Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2533
ลงทุน 7,000 ล้านบาท สร้างโรงปูน "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" แลกหมัดกับปูนใหญ่             
โดย วิลาวัณย์ วิวัฒนากันตัง
 


   
search resources

ทีพีไอ โพลีน, บมจ.
ประชัย เลี่ยวไพรัตน์
Cement




"ทีพีไอ โพลีน" บริษัทน้องใหม่ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ แห่งทีพีไอและธนาพรชัยค้าข้าว คงจะไม่เกิดขึ้นหากค่ายปูนใหญ่ไม่ได้รุกข้ามอาณาจักรการค้าปูนมาในสายเม็ดพลาสติกที่ทีพีไอครองตลาดอยู่ เวลาล่วงเลยแล้วถึง 6 ปี ประชัย พี่ใหญ่ของพี่น้องเลี่ยวไพรัตน์จึงได้จังหวะขอตั้ง โรงงานปูนซิเมนต์ เพื่อเข้าสู่ตลาดเดียวกับปูนใหญ่ เท่ากับเป็นการประกาศศักดาและช่วงชิงสัดส่วนครองตลาดอย่างสมศักดิ์ศรีในปี 2535 นี้…!

เหตุการณ์ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมโอเรียนเต็ล เมื่อบ่ายวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้พูดได้ว่าเป็นก้าวย่างใหม่ของ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (ทีพีไอ) ผู้นำในการผลิตเม็ดพลาสติกของประเทศไทยอย่างเต็มปาก

พิธีเซ็นสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด บริษัทน้องใหม่มาแรงของเครือทีพีไอกับบรรดาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และสถาบันการงิน 41 รายซึ่งมีภัทรธนกิจเป็นแกนนั้นนับเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ซึ่งได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้ว 2 รุ่น

รุ่นแรกจากผู้เป็นพ่อที่สร้างธนาพรชัยค้าข้าวต่อมารุ่นลูกก็ได้สร้างความเป็นผู้นำใน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ด้วยการตั้งทีพีไอขึ้นมา

โดยมีประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นพี่เอื้อยในตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยน้องอีกสองคนร่วมหัวจมท้ายช่วยกุมบังเหียนทีพีไอ คือประทีป เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คุมด้านตลาด ดูแลการบริหารสำนักงานในกรุงเทพและ ประมวลรั้งในตำแหน่งเดียวกับประทีป แต่รับผิดชอบด้านการผลิตและการบริหารในโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกที่ระยอง

ทีพีไอเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2521 เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกพีอี ได้แก่ แอลดีพีอีในเบื้องต้นท่ามกลางกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงจากสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์ ปัญหาแบงก์ปฏิเสธเงินกู้เพราะไม่เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นไปได้ และผู้นำเข้าก็พลอยเสียประโยชน์

แต่ด้วยสายตาอันยาวไกลของประชัยและประมวล ผู้เป็นน้องซึ่งจบปริญญาเอก สาขา ปิโตรเคมีจากเอ็มไอทีต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ปิโตรเคมีในอนาคตนั้นจะเป็นอุตสาหกรรมที่ รุ่งโรจน์มาก

แนวโน้มการใช้พลาสติกที่จะเข้ามาทดแทนวัสดุอื่น ๆ นั้นมีปริมาณมหาศาลทีเดียว ประชัยจึงมุ่งเดินหน้าจนผลักดันโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกแอลดีพีอี(LOW DENSITY POLYETHYLENE) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงเย็น ถุงข้าวสาร ถุงซิปฟิล์มเกษตร ขวดน้ำเกลือ ดอกไม้ ฝาจุกต่าง ๆ เคลือบหลังพรม ซองบะหมี่ หรือถังขนาดใหญ่ใส่สารเคมี เป็นต้น

ขณะที่อัตราการใช้พีอีสูงขึ้นถึง 40% ของเม็ดพลาสติกทั้งหมด และแอลดีเป็นประเภทที่ใช้มากที่สุด

"ผูกขาด"

นี่ได้กลายเป็นภาพพจน์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการผลิตแอลดีเม็ดแรกของทีพีไอเรื่อยมา เริ่มตั้งแต่ที่มีการผลิตในปี 2525 โดยใช้เทคโนโลยีของบริษัท IMHAUSEN แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันด้วยเงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ใช้เงินกู้จาก KREDITANSTALT FUR WIEDERAUFBAU หรือ KFW บริษัทเงินทุนเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลเยอรมันตะวันตก

โรงงานผลิตแอลดีของทีพีไอจัดว่าเป็นโรงงานแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มีกำลังการผลิตขนาด 65,000 ตันต่อปี

หลังจากที่เริ่มผลิตแอลดีไปแล้ว ทีพีไอยังได้เพิ่มการผลิตเม็ดพลาสติกพีอีอีชนิดหนึ่ง คือ เอชดีพีอี (HIGH DENSITY POLYETHYLENE) หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า "เอชดี" มีคุณสมบัติที่ต่างไปจากแอลดี คือ จะทนและเหนียวกว่าซึ่งใช้ผลิตถุงร้อนขุ่น ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ เชือก แห อวน ขวดน้ำ ถังน้ำมัน ลัง ตะกร้า บังโคลนรถ และท่อส่งน้ำประเภทต่าง ๆ ด้วยขนาดการผลิต 60,000 ตันต่อปี เริ่มผลิตได้ในปี 2529 ใช้เงินลงทุน 2,300 ล้านบาท

