เกาะภูเก็ตวันนี้เต็มไปด้วยปัญหาสิทธิ สภาพนอกอาณาเขต ภาวะเงินเฟ้อสาธารณูปโภคพื้นฐานขาดแคลน
นี่คืออีกมุมหนึ่งของการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริการนับหมื่นนับแสนล้านบาทชั่วระยะเวลา
2-3 ปี ที่ถาโถมเข้ามาราวกับคลื่นยักษ์ที่ซัดกระหน่ำภูเก็ตชนิดตั้งรับไม่ทัน
โครงการโรงแรมและบริการขนาดใหญ่น้อยเร่งซื้อขาย และสร้างให้เกิดความเจริญอันหวือหวา
แต่สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์อันใด สำหรับอนาคตของภูเก็ตที่จะไม่เหลือแผ่นดินดิบสำหรับคนรุ่นหลังเลย!!!
เศรษฐกิจโดยรวมของภูเก็ตเป็นเศรษฐกิจที่วิวัฒนาการทางเหมืองแร่คละเคล้ากับเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองมายาวนานไม่น้อยกว่า
300 ปีและภูเก็ตทำรายได้ให้รัฐมากที่สุด จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเดียวในปีที่แล้วถึง
10,320 ล้านบาท
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การขยายและหดตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ผกผันตาม
อุปสงค์และราคาที่ผันผวนของสินแร่ดีบุกในตลาดโลก ทำให้เศรษฐกิจภูเก็ตแข็งแกร่งในปี
2525 และอ่อนแอราวกับฐานะใกล้ล้มละลายในปี 2528-29
แรงบีบคั้นนี้ทำให้คนภูเก็ตต้องพึ่งพาตนเองอีกครั้ง ด้วยการพลิกแผ่นดินแร่ดีบุกให้กลายเป็น
"ไข่มุกแห่งอันดามัน" ภาพพจน์แห่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก
แต่ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้แม้จะไม่มีวันหมดไปเหมือนแร่ดีบุก แต่อนาคตก็อาจเสื่อมได้
จากพื้นที่เกษตรสู่เรียลเอสเตท
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพื้นที่บนเกาะภูเก็ต ถูกใช้ไปเพื่อสร้างโรงแรมมากที่สุด
ขณะที่ในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำเหมืองแร่และสวนยางพารา และสวนมะพร้าว
ย้อนหลังเมื่อปี 2528 เกาะภูเก็ตมีพื้นที่ปลูกสวนยางพารา 127,350 ไร่หรือ
37.8% ของพื้นที่เกาะทั้งหมดประมาณ 543 ตารางกิโลเมตรหรือ 336,700 ไร่ มีพื้นที่ปลูกสวนมะพร้าว
22,750 ไร่ หรือ 6.75% และมีพื้นที่เป็นเหมืองแร่บนบกอีก 37,875 ไร่ หรือ
11.24%
แต่วันนี้พื้นที่สวนยางลดลงปีละ 1,527 ไร่ สวนมะพร้าวลดลงประมาณปีละ 324
ไร่ และพื้นที่เหมืองแร่ลดลงประมาณปีละ 836 ไร่ ส่วนที่ลดนี้ไปเพิ่มในพื้นที่สร้างโรงแรมเป็นส่วนใหญ่
โดยมีการกว้านซื้อที่ดินชายทะเลในราคาสูงลิบลิ่วไร่ละนับสิบล้านบาท ส่วนพื้นที่ในเมืองก็ก่อสร้างตึกแถวขายกันมาก
ในปีที่แล้วเฉพาะพื้นที่ก่อสร้างตึกแถวเพิ่มขึ้นกว่าปี 2531 ถึง 134.2% หรือ
22,455 ตารางเมตร
ภูเก็ตกลายเป็นเมืองที่มีสถิติพื้นที่ก่อสร้างขยายสูงที่สุดในภาคใต้!!!
