เส้นทางของ "ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์" หรือ "ทีพีซี"
ดูจะสดใสราบรื่นมาตลอดควบคู่กับเอกลักษณ์ที่ว่าเป็นผู้ผลิต "รายแรกและรายเดียว"
ของไทยถึง 24 ปีเต็ม ทีพีซีครองตลาดพีวีซี ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง
แต่เมื่อโซลเวย์ ยักษ์ใหญ่ด้านปิโตรเคมีแห่งเบลเยี่ยม ได้รุกคืบเข้ามาตั้งโรงงานผลิตพีวีซีในไทยด้วยอีกรายหนึ่ง
พร้อมกับร่วมทุนกับกลุ่มซีพี ความสดใสของทีพีซีจึงดูจะถูกท้าทายเสียแล้ว
ทีพีซีจึงเริ่มเพิ่มความแข็งแกร่งในศักยภาพของตน ด้วยการร่วมทุนกับบริษัท
ริเก้น (ไทยแลนด์) เป็นรายแรก และกำลังจะมีรายต่อไป อันเป็นก้าวสำคัญที่ทีพีซีจะต้องผ่าทางตันครั้งนี้ให้สำเร็จ...!!!??!!
ด้วยวัย 24 ปี ถ้าเทียบชีวิตคน ก็กำลังเป็นหนุ่มเต็มตัว เป็นวัยซึ่งเต็มไปด้วยพละกำลัง
ศักยภาพของความแข็งแกร่งและเร่าร้อน แต่จะก้าวไปได้ไกลแค่ไหนขึ้นอยู่กับพื้นฐานของการพัฒนา
ที่ผ่านมา การตัดสินใจและผลักดันไปสู่เป้าหมายในอนาคต
บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด หรือทีพีซีก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้วางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมพีวีซีมาแล้วถึง
24 ปี ก็ถึงคราวที่จะต้องปรับตัวเพื่อให้ตนอยู่ในสภาพที่แข็งแกร่งที่สุด
โดยเฉพาะต่อการแข่งขันในตลาดพีวีซี ซึ่งมียักษ์ใหญ่ด้านปิโตรเคมีจากเบลเยี่ยมอย่าง
โซลเวย์เข้ามาร่วมเวทีการค้าครั้งใหม่
ไม่ว่าทีพีซีจะวางรากฐานของตนให้แข็งแรงปานใดก็ตาม แต่จากวันนี้ไป ทีพีซีจะต้องทำงานหนักขึ้น
จากที่เคยอ้วนท้วนสมบูรณ์ เพราะเป็นผู้ผลิตพีวีซีรายเดียวของประเทศมาตลอด
"เมื่อมีคู่แข่ง ก็ต้องทำงานมากขึ้นเป็นธรรมดา เป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เราดูทะมัดทะแมงขึ้น"
ไพฑูรย์ ปานสูง รองผู้จัดการอำนวยการฝ่ายการเงินและบริหารกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
อย่างคน ซึ่งพร้อมรับทุกสถานการณ์
นั่นด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า ทีพีซีได้วางฐานที่แข็งแกร่งมามากพอ...!!!??
เริ่มตั้งแต่จรูญ เอื้อชูเกียรติ และทวี ซิมตระกูล ผู้ซึ่งมีสายตาอันยาวไกลว่าพีวีซีจะมีบทบาทสำคัญในชีวิตและอุตสาหกรรมต่าง
ๆ อย่างมหาศาล จึงเริ่มตั้งทีพีซีขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เมื่อวันที่
2 ธันวาคม 2509
โดยมีแกนนำคนไทยในระดับบริหารที่สำคัญ ๆ เช่น สมชัย คงศาลา ซึ่งเป็นเพื่อนของยศ
เอื้อชูเกียรติ รั้งตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ลัคนา สุนทรพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบริหาร
ไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการเงินฯ สำราญ นันทขว้าง ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตโรงานสมุทรปราการ
อุดม ชินชนะโชคชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด และนิพนธ์ ว่องชิงชัย ซึ่งช่วยดูแลการผลิตที่โรงงานระยอง
3 ปีต่อมาทีพีซีได้เพิ่มทุนเป็น 30 ล้านบาท
ทีพีซีได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในการผลิตพีวีซีเรซิน (PVC RESIN)
มีลักษณะเป็นผง และพีวีซีคอมเปาน์ด (PVC COMPOUND) หรือเม็ดพีวีซี
จากที่ไทยเคยนำเข้าเม็ดพีวีซีเข้ามาผ่านขบวนการ ผู้ใช้จะทำให้ร้อน แล้วฉีดหรือปั๊มเป็น
รูปตามต้องการ พอทีพีซีเริ่มผลิตได้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2514 ก็นำ เรซินมาผสมในสูตรต่าง
ๆ เป็นพีวีซีคอมเปาน์ดเพื่อป้อนขายให้โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พีวีซี เป็นการทดแทนนำเข้าพีวีซีได้
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พีวีซีนั้นนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ที่นิยมมากที่สุด คือประเภทท่อประมาณ
52% ของตลาด หนังเทียม 36% สายไฟฟ้า 7% นอกนั้นก็ใช้ทำกรอบประตู หน้าต่าง
บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
ปีรุ่งขึ้น ทีพีซีได้ร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท มิตซุยแห่งประเทศญี่ปุ่น และบริษัท
ไทย อาซาฮีโซดาไฟ โดยถือหุ้นฝ่ายละเท่ากัน
