Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2533
สมภพ อมาตยกุล ในสถานการณ์ "สมองไหล" ที่ไอบีเอ็ม?!!             
 

   
related stories

อดีตที่ยาวนานของไอบีเอ็มไทย

   
search resources

ไอบีเอ็ม ประเทศไทย, บจก.
Computer
สมภพ อมาตยกุล




สถานการณ์ "สมองไหล" ในไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) เกิดขึ้นเมื่อมีพนักงานระดับบริหาร ทั้งฝ่ายการตลาด ช่าง แม้กระทั่งฝ่ายการเงินทยอยลาออกกันทุกเดือนทุกปี ผลกระทบที่ตามมาคือขวัญและกำลังในของพนักงานที่ยังอยู่เริ่มสั่นคลอน แม้การโยกย้ายเข้าออกของพนักงานจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปในหลายบริษัท แต่ทำไมเรื่องที่เกิดขึ้นในบริษัทต่างชาติซึ่งมั่นคงเข้มแข็งแห่งนี้จึงไม่เหมือนที่อื่น ๆ ? ปมปัญหาขมวดอยู่ที่สมภพ อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการคนปัจจุบัน ถึงกับมีเสียงกล่าวว่าหากย้าย สมภพออกไปปัญหาทุกอย่างแทบจะคลี่คลายไปโดยฉับพลัน!!??

กรรมการผู้จัดการคนไทย คนแรกในบริษัทยักษ์ใหญ่ ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) กำลังตกเป็นเป้าหมายสำคัญของอดีตพนักงานไอบีเอ็ม (EX-IBMERS) ที่ระเห็จออกจากยักษ์ใหญ่สีฟ้าหลายสิบคน หลายคนออกไปเร็วกว่าเวลาที่ตัวเองคาดหมายไว้ บางคนออกอย่างไม่เคยคาดหมายและไม่รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน มีหลายคนที่ออกแล้วทำให้เกิดความประหลาดใจแก่คนที่ออกไปก่อนหน้านั้น

ทุกคนที่ออกจากไอบีเอ็มกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า "ถ้ากรีดเลือดผมออกมาตอนนี้ก็ยังเป็นสีน้ำเงินอยู่ ผมรักไอบีเอ็ม และซาบซึ้งใจที่บริษัทยอมทุ่มเทงบประมาณเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของพนักงานอย่างเต็มที่ ชนิดที่บริษัทอื่น ๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทยเวลานี้ทาบไม่ติด และที่ผมทำมาหากินได้ทุกวันนี้ ก็เพราะความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากไอบีเอ็ม"

ในเมื่อคนเหล่านี้ต่างรักบริษัทที่ตัวเองเคยร่วมงานเฉลี่ยคนละไม่น้อยกว่า 7-8 ปี ทำไมพวกเขาต้องลาออก ถูกบีบให้ออกและถูกให้ออก? ครั้นเมื่ออกมาแล้วต่างได้ดิบได้ดีในหน้าที่การงานกันเป็นทิวแถว ต่างกล่าวปกป้องไอบีเอ็ม และต่างกล่าวพาดพิงให้ร้ายสมภพในทางใดทางหนึ่ง !

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร? ทำไมจึงมีการกล่าวหาผู้บริหารสูงสุดเพียงคนเดียวของ ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ไม่รู้จักหยุดหย่อน อดีตพนักงานรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่แม้เวลาจะผ่านเลยมาเป็นสิบ ๆ ปีก็ไม่ช่วยให้อคติที่มีต่อสมภพเจือจางลงได้ สมภพกล่าวถึงเรื่องที่เขาถูกกล่าวหาอย่างไรบ้าง? เหตุที่ทำให้สมภพถูกกล่าวหาคืออะไร?

30 ปีเต็มที่สมภพ อมาตยกุล ทุ่มเทชีวิตการทำงานของเขาที่ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) เขาได้รับการตอบแทนคุ้มแรงกายแรงสมองด้วยการได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการเมื่อปี พ.ศ. 2529 เป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นมาถึงตำแหน่งสูงสุดนี้ได้!

ตลอด 30 ปี ในชีวิตการทำงานที่ผ่านมาของสมภพ ว่ากันว่าเขาเป็นสร้างปรากฎการณ์สำคัญที่บุคคลากรในวงการคอมพิวเตอร์ไทย ไม่อาจลืมเลือนได้ นั่นคือเขาเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญ ในการผลักดันหรือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ต้องสูญเสียมือดีจำนวนมาก ทั้งฝ่ายช่างและการตลาดไปให้กับบริษัทอื่น ๆ ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนแต่ผ่านการฝึกอบรมอย่างดีเยี่ยมจากไอบีเอ็ม

ด้านหนึ่งสมภพเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าเป็นความภูมิใจของเขาที่สมารถถ่ายเทบุคลากรในไอบีเอ็มได้ สมภพกล่าวว่า "องค์กรต้องเปิดโอกาสให้คนของเราออกไปข้างนอกบ้าง ไม่ใช่ว่าเราพยายามเก็บกักเอาไว้ เพราะว่าคนเขาอยู่กับเรามานาน เมื่อเขามีโอกาสข้างนอกที่ดีกว่าข้างใน เราก็ต้องสนับสนุนเขาไป ไม่ใช่ไปหวงไว้เก็บเขาไว้"

การโยกย้ายตำแหน่งงานกันเป็นว่าเล่นของคนในวงการคอมพิวเตอร์ดูเป็นเรื่องธรรมดา ในยุคที่สถาบันธุรกิจเอกชนมีการแข่งขันสูง ตลอดปีที่ผ่านมามีพนักงานหลายฝ่ายในไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ลาออกคิดเป็น 6% ของพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 400 คน

อันที่จริงการลาออกของคนไอบีเอ็มมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยปีหนึ่ง ๆ มีคนลาออกประมาณ 1-2% ตั้งแต่สมัยประทิน บูรณบรรพตซึ่งออกไปอยู่การบินไทย และปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหารไทยเซโรแกรฟฟิค ซิสเท็มส์ ไพฑูรย์ จุลบุตรและมานิต จิตรวัฒนากร ซึ่งก็ล้วนไปมีตำแหน่งใหญ่โตที่การบินไทย กระทั่งมนู อรดีดลเชษฐ และณรงค์ ศุภพิพัฑฒน์ ที่ออกมาร่วมกันก่อตั้งดาต้าแมท ร่วมปลุกปั้นกันจนใหญ่โตอยู่ในปัจจุบัน

อดีตพนักงานไอบีเอ็มเหล่านี้กล่าวคล้าย ๆ กันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าสาเหตุที่เขา ลาออกจากไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ก็เนื่องมาจากสมภพ อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) คนปัจจุบัน

ส่วนพนักงานที่ออกมารุ่นล่าสุด ซึ่งห่างจากรุ่นก่อนมากกว่า 10 ปี และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็น 6% (ดูรายชื่อพนักงานระดับบริหารที่ออกจากไอบีเอ็ม) ไล่มาตั้งแต่นิวัฒน์ บุญทรง, นิมิตร หมดราคี, สุวิทย์ นันทวิทยา, บุญมา ภีระคำ, วีรศักดิ์ วหาวิศาล และพัลลภ นาคพิทักษ์ กล่าวถึงสาเหตุขอการลาออกของพวกเขาหลายอย่าง นอกเหนือจากเรื่องสมภพแล้วก็เป็นเพราะโอกาส ก้าวหน้าในการงานภายนอกมีมากกว่าในไอบีเอ็ม

เหตุการณ์ที่ทำให้คนในวงการรวมทั้งอดีตพนักงานที่ลาออกมาก่อนหน้านี้พากันประหลาดใจอย่างมากคือกรณีของนิวัฒน์และพัลลภ ว่ากันว่ารายแรกเป็นกรณีอกหัก ส่วนรายหลังเป็นคำสั่ง ที่ไม่ได้บอกกล่าวให้รู้ล่วงหน้ากันมาก่อน ประเภทจู่โจมขนาดที่ว่าเจ้าตัวยังนั่งคุยงานกับลูกน้อง อยู่เลยด้วยซ้ำ!

