Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2533
เจมโมโปลิส เมืองอุตสาหกรรมอัญมณี             
 


   
search resources

พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล
Jewelry and Gold
โครงการเจมโมโปลิส




การเปิดตัวโครงการเจมโมโปลิส เมื่อกลางเดือนกันยายน ที่ผ่านมาจัดเป็นศูนย์กลางอัญมณีรายล่าสุดที่เปิดตัวโครงการมาในปีนี้ เจมโมโปลิส แปลกกว่าโครงการอื่น ๆ คือไปตั้งอยู่ที่ กม. 8 ถนนบางนา-ตราด ซึ่งห่างไกลย่านธุรกิจสำคัญ ขณะที่โครงการซึ่งเปิดตัวไปแล้วไม่ว่าจะเป็นเจมส์ ทาวเวอร์, จิวเวลรี เทรด เซนเตอร์, สีลม พรีเซียส ทาวเวอร์ และบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี ทาวเวอร์ ล้วนตั้งอยู่ในใจกลางเมืองย่านถนนสีลม มเหศักดิ์ สุรวงศ์และเจริญกรุง ซึ่งถือเป็นแหล่งการค้าอัญมณีในปัจจุบัน

ทำเลที่ตั้งของเจมโมโปลิสอาจจะดูด้อยเมื่อเทียบกับทำเลของโครงการอื่น ๆ แต่ในอนาคตซึ่งแนวโน้มการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกในโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด ทำได้สำเร็จ รวมทั้งโครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ถนนวงแหวนรอบนอก ถนนศรีนครินทร์ บางนา-ตราด ท่าอากาศยานหนองงูเห่าเกิดขึ้นจริง มิพักต้องสงสัยว่าทำเลที่ตั้งของเจมโมโปลิสจะเป็นจุดดึงดูดนักธุรกิจได้มากกว่าทำเลที่ตั้งในใจกลางเมืองสักเพียงใด

แนวคิดในการสร้างเมืองอุตสาหกรรมอัญมณีหรืออัญธานีแห่งนี้คือต้องการให้เป็นศูนย์รวมการผลิต การติดต่อซื้อขาย และการผ่านพิธีทางศุลกากรเพื่อการส่งออกซึ่งอัญมณีและเครื่องประดับไว้พร้อมสรรพภายในอาณาบริเวณเดียวกัน (ONE-STOP SERVICE)

พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับกล่าวว่า "ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยมี 34,000 ล้านบาท ผมคิดว่าหลังจากที่เราสร้างเจมโม โปลิสเสร็จ โครงการนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมการส่งออกคึกคักมากขึ้น เราตั้งความหวังกันไว้ว่าจะเพิ่มมูลค่าให้ได้สูงถึง 100,000 ล้านบาท"

พื้นที่ 170 ไร่ บริเวณชานเมืองด้านฝั่งตะวันออกกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วที่ดินแถบนี้ซื้อขายกันในราคาตารางวาละ 20,000-30,000 บาท และมีแนวโน้มแต่จะพุ่งสูงขึ้น ว่ากันว่าที่ดินเหล่านี้เป็นของกลุ่มเชียงเฮงเทรดดิ้ง ซึ่งนำโดยบุญยง อัศรัสกรเป็นหัวเรือใหญ่ในบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เจมส์ ซินดิเคทหรือ IGS ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารเจมโมโปลิส กลุ่มเชียงเฮงเป็นผู้ค้าและส่งออกอัญมณีรายใหญ่รายหนึ่ง ดำเนินกิจการมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว

IGS มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท กลุ่มผู้ถือหุ้นนอกจากเชียงเฮง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และมีพี่น้องเข้ามาร่วมบริหารงานด้วยหลายคน โดยบุญยง พี่ใหญ่ขึ้นเป็นประธานกรรมการแล้ว ก็มีพรสิทธิ์เป็นประธานกรรมการบริหาร วิชัย อัศรัสกรเป็นกรรมการผู้จัดการ ศิริ อาชาพิลาส, แสงชัย คุณารัตนอังกูร, ประเกียรติ นาสิมมา, คมสัน โอภาสสถาวร และอีกหลายคนซึ่งล้วนอยู่ในวงการผู้ประกอบการอัญมณีไทยรวมเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นและกรรมการ

ความคิดที่จะสร้างศูนย์กลางอัญมณี เกิดจากความเติบโตของธุรกิจส่งออกอัญมณีของไทยอย่างมาก ๆ ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา บรรดาพ่อค้าอัญมณีประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกันในเรื่องความไม่สะดวกของพ่อค้าต่างชาติที่เข้ามาติดต่อซื้อขายอัญมณีไทย ปัญหาหลักอยู่ที่กระบวนการติดต่อและส่งสินค้า

กลุ่มพ่อค้าต่างชาติจะต้องตระเวนซื้อสินค้าจากร้านต่าง ๆ บางครั้งต้องเดินทางไปต่างจังหวัด ตะลุยไปถึงแหล่งวัตถุดิบ และยังจะต้องมาติดต่อบริษัทประกันภัย นำสินค้าผ่านด่านพิธีทางศุลกากรติดต่อกับธนาคาร ซึ่งกว่าจะจบสิ้นกระบวนการในการเดินทางมาครั้งหนึ่ง ๆ ก็ต้องใช้เวลาหลายวันและยุ่งยากน่าเหนื่อยหน่ายไม่น้อย

