Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2533
โฮปเวลล์ หลอกกันเล่นหรือเปล่า?             
โดย ขุนทอง ลอเสรีวานิช
 

 
Charts & Figures

แผนผังแสดงเส้นทางของระบบทั้งหมดโครงการเสนอโดยโฮปเวลล์
เส้นทางที่ซ้ำซ้อนกันของทาง
โครงการสร้างทางรถไฟยกระดับ

   
related stories

ทางรถไฟยกระดับ

   
search resources

โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง
Transportation
โครงการทางรถไฟยกระดับ




บริษัท โฮปเวลล์ลัดฟ้าจากฮ่องกงนำโครงการสวยหรูมูลค่าแปดหมื่นล้านบาท มาเสนอ ให้กับการรถไฟฯ โดยรัฐไม่ต้องควักกระเป๋าสักสตางค์เดียว แต่ขอสิทธิในการพัฒนาที่ดินของ การรถไฟฯ เป็นข้อแลกเปลี่ยน เป็นโครงการที่เป็นความหวังใหม่อีกโครงการหนึ่งของคนเมืองหลวงที่ทุกข์ทนกับปัญหาการจราจรอันแสนสาหัสมานานปี เสียงเชียร์จึงหนาแน่นโดยไม่ต้องใช้หน้าม้า แต่ก็ไม่อาจกลบเสียงทักท้วงด้วยความคลางแคลงใจว่า โครงการนี้เป็นได้แค่ปาหี่ที่เข้ามา หาผลประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแบบจับเสือมือเปล่า !!??

โครงการสร้างทางรถไฟยกระดับของโฮปเวลล์นี้เป็นโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุน ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมูลค่าสี่หมื่นล้านบาทที่นับว่าใหญ่แล้วยังมีขนาดเพียงครี่งหนึ่งของโครงการนี้

โครงการขนาดใหญ่แบบนี้แต่ใช้เวลาดำเนินการอย่างรอดเร็วเพียงเก้าเดือนก็ได้ตัวผู้ลงทุน และผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี แบบวิ่งม้วนเดียวจบ ในขณะที่โครงการรถไฟฟ้ายืดเยื้อกันมาถึงสี่ปีกว่า จนบัดนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะลงมือก่อสร้างกันได้เมื่อไร

ความฉับไวของการเดินเรื่องเช่นนี้เป็นสิ่งที่นอกเหนือความคาดหมายจากประสบการณ์ในความล่าช้าของระบบราชการ แต่กลับกลายเป็นที่มาแห่งข้อกังขาว่าจะต้องมีผลประโยชน์ก้อนใหญ่หล่นใส่ฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นแน่!!

"จะพูดว่าเร็วไม่ได้ เราใช้เวลาตั้งเก้าเดือน" แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของการรถไฟฯกล่าว

ความแตกต่างจากโครงการรถไฟฟ้าของการทางฯ ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการรถไฟยกระดับของการรถไฟฯ เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วคือ โฮปเวลล์เป็นรายเดียวที่เสนอตัวเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ จึงตัดปัญหาที่จะต้องมานั่งคัดเลือกผู้ชนะอีกขั้นตอนหนึ่ง

อีกประการหนึ่งก็คือ การประมูลครั้งนี้กระทรวงคมนาคมใช้เงื่อนไขที่ผ่อนปรนมาก ในประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจเสนอโครงการมานั้นเพียงแต่ระบุเส้นทางและรูปแบบของโครงการเป็นเงื่อนไขหลักเท่านั้น โดยกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาหาผู้ชนะจากรายละเอียดโครงการพร้อมแผนงานและผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้ลงทุนเสนอมาเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ในปี 2532 การรถไฟแห่งประเทศไทยเคยประกาศเชิญชวนหาผู้ลงทุนมาแล้วสองครั้ง แต่ไม่มีใครยื่นข้อเสนอมาเลย เพราะเป็นการลงทุนที่สูงแต่ว่าผลตอบแทนไม่คุ้มค่า

กระทั่งมนตรี พงษ์พานิชรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกระโดดลงมาเล่นเองโดยสั่งให้ศรีภูมิ สุขเนตร ปลัดกระทรวงเป็นคนดำเนินการในเรื่องนี้ ให้ตัวแทนจากการรถไฟฯมีบทบาทเพียงแค่กรรมการคนหนึ่งเท่านั้น พร้อมกับแก้ไขเงื่อนไขในการลงทุนเสียใหม่