สาเหตุที่พนักงานลาออก ถูกบีบให้ออกและถูกให้ออกกันมากนอกจากจะประมวลอยู่ที่ตัวสมภพแล้ว ยังมีรายละเอียดในแง่ของโครงสร้างการบริหาร อำนาจการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ประกอบกับในธุรกิจคอมพิวเตอร์และอินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยีเริ่มมีบริษัทต่างชาติขยายตัวเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้ทางเลือกของคนไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) มีมาก

อดีตพนักงานคนหนึ่งกล่าวว่า "การเติบโตของธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาปีสองปีนี้เป็นสิ่งที่ผมอาจจะไม่ได้พบเห็นอีกในชั่วชีวิตนี้ หากผมไม่ออกมาทำอะไรที่เป็นของตัวเองบ้างก็คงไม่มีโอกาสอีกแล้ว"

บางคนกล่าวในทำนองคิดตกว่า "ในเมื่อผมสามารถทำยอดขายให้บริษัทได้มากมายถึงเพียงนี้ ผมเอาเพียงไม่เกิน 5% ของยอดขายที่ทำได้ก็พอแล้ว ดังนั้นผมออกมาทำข้างนอกเองจะ ดีกว่า สบายใจกว่ามากด้วย"

สมภพกล่าวอย่างเปิดใจกับ "ผู้จัดการ" เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในไอบีเอ็มเมื่อ เร็ว ๆ นี้ว่า "ความเปลี่ยนแปลงในไอบีเอ็มนี่เป็นสิ่งที่เราทำอยู่โดยสม่ำเสมอ เพื่อที่จะให้การเจริญเติบโตของไอบีเอ็มก้าวหน้าต่อไปได้ ซึ่งผมอยากเรียกว่าเป็น TRANSFORM มากกว่า CHANGE"

อันที่จริงการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ในปัจจุบันเกิดมาตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งเป็นปีแรกที่สมภพเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ สมภพพยายามมองไปข้างหน้าเพื่อหาวิธีทำธุรกิจที่เหมาะสม สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกคือนโยบาย REDEPLOY หมายถึงการโยกย้ายคนจากที่ ๆ หนึ่งไปยังที่ ๆ บริษัทฯ คิดว่าเขาสามารถใช้ความรู้ทำงานได้ดีที่สุด

สมภพกล่าวว่า "เรา REDEPLOY คนหลายสิบคนจากตำแหน่งอื่น ๆ ไปหาการตลาด เหตุ ที่ทำอย่างนี้เพราะงานทางด้านอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี ต้องการคนเข้าไปช่วยงานลูกค้ามากขึ้น"

ทิศทางที่สมภพต้องการให้เป็นไปในเวลานั้นคือการกระจายการตัดสินใจ นั่นคือแทนที่อำนาจการตัดสินใจทุกอย่าง จะอยู่ในกำมือของระดับบริหารก็ให้กระจายไปสู่คนอื่น ๆ บ้าง สมภพกล่าวว่า "อย่างเรื่องการทำงานที่เป็นงานบริหารประจำวัน ผมก็กระจายไปให้ผู้จัดการฝ่ายเป็นคนทำทั้งหมด ไม่มีการเก็บเอาไว้ งานของผมจะไม่เกี่ยวข้องกับการจ้างคน ไล่คนออก หรืองานที่เกี่ยวกับการตลาด งานเหล่านี้ผมกระจายไปข้างล่างหมดเพื่อให้การตัดสินใจเร็วขึ้น"

สิ่งที่เป็นหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการอย่างสมภพคือการมองไปข้างหน้า การไปสร้างธุรกิจใหม่ เช่น การตั้งบริษัทไอบีเอ็มลีสซิ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขายเครื่องในระบบเงินผ่อน ตั้งบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับไอบีเอ็ม เช่นการร่วมทุนกับกลุ่มล็อกซเล่ย์ ตั้งบริษัท โปรเฟสชั่นแนล คอมพิวเตอร์ จำกัด (PCC) และยังมีอีก 3-4 บริษัทที่สมภพเปิดเผยว่ากำลังเตรียมสร้างขึ้นมา ราย ล่าสุดคือการร่วมกับนักลงทุนอื่น ๆ ซื้อหุ้นบริษัท SCT COMPUTER ประมาณ 30%

การตั้งบริษัทเหล่านี้มีเป้าหมายหลายอย่าง ทั้งการให้บริการที่ดีขึ้น และเพื่อให้มีผู้สนับสนุนไอบีเอ็มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้พนักงานไอบีเอ็มมีทางก้าวหน้ามากขึ้น สมภพต้องการทำให้โครงสร้างไอบีเอ็มแทนที่จะเป็นสามเหลี่ยมยอดแหลม ซึ่งมีตำแหน่งสูงสุดเพียงตำแหน่งเดียว แตกแขนงออกไปเป็นสามเหลี่ยมคางหมู ที่มีทั้งบริษัทในเครือและมีตำแหน่งสูงสุดมากขึ้น

สมภพเรียกการขยายธุรกิจอันนี้ว่า "เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้บริหารและพนักงานที่มีความสามารถโตต่อไปในองค์กรต่าง ๆ ที่ผมสร้างขึ้นมา"

อย่างไรก็ดี สมภพตระหนักว่าแผนการนี้เป็นสิ่งที่เกิดในไอบีเอ็มทั่วโลก "ถ้าผมทำเพื่อส่วนรวมและมันเป็นทิศทางที่ทุกคนก็ทำกัน ไม่ใช่เฉพาะที่ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ผมก็ควรทำ ผมรู้ดีว่าคนมักไม่ชอบการโยกย้ายเปลี่ยนแปลง เพราะจะต้องไปเริ่มต้นเรียนรู้กันใหม่ อยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ซึ่งระยะแรกอาจจะอึดอัด แต่เมื่ออยู่ไปแล้วปรับตัวได้ ก็ปรากฎว่ามีหลายคนที่ก้าวหน้าไปด้วยดี"

นอกจากเรื่อง REDEPLOY แล้วในปี 2530 สมภพได้ปรับสายงาน (LAYER) ลดลงด้วย ในช่วงนั้นมีคนลาออกไปบ้างเพราะ "ผมไม่สามารถที่จะสร้างความพอใจให้คนได้ 100% เต็ม แต่ นี่คือวิธีที่จะพัฒนาคนในอีกรูปแบบหนึ่ง แทนที่จะจำเจอยู่กับงานประเภทเดียว"

แต่เดิมโครงสร้างการทำงานในไอบีเอ็มมีหลายระดับชั้น เป็นผลให้แนวความคิดต่าง ๆ ที่มาจากส่วนบริหาร ใช้เวลาเดินทางนานกว่าจะมาถึงระดับปฏิบัติการในส่วนล่าง สมภพอธิบายว่าโครงสร้างแบบนี้อุ้ยอ้ายเกินไป มีจำนวนพนักงานขึ้นต่อผู้จัดการคนหนึ่งน้อยไปเพียง 5-6 คนเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้จัดการมีเวลาอยู่กับพนักงานมากเกินไป

"สิ่งที่ผมต้องการคืออยากให้พนักงานมีโอกาสเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เพราะพนักงานเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการสร้างความเจริญเติบโตให้บริษัท และผมอยากจะสร้างแนวความคิดใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นมาจากระดับพนักงานให้มาก ผมไม่ต้องการให้พนักงานมีแนวความคิดเหมือนผู้จัดการแต่ถ่ายเดียว หากผู้จัดการอยู่กับลูกน้อง 2-3 คนนี่รับรองว่าแค่ปีเดียวบรรดาลูกน้องก็ต้องคิดเหมือนผู้จัดการ ผมไม่อยากเห็นอย่างนั้น ผมต้องการให้มีอย่างน้อย 12 คน เพื่อที่ว่าผู้จัดการจะได้ไม่ครอบงำความคิดลูกน้อง หน้าที่ผู้จัดการคือให้เป็นผู้คอยชี้แนวทางและให้กำลังใจลูกน้องมากกว่า"

สมภพอธิบายว่า "ผู้จัดการต้องไม่ใช่ผู้ควบคุมแต่ใช้วิธีการจูงใจลูกน้อง หากมีลูกน้องสัก 12 คนนี่คงไม่สามารถควบคุมได้แน่"

โครงสร้างก่อนหน้าที่สมภพจะขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการนั้น มีระดับชั้นอยู่มากมายหลายระดับ สิ่งที่ปรับในปี 2530 คือลดระดับชั้นให้เหลือน้อยลง มีลักษณะเป็น FLAT ORGANIZATION หมายความว่ารองจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการลงมาเป็นระดับผู้จัดการฝ่าย ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 13 ฝ่าย แต่ละฝ่ายมีจำนวนคนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ถัดจากระดับผู้จัดการฝ่าย จะเป็นระดับผู้จัดการแผนกแล้วก็ลงมาที่พนักงานเลย

แนวคิดในการปรับโครงสร้างการบริหารงานในไอบีเอ็มของสมภพมีชุดของคำอธิบายว่า ทฤษฎีการบริหารสมัยก่อนคิดว่าความสำเร็จขององค์กรขึ้นอยู่กับผู้บริหาร และคนที่เป็นกรรมการผู้จัดการคือคนที่มีบทบาททำอะไรหมดทั้งบริษัท แต่สมภพยืนยันว่า "ไอบีเอ็มไม่ได้เป็นอย่างนั้น เรากระจายอำนาจการตัดสินใจลงข้างล่างหมด ยิ่งกระจายมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นการดี อีกประการหนึ่งคือความก้าวหน้าของบริษัทอยู่ที่ความคิดใหม่ ๆ ของพนักงานทุกคน"

บนหลักการนี้สมภพได้พยายามลดการครอบงำโดยการลดระดับชั้นการบริหาร ซึ่งผลที่ตามมาคือตำแหน่งของพนักงานบางคนก็หายไปเสียเฉย ๆ ทว่าตรงจุดนี้ไม่มีผลกระทบต่อเงินเดือน สมภพยืนยันว่า "ถึงจะมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่งก็ตาม แต่เงินเดือนนี่ไม่มีการลด"

