ่ายเงินโบนัสพนักงานไม่ได้ในกรณีที่ธนาคารขาดทุน แต่ในกรณีนี้ยังถือว่าพนักงานยังได้เงินโบนัสเท่าเดิม

ส่วนทางด้านธุรกิจและบริการในระยะการสร้างฐานและขยายฐานรายได้เป็นขั้นตอนต่อเนื่องกัน ธนาคารนครหลวงไทยได้รับอนุญาตจากแบงก์ชาติให้เปิดสาขาเพิ่มขึ้นอีก 7 แห่ง ซึ่งก่อนนี้ได้ถูกคุมกำเนิดมาหลายปีต่อเนื่องกัน เพราะฐานะของธนาคารประสบปัญหามาก

ได้มีการนำระบบคอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนาขึ้นมาแล้วระดับหนึ่งออกมาให้บริการแก่ลูกค้ามากขึ้นทั้งในด้านเงินฝาก สินเชื่อ การติดต่อธนาคารต่างสาขา เพื่อเพิ่มความสะดวกมากขึ้น มีการออกบริการ ATM VISA POS ร่วมกับกลุ่ม SIAMNET ให้การให้บริการPMB (PERSONAL BANKING MACHINE) เพื่อความสะดวกของลูกค้าในการเบิกถอนเงินมากขึ้นรวมทั้งได้เปิดบริการสถานที่รับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง

ส่วนทางสินเชื่อได้มีการปรับปรุงสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ให้มีเงื่อนไขน้อยลง มีขั้นตอนในการพิจารณาอนุมัติน้อยลง ขยายวงเงินและขอบเขตวัตถุประสงค์ในการขอกู้ให้กว้างขวางมากขึ้น

เพื่อเป็นการขยายประเภทธุรกิจออกไปจึงได้มีการตั้งบริษัทนครหลวงแฟคตอริ่งขึ้นมาเป็นกิจการในเครือของธนาคาร เพื่อรับซื้อและบริหารลูกหนี้การค้า โดยผ่านบริษัทในเครือซึ่งมีอยู่แล้วทั้งสองแห่งคือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงและนครหลวงเครดิตอีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้ขยายธุรกิจออกไปทางด้านเช่าซื้อ โดยเข้าไปถือหุ้นกับลูกค้าเก่าแก่คือบริษัทปัตตานีเจริญเทรดดิ้ง ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถอีซูซุรายใหญ่ที่สุดของภาคใต้ ธนาคารได้เข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่ชื่อบริษัทนครหลวงเจริญเช่าซื้อในสัดส่วน 51% (รวมส่วนที่บริษัทในเครือถือด้วย) ของทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาทบริษัทนี้มียอดขายที่ผ่านมาปีละหลายร้อยล้านบาท

การทำเช่นนี้ทำให้ฐานของลูกค้าเหนียวแน่นมากขึ้น เพิ่มรายได้ให้แก่ธนาคารทั้งในด้านเงินให้กู้และผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น

การขยายประเภทธุรกิจไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้ลงทุนในประเทศเท่านั้น ธนาคารยังได้ร่วมกับกลุ่มเคียววา ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจธนาคาร สถาบันการเงิน และเช่าชื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของญี่ปุ่นโดยร่วมกันลงทุนตั้งบริษัทนครหลวง-โชวาลิสซิ่ง ทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท

"ตอนนี้เรากำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับกลุ่มบริษัทประกันภัยอยู่หลายแห่ง เพราะธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่น่าสนใจลงทุน และอยู่ในประเภทเดียวกัน เราเองก็ยังไม่มีกิจการนี้อยู่ในเครือเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจต่อไป" แหล่งข่าวในธนาคารนครหลวงไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

พูดถึงการลงทุนในประเภทธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องนี้กลุ่มผู้บริหารธนาคารนครหลวงไทย ชุดปัจจุบันได้สร้างความแปลกใจแก่คนในวงการมาแล้วครั้งหนึ่งกรณีที่เข้าไปประมูลเก้าอี้ โบรกเกอร์บริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของบริษัทในเครือคือ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิตกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวง ที่สร้างประวัติศาสตร์ของวงการนี้ด้วยตัวเลขการประมูลถึง 62 และ 47 ล้านบาท ได้ที่นั่งไปทั้งสองบริษัท (โปรดอ่าน "เบื้องหลังชิงเก้าอี้โบรกเกอร์ ชัยชนะของดร.สมและลิม ซู เหลียง" ผู้จัดการรายเดือน ฉบับที่ 66 เดือนมีนาคม 2532)