"สองครั้งที่ผ่านมาไม่มีใครยื่นเลย เพราะว่าเราไม่ได้ให้สิทธิพิเศษอะไรมาก เราไม่ได้ให้รถไฟชุมชน ไม่ได้ให้ทางด่วน ให้ยกทางรถไฟที่มีอยู่แล้วขึ้นมาเฉย ๆ ที่ดินก็ให้ไม่มากให้เฉพาะปลายทางเท่านั้น" แหล่งข่าวจากการรถไฟฯ เปิดเผยถึงเงื่อนไขการประมูลที่แตกต่างกัน

สาระสำคัญในประกาศเชิญชวนจากกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2532 นั้นกำหนดให้ผู้ลงทุนสร้างระบบซึ่งประกอบด้วยทางรถไฟยกระดับสำหรับขบวนรถของการรถไฟแห่งประเทศไทยและขบวนรถไฟชุมชน (COMMUNITY TRAIN) รวมทั้งทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ โดยทางรถไฟอยู่บนชั้นที่ 1 และทางด่วนเป็นชั้นที่ 2 มีระยะทางรวมกัน 23.3 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นสี่เส้นทางคือ

-สายกรุงเทพ - บางซื่อ ระยะทาง 7 กม.

-สายยมราช - มักกะสัน ระยะทาง 3.4 กม.

-สายมักกะสัน - แม่น้ำ / ท่าเรือ ระยะทาง 3.3 กม.

-สายมักกะสัน - หัวหมาก ระยะทาง 9.6 กม.

นอกจากนี้ ยังให้สิทธิผู้เสนอโครงการสามารถสร้างทางยกระดับเพิ่มเติมได้อีกคือ

-สายบางซื่อ - รัชดา - คลองตัน ระยะทาง 15.7 กิโลเมตร

-สายบางซื่อ -บางเขน ระยะทาง 6 กิโลเมตร

-สายบางซื่อ - ตลิ่งชัน - ธนบุรี ระยะทาง 20.8 กิโลเมตร

-เส้นทางอื่น ๆ ในเขตทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย

โดยการรถไฟฯ จะมอบสิทธิในการจัดหาผลประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟฯ ใน 4 บริเวณคือ บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงพื้นที่ 4.5 ไร่ บริเวณบ้านพักสามเหลี่ยมจิตรลดาพื้นที่ 40 ไร่ ชุมชนตึกแดง บางซื่อ 120 ไร่ และบ้านพักนิคมมักกะสัน 83 ไร่

รวมพื้นที่ทั้งหมด 247.5 ไร่ ซึ่งล้วนแต่เป็นที่ดินผืนใหญ่ในทำเลทองของกรุงเทพฯ ที่หาไม่ได้อีกแล้ว โดยมีระยะเวลาของสัมปทาน 30 ปี และมีสิทธิต่ออายุออกไปได้อีก 3 ครั้ง ครั้งแรก 8 ปี และสองครั้งหลังครั้งละ 10 ปี รวมอายุสัมปทานทั้งหมดถึง 58 ปี

"เราเป็นผู้กำหนดเองว่าต้องการอะไร ลักษณะของระบบจะมีอะไรบ้าง และจะให้ผลตอบแทนอะไรบ้าง" แหล่งข่าวในการรถไฟฯ เปิดเผย

แต่รายงานข่าวจากนิตยสารฟาร์อีสเทอร์น อิโคโนมิครีวิวเมื่อปลายเดือนที่แล้วอ้างแหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ของโฮปเวลล์ว่า ทางโฮปเวลล์เองเป็นผู้เสนอแนวความคิดนี้ให้กับกระทรวง คมนาคมโดยตรงเมื่อเดือนสิงหาคม 2532 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงคมนาคมไปผลักดันให้โครงการเป็นจริง ซึ่งกระทรวงคมนาคมก็ออกประกาศเชิญชวนหาผู้สนใจเข้ามาลงทุนในอีกหนึ่งเดือนถัดมา

แหล่งข่าวในธุรกิจเรียลเอสเตทคนหนึ่งเปิดเผยว่าโฮปเวลล์เดินเรื่องโดยผ่านคนใกล้ชิดของมนตรี พงษ์พานิช คนหนึ่งคือ อนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการบริษัทไทยเดินเรือทะเล ปัจจุบันดำเนินกิจการชื่อบริษัท CONTAINER AND TRANSPORTATION INTERNATIONAL) และบริษัท ASS อนุศักดิ์ มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจอยู่ในฮ่องกงด้วย การเดินทางไปฮ่องกงบ่อย ๆ ในช่วงปีที่แล้วของเขา มีภาระกิจสำคัญอันหนึ่งแฝงอยู่ด้วยนั่นคือการไปพบกับกอร์ดอน วู เจ้าของบริษัทโฮปเวลล์

