ธุรกิจทำมาหากินการถ่ายภาพมีมานานนับศตวรรษแล้ว ห้างเจี่ยคี่เส็งในยุคสมัยโน้นเป็นที่รู้จักกันในฐานะเป็นร้านถ่ายภาพผีมือดี
ลูกจ้างหลายคนของห้างเจี่ยคี่เส็งมีทั้งเป็นคน ล้างฟิลม์และช่างถ่ายภาพเมื่อลาออกมาก็ตั้งร้านทำมาหากินด้านถ่ายภาพกันเสียส่วนใหญ่
กล่าวอีกนัยหนึ่งห้างเจี่ยคี่เส็งในสมัยนั้นเป็นดุจสถาบันผลิตนักถ่ายภาพที่สำคัญที่สุดของประเทศ
กล่าวกันว่าบรรพบุรุษของเถ้าแก่บริษัทเอกศิลป์อุตสาหกรรมราชากล้องถ่ายรูปไทย
ยุคปัจจุบันก็เคยเป็นช่างภาพห้างนี้มาก่อน ก่อนที่แยกตัวออกมาเปิดร้านถ่ายภาพเอง
"คุณพ่อเปิดร้านถ่ายภาพที่ฝั่งธนบุรี โดยมีพี่ชายคนโต (สู ลุยวิกกัย)
ของผมเป็นผู้ช่วยก็ทำกันมาเรื่อย ๆ แบบกิจการขนาดเล็ก ๆ" อนุชา ลุยวิกกัย
ผู้จัดการตลาดและการส่งออกของ บริษัท เอกศิลป์อุตสาหกรรมพูดถึงอดีตการก่อตัวของเอกศิลป์เมื่อเกือบ
30 ปีก่อน
อนุชาอายุ 40 ปี มีความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาบัณฑิต
ทางเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจจากธรรมศาสตร์และนิด้า เขาเริ่มงานช่วยครอบครัวตั้งแต่เรียนปริญญาโทที่นิด้า
โดยทำงานสารพัดอย่างตั้งแต่เด็กส่งของจนถึงเซลล์แมนบุกเบิกขายสินค้าให้ต่างประเทศ
อนุชากล่าวว่าจุดเริ่มต้นการเข้าสู่อุตสาหกรรมของเอกศิลป์เกิดเมื่อเกือบ
16 ปีก่อน เมื่อมีการผลิตอัลบั้มและกรอบรูปพร้อม ๆ กับการเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์การถ่ายภาพ
ในสตูดิโอจากต่างประเทศเช่นเลนส์ชไนเดอร์และไฟแฟสแฮนด์เซลของเยอรมนี
การสะสมประสบการณ์การผลิตอัลบั้มและกรอบรูปเป็นฐานที่ส่งให้เกิดการผลิต
สินค้าพวก PHOTOGRAPHIC ACCESSORIES เช่นฝาครอบเลนส์ กระเป๋าใส่กล้อง สาย
หูหิ้วกล้อง สายสะพายกล้อง และอื่น ๆ อีกมากมายอย่างจริงจังในเชิงพาณิชย์ภายใต้ยี่ห้อ
ELECTRA ที่บริษัทเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เมื่อ 6 ปีก่อน
การตัดสินใจเข้าสู่การผลิตนี้เป็นจุดที่สำคัญยิ่งของเอกศิลป์เพราะ หนึ่ง
- เป็นเจ้าแรกและเป็นเจ้าเดียวในประเทศที่มีการผลิตและจำหน่ายสินค้าพวกนี้มากที่สุดถึงกว่า
40 รายการ "ร้านค้าถ่ายภาพ และล้างฟิล์มทั่วประเทศนอกเหนือพวกฟิล์มและอุปกรณ์การล้าง
อัดฟิล์มแล้วจำหน่ายสินค้าของเอกศิลป์มากที่สุดแต่ผู้เดียว จุดนี้ผมคิดว่าเป็นจุดแข็งในทางการตลาดของเราที่คู่แข่งรายใหม่ยากที่จะเข้ามาได้"
อนุชา ลุยวิกกัยผู้จัดการตลาดเล่าถึงผลบวกประการหนึ่งจากการตัดสินใจขยายฐานการผลิตอุปกรณ์และกล้องถ่ายรูปต่อไปในอนาคต
"เมื่อเราผลิต ACCESSORIES ได้ทำให้เรามีฐานพลาสติกที่สามารถนำเราไปสู่การผลิตสายอุปกรณ์เช่นแฟสซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญของการผลิตกล้อง"
อนุชากล่าวถึงพัฒนาการการผลิตแฟสที่ปัจจุบันเป็นทั้งผู้ผลิตและรับจ้างผลิตหรือโออีเอ็มจากต่างประเทศที่มีกว้างขวางกว่า
40 ประเทศทั่วโลก โดยกว่าครึ่งอยู่ในยุโรปตะวันตก
การผลิตกล้องถ่ายภาพเป็นความฝันที่อนุชาตั้งทัศนภาพไว้นานแล้วว่าเอกศิลป์ต้องไปให้ถึงจุดนั้น
กล้องถ่ายภาพประเภทคอมแพ็คท์โดยเฉลี่ยจะมีชิ้นส่วนขึ้นต่ำประมาณ 130 ชิ้นมีระดับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีขั้นต่ำที่ภาษานักเลงกล้องเรียกกันว่ารุ่นแมนนวล(MANNUAL)
หรือ NON-AUTO FOCUS ไปจนถึง AUTOFOCUS
การผลิตกล้องได้ต้องมีความพร้อมในปัจจัยโรงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตอย่างน้อย
6 อย่างด้วยกันคือ มีฐานสายการผลิต ACCESSORIES อิเล็กทรอนิกส์ แฟส อาร์
แอนด์ดีทูลลิ่งช้อป พลาสติกและโลหะ เอกศิลป์เพิ่งจะสามารถผลิตกล้องถ่ายภาพคอมแพ็คได้เป็นผลสำเร็จรายแรก
และรายเดียวของไทยเมื่อเดือนตุลาคมนี้เอง "เราเตรียมความพร้อมเพื่อการผลิตนี้มา