ผลจากที่ทีพีไอเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกแอลดีและเอชดีแต่เพียงรายเดียวในประเทศทำให้ ทีพีไอมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างงดงามทุกปี

จากปี 2528 มียอดขาย 1,310 ล้านบาท ปี 2529 ยอดขาย 1,780 ล้านบาท ปี 2530 ยอดขาย 3,805 ล้านบาท ปี 2531 ยอดขาย 5,328 ล้านบาทมีกำไรเฉลี่ยปีละประมาณ 500 ล้านบาท บางปีสูงถึงร่วม 1,000 ล้านบาท

มียอดรวมสินทรัพย์ 4,187 ล้านบาทในปี 2528 และเพิ่มมาเป็นประมาณ 7,581 ล้านบาทในปัจจุบัน

โดยสถานะของทีพีไอในห้วงเวลาที่ผ่านมาหลังจากผ่านจุดหัวเลี้ยวหัวต่อในการตอกเสาเข็มโรงงานเม็ดพลาสติกแห่งแรกนี้ ว่าไปแล้วดูจะไม่มีอะไรน่ากลัวหรือจะสร้างปัญหาฉกาจฉกรรจ์ให้กับสามพี่น้องเลี่ยวไพรัตน์เลย เพราะประชัยมั่นใจว่าตนเองคาดการณ์ไม่เคยผิดและผ่านขวากหนามในเวทีธุรกิจมาพอตัว

ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ประชัยประมูลขายข้าวลอตใหญ่ได้ติดต่อกันหลายปี หรือเป็นต้นคิดในการเสี่ยงขายข้าวให้ประเทศทางตะวันออกกลางและอเมริกาในช่วงตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งเป็นปีที่ธนาพรชัยกำลังรุ่งเรืองและประชัยก็ได้เข้ามาดูแลการบริหารเต็มที่ หรือเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ติดต่อขอกู้เงินจากแบงก์แล้วถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยจนต้องไปขอกู้จาก KFW และตอนหลังทีพีไอได้กลับกลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่เครดิตดีของ KFW เมื่อความสำเร็จของโครงการเป็นที่ประจักษ์

ช่วงหัวโค้งในการตั้งโรงงานครั้งนี้ทีพีไอโดนแม้กระทั้งถูกขู่เผาโรงงานทิ้ง เพราะภาพโรงงานเม็ดพลาสติกในตอนนั้นคือภาพของอุตสาหกรรมนอกคอกที่แทบจะไม่มีใครใส่ใจ

ยักษ์ปูนใหญ่ซึ่งเคยคิดจะตั้งโรงงานนี้ เมื่อศึกษาแล้วก็บอกว่า "ไม่คุ้ม"

แต่ประชัยเดินหน้าชูธงรบทุกรูปแบบเพื่อสร้างโรงงานเม็ดพลาสติกแอลดีก่อน ในขั้นต้นสอดคล้องกับจังหวะที่ประมวลเรียนจบกลับมาบริหารโรงงานได้อย่างลงตัว สินค้าใดถ้ามีตลาดรองรับแล้วไม่น่าห่วง โดยเฉพาะเม็ดพลาสติกแอลดีซึ่งเดิมไทยต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นเป็นหลัก "จะให้ตลาดยอมรับเราได้เร็วแค่ไหนอยู่ที่ฝีมือมากกว่า" ผู้รู้ความเป็นมาของทีพีไอกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แล้วจู่ ๆ ปูนใหญ่ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ซึ่งทำให้ทีพีไอเกิดวิตกจริต

บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด (ทีพีอี) ได้เกิดขึ้นในปี 2526 เพื่อผลิตเม็ดพลาสติก พีอี คือเอชดีและแอลแอลดีพีอี อันเป็นโครงการต่อเนื่องจากการนำวัตถุดิบคือ เอททีลีนจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของ บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด ในปริมาณ 137,000 ตันต่อปี

เมื่อปูนใหญ่จะรุกลงทุนในสายปิโตรเคมีเช่นนี้แล้ว "เราไม่สบายใจเนื่องจากทีพีไอไม่มีนโยบายเน้นการลงทุนครบวงจร จะเห็นว่าเราผลิตเม็ดพลาสติกอย่างเดียว ไม่ได้ผลิตพลาสติกสำเร็จรูป เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อลูกค้า" แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดทีพีไอเปิดเผยถึงแนวคิดในการทำธุรกิจของทีพีไอ

แต่ปูนใหญ่เจ้าของปูนตราช้างนั้น เมื่อย่างกรายไปในเวทีใด ดูจะทำให้ประดานักลงทุนในเวทีนั้นหวั่นไหวกันไปตาม ๆ กัน เพราะปูนใหญ่มีความพร้อมทั้งกำลังทรัพย์ กำลังคน