และนี่เองที่เป็นสาเหตุที่กระทรวงคมนาคมเข้ามาจับเรื่องนี้โดยตรง จากเดิมที่เคยปล่อยให้การรถไฟฯ ดำเนินการเอง บทบาทของการรถไฟฯ ในครั้งนี้คือการรับคำสั่งจากกระทรวงคมนาคมเพียงอย่างเดียวว่าจะให้ทำอะไรบ้าง

ในเมื่อโครงการนี้ก็คือแนวความคิดของตัวเอง เพียงแต่จัดฉากให้เรื่องราวดำเนินไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีโฮปเวลล์รายเดียวเท่านั้นซึ่งเสนอตัวเข้ามาลงทุน

ประเทศไทยในยุคที่กำลังเร่งรัดการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ทันกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนมากขึ้น วิธีการเพื่อให้ได้โครงการมาทำของภาคเอกชนนอกจากการแข่งขันกันในการประมูลแล้ว อีกช่องทางหนึ่งคือการเสนอแนวความคิดการลงทุนใหม่ ๆ ให้กับหน่วยงานเจ้าของเรื่องเพื่อประกาศเป็นโครงการลงทุนออกมา ซึ่งเป็นเรื่องแน่นอนว่า ลักษณะโครงการย่อมไปเป็นตามสิ่งที่อยู่ในหัวสมองของผู้เสนอไอเดียอยู่แล้ว โอกาสที่จะได้งานมาโดยไม่มีคู่แข่งจึงเป็นเรื่องไม่พลาด

โครงการขององค์การโทรศัพท์ หรือการสื่อสารแห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคมบางโครงการดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ โครงการทางรถไฟยกระดับของโฮปเวลล์ก็ดำเนินไปในลักษณะเดียวกัน

มนตรีเสนอโครงการนี้เข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ก่อนหน้านั้น บรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นต้นสังกัดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เจ้าของโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแสดงท่าทีอย่งชัดเจนว่าจะคัดค้านโครงการนี้ในครม. จนมีแนวโน้มว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคชาติไทยกับกิจสังคม แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ มีเพียงพิสิษฐ ภัคเกษม เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคนเดียวคัดค้านในประเด็นความซ้ำซ้อนกับโครงการขนส่งมวลชนอื่น ๆ และความเหมาะสมในการลงทุน แต่คณะรัฐมนตรีก็อนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงคนมาคมในที่สุด

"คุณมนตรีเขาเป็นมวยมากขึ้นคุยกับนายกฯ ชาติชายเรียบร้อยแล้วก่อนที่จะยื่นเข้าครม. เรื่องก็เลยผ่านฉลุย" แหล่งข่าวรายเดียวกันเปิดเผย

มนตรีออกมาตอบโต้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์จากโครงการนี้ว่าการรถไฟฯได้ทางยกระดับมูลค่าแปดหมื่นล้านบาทมาฟรีๆ โดยไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดีย วและยังได้ผลประโยชน์จากการพัฒนาที่ดินที่โฮปเวลล์จะจ่ายให้อีกห้าหมื่นล้านบาทด้วย ส่วนเรื่องความเป็นไปได้ของโครงการนั้น มนตรีบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลเพราะโฮปเวลล์เป็นผู้รับความเสี่ยงเอง

โครงการของโฮปเวลล์ใช้ชื่อว่า RAMTUFS ซึ่งย่อมาจาก RAILWAY / MASS TRANSIT (COMMUNITY TRAIN) & URBAN FREEWAY SYSTEM หรือทางรถไฟทางด่วนในเมืองและระบบขนส่งชุมชน

รูปแบบของ AMTUFS นี้รวมเอาทางรถไฟ ทางด่วนและระบบขนส่งชุมชนอยู่บนโครงสร้างเดียวกัน โดยซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ชั้นที่หนึ่งจะเป็นส่วนของร้านค้า ทางรถไฟจะยกระดับขึ้นไปอยู่บนชั้นที่สองซึ่งจะเป็นทางรถไฟธรรมดาตรงกลาง สองข้างจะเป็นรางของรถไฟชุมชนซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนในเมืองชั้นที่สามจะเป็นทางด่วนสำหรับรถยนต์

ระบบรถไฟชุมชนจะเก็บค่าโดยสารจากผู้โดยสารในอัตราเพียง 0.60 บาทต่อหนึ่ง กิโลเมตรในะระยะปีที่ 1 - 6 หลังจากนั้นจะปรับราคาขึ้นไปเป็นระยะทางจนถึง 1.20 บาทต่อกิโลเมตร ในปีที่ 20