บางครั้งแม้จะเป็นธุรกิจที่ไม่เข้าข่ายการให้บริการทางการเงินเช่นอุตสาหกรรม แต่เพื่อเป็นการสร้างฐานลูกค้า ในบางด้านธนาคารก็จะร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน เช่นการเข้าร่วมทุนตั้งบริษัทสหกลคัชซี ผลิตคัชซีสำหรับรถโดยสารขนาดกลางและขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย

ด้านดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่เปิดเผยว่าอย่างไรก็ตามระหว่างนี้ธนาคารก็ได้ร่วมมือกับบริษัทประกันภัยอยู่หลายแห่งเช่นเทเวศประกันภัย ของกลุ่มสำนักงานทรัพย์สิน บริษัทร.ส.พ.ประกันภัย ของกลุ่มศรีเฟื่องฟุ้ง-พานิชชีวะ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มหนึ่งของธนาคารในการประสานธุรกิจระหว่างกัน รวมทั้งได้เข้าไปลงทุนด้วยส่วนหนึ่งแต่ไม่มากนัก

ส่วนในระยะยาวเขายังเห็นว่าธนาคารนครหลวงไทยจำเป็นจะต้องมีกิจการประเภทนี้เข้ามาอยู่ในเครือ

แหล่งระดับสูงในธนาคารนครหลวงไทยเองเปิดเผยกับ"ผู้จัดการ" ว่าในระยะที่ทอดยาวออกไปจริง ๆ นั้นเครื่องมือเหล่านี้จะพัฒนาให้เติบโตให้มาในวงการธุรกิจไทยควบคู่ไป กับการเติบโตของธนาคารโดยการนำกิจการในเครือทุกแห่งเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต่างฝ่ายก็จะเกื้อหนุนทางธุรกิจซึ่งกันและกันในกลุ่ม นักวิเคราะห์คนหนึ่งจึงบอกว่าถ้าแผนงานที่ยังไม่เปิดเผยเหล่านี้ของกลุ่มผู้บริหารธนาคารนครหลวงไทยชุดปัจจุบันสำเร็จ ธนาคารนครหลวงไทยก็จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่เอามาก ๆ ทีเดียว

ในรอบปีเศษแรก ๆ ที่ดร.สมเข้าเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารนครหลวงไทย นอกจากการออกเยี่ยมพนักงานและลูกค้าตามสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้วยังได้มีการเดินทางไปต่างประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของเวลาที่มีอยู่ทั้งหมด

เขากล่าวว่าการเดินทางทั้งในและต่างประเทศนั้นมีความสำคัญเท่าเทียมกัน เพราะจะต้องไปสัมผัสกับปัญหา และของพนักงานที่ผ่านมา และความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธนาคารในยุคใหม่ ตลอดทั้งชี้แจงแผนการพัฒนาธนาคารในอนาคตอีกด้วย

"ยอมรับว่าบัญชีที่หยุดเดินแล้วกลับมาเดินอีกนั้นมีเป็นจำนวนมากซึ่งคิดว่าไม่น้อยกว่า 30% ของปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตอนนั้นในขั้นนี้เรายังไม่ได้ขยายอะไรให้แก่ลูกค้า แต่เขากำลังจะหนีไปก็ดึงกลับมาทัน ซึ่งมันเป็นฐานธุรกิจที่สำคัญอย่างมากในการพัฒนาขั้นต่อไป" ผู้บริหารระดับสูงในนครหลวงไทยคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"ถึงผลการปรับปรุงระบบการจัดการที่มีผลต่อการพัฒนาด้านคุณภาพสินทรัพย์

ส่วนด้านต่างประเทศ ดร.สมบอกว่าจำเป็นจะต้องบอกให้ธนาคารในต่างประเทศที่เคย ค้าขายด้วยกันมาก่อนทราบว่า สถานะของแบงก์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเป็นอย่างไร เพื่อสร้าง ภาพพจน์ที่ดีและเกิดความเชื่อถือต่อกัน