"ปูนใหญ่พอไปลงทุนอะไร จะทำครบวงจร จะเห็นว่าสร้างโรงปูนแล้วยังต่อด้วยวัสดุก่อสร้าง คนที่รับซื้อปูนจากปูนใหญ่มาเจอคนขายปูนแล้วขายสินค้าสำเร็จรูปเหมือนที่ตนขายด้วยก็จะไม่แน่ใจถึงหลักประกันต่อการซัพพลายวัตถุดิบในอนาคต ขณะที่ปูนใหญ่นั้นมีความได้เปรียบทุกด้านอยู่แล้ว" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวเช่นเดียวกับที่ประชัยเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบางฉบับว่า "อยู่ ๆ ปูนใหญ่เขาคิดมาลงทุนเม็ดพลาสติกได้อย่างไร"

"เขาไม่แแน่ใจท่าทีของปูนใหญ่ ที่จริงปูนใหญ่เคยคิดลงทุน แต่มีอันต้องเลิกไปเพราะบอกว่าไม่คุ้ม ทั้งที่มีความพร้อมมีกำลังมากกว่า แต่ความตั้งใจอาจจะไม่หนักแน่นที่จะกล้าเสี่ยงมากพอ" แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการพลาสติกกล่าว

อีกเหตุผลหนึ่งคงสืบเนื่องมาจากสไตล์การลงทุนของปูนใหญ่ค่อนข้างอนุรักษ์ ประกอบกับไม่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้ ขณะที่ทีพีไอซึ่งมีประชัยเป็นผู้ตัดสินความเป็นไปของบริษัทนั้นเรียกว่าเป็นนักเสี่ยงตัวยงและนักมองการณ์ไกล ดังในปี 2530 ประชัยเก็งกำไรสต็อกข้าวที่ซื้อมาในราคาตันละ 5,000 บาท จำนวน 200,000 ตันแล้วขายออกไปในราคาตันละ 6,000 บาท จนทำกำไรได้หลายร้อยล้านบาท

ถ้าเทียบกันแล้ว ทีพีไอนั้นมีการบริหารแบบลูกทุ่งอย่างเถ้าแก่พืชไร่ทั่วไป แต่ปูนใหญ่บริหารแบบลูกกรุงหลายปีที่ผ่านมา ทางทีพีไอไม่ได้หยุดนิ่งต่อการรุกข้ามเขตของปูนใหญ่…!!!

"แต่เราไม่รู้จะทำอย่างไร เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ทางด้านนี้ นี่อาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่าตลาดไม่เอื้ออำนวย ดีมานด์ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาไม่สูงเท่าระยะ 2-3 ปีนี้ซึ่งขยายตัวขึ้นมากตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ รัฐบาลตอนนั้นไม่มีนโยบายให้ขยายโรงปูนด้วย" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

กระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตปูนขาดแคลนเมื่อปีก่อนอย่างชัดเจน รัฐบาลจึงมีนโยบายให้ตั้งโรงปูนเพิ่ม โดยบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสมัยนั้นเป็นผู้อนุมัติ ทีพีไอไม่รีรอที่จะหยิบฉวยโอกาสนี้เพื่อคลี่คลายวิตกจริตที่ติดค้างมาเป็นแรมปี

การตัดสินใจของประชัยครั้งนี้เท่ากับว่าเป็นการปะทะโดยตรงกับปูนใหญ่…! ประชัยประกาศชัดเจนว่าจะตั้งโรงปูนขนาด 2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุน 5,000 ล้านบาทด้วยความหวังว่าคงจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

โกศล สินธวานนท์ กรรมการและผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสของ บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัดเปิดเผยถึงโรงปูนว่าจะตั้งที่สระบุรี จะเริ่มผลิตได้ราวกลางปี 2535 โดยใน 6 เดือนแรกจะผลิตประมาณ 400,000-600,000 พอปีถัดไปจะผลิตเต็มกำลัง 2 ล้านตัน จะมีการเพิ่มการผลิตหรือไม่ก็แล้วแต่ความต้องการในเวลานั้น

ดีมานด์ปูนนั้นมีอยู่มาก ขณะนี้ผลิตได้ในประเทศ 15.15 ล้านตัน แต่ดีมานด์สูงถึง 17.44 ล้านตัน ปี 2534 จะผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 17.11 ล้านตัน

ปี 2535 ดีมานด์จะเพิ่มขึ้น 25.55 ล้านตันขณะที่กำลังการผลิตรวมมีอยู่ 21.9ล้านตัน พอปี 2536 ดีมานด์จะอยู่ที่ 30.93 ล้านตัน แต่ซัพพลายได้ 26.97 ล้านตัน "ช่วงนั้นโรงปูนใหม่รายอื่นคงจะยังสร้างไม่เสร็จ" โกศลสะท้อนถึงอนาคตตลาดปูนอันสดใส