ส่วนค่าทางด่วนนั้น ปีที่ 1 - 6 เก็บในอัตรา 1.25 บาทต่อหนึ่งกิโลเมตรและเพิ่มขึ้นไปจนถึง 2.5 บาทต่อหนึ่งกิโลเมตรและเพิ่มขึ้นไปจนถึง 2.5 บาทต่อกิโลเมตรในปีที่ 20 สำหรับรถเก๋ง

เส้นทางของ RAMTUFS มีความยาวรวมกัน 60.1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นข้อเสนอของโฮปเวลล์เองที่จะสร้างเพิ่มเติมจากที่การรถไฟ ฯ กำหนดไว้เพียง 23.3 กิโลเมตร ซึ่งแบ่งออกเป็นเส้นทางหลักตามความต้องการของการรถไฟ ฯ ยาว 18.8 กิโลเมตร ระยะที่สามเป็นเส้นทางเพิ่มเติมที่โฮปเวลล์เสนอเองยาว 7 กิโลเมตร ระยะที่สี่และห้าเป็นเส้นทางเพิ่มเติมที่อยู่นอกเขตสงวนของการรถไฟยาว 15.8 กิโลเมตร

เส้นทางทั้งหมดจะเสร็จภายในแปดปีนับจากวันที่สัญญามีผลบังคับ ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท

โฮปเวลล์เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับการรถไฟ โดยแบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการจัดประโยชน์ซึ่งจะจ่ายให้ทันทีในวันที่เซ็นสัญญา 300 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนรายปี ระหว่างปีที่ 1-18 เป็นเงิน 3,800 ล้านบาท ปีที่ 9-23 เป็นเงิน 13,950 ล้านบาท และปีที่ 24 จนสิ้นอายุสัมปทานเป็นเงิน 36,060 ล้านบาท

รวมเป็นเงินที่การรถไฟ ฯ จะได้รับทั้งสิ้น 54,110 ล้านบาท นอกจากนั้นยังต้องก่อสร้างอาคารที่ทำการของการรถไฟ บ้านพักพนักงานและโรงพยาบาลรถไฟทดแทนอาคารเดิมที่ต้องรื้อถอนไปเมื่อโฮปเวลล์เข้าพัฒนาที่ดินของการรถไฟ ฯ ด้วย

ถ้าโครงการของโฮปเวลล์เป็นไปตามแผนแล้วจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของลาวาลินเป็นอย่างมาก โครงการของลาวาลินนั้นเป็นระบบในเมืองประกอบด้วยเส้นทางสองสายคือ สายพระโขนง- บางซื่อ ระยะทาง 11 กิโลเมตร และสาย สาธร-ลาดพร้าว ระยะทาง 23 กิโลเมตร เปรียบเทียบกับเส้นทางรถไฟของโฮปเวลล์แล้ระบบรถไฟชุมชนยาวกว่าและไปไกลถึงชุมชนชานเมืองกรุงงเทพ

เส้นทางสายเหนือของโฮปเวลล์ในระยะที่ 1 นั้นไปไกลถึงดอนเมือง และในระยะที่สามของการก่อสร้างจะขยายไปถึงรังสิตซึ่งกำลังกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญในการขยายตัวของเมืองหลวงไปสู่ทางเหนือ ในขณะที่รถไฟฟ้าของลาวาลินไปไกลถึงบางซื่อเท่านั้น

เส้นทางสายตะวันออกของโฮปเวลล์ไปไกลถึงหัวหมาก ในขณะที่ลาวาลินไปแค่พระโขนง จุดแตกต่างที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือเส้นทางรถไฟยกระดับนั้นข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฝั่งธนบุรีถึงสามจุด แต่โครงการรถไฟฟ้าอยู่เฉพาะฝั่งกรุงเทพเท่านั้น ถึงแม้ในเส้นทางที่การทางพิเศษวางไว้จะขยายเส้นทางจากสาธรข้ามแม่น้ำไปวงเวียนใหญ่ และจากนางเลิ้งไปที่ดาวคะนอง แต่ทั้งสองสายนี้เป็นโครงการในระยะที่สองซึ่งยังไม่มีวี่แววว่าจะเริ่มต้นกันได้เมื่อไร

ลาวาลินนั้นเคยเสนอเส้นทางที่เป็นทางเลือกจากเส้นทางเดิมที่การทางพิเศษฯ วางแนวไว้แล้ว คือในสายพระโขนง-บางซื่อ เส้นทางของการทางพิเศษ ฯ ช่วง จากหัวลำโพงจะเลียบไปตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมจนไปถึงเทเวศน์แล้ววกขึ้นเหนือไปตามแนวถนนสามเสน ลาวาลินเสนออีกเส้นทางหนึ่งจากหัวลำโพงเมื่อมาถึงสะพานขาวจะตัดขึ้นไปตามแนวถนนพระรามหกขนานไปดับทางรถไฟและทางด่วนขั้นที่สอง