พร้อมทั้งทำสัญญาแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือด้านเทคนิคกับบริษัท มิตซุย โตอัตสุ
เคมีเคิล คอร์ปอเรชั่น
จากการร่วมทุนและร่วมมือด้านเทคโนโลยีด้านนี้ ทำให้ทีพีซีพัฒนาคุณภาพขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
นี่เป็นก้าวสำคัญก้าวแรกของทีพีซีที่ได้พยายามวางฐานสำหรับตลาดพีวีซี
ก้าวที่สอง เมื่อทีพีซีดำเนินงานมาแล้ว 18 ปี ทางตลาดหลักทรัพย์เห็นว่าทีพีซีน่าจะเป็นบริษัทตัวอย่างของไทยในตลาดฯ
เนื่องจากทีพีซีเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมี มีการบริหารและผลดำเนินงานที่น่าพอใจ
โดยสิริลักษณ์ รัตนากร ผู้จัดการของตลาดฯ เป็นคนชักชวนให้ทีพีซีเข้าตลาดฯ
ซึ่งตอนนั้นไพฑูรย์ยอมรับว่า "ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับรูปแบบอย่างนี้
และไม่เห็นว่าจะได้ประโยชน์อะไร" และช่วงนั้นภาวะการลงทุนในตลาดเองก็ไม่คึกคักเท่าสมัยนี้
แต่เมื่อมีการชักชวนและเกลี้ยกล่อมมากเข้า จนเข้าใจข้อเท็จจริงชัดเจน ทีพีซีเห็นว่า
ถ้าเข้าตลาดก็ไม่มีผลเสียอะไร เพราะแม้แต่นโยบายทางด้านบัญชีที่ผ่านมาก็ทำกันอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา
ทีพีซีจึงไม่ห่วงเรื่องนี้
"แม้กระทั่งการขายเศษถัง ก็ลงบัญชีหมดเรื่องนำเข้าก็ไม่เคยมีปัญหากับศุลกากร"
ไพฑูรย์ยกตัวอย่าง เมื่อทางเจ้าหน้าที่ของตลาดฯ มาตรวจสอบก็พอใจ
จากข้อเสนอของตลาดฯ ครั้งนี้ นอกจากเพื่อช่วยกระตุ้นการระดมทุนในตลาดฯ "เพื่อเป็นตัวอย่างให้บริษัทอื่นอยากเข้าตลาดฯ
บ้าง" แหล่งข่าวจากทีพีซีกล่าว ขณะเดียวกันก็เป็นการประชาสัมพันธ์ทีพีซีให้ทั่วโลกรู้จักมากขึ้น
และอยากเข้ามาถือหุ้น
นับเป็นการเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่เมื่อทีพีซีเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ
เมื่อปี 2527...!
ขณะที่ทีพีซีมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (โปรดดูตาราง "ยอดขายของทีพีวีช่วงปี
2528-2532)
ต่อมา เมื่อรัฐบาลมีนโยบายผลักดันโครงการปิโตรเคมี -1 ทีพีซีได้เข้าร่วมถือหุ้นในบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ
จำกัด (ปคช.) ซึ่งเป็นบริษัทแกนกลางในการบริหารโรงงานโอเลฟินส์
พร้อมกันนั้น ทีพีซีได้เข้าเป็น 1 ใน 4 บริษัทดาวน์สตรีมของโครงการปิโตรเคมี-1
ด้วยการลงทุนครั้งใหญ่ประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อผลิตวีซีเอ็ม 140,000 ตัน
พีวีซีเรซิน 60,000 ตันต่อปี โซดาไฟชนิดความเข้มข้น 100% จำนวน 26,000 ตันต่อปี
หรือความเข้มข้น 50% จำนวน 52,000 ตันต่อปี
การที่ทีพีซีเข้าร่วมในโครงการดาวน์สตีม ถือว่าเป็นฐานสำคัญที่ช่วยผลักดันโครงการ
ปิโตรเคมีให้เป็นจริง
โครงการผลิตวีซีเอ็มของทีพีซีครั้งนี้ "ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศสนับสนุนเป็นเวลา
8 ปี ที่จะให้ทีพีซีเป็นผู้ผลิตแต่รายเดียว" ไพฑูรย์กล่าว
จากนั้นอีก 3 ปี ทีพีซีได้ขอขยายกำลังผลิตเนื่องจากเห็นว่าดีมานต์ของพีวีซีในประเทศเพิ่มอย่างรวดเร็ว
ช่วงเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะผลักดันโครงการปิโตรเคมี-2 ทีพีซีจึงไม่รอช้ารีบเสนอขอขยายผลิตพีวีซีอีก
80,000 ตัน
แต่ทีพีซีก็ถูกปฏิเสธ แม้ว่าต่อมาสมชัย คงศาลา ผู้จัดการทั่วไปของทีพีซีจะทำหนังสือร้องเรียน
ต่ออนุกรรมการพิจารณาโครงการปิโตรเคมี-2 ซึ่งมีสุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในตอนนั้นเป็นประธาน
ทว่า..ไม่เป็นผล
ตอนนั้น "เรารู้สึกเสียใจ เพราะความคิดของทีพีซีไม่ได้คิดกีดกันผู้ผลิตรายใหม่"
ไพฑูรย์สะท้อนภาพที่เกิดขึ้นในอดีต" อย่างน้อยก็ควรจะให้การสนับสนุนกันบ้างในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมพีวีซีของไทย
ขณะที่รัฐบาลเองบอกว่าจะสนับสนุนทีพีซี 8 ปี เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมของคนไทยด้วยกัน
แต่เพียง 3 ปี นโยบายของรัฐบาลก็เปลี่ยนไป"
คู่แข่งรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดพีวีซีที่โด่งดังมากและได้รับอนุมัติให้ตั้งโรงงานผลิตพีวีซีก็คือโซลเวย์
นั่นเอง
ภาพของทีพีซีที่ออกมาในช่วงนั้นจึงทำให้ถูกมองด้วยวายตาที่ว่า เพราะตนเคยผูกขาด
เมื่อจะมีคู่แข่งเข้ามาก็ย่อมไม่พอใจอย่างช่วยไม่ได้...!