ปี 2532 การก่อสร้างในภูเก็ตก้าวกระโดดเพิ่มจาก 155,277 ตารางเมตรเป็น 367,809
ตารางเมตร หรือเพิ่มขึ้น 136.9%
เช่นเดียวกับอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดด้านสินเชื่อในรอบ 10 ปี ส่วนใหญ่กู้ไปเพื่อทำโรงแรม
ภัตตาคารจำนวน 1,265.5 ล้านและสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ 1,001.4 ล้านบาท
และสินเชื่อค้าปลีกค้าส่งเพิ่มขึ้น 580.2 ล้านบาท (ดูตารางประเภทสินเชื่อ)
"ลักษณะที่สินเชื่อโด่งกว่าเงินฝาก ทำให้เราต้องไปเอาเงินจากสำนักงานใหญ่มาเสริม
และปริมาณเงินทุนเข้าจะมากกว่าออก เพราะว่าโอนเงินมาซื้อที่ดินกันมาก และหนี้เสียที่นี่มีน้อย
เพราะเศรษฐกิจดี หรือถ้ามีหนี้เสีย แต่ที่ดินขึ้นราคาก็ขายไปตัดหนี้ได้สบาย"
แหล่งข่าว ในแบงก์ไทยพาณิชย์สาขาภูเก็ตเล่าให้ฟัง
สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้น แบงก์ชาติสาขาภาคใต้ได้บอกไว้ว่า
ปีที่แล้วเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภูเก็ต ซึ่งมียอดเงิน 9,321.6 ล้านบาท
เพิ่มจากปี 2531 ถึง 40.6% และส่วนใหญ่เงินเหล่านี้ได้มาจากการซื้อขายที่ดิน
(ดูตารางเงินฝากต่อสินเชื่อ)
และข้อมูลที่บ่งบอกเศรษฐกิจภูเก็ตอีกตัวก็คือสถิติรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในจังหวัดภูเก็ตสูงถึง
80,000 คัน ต่อประชากรภูเก็ตที่มีสำมะโนครัว 157,699 คน สัดส่วนก็คือ 2 คนต่อรถ
1 คัน
ในช่วงตั้งแต่ปี 2530 ราคาที่ดินของภูเก็ตได้ขยับตัวสูงขึ้นนับร้อยเท่าจากราคาเดิม
โดยเฉพาะที่ดินริมชายทะเลซึ่งในอดีตถือว่าเป็น "ที่ตาบอด" ปลูกไม้ไม่ได้ผล
แต่ในระยะ 2-3 ปี มานี้ที่ดินแถบนี้มีราคาแพงสุดกู่จนผิดเพี้ยนราคาประเมินกลางของจังหวัดราวฟ้ากับดิน
"ตอนนี้ภูเก็ตมีปัญหาเรื่องเก็งกำไร เช่นรอยัลพาราไดซ์ซึ่งเขาขายตึกแถวได้หมดก่อนโรงแรมจะเสร็จ
มือแรกก็ซื้อมาหนึ่งล้านก็ปั่นราคาขายไปถึงมือที่สามเป็น 3 ล้าน ต่างก็เก็งว่าจะขึ้นอีก
คนที่จะเปิดทำการค้าจริง ๆ ก็ไม่กล้าเพราะเปิดอยู่คูหาเดียว เหงาตาย มีลักษณะตึกแถวร้างอย่างนี้มากนะ
ผมดูแล้วต่อไปจะลำบาก ถ้าหากมีใครล้มสักโครงการจะรู้สึก" แหล่งข่าวให้ความเห็น
ความฟูเฟื่องของการค้าอสังหาริมทรัพย์ทำให้ภูเก็ตกลายเป็นศูนย์รวมนักเก็งกำไรแม้กระทั่งการซื้อขายคฤหาสน์เก่าแก่ของเซอร์จอห์นที่
ราศรี บัวเลิศซื้อไว้ในราคา 20 ล้านบาท เพียงระยะ 6-7 เดือน บ้านหลังนี้ก็ถูกขายไปในราคา
600 ล้านบาท!!