ขณะที่ ทวี บุตรสุนทร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสของปูนใหญ่เห็นว่าดีมานด์ของปูนจะโตราว 7-9 % เท่านั้น แต่ปีที่ผ่านมาเป็นการเติบโตผิดปกติตัวเลขจึงสูงถึง 15% และในปี 2536 จะมีดีมานด์เพียง 25-26 ล้านตัน ขณะที่ซัพพลายได้มากถึง 31 ล้านตันจากการผลิตของปูนใหญ่ ปูนซีเมนต์นครหลวงหรือปูนกลาง ชลประทานซีเมนต์หรือปูนเล็ก และโรงปูนรายใหม่คือทีพีไอวิษณุซีเมนต์ ปูนซีเมนต์กรุงเทพและปูนซีเมนต์เอเซีย ซึ่งผู้ผลิตคงจะต้องหาทางส่งออกไปต่างประเทศ

เนื่องจากปูนใหญ่ประเมินซัพพลายปูนบนสมมุติฐานว่า รายใหม่จะเริ่มผลิตปูนสู่ตลาดขณะที่ทีพีไอเห็นตรงกันข้าม และตนจะเป็นรายใหม่รายแรกที่สร้างโรงปูนเสร็จก่อนใน ปี 2535 จากกำหนดเดิมคือปี 2536

ณ ปี 2536 ปูนใหญ่จะมีกำลังผลิตมากเป็นอันดับหนึ่งเช่นเดิม คือ 18.8 ล้านตัน รองลงมาเป็นปูนนครหลวง 9.3 ล้านตัน รองลงมาอีกก็เป็นทีพีไอหากทีพีไอผลิตเต็มกำลัง และอันดับที่ 4 คือ ชลประทานซีเมนต์ 1.7 ล้านตัน

ด้วยสายตาอย่างนี้ ทีพีไอจึงได้เสนอขอส่งเสริมจากบีโอไอด้วยกำลังการผลิต 5 ล้านตันต่อปี จนเป็นข่าวฮือฮาและถูกคัดค้านจากบรรดาโรงปูนที่มีอยู่รวมถึงบีโอไอที่ไม่ให้ส่งเสริมด้วย เนื่องจากหวั่นกันว่าทีพีไอจะเอาไปเป็นข้ออ้างในการขยายกำลังการผลิตจากกระทรวงอุตสาหกรรม

บีโอไอจะให้ส่งเสริมโรงปูนของทีพีไอหรือไม่นั้นไม่ใช่เงื่อนไขที่ชี้ชะตา…!

ข้อสำคัญเมื่อทีพีไอได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า อุตสาหกรรมปูนไม่ได้อาศัยเทคโนโลยียุ่งยากอะไรและมีตลาดที่จะเข้าไปแทรกอยู่ได้ไม่น้อย ทีพีไอจึงคงเดินหน้าโรงปูนของตนอย่างเด็ดเดี่ยวและปฏิบัติการอย่างรวดเร็วกว่ารายใด

พร้อมกันนั้น ประชัยก็ได้เตรียมปรับกลยุทธทางการตลาดของเม็ดพลาสติกแอลดีและเอชดี ด้วยการตั้งบริษัท โพลีน จำกัด ขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 100,000 บาทในปี 2530 เพื่อทำหน้าที่ขายเม็ดพลาสติกจากโรงงานของตนและจ้างโรงงานอื่นในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก

ประกอบเมื่อประชัยตัดสินใจลงทุนโรงปูนแน่นอนแล้ว จึงได้เปลี่ยนชื่อบริษัท โพลีน จำกัด มาเป็นบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัดเมื่อเดือนตุลาคม 2532

กระทั่งในเดือนมีนาคมปีนี้ ทีพีไอ โพลีนก็รับซื้อสายการผลิตแอลดีจากทีพีไอทั้งหมดรวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้จากบีโอไอด้วย

ทีพีไอ โพลีนจึงกลายเป็นน้องใหม่ที่ผลิตแอลดีไปโดยปริยาย

มูลค่าที่ทีพีไอ โพลีนรับซื้อเครื่องจักร สิ่งก่อสร้าง ถังแก๊ส ท่อน้ำส่ง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการผลิตแอลดีอื่นๆ ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ทีพีไอ โพลีนจึงเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,200 ล้านบาท โกศลเล่าถึงที่มาของทีพีไอ โพลีน

"การย้ายงานผลิตแอลดีมาอยู่กับทีพีไอ โพลีน เพราะแอลดีเป็นส่วนที่ให้ RETURN มากที่สุด เมื่อเราได้รับในอนุญาตให้ตั้งโรงปูนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงรวมกิจการแอลดีกับโรงปูนเข้าด้วยกัน"

การให้ทีพีไอ โพลีนเป็นผู้ดำเนินการโรงปูน ประชัยก็ไม้ต้องเริ่มต้นจากศูนย์แต่อาศัยฐานกำไรจากการขายแอลดีมาเป็น CASH COW ก่อนที่จะโรงปูนจะคุ้มทุนในอีก 3-4 ปีข้างหน้า