ไพฑูรย์ให้เหตุผลต่อประเด็นนี้ว่า "เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นผู้ผลิตแต่ผู้เดียว
เราอยากให้มีการแข่งขัน และเราพร้อม เรารู้ว่าสักวันคู่แข่งจะต้องเกิด ถ้าเราไม่อยากให้คู่แข่งเกิด
เราจะขอผลิตในขนาด 180,000 ตันต่อปี จะไม่ขอขยายแค่ 80,000 ตันต่อปี"
ไม่ว่าเบื้องหลังความคิดของทีพีซีจะเป็นอย่างไร แต่นับว่าเป็นความชาญฉลาดของทีพีซี
ที่ร้องเรียนขอขยายกำลังผลิตโดยให้รายใหม่เกิดขึ้นใหม่ด้วย
นั่นก็คือ ทีพีซีได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงสุธีและพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรีและประธานบอร์ดบีโอไอในเวลานั้นว่าเห็นด้วยที่จะให้มีรายใหม่เกิดขึ้น
เพื่อให้เกิดการแข่งขัน
แต่ในการอนุมัติแก่รายใหม่ซึ่งหมายถึงโซลเวย์ว่าจะต้องผลิตวีซีเอ็ม วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพีวีซีด้วย
เพื่อให้แข่งขันบนฐานที่เท่าเทียมกัน
ทีพีซีได้เสนอทางเลือก 3 วิธี
วิธีแรก ให้โซลเวย์เริ่มผลิตพีวีซีพร้อมกับโรงอะโรเมติกส์ และให้ทีพีซีขยายกำลังผลิตก่อนที่โซลเวย์จะผลิต
เมื่อโซลเวย์เริ่มผลิต ก็ให้ทีพีซีส่งออกเท่ากับที่โซลเวย์ผลิต
วิธีที่ 2 ให้โซลเวย์เริ่มผลิตพีวีซีได้ โดยไม่ต้องรอโรงอะโรเมติกส์ แต่โซลเวย์จะต้องผลิตวีซีเอ็มด้วยการนำเข้าเอททิลีน
ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำวีซีเอ็มเองหรือซื้อจากโรงงานปิโตรีเคมี-1 ทันทีที่เริ่มดำเนินการ
และให้ทีพีซีขยายกำลังผลิตไปด้วย พอโซลเวย์ผลิตได้ ก็ให้ทีพีซีส่งออกเท่ากับที่โซลเวย์ผลิตได้
สำหรับวิธีที่ 3 ให้โซลเวย์เริ่มผลิตพีวีซีได้ แต่จะต้องผลิตวีซีเอ็มทันที
โดยนำเข้าเอททิลีน หรือซื้อจากโรงอะโรเมติกส์
การที่ทีพีซีเสนอเงื่อนให้โซลเวย์ผลิตวีซีเอ็มทันที เพราะเห็นว่าโซลเวย์นั้นเป็นผู้ผลิตวีซีเอ็มรายใหญ่
จึงมีความยืดหยุ่นด้านราคาได้มากกว่า
แต่วีซีเอ็มของทีพีซีนั้นผูกกับราคาเอททิลีนที่มีสัญญาอยู่กับโรงโอเลฟินส์
ส่วนวีซีเอ็มของผู้ผลิตรายใหม่อย่างโซลเวย์ขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ซึ่งผันผวนตลอดเวลา
ถ้าช่วงไหนที่วีซีเอ็ม ล้นตลาด ราคาตก การนำเข้าวีซีเอ็มก็จะถูกกว่า จึงทำให้ทีพีซีเสียเปรียบและแข่งขันได้ยาก
ขณะเดียวกันนั้นเอง สมชัยได้เสนอด้วยว่าควรระบุเงื่อนไขให้โซลเวย์ส่งออกโซดาไฟ
ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตด้วย ผู้ผลิตในประเทศจะได้ไม่เดือนร้อน
ในที่สุด โซลเวย์ก็ได้รับการส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอให้ผลิตพีวีซีและนำเข้าวีซีเอ็มซึ่งเป็นวัตถุดิบจนกว่าโรงงานอะโรเมติกส์จะเกิด
รัฐบาลให้เหตุผลในการอนุมัติครั้งนี้ว่าเพราะไม่ต้องการให้มีการผูกขาดในอุตสาหกรรมนี้
ทำให้ทีพีซีไม่ได้รับการพิจารณา
แต่แหล่งข่าวจากทีพีซีเปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่ารัฐบาลให้เหตุผลกับทีพีซีว่าเป็นเพราะเกรงจะมีปัญหา
OVER SUPPLY