การปรับโครงสร้างที่สมภพกล่าวถึงมีที่จำเป็นต้องให้ความสนใจเพิ่มเติมนอกเหนือจากแนวคิดของสมภพ เพราะโครงสร้างเดิมในเวลานั้นมีการแยกฝ่ายการตลาดออกไปเป็นเอกเทศ ขึ้นต่อผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (ASSISTANT GENERAL MANAGER) คือชาญชัย จารุวัสตร์แต่ผู้เดียว

ชาญชัยเป็นคนไอบีเอ็มที่ในวงการยอมรับว่าเป็นผู้มีฝีมือมากที่สุดผู้หนึ่ง ว่ากันว่าฝีมือของเขาทำให้ตัวเองต้องระหกระเหินไปอยู่ต่างประเทศเสียมากกว่าจะประจำที่ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ชาญชัยเริ่มต้นด้วยการเป็นพนักงานขายของไอบีเอ็ม เมื่อปี 2514 ผ่านการฝึกอบรมในระบบของ ไอบีเอ็มทั้งในและต่างประเทศ

7 ปีต่อมาชาญชัยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด รับผิดชอบงานขายภาคเอกชนหลังจากที่เคยดูแลลูกค้าธนาคารพาณิชย์และตลาดราชการมาก่อนแล้ว ช่วงที่ดูแลงานขายภาคเอกชนชาญชัยฝากชื่อเสียงและผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่เรียกว่า "แผนเจ็ดไหมฟ้า" ซึ่งเป็นการประมวลการใช้สื่อโฆษณาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีของไอบีเอ็ม

ชาญชัยประสบความสำเร็จงานบริหารการตลาดอย่างมากจนต้องระเห็จไปรับตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนกบุคคลและบริหารงานที่ไอบีเอ็มฮ่องกงในปี 2524 ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ต่างออกไปจากที่เขามีความถนัดเชี่ยวชาญอยู่!!

การโยกย้ายครั้งนั้นทำให้ชาญชัยและคนไอบีเอ็มรู้ซึ้งถึงความหมายของตัวอักษร IBM ที่ไม่ใช่อักษรย่อของชื่อบริษัท INTERNATIONAL BUSINESS MACHINECORP หากแต่หมายความว่า I'VEBEENMOVED เป็นอย่างดี !!

ชาญชัยยังเทียวไปเทียวมาระหว่างฮ่องกง 2 ปีแล้วกลับมาประจำไทย 2 ปีต่อด้วยโตเกียว 2 ปีกลับมาไทย 2 ปีและล่าสุดเดินทางไปประจำสิงคโปร์เมื่อ 2532 ซึ่งไอบีเอ็มย้ายสำนักงานภูมิ-ภาคจากฮ่องกงมาที่นี่ ในตำแหน่ง DIRECTOR OF MARKETING OPERATION รับผิดชอบ ดูแลตลาดในเขตเอเชีย-แปซิฟิกยกเว้นญี่ปุ่น

การขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ของชาญชัยในปี 2530 ซึ่งเท่ากับเป็นมือสองในไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) นั้นนับว่าเป็นการได้รับการโปรโมทอย่างมาก เพราะเขาเป็นคนไทยคนที่สองในตำแหน่งนี้ หลังจากที่สมภพเคยได้รับการโปรโมทในตำแหน่งนี้มาก่อนหน้าแล้วและเลื่อนขึ้น เป็นคนแรกในตำแหน่ง GENERAL MANAGER ที่เป็นคนไทย

ชาญชัยดูแลการตลาดทั้งหมดของไอบีเอ็มโดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่มีการแทรกแซงยุ่งเกี่ยวจากฝ่ายอื่น ในปี 2531 ไอบีเอ็ม(ประเทศไทย) ทำรายรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,579 ล้านบาทหรือคิดเป็น การเติบโตจากปีก่อนหน้า 16.9% ส่วนปี 2532 นั้นยิ่งทำรายรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 48.3% คิดเป็น 2,342 ล้านบาท ส่งผลให้ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ได้รับรางวัล COUNTRY OF THE YEAR ในตลาด เอเชีย-แปซิฟิก และตัวชาญชัยก็ได้รางวัลผู้จัดการขายยอดเยี่ยมด้วย (ดูตารางรายรับของไอบีเอ็มไทย)

ความสำเร็จของชาญชัยนั้นมาจากการที่ทีมงานที่ดี เขาไม่ได้คุมแต่ด้านมาร์เก็ตติ้ง โอเปอเร-ชั่นเท่านั้น แต่ยังผนวกเอามาร์เก็ตติ้ง ซัพพอร์ตและซิสเต็ม เอนจิเนียร์เข้าไว้ด้วย ทำให้ทีมงาน สมัยนั้นเข้มแข็งมาก

ครั้นชาญชัยเดินทางไปสิงคโปร์ ผู้ที่ได้รับการโปรโมทขึ้นมาแทนคืออนันต์ ลี้ตระกูลซึ่งเป็นผู้ที่เคยร่วมงานกับชาญชัยมาก่อน แต่โครงสร้างงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง ซัพพอร์ตและซิสเต็ม เอนจิเนียร์โอนไปขึ้นต่อกรรมการผู้จัดการ ส่วนอนันต์ก็ดูแลแต่เฉพาะการตลาดล้วน ๆ ซึ่งแยกออกเป็น 4 ส่วนมีผู้จัดการที่ต้องรายงานถึงเขารวม 4 คน

ตลาดทั้งสี่ได้แก่ ตลาดการเงินและธนาคาร ตลาดภาคราชการ ตลาดอุตสาหกรรม และตลาดเครื่องเล็กซึ่งต้องดูในเรื่องตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ ด้วย

โครงสร้างซึ่งแต่เดิมอำนวยให้ฝ่ายการตลาดโดดเด่นจึงเท่ากับถูกลดทอนไปเมื่อมีการ ดึงฝ่ายงานบางส่วนออกดังที่กล่าวมา แม้ว่าอนันต์ยังทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้จัดการตลาดอื่น ๆ (BRANCH MANAGER) ไม่ว่าจะเป็นพัลลภ นาคพิทักษ์, ธีระศักดิ์ ตั้งพูนผลวิวัฒน์, ชานนท์ ศิลปีและปราโมทย์ พงษ์ทอง แต่ปัญหาคือส่วนงานสนับสนุนฝ่ายตลาด (มาร์เก็ตติ้งซัพพอร์ตและซิสเต็ม เอ็นจิเนียร์) จะขาดหายไปเพราะต่างไปขึ้นตรงต่อกรรมการผู้จัดการ เท่ากับอยู่ใน LAYER เดียวกับอนันต์นั่นเอง

โครงสร้างไอบีเอ็มแบบ FLAT ORGANIZATION เริ่มมา 2 ปีแล้ว และไม่ใช่ใช้เฉพาะที่ไอบีเอ็มไทยเท่านั้น แต่เริ่มในทั่วโลก เดิมจะมี GM แล้วก็ผู้จัดการระดับ 4 แล้วก็มาผู้จัดการระดับ 3, 2 และ 1 แล้วก็มาพนักงาน ซึ่งกว่าที่พนักงานจะนำเรื่องขึ้นไปได้ก็ต้องผ่านหลายชั้น ดังนั้นจึงมีการตัด HIERACHY ออกซึ่งนิวัฒน์ บุญทรงอดีตคนไอบีเอ็มที่ลาออกไปเมื่อต้นปียืนยันว่า "เรื่องนี้ไม่ทำให้พนักงานเสียประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ระดับเท่าเดิม เงินเดือนเท่าเดิมแต่เป็นการช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น"

ในฝ่ายการตลาดจะเป็นหน่วยเดียวที่มีระดับมากที่สุดประมาณ 4 ระดับคือ GM ถัดมาเป็น SALE MANAGER ต่อมาเป็น BRANCH MANAGERแล้วก็มี MAKETTING MANAGER ส่วนหน่วยอื่น ๆ จะมี GM ผู้จัดการฝ่าย ผู้จัดการระดับอื่น ๆ แล้วก็พนักงานซึ่งมีประมาณ 3 ระดับ

นิวัฒน์กล่าวว่า "นี่เป็นโครงสร้างที่ถูกต้อง ผมเป็นคนร่วมทำกับคุณสมภพเอง แต่ในแต่ละฝ่ายก็มีลำดับที่แตกต่างกันไปอีก มีฝ่ายเล็กฝ่ายใหญ่ คุณประวิทย์ คุณอนันต์นี่ฝ่ายใหญ่ และมีการพยายามเอางานมาให้ทำเท่า ๆ กัน อย่างฝ่ายบัญชีการเงินนี่ก็ต้องทำด้านการวางแผนด้วย ฝ่ายบุคคลสมัยก่อนทำบุคคลอย่างเดียว ช่วงหลังก็เอาเรื่องซีเคียวริตี้ เรื่องควอลิตี้มาให้มากมาย ทำให้มีงานทำเท่า ๆ กัน โดยทั้งหมดต้องรายงานต่อ GM ทุกฝ่าย"