โรงปูนนั้นไม่ใช่อุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี แต่อาศัยต้นทุนสูง ดังที่ทวี บุตรสุนทร เคยกล่าวไว้ว่าขนาดของโรงปูนนั้นจะต้องไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านตันต่อปีและใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท จึงเป็นขนาดที่จะคุ้มต่อการลงทุน

เดิมทีประชัยคิดว่าโรงปูนของตนจะได้รับส่งเสริมจากบีโอไอ ซึ่งจะทำให้ใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยแยกเป็นค่าก่อสร้างราว 2,000 ล้านบาท ค่าเครื่องจักรกว่า 3,000 ล้านบาทซึ่งเป็นวงเงินที่ได้รับการลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร 40% ในกรณีที่ได้ส่งเสริม จากบีโอไอ

แต่เมื่อไม่ได้บีโอไอ มูลค่าเครื่องจักรที่ต้องเสียเต็มอัตราประมาณ 5,000 ล้านบาท ทำให้มูลค่าการลงทุนโรงปูนคราวนี้ต้องใช้เงินถึง 7,000 ล้านบาท

ทีพีไอ โพลีนได้เลือกเทคโนโลยีของKRUPP POLYSIUS เพราะเคยมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อกันมาตั้งแต่ตั้งโรงงานทีพีไอ ทำให้คล่องตัวหลายอย่างตั้งแต่จัดส่งเครื่องจักรที่รวดเร็ว ใช้เชื้อเพลิง ได้ทั้งน้ำมันเตา ลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติ และ KRUPP เพิ่งจะส่งโรงงานปูนให้เกาหลีใต้ในขนาดกำลังผลิตเดียวกันคือ 2 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 7,500 ตันต่อวันซึ่งเป็นขนาดเดียวกับทีพีไอ โพลีน

ตอนนี้เปิดแอลซีเครื่องจักรบางส่วนแล้วและจะเข้ามาถึงราวต้นปี 2534

ยิ่งกว่านั้น ทีพีไอ โพลีนได้รับการสนับสนุนทางการงินจาก KFW ที่ได้ให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำในจำนวนถึง 85% ของเครื่องจักรซึ่งทีพีไอ โพลีนกู้ได้ในวงเงิน 3,000 กว่าล้านบาท

สำหรับช่องทางการลงทุนที่บริษัทจะได้ประโยชน์และแพร่หลายมาก ก็คือการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

ทีพีไอ โพลีนก็เช่นเดียวกัน ประชัยเห็นว่าวิธีระดมทุนที่ได้ประสิทธภาพที่สุดก็ด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ

แต่โดยทีพีไอ โพลีน บริษัทลูกเมื่อเทียบเครดิตกับทีพีไอบริษัทแม่ในขณะนี้แล้วห่างไกลกันลิบลับ ชื่อ "ทีพีไอ" นั้นถ้าเข้าตลาดฯ มั่นใจได้ว่าไปโลดและโดดเด่นกว่าทีพีไอ โพลีนแน่นอน

จึงทำให้สงสัยว่า ทำไมประชัยจึงไม่นำตัวบริษัทแม่คือทีพีไอเข้าตลาดฯ …?

การที่ประชัยเลือกตัดสินใจนำทีพีไอโพลีนเข้าตลาดฯ นี้ เรียกว่าลั่นกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว

ประโยชน์ข้อแรกก็คือสามารถระดมทุนจากประชาชนมาสร้างโรงปูน ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แทนที่จะต้องกู้เงินก้อนใหญ่ทั้งหมด ก็กู้อีกเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

"ทีพีไอ" นั้นมีปัจจัยความพร้อมที่จะดึงดูดความสนใจของประชาชนมาลงทุนได้โดยง่าย

เริ่มมีข่าวลือตั้งแต่ปลายปีก่อนว่าทีพีไอจะเข้าตลาดฯ หลายคนถามไถ่ขอจองหุ้นทีพีไอ ซึ่งตอนนั้นพูดกันถึงหุ้นละ 1,000 บาท

การที่ประชัยจะถือแนวความคิดนำทีพีไอเข้าตลาดฯ นั้นคงจะต้องอาศัยเวลาอีกยาวไกล เพราะนั่นหมายถึงผลกระทบต่อหุ้นของ "เลี่ยวไพรัตน์" ในทีพีไอ

ดังที่ประชัยพูดเมื่อวันเซ็นสัญญาอันเดอร์ไรท์หุ้นว่า "โดยนโยบายแล้วพยายามที่จะนำ ทีพีไอเข้าตลาด ฯ แต่เงินหมุนเวียนในตลาดยังน้อยไป ซึ่งจะกระทบต่อผู้ถือหุ้น ตอนเข้าไปไม่ควรเกิน 5% ของ MARKET CAPITAL"

ประชัยจึงให้ทีพีไอ โพลีนเป็นแนวหน้าในการระดมทุน…!