ดังนั้น ในปีนี้จังหวัดได้มีการประเมินราคาที่ดินขึ้นมาใหม่ใช้ตั้งแต่วันที่
1 พฤษภาคม 2533 ไล่ราคาเก่าที่นับว่าสูงอยู่แล้วให้สูงยิ่งขึ้นอีกนับสิบเท่าตัว
ตัวอย่างเช่นบริเวณหาดป่าตองซึ่งมีการลงทุนสร้างโรงแรมหนาแน่นที่สุดในภูเก็ต
ราคาประเมินใหม่ของที่ดินติดถนนทวีวงศ์ด้านฝั่งทะเลและตรงข้างฝั่งทะเลระยะ
40 เมตรไร่ละ 12 ล้านบาท ขณะที่ราคาซื้อขายจริงขณะนี้ไร่ละ 20-30 ล้านบาท
ที่ดินผืนใหญ่ชิ้นสุดท้ายของป่าตองซึ่งเจ้าของคือกมล กมลรัตนวิบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท
เพชรบุรีซีฟู้ด ได้ขายให้แก่ญี่ปุ่น 40 ไร่ในราคา 1,200 ล้านบาท งานนี้กมลได้กำไรมหาศาลเพราะเขาซื้อที่นี้เมื่อต้นปีที่แล้วเพียง
275 ล้าน
"เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าราคาที่ดินขนาดนี้กับการลงทุนจะคุ้มค่าไหม? เพราะถ้าปลูกสร้างก็ต้องไม่เกิน
12 เมตร และนับจากถนนถอยหลังเข้าไป 150 เมตร ต้องสงวนพื้นที่สีเขียวไว้ 50%
ตาม กฎกระทรวง ดังนั้นต้นทุนเฉลี่ยต่อห้องจะสูงมาก" ชาญ วงศ์สัตยนนท์
ผู้จัดการใหญ่โรงแรมภูเก็ต เมอร์ลินให้ข้อสังเกตุ
"แต่อย่างไรก็ตามผมมองในอนาคต โรงแรมที่แยกโดดเดี่ยวหนีความแออัดจะได้รับความสำเร็จ
ไม่จำเป็นต้องอยู่ริมหาด อาจจะอยู่บนภูเขาหรือตามเกาะต่าง ๆ นอกภูเก็ตก็ได้
เพราะมีความเป็นส่วนตัวสูง" ชาญ ในฐานะอุปนายกสมาคมท่องเที่ยวเล่าให้ฟัง
ปัจจุบันเกาะบริวารมีอยู่ 31 เกาะ เกาะสำคัญที่มีการลงทุนพัฒนาการท่องเที่ยวได้แก่
เกาะโหลน เกาะไม้ท่อนซึ่งมีทุนญี่ปุ่นเข้ามาพัฒนา "ไม้ท่อนรีสอร์ท"
เกาะเฮที่ภูเก็ตไอร์แลนด์รีสอร์ทไปสร้างห้องพักเกาะพีพี หมู่เกาะสิมิลัน
เกาะบอน เกาะสิเหร่ และเกาะแก้วพิสดาร
ภูเก็ตรับอนาคตปี 2538 ไม่ไหว
มีคำทำนายทายทักความรุ่งโรจน์อีกสิบปีข้างหน้าว่าในปี 2543 ประเทศไทยจะเป็นผู้นำการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้
ผู้วิเคราะห์ คือหน่วยงานที่ชื่อว่า ECONOMIST INTELLIGENCE UNIT (EIU) ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของนิตยสาร
THE ECONOMIST ที่มีชื่อเสียงของโลก เอกสารนี้ใช้ในการประชุมใหญ่ของที่แวนคูเวอร์
ประเทศแคนาดา เมื่อเมษายนปี 2533 นี้เอง
EIU คาดว่าใน 10 ปีข้างหน้าจะมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นและยุโรปมาภูมิภาคอาเซียนนี้
29.3 ล้านคน และจำนวนนี้มาไทย 12 ล้านคนหรือมีคืนพักทั้งสิ้น 100 ล้านคืนเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกไกลและแปซิฟิก
และแนวโน้มการพักผ่อนชายทะเลจะเป็นที่นิยมมาก และมีการเสนอให้ไทยจัด ART
