Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2533
สมพงศ์ นครศรี ผู้ถือหลัก "จิตว่าง" ในการทำธุรกิจ             
 


   
search resources

Electricity
สมพงศ์ นครศรี
บางกอกเคเบิ้ลสายไฟฟ้า, บจก.




ถ้าพนักงานหนุ่มการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) คนนี้ไม่ดิ้นรนที่จะส่งเสียน้องเรียนหนังสือด้วยการเบนเข็มชีวิตตัวเองมาทำธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าก็คงจะไม่มีวันนี้ วันซึ่งเขาประสบความสำเร็จทั้งด้านส่วนตัวและธุรกิจอย่างมีความสุข

สมพงศ์ นครศรี รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า เจ้าของบริษัท บางกอกเคเบิ้ลสายไฟฟ้า จำกัด ผู้ผลิตลวดทองแดงและสายไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ บุคคลซึ่งมีหลักในการทำธุรกิจที่ต่างไปจากนักธุรกิจรายอื่นอย่างที่หลายคนบอกว่า "แปลกแต่จริง"

สมพงศ์ จบวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ ก็เริ่มงานที่การไฟฟ้านครหลวงและด้วยความ ที่ "ดิ้นรน" มากไปหน่อย ในฐานะที่เป็นพี่ชายคนโตจึงอาสาส่งน้องเรียน ขณะที่กฟน. กำลังจะปรับไฟฟ้าตามบ้านจากระบบ 110 โวลต์มาเป็น 220 โวลต์ทำให้ต้องวางแผนระบบการจำหน่ายใหม่

ระบบ 220 โวลต์ เป็นระบบที่เหมาะกับเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมากกว่า...!

จังหวะตรงนี้ที่สมพงศ์เห็นว่าสายไฟจะต้องเปลี่ยนใหม่หมด จึงมีช่องทางที่จะทำธุรกิจสายไฟฟ้า ด้วยการเริ่มเข้าไปถือหุ้นในบริษัท สายไฟฟ้า บางกอกเคเบิ้ล

แต่มีปัญหาว่าทำงานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย กิจการจึงไม่ก้าวหน้า ต่อมาจึงตัดสินใจออกมาบริหารงานของบริษัทเต็มตัว หลังจากที่ได้ประสบการณ์ด้านช่างและการติดตั้งไฟมา ไม่น้อย พร้อมกันนั้นครอบครัวของสมพงศ์ก็ซื้อหุ้นของบริษัทสายไฟฟ้าฯ เมื่อปลายปี 2511

เมื่อมาบริหารงานเองแล้ว สมพงศ์ยอมรับว่าค่อนข้างมีอารมณ์ จะโกรธมากเมื่อสั่งงานแล้วไม่ได้ตามต้องการ

"ผมเป็นคนมีอารมณ์โกรธรุนแรง" สมพงศ์รู้ว่านี่คือจุดอ่อนของตัวเองและทำให้จิตใจมัวหมองหดหู่

คนที่รู้เท่าทันตัวเองเมื่อรู้ว่ามีปัญหา ก็หาทางแก้นั้น ที่สุดแล้วก็จะไม่รู้สึกว่า มีปัญหาอีก...!

สมพงศ์ถามเพื่อนรุ่นพี่ซึ่งแก่กว่า 10 ปีเศษ ก็ได้รับคำแนะนำให้ไปฟังเทศน์ที่วัด ชลประทานรังสฤษฎ์และส่งหนังสือของท่านพุทธทาสมาให้อ่าน

เมื่อเปิดโลกทรรศน์ตัวเองให้กว้าง ก็ทำให้เห็นช่องทางแก้ปัญหามากมาย แต่สมพงศ์เลือกเอาทางธรรม

"จิตว่าง" เป็นเรื่องที่สมพงศ์ศึกษามากที่สุดและโหมอ่านหนังสือเหล่านี้อยู่เป็นปีและทบทวนเกือบ 20 ครั้ง