จากทุนจดทะเบียนของทีพีไอ โพลีน 1,200 ล้านบาท จำนวน 120 ล้านหุ้น ชำระครบตามมูลค่าแล้วถือหุ้นโดยทีพีไอ 87.5 % (ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ถือหุ้นในทีพีไอประมาณ 50%) ตามข้อมูลจากกรมทะเบียนการค้าล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533 จำนวน 105 ล้านหุ้น และตระกูล เลี่ยวไพรัตน์ถืออยู่ในทีพีไอ โพลีน 9.12 ล้านหุ้น รวมส่วนที่ทีพีไอและเลี่ยวไพรัตน์ถือหุ้นอยู่ 114.12 ล้านหุ้น หรือราว 95% เศษ ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย

เมื่อเทียบสัดส่วนหุ้นที่ "เลี่ยวไพรัตน์" มีอยู่ในทีพีไอ โพลีนแล้วรวมกว่า 51% เศษ…!

หลังจากทีพีไอ โพลีนเพิ่มทุนเป็น 1,200 ล้านบาทเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเพื่อรับโอนงานผลิตแอลดีแล้วทีพีไอ โพลีนจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนเพื่อระดมทุนสร้างโรงปูน

ช่วงแรกคิดกันว่าจะเพิ่มทุน 120 ล้านบาทซึ่งจะทำให้สัดส่วนการเพิ่มทุนอยู่ในอัตรา 9.09% หุ้นเดิมที่เป็นรายย่อย 11.36% และทีพีไอมีหุ้น 79.55% ตามแนวความคิดนี้จะออกหุ้นใหม่ 12 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท ถ้าขายหุ้นในราคาหุ้นละ 300 บาท "จะทำให้ได้ PREMIUM ประมาณ 3,400 กว่าล้านบาท" แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดทีพีไอเปิดเผย "ผู้จัดการ"

ขณะที่ทีพีไอโพลีนต้องใช้เงินลงทุนถึง 7,000 ล้านบาท การเพิ่มทุนเพียง 120 ล้านบาทจึงเป็นวงเงินที่น้อยไปหน่อย

ต่อมา ประชัยจึงมีแนวคิดใหม่ว่าควรจะเพิ่มทุน 150 ล้านบาท ทำให้หุ้นเพิ่มทุนคือเป็น 11.11% ของหุ้นทั้งหมด เป็นหุ้นรายย่อย 11.11% และทีพีไอ 77.78%

ทีพีไอ โพลีน จึงออกหุ้นใหม่ 15 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท ขายให้ประชาชนไทย 11 ล้านหุ้นและต่างประเทศ 4 ล้านหุ้น

ปัญหามีว่าจะตั้งราคาหุ้นขายแก่นักลงทุนในราคาเท่าไหร่จึงเหมาะสม…?

แหล่งข่าวหลายกระแสเปิดเผย "ผู้จัดการ"ว่า "เดิมทีเดียวทาง แบริ่ง บราเดอร์ ฮ่องกงมาเป็น ADVISOR ให้ทีพีไอโพลีน แต่ดูเหมือนว่าโนมูระซึ่งเป็นผู้ลงทุนตลาดพันธบัตรที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐจะเป็นเสือปืนไวเพื่อทำผลงานมากกว่าได้เสนอตัดหน้าเข้าทำ PRICING STOCK ให้ทีพีไอ โพลีน เสนอขายเข้าในสหรัฐที่หุ้นละ 300 บาท โดยใช้เวลาแค่วันเดียวขณะที่ประชัยเห็นว่าราคาควรจะขายที่ 180 บาทต่อหุ้นเท่านั้น เมื่อขายได้หมด 15 ล้านหุ้นแล้ว จะได้ PREMIUM ถึงกว่า 4,000 ล้านบาท คิด P/E RATIO แล้วสูงถึง 50 เท่ากว่า"

แล้วโนมูระก็ได้งานนี้ไป โดยเสนอกันแค่วันเดียวเท่านั้น

ระดับราคานี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าค่อนข้างแพง แต่มังกร เกรียงวัฒนากรรมการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของทีพีไอและทีพีไอ โพลีน ซึ่งรับผิดชอบการบริหารการเงินของกลุ่มทั้งหมดกล่าวว่าการพิจารณาราคาหุ้นที่ขายให้ประชาชนนั้นมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน

"P/E RATIO เป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้นยังมีปัจจัยอื่นที่น่าสนใจโดยเฉพาะการมองในประเด็นการขยายตัวของบริษัทนั้นน่าสนใจกว่า จำนวน 4 ล้านหุ้นที่ขายให้ต่างประเทศจะเป็นมาตรฐาน EURO ISSUE" ซึ่งเป็นทิศทางใหม่ของการลงทุนในตลาดหุ้นโดยจะเลือกปัจจัยการขยายตัวของโครงการเป็นหลักมากขึ้น และมังกรได้เปิดเผยด้วยว่า "มีโนมูระเป็น LEADER จริง"

มังกรยังกล่าวอีกว่า เมื่อสร้างโรงปูนเสร็จในปี 2533 P/E RATIO จะเป็น 25% "การะประเมินที่ดีที่สุดคือการให้ตลาดเป็นผู้ประเมิน เราพบว่าราคานี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูง" ส่วนการจ่ายปันผลนั้น ทีพีไอ โพลีนมีนโยบายจ่ายในอัตรา 60% ของกำไรสุทธิ