สำหรับตำแหน่ง AGM นั้นนิวัฒน์อธิบายว่าเป็นตำแหน่งชั่วคราวเท่านั้น หากให้เป็นถาวร ก็เท่ากับเป็นการสร้างระดับชั้นเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นการขัดกับนโยบายหลักและในระดับฝ่ายอาจจะ ไม่พอใจได้ การมีตำแหน่งนี้ในสมัยก่อนเพราะไม่มีตำแหน่งให้สมภพลงเมื่อถูกย้ายกลับมาจากไต้หวัน ดังนั้นจึงมาเป็น AGM คุมด้านการบริหารงานทั่วไป แม้แต่ชาญชัยเองก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับสมภพเมื่อกลับมาจากฮ่องกง จึงมาลงที่ตำแหน่ง AGM คุมงานช่าง

อดีตพนักงานไอบีเอ็มตั้งข้อสังเกตว่าการลดระดับชั้นของไอบีเอ็มน่าจะหมายถึงการยุบตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการที่ชาญชัยเคยเป็นมากกว่า และดึงเอางานทั้งหมดมาขึ้นตรงรายงานต่อกรรมการผู้จัดการเพียงผู้เดียว

ด้วยเหตุนี้ ข้อครหาในเรื่องที่ว่าสมภพรวบอำนาจจึงกระหึ่มไปทั่วองค์กร และกระหึ่มออกมาภายนอกเมื่อคนไอบีเอ็มคนแล้วคนเล่าต่างออกมาเล่าต่อ ๆ กันไปในวงการ

ทว่าตลอดเวลาที่ถูกซักถามในเรื่องนี้ สมภพยังยืนยันในหลักการของเขาอย่างเหนียวแน่น สมภพมีความมั่นคงในสิ่งที่เขาคิดและทำมาก ในการสัมภาษณ์อย่างเปิดใจกับ "ผู้จัดการ" สมภพกล่าวว่า "ผมเป็นผู้จัดการมืออาชีพ ต้องมีความอดทนเพราะเขาจ้างเรามา เขาให้ VISION เรามาเป็นแผน 1 แผน 2 ต้องทำให้สำเร็จ ถ้าจะมากลัวว่าคนจะไม่รักเรา เราเลี่ยงไปเลี่ยงมา จะไม่ถือว่าเป็นมืออาชีพ คนเป็นผู้จัดการต้องทำใจให้ได้อย่างหนึ่งว่า ไม่มีใครรักเรา"

สมภพโต้แย้งข้อกล่าวหาเรื่องการรวบอำนาจว่า "คนในระดับผู้จัดการฝ่ายจะมีงานล้นมือทุกวันซึ่งเป็นงานที่เขาคิดขึ้นมาเอง ในงานประจำวันนี่ผมไม่ต้องเซ็นชื่ออะไรเลย ผมจะคอยดูแล ในเรื่องนโยบายต่อไปข้างหน้าว่าเราจะทำธุรกิจอะไรเพิ่มเติม และจะทำอย่างไรให้นโยบายที่บริษัทแม่ให้มาเป็นจริงขึ้นมาได้ ทุกวันพุธผมกับบรรดาผู้จัดการฝ่ายจะมากินข้าวกลางวันด้วยกัน ทุกเดือนต้องมาเจอกันเพื่อนำปัญหาของแต่ละฝ่ายมาปรึกษาหารือกัน และการตัดสินใจในส่วนสำคัญ ๆ เราจะมาตัดสินใจร่วมกัน ส่วนเรื่องคนออก หากเป็นระดับพนักงาน ผู้จัดการฝ่ายจะเป็นคนตัดสินใจ แต่ถ้าเป็นระดับผู้จัดการ เราจะมาคุยกันก่อน"

สมภพยังโต้กลับในเรื่องที่กล่าวหาว่าเขาเป็นคนหยุมหยิม ยุ่งไปในทุกงานทุกฝ่าย มีคำสั่งออกไปในทุกเรื่องว่า "ไม่จริง ในบางเรื่องนี่ผมไม่ได้รู้เรื่องเลย หากมีเรื่องขึ้นไปถึงผู้จัดการใหญ่มาก ๆ อย่างที่ว่ามา แสดงว่าในระดับผู้จัดการฝ่ายมีลักษณะที่เป็นตัวโปร่งใสอยู่มาก เรื่องไม่ดีต่าง ๆ จึงทะลุขึ้นไปหาผู้จัดการใหญ่มาก"

นิวัฒน์ซึ่งเข้าร่วมงานกับกลุ่มชินวัตรในตำแหน่ง GROUP GENERAL MANAGER หลังออกจากไอบีเอ็ม เมื่อกุมภาพันธ์ 2533 กล่าวถึงอดีตเจ้านายเก่าของเขาว่า "ผมว่าคุณสมภพก็ได้พยายามทำงานให้ดีที่สุดขยันขันแข็ง มีความตั้งใจ ทุ่มเทตัวเองให้กับบริษัทและพนักงาน สมัยผมอยู่มีโปรแกรมออกมาเป็นโบนัสกลางปี มีเงินกู้รถ พยายามเอาอกเอาใจกันมากทีเดียว ผมว่าสมัยนี้คุณสมภพก็ยังพยายามทำอยู่ แกมีความตั้งใจที่ดีกับพนักงานและบริษัทมากนะ ผมไม่รู้ว่าคนไม่ชอบคุณสมภพตรงไหน ความที่เป็นคนจริงจังมากในการทำงานหรือ เพราะพูดมากหรือผมว่าคน ที่จะเข้ากับคุณสมภพไม่ได้คือคนที่ไม่ขยันขันแข็งในการทำงาน ไม่ทุ่มเต็มตัว ก็มีบ้างในเรื่องคำพูดคำจาแต่ก็ไม่น่ายึดเป็นสาเหตุกัน"

แต่คนเก่า ๆ ที่ออกจากไอบีเอ็มตั้งหลายสิบปีมาแล้ว ก็ไม่ชอบสมภพด้วยเหมือนกัน มีผู้ที่กล่าวถึงสมภพในแง่ร้ายมาก ๆ ว่าสมภพเป็นผู้ที่มุ่งแต่ประโยชน์ตนถ่ายเดียว ผู้อื่นจะเป็นอย่างไร ไม่สนใจ เทคนิคการปกครองของสมภพคือการสร้างความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้น สมภพกลัวว่าลูกน้องจะมีความเป็นปึกแผ่นในการทำงาน จึงมักจะเรียกคุยกับลูกน้องเป็นคน ๆ ไปมากกว่าที่จะมีการเรียกประชุมรวม และทุกอย่างที่คุยสมภพจะถือเป็นความลับหมด ห้ามมิให้ ไปพูดคุยกันภายนอก

ผู้เคยร่วมงานกับสมภพกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ในไอบีเอ็มนั้นมีคนอยู่ไม่กี่ประเภท และประเภทหนึ่งที่เป็นใหญ่เป็นโตคือพวกที่มีลักษณะฆ่าลูกน้องฟ้องนายขายเพื่อน คนพวกนี้กลายเป็นคนไม่มีเพื่อน กลายเป็นผู้ที่สร้างบรรยากาศการทำงานที่ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้น"

อดีตคนไอบีเอ็มถึงกับกล่าวว่า "หากจะให้ภาพพจน์ดีขึ้น เรียกขวัญกำลังใจกลับมาก็ต้องให้สมภพออกไป" !!!

นิวัฒน์ให้ข้อคิดเห็นว่า "นั่นอาจเป็นเพราะสไตล์การทำงานที่ต่างกันก็เป็นได้ ส่วนผมนี่ อยู่กับคุณสมภพได้สบายเพราะผมเป็นสไตล์แบบเดียวกันคือหามรุ่งหามค่ำ แต่พวกที่ทำงานแล้วมีข้อบกพร่องงานแต่ละชิ้นส่งกลับมาแก้กันอยู่ร่ำไป พวกนี้ก็อาจจะไม่ชอบก็เป็นได้ ตอนที่ผมอยู่นั้นมีการทำแบบสอบถามความคิดเห็นของพนักงาน คะแนนคุณสมภพนี่ดีมาก มีคนชอบมากถึง 80% ดีกว่าผู้จัดการคนอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งการลงคะแนนนี้ถือเป็นความลับด้วย"

ส่วนเรื่องของการเป็นกลุ่มเป็นก๊กในไอบีเอ็มนั้น ผู้ค้าเครื่องคอมพิวเตอร์รายหนึ่งให้ความเห็นว่าโดยลักษณะงานขายของไอบีเอ็มต้องการการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายช่าง มาร์เก็ตติ้ง ฝ่ายขาย ซิสเต็ม เอนจิเนียร์ต้องร่วมกันมาก เพราะการไปเสนอขายเครื่องแต่ละครั้งต้องมีทั้งการเข้าหาผู้ใหญ่ ต้องดูเรื่อง APPLICATION เรื่องช่าง เพราะฉะนั้นย่อมหนีไม่พ้นการร่วมกันเป็นทีม

สมภพมองประเด็นการสร้างพรรคสร้างพวกในไอบีเอ็มว่า "เป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างเพราะคนไม่ได้อยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ นานพอ ไม่ได้อยู่ถาวร ผมไม่คิดว่าจะมีคนสร้างฐานอำนาจหรืออาณาจักรในบริษัทนี้ ไม่มี"