เขากล่าวอีกว่านอกจากนั้นยังได้พยายามหาตลาดใหม่ ๆ ที่ธนาคารยังไม่เคยมีมาก่อนเพื่อเป็นฐานที่จะขยายธุรกิจการค้าระหว่างประเทศให้แก่ลูกค้าของธนาคารได้กว้างขวางมากขึ้น

ดร.สมและคณะได้เดินทางทั่วโลกตั้งแต่ญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรป ตามลำดับ จากนั้นก็ติดตามด้วยการขยายบทบาทและทำตลาดธุรกิจต่างประเทศของธนาคารในเชิงรุกมากขึ้น มีการเปิดสำนักงานบริการธุรกิจต่างประเทศไว้บริการ ใกล้ตัวผู้นำเข้าและส่งออกมากขึ้น โดยศูนย์นี้สามารถให้บริการเช่นเดียวกับสำนักงานใหญ่ขึ้นอีกสองแห่งคือ ที่สาขาสมุทรสาครกับหาดใหญ่ และมีแผนงานที่จะเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ผลที่ออกมาค่อนข้างเป็นรูปธรรมก็คือว่าตัวเลขรายได้จากธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งเดิมแทบจะไม่เคลื่อนไหวเลย และเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของธนาคารได้เพิ่มขึ้นจากปีละไม่กี่สิบล้านบาทเป็นเกือบ 200 ล้านบาท

นักวิเคราะห์คนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าจากโครงสร้างสินเชื่อของธนาคารที่ค่อนข้างเน้นไปทางอุตสาหกรรมมากนั้นทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาของนครหลวงไทยไปในด้านต่างประเทศมากขึ้นในอนาคต เพราะว่าอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกทั้งสิ้น

"การจะทำธุรกิจเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ จะต้องมีฐานลูกค้าพวกส่งออกมากพอสมควรเพราะฉะนั้นในระยะยาวของธนาคารนครหลวงไทยอาจเด่นมากในด้านนี้" เขากล่าวถึงทิศทางการให้สินเชื่อของธนาคาร

ด้วยความที่ดร.สมเป็นนักบัญชี การมองธุรกิจของเขามักจะมองให้เกิดความสมดุลให้มากที่สุด เขากล่าวว่าไม่เน้นทางด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เขาปรารถนาที่จะให้ธุรกิจของธนาคารพัฒนาไปในทุกด้านอย่างสมดุลกัน

เขากล่าวว่าอย่างน้อยที่สุดเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจผันผวน เกิดการสูญเสียด้านหนึ่งไปก็ยังมีอีกด้านหนึ่งที่ทำรายได้ให้ชดเชยกันไป

ความสมดุลของบัญชีในแต่ละเดือนดร.สมจึงเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งไม่จำกัด เฉพาะสายสินเชื่อเท่านั้น แต่หมายความทั้งหมดของบัญชีแสดงฐานะของธนาคารและผลการดำเนินงาน สัดส่วนของแหล่งเงินทุน เงินฝากกับเงินกู้ สินเชื่อกับเงินฝาก เงินให้กู้ยืมกับเงิน ลงทุน แม้แต่ระหว่างเงินฝากและสินเชื่อในแต่ละประเภทก็ไม่ให้เกิดการสวิงไปทางด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะเช่นสินเชื่อต่อเงินฝากจะอยู่ในสัดส่วน 96-98% เศษ ๆ เงินฝากจะรักษา สัดส่วน 4 : 28 : 68 ระหว่างกระแสรายวัน ออมทรัพย์และประจำ เป็นต้น

"ถ้าเราดูแลความสมดุลเหล่านี้ได้มันจะทำให้ธนาคารของเราเติบโตอย่างมั่นคงและมั่นใจ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารนครหลวงไทยกล่าวถึงยุทธศาสตร์การเติบโตของธนาคาร