โดยสถานะของทีพีไอ โพลีน ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีสินทรัพย์รวม 6,496 ล้านบาท ปี 2534 จะมีสินทรัพย์รวม 10,300 ล้านบาท ปี 2535 จำนวน 10,722 ล้านบาท ปี2536 จำนวน 11,151 ล้านบาท และปี 2539 จำนวน 11,732 ล้านบาท

หนี้สินรวมนับถึงครึ่งปีนี้ 446 ล้านบาท ปี 2534 จำนวน 3,699 ล้านบาท ปี 2535 จำนวน 3,835 ล้านบาท ปี 2536 จำนวน 3,647 ล้านบาท และปี2539 หนี้สินรวมจะลดลงเหลือ 2,250 ล้านบาท

ทางด้านรายได้ในครึ่งปีแรกของปีนี้ 1,256 ล้านบาท ปี 2534 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,675 ล้านบาท ปี 2535 จะมีรายได้ 3,130 ล้านบาท ปี 2536 รายได้เพิ่มเป็น 5,300 ล้านบาทและปี 2539 จะมีรายได้สูงเป็น 6,247 ล้านบาท

ส่วนผลกำไรครึ่งปีนี้ 351 ล้านบาท ปีหน้าจะมีกำไรเพิ่มเล็กน้อยเป็น 760 ล้านบาท ปี 2535 ซึ่งเริ่มผลิตปูนจะกำไร 792 ล้านบาท ปี 2536 ผลกำไร 1,043 ล้านบาท และปี 2539 ผลกำไรจะเป็น 1,507 ล้านบาท

ทั้งนี้จะยังคงทุนจดทะเบียนไว้ที่ 1,350 ล้านบาทโดยไม่มีการเพิ่มทุนจนถึงปี 2539

สำหรับการบริหารนั้น "ปกติเราก็บริหารโดยมืออาชีพอยู่แล้วและต่อไปจะดึงมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาเสริม"

คนที่เด่นที่สุดขณะนี้คือ โกศล ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชัยให้ดูแลการปฏิบัติงานทั้งหมดของทีพีไอ โพลีน

โกศลนั้นเป็นเพื่อนกับประชัยโดยรู้จักผ่านทางภรรยา โกศลเคยเป็นรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเคยเป็นทูตประจำประเทศสเปน แต่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จึงถูกเรียกตัวกลับมาประจำกระทรวง ปัจจุบันได้เลื่อนเป็นซี 11 ในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำลังจะเกษียณตุลาคมปีนี้

ประกอบกับโกศลเป็นกรรมการของที่นี่มาก่อนแล้ว ประกอบกับความคุ้นเคยและภาพที่ดีของโกศล ประชัยจึงชักชวนมาร่วมบริหารงานที่ ทีพีไอโพลีน

การทำงานของโกศลในตอนี้ จึงเปิดตัวในฐานะของ "กรรมการ"

"ตอนนี้ก็เหมือนกับให้ท่าน(โกศล) มาอุ่นเครื่อง ก่อนที่จะมาทำงานเต็มตัวเมื่อเกษียณ และจะถูกรายอื่นดึงตัวไป เพราะท่านเป็นคนมีฝีมือ" มังกรกล่าว

การดึงโกศลมาร่วมงาน นับเป็นอีกรูปลักษณ์หนึ่งที่จะสร้างภาพพจน์ใหม่แก่กลุ่มทีพีไอได้ไม่น้อย

การลั่นกระสุนของประชัยครั้งนี้ จึงไม่เพียงแต่เป็นวิธีที่ระดมทุนได้ตามเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังรักษาระดับสัดส่วนหุ้นของเลี่ยวไพรัตน์ในทีพีไอบริษัทแม่ไว้ได้ ขณะเดียวกันก็ยังได้ผลกำไรจากการระดมทุนของทีพีไอ โพลีนด้วย เรียกว่าได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

แม้ว่า "เลี่ยวไพรัตน์" เริ่มต้นไต่เต้าบนบันไดการลงทุนจากธุรกิจเกษตร และมีสไตล์การบริหารแบบครอบครัวตามเยี่ยงของบรรดาเถ้าแก่พืชไร่ทั้งปวงก็ตาม แต่เมื่อ "เลี่ยวไพรัตน์" เริ่มเข้ามาในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประชัย ประทีป หรือประมวล ล้วนไม่มีใครจบการตลาดเลย แต่สายตาการมองตลาดธุรกิจของเลี่ยวไพรัตน์นั้นพูดได้ว่ายาวไกลทีเดียว

โดยเฉพาะในภาวะที่ตัดสินใจลงสนามค้าปูน ซึ่งจะต้องปะทะกับปูนใหญ่โดยตรงแล้ว ก็ต้องเตรียมให้พร้อม และสู้กันอย่างสมศักดิ์ศรี

ผลจากที่ปูนใหญ่รุกเข้ามาในธุรกิจปิโตรเคมีเยี่ยงเม็ดพลาสติกที่ทีพีไอลุกขึ้นเป็นผู้นำก่อนนั้นทำให้ทีพีไอเริ่มคิดว่าต่อไป ตนจะต้องทำธุรกิจครบวงจรอย่างปูนใหญ่บ้าง