ขณะที่ไพฑูรย์ ให้ความเห็นว่า ตัวเลขคาดการณ์ดีมานด์ของพีวีซีของรัฐบาลกับทีพีซีนั้นต่างกันอย่างมาก
รัฐบาลเห็นว่าพีวีซีโตประมาณ 12-14% แต่ทีพีซีเห็นว่าพีวีซีจะขยายตัวประมาณ
ปีละ 20% "เราทำมากับมือจึงรู้ตลาดชัดเจน ซึ่งเรามั่นใจว่าถูกต้อง"
โซลเวย์เอง เมื่อเห็นทีพีซีออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2531 ว่า
ไม่คัดค้านถ้า โซลเวย์จะทำ แต่ควรจะพิจารณาข้อเรียกร้องของทีพีซีด้วย โซลเวย์ก็ออกมาให้ข่าวชัดเจนว่าจะทำควบวงจร
โดยโซลเวย์จะผลิตพีวีซีขนาด 135,000 ตัน มูลค่า 2,900 ล้านบาท วีซีเอ็ม
140,000 ตัน มูลค่า 2,700 ล้านบาท และคลอรีน (วัตถุดิบทำวีซีเอ็ม) 87,500
ตันต่อปี มูลค่า 2,600 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 8,200 ล้านบาท
ตามแผนที่วางไว้จะเริ่มผลิตได้ในปี 2535 ซึ่งดีมานด์พีวีซีประมาณ 178,000
ตัน ถ้าทีพีซีผลิตได้ 180,000 ตัน เมื่อรวมกับที่โซลเวย์ผลิตได้อีก 135,000
ตัน ก็จะเกินความต้องการ รัฐบาล จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องให้ทีพีซีขยาย
พร้อมกันนั้น โซลเวย์ก็ยืนยันว่า จะผลิตวีซีเอ็มโดยใช้เอททิลีน เป็นวัตถุดิบหลัก
แต่จะให้คุ้มจะต้องใช้เอททีลีนขนาดไม่น้อยกว่า 80,000 ตันต่อปี ซึ่งโซลเวย์บอกว่าจะผลิตวีซีเอ็มในประเทศเองทั้งหมด
ทั้งนี้แล้วแต่ว่ามีเอททีลีน พร้อมแค่ไหน เพราะถ้าเอททิลีนมีปริมาณน้อยกว่า
80,000 ตัน ก็ไม่คุ้ม ช่วงแรกจึงต้องนำเข้าวีซีเอ็มชั่วคราวก่อน จนกว่าจะมีเอททีลีนมากพอ
สำหรับหุ้นส่วนของโซลเวย์นั้น เดิมโซลเวย์สนใจที่จะร่วมทุนกับสหยูเนี่ยน
แต่เนื่องจากสหยูเนี่ยนได้ร่วมทุนกับไอซีไอในการผลิตพีทีเอ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการทำเส้นใยสังเคราะห์
โซลเวย์จึงตัดสินใจเลือกซีพี เนื่องจากซีพีเป็นบริษัทที่เริ่มจากธุรกิจการค้าโดยตรง
และ มีแนวโน้มที่จะขยายไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะเดียวกัน ซีพีมีโครงการต่อเนื่องจากผลิตภัณฑ์พีวีซี ได้แก่ โครงการผลิตแผ่นพีวีซีชนิดอ่อนทั้งแบบใสและแบบขุ่น
ขนาด 55,000 ตันต่อปี ลงทุนกว่า 900 ล้านบาท โครงการผลิตแผ่นพีวีซีชนิดแข็ง
แบบใสและแบบขุ่นขนาด 28,000 ตัน ลงทุน 677 ล้านบาท โครงการผลิตหนังเทียมใช้ในอุตสาหกรรมรองเท่า
เข็มขัด เฟอร์นิเจอร์และเบาะรถยนต์ ขนาด 43.85 ล้านหลา ลงทุน 750 ล้านบาท
โครงการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ จากพลาสติกเช่น เสื้อกันฝนปีละ 712,660 โหล
กระเป๋าชนิดต่าง ๆ ปีละ 1,128 ล้านโหล บรรจุภัณฑ์ปีละ 17,331 ล้านโหลเป็นต้น
ซีพีจึงกลายเป็นหุ้นส่วนที่โซลเวย์เห็นว่าเหมาะสมที่สุด สำหรับการเข้าตลาดพีวีซีทั้งตลาดในและต่างประเทศ
โซลเวย์กับซีพีจึงร่วมทุนกันตั้งบริษัท วีนิไทย จำกัด เมื่อปี 2531 ทันทีเมื่อตกลงหลักการได้ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน
415 ล้านบาท โดยโซลเวย์ถือหุ้น 49% ซีพีถือหุ้น 45% ในนามของบริษัท ซี.ที.
