เมื่อรัฐบาลลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรลงเหลือเพียง 5% จะทำให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอน้อยลง
เพราะที่ผ่านมาถ้าได้บีโอไอจะได้ยกเว้นภาษีหรือเสียภาษีนำเข้าเครื่องจักรเพียงครึ่งเดียวแล้วแต่ละกรณี
ขณะที่บริษัทไม่ได้รับการส่งเสริม จะต้องเสียภาษีนำเข้าเครื่องจักรเต็มอัตรา
การออกมาตรการใหม่ครั้งนี้จึงเป็นการลดความต่างในภาระของนักลงทุน...!
ผลกระทบจะมีทั้งส่วนดีส่วนเสีย ผลดีก็คือ ทำให้ไทยไม่เป็นที่ครหาของต่างชาติ
เช่น สหรัฐฯ ว่าไทยอุดหนุนอุตสาหกรรมที่ได้บีโอไอ
แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยในมาตรการครั้งนี้ เนื่องจากมีผลเสียที่น่าเป็นห่วง
การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร โดยไม่ได้ลดภาษีสินค้าสำเร็จรูปเท่ากับเป็นการคุ้มครองผู้ผลิตมากขึ้นกว่าเดิม
เนื่องจากภาษีสินค้าสำเร็จรูปจะต้องเสียในอัตรา 40-60 ซึ่งสูงที่สุด หมายความว่าต้นทุนของผู้ผลิตน้อยลง
แต่ขายสินค้าราคาเท่าเดิม ประชาชนจึงต้องรับภาระราคาสินค้าไป
จากกรณีนี้ คิดว่ารัฐบาลน่าจะหาทางนำไปสู่การลดภาษีสินค้าสำเร็จรูปอยู่
แต่คงช้า เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีนั้นเป็นเรื่องยาก พอจะทำเข้าจริงก็มีคน
LOBBY กันมาก
ประการสำคัญ เรากำลังพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นกลาง โดยเฉพาะเครื่องจักรอุปกรณ์
ต่าง ๆ เมื่อลดภาษีครั้งนี้ จะกระทบต่ออุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งบางอย่างเราเริ่มที่จะผลิตได้
ถ้าไม่มีการลดภาษี อุตสาหกรรมของเราก็อยู่ได้ แต่พอลดภาษีนี้ลงมา อุตสาหกรรมโดยคนไทยจะพัฒนาได้ยาก
ทำให้ "สินค้าทุน" เกิดลำบาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
โลหะ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรโดยรวม
การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรโดยไม่ได้ลดภาษีสินค้าสำเร็จรูปทั้งที่ควรจะทำนั้น
ไม่เพียงแต่เป็นการคุ้มครองนักลงทุนเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ส่งผลทำให้มีการใช้เครื่องจักรมากกว่า
ที่ควรจะเป็นตามปัจจัยการผลิต
เช่น การใช้แรงงานทดแทนที่มีอยู่ในบางส่วนจะหันไปใช้เครื่องจักรมากขึ้น
เพราะ มีราคาถูก การใช้แรงงานก็น้อยลง สำหรับเมืองไทยคิดว่ายังไม่เหมาะ
อีกแง่หนึ่ง จะกระทบดุลการค้า จากการนำเข้าเครื่องจักรที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการยืดหยุ่นของอุปสงค์ของเครื่องจักร
ถ้ามีความยืดหยุ่นของราคาสูง คนนำเข้าก็มาก จะขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น ถ้ารวมเครื่องจักรไฟฟ้าแล้วเป็นหมื่นล้านบาทต่อปี
รายได้ภาษีก็จะหายไปไม่มาก
