ถ้าหากผู้หญิงที่ชื่อ "สุรางค์รัตน์" ไม่ต้องใช้นามสกุล "จิราธิวัฒน์"
เธอก็อาจจะยึดอาชีพพยาบาลแผนกกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ตามวุฒิที่เธอจบปริญญาตรีและ
โท สาขาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2525
แต่เมื่อจุดหักเหให้สุรางค์รัตน์ เข้ามาใช้นามสกุลจิราธิวัฒน์ ตามศักดิ์ชัย
จิราธิวัฒน์ ลูกชายคนที่ 3 ของวันชัย จิราธิวัฒน์ (คนโตหมายเลข 2 ของเซ็นทรัล
ในขณะนี้) ทำให้เธอต้องเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานจากพยาบาลที่เคยทำมานานถึง
8 ปี เปลี่ยนมาช่วยครอบครัวของตระกูลจิราธิวัฒน์ด้วยความเต็มใจ…ซึ่งเป็นการสานต่อรูปแบบการทำธุรกิจในเครือเซ็นทรัล
ที่พยายามจะให้ลูกหลานทุกคนในตระกูลเข้ามาช่วยงานของครอบครัวมากที่สุด จึงทำให้เซ็น
ทรัลกลายเป็นธุรกิจครอบครัวที่ใหญ่พอตัวตระกูลหนึ่งของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นสะใภ้จิราธิวัฒน์ก็ตาม แต่การเริ่มงานของสุรางค์รัตน์ที่บริษัท
เซ็น ทรัล เทรดดิ้ง จำกัด ฝ่ายขายสินค้าพิเศษซึ่งมีสินค้าอยู่ในมือ 4 ตัว
คือ CARTIERS, YSL, RAYMOND WEILS และ CASIO WATCHES แต่การเริ่มงานของเธอก็มิได้ต่างจากพนักงานคนอื่น
ๆ ในจุดที่ต้องผ่านการฝึกงาน เพื่อให้รู้ตั้งแต่ระบบสต็อก บัญชี ฯลฯ ของบริษัท
แต่ส่วนต่างก็คือการที่วันชัยเรียกไปพบ ไปสอนงานทางธุรกิจเป็นประจำ และ 5
เดือนหลังจากเรียนรู้งานครบทุกกระบวนท่าแล้ว จินตนา บุญรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายขายสินค้าพิเศษลงจากเก้าอี้พร้อมมอบตำแหน่งดังกล่าวให้กับสุรางค์รัตน์ดูแลรับผิดชอบอย่างเต็มที่
"จริง ๆ แล้วการเรียนรู้ธุรกิจของดิฉัน เริ่มมาจากการเรียนรู้เรื่องเวลาก่อน
เพราะเป็นเรื่องสำคัญของคนที่เป็นนักธุรกิจ จากนั้นก่อนที่จะแต่งงานดิฉันก็ได้ศึกษาข้อมูลงานธุรกิจของ
จิราธิวัฒน์มาบ้าง เพราะรู้ว่าต้องเข้ามาช่วยงานเรื่องธุรกิจจึงเริ่มรู้มาตั้งแต่ตอนนั้น…"
สุรางรัตน์ย้อนอดีตการเรียนรู้ธุรกิจเมื่อสมัย 2 ปีที่แล้ว ที่หันเข็มชีวิตมาจับงานด้านนี้ด้วย
ฐานะคนมือใหม่
และทันทีที่สุรางค์รัตน์นั่งเก้าอี้ผู้จัดการฝ่ายขายสินค้าพิเศษ สภาพเศรษฐกิจของไทยในช่วงนั้นกำลังเติบโตสว่างไสวทั่วทั้งประเทศ
ทำให้คนมีเงินหลากหลายมีเวลาหันมาสนใจสินค้าประเภทช่วยเสริมบุคลิกภาพมากยิ่งขึ้น
สุรางค์รัตน์จึงตั้งทีมขายสินค้าพิเศษเพื่อความแข็งแกร่งในตัวสินค้า
"ดิฉันจะมองจุดขายเป็นจุดแรก มองการบริหารที่ดีให้ลูกค้าเพราะว่าสินค้าราคาสูงเหล่านี้จำเป็นจะต้องให้ลูกค้าประทับใจตั้งแต่สถานที่
ตัวพนักงาน ดิฉันจึงตั้งทีมพนักงาน แนะนำสินค้าขึ้นมาโดยจะมีหน้าที่เสนอสินค้า
หรือคอยแนะนำรายละเอียดของสินค้าต่อ ลูกค้า…"
นั่นเป็นยุทธวิธีทางการตลาดของผู้บริหารมือใหม่อย่างสุรางค์รัตน์ ซึ่งปรากฏว่าผลงาน
ของเธอ ช่วยสร้างให้ลูกค้าสินค้าพิเศษเซ็นทรัล เข้าใจรายละเอียดในตัวสินค้ามากยิ่งขึ้น
กอปรกับรูปแบบเดิมของฝ่ายขายสินค้าพิเศษฯ จะต้องมีการจัดแสดงสินค้าแต่ละยี่ห้อในแต่ละปี
ส่งผลให้ชื่อสินค้าเหล่านี้ติดปากผู้คนในระดับกลุ่มเป้าหมายของสินค้าอย่างทั่วถึง
ถ้าจะมองถึงสินค้าพิเศษฯ อีกแง่หนึ่ง ก็คือสินค้า HIGH FASHION หรือถ้าจะบอกว่าเป็นสินค้า
ฟุ่มเฟือยคงไม่ผิดนัก และเนื่องจากเป็นสินค้าราคาค่อนข้างสูงและอยู่นอกเหนือจากความจำเป็นทางการตลาดทั่ว