ปิโตรเคมี จำกัด ซึ่งดูแลการผลิตผลิตภัณฑ์พีวีซีของซีพีทั้งหมด อีก 6% เป็นผู้ถือหุ้นคนไทยรายย่อย
ทั้งนี้ ซีพีจะเป็นผู้ดูแลตลาดในประเทศผ่านช่องทางการขายที่ซีพีมีความสัมพันธ์กับลูกค้าด้านเกษตรอยู่แล้ว
ซึ่งล้วนแล้วแต่มีแนวโน้มมาใช้ผลิตภัณฑ์พีวีซีมากขึ้น เช่นท่อน้ำ ลัง เป็นต้น
ส่วนโซลเวย์จะดูแลตลาดต่างประเทศ เนื่องจากมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ทำให้ทีพีซีถูกมองว่าคงจะเสียเปรียบโซลเวย์ซึ่งเคลื่อนไหวและปรับตัวในเชิงรุกได้เร็วกว่า
ขณะที่ทีพีซียังดูเหมือนสงบนิ่งดุจไม่มีการเคลื่อนไหว...!
สำหรับทีพีซีนั้น ในช่วงที่โซลเวย์ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกซีพี ก็มีข่าวออกมาว่า
เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ประธานกรรมการบริษัท กระจกไทยอาซาฮี จำกัด ได้รับทาบทามจากโซลเวย์ให้ร่วมทุนผลิตพีวีซี
ซึ่งทำให้คนในวงการพากันแปลกใจ
จนตอนหลังโซลเวย์ได้ระบุชัดเจนว่ารายชื่อในความสนใจของโซลเวย์นั้นไม่มีกระจกไทยอาซาฮี
และไม่เคยมีการพูดคุยหรือทาบทามแต่อย่างใด
เรื่องนี้ แหล่งข่าวจากวงการพลาสติกเปิดเผยว่า "เท่าที่ทราบทางคุณเกียรติได้ให้คนของ
มิตซูบิชิและกระจกไทย-อาซาฮี ไปติดต่อ แต่ไม่มีโอกาสได้พูดคุย"
จึงวิเคราะห์กันว่า การที่เกียรติพูดเช่นนี้ก็ เพื่อจุดความสนใจในการร่วมทุนกับโซลเวย์
เนื่องจากกระจกไทย-อาซาฮี มีบริษัทในเครือเดียวกันคือ ไทยอาซาฮีโซดาไฟ เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ใน
ทีพีซี หากกระจกไทย-อาซาฮีได้ร่วมธุรกิจกับโซลเวย์ ก็เท่ากับเป็นการช่วยทีพีซีโดยทางอ้อม
ที่สำคัญ ไทยอาซาฮีโซดาไฟเป็นผู้ผลิตโซดาไฟรายหลัก หากหุ้นส่วนกลุ่มเดียวกันไป
ถือหุ้น หรือร่วมทุนกับโซลเวย์ การขับเคี่ยวแข่งขันในตลาดพีวีซีของทีพีซีก็ลดดีกรีไปด้วย
เพราะเมื่อเจ้าของทุนเป็นกลุ่มเดียวกัน การเจรจาและการจัดสรรช่องทางตลาดก็ง่ายขึ้น
แต่โซลเวย์นั้นมองการณ์ไกล สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น โซลเวย์เมื่อเทียบกับทีพีซีหรือ
มิตซุยแล้ว ยังต่างระดับกันมาก...!