TREASURE TOUR เพื่อรับตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปที่มีรายได้สูงด้วย
แน่นอนว่าภูเก็ตคือจุดหมายปลายทางหนึ่งในบรรดาเกาะแก่งทั้งหลายของประเทศต่าง
ๆ ในภูมิภาคนี้ แต่ปัจจัยพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังขาดแคลนเช่นถนนรอบเกาะ
น้ำ ไฟฟ้า การสื่อสารโทรคมนาคม โทรศัพท์ บุคลาการ ฯลฯ
ในปี 2538 ภูเก็ตจะประสบปัญหาความสามารถในการรองรับสนามบินมีขีดจำกัด และจำนวนห้องพักบริเวณชายหาดไม่พอ
แม้ว่าภูเก็ตจะเพิ่งใช้งบ 700 ล้านบาท ขยายสนามบินโดยสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและอาคารใหม่มูลค่า
149 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงแออัดได้ 3,000 คน ในปีนี้ก็ตาม (ดูตารางความถี่ผู้โดยสาร)
"เดิมทีเราตั้งเป้าไว้ว่าสนามบินภูเก็ตจะรองรับได้ 10 ปี ต่อปริมาณการเพิ่ม
20% แต่ตอนนี้ปรากฎว่าอัตราการเพิ่มของผู้โดยสารทั้งสายการบินทั้งในประเทศและสายต่างประเทศขณะนี้ได้เพิ่มทวีคูณสูงถึง
30% จึงคาดว่าจะรองรับได้เพียง 5 ปี ขณะนี้ทางการท่าอากาศยานกำลังว่าจ้างบริษัทผู้เชี่ยวชาญสำรวจ
เพื่อทำแผนระยะยาว 10-20 ปีข้างหน้า ก่อนสิ้นปีนี้ก็คงทราบว่าเป็นอย่างไร"
นท. รัตโน อุดมพันธ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเปิดเผย
นอกจากนี้ EIU ยังบอกว่าปัญหาขาดแคลนห้องพักในภูเก็ตอาจเกิดขึ้น เพราะจากประมาณการว่าในปี
2538-2543 ไทยจะต้องเพิ่มโรงแรมระดับ 4-5 ดาวอีก 50,000 ห้อง โดยเน้นการสร้างโรงแรมแบบ
EXCLUSIVE ที่มีขนาด 50 ห้อง และตั้งอยู่บนหาดที่เงียบสงบปราศจากมลภาวะและพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวครบ
จากการคาดการณ์ความต้องการห้องพักระดับสูงจะขยายตัวจากปีนี้ ซึ่งภูเก็ตมีห้องพัก
โรงแรม รีสอร์ท บังกะโล ตั้งแต่ระดับสูงถึงระดับต่ำประมาณ 10,666 ห้อง (ดูตารางอัตราเติบโตห้องพัก)
ทำให้โครงการโรงแรมขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นแถบหาดป่าตอง หากกะรน หากบางเทา และตัวอำเภอเมืองไม่ต่ำกว่า
2,834 ห้องในระหว่างปี 2533-36
เช่นในปีนี้โรงแรมเมโทรโปล (บริษัทโรงแรมพระพิทักษ์ที่สมาน โอภาสวงศ์ ร่วมลงทุนกับสิทธิ
ตัณฑวณิช) ก็เกิดขึ้นใจกลางเมืองและมีแผนขยายอีก 150 ห้อง ใน 2-3 ปีข้างหน้า
ส่วนที่หาดป่าตองมี 3 แห่ง คือโรงแรมรอยัลพาราไดซ์ 280 ห้องและโรงแรมรอยัลปาร์คบีช
รีสอร์ท 123 ห้องและป่าตองบีโฮเต็ลอีก 100 ห้อง ส่วนที่หาดกะรนก็มีโรงแรมกะรนอินน์ที่สร้าง
350 ห้องเสร็จในปี 2534
ส่วนโครงการอาคารชุดมีการก่อสร้าง 17 โครงการ เงินลงทุน 3,079 ล้านบาทเป็นห้องชุด