แต่ถ้าเครื่องจักรราคาสูง นำเข้าน้อย การขาดดุลน้อย รายได้ภาษีจะหดหายไปมาก
ส่วนที่ห่วงเรื่องรายได้ภาษีของรัฐบาลจะลดลงและจะกระทบต่อเงินคงคลังของรัฐบาลนั้น
จากการประเมินของรัฐบาลที่ว่าจะลดไปราว 5,000 ล้านบาทนั้น ขึ้นอยู่ว่าหากนำเข้าเครื่องจักรมากแม้จะเสียภาษีน้อยลง
รายได้จะไม่ลดมาก แต่อาจจะเพิ่มกว่าที่ประมาณการไว้ด้วยซ้ำไป ทว่าจะขาดดุล
พร้อมกันนั้น ยังมองกันว่า หากรัฐบาลต้องตรึงราคาขายปลีกน้ำมัน โดยนำเงินภาษีสรรพสามิตมาชดเชย
ก็ยิ่งจะทำให้รายได้ของรัฐลดไปนั้น คงเป็นชั่วระยะหนึ่ง...นี่เป็นตัวอย่างที่ผมอยากยกขึ้นมาเปรียบเทียบ
ที่จริง ไม่ควรทำ แต่ควรปล่อยให้ราคาน้ำมันเป็นไปตามตลาด ด้วยการปรับเพดานอัตราการปรับราคาน้ำมันมากกว่าครั้งละ
30 สตางค์ ด้วยเหตุว่า สูตรการปรับราคาน้ำมันตามเพดานกองทุนน้ำมันนั้น เหมาะที่จะใช้ในสถานการณ์ปกติ
แต่ในภาวการณ์อย่างนี้ ควรจะต้องปรับใหม่
การขึ้นราคาน้ำมันเป็นวิธีประหยัดพลังงานที่ดีที่สุด แต่แน่นออนว่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน
เงินเฟ้อ นั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหามาตรการมาแก้ไข
ประการสำคัญ ผมอยากจะเน้นว่าการขึ้นราคาน้ำมันขายปลีก 30 สตางค์ก็ดีหรือการลดอากรขาเข้าเครื่องจักร
5% ก็ดี ที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้อากรขาเข้าเป็นเครื่องมือหารายได้เข้ารัฐ แต่ใช้เป็นเครื่องมือคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศมากกว่า
นโยบายครั้งนี้ ส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่น่าจะถูกต้อง ดูเหมือนว่าไม่ได้มีการศึกษากันอย่างจริงจังว่า
เมื่อประกาศใช้แล้วจะกระทบต่ออุตสาหกรรมจักรกลในประเทศแค่ไหน ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมจักรกล
(ถึงขนาดตั้งสถาบันเครื่องจักรกลขึ้นมา)
ถ้าจะบอกว่าเพื่อกระตุ้นการพัฒนาเครื่องจักรและเทคโนโลยีก็ควรจะดูเป็น SECTOR
ไป การพูดรวมอย่างนี้ แม้จะระบุเฉพาะอัตรา 84 และ 85 ที่ครอบคลุมเครื่องจักรนิวเคลียร์
ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องจักรเกษตร ก็ยังกว้าง กลายเป็นการเพิ่มการอุดหนุนอุตสาหกรรมไป
ทั้งที่ทุกครั้ง เรามักจะพูดเสมอว่า อุตสาหกรรมไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเนื่องจากได้รับการคุ้มครองด้านภาษีมากเกินไป
การอุดหนุนสูงขึ้นจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิต
การที่เรามี UNIFORM อย่างนี้ เวลาปฏิบัติก็พิจารณาง่าย แต่ไม่สามารถส่งเสริมอุต-สาหกรรมในจุดที่เราต้องการส่งเสริมจริง
ๆ เพราะเครื่องจักรบางอย่างเราผลิตและพัฒนาเอง ไม่ได้ในระยะสั้น เช่นเครื่องจักรสิ่งทอบางอย่าง
แต่มีหลายอย่างที่เราเริ่มผลิตได้เอง
การที่อยู่ดี ๆ แล้วไปลดภาษีโดยไม่ศึกษา ทำให้ส่งผลกระทบดังกล่าว...!