ดังจะเห็นที่ประชัยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า "เรายังสนใจลงทุนด้านวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ"

ปูนใหญ่กลายเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อทีพีไอมาก "ที่ผ่านมา จะเห็นว่าเราไม่ทำครบวงจร แต่พยายามจะหลีกไปเป็น LEADER ของอุตสาหกรรรมแต่ละสายความจริงโรงปูนไม่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของทีพีไอดังที่หลายคนเข้าใจและโรงปูนก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไร แต่เราต้องทำขณะที่ยังมีตลาด" แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดทีพีไอกล่าว

แม้มังกรจะกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "การลงทุนโครงการ 7,000 ล้านบาทไม่ใช่จะตัดสินใจด้วยอารมณ์" แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่จุดพลุให้ประชัยต้องคิดเรื่องนี้ก็เนื่องมาจากการขยับตัวครั้งใหญ่ของปูนเป็นเบื้องต้นนั่นเอง

จากจุดนี้เองที่ทำให้ประชัย ผู้คุมนโยบายของทีพีไอทั้งหมดต้องเร่งโรงปูนอย่างฉับไวด้วยการเร่งสร้างโรงปูนให้เสร็จก่อนรายอื่นและต้อง "พร้อม"ที่สุด จนทำให้โครงการผลิตเม็ดพลาสติกเอบีเอส ล่าช้าออกไป "จนวันนี้เพิ่งจะอยู่ในขั้นทดสอบการเดินเครื่อง" และกำลังจะออกสู่ตลาดในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้ทีพีไอเป็นผู้นำในการผลิตเม็ดพลาสติกที่สำคัญและช่วยทดแทนการนำเข้าของประเทศอีกชนิดหนึ่ง

แท้จริงเอบีเอสเป็นโครงการที่ทีพีไอให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ทีพีไอกลายเป็นผู้นำเม็ดพลาสติกชนิดใหม่นี้ เพราะเอบีเอสจะกลายเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำชิ้นงานพลาสติกที่ต้องการคุณภาพสูง เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

โดยตัวทีพีไอ โพลีนจะดูแลสินค้า 2 ชนิดคือ แอลดีกับปูนเท่านั้น เพื่อจะได้ประกาศศักดิ์ศรีกับปูนใหญ่อย่างเต็มกำลัง ส่วนอีก 17 โครงการนั้น (โปรดอ่านล้อมกรอบ "อาณาจักรใหม่ทีพีไอ")

ยกเว้นโพลียูรีเทน ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตฉนวนกันความร้อน กันชนรถยนต์ นั้นบริษัท อุตสาหกรรมโพลียูรีเทนไทย จำกัด บริษัทลูกรายใหม่ของทีพีไอเป็นผู้ดูแล

จะเห็นว่าประชัยเตรียมพร้อมขนาดที่ไปตั้งบริษัท ทีพีไอ เคย์แมน จำกัด ที่เกาะเคย์แมนพร้อมหาเงินด้วยการ FRB (FLOATIING RATE BOND) โดยทีพีไอเป็นผู้ค้ำประกัน และได้แบงก์กรุงเทพและเชสแมนฮัตตันกับอีก 5 ธนาคารร่วมกันลงทุนซื้อ BOND นี้ ด้วย วงเงิน 50 ล้าน ฟรังค์สวิส

นัยว่าทีพีไอต้องการให้ทีพีไอ เคย์แมนเป็นแหล่งระดมและผ่านเงินจากต่างประเทศมาสนับสนุนกิจการของทีพีไอในประเทศไทย

การเตรียมความพร้อมเหล่านี้ ทีพีไอ โพลีนไม่ต้องการอะไรมาก…!

แค่สัดส่วนครองตลาด 6-10 % ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น…!

ด้านตลาดแอลดีและเอชดีนั้น ประทีปกล่าวกับ "ผู้จัดการ" อย่างหนักแน่นว่าไม่มีอะไรน่าห่วง ลงแข่งขันในตลาดแล้วผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสิน"

เรียกว่า วัดฝีมือกันในสนามจะแน่นอนกว่า

เพราะที่มาของปูนใหญ่นั้นก็คือผู้นำการผลิตปูน ขณะที่ทีพีไอเป็นผู้นำการผลิตพีอี จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต่างก็หวงแหนอาณาจักรของตนซึ่งต้องบุกเบิกอย่างเหนื่อยยากมาก่อน

ภายใต้ความหวงแหนนั้นก็คือศักดิ์ศรีที่ "เลี่ยวไพรัตน์" ในเสื้อชุด "ทีพีไอ โพลีน" จักต้องปกป้องถึงที่สุด แม้ว่าทิศทางของธุรกิจโดยรวมจะมุ่งไปเป็นตลาดเสรีที่แข่งขันกันมากขึ้นก็ตาม

แต่ "เกียรติภูมิของเลี่ยวไพรัตน์แห่งทีพีไอหยามกันไม่ได้หรอก"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us