อย่างไรก็ดีตัวเลขคนที่ออกจากไอบีเอ็มก็มีเพิ่มสูงขึ้นทุกปี รายล่าสุดที่ทำให้เป็นข่าวฮือฮาอย่างมากคือพัลลภ นาคพิทักษ์ อดีตผู้จัดการตลาดธนาคารและการเงินวัย 39 ปี ร่วมงานกับไอบีเอ็มนาน 10 ปี

คนในวงการรู้ว่าการออกจากไอบีเอ็มของพัลลภเป็นการออกอย่างฉุกละหุก ออกมาอย่าง "มีเรื่อง" กันอดีตพนักงานกล่าวว่า "กรณีคุณพัลลภนี่คงจะไปขัดระเบียบบริษัทอะไรบางอย่าง เพราะไอบีเอ็มไม่มีสิทธิให้พนักงานออกโดยไม่มีสาเหตุ"

แต่สิ่งที่พัลลภพยายามให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการ" ก็คือเรื่องของโอกาสข้างนอกที่มีมากกว่าข้างในไอบีเอ็ม ซึ่งเมื่อเขาออกมาข้างนอกแล้วเขาก็ได้ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป (GENERAL MANAGER) ที่บริษัท ฮัทชิสันเทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) ในทันทีโดยไม่ต้องรออย่างที่ไม่รู้ว่าจะได้เป็น GM ข้างในนั้นหรือไม่

ส่วนนิวัฒน์ให้ความเห็นเรื่องเหตุที่ทำให้คนลาออกจากไอบีเอ็มว่า "สาเหตุมีหลายอย่าง เรื่องโอกาสที่ดีกว่าข้างนอก เรื่องการไปทำธุรกิจส่วนตัวคงมีบ้างที่มีความอึดอัดใจ อาจจะไม่ใช่ กับคุณสมภพแต่อาจจะเป็นในแผนกนั้น กับเจ้านายโดยตรงโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าซึ่งมีความคิดที่ต่างกัน คนรุ่นเก่าอยู่มานานรู้ธรรมเนียมกฎเกณฑ์การปฏิบัติต่าง ๆ ดี คนรุ่นใหม่เข้ามาก็อาจจะรู้สึกรำคาญในระเบียบเหล่านี้ เป็นต้น"

พัลลภกล่าวว่า "เมื่อ 10 กว่าปีก่อนไอบีเอ็มเคยเป็นบริษัทที่ดีที่สุดบริษัทหนึ่งในเชิงของการบริหารการจัดการ เช่นเรื่องเงินเดือนที่ให้พนักงาน แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจบ้านเราโตอย่างมาก ๆ เมื่อมองออกมาข้างนอก ก็จะเริ่มรู้สึกว่าข้างนอกมีโอกาส สมัยก่อนมองออกมาข้างนอกไม่เห็นอะไรที่ดีกว่าไอบีเอ็ม อีกอย่างหนึ่งคือไอบีเอ็มนี่เป็นบริษัทที่ดีที่สุดในการให้การฝึกอบรมพนักงานทั้งด้านเทคนิคและการบริหารที่ผมอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะไอบีเอ็ม คือนอกจากว่าผมจะจบปริญญาโทการบริหารจากสหรัฐฯ แล้ว มันไม่พอหรอก มันต้องการประสบการณ์มาก ส่วนใหญ่นี่ผมได้มาจากไอบีเอ็ม ดังนั้นคนไอบีเอ็มนี่ใคร ๆ ก็อยากได้ เพราะไม่ต้องไปอบรมอะไรอีก และว่าไปแล้วคนที่อยู่ในไอบีเอ็ม ก็เป็นคนที่ไอบีเอ็มคัดเลือกมาแล้วว่าเป็นสุดยอดของ WORKFORCE ในตลาดแรงงาน"

ความจริงประการนี้เป็นที่รู้กันดีในวงการคอมพิวเตอร์ ไอบีเอ็มทุ่มเทให้กับการฝึกอบรมคนอย่างมาก สมภพกล่าวไว้ด้วยว่า "งบประมาณที่เราทุ่มเทเพื่อการอบรมพัฒนาปีหนึ่ง ๆ เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดจนปัจจุบันนี้ขึ้นมาถึง 70 ล้านบาทแล้ว"

เจ้าหน้าที่ระดับบริหารทุกคนผ่านการดูงานอบรมในต่างประเทศคนละหลาย ๆ ครั้ง นิวัฒน์ บุญทรง เคยไปเข้ารับการอบรมผู้บริหารที่ไอบีเอ็ม โตเกียว พัลลภไปเป็น MARKETING OPERATION MANAGER ที่ฮ่องกง 2 ปีรับผิดชอบนโยบายการตลาดของไอบีเอ็มในแถบเอเชีย อนันต์ก็เคยประจำที่ฮ่องกงด้วยเหมือนกัน สมภพเคยไปประจำที่ไอบีเอ็ม ไต้หวัน ส่วนชาญชัยนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเซียนในเอเชียเพราะไปอยู่ทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ โตเกียว

อดีต EX-IBMER รุ่นแรก ๆ เคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "คนไอบีเอ็มนั้นไม่ได้มีชื่อเฉพาะเรื่องคอมพิวเตอร์อย่างเดียว แต่มีชื่อในเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง และแมเนจเม้นท์ด้วย และเวลาไอบีเอ็มรับพนักงานก็เอาเฉพาะคนดี ๆ เก่ง ๆ และที่ผมทำงานมาได้ดีในหลาย ๆ เรื่องก็ต้องยกให้เป็นบุญคุณของไอบีเอ็ม"

เมื่อคนเก่ง ๆ มาอยู่ด้วยกันขณะที่การโปรโมทพนักงานทำได้เป็นคน ๆ ไป ไม่อาจจะทำเป็นหมู่ได้เพราะในแผนกงานหนึ่ง ก็จะมีคนที่กินตำแหน่งสูงสุดได้เพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น ดังนั้นก็ต้องมีคนผิดหวัง ซึ่งคนเหล่านี้ก็ต้องมองหาโอกาสข้างนอกที่ดีกว่าเป็นธรรมดา บริษัทที่ดีที่สุดมีคนเก่งมากที่สุด ก็มีโอกาสที่จะเสียคนไปได้เหมือนกัน

ประทิน บูรณบรรพต กรรมการและประธานบริษัทไทยเซโร แกร็ฟฟิค ซิสเท็มส์ จำกัดอดีตคนไอบีเอ็มเมื่อราว 15 ปีก่อนให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ถึงคนจะออกไปมาก หากว่าพวกเขายังแฮปปี้อยู่ยังไงเสียก็ต้องซื้อเครื่องไอบีเอ็มอยู่ดี"

ประทินให้ความเห็นด้วยว่า ไอบีเอ็มจริง ๆ แล้วมีระบบการบริหารที่ดี เพราะมีการ CHECK& CONTROL ในหลายระดับ หากทุกคนรับสไตล์การบริหารของไอบีเอ็มมาได้เต็มที่จะบริหารได้ดีและทุกคนก็จะมีความสุข สังเกตดูว่าการจัดองค์กรของไอบีเอ็มนี่ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในทุกจุด"

แต่ในแถบตะวันออกไกลดูเหมือนจะยังไม่สำเร็จเพราะในอดีตการขายคอมพิวเตอร์ใน แถบตะวันออกไม่ว่าจะไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน เป็นประเทศที่มีภาษีสูง เครื่องคอมพิวเตอร์จะค่อนข้างแพง และคนมีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษการทำตลาดจะลำบากมาก

เมื่อการทำตลาดเป็นไปด้วยความลำบากผู้บริหารที่สหรัฐฯ ตรงมุมถนนในสหรัฐฯ เสียด้วยซ้ำไม่อาจเทียบกับสาขาในแต่ละเมืองได้ คนไอบีเอ็มที่เคยมีประสบการณ์การทำงานกับไอบีเอ็มในสหรัฐฯ กล่าวว่า "ไอบีเอ็ม" สาขาตรงมุมถนนยังขายได้มากกว่าสาขาประเทศไทยทั้งประเทศ"

สภาวะของตลาดในเอเชียมีโอกาสโตได้น้อยดังนั้นบริษัทแม่จึงมักไม่ค่อยส่งคนดีมา บริหารคนดี ๆ เก็บไว้ที่สหรัฐ ก็มีบางคนที่ใช้ได้และบางคนที่แย่มาก คนเหล่านี้ก็มาเพาะเชื้อเลยทำให้การบริหารอย่างไอบีเอ็มไม่ได้เกิดที่นี่ 100 % เต็ม

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังตลาดเอเชียกลับมีการขยายตัวด้านคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีอย่างมาก ๆ เสียยิ่งกว่าในตลาดสหรัฐฯ และยุโรป แม้ว่ามูลค่าการขยายตัวจะยังไม่สูงเท่าก็ตาม ไอบีเอ็ม หันมาใช้นโยบายให้คนท้องถิ่นขึ้นบริหารแทน