เพียงระยะเพียงปีครึ่ง คือ ณ สิ้นปี 2531 ธนาคารนครหลวงไทยสามารถกระโดดพ้นจากการขาดทุนระหว่างปีขึ้นมามีกำไรในปีนั้นถึง 106 ล้านบาท ตัดขาดทุนสะสมลงเหลือเพียง 880 ล้านบาท พอถึงสิ้นปี 2532 ทำกำไรอีก 235 ล้านบาทและจัดสรรยอดสำรองอื่น ๆ ที่ตั้งไว้ในรายการกำไรสะสมอีก 356 ล้านบาทออกไปในปลายปี 2532 ทำให้สามารถตัดยอดขาดทุนสะสมลงเหลือเพียง 288 ล้านบาทในปี 2532 และสิ้นปีที่สามนับตั้งแต่คณะผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาบริหารธนาคารนี้กล่าวคือ ณ ครึ่งปี 2533 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกระโดดขึ้นมาทำกำไรถึง 207 ล้านบาทตัดขาดทุนสะสมแล้วยังเหลือกำไรสะสมไว้ปันผลในปีหน้าซึ่งเป็นปีที่ดร.สมตั้งเป้าหมายไว้จะให้มีการจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรกของธนาคารถึง 132 ล้านบาท ราคาหุ้นได้พุ่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ทราบผลประกอบการครึ่งปีออกมา จากราคาที่เคลื่อนไหวอยู่ในระหว่างหุ้นละ 7-8 บาทได้พุ่งขึ้นสูงถึงเกือบ 16 บาทเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (โปรดพิจารณาจากตารางเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน 2529-2533 และกราฟแสดงการเคลื่อนไหวของราคาและการซื้อขายหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยประกอบ)

และก็ดูเหมือนจะเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะกันพอดี ที่ธนาคารได้ออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่อีก 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 4,040 ล้านบาท โดยขายให้บุคคลภายนอกเพียงหุ้นละ 5.50 บาท ทำให้หุ้นจำนวนสูงถึง 200 ล้านหุ้นขายหมดภายในเวลาไม่กี่วัน ทุนจำนวนนี้จะทำให้ธนาคารขยายสินเชื่อในอัตราการเติบโต 20% ได้อีก 2 ปีเป็นอย่างต่ำ

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ในวงการเงินคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการเติบโตทางบัญชีของธนาคารนครหลวงไทยอย่างก้าวกระโดดเช่นนั้น

เขากล่าวว่าประการแรกที่สุดนั้น ดร.สมเข้ามาในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวมันก็เลยส่งผลต่อการประกอบการของธนาคารออกมาดีด้วย ซึ่งก็เป็นกันทุกธนาคาร เขาเทียบให้เห็นว่าอัตราการโตด้านสินเชื่อและเงินฝากของระบบแบงก์ โดยเฉลี่ยประมาณ 30% ซึ่งธนาคารนครหลวงไทยโตในระดับ 24 % และ 25% ตามลำดับสินทรัพย์ ของระบบโตประมาณ 24% แต่ธนาคารนครหลวงไทยโต 21%

ดร.สมกล่าวเรื่องนี้ว่าเขาไม่ต้องการให้ธนาคารขยายตัวไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะทางด้านสินเชื่อนั้นเขาเห็นว่าสินเชื่อกำลังขยายตัวอย่างมากจนอาจทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องได้ และต้นทุนทางด้านเงินฝากกำลังจะสูงขึ้นในขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลง แม้จะขยายไปก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่มากนักธนาคารจึงพยายามหารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารนครหลวงไทยมีรายได้ประเภทนี้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 30% (โปรดดูตารางเปรียบผลการดำเนินงานประกอบ)

นักวิเคราะห์คนเดียวกันชี้ว่าธนาคารนครหลวงไทยมีรายได้จากส่วนต่างเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำประมาณปีละเกือบ 300 ล้านบาท แม้จะกล่าวว่าไม่เพียงพอต่อการที่จะต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญตามกฎหมายจากหนี้ที่มีปัญหาถึง 8,000 ล้านบาท แต่ก็ได้รับการผ่อนผันจากแบงก์ชาติให้สำรองต่ำกว่าเกณฑ์เป็นจำนวนมาก กล่าวคือตั้งเพียงปีละ 100 กว่าล้านบาทเท่านั้นเอง

และผู้บริหารของธนาคารก็บอกเสมอว่า หนี้เสียจำนวนมากนั้นได้เรียกคืนกลับมาบ้างแล้ว ข้อมูลเป็นที่เปิดเผยของฝ่ายธนาคารเอง บอกว่าสามารถเรียกคืนได้ถึง 2,000 กว่าล้านบาท แต่ยังไม่ทราบผลว่าทางแบงก์ชาติจะตกลงว่าอย่างไร