ถ้าจะอ้างว่าลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการย้ายไปลงทุนในต่างจังหวัดนั้น
ไม่สมเหตุสมผล เพราะบริษัทที่ได้บีโอไอส่วนใหญ่จะตั้งโรงงานในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑลรอบ
ๆ พอบีโอไอประกาศไม่ส่งเสริมในเขตเหล่านี้ เขาก็จะย้ายไปลงทุนในจังหวัดใหญ่
ที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและวัตถุดิบ
การส่งเสริมให้นักลงทุนออกต่างจังหวัด เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่ความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมเป็นหลัก
เรื่องภาษีนั้นเป็นเหตุผลรอง ขณะที่ผู้ลงทุนในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ไม่ได้บีโอไอ
โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก
การกระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรมในท้องถิ่นที่ถูกต้องนั้น ไม่ใช่ดึงคนในกรุงเทพฯ
หรือต่างประเทศเข้าไป แต่ตัวหลักจะต้องอยู่ที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นเป็นสำคัญ
ด้วยการสร้างปัจจัยให้เขาลงทุนตั้งหรือขยายโรงงานที่นั่น ส่วนการดึงคนนอกท้องถิ่นนั้นควรเป็นหนทาง
สุดท้าย
นอกจากนี้ มาตรการลดภาษีที่ประกาศออกมาทำให้แนวนโยบายที่จะส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงพลอยไม่เป็นผลไปด้วย
จากที่เคยคิดว่าถ้าเครื่องจักรโรงงานชิ้นใดที่ใช้เชื้อเพลิงน้อยแล้วให้ประสิทธิภาพการผลิตดีนั้น
ควรจะสนับสนุนเป็นพิเศษ เพราะเท่ากับเป็นการลดต้นทุนการผลิตและประหยัด น้ำมัน
ซึ่งส่วนใหญ่เรายังต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทบทั้งหมด
มาตรการนี้ทำให้เครื่องจักรไม่ว่าจะประหยัดหรือไม่ประหยัดเชื้อเพลิงอยู่ในอัตราภาษีเดียวกัน
จึงไม่มีแรงจูงใจ ครั้นจะลดภาษีลงไปอีกก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากอัตราภาษีขนาดนี้ถือว่าต่ำมากแล้ว
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับบีโอไอโดยตรง ดังนั้นเป็นหน้าที่ของบีโอไอที่จะสนับสนุนเครื่องจักรที่ช่วยประหยัดน้ำมันให้มากขึ้น
รัฐบาลเองก็จะต้องมีนโยบายชัดเจนและรณรงค์อย่างจริงจัง
ส่วนบทบาทของบีโอไอนั้น เมื่อมีการลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรแล้ว ทำให้ดูเหมือนว่า
บีโอไอหมดความสำคัญไป...!
อันที่จริง อยากเห็นบีโอไอให้สิทธิประโยชน์ให้น้อยลง แล้วมาให้ข้อมูลข่าวสาร
อำนวยความสะดวก ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ แก่นักลงทุน ซึ่งจะดีกว่าการ
ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่ได้บีโอไอกับไม่ได้บีโอไอก็ยังมีความได้เปรียบต่างกันอยู่ดี
แต่น้อยลง คือรายที่ได้บีโอไอนั้นจะได้รับยกเว้น หรือลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบและภาษีเงินได้
ส่วนรายที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ส่วนนี้
มาตรการลดภาษีครั้งนี้ น่าที่จะเป็นแรงผลักดันให้บีโอไอปรับบทบาทของตัวเอง
ดังที่พูดไปแล้ว เพราะโดยทิศทางของการพัฒนานั้น เราเน้นและยืนยันหลักการอยู่เสมอว่าจะพยายามลดการอุดหนุนให้น้อยลง
แต่พอจะทำ ผู้ได้รับผลกระทบก็มักจะร้องเรียนเนื่องจาก เป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองได้มากกว่า
มิฉะนั้นแล้ว ผู้ส่งออกได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง ผู้ผลิตภายในก็ได้ประโยชน์โดยยังขายสินค้าราคาเท่าเดิม
ซึ่งเท่ากับมีราคาสูงขึ้นในเมื่อต้นทุนถูกลง ผู้บริโภคจึงต้องรับภาระทุกสถานการณ์
บีโอไอจึงต้องเน้นบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยพิจารณาจากผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก...!
เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมา ไทยมีนักลงทุนในลักษณะ FREE RAIDER ค่อนข้างมาก
มีการใช้ทรัพยากรโดยไม่ต้องชดเชยค่าเสียหาย
ถ้าอุตสาหกรรมขยายตัวน้อยลงสัก 3-5% แล้วทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นย่อมดีกว่าให้
อุตสาหกรรมโตมหาศาล แล้วต้องสูญเสียคุณค่าสิ่งแวดล้อมที่ดีไป
ขณะเดียวกัน ไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนจะต้องไปแบกรับภาระในการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อโหมการลงทุนอย่างหนัก
เพราะนั่นเป็นการลงทุนของประชาชน แต่ นักลงทุนได้ประโยชน์
ประเด็นนี้เป็นปัญหามาก แต่เราไม่ค่อยได้สนใจกัน
จึงเป็นจังหวะที่บีโอไอควรหันมาให้สร้างแรงกระตุ้นและจิตสำนึกให้นักลงทุนใส่ใจต่อสังคมมากขึ้น...!
ดร. สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
ประวัติ
ปัจจุบัน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อายุ 48 ปี
การศึกษา ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทและเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก
DUKE UNIVERSITY
ประสบการณ์ เคยเป็นคณะเจ้าหน้าที่กำหนดมาตรการทางเศรษฐกิจหลังลดค่าเงินบาท
กรรมการด้านกฎหมายลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กรรมการนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการด้านวิชาการของสภาวิจัยแห่งชาติ และ
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมัยดำรง ลัทธพิพัฒน์