โซลเวย์เป็นผู้ผลิตวีซีเอ็มรายใหญ่ของโลกและในยุโรปตะวันตกก็ยังมีรายอื่นที่สำคัญ
เช่น SHELL ROVIN, NORSK HYDRO, หรือ ATOCHEM HUELS เป็นต้น ส่วนในญี่ปุ่นก็มี
MITSUBISHI KASEI, KANEGAFUCHI, และ SHINETSU
สำหรับตลาดในประเทศ โซลเวย์เห็นว่าซีพีเป็นมือโปรทางการตลาด และตลาดพีวีซียังมีช่องว่างที่น่าสนใจอยู่มาก
แม้ว่าทีพีซีจะเข้าไปยึดตลาดได้ก่อนก็ตาม
จะเห็นได้จากคำพูดของเซอร์จิโอ ซาร์ดาโน กรรมการผู้จัดการของวีนิไทยที่ว่า
"ตลาดนี้จะไปได้ดี อัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% ของตลาดรวม แม้ตนจะเป็นนายใหม่
แต่จะใช้นโยบายเปิดตลาดโดยเน้นคุณภาพสินค้าเป็นตัวบุกเบิก รวมถึงการให้คำแนะนำด้านเทคนิคแก่ลูกค้า
และเม็ดพีวีซีที่ออกจากโรงงานโซลเวย์ในไทยจะทันสมัยและดีที่สุดโรงหนึ่งของโลก"
เพราะโซลเวย์เป็นผู้นำด้านปิโตรเคมีที่สำคัญรายหนึ่งในตลาดโลก
ทางทีพีซีนั้น เมื่อรู้แน่แล้วว่าตนไม่ได้ขยายกำลังการผลิต ก็ได้เตรียมแผนใหม่ในการเน้นประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้นซึ่งจะเพิ่มปริมาณผลิตได้อีก
10-15%
ขณะเดียวกัน ทีพีซีก็ได้ร่วมทุนกับบริษัท ริเก้น ไวนิล อินดัสทรี จำกัด
(เข้าร่วมทุนกับบริษัท เอ็มเอ็มพี แพคเก็จจิ้ง จำกัด ซึ่งผลิตฟิล์มใสห่ออาหารเป็นโครงการแรกในไทย)
ตั้งบริษัทใหม่คือ ริเก้น (ไทยแลนด์) ขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท โดยทีพีซีถือหุ้น
35% ริเก้น, กลุ่ม มิตซุยและบริษัท มิตรสยามอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือหุ้น
65% เพื่อผลิตพีวีซีคอมเปาน์ดเกรดพิเศษ ใช้เงินลงทุน 250 ล้านบาท
ริเก้น ไทยแลนด์ จะเป็นผู้ซื้อพีวีซีเรซินจากทีพีซีแล้วนำไปผลิตพีวีซีคอมเปาน์ดเกรดพิเศษ
ซึ่งจะป้อนให้กับอุตสาหกรรมผลิตสายไฟและขวดบรรจุภัณฑ์
พร้อมกันนั้น ก็เริ่มให้ความสนใจที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้องค์กร และสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับตลาดมากขึ้น
ดังที่ลัคนา สุนทรพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินแบะบริหารเคยกล่าวกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า
ทีพีซีสนใจและจะศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตพีวีซีสำเร็จรูปตั้งแต่ปี
2531
แต่จนวันนี้ก็ยังไม่เป็นจริงจนมีเสียงวิพากษ์ในวงการว่าคงเป็นเพราะทีพีซี
ใช้นโยบายอนุรักษ์จนเกินไป...!!??
เมื่อตลาดพีวีซีได้ก้าวถึงจุดที่จะต้องแข่งขันมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งจากการรุกเข้ามาของ
โซลเวย์และซีพีนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ทีพีซีต้องปรับตัวให้ทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเท่านั้น
แม้แต่โรงงานผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปพีวีซีต่างก็ปรับขบวนในการทำธุรกิจ
ตั้งแต่บริษัท ไทย-นาม พลาสติกส์ จำกัด ผู้ผลิตสินค้าพีวีซีรายใหญ่ของไทยก็ได้เจรจาร่วมทุนกับเยอรมันอีกรายหนึ่งคือ
โมเดิร์นพลาสติกกับเกาหลีเพื่อช่วยเสริมเทคโนโลยีการผลิตและ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด
ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พีวีซีที่สำคัญอีกราย ก็คือบริษัท นครหลวงอุตสาหกรรมพลาสติก
จำกัด (นครหลวงพลาสติก) ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของทีพีซี อีกแห่งหนึ่งนั้นก็อยู่ระหว่างการทบทวน
ทิศทางการพัฒนาธุรกิจของตน
นครหลวงพลาสติกจะผลิต PVC SHEET ถึง 50% ของกำลังการผลิตของบริษัท โดยเฉพาะเสื่อน้ำมันทั้งชนิดใสแบบหนาและบาง
ซึ่งจะพิมพ์ลายดอกต่าง ๆ
นครหลวงพลาสติกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2516 โดยพีรชาติ ปรารถนวนิช
ทุนจดทะเบียนครั้งแรก 13.09 ล้านบาท ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้น
5 ตระกูลใหญ่ด้วยกัน (โปรดดูตาราง "ผู้ถือหุ้นของนครหลวงอุตสาหกรรมพลาสติก")
ได้แก่ตระกูล "ปรารถนวนิช" "อาชวกุลเทพ" หงส์สุขพันธ์"