"ผมเชื่อว่าหนี้ที่บอกว่าได้คืนมา 2,000 ล้านบาทนั้นจริง ๆ แล้วก็รวมอยู่ในยอดสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง แต่ปัญหาว่าหลังจากทำสัญญาประนอมหนี้เหล่านี้แล้วดอกเบี้ยมันเดินด้วยหรือเปล่า" แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าว

อย่างไรก็ตามการที่ทางแบงก์ชาติยอมผ่อนผันให้ธนาคารนครหลวงไทยสำรองหนี้ สงสัยว่าจะสูงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดนั้น ถือเป็นความสนับสนุนที่ให้แก่ธนาคารที่มีปัญหาและกำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟู โดยมีเงื่อนไขให้มีการปรับปรุงการบริหารและให้มีการเพิ่มทุนด้วย

แหล่งข่าวคนเดียวกันชี้ให้ "ผู้จัดการ" ดูข้อมูลในงบการเงินของธนาคารว่าธนาคารนครหลวงไทยยังได้รับสิทธิผ่อนผันให้นำรายได้ที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนในพันธบัตร รัฐบาลมาลงเป็นรายรับด้วย ซึ่งเขาเชื่อว่าอย่างน้อยปีละ 300 ล้านบาท อันเป็นตัวเลขที่จะช่วยเกื้อหนุนให้ธนาคารเกิดกำไรขึ้นมาทันที

นอกจากนี้ยังมีการอนุญาตให้นำเงินที่ได้จากส่วนล้ำมูลค่าหุ้นจำนวน 214 ล้านบาทที่ได้มาจากการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดมาลงในรายการบัญชีรายได้ด้วย ทำให้กำไรของธนาคารพุ่งขึ้นอย่างกระโดดสูงที่สุดซึ่งโดยหลักการแล้วไม่น่าจะทำได้

"อย่างน้อย ๆ ก็เห็นแล้วว่าตัวเลขที่ปรากฏในรายได้และกำไรที่เห็นในบัญชีนั้นเป็น รายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินธุรกิจจริง ๆ ถึง 500 กว่าล้านบาทเข้าไปแล้ว" แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าว

เขาตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกกว่าการที่คณะผู้บริหารของธนาคารนครหลวงไทยทำได้อย่างเช่นที่ผ่านนั้นเป็นเพราะว่าได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากทางการ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นมาจากเงื่อนไขที่ทางการให้ไว้ในการขอให้ผู้บริหารชุดนี้เข้ามาฟื้นฟูธนาคารที่ประสบปัญหาอย่าง รุนแรงเมื่อสามปีก่อน

อีกส่วนหนึ่งนั้นมาจากมนุษยสัมพันธ์ส่วนตัวของ ดร.สมเองที่มีเกียรติประวัติในการทำงานดีมีความซื่อสัตย์สุจริต นบน้อมถ่อมตนไม่ให้ร้ายใคร ทำให้ทางการมีความเชื่อถือและเชื่อมั่นสูงในการที่จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุน เพื่อการฟื้นฟูธนาคารนครหลวงไทยให้กลับคืนมาดีในที่สุด

"ผมว่าลึก ๆ แล้ว ดร.สมก็มีพลังต่อรองอยู่ไม่น้อยทีเดียว สังเกตเห็นระยะหลัง ๆ นี่คณะกรรมการ และผู้ที่เข้ามามีบทบาทร่วมกับกลุ่มผู้บริหารชุดปัจจุบันทั้งในฐานะที่ปรึกษา ประธานกรรมการ กรรมการ บริษัทหรือกิจการในเครือ ล้วนแต่คนที่มีบารมีสูงส่งในวงการเงินการคลังและการเมืองของประเทศแทบทั้งสิ้น ไม่รวมถึงการมีความสัมพันธ์กันรูปแบบอื่น ๆ ที่ผ่านมาและที่กำลังขยับขยายออกไปในปัจจุบัน อันนี้มันอาจแฝงอยู่ลึก ๆ ก็ได้" แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าว

ที่กล่าวนั้นหมายถึงการเข้ามาเป็นกรรมการของทวี หนุนภักดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสูงในวงการของคนที่ประกอบวิชาชีพทางบัญชี การเงินการคลังของประเทศ พิศาล มูลศาสตรสาทรอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย สมโภช สาริกาอดีตอัยการที่มีชื่อเสียงของกรมอัยการ เข้ามาเป็นกรรมการธนาคาร และไพจิตร โรจนวณิช อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมธนรักษ์ ที่เข้ามาเป็นประธานบริษัทนครหลวง-โชวาสิสซิ่ง บริษัทในเครือที่ตั้งขึ้นมาใหม่ล่าสุด