อดีตพนักงานไอบีเอ็มรุ่นเก่าคนหนึ่งกล่าวว่า "การที่สมภพได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็น GM นั้นเป็นเพราะเขาทำงานขายได้สูงมากกว่าเป้าหมาย สมัยนั้นสมภพดูแลตลาดอุตสาหกรรมซึ่งเป็นยุค ที่รุ่งเรืองอย่างมากเขาเป็นคนประเภททำงานเพื่อเอาชนะตัวเลข ในรายงานที่ส่งไปพิจารณาผลงาน ที่สำนักงานใหญ่ สมภพจึงเป็นคนที่โดดเด่นเอามาก ๆ เมื่อเทียบกับคนอื่นในเวลานั้น" เมื่อไอบีเอ็มใช้นโยบาย LOCALIZATION สมภพจึงได้รับการโปรโมทขึ้นมาในตำแหน่งสูงสุดซึ่งว่ากันว่ามีเงินเดือนเพียง 200,000 บาทเท่านั้น

โดยปกติ GM ฝรั่งจะมีเทอมการทำงานประมาณ 4 ปีแต่ในกรณีสมภพยังไม่รู้เทอม การทำงานที่แน่นอนอดีตเจ้าหน้าที่ ระดับสูงไอบีเอ็มคนหนึ่งกล่าวว่า "เป็นไปได้ที่ GM ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นจะไม่มีเทอมการทำงานที่ตายตัวเหมือนฝรั่ง เช่น PRESIDENT ของไอบีเอ็มโตเกียว อยู่มา 10 กว่าปี มาเลเซียอยู่ 5 ปี"

อย่างไรก็ดี สมภพกล่าวว่า "ตำแหน่งที่ผมเป็นในเวลานี้ไม่มีเทอม อยู่ที่ว่ามีคนพร้อมมาแทนผมเมื่อไหร่ และมีงานต่อไปให้ผมเมื่อไหร่ ซึ่งหากเมื่อไหร่พร้อมทั้งสองอย่าง ผมก็ยินดีไป เพราะงานที่ผมทำอยู่เวลานี้ไม่ใช่งานง่าย"

สมภพเปิดใจเล่าว่า "คนที่เป็น GM ทุกคนยอมรับว่าตำแหน่งนี้ไม่ใช่ตำแหน่งถาวร ต้องหาคนมาแทนให้ได้ ผมเองอาจต้องไปที่ไหนก็แล้วแต่ที่เขามีตำแหน่งเปิดไปที่สำนักงานใหญ่ แล้วกลับมาใหม่ก็เป็นได้"

ความเป็นไปได้ที่สมภพจะถูกย้ายออกไปประจำที่อื่นอาจมาในรูปที่ว่าทางสำนักงานใหญ่เสนอเข้ามาว่ามีตำแหน่งดี ๆ ที่ต่างประเทศที่จะเสนอให้เช่น ที่โตเกียวหรือสิงคโปร์ ก็แล้วแต่ และนั่นก็หมายความว่าคนที่ออกไปประจำอยู่ต่างประเทศก็อาจจะกลับเข้ามารับตำแหน่งที่ว่างลง

ความเป็นไปได้นี้จะเกิดขึ้นจริงต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ธุรกิจดีไหม บริหารคนดีไหม การเงินดีไหม หรือเหตุผลอื่น ๆ เช่นอยู่ในตำแหน่งมานานแล้ว เป็นต้น ทั้งนี้ไอบีเอ็มจะมีระบบหนึ่งที่เรียกว่า EXECUTIVE RESOURCE หรือ REPLACEMENT TABLE เป็นการประเมินว่าใครจะขึ้นมาแทนในตำแหน่งบริหารต่าง ๆ ในองค์กรได้บ้าง เรียกง่าย ๆ คือใครจะมาเป็นเบอร์หนึ่งเบอร์สองของตำแหน่งสำคัญ ๆในบริษัท

คนที่จะเข้ามาอยู่ในตารางตำแหน่ง GM ได้ต้องมี GM คือสมภพเป็นคนรับรอง และยังจะต้องมีคนจากสำนักงานใหญ่มาช่วยรับรองอีกด้วย !

อย่างตำแหน่ง GM ปรากฎไม่ว่าจะเป็นนิวัฒน์หรือพัลลภ กระทั่งอนันต์ก็ตาม ล้วนเคยอยู่ในตารางนี้มาแล้ว !!

นิวัฒน์ซึ่งถูกโยกย้ายผ่านงานมาหลายตำแหน่งตั้งแต่งานการตลาด งานบุคคลและล่าสุด อยู่ฝ่ายวางแผนและการเงินกล่าวว่า "คนที่ขึ้นมาในระดับบริหารสูง ๆ นี่ ทุกคนล้วนอยู่ในตารางตำแหน่งของคุณสมภพได้ทั้งนั้น"

ผลกระทบสำคัญจากการที่ไอบีเอ็มสูญเสียคนในระดับต่าง ๆ ไปเป็นจำนวนมากครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าไม่ใช่เรื่องที่จะกระทบต่อยอดขายไอบีเอ็มและลูกค้า สิ่งที่จะแย่ลง คือเรื่องภาพพจน์ของบริษัท

อดีตเจ้าหน้าที่หลายคนยืนยันว่าภาพพจน์ไอบีเอ็มตอนนี้น่าเป็นห่วงมาก ๆ บางคนลดดีกรีลงมาแค่ว่าภาพพจน์ไม่ค่อยดีนัก เท่าที่ปรากฎออกมาล่าสุดคือการบินไทยฯ และธนาคารกรุงเทพฯ หันไปใช้เครื่องเมนเฟรมยี่ห้ออื่น การบินไทยฯ ซื้อเครื่อง AMDAHL ส่วนธนาคารกรุงเทพฯ ซื้อเครื่อง HITACHI DATA SYSTEM ( HDS)

แต่ผู้สันทัดในวงการก็ให้ความเห็นว่า "กรณีเช่นนี้พูดยาก เพราะบริษัทบางแห่งที่มีทีมงานซึ่งรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ดีก็ใช้นโยบาย 2 VENDORS คือให้มีผู้ขายเครื่อง 2 รายเพื่อแข่งขันกัน บริษัทจะได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีที่ผู้ขายแต่ละรายคิดค้นได้ ซึ่งที่การบินไทยฯ และธนาคารกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะใช้นโยบายนี้"

นิวัฒน์ให้ความเห็นว่า "อย่างไรก็ดี บริษัทไอบีเอ็มก็ไปรอด พนักงานก็มีมากมายตั้ง 400 คนมีการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ บริษัทอยู่ได้อยู่แล้ว ภาพพจน์ก็มีอยู่เรื่องเดียวที่เป็นจุดอ่อนประเทศอื่น ยิ่งกว่านี้อีก มาเลเซียนี่สถิติคนออก 13% ฮ่องกงนี่ไม่ต้องพูดถึงเลยนะ 30% เพราะว่าคนหนี ออสเตรเลีย ก็เยอะ ไทยยังน้อยเมื่อก่อนไม่ถึง 3% ตอนนี้ก็เพิ่มเป็น 6% นับว่าสถิติต่ำ"

นิวัฒน์ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสมภพกล่าวว่า "ภาพพจน์แย่หน่อยก็ตรงที่มีข่าวออกมาเยอะเท่านั้น คนที่ออกไปรุ่นเด็ก ๆ ก็มีมากไม่ใช่เฉพาะพวกบริหารท่านั้น"

ประเด็นที่ว่าสถิติคนออก 6 % ไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจมากนักเหตุหนึ่งมาจากการที่ ไอบีเอ็ม ใช้ระบบขายสินค้าผ่านตัวแทนต่าง ๆ ซึ่งมีหลายระดับ คือดีลเลอร์ เอสอาร์ เอสไอ และ วา (ดูตารางตัวแทน จำหน่ายของไอบีเอ็ม)

บรรดาตัวแทนเหล่านี้จะใกล้ชิดกับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการมากกว่าไอบีเอ็ม คนไอบีเอ็มระดับบริหาร ในฝ่ายมาร์เก็ตติ้งเคยสะท้อนจุดอ่อนในระบบนี้ประการ หนึ่งกับ "ผู้จัดการ" ว่า "เดี๋ยวนี้ผมแทบไม่รู้จักลูกค้าไอบีเอ็มเลย อย่างในงาน VISION FOR THE 90'S นี่แทบจะเรียก ได้ว่าเป็นการจัดแทนตัวแทนเหล่านี้ให้พบปะลูกค้าของเขาเสียมากกว่า"

อีกจุดหนึ่งที่มองได้สองด้านคือการที่ไอบีเอ็มต้องขายผ่านตัวแทน เท่ากับว่าต้องแบ่งรายได้ให้พันธมิตรร่วมธุรกิจ ซึ่งสมภพมองว่า "การทำอย่างนี้ทำให้ไอบีเอ็มกลายเป็นผู้ลงทุนซึ่งผมก็มีความเชื่อมั่นว่าทำธุรกิจนี่มันต้องแบ่งกันไม่ใช่เอาเสียคนเดียว" ส่วนแบ่งที่ไอบีเอ็มให้กับพันธมิตรร่วมธุรกิจเหล่านี้สูงถึง 30-40 %