1,688 ห้อง แยกเป็นอาคารชุดที่หาดป่าตอง 11 โครงการ เงินลงทุน 1,550.2 ล้านบาท
จำนวน 1,014 ห้องและในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ตอีก 6 โครงการ เงินลงทุน 1,549
ล้านบาท จำนวน 674 ห้อง
ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าการก้าวกระโดดเพิ่มจำนวนห้องพักในภูเก็ตไม่น้อยกว่า
50,00 ห้อง ทุกวันนี้ปัญหาที่ภูเก็ตต้องประสบอย่างแรงก็คือปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านการท่องเที่ยว
"การลงทุนทำโรงแรมมาก ๆ เช่นนี้จะมีการขาดแคลนบุคลากรแน่นอน เพราะตามตัวเลขที่เฉลี่ย
หนึ่งห้องต้องใช้คนบริการ 1.5-1.8 คน ดังนั้นถ้ามีโรงแรมขึ้นถึง 2-3 หมื่นห้อง
คิดดูสิว่าต้องใช้คนเท่าไหร่? ปัญหาตอนนี้ที่ภูเก็ตต้องแย่งตัวระดับหัวหน้ากัน
เพราะหาคนมีประสบการณ์ลำบากและยิ่งมีโรงแรมใหม่เกิดขึ้น ก็ย้ายงานกันปั่นป่วนไปหมด"
สมศักดิ์ คูสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมเพิร์ลเล่าให้ฟัง
สถาบันที่ผลิตบุคลากรด้านนี้ในภูเก็ตมีอยู่ 4 แห่ง คือวิทยาลัยอาชีวะศึกษา
วิทยาลัยครู วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต และวิทยาลัยเอกชนทั้งหมดผลิตได้ปีละ 200
กว่าคน นอกนั้นก็เป็นแรงงานขั้นต่ำที่มาจากพังงา กระบี่ ตรัง สตูล ยะลา
และการแก้ปัญหาขณะนี้ทางสมาคมท่องเที่ยวภูเก็ตทำก็คือ การตั้งศูนย์ฝึกอบรมกระตุ้นให้มีการลงทุนทำโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศและมัคคุเทศก์
เพื่อยกมาตรฐานการบริการสูงให้เหมาะสมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
แต่เบื้องลึกของปัญหาอย่างหนึ่งของคนภูเก็ตในขณะนี้ก็คือการปรับตัวไม่ทัน
"เรารับเด็กมาทำบ๋อยได้สักพักก็ลาออก จนคนฝึกเบื่อ เพราะเด็กภูเก็ตนี่มีความรู้สึกยกมือไหว้คนง่าย
ๆ ไม่เป็น มันขัดกับศักดิ์ศรีตัวเองที่เคยอยู่อย่างอิสระเสรีไม่ง้อใคร"
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีขีดจำกัดด้านปัจจัยพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวดังกล่าวนี้
แต่ภูเก็ตก็ยังมีเสน่ห์ดึงดูดใจอันรุนแรงที่นักลงทุนต่างประเทศต้องการจะขยายธุรกิจท่องเที่ยวลักษณะเครือข่ายครบวงจร
ในเกาะแถบเอเซียแปซิฟิกนี้ นับตั้งแต่ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์
ยกตัวอย่างเช่น โครงการเอเชียรีสอร์ทของกลุ่มไทยวาก็เป็นหนึ่งในโครงการยักษ์ใหญ่ในอนาคตที่น่าจับตา
โดยเฉพาะการพัฒนาเกาะภูเก็ตที่อ่าวบางเทา 2,400 ไร่ ซึ่งยิ่งใหญ่พอ ๆ กับโครงการพัฒนาท่าฉัตรไชย
2,800 ไร่ของบรู๊ซ แรพพาพอร์ท ที่จะเช่าที่จากกรมธนารักษ์ ทีเดียว !!