"ลือชัยขจรพันธ์" และ "จิตกรีสร" ตามลำดับ และในบรรดาผู้ถือหุ้นหลักของแต่ละตระกูลต่างก็มีธุรกิจส่วนตัวด้านพีวีซีสำเร็จรูป
อาทิ พีรชาติ ปรารถนวนิช เป็นเจ้าของบริษัท คิมฮง อิมปอร์ต จำกัด ยกเว้น
ภิญโญ หงส์-สุขพันธุ์ที่ไม่มีกิจการส่วนตัว
จึงพูดได้ว่า ภิญโญเป็นหลักของนครหลวงพลาสติก กระทั่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
หลังจากที่ได้ร่วมหัวจมท้ายกันมานาน และแม้บริษัทยังจะมีกำไร โดยปี 2532
กำไรสุทธิประมาณ 2 ล้านบาทก็ตาม ขณะที่แนวโน้มการแข่งขันในตลาดพีวีซีสำเร็จรูปนับจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
หุ้นส่วนของนครหลวงพลาสติก จึงเห็นว่าน่าที่จะขายทรัพย์สินที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร
อุปกรณ์ ที่ดินแก่ ผู้ที่สนใจและสามารถพัฒนาโรงงานของนครหลวงพลาสติกได้อย่างจริงจัง
หนึ่งในเทคโนโลยีที่นครหลวงพลาสติกสนใจก็คือมิตซุย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทีพีซีด้วยนั่นเอง
ในความเห็นของหุ้นส่วนนครหลวงพลาสติกนั้น อยากจะลงทุนพัฒนาโรงงาน ซึ่งมีทางไต้หวันเข้ามาติดต่อร่วมทุนและช่วยพัฒนาเทคนิคการผลิต
หากจะทำก็ตกลงและตัดสินใจได้เร็ว แต่ไต้หวันจะมีข้อด้อยกว่าในเรื่องการบริการที่ไม่ค่อยแน่นอน
ขณะที่ทางนครหลวงพลาสติกสนใจเทคโนโลยีของญี่ปุ่น โดยเฉพาะมิตซุย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าการลงทุนในวงเงิน
5 ล้าน หรือ 10 ล้านบาท เพื่อที่จะว่าจ้างที่ปรึกษาญี่ปุ่นมาพัฒนาเทคนิคให้นั้นจะคุ้มหรือไม่
เพราะเป็นการลงทุนที่ไม่เห็นเป็นเงินสด ซึ่งผู้ถือหุ้นของนครหลวงพลาสติกเองก็ต้องการคนที่จะมาบริหารและมองอนาคตอันยาวได้ชัดเจนและวางระบบรองรับเป้าหมายนั้น
แต่สำหรับญี่ปุ่นนั้น จะต้องใช้เวลาเจรจากันนานมาก เรียกว่าเป็นปี แต่ถ้าตกลงแล้วจะได้รับบริการต่อเนื่องอย่างดี
แหล่งข่าวจากวงการพลาสติกเปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า "เท่าที่ทราบนครหลวงพลาสติกได้ศึกษาถึงแนวทางนี้
ทางทีพีซีเองก็ให้ความสนใจ เนื่องจากคิดที่จะตั้งโรงงานผลิตสินค้าพีวีซีสำเร็จรูปอยู่แล้ว
เล่ากันว่า ในช่วงแรกมีการประเมินทรัพย์สิน ซึ่งตกประมาณแค่ร่วม 200 ล้านบาท
แต่เมื่อประเมินรวมถึงค่า GOODWILL และมูลค่าทางธุรกิจแล้วทำให้ตัวเลขที่พูดกันอยู่ในระดับ
300 ล้านบาทโดยประมาณ
หากทีพีซีจะลงทุนสร้างโรงงานใหม่ "คงจะต้องลงทุนอย่างต่ำ 400 ล้านบาท"
แหล่งข่าว อีกรายหนึ่งประเมิน
การพูดคุยครั้งนี้ มีการพูดถึงข้อตกลงที่ทีพีซีจะต้องชำระเงินแก่ผู้ถือหุ้นของนครหลวงพลาสติกแล้ว
ถ้าตกลงที่ 300 ล้านบาท งวดแรกจะจ่ายเป็นเงินสดประมาณ 180-200 ล้านบาท อีก
60-70 ล้านจะแปรเป็นหุ้นในบริษัทที่จะตั้งขึ้นใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจพีวีซีสำเร็จรูปแห่งนี้
และที่เหลือจะทยอยจ่ายเป็นงวด
ทำให้สันนิษฐานกันว่า ถ้าเป็นจริงตามข้อมูลที่กล่าวขานอยู่ ผู้ถือหุ้นของนครหลวงพลาสติกจะมีหุ้นในบริษัทใหม่ประมาณ
30-33% และที่เหลือก็คงเป็นทีพีซีกับกลุ่มมิตซุย ซึ่งแน่นอนว่าทางมิตซุยคงต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
เพื่อที่จะมีอำนาจในการบริหารและควบคุมอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเจรจาในรายละเอียดกันต่อไป
สำหรับเรื่องนี้ ไพฑูรย์ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธกับ "ผู้จัดการ"
เพียงแต่เปิดเผยว่า "ทีพีซี" สนใจหลายวิธีการในอันที่จะสร้างความแข็งแกร่ง
เพื่อความพร้อมในการแข่งขันยิ่งขึ้น ซึ่งยังไม่รู้ว่าคู่แข่งจะน่ากลัวขนาดไหน
แต่เราจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ส่วนการพูดคุยอะไรต่าง ๆ ถ้ายังไม่ผ่านมติบอร์ด
ก็ยังไม่ถือว่าเป็นจริง เพราะอาจจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ได้
อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นความพยายามของทีพีซีอีกก้าวหนึ่งเพื่อจะสร้างความแข็งแกร่งแก่องค์กร
ถ้าทีพีซีกับนครหลวงพลาสติกร่วมมือกันต่างก็ได้ประโยชน์ทั้งคู่...!