"แถวสามเสนนั้นมีแต่ค่ายทหาร แต่ว่าถนนพระรามหกนั้นมีสถานที่ราชการ โรงพยาบาล ซึ่งจะมีผู้โดยสารมากกว่า" แหล่งข่าวจากลาวาลินพูดถึงเหตุผลในการเสนอเส้นทางใหม่

แต่เมื่อเกิดโครงการโฮปเวลล์ขึ้น เส้นทางใหม่ของลาวาลินจะไปทับกับเส้นทางสายหัวลำโพง-บางซื่อ ทำให้ลาวาลินกลับไปใช้เส้นทางเดิม

เส้นทางของโฮปเวลล์ซึ่งมีเครือข่ายที่กว้างกว่าทำให้ลาวาลินพยายามปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ บุรินทร์ บริบูรณ์ ผู้ประสานงานคนหนึ่งของลาวาลินยอมรับว่าโครงการของโฮปเวลล์เป็นตัวแปรที่สำคัญของโครงการรถไฟฟ้า จึงต้องเสนอให้เปลี่ยนเส้นทางโดยเริ่มต้นจากบางนามุ่งตรงเข้าสู่สีลม และขยายเส้นทางออกไปให้ไกลถึงรังสิต วงเวียนใหญ่

แต่เหมือนลาวาลินจะเหลือเวลาน้อยเต็มทีแล้วที่จะขอเปลี่ยนแปลง เพระกำลังเดินมาถึงขั้นตอนสุดท้ายที่จะเซ็นสัญญา การเปลี่ยนเส้นทางใหม่นั้นต้องใช้เวลาศึกษาและจะมีผลต่อเงินลงทุนด้วย

อัตราค่าโดยสารของรถไฟชุมชนในโครงการของโฮปเวลล์เป็นข้อได้เปรียบเหนือ ลาวาลินอีกข้อหนึ่ง โฮปเวลล์กำนดค่าโดยสารในช่วง 1-6 ปีแรกกิโลเมตรละ 60 สตางค์ ลาวาลินเก็บ 11 บาทต่อเที่ยว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจากระยะทางที่ใกล้เคียงกันแล้วค่าโดยสารของโฮปเวลล์ถูกว่าลาวาลิน 25%

"ถ้าลาวาลินรู้ว่าจะมีโครงการโฮปเวลล์เกิดขึ้นคงไม่มานั่งเสียเวลา เสียเงินทองเพื่อให้ได้โครงการนี้มาทำหรอก" คำพูดเช่นนี้ของนักธุรกิจกระดับชาติคนหนึ่งสะท้อนถึงอนาคตของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินว่าไม่สดใสเท่าใดนัก

ระบบขนส่งมวลชนในโลกนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นโครงการที่ขาดทุนเพราะลงทุนสูง ในขณะที่รายได้ถูกจำกัดไว้ด้วยค่าโดยสารราคาถูก แต่กรุงเทพฯ กำลังจะมีระบบขนส่งมวลชนถึงสองระบบเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน โอกาสที่ทั้งสองระบบจะขาดทุนจึงมากกว่าปกติ และลาวาลินมีอัตราเสี่ยงสูงกว่าโฮปเวลล์หลายเท่าตัว

รายได้ของลาวาลินมาจากค่าโดยสารเป็นหลัก แม้จะได้สิทธิประโยชน์ในการพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีก็เป็นที่ดินผืนเล็ก ๆ ส่วนโฮปเวลล์นั้นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงในการเข้ามาสร้างทางรถไฟ ๆ ยกระดับครั้งนี้คือการพัฒนาที่ดินผืนใหญ่ของการรถไฟฯ สามารถนำรายได้จากการพัฒนาที่ดินนี้ไปชดเชยการขาดทุนจากระบบขนส่งมวลชนได้

"โฮปเวลล์ไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ความคุ้มทุนของตัวระบบขนส่งมวลชนเหมือนลาวาลิน เขาจึงเสนอเงื่อนไขเก็บค่าโดยสารในราคาถูกและสร้างทางได้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าในแต่ละเส้นทาง ระบบของโฮปเวลล์เป็นแค่เงื่อนไขที่จะให้ได้ที่ดินมาเท่านั้น "แหล่งข่าวจาก ลาวาลินให้ข้อคิด