มองในด้านดีดูเป็นความเกื้อหนุนจุนเจือในการทำธุรกิจร่วมกัน มองในอีกด้านไอบีเอ็มต้องพึ่งพิงตัวแทนเหล่านี้สูงมาก มีบางครั้งที่การปฏิบัติตามนโยบายแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจผิดพลาด ซึ่งมีผลให้ไอบีเอ็มเจ็บอยู่ไม่น้อย กรณีที่ยังกล่าวขาน ไม่รู้จบคือเรื่องชินวัตรคอมพิวเตอร์และโค้วโอเอ

กรณีชินวัตรฯ นั้นเป็นที่ล่ำลือในวงการว่าไอบีเอ็มไปสนับสนุนให้มีบริษัทคู่แข่งชินวัตรคือบริษัทไทยสร้างสรรค์ ทั้งที่ไอบีเอ็มได้ตกลงให้ชินวัตรเป็น "เอสไอ" มานาน 7 ปีแล้ว

ส่วนเรื่องโค้วโอเอก็เป็นข้อผิดพลาดในการเลือกศูนย์จำหน่ายภาคอีสาน ซึ่งในที่สุดก็ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ และต้องหยุดกิจการไปในที่สุด

มีผู้ให้ความเห็นเรื่องจุดอ่อนในการพิจารณาเลือกตัวแทนของไอบีเอ็มว่ามักจะมองที่ความเด่นมีชื่อเสียงของผู้ที่จะเป็นตัวแทน มากกว่าดูความสามารถและความจริงจังในการทำงาน โค้วโอเอจึงเป็นบทเรียนให้ไอบีเอ็มยุคสมภพต้องจำไปอีกนาน และจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งใครขึ้นมาแทน

ตัวสมภพเองมองผลกระทบนี้อย่างไร ? สมภพให้คำอธิบายต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า "เป็นสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ในสาส์นจากผู้จัดการใหญ่ที่มีต่อพนักงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ สมภพยอมรับว่าในช่วงที่เขาขึ้นมาบริหารไอบีเอ็ม เขาได้ทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและวิธีดำเนินธุรกิจอย่างมาก การย้ายบุคลากรหลายสิบคนจากหน่วยงานอื่น ๆ ไปฝ่ายการตลาดก็เพื่อตอบสนองนโยบายมอบบริการที่ดีขึ้นแก่ ลูกค้า กับเป็นการช่วยพัฒนาให้พนักงานมีความรอบรู้กว้างในหลาย ๆ ด้าน

ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างภายในก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงาน ด้วยการปรับระนาบของการบังคับบัญชาให้ลดน้อยลงเพิ่มจำนวนพนักงานในความดูแล รับผิดชอบของผู้จัดการแต่ละคนให้มากขึ้น

สมภพกล่าวในท้ายสุดของสาส์นฉบับนั้นว่า "การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานทุกคน แต่ยากนักที่ผลกระทบนี้จะสร้างความพึงพอใจให้กับเพื่อนร่วมงานทุกคนได้ แต่ถ้าเราเข้าใจว่าผลกระทบเหล่านี้มีผลดีต่อบริษัทโดยส่วนรวมเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า เพื่อความก้าวหน้าขององค์กรและเพื่อเพื่อนร่วมงานทุกคนจะสามารถพูดด้วยความมั่นใจว่าความสำเร็จของลูกค้าคือธุรกิจของเรา"

สมภพมองว่าความไม่พอใจที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา คนย่อมมองไปยังโอกาสข้างนอกเท่าที่เขาพอจะหาได้ คนไอบีเอ็มบางคนที่ไม่มีโอกาสอยู่ใน REPLACEMENT TABLE ก็อาจไปโตในสายงานอาชีพได้

"เรื่องที่คนออกไปไม่ใช่เรื่องผิดพลาด ปีหนึ่ง ๆ ไอบีเอ็มมีคนใหม่ ๆ เข้ามาร่วมงานด้วยเป็นจำนวนมากประมาณ 70 คน หากไม่มีการถ่ายเทโดยคนเก่าออกไปแล้ว องค์กรก็จะไม่ได้แนวคิดใหม่ ๆ เข้ามาองค์กรนี้จะตันอยู่ข้างล่าง องค์กรที่มีความแข็งแรงต้องมีการปรับถ่ายแนวความคิดเก่าแนวความคิดใหม่เข้าหากัน"

นอกจากเรื่องการปรับถ่ายแล้ว ไอบีเอ็มยังมีโปรแกรมอีกอันหนึ่งที่เรียกว่า EARLY RETIREMENT หมายความว่าให้ออกจากงานได้เมื่ออายุ 55 ปีก่อนเกษียณอายุ โดยไอบีเอ็มมีวงเงินจำนวน 50,000 บาทให้เบิกได้ทั้งสามีภรรยาเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาวิชาอะไรก็ได้ ที่จะเอาไปใช้เป็นอาชีพที่สองเมื่อออกจากบริษัทแล้ว

ดูเหมือนสมภพจะไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องสมองไหลนี้สักเท่าใด ตรงกันข้าม สมภพไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องสมองไหล เพราะไม่มีใครออกไปทำธุรกิจแข่งกับไอบีเอ็ม

เรื่องนี้ EX-IBMERS ก็ยืนยันว่าคนที่ออกมาไม่ได้ไปอยู่กับบริษัทคู่แข่ง "แต่ที่ออกไปอยู่กับบริษัทคู่แค้นก็พอจะมีอยู่"

สมภพอธิบายอีกว่า "คนที่ออกไปมีหลายรูปแบบคือมีทั้ง EARLY RETIRE ออกไปเพราะมีโอกาสข้างนอกที่ดีกว่า เรื่องที่ว่าสมองไหลนั้นผมคิดว่าต้องเป็นประเภทที่ออกจากบริษัทไปแล้วไปทำธุรกิจเดียวกันแข่งกับเรา คนที่ออกไปทำธุรกิจของตัวเองก็มี"

นอกจากนี้ยังมีคนที่ออกไปเพราะทำงานไม่ได้เป็นคนที่อยู่มานานซึ่งเมื่อได้รับมอบหมายงานให้ทำแล้วแต่ทำไม่ได้ เปลี่ยนงานให้แล้วก็ยังทำไม่ได้อีกประเภทนี้จะมีการเชิญมาคุยว่างานของบริษัทอาจจะไม่ตรงกับความสามารถของเขา ซึ่งก็มีการให้เวลาให้โอกาสกับเขา แต่ในที่สุดก็ต้องเชิญออก

สมภพเปิดใจบอกว่า "คนที่เชิญออกเพราะทำงานไม่ได้แบบนี้ก็มีอยู่เยอะ หากเราไม่รีบบอกเขาก็จะเป็นการไม่ยุติธรรมต่อเขา ซึ่งมาตรการนี้เราก็เริ่มเอามาใช้กับคนใหม่ ๆ ด้วย คือถ้ารู้ว่าคนใหม่ไม่ถนัดงานที่เรามี เราจะรีบบอกแต่เนิ่น ๆ สักประมาณปีแรกที่เข้ามา อันนี้เพื่อให้เขามีโอกาสหาอะไรที่เหมาะกับเขา ผมจะไม่ให้เขาอยู่นานจนถึงอายุ 40 ปี แล้วค่อยบอกว่างานนี้ไม่เหมาะกับเขา เพราะหากเขาออกไปตอนอายุ 40 อาจจะไม่มีงานอะไรที่เหมาะทำก็ได้"

สมภพบอกด้วยว่าคนที่ออกไปช่วงหลัง ๆ เพราะ "ทำงานไม่ได้" ก็มีอยู่หลายคน !!

อีกประเภทหนึ่งคือคนที่ไม่ได้ทำงาน สมภพบอกว่ากรณีนี้เป็นคนที่ทำงานได้ แต่ไม่ได้ทำ ซึ่งก็คงมีเหตุผลอะไรหลายอย่าง สมภพพยายามแก้ด้วยการจูงใจต่าง ๆ นานา ก็ยังไม่ทำ ดังนั้น "วิธีสุดท้ายผมก็ต้องบอกเขาว่าที่นี่ไม่เหมาะสมสำหรับคุณ แต่กว่าที่ผมจะบอกเขาก็ใช้เวลาให้เขาปรับเปลี่ยนงาน ไปหลายอย่าง"

สมภพกล่าวว่า "การตัดสินใจเกี่ยวกับคนนั้นมีมาตรการว่าต้องมีผู้จัดการอีก 2 ระดับที่เข้าร่วมพิจารณา ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็ไปให้ออกอย่างง่าย ๆ หากเป็นผู้จัดการระดับสูงต้องมีสำนักงานใหญ่เห็นด้วย จึงจะให้ออกได้"

เท่ากับสมภพปฏิเสธกรณีที่จู่ ๆ พัลลภก็ถูกให้ออก !!

ยังมีประเภทสุดท้ายคือคนที่ทำได้ แต่ทำผิด !