สุดท้ายก็พบว่าการทำงานด้วยจิตว่างนั้นเป็นไปได้ นั่นหมายถึงการที่เราไม่ไปยึดถือสรรพสิ่งที่มีอยู่มากเกินไปยอมรับสัจธรรมที่ว่าทุกอย่างคืออนิจจัง

ยิ่งคนประกอบธุรกิจด้วยแล้ว ถ้านำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นคติเตือนใจและทำได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งจะคลายความกังวลได้มากเท่านั้น เพราะไม่ใช่เฉพาะความโกรธที่ทำให้จิตใจหดหู่ แต่รวมไปถึงความโลภ หลงอื่น ๆ

โดยเฉพาะในสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอน" คนที่ทำใจได้เท่านั้นที่จะไกลจากความตึงเครียดทางประสาท" สมพงศ์ผู้ซึ่งผ่านการฝึกฝนจิตมาแล้วกล่าวอย่างมั่นใจ

หลายคนอาจจะแปลกใจว่าถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะทำธุรกิจให้กำไรได้อย่างไร.?

สำหรับสมพงศ์แล้วได้ยึดหลักธรรมในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจ และเห็นว่าไม่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งต่อการทำธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในภาวะแข่งขันที่รุนแรงเพียงใดก็ตาม

การทำธุรกิจเป้าหมายก็คือการหากำไร นั่นคือหน้าที่ว่าจะต้องทำอย่างนั้น แต่สมพงศ์บอกว่า ในขณะที่มุ่งแต่กำไรก็ต้องเตือนใจไปว่าเราอาจจะขาดทุนก็ได้ เพราะโดยสภาพแวดล้อมจะมีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่เราบังคับไม่ได้

เมื่อรู้ว่าปัจจัยไหนที่คุมได้คุมไม่ได้ จะทำให้เราเตรียมรับมือกับแต่ละสถานการณ์ได้ดีขึ้น

บริษัท สายไฟฟ้าฯ นั้นผลิตทั้งลวดทองแดงและสายไฟฟ้า ขายทั้งในและต่างประเทศ โดยสมพงศ์ยึดหลักว่าจะต้องมีสัจจะ ถือคุณภาพเป็นหลัก

สำหรับการติดต่อการค้าในความคิดของสมพงศ์นั้นหากจะต้องติดต่อกับใครซึ่งไม่น่าไว้ใจ ก็เลี่ยงเสียดีกว่า เพราะในธุรกิจจะค้าขายกันได้นาน ก็ต้องอาศัยความจริงใจ "ธุรกิจใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนความสุจริตทั้งสิ้น"

เมื่อเจรจาการค้าก็ย่อมเจอชั้นเชิงและเล่ห์เหลี่ยมของธุรกิจ สมพงศ์บอกว่าถ้าเขาพูดอะไร ไม่น่าฟัง ไม่ตรงกับใจเรา ก็ใช้วิธีเงียบ

ในธุรกิจไฟฟ้าที่สมพงศ์คลุกคลีมาแล้วกว่า 20 ปี เขาได้พัฒนาและขยายธุรกิจออกไปอย่างเงียบ ๆ

ปัจจุบันมีบริษัทในเครือคือ ฮิตาชิ บางกอกเคเบิ้ล และไทยฮิตาชิ ลวดอาบน้ำยา ช่วงไหนในประเทศมีดีมานด์สายไฟฟ้ามากก็มุ่งตลาดภายใน แต่เมื่อตลาดในประเทศซบเซาก็จะมุ่งตลาดนอกเป็นหลักและอยู่ในฐานะที่แข่งขันได้ทั้งด้านราคาและคุณภาพ

ถึงจุดที่เห็นว่าควรจะขยายกำลังผลิตเมื่อเตาหลอมทองแดงขนาด 8,500 ตันต่อปี เริ่มเต็มกำลังผลิต สมพงศ์ก็เริ่มเสาะหาเตาหลอมใหม่ ซึ่งถ้าจะติดตั้งใหม่ ก็ต้องใช้มาตรฐานขั้นต่ำในตลาดโลกคือขนาด 40,000 ตันต่อปี