ถ้าลาวิลินต้องขาดทุนจากโครงการรถไฟฟ้าแล้ว ไม่ใช่เรื่องของลาวาลินเพียงฝ่ายเดียวที่จะต้องแบกรับภาระอย่างที่หลาย ๆ คนคิด เพราะเงื่อนไขการลงทุนในโครงการนี้ข้อหนึ่งคือรัฐบาลจะต้องลงทุนร่วมด้วย 25% ของทุนจดทะเบียนบริษัทที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการโครงการนี้ หรือเป็นเงิน 2,640 ล้านบาท การขาดทุนของลาวาลินจะทำให้รัฐบาลมีภาระทางการเงินส่วนหนึ่งด้วย

โครงการรถไฟยกระดับของโฮปเวลล์ซึ่งมีระบบทางด่วนรวมอยู่ด้วยยังมีผลกระทบต่อโครงการทางด่วนขั้นที่สองวของการทางพิเศษฯ อย่างมากด้วย เพราะมีเส้นทางที่ซ้ำซ้อนกันเกือบทั้งหมดในเส้นทางสายเหนือจากแจ้งวัฒนะมาถึงหัวลำโพงและสายตะวันออกช่วงมักกะสันไปถึงหัวหมากด้วย

สัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่สองระบุไว้ว่า หากมีการสร้างเส้นทางใหม่ที่ซ้ำซ้อนกับเส้นทางเดิมจนทำให้ปริมาณการจราจรที่จะเก็บค่าผ่านทางต้องลดลงแล้ว รัฐบาลจะต้องให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้รับสัมปทานด้วย

ผลกระทบจากโครงการรถไฟยกระดับของโฮปเวลล์ที่อาจจะทำให้โครงการรถไฟฟ้าและทางด่วนขั้นที่สองขาดทุน จึงไม่ใช่ปัญหาของเอกชนที่เข้ามาลงทุนในสองโครงการนี้เพียงฝ่ายเดียวอย่างที่คิดกันแต่จะเป็นภาระทางการเงินของรัฐบาลด้วยในอนาคต

ถึงแม้โครงการรถไฟยกระดับของโฮปเวลล์จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้ว และกรมอัยการกำลังตรวจสัญญาก่อนที่จะมีการเซ็นกันอย่างเป็นทางการซึ่งหมายความว่าโครงการนี้เกิดแน่ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยต่อความเป็นไปได้ของโครงการนี้

"ผมว่าเขาฝันหวาน ดูกันให้ดี ๆ ก็แล้วกันว่าโฮปเวลล์จะกลายเป็น HOPELESS หรือไม่" แหล่งข่าวในวงการธุรกิจรายหนึ่งให้ความเห็น

การตั้งข้อสังเกตต่อโครงการของโฮปเวลล์ครั้งนี้เป็นเพราะเชื่อกันว่ายังไม่มีการศึกษาในรายละเอียดของการก่อสร้างว่าจะทำได้ตามแผนหรือไม่ แต่ผู้บริหารระดับสูงของการรถไฟฯ ท่านหนึ่งยืนยันว่า ก่อนที่จะเสนอโครงการนี้เข้ามา โฮปเวลล์ได้ส่งทีมงานเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้าง มีการว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาด้วย

"เขาทำ CONCEPTUAL DESIGN มาพอสมควรไม่ใช่เสนอขึ้นมาลอย ๆ มีการศึกษาความเป็นไปได้" แหล่งข่าวเปิดเผยแต่ปฏิเสธที่จะแสดงผลการศึกษาของโฮปเวลล์

ประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการก่อสร้างที่มีการพูดถึงกันมากคือ ในระบบของโฮปเวลล์นั้นมีทางด่วนอยู่ชั้นบนสุดซึ่งมีความสูงราว 12 เมตร การที่รถยนต์จะวิ่งขึ้นลงนั้นต้องใช้ทางขึ้นลงที่มีความยาวมากซึ่งจะต้องใช้พื้นที่ที่เกินออกไปจากเขตของทางรถไฟ อาจจะมีปัญหาในการเวนคืนที่ของเอกชนด้วยและในช่วงที่ต้องผ่านพระราชตำหนักจิตรลดารโหฐานนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างให้สูงถึงขนาดนั้น

"เราคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย และได้บอกให้เขารู้แล้วด้วย" แหล่งข่าวจากการรถไฟพูดสั้น ๆ ถึงทางออก และเปิดเผยว่า ทางรถไฟยกระดับนั้นจะยกระดับเฉพาะจุดที่ตัดกับถนนเท่านั้น ช่วงที่ไม่ใช่จุดตัดไม่จำเป็นต้องยกรางรถไฟให้สูงขึ้นมาก็ได้ "ผมว่าเรื่องเทคโนโลยีไม่มีปัญหา ตึกสูง ๆ เขายังทำได้เลย"