"เหตุผลหนึ่งที่เราต้องซื้อที่ดินผืนใหญ่ ก็เพราะว่าถ้าเราซื้อชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วสร้างโรงแรม
เราจะไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้เลยเหมือนที่หาดป่าตอง และโครงการของเราที่วางไว้จะขึ้นโรงแรมเพียง
4 แห่ง" โฮ กวง ปิง ประธานบริษัทไทยวาเล่าให้ฟัง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มบริษัท ไทยวา เพิ่งเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 525 ล้านเป็น
787.5 ล้านบาทเพื่อขยายกิจการ ธุรกิจหลักของกลุ่มไทยวามี 3 อย่างคือกิจการแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุด
บริษัท ไทยวาฟู้ด โปรดักส์ ที่ทำอุตสาหกรรมอาหาร กิจการอสังหาริมทรัพย์คือบริษัท
ไทยวา พลาซ่า กับบริษัทดุสิต ลากูน่า ซึ่งสร้างโรงแรมในปี 2530 หลังจากซื้อที่ดินจากสุจินต์
อุดมทรัพย์ ลูกชายขุนวิเศษนุกูลกิจ "ตันเอ่งกี้"
"แกขายไปสองล็อต ล็อตแรก 20 ล้าน และล็อตที่สอง 80 ล้าน ในช่วงที่มีการจำกัดสินเชื่อร้อยละ
18 ปี 2518 ที่ดินราคาตกมากและเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ทอดอาลัย พอมีนายทุนต่างท้องถิ่นอย่างไทยวามาขอซื้อในราคาพอสมควรก็ตกลงขาย
พอ 3 ปีให้หลังนึกเสียดายจะขอคืนมัดจำแต่ก็ไม่ได้แล้ว ส่วนตัวแกเองก็ต้องไปซื้อที่ดินผืนอื่นมาสร้างโรงแรม"
แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง
ในปี 2534 กลุ่มไทยวาจะสร้างโรงแรมระดับ EXCLUSIVE อีก 2 แห่ง ที่หาดบางเทาคือโรงแรมเชอราตัน
แกรนด์ ลากูน่าบีช ซึ่งมีไทยวาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไทยวาพัฒนา ทุนจดทะเบียน
516.34 ล้านบาท สร้างโรงแรมห้าดาว 350-400 ห้อง ในเนื้อที่ 1,100 ไร่ ซึ่งมีสนามกอล์ฟ
18 หลุม สโมสร รีสอร์ท อพาร์ทเม้นท์ หมู่บ้านลากูน่าวิลเลจ บ้านพักลากูน่าวิว
วิลล่า และสถานบริหารสุขภาพ
ส่วนโครงการที่สองของกลุ่มไทยวาที่จะเปิดมีนาคมปีหน้าก็คือโรงแรมแปซิฟิคไอร์แลนด์คลับขนาด
200 ห้อง บริหารโดยกลุ่มอินเตอร์แฟซิฟิคที่มีสาขาเกาะกวมและไซปัน จะเป็นโรงแรมแบบเดียวกับคลับเมดของฝรั่งเศส
นอกจากกลุ่มไทยวาแล้ว "อามันปูรี" สถานที่พักตากอากาศชายทะเลที่นับว่าแพงมากที่สุดในประเทศไทย
ที่ขายห้องพักสำหรับแขกระดับไฮคลาสห้องละ 7,000-10,000 บาท/คืน เจ้าของคือ