หมายถึงทำผิดกฎการว่าจ้างของไอบีเอ็ม ทั้งนี้พนักงานที่เข้ามาทุกคนจะได้รับคู่มือปฏิบัติงานเล่มหนึ่งซึ่งบรรจุกฎระเบียบของไอบีเอ็มไว้มากมาย สมภพกล่าวว่า "ในไอบีเอ็มนี่ทุกคนมีอิสระในการทำงานแต่มีกฎระเบียบไม่กี่อย่างที่ขอไว้ คือต้องมีวินัยในการทำงาน จะมาทำงานแบบขาด ๆ มา ๆ ไม่ได้ ควรบอกให้รู้ สองคือเรื่องการทุจริต ห้ามเด็ดขาดไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม สามคือทำอะไรที่ผิดจรรยาบรรณทุกปีพนักงานทุกคนตั้งแต่ GM ลงมาต้องอ่านหนังสือคู่มือเล่มนี้และเซ็นชื่อเพื่อทราบว่าสิ่งเหล่านี้ทำไม่ได้"

ใครทำผิดประเภทนี้จะถูกให้ออกในทันที ซึ่งสมภพยอมรับว่า "ปีนี้มีคนที่ออกไปเพราะเราให้ออกไปและที่ผิดแบบนี้ ต้องถูกออกก็มีหลายคน เพราะในไอบีเอ็มนี่ขอกันไว้ไม่กี่อย่างเท่านั้น"

สมภพอธิบายตารางรายชื่อพนักงานที่ออกจากไอบีเอ็ม (ดูตารางรายชื่อฯ) ประกอบว่า "บางคนก็ไปเรียนหนังสือ และผมเป็นคนติดต่อให้เอง ตารางนี่มีตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว บางคนออกไปเพราะภรรยาเขาไปอยู่ที่นั่น ผมก็ติดต่อให้เขาไปทำงานด้วย"

สมภพเปิดเผยว่า "คนที่เราให้ออกไป ต้องเห็นใจด้วย บริษัทไม่เคยพูดถึงเลย แต่คนที่ออกไปต่างหากที่ไปสร้างข่าวให้เกิดขึ้น มันก็เลยกลายเป็นแบบนี้แต่บริษัทจะไม่เคยพูด"

ด้วยเหตุนี้สมภพจึงมีความรู้สึกว่า "หน้าที่ของผมคือพยายามดูแลคนที่อยู่ ทำให้คนกลุ่มใหญ่พอใจที่สุด พยายามตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มใหญ่แต่ไม่ใช่การตอบสนองเพราะคนที่ออกไป 2-3 คน ได้เงินเดือนเพิ่มมากขึ้น 2-3 เท่า อันนี้ทำไม่ได้"

การตกเป็นที่ครหาอย่างหนักตลอดเวลาที่ผ่านมาทำให้สมภพมีความรู้สึกอย่างไร ? สมภพกล่าวว่า "คนเราจะเก่งหรือไม่เก่งนั้นมันก็ต้องดูเหมือนม้า ต้องดูระยะทางว่าวิ่งได้ยาวไกลแค่ไหนคนที่ไปปรับเปลี่ยนองค์กรให้มันแข็งขึ้นนั้นต้องใช้เวลากว่าที่คนจะรู้ว่าที่เราทำนั้นมีประโยชน์ อย่างไรต้องดูอีกระยะหนึ่ง คนมักจะมองผลกระทบที่เกิดกับตัวเองมากกว่ามองที่ประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ"

นั่นหมายความว่าการจะพิสูจน์ว่าไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) เดินมาถูกทางหรือไม่ ยังต้องใช้เวลาดูอีกนาน สมภพเห็นว่า "แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไอบีเอ็มทำการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้อยู่เสมอ และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจดีขึ้น มีของใหม่ออกมาตลอด"

สมภพกล่าวว่า "หากจะดูกันในระยะสั้นก็ต้องดูว่าบริษัทโตหรือเปล่า หรือหยุดอยู่กับที่ ดูว่ามีคนใหม่ขึ้นมาไหมและคนใหม่นั้นอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือไม่ อันสุดท้ายดูว่าองค์กรนี้ มีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าหรือไม่"

ความรู้สึกในใจที่สมภพบอกกับตัวเองคือ "คนเป็นผู้จัดการนั้นไม่ใช่คนที่จะอยู่ค้ำฟ้า ไม่ใช่อยู่ถาวรวันหนึ่งเราก็ไปเป็นสต๊าฟ ให้คนหนุ่มขึ้นมาเป็นผู้บริหารบ้าง ตราบใดที่เงินเดือนไม่ลด ไปอยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน"

สมภพกล่าวอย่างมั่นใจว่า "ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องทำ และผมก็ทำอย่างมีความชอบธรรมด้วย ผมดูว่าองค์กรมีความก้าวหน้าหรือไม่ มีผู้เห็นชอบไหม ในเมื่อทุกอย่างมี ผมก็ทำ ในตำแหน่งที่ให้มาเป็น GM นั้นต้องรับทั้งผิดและชอบ ไม่ใช่เอาแต่ความชอบอย่างเดียว ถึงเวลาที่องค์กรเริ่มมีอะไรไม่ดี เราจะหนีไปอยู่ที่อื่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูก และการทำนี้ไม่ใช่ผมสั่งคนเดียว ทำธุรกิจแบบนี้จะไปทำอย่างนั้นไม่ได้แน่ ต้องมีการปรึกษากัน เมื่อทุกคนเห็นชอบแล้วคนที่ตัดสินใจคือผม ซึ่งเมื่อตัดสินใจแล้วผมรู้ว่าคนต้องว่า ผมก็ต้องทำ พูดง่าย ๆ คือผมเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ผู้ที่ทำงาน เพื่อหาเสียง มันก็ต้องทำ ไม่เป็นไร"

"อีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมต้องกล้าทำเพราะบริษัทนี้เขายกให้คนไทยเป็นผู้บริหาร ผมก็ต้องพูดหากมัวมาเกรงใจ รักษาเก้าอี้ มันก็จะแย่ และบริษัทนี้ผมต้องตอบแทนบุญคุณด้วย เขาส่งผมไปเรียนหนังสือ ออกค่ารักษาพยาบาลให้ลูกผมเมื่อเจ็บหนัก เขาทำให้ผมขนาดนี้ ผมต้องตอบแทนเขา" สมภพเปิดใจให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม สมภพก็มีกำลังใจมากขึ้นเมื่อมีเด็กรุ่นใหม่ ๆ มาพูดกับเขา ทำให้สมภพ ได้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนที่เริ่มมาดูเหมือนจะเป็นไปในทางที่ดี แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอยู่

สมภพสารภาพว่า "หากผมต้องการให้คนรักและตัวผมมีชื่อเสียงในทางที่ดีตามหน้าหนังสือพิมพ์ ผมไม่ไปแตะมันหรอก ผมไม่ยุ่งหรอก อย่างตำแหน่งนี้อยู่สัก 4-5 ปี ผมก็ไม่ไปทำอะไรเพราะเดี๋ยวผมก็ไป การจะทำให้คนชอบนั้นมันเป็นเรื่องที่ทำง่าย แต่ผมทำอย่างนั้นไม่ได้"

การที่มีคนออกจากไอบีเอ็มเป็นจำนวนมากในปีนี้ดูเป็นเรื่องน่าวิตกหากเทียบกับตัวเลข คนออกในปีก่อน ๆ แต่ถ้าเทียบกับไอบีเอ็มประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ก็ดูไม่น่าตกใจ

ประเด็นสำคัญคือเรื่องภาพพจน์ แน่นอนคนที่ถูกให้ออกย่อมรู้สึกไม่พอใจ หากคิดว่าเขาไม่ได้ทำความผิดอะไร ส่วนคนที่ออกเพราะอัดอัดใจในสภาพที่ทำงานเก่า ก็ถือเป็นการตัดสินใจ ที่ถูกต้องหากคิดว่าสามารถหาบรรยากาศการทำงานใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้

ข้อเท็จจริง ประการหนึ่งที่ "ผู้จัดการ" สัมผัสได้คืออดีตคนไอบีเอ็มเหล่านั้นยังคงรู้สึก รักยักษ์ใหญ่สีฟ้าตนนี้ ความเป็นห่วงเป็นใยและคำพูดจาที่มีต่อไอบีเอ็มล้วนเกิดจากเจตนาดีทั้งสิ้น

สำหรับตัวสมภพ อมาตยกุล หลายคนอาจมองว่าเขาตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากแล้ว แม้จะดูไม่รุนแรงมากถึงขนาดก็ตามเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่มีผลกระทบต่อตัวเลขการขาย และในแง่ของสำนักงานใหญ่ก็ไม่มัวมาสนใจเรื่องประเภทนี้แน่นอน

ทว่าความไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่วิสัยของผู้จัดการมืออาชีพที่ดี เป็นเรื่องเข้าใจได้แน่นอนว่าน้อยคนจะชอบความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อมีผลกระทบในทางไม่ดีต่อตัวโดยตรง คนไอบีเอ็มยุคนี้ต้องการคำอธิบายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกับที่ในวงการก็ไม่ใคร่เข้าใจเรื่องราวทั้งหมดเท่าไรนัก

สิ่งที่แย่ยิ่งกว่า I'VE BEEN MOVED คือ I'VE BEEN FIRED!!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us