แหล่งข่าวจากสภาพัฒน์รายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงคมนาคมในยุคนนี้มีท่วงทำนองการอนุมัติโครงการลงทุนใหญ่ ๆ แบบผลักดันให้มีการอนุมัติก่อน ปัญหาที่จะตามมาค่อยไปว่ากันทีหลัง ดังตัวอย่างโครงการทางยกระดับดินแดง-ดอนเมืองของบริษัท ดอนเมืองโทลเวย์ที่เซ็นสัญญากันไปเมื่อปีที่แล้ว ยังอยู่ในสภาพลูกผีลูกคน

โครงสร้างทางการเงินเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีคำถามว่าโฮปเวลล์จะมีรูปแบบการหาเงิน 80,000 ล้านบาทมาได้อย่างไร

"เราบับคับเพียงว่าทุนจดทะเบียนต้องไม่ต่ำกว่าหกพันล้านบาท ส่วนที่เหลือนั้นไม่ได้บังคับว่าจะหามาอย่างไร" แหล่งข่าวจากการรถไฟพูดถึงเงื่อนไขทางการเงิน

โฮปเวลล์มีแผนการในเบื้องต้นว่าเงินลงทุนที่จะใช้ในโครงการนี้นั้นเป็นเงินทุน 1 ส่วนคือ 20,000 ล้านบาท และใช้เงินกู้ 3 ส่วน 60,000 ล้านบาทซึ่งจะเป็นเงินจากตลาดเงินในประเทศไทย 30,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกู้จากต่างประเทศ

การใช้เงินกู้ในประเทศในสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของเงินกู้ทั้งหมด ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะดูดเงินออกจากตลาดเงินในประเทศไทยมากเกินไปจนมีผลต่อโครงการลงทุน และธุรกิจของภาคเอกชนซึ่งเป็นข้อวิจารณ์ที่มีผลอย่างสำคัญต่อโครงการรถไฟฟ้าของกลุ่มเอเชีย ยูโร คอนซอร์เตี้ยม (เออีซี) มาแล้ว

"เออีซีเสนอใช้เงินบาทเป็นจำนวน 12,500 ล้านบาทในโครงการรถไฟฟ้า แต่ของ โฮปเวลล์ ใช้ถึง 30,000 ล้านบาท ผมอยากรู้ว่า จะมีใครพูดว่าตลาดเงินในประเทศจะกระทบกระเทือนเหมือนที่พูดต่อโครงการของเออีซีหรือไม่" ไมเคิล อีตัน ผู้ประสานงานของเออีซีกล่าว

ธนาคารกรุงเทพเป็นที่ปรึกษาการเงินในประเทศของโครงการนี้ และเป็นผู้ออก BID BOND 1,500 ล้านบาทให้กับโฮปเวลล์ตอนยื่นประมูล หากโฮปเวลล์ไม่สามารถก่อสร้างได้รัฐบาลจะไม่คืนเงินจำนวนนี้

โฮปเวลล์มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการในฮ่องกง จีนและฟิลิปปินส์ถึงแม้ว่าจะเป็นการลงทุนร่วมแต่ก็ต้องใช้เงินมหาศาล การระดมเงินจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในโครงการรถไฟยกระดับจึงยังเป็นข้อสงสัยว่าจะสำเร็จหรือไม่

INTERNATIONAL GERALD TRIBUNE วันที่ 19 มิถุนายน 1990 รายงานว่า โฮปเวลล์กำลังวางแผนออก CONVERTIBLE BOND มูลค่าสี่พันล้านเหรียญฮ่องกงขายให้กับผู้ถือหุ้นปัจจุบัน และอาจจะนำบริษัท HOPEWELL CONSTRUCTION ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างวในเครือที่เป็นผู้บริหารโครงการรถไฟยกระดับนี้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเพื่อระดมทุนเข้ามาใช้

เมื่อปีที่แล้วโฮปเวลล์พยายามออกพันธบัตรมูลค่า 3.86 พันล้านเหรียญสหรัฐในฮ่องกงเพื่อใช้ในโครงการลงทุนที่จีน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมินขึ้นเสียก่อน ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจในอนาคตของการลงทุน

แหล่งเงินทุนที่สำคัญของโฮปเวลล์จะมาจากรายได้การพัฒนาที่ดินของการรถไฟ ธุรกิจดั้งเดิมและยังคงเป็นกิจการที่เป็นหัวใจของโฮปเวลล์นั้นคือการพัฒนาที่ดิน การเสนอโครงการทางรถไฟยกระดับนั้นจุดประสงค์ จริง ๆ คือสิทธิประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟ

แผนการพัฒนาอสังหาริมทรพัย์ของโฮปเวลล์บริเวณหัวลำโพงจะเป็นศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน พื้นที่สามเหลี่ยม…

ให้ชัดเจน ถ้าให้พัฒนาที่ดินก่อนแล้วค่อยสร้างทางรถไฟผมก็ทำได้ ไม่ต้องให้โฮปเวลล์หรอก" ข้อสังเกตจากแหล่งข่าวในวงการพัฒนาที่ดินรายหนึ่งคือสิ่งที่กำลังถูกจับตามองว่า กระทรวงคมนาคมและการรถไฟจะรู้เห็นเป็นใจให้โฮปเวลล์เข้ามาหลอกหาประโยชน์จากที่ดินแบบจับเสือมือเปล่าหรือไม่

ผู้บริหารระดับสูงของการรถไฟฯ ยืนยันว่าข้อสังเกตนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ "สัญญาต้องผ่านกรมอัยการ กรมอัยการต้องรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน เราก็ต้องรักษา สัญญาของการรถไฟไม่เคยให้ใครได้เปรียบหรอก"

ในสัญญาที่ร่วมร่าง…

บ้านพัก ที่ทำการรถไฟ โรงพยาบาลซึ่งโฮปเวลล์ต้องสร้างใหม่ให้ด้วย กว่าจะรื้อถอน กว่าจะสร้างเสร็จใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองสามปี แต่เขาต้องสร้างทางรถไฟฯให้เสร็จ ตามเวลาในสัญญาถ้าสร้างไม่เสร็จเราขอที่คืนได้ ในสัญญาบังคับไว้หมดไม่มีทางที่จะพัฒนาที่ดินก่อนที่จะสร้างทางได้" แหล่งข่าวจากการรถไฟฯ อธิบาย

การรถไฟฯ เองยอมรับว่าโฮปเวลล์ต้องอาศัยรายได้จากการพัฒนาที่ดินมาลงทุนในโครงการด้วยจึงให้สิทธิหาประโยชน์ในที่ดินเป็นระยะ ๆ แทนที่จะให้สร้างทางเสร็จทั้งหมดแล้วค่อยยกที่ดินให้

"ถ้าบังคับให้สร้างทางทั้งหมดก่อนแล้วค่อยพัฒนา เขาจะเอาเงินที่ไหนมาทำ เราให้เขาพัฒนาที่ดินเพื่อเอาเงินมาช่วย ถ้าไปบังคับว่าสร้างทางยกระดับเสร็จในแปดปีแล้วค่อยมาพัฒนาที่ดินบริษัทไหนก็เจ๊ง"

ในยุคที่ธุรกิจพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์กำลัง "ร้อน" สุดขีด กรุงเทพฯ คือขุมทองใหญ่ในย่านเอเชีย-แปซิฟิคที่มีศักยภาพการพัฒนาที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้าสูงสุดแห่งหนึ่ง โครงการรถไฟยกระดับนี้นับว่ามีฐานการเงินที่แน่นหนา

แต่การหวังพึ่งพิงรายได้จากการพัฒนาที่ดินมากเกินไปเป็นความเสี่ยงอีกด้านหนึ่ง ถ้าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจตกต่ำ กรุงเทพฯ ก็อาจจะมีทางลอยฟ้าลอยค้างอยู่กลางอากาศเพียงครึ่งทางเป็นอนุสรณ์ก็เป็นได้ ถึงเวลานั้นแล้วคนที่มีส่วนผลักดันโครงการนี้ออกมาอาจจะลงจากเก้าอี้ไปแล้วปล่อยให้คนที่รับช่วงต่อแก้ปัญหาเอาเอง

ปัญหาการจราจรติดขัดที่รุนแรงขึ้นทุกวันทำให้โครงการรถไฟยกระดับของโฮปเวลล์กลายเป็ความหวังใหม่ของคนกรุงเทพ ประเด็นที่ว่าเส้นทางของโฮปเวลล์จะซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น ความเป็นไปได้ของโครงการโฮปเวลล์ได้ที่ดินมูลค่ามหาศาลมากกว่าการลงทุนหลายเท่าตัวและผลประโยชน์ก้อนใหญ่จะหล่นใส่ใครบ้างนั้น ในที่สุดแล้วกลายเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญสำหรับคน 8 ล้านคนที่ต้องเสียเวลาอยู่บนท้องถนนวันละหลาย ๆ ชั่วโมง โครงการอะไรของใครก็ได้ที่จะช่วยปัดเป่าความเดือดร้อนนี้ได้เร็วที่สุด อย่าให้เป็นรายการหลอกคนทั้งเมืองก็แล้วกัน !!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us