แม้ว่าย่านสีลม สุรวงศ์ และมเหศักดิ์จะเป็นศูนย์รวมร้านค้าอัญมณีไว้มากที่สุดคือประมาณ 400 รายจากจำนวนผู้ประกอบการค้าอัญมณีทั้งสิ้น 3,000 รายทั่วประเทศ แต่ก็มีร้านค้าและโรงงานหลายแห่งที่ไม่ได้อยู่บริเวณนี้ และการผ่านกระบวนการอื่น ๆ ดังที่กล่าวมา ซึ่งจะต้องใช้เวลาเดินทางผ่านเส้นทางจราจรที่ติดขัดก็เป็นเรื่องไม่น่าสนุกนัก

ศูนย์กลางอัญมณีเป็นสิ่งที่ผู้ค้าและส่งออกอัญมณีต้องการเป็นที่สุด เพราะไม่เพียงแต่จะรวมขั้นตอนกระบวนการทุกอย่างไว้ในสถานที่เดียวกัน แต่ในแง่ของการสร้างอาคารศูนย์กลางขึ้นมาใหม่นั้น ผู้ค้าสามารถออกแบบอาคารสถานที่ควบคุมความปลอดภัยและการควบคุมในเรื่องแสง การติดตั้งกระจกเพื่อให้การชมและเลือกซื้ออัญมณีสามารถทำได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้การพิจารณาความงดงามของอัญมณีว่าจะเปล่งปลั่งแวววาวสักเพียงใด นั้นอาศัยดูกับแสงธรรมชาติจะเห็นชัดที่สุด

โครงการเจมโมโปลิสมีสิ่งที่ต่างไปจากโครงการศูนย์อัญมณีอื่น ๆ คือมีพื้นที่สำหรับสร้างโรงงานผลิต เจียระไนเพชร อัญมณีและเครื่องประดับ โดยในส่วนที่เป็นโรงงานนี้มีรวมทั้งสิ้น 46 หลัง และวิชัย อัศรัสกรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าโรงงานเหล่านี้มีการจับจองไปหมดแล้ว และขณะนี้กำลังเปิดให้จองอาคารเทรดดิ้ง เซนเตอร์ 1 ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์หลังแรกในจำนวน 3 หลัง ที่จะสร้างขึ้นสนนราคาต่ำสุดยูนิตละ 4.5 ล้าน บาท/100 ตรม. สูงสุดยูนิตละ 25.65 ล้านบาท/570 ตรม.

ชาญณรงค์ อัศรัสกรจากกลุ่มเชียงเฮงกล่าวว่า "ลูกค้าที่มาจับจองพื้นที่ส่วนมากเป็น ชาวต่างชาติอย่างมิสเตอร์อาโอยาม่าจากบริษัท โอเรียลเต็ล ไดมอนด์ ก็สนใจโครงการเจม โมโปลิสมาก เขาเป็นลูกค้าเก่าแก่ที่ซื้ออัญมณีกับเรามาเป็นเวลานาน"

โยชิยูกิ อาโอยาม่า ผู้จัดการใหญ่บริษัทโอเรียลเต็ล ไดมอนด์ อิงค์ (ODI) ซึ่งเป็น 1ใน 200 บริษัทลูกค้าชั้นดีของบริษัทเดอเบียร์ส (DBS) ที่รู้จักกันทั่วโลกว่าเป็นผู้ค้าอัญมณีรายใหญ่ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมเดินทางเข้ามาซื้อเพชรในตลาดไทยนานกว่า 10 ปีแล้วโดยมียอดซื้อจากตลาดไทยสูงถึง 10-15% ของยอดซื้อทั้งหมดของ ODI คิดเป็นมูลค่าประมาณ 18-27 ล้านดอลลาร์จากยอดซื้อทั้งหมด 180 ล้านดอลลาร์/ปี"

ทั้งนี้เพชรที่อาโอยาม่าซื้อไปนั้นเป็นเพชรที่ผ่านกระบวนการเจียระไนแล้ว แต่ก็ถือเป็นวัตถุดิบที่ต้องเอาไปแต่งเข้าตัวเรือนอีกขั้นหนึ่ง

ชาญณรงค์กล่าวว่า "ข้อได้เปรียบของการผลิตในไทยคือ เราสามารถทำขนาด (SIZE) เล็กคือในขนาด .03-.10 กะรัตขึ้นไป ขณะที่แหล่งผลิตบางแห่งเช่นที่มอสโกมีความชำนาญแต่การผลิตขนาดใหญ่คือ .25 กะรัตขึ้นไป ซึ่งนี่ก็เป็นข้อได้เปรียบทางการตลาดของเรา แม้การผลิตขนาดเล็กจะราคาต่ำแต่ว่าเป็นที่ต้องการของตลาดมาก และญี่ปุ่นก็เป็นตลาดที่เราส่งออกเพชรไปจำหน่ายมากที่สุดแห่งหนึ่ง มูลค่าตลาดอัญมณีในญี่ปุ่นสูงถึง 200,000 ล้านเยน" อาโอยาม่าให้ข้อคิดเห็นว่าโครงการเจมโมโปลิสจะเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมอัญมณีที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อโครงการสำเร็จเรียบร้อย และในอนาคต ODI อาจพิจารณาลงทุนในเมืองไทยบ้าง แต่ต้องรอดูสถานการณ์สักระยะหนึ่งก่อน

เป้าหมายของผู้ค้าและส่งออกอัญมณีที่จะเห็นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 100,000 ล้านบาท/ปีจะเป็นจริงเมื่อไหร่นั้นคงต้องรอดูกันต่อไป โครงการศูนย์อัญมณีเหล่านี้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปีจึงจะสำเร็จ และเมื่อถึงเวลานั้นก็คงจะพอดีกับที่โครงการด้านคมนาคมขนส่งรายรอบเจมโมโปลิสเป็นรูปร่างจริงจังมากขึ้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us