ผู้ถือหุ้นนครหลวงพลาสติกไม่เพียงแต่ได้กำไรจากเงินสดเท่านั้น แต่ยังได้ถือหุ้นในบริษัทใหม่
ซื้อพีวีซีสำเร็จรูปได้ในราคาถูก จากขณะนี้ที่พีวีซีสำเร็จรูปของนครหลวงพลาสติกนั้นจะขายให้กับผู้ถือหุ้นมากถึง
90% และที่สำคัญคือพัฒนาต่อไปได้ในระยะยาว
ส่วนทีพีซีนั้นก็เริ่มมีช่องทางที่จะเข้าไปใกล้ชิดกับลูกค้าพีวีซีสำเร็จรูป
เป็นการตลาดที่ ครบวงจรมากขึ้น เพราะในนครหลวงพลาสติกมีผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของกิจการพีวีซีสำเร็จรูปที่จะ
ขายสู่ผู้บริโภคได้อย่างน้อย 4 ช่องทางตามจำนวนผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ ทำให้เข้าถึงตลาดผู้บริโภค
โดยตรง
กว่า 2 ปี ที่ความคิดของทีพีซีเพิ่งจะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ทำให้ทีพีซีและกลุ่มมิตซุย
ถูกมองว่าดูจะตัดสินใจช้าเกินไปเมื่อเทียบกับโซลเวย์ ไพฑูรย์กล่าวว่า "การบริหารของญี่ปุ่นจะ
ต่างจากที่อื่น ขณะที่ฝรั่งจะใช้เวลาตัดสินใจเพียง 20% ของช่วงเวลาทั้งหมด
และใช้เวลาดำเนินการ 80% แต่ญี่ปุ่นนั้นตรงกันข้ามกว่าจะตัดสินใจได้กินเวลาถึง
80% จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่น่าพอใจอย่างละเอียด และเมื่อตัดสินใจแล้วจะใช้เวลาเพียง
20% ในการผลักดันโครงการให้เป็นจริง
ไม่ว่าการเจรจาระหว่างทีพีซีกับนครหลวงพลาสติกจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่ทีพีซีได้พยายามวางรากฐานการผลิตและการตลาดให้เข้มแข็งที่สุด
จากปี 2531 ทีพีซีมีพนักงานการตลาดอยู่ 30 คนมาปี 2532 เพิ่มขึ้นมาเป็น
35 คนและ 44 คนในปี 2544 เนื่องจากปัญหาจราจรติดขัด ทำให้อัตราส่วนการบริการของพนักงานต่อจำนวน
โรงงานในแต่ละวันน้อยลง จึงต้องเพิ่มจำนวนพนักงานด้านนี้มากขึ้น
ทีพีซีมีลูกค้าใช้พีวีซีอยู่ทั่วประเทศ 300 ราย จะสร้างฐานตลาดโดยเป็นผู้ขายโดยตรงพร้อมทั้งให้คำปรึกษา
แนะนำทั้งเรื่องเทคนิคการผลิตและการบุกเบิกตลาดสินค้าพีวีซีสำเร็จรูปใหม่
ๆ
ทีพีซีอยู่ระหว่างการปรับแผนการตลาด โดยจะให้พนักงานการตลาดของทีพีซีไม่เพียงแต่เป็นผู้ขายพีวีซีเท่านั้น
แต่จะเป็นผู้วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มสินค้าพีวีซีสำเร็จรูปแต่ละชนิดแก่ลูกค้า
พร้อมทั้งเข้าไปใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น รวมถึงการช่วยวางแผนสต็อก แนะนำช่องทางการผลิตสินค้าใหม่มากยิ่งขึ้น
สำหรับตลาดส่งออก ทีพีซีจะขยายงานออกไปด้วยการตั้งสาขาในต่างประเทศที่เป็นคู่ค้าของตนคือญี่ปุ่น
ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา
นอกจากนี้ ทีพีซีจะเน้นด้านอาร์แอนด์ดี มากขึ้น เพื่อค้นคว้าวิจัยพีวีซีเกรดใหม่
ๆ เพิ่มขึ้นให้สมกับที่บุกเบิกตลาดด้านนี้มาก่อน
ไพฑูรย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ทีพีซีมีนโยบายที่จะพัฒนาองค์กรทั้งแนวนอนและแนวดิ่งและจะต้องปรับตัวตลอดเวลา
แต่ที่สำคัญจะต้องก้าวไปบนรากฐานที่มั่นคง มิฉะนั้นแล้ว เมื่อโตถึงจุดหนึ่งก็จะเสียหลักหรือพังได้ง่าย
แต่ถ้าทีพีซีอยู่กับที่ก็เท่ากับว่าเล็กลง ขณะที่โซลเวย์มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก
ถ้าประมาณ ทีพีซีก็มีสิทธิเฉาได้เหมือนกัน
ด้วยนโยบายและทิศทางการพัฒนาของทีพีซีดังกล่าว ถือว่าเป็นการเตรียมตัวของทีพีซีในยุคที่ยศ
เอื้อชูเกียรติ ขึ้นมาเป็นประธานกรรมการบริษัทแทนจรูญซึ่งเสียชีวิตลง และรับมือคู่แข่งรายแรกของตลาดพีวีซีในปลายปี
2534 ทันทีที่ โซลเวย์เริ่มผลิต
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทีพีซีจะครองสัดส่วนตลาดถึง 95% ไว้อย่างเดิม...!
ปีหน้าก็จะรู้กันว่าทีพีซีจะผ่าทางตันได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่...!