สมพงศ์เห็นว่า ถ้าเฉพาะบริษัทของตนทำเพียงรายเดียวก็เกินกำลังตลาดที่ตนมีอยู่ประมาณ 15,000 ตันต่อปี ขณะที่ทางเฟ้ลปส์ดอด์จ ไทยแลนด์ของชุมสาย หัสดิน ผู้ผลิตสาย ไฟฟ้ารายใหญ่อีกแห่งของไทยกำลังจะขยายกำลังผลิตจากตลาดที่ตนมีอยู่ 15,000 ตันต่อปีเช่นเดียวกัน

บังเอิญว่าทั้งสมพงศ์และชุมสายต่างก็หาซื้อเตาหลอมใหม่ด้วยเป้าหมายเดียวกัน จึงไปจ๊ะเอ๋กัน...!

ครั้นจะลงทุนเพื่อทำเฉพาะของตนเองก็เกินกำลังตลาดของแต่ละฝ่าย ขณะที่เตาหลอมขนาดเล็กที่สุดคือ 40,000 ตันต่อปี

ทั้งสองฝ่ายจึงเริ่มคุยกันเมื่อปี 2531 และเห็นว่าควรจะร่วมกันลงทุน

โดยทางสมพงศ์คือบริษัทสายไฟฟ้าฯ ฮิตาชิ บางกอกเคเบิ้ล ไทยฮิตาชิ ลวดอาบน้ำยา ฮิตาชิ ญี่ปุ่นฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งคือเฟ้ลป์สดอด์จ ไทยแลนด์ สยามอีเลคทริค และซูมิโตโม่ ญี่ปุ่น ร่วมถือหุ้นฝ่ายละ 50%

นั่นก็คือ ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหารชื่อว่าบริษัทไทยคอปเปอร์ ร็อด จำกัด (THAI COPPER ROD) มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท

โรงงานนี้จะผลิตลวดทองแดงขนาด 8 มิลลิเมตร โดยทำให้ทองแดงผ่านความบริสุทธิ์ถึง 99.99% มีทำเลอยู่ที่สมุทรปราการ และได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

โดยเริ่มผลิตแล้วเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ในขนาดกำลังผลิตเดือนละ 2,500 ตัน หรือปีละประมาณ 30,000 ตัน คาดว่าอีก 3 ปีจะใช้เต็มกำลังผลิตตามการขยายตัวของตลาดภายในและจากนั้นก็จะขยายเพิ่มเป็นปีละ 50,000 ตัน

แม้สมพงศ์กับทางเฟ้ลป์สดอด์จ ไทยแลนด์จะผลิตลวดทองแดงร่วมกัน แต่ด้านสายไฟฟ้าก็ยังคงผลิตและแข่งขันกันในตลาดเช่นเดิม

สมพงศ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าการร่วมมือลงทุนเตาหลอมเครื่องนี้ ทำให้ต้นทุนอยู่ในอัตราที่ต่ำ แข่งขันกับตลาดได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีซึ่งประสมประสานกันระหว่างสหรัฐกับเยอรมนีที่ทันสมัย ได้มาตรฐานโลกในระบบที่เรียกว่า KRUPP-HAZELETT UNIT

อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบคือทองแดงยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้แก่ ชิลี แซมเบีย ด้วยการทำสัญญาเป็นปี ๆ ไป

เมื่อบริษัท สายไฟฟ้าฯ กับเฟ้ลป์สดอด์จ ไทยแลนด์ บริษัทซึ่งมีชื่อเสียงในการผลิตสายไฟฟ้าจับมือกัน หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องแปลก...!