สายสัมพันธ์นี้ได้ถูกโยงใยผูกลึกลงไปถึงกลุ่มนักบัญชีจากค่ายธรรมศาสตร์และบุคคลสำคัญในสมาคมธรรมศาสตร์ และมักจะเป็นคนที่มีบทบาทในบ้านเมืองสูง ที่ดร.สมเองก็เป็นคนหนึ่งในสมาคมธรรมศาสตร์เช่นกันไม่ว่าจะเป็น สังเวียน อินทรวิชัย พนัส สิมะเสถียร นงเยาว์ ชัยเสรี อรัญ ธรรมโน หรือแม้กระทั่งสุธี สิงห์เสน่ห์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจ้าของสำนักงานพีทมาร์วิค สุธี ที่เป็นผู้สอบบัญชีของธนาคารนครหลวงไทยปัจจุบันก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ทั้งสิ้น และอีกหลายคน

ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้ถูกตั้งข้อสังเกตในเรี่องนี้ได้กล่าวเสมอว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จำจะต้องอาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากทุกฝ่าย เขาเคยชี้ให้ดูรูปนกกำลังโผบินซึ่งติดอยู่ในผนังห้องทำงานของเขา ซึ่งมีข้อความเขียนว่า NO BIRD SOARS TOO HIGH IF SOARS HIS OWN WING" เสมือนหนึ่งมันซึมซับกินใจของเขาอย่างยิ่งและ ดูเหมือนเขาได้ยึดเป็นแนวในการดำเนินชีวิตมาโดยตลอด

"คน ๆ นี้ไม่เคยกล่าวให้ร้ายใคร มีแต่สร้างมิตรไม่มีสร้างศัตรู ให้เกียรติคนทุกคน ทำให้เขาเป็นที่ยอมรับและรักใคร่ของทุกคนที่มาสมาคมด้วยไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่" เป็นคำพูดของเจ้าหน้าที่บริหารคนหนึ่งในธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งน่าจะสะท้อนความเป็น ดร.สมได้เป็นอย่างดี แม้เขาจะเพิ่งเข้ามาบริหารธนาคารแห่งนี้ได้เพียง 3 ปีเท่านั้น

ความสำเร็จของเขาในการบริหารงานภายในคือเขาสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา เขาจึงได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากพนักงานในธนาคาร

ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ ดร.สมได้รับจากการบริหารงานในธนาคารนครหลวงไทยนั้นดูจะสอดคล้องกับแนวการดำเนินชีวิตที่เขายึดถือปฏิบัติตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นแรงสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในวงการ การผ่อนปรนเงื่อนไขในการปรับรูปบัญชี การให้จ่ายเงินโบนัสให้พนักงาน การเข้าไปร่วมลงทุนกับลูกค้า กระทั่งการยอมรับนับถือของบรรดาผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในการกำหนดราคาขายหุ้นออกใหม่ที่ไม่เอาเปรียบผู้ซื้อมากจนเกินไป ล้วนแต่เป็นสิ่งเกื้อหนุนให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน และเขาเองก็ได้แสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ออกไปให้เห็นแล้ว

เปรียบเสมือนแรงลมส่งให้นครหลวงไทยบินสูงได้ในปัจจุบัน

แต่กลางปี 2535 เป็นต้นไปแรงลมจากทางการที่เคยหนุนช่วยมา 5 ปีจะยุติลง นครหลวงไทยภายใต้การนำของดร.สมจะต้องคืนวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่เคยทำรายได้ปีละกว่า 200 ล้านกลับคืนทางการ ถึงเวลานั้นดร.สมและคณะจะยังคงนำนครหลวงไทยบินสูงเหมือนเดิมหรือไม่ เมื่อเขาวางเป้าหมายไว้ในปี 2535 ว่าจะต้องทำกำไรสุทธิให้ได้ 440 ล้านและขยายเงินกองทุนให้ได้ 5,332 ล้านบาท หรืออีกนัยหนึ่งต้องมีความสามารถสร้างผลกำไรต่อเงินกองทุนในสัดส่วนร้อยละ 12 สิ่งนี้คือการท้าทายที่สุด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us