ทนายความที่หากินกับพ่อค้าคนจีนในเมืองไทยมีไม่น้อยในปัจจุบัน แต่ที่มีชื่อเสียงกันในวงกว้างและร่ำรวยในระดับแนวหน้านอกจากสุนทร
โภคาชัยพัฒน์ แล้วเห็นจะต้องไม่ลืมนับ สงวน ลิ่วมโนมนต์ คนนี้เข้าไปด้วยอีกคน
พ่อค้าเก่าแก่ย่านสำเพ็งเคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าทนายความที่เคยเป็นที่พึ่งของพ่อค้าคนจีนเมื่อรุ่นแรก
ๆ หรือประมาณ 30-40 ปีก่อนนี้ก็มีแต่ ประสิทธิ กาญจนวัฒน์ วรรณ ชันซื่อ และก็ชมพู
อรรถจินดา
คำว่าเป็นที่พึ่งในความหมายนี้ไม่จำกัดเฉพาะการรับว่าความตามโรงตามศาลเท่านั้น
หากแต่หมายถึงการเป็นตัวแทนในการดำเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของบ้านเมือง
เพราะจะให้พ่อค้าคนจีนที่เข้ามาในประเทศแบบเสื่อผืนหมอนใบรู้เรื่องเกี่ยวกับระเบียบกฎหมายพวกนี้ย่อมยาก
แม้แต่ภาษไทยก็ยังพูดถูกบ้างไม่ถูกบ้างอย่างที่มีการล้อเลียนกันเล่นในปัจจุบัน
ทนายความที่พูดภาษาจีนเป็นจึงได้กลายเป็นที่พึ่งของบรรดาพ่อค้าเหล่านั้น
บางครั้งทนายความก็ยังทำหน้าที่เป็นคนเลี้ยงดูปูเสื่อฝ่ายเจ้านายบ้านเมืองเผื่อไว้เป็นกันชนหรือให้ความคุ้มครองไม่ให้ถูกรังแกอีกด้วยต่างหาก
เรื่องที่จะไปว่าคดีกันในศาลจึงค่อนข้างมีน้อย ส่วนใหญ่จะปรากฎให้เห็นในภาพของกรรมการบริษัทการค้าต่าง
ๆ ซึ่งบางครั้งก็เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นตัวฝ่ายคนจีน หรือบางครั้ง ก็เป็นตัวแทนเจ้านายฝ่ายบ้านเมืองที่ไม่อยากจะออกหน้า
เรียกว่าจะต้องรักษาประโยชน์ให้ทั้งสองฝ่ายระหว่างพ่อค้าคนจีนกับเจ้านายฝ่ายบ้านเมือง
โดยเฉพาะทหารให้ความไว้วางใจอย่างมากจึงจะประสบความสำเร็จได้
สุนทร โภคาชัยพัฒน์ สงวน ลิ่วมโนมนต์ หรืออย่างไพโรจน์ หวังวงศ์วิโรจน์
ถือว่าเป็นรุ่นที่สองของทนายความที่เรียกว่าประสบความสำเร็จในภาพลักษณ์นี้
ไม่นับเดช บุญหลง รวมเข้ามาด้วย เพราะภาพของเดชทางด้านทนายความนั้นเหลือน้อยเกินไป
เพียงแต่สุนทรอาจจะเน้นหนักไปทางด้านอุตสาหกรรมอย่างโรงงานน้ำตาล โรงเหล้าหรือโรงงานทอผ้า
กล่าวกันว่าสุนทรเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญในการผลักดันนโยบายอ้อยน้ำตาล
70/30 และสัญญาเหล้าระหว่างรัฐบาลกับเอกชน
ส่วนไพโรจน์นั้นหนักไปทางด้านธุรกิจเงินทุน เครดิตฟองซิเอร์ และประกันภัย
ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเป็นหัวหอกสำคัญในการต่อสู้กับทางแบงก์ชาติที่ออกมาตรการต่าง
ๆ มาคุมทรัสต์ในช่วงวิกฤติการ 2526 ทั้งสองจบจากธรรมศาสตร์ในรุ่นไล่ ๆ กัน
แต่สงวนจบกฎหมายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรุ่นแรก ๆ ตั้งแต่ยังไม่แยกคณะนิติศาสตร์ออกมาจากคณะรัฐศาสตร์
ซึ่งดร. อุกฤษ มงคลนาวิน หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะนี้ขึ้นมาเคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่าแผนการเรียนกฎหมายจุฬาจะเน้นกฎหมายธุรกิจมากกว่าด้านอื่น ๆ สิ่ง ที่สงวนถนัดจึงเป็นเรื่องทางด้านการค้าทั้งในและระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะการจดทะเบียนบริษัทห้างร้านต่าง ๆ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า
จะเห็นว่ามีชื่อของเขาเป็นที่ปรึกษาในบริษัท ห้างร้าน และสมาคมทางการค้าต่าง
ๆ มากมาย
นับว่าเป็นการพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งจากทนายความพ่อค้าจีนในรุ่นแรก ๆ
ปู่ของสงวนเป็นคนในตระกูล "ลิ่ว" ที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่