2 ปีเต็ม" อนุชากล่าวถึงการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาที่กินเวลายาวนานกว่าจะสำเร็จ
กล้องถ่ายภาพที่ผลิตได้นี้เป็นกล้องคอมแพ็ครุ่น 400 และ 500 เทคโนโลยีขั้นต่ำแบบ
NONAUTOFOCUS ด้วยความเชื่อที่ว่าควรจะเริ่มจากเบสิคก่อนเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ก่อน
ที่จะก้าวเข้าสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงต่อไป "เราใช้ยี่ห้อ
ELECTRA ที่เตรียมส่งออกขายในช่วงปลายปีนี้เน้นที่ตลาดสหรัฐฯ" อนุชาพูดถึงแผนการขายปลายปีนี้ซึ่งเขาเตรียมนำออกแสดงครั้งแรกในงานโฟโตจีน่าที่เยอรมนี
เดือนตุลาคมนี้
งานแสดงโฟโตจีน่าที่เยอรมนีจัดขึ้น 2 ปีครั้งเป็นงานแสดงผลิตภัณฑ์ด้านการถ่ายภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก
มีนักธุรกิจที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพทั่วโลกมาพบปะติดต่อกันเพื่อดูความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตด้านกล้อง
ตลาดกล้องคอมเพ็คท์เป็นตลาดที่ใหญ่โตมหาศาลปีที่แล้วในตลาดโลกมีการซื้อขายจากกล้องที่ผลิตจากไต้หวันสูงถึงประมาณ
34 ล้านชิ้นจากญี่ปุ่นประมาณ 14 ล้านชิ้นรวมการผลิตและยอดขายจากแหล่งผลิต
2 ประเทศนี้สูงถึงเกือบ 50 ล้านชิ้น
"เราหวังตลาดสหรัฐฯ มากเพราะมีศักยภาพสูงในการซื้อกล้องประเภท NON-AUTO
FOCUS ซึ่งราคาถูกและคนอเมริกันชอบใช้ ขณะที่ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตกล้องแบบคอมแพ็คท์หันไปผลิตกล้องแบบอื่นที่มีเทคโนโลยีและสร้างกำไรได้สูงกว่า"
อนุชากล่าวถึงความเป็นไปได้ของการนำกล้องคอมแพ็คท์ที่ผลิตได้เจาะตลาดสหรัฐฯ
ตลาดกล้องคอมแพ็คท์มีการแข่งขันสูงมากโดยมีบริษัทพรีเมียร์ คาเมราแห่งไต้หวันเป็นยักษ์ใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดโลกสูงสุด
และบริษัทแคนนอนแห่งญี่ปุ่นตามมา
ความสามารถในการบริหารต้นทุนการผลิต และการรู้จักเลือกใช้สิทธิทางภาษีศุลกากรในการบุกตลาดสหรัฐ
และยุโรปดูจะเป็นหัวใจของการแข่งขันมากกว่าสิ่งอื่น มองจากจุดนี้ดูจะปลอดโปร่งในการบุกเจาะตลาดโลกของเอกศิลป์เอามาก
ๆ เหตุผลเพราะประการแรกการผลิตกล้องในขั้นตอนการประกอบต้องใช้แรงงานมาก ดังนั้นการผลิตที่ใช้คนงานที่มีค่าจ้างต่ำย่อมได้เปรียบสิ่งนี้คือเหตุผลประการสำคัญที่ว่าทำไมบริษัท
นิกคอนของญี่ปุ่นโยกย้ายฐานการผลิตส่วนหนึ่งไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ประการที่สอง
การเข้าตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกประเภทคอมแพ็คท์มีการให้สิทธิทางจีเอสพีแก่ไทย
ขณะที่ไต้หวันไม่ได้สิทธิ จีเอสพี กล้องที่ผลิตจากไต้หวันจึงต้องเสียภาษีนำเข้าประมาณ
7% "ในทางตรรกะหลักความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของไทยสู้ไต้หวันได้"
อนุชากล่าวอย่างเชื่อมั่น
การเดินไปในเส้นทางการผลิตกล้องคอมแพ็คท์เป็นทิศทางที่ท้าทายต่ออนาคตการเติบโตของเอกศิลป์อย่างยิ่ง
เพราะในอุตสาหกรรมกล้องถ่ายภาพประมาณ 90% เป็นตลาดของกล้องคอมแพ็คท์ทั้ง
NON-AUTOFOCUS และ AUTO FOCUS ที่มีมูลค่าตลาดใหญ่โตมหาศาล "อีก 2 ปีข้างหน้าเมื่อยุโรปรวมเป็นตลาดเดียวสำเร็จ
เราวางเป้าหมายจะวางขายกล้องคอมแพ็คท์รุ่น AUTOFOCUS ให้ได้" อนุชาพูดถึงแผนการผลิตของเอกศิลป์ในอีก
2 ปีข้างหน้า
และเมื่อถึงตรงนั้นหมายความถึงการเป็นราชาอุตสาหกรรมกล้องถ่ายภาพ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการถ่ายภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและอาเซียน
ที่คู่แข่งทั้งในประเทศและเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่นคงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า
10 ปี จึงจะตามทัน