มร. เอเดรียน เซกก้า (ADRAIN ZECHA) มหาเศรษฐีลูกครึ่งชาวอินโดนีเชียและโปรตุเกส
และมีหุ้นส่วนคนสำคัญอีกคนคือ มร. ฮัชแมน เจ้าของบริษัทสร้างเครื่องบินส่วนตัวสำหรับสุลต่านและเศรษฐีน้ำมันโลก
นอกจากนี้ยังมีหุ้นส่วนเป็นมหาเศรษฐีญี่ปุ่นอีกด้วย
ลักษณะการลงทุนของกลุ่มนี้จะเน้นตามเกาะ ขณะนี้มีเครือข่ายที่เกาะบาหลี
สองแห่งคือโรงแรมอามันดาหลี และมีที่เกาะฮาวายด้วย ส่วนที่ไทยก็จะมีการขยายไปสร้างที่สุโขทัยและเชียงใหม่ด้วย
หลังจากที่ มร. เซกก้าได้เข้าเทคโอเวอร์กิจการ "พันทรี" ในปีนี้
นอกจากกิจการโรงแรมนี้ มร. เซกก้า ยังได้ลงทุนสร้างวิลล่าบนเนื้อที่ 40
ไร่ โดยสร้างบ้านเนื้อที่หนึ่งไร่ มีสี่ห้องนอนและหนึ่งสระน้ำขายในรูปการทำสัญญากับบริษัทอันดามันแลนด์
หรือเดิมชื่อบริษัท แซด. เอ็ม ให้เช่า 30 ปี ในราคาหลังละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อเลี่ยงกฎหมายไทยที่ห้ามต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
"ตอนที่เขาเพิ่งซื้อที่ดินนี้ใหม่ ๆ ในปี 2527 เขาบอกว่าจะสร้างโรงแรมขายคืนละหนึ่งหมื่นบาท
และขายบ้านหลังละล้านเหรียญ ผมฟังแทบไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เขาก็บอกว่าไม่เป็นปัญหา
เพื่อนฝูงของเขาเที่ยวแถวริเวียร่า-มอนติคาโล ในราคานี้อยู่แล้ว ผมก็เลยเข้าใจว่าเขามีกลุ่มลูกค้าเขาชัดเจน
และหลังจากเขาประกาศขายบ้านหลังละล้านเหรียญสหรัฐ เขาก็ขายได้หมดทันทีเลย
16 หลัง" แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง
แต่อามันปูรีก็พลาด เมื่อวันหนึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเข้าอามันปูรีไม่ได้
!?! สาเหตุเป็นเพราะยามที่ป้อมรักษาการณ์เถรตรงกับคำสั่งว่า "ห้ามบุคคลภายนอกเข้า"
แม้จะมีการแก้ไขความเข้าใจกันแล้ว แต่ข่าวที่ตามมาคือการรุกล้ำที่สาธารณะประโยชน์ของอามันปูรีได้เกิดขึ้น
"เป็นที่น่าเสียดายคือเราต้องการให้คนมาลงทุน ยิ่งคนที่ยิ่งใหญ่ยิ่งสร้างความภูมิใจให้ภูเก็ต
แต่ถ้าหากเขาไม่ปฏิบัติตามกติกาก็อยู่ไม่ได้ มันไม่มีกฎหมายอะไรที่คนทำไม่ได้
ในจังหวัดเราเน้นธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม" ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
เฉลิม พรหมเลิศ เล่าให้ฟัง
ทำไมอุตสาหกรรมไม่เกิดที่ภูเก็ต?
นักธุรกิจอุตสาหกรรมคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่าทำไมภูเก็ตจึงไม่สามารถเป็นดังเช่นฮาวาย
ที่มีทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรเกิดขึ้นได้? ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภูเก็ตมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลักสำคัญ
จนทำให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่หมิ่นเหม่ที่จะกระทบสิ่งแวดล้อมต้องถอยไปตั้งที่อื่น
นับตั้งแต่เกิดกรณีการประท้วงการเผาโรงงานแทนทาลั่มในปี 2529 ซึ่งเป็นเรื่องธุรกิจการเมืองที่ส่งผลน่าเสียดายแกมโล่งใจของคนภูเก็ต
แต่สำหรับนักลงทุน ภาพหลอนนี้ยังคงมีอยู่บ้าง
แม้กระทั่งโรงงานยางเก่าแก่อายุ 20 ปี ชื่อ "ภูเก็ตทองสิน" ของตระกูลอุปัติศฤงค์
เองก็ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านให้ย้ายโรงงานไปอยู่นอกเมือง เนื่องจากส่งกลิ่นเหม็นและปล่อยน้ำเสียลงลำคลองสู่ทะเล
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็น AWARENESS ของคนภูเก็ตที่มีต่อสิ่งแวดล้อมแข็งแกร่งมาก
แต่ก็ไม่ใช่ว่าอุตสาหกรรมอื่นจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะในปีนี้โรงงานทำรองเท้าส่งออกของตระกูลจิรายุส
ชื่อโรงงานวี. อาร์ ก็เกิดขึ้นมา โดยใช้วัตถุดิบและแรงงานภูเก็ต
ปัจจุบันภูเก็ตมีโรงงาน 294 แห่ง แต่มีโรงงานขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวคือโรงงานถลุงแร่ดีบุกของบริษัท
ไทยซาร์โก้ ซึ่งกิจการมีปัญหากำไรลดลง 80% ในช่วงครึ่งปี 2533 เนื่องจากราคาแร่ตกต่ำลงไทยซาร์โก้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแร่ดีบุก
ด้วยการนำเข้าแร่ดีบุกจากแหล่งผลิตอื่น ๆ เช่นจีน บราซิลและแอฟริกา และขยายสายการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าแร่ด้วยการตั้งโรงงานใหม่ผลิต
TIN-LEAD SOLDERS ซึ่งทำด้วยดีบุกผสมตะกั่ว นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
"เชื่อเถอะว่า โรงถลุงแร่ดีบุกไทยซาร์โก้ ก็คงต้องเปลี่ยนไปสร้างโรงแรม
เพราะทำเหมืองอยู่ไม่ได้ ต่อไปการทำเหมืองที่ภาคใต้ก็คงหมดไปในเวลาอันใกล้นี้"
อาทร ต้องวัฒนา ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ตคาดการณ์
นอกนั้นเป็นโรงงานขนาดเล็ก ๆ ที่สนองตอบการอุปโภคบริโภคในอุตสาหกรรมบริการ
เช่นอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ซ่อมต่อรถยนต์ ซ่อมเครื่องจักร ซักรีดเสื้อผ้า ทำขนมจีน
เส้นหมี่ โรงสีข้าว กะเทาะเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ โรงงานปลาป่น ปลากระป๋อง
ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางของสินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้ามาสนองตอบนักท่องเที่ยวปีละล้านคน
และโรงแรมเป็นแหล่งดูดซับโภคภัณฑ์แหล่งใหญ่
พัฒนาการของเกาะภูเก็ตในสายธารของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่นำรายได้มหาศาลถึงหมื่นล้านบาท
เป็นผลิตผลทางการบริการที่เทียบเท่ามูลค่ารายได้การส่งออกอัญมณี และการธำรงอยู่ของภูเก็ตในทศวรรษหน้า
ย่อมขึ้นอยู่กับการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอันงดงามของ "ไข่มุกแห่งอันดามัน"
ให้มีอายุยาวนาน ยกเว้นแต่ในอนาคตภูเก็ตจะมีแร่อัญมณี อันมีค่ายิ่งกว่า เมื่อนั้นคนภูเก็ตก็อาจจะขุดโรงแรมโยนทิ้งทะเลไปเลยก็ได้!?!