โดยเข้ามาตั้งรกรากใหม่ที่กาญจนบุรี จนมาถึงยุคของ "ชัย" พ่อของสงวนจึงได้อพยพครอบครัวเข้ามาค้าขายในกรุงเทพปักหลักลงที่สามแยกเจริญกรุง
ชัย ลิ่วมโนมนต์ แม้จะเป็นคนจีนที่ทำมาค้าขาย แต่ก็มองเห็นความสำคัญของการศึกษาบุตรหลานเป็นสิ่งสำคัญกว่าการค้า
เขากล่าวกับลูก ๆ ว่าสมบัติที่เขาจะสร้างไว้ให้ลูกทุกคนนั้นคือความรู้ คนในครอบครัวนี้ทุกคนจึงได้ร่ำเรียนในสถาบันการศึกษาชั้นสูงมากกว่าการเรียนทำมาค้าขายอยู่กับเตี่ยที่บ้าน
ลูกชายคนโตของเขาชื่อ คงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์ ปัจจุบันก็เติบโตขึ้นมาในวงราชการจน
มีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการล่าสุดเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี
สงวน ลิ่วมโนมนต์ น้องชายของคงศักดิ์ก็เป็นคนที่เอาดีด้านการเรียนมาตั้งแต่เล็ก
ๆ เขาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่ากลางวันเรียนสามัญศึกษาที่โรงเรียนวัดไตรมิตร
ตอนเช้าและเย็น จะเป็นเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมเอาที่ YMCA และกลางคืนจะวิ่งไปเรียนภาษาจีนที่โรงเรียน-
สหคุณ ถนนสุรวงศ์
ชีวิตของเขาวนเวียนอยู่กับการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีนมาตั้งแต่เด็ก ๆ
จนโตเข้ามหาวิทยาลัยที่จุฬาก็ยังเรียนอยู่ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เขาชอบและก็สนุกกับมันมาก
ซึ่งเขาเองก็ไม่ได้ตั้งใจมาก่อนว่ามันจะเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งอย่างยิ่งต่ออาชีพของเขาในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน
พอจบนิติศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาก็ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยทูเลนสหรัฐอเมิกาให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาโททางด้านกฎหมาย
โดยใช้เวลาเรียนเพียง 8 เดือน และจบออกมาด้วยวัยเพียง 25 ปี ทางมหาวิทยาลัยทูเลนจึงให้ทุนไปศึกษาต่อด้านกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายสหรัฐอเมริกาเปรียบเทียบที่สถาบัน
(INTERNATIONAL COURT OF JUSTICE HAGUE PEASC PALACE NETHERLAND) เมืองดัลลัส
เท็กซัส
สงวนบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่ามหาวิทยาลัยทูเลนเสนอทุนให้เขาเรียนต่อระดับปริญญาเอก
แต่เขาไม่รับเพราะไม่อยากกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ จึงต้องรีบกลับมาเมืองไทยและเป็นทนายความตั้งแต่วันนั้น
จนถึงวันนี้ก็กว่า 20 ปี
"ความที่ผมเป็นคนที่พูดภาษจีนได้ดี และก็ได้รับความเชื่อถือมาตั้งแต่รุ่นพ่อเรื่องความซื่อสัตย์ก็เลยได้รับความไว้วางใจอย่างมากจากพ่อค้าคนจีน
ทำให้อาชีพทนายความของผมค่อนข้างประสบความสำเร็จดี" สงวนกล่าวถึงจุดสำคัญในอาชีพของเขา
นอกจากความเชื่อถือเบื้องต้นที่กล่าวแล้ว สงวนยังเป็นนักกิจกรรมสังคมตัวยงคนหนึ่ง
ซึ่งคนในวงการมีความเห็นว่ามันก็คือกลยุทธ์การตลาดในอาชีพของเขา โดยเฉพาะในหมู่คนจีนแล้วเรื่องกิจกรรมสังคมถือเป็นหน้าตาที่สำคัญอย่างยิ่ง
สงวนเป็นคนก่อตั้งสโมสรไลออนส์กรุงเทพ (ไชน่าทาวน์) เมื่อสมัยเขากลับมาจากต่างประเทศใหม่
ๆ ซึ่งต่อมากิจกรรมของสโมสรแห่งนี้ได้ขยายบทบาทกว้างขวางออกไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับตัวสงวนเองที่สุดท้ายเขาก็ขึ้นมาเป็นประธานสภาผู้ว่าการภาคไลออนส์
ภาค 310 ประเทศไทย
เขายังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมของสมาคมมิตรภาพไทย-จีน
ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นองค์กรที่เป็นจุดเชื่อมสำคัญอย่างยิ่งระหว่างพ่อค้าจีน
ในไทยกับรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้เกิดกิจกรรมทางการค้าการลงทุนระหว่างกลุ่มนี้อย่างมากในปัจจุบัน
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เคยเป็นนายกสมาคมนี้ติดต่อกันมาถึง
15 ปี พร้อม ๆ กันนั้น สงวน ลิ่วมโนมนต์ ก็รั้งตำแหน่งเลขาธิการสมาคมมาโดยตลอดเช่นกัน
และอีกหลายสมาคมหลายองค์กรที่สงวนเข้าไปมีบทบาทอยู่ล้วนแล้วแต่มีส่วนส่งเสริมความเชื่อถือในตัวของเขามากขึ้นในสังคมคนจีน
จากสิ่งที่สะสมมาเป็นเวลานับสิบปี ทำให้กลายเป็นจุดผ่านที่สำคัญระหว่างพ่อค้ากับข้าราชการและนักการเมือง
"ผมตั้งใจว่าจะทำงานให้กับสังคมให้ดีที่สุด ประโยชน์เกิดขึ้นแก่สังคมโดยตรงก็มีบ้างที่เกิดขึ้นกับตัวเรา
แต่เป็นในรูปความไว้วางใจ ความเชื่อถือศรัทธา อันนี้มันตามมาเอง การที่ ผมมีตำแหน่งทั้งการเมืองหรือองค์การทางการค้ามากมายอย่างทุกวันนี้ก็เพราะคนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนทำงานจริง
และก็เป็นคนที่ไว้ใจได้ก็มีการแนะนำกันเองว่าจะให้ผมทำนั่นให้ทำนี่ให้ ไม่ว่าฝ่ายรัฐหรือเอกชน"
สงวนกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ปัจจุบันสงวนเพิ่งจะมีอายุเพียง 45 ปีเศษเท่านั้น แต่ปรากฎว่ามีตำแหน่งทางสังคมในสมาคมต่าง
ๆ มากมายจนจำไม่ได้ ส่วนตำแหน่งทางราชการก็ล้วนแต่อยู่ใกล้ศูนย์อำนาจทั้งสิ้น
เช่นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะทนายที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม พล.ต.ท. จำรัส
มังคลารัตน์
ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญเศรษฐกิจ รัฐสภา รองประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษากฎหมายกีดกันการค้าสหรัฐ
คณะกรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายมหาวิทยาลัย สุรนารี ผู้ชำนาญการทรัพย์สินทางปัญญา
สหรัฐอเมริกา กระทรวงยุติธรรม กรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ
จะเห็นว่าในจุดที่เขาสังกัดแต่ละแห่งนั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมอาชีพของเขาให้สูงขึ้นทั้งสิ้น
แม้จะมีบางคนกล่าวว่าบางอย่างไม่เกี่ยวกับวิชาชีพทนายความโดยตรงของเขาก็ตาม
อย่างไรก็ตามสังคมพ่อค้าคนจีนกำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อลูก ๆ ของเถ้าแก่ทั้งหลายเดินทางกลับมาจากการเรียนหนังสือที่เมืองนอก
แม้ความเชื่อถือต่อบุคคลที่ติดมาตั้งแต่รุ่นพ่อจะ ยังอยู่สูง แต่พฤติกรรมการใช้นักกฎหมายก็คงต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
ดังนั้น ทนายความรุ่นหลังที่กำลังเดินตามแบบฉบับของสงวนอย่างทุกวันนี้อาจจะไม่ร่ำรวยอย่างสงวนก็ได้
เพราะว่าแม้แต่ตัวสงวนเองก็กำลังคิดจะเปลี่ยนแปลงบทบาทของตัวเองในเร็ว ๆ
นี้
สงวนกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าภายในสองปีนี้ เขาจะเปิดสำนักงานแห่งใหม่ขึ้นที่ถนนรัชดา
บนเนื้อที่กว่า 2 ไร่ ซึ่งจะเน้นให้เป็นศูนย์ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ การค้า
การลงทุน สำหรับชาวต่างประเทศ ซึ่งแทนที่จะจำกัดขอบเขตของตัวเองอยู่กับคนจีนไต้หวัน
ฮ่องกง สิงคโปร์ ก็จะก้าวสู่ยุโรป อเมริกามากขึ้น โดยร่วมกับสำนักงานกฎหมายต่างประเทศเพื่อให้เป็น
INTERNATIONAL LAW OFFICE เฉกเช่นการพัฒนาของการค้าที่ไม่ได้มีขอบเขตเฉพาะ
สำเพ็งหรือเยาวราชเท่านั้น