ๆ ไปแล้ว ปัญหาสำคัญที่เกิดกับสินค้าชนิดนี้คือ "ขายลำบาก" สุรางค์รัตน์เองมองทะลุปัญหาตัวนี้อย่างแจ่มชัดจึงต้องฉีกกลยุทธ์ทางการตลาดออกไป
"การขายสินค้าพวกนี้ เราต้องมีกลุ่มเป้าหมายของเราที่แน่นอน ขณะเดียวกันต้องมีวิธีดึงลูกค้าใหม่ให้เข้ามาซื้อเมื่ออ่านตรงนี้ออก
งานก็จะไปได้สวย ดิฉันไม่ได้หวังว่าสินค้าที่ดูแลอยู่จะขายให้คนทั้งประเทศ
ไม่เคยหวังอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องจับกลุ่มลูกค้าให้อยู่แล้วปัญหาการขายลำบากจะน้อยลง…"
ต้องยอมรับ ส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้การบริการสินค้าพิเศษเหล่านี้ เป็นที่ติดอกติดใจลูกค้า
นอกจากคุณภาพของสินค้าแล้ว พนักงานของฝ่ายสินค้าพิเศษฯ ย่อมต้องมีส่วนช่วยไม่น้อยเลย
และสุรางค์รัตน์ก็ให้ความสำคัญกับบุคลากรของตนไม่น้อยกว่าตัวสินค้าเช่นกัน
"ดิฉันจะยึดถือเสมอว่าลูกน้องไม่ใช่คนที่ทำงานให้ดิฉัน แต่คนเป็นลูกน้องทุกตำแหน่งคือผู้ช่วยดิฉัน
เป็นผู้ช่วยเหลือดิฉันทำงาน เมื่อมีปัญหาอะไรเราจะปรึกษากันตลอด…"
นอกจากสไตล์การสร้างคนที่เป็นเอกลักษณ์ของสุรางค์รัตน์แล้ว สไตล์การให้เงินเดือนก็แปลกที่ผู้บริหารพวกจิราธิวัฒน์จะรับเงินเดือนน้อยกว่าพนักงานบริหารระดับรองลงไป!!!
อาทิ ผู้ช่วยผู้จัดการที่ไม่ใช่จิราธิวัฒน์จะรับเงินเดือนมากกว่าผู้จัดการที่เป็นจิราธิวัฒน์
ทั้งนี้เป็นไปตามวัตถุ ประสงค์ของตั้วเฮียใหญ่สัมฤทธิ์และวันชัย ที่ต้องการให้คนจิราธิวัฒน์
ทุกคนประหยัดมีชีวิตที่เรียบง่าย
เป้าหมายของสุรางค์รัตน์กับสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยนี้ มิใช่อยู่ที่ตัวเลขยอดขายที่จะต้องสูงขึ้นทุกปี
แต่ขั้นต้นนี้สุรางค์รัตน์เธอต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ได้เสียก่อน
เพราะปกติลูกค้าคนไทยจะชมชอบซื้อสินค้าลักษณะนี้จากเมืองนอก เธอจึงต้องพยายามสร้างภาพใหม่เพื่อให้คนไทยเหล่านั้นหันมาซื้อของเหล่านี้จากเมืองไทย
เพระหากจะเทียบราคากันจริง ๆ แล้วสินค้าประเภทนี้ราคาไม่น่าจะแตกต่างกันมากมายกับสิงคโปร์
หรือฮ่องกงเลยเนื่องจากที่นั้นมีค่าเช่าร้านที่แพงกว่าเมืองไทยมากแถมบริการหลังการขายก็สู้เมืองไทยไม่ได้
พร้อมกันนั้นเธอยังต้องการสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องสินค้าพิเศษ
พวกนี้
"ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าสินค้าพวกนี้เป็นของฟุ่มเฟือย แต่ถ้ามองให้มันเป็นการดึงคนไทยที่ชอบใช้ของพวกนี้ให้กลับมาใช้ของในประเทศ
ซึ่งเงินที่เราได้มาก็นำมาลงทุนในประเทศเพื่อให้คนไทยมีงานทำสินค้าในไทยขายดีขึ้น
และบริษัทคนไทยเจริญขึ้น ดังนั้นส่วนตัวดิฉันคิดว่าสินค้าเมืองนอกไม่ใช่จะทำให้คนไทยเสียอย่างเดียว…"
ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ผลงานหลายอย่างได้เริ่มพิสูจน์ฝีมือนักบริหารหญิงมือใหม่อย่างสุรางค์รัตน์
ผู้ซึ่งถูกเคี่ยวข้นงานบริหารธุรกิจมาจากคนจิราธิวัฒน์ไปบ้างแล้ว… แต่ผลงานเหล่านี้กลับไม่ใช่สิ่งที่ภาคภูมิใจตามความต้องการของเธอที่ตั้งไว้
"ที่ตั้งใจไว้คือ อยากจะให้สินค้าที่ทำอยู่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ
ไม่ใช่ว่าจะต้องขายของให้คนทั้งประเทศได้ทั้งหมด และอยากจะให้ลูกค้าใช้สินค้าแล้วมีความสุขมากกว่านี้ตอนนี้ดิฉันยังไปไม่ถึงจุดนั้น…"
อีกไม่นานคงจะรู้ว่า สุรางค์รัตน์ จิราธิวัฒน์ คุณแม่ลูกหนึ่งจะไขว่คว้าถึงความภูมิใจที่สุดของเธอในการทำธุรกิจครอบครัวได้หรือไม่
!