แต่เมื่อโลกการจัดการสมัยใหม่ยุคทศวรรษ 90 คู่แข่งขันต่างหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางร่วมมือทำธุรกิจ แทนที่จะฟาดฟันกันให้ตายไปข้างหนึ่ง และสิ่งนี้เองที่ทำให้หลักกลยุทธ์ BUSINESS ALLIANCE เกิดขึ้นทั่วโลก

สำหรับสมพงศ์นั้นถือว่าเมื่ออะไร ๆ ก็เปลี่ยน จึงต้องปรับตัวให้ทัน มิใช่มุ่งแต่ธุรกิจเฉพาะของตัวเอง แต่จะต้องมองกว้างขึ้น เพื่อความพร้อมในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งก็เข้าหลักเดียวที่ว่าทุกอย่างอนิจจังนั่นเอง

ไม่ว่าจะทำธุรกิจหรือมีบทบาททางสังคมมากขนาดไหน สมพงศ์ยังคงมีวิถีชีวิตเรียบง่าย อันต่างจากสไตล์นักธุรกิจโดยทั่วไป

สมพงศ์มีตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประธานสมาคมนายจ้างเครื่องใช้ไฟฟ้า เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ประธานอนุกรรมการติดตามการจัดซื้อสินค้าของรัฐบาล ประธานอนุกรรมการจัดทำหลอดภาพทีวี ประธานอนุกรรมการควบคุมการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมหรือแม้แต่ ประธานอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า

แต่สมพงศ์ไม่เคยรู้สึกวุ่นวายกับชีวิต เนื่องจากเขาได้อาศัยหลักธรรมมาเป็นแนวปฏิบัติ

สุรายาเมาที่เคยติดก็ละได้หมด...!

จากที่ต้องดื่มเหล้าเจือโซดา 2 แก้วก่อนทานข้าว สมพงศ์ก็มีอันตัดสินใจเลิกเมื่อได้ฟังท่านปัญญานันทะภิกขุเทศน์ว่า "เหล้า...ถ้ากินแล้วไม่เมาก็อย่ากิน เพราะความหมายของการกินเหล้าอยู่ที่ว่ากินแล้วต้องเอาให้เมาหรือล้มกันตรงนั้นไปเลย"

สติและสัจจะคือสิ่งที่ทำให้สมพงศ์รู้สึกสงบแม้ในยามทำธุรกิจ..!

เพราะสมพงศ์ผ่านสนามซึ่งต้องชนะตัวเองมาแล้วอย่างหนัก โดยเฉพาะครั้งหนึ่งเมื่อป่วยเป็นไข้หวัด พยาบาลที่เป็นภรรยาของหมอบอกว่า..ขออะไรสักอย่างได้ไหม...? สมพงศ์รับปากทันทีว่า "ได้สิ"

แต่มันเป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับสมพงศ์เมื่อถูกขอให้เลิกสูบบุหรี่ จากที่เคยสูบวันละ 2 ซอง...!

เขาใช้ความพยายามอยู่ 2 อาทิตย์อย่างหงุดหงิดในอารมณ์อย่างมาก และไม่กล้าบอกใครว่าจะเลิกสูบบุหรี่ เพราะกลัวทำไม่ได้

แต่เมื่อได้ฟังเทปพระพยอม สมพงศ์ก็ตัดใจเลิกทันที โดยไม่รีรออะไรอีก เมื่อเอาชนะความเคยชินที่เคยอยากได้ นั่นดูเหมือนว่าจะเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ที่เขาภูมิใจ ซึ่งอาจจะยากยิ่งกว่าการทำธุรกิจด้วยซ้ำไป

แม้เขาจะเป็นนักธุรกิจแต่สมพงศ์ยืนยันที่จะใช้ชีวิตอย่างสมถะ ดื่มน้ำเปล่า ไม่ใช้เครื่องประดับแม้แต่นาฬิกา

ตีสี่ คือเวลาตื่นนอนของสมพงศ์จากนั้นก็ทำสมาธิครึ่งชั่วโมง เพื่อเสริมพลังและสติก่อนที่จะต้องเผชิญปัญหาอีกตลอดวัน เสร็จแล้วก็ออกวิ่ง

เขากำหนดตัวเองให้ถึงที่ทำงานไม่เกิน 6.45 น. ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าจะต้องบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพที่สุด

ด้วยหลักธรรมที่สมพงศ์ปฏิบัติมานาน จึงทำให้มั่นใจได้ว่าเขาจะมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสด้วยความสุขอันสงบจากใจได้ในทุกสถานการณ์...!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us