"หงษ์หยก" เป็นตระกูลเก่าแก่ที่สุดตระกูลหนึ่งของภูเก็ต โดยต้นตระกูลคือหลวงอนุภาษภูเก็ตการผู้เป็นตำนานนายเหมืองใหญ่
แห่งเมืองภูเก็ตด้วยการริเริ่มทำเหมืองสูบเป็นรายแรกในไทยและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจินหงวนในปี
2482 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อนุภาษและบุตรในปี 2485
หลวงอนุภาษภูเก็ตการ เป็นเจ้าของที่ดินสวนมะพร้าวและสวนยางที่ตำบลไม้ขาว
นับพัน ๆ ไร่ โรงงานทำน้ำมันมะพร้าว โรงงานทำสบู่ เรือเดินทะเลชื่อทุ่งคาและยังเป็นเจ้าของเหมืองแร่อีก
6 แห่ง คือ เหมืองที่จังหวัดพังงา 3 แห่งชื่อเหมืองเรือขุดหินลาด เหมืองบางนุ
เหมืองท่าซอ และเหมืองที่ภูเก็ต 2 แห่งคือเหมืองเจ้าฟ้าและเหมืองตีนเล และเหมืองนาสารที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ยิ่งมาในปี พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา ราคาแร่ดีบุกสูงขึ้นหลวงอนุภาษฯได้บูรณะเหมืองเก่าที่ปิดระหว่างสงครามโลกคือเหมืองเบ้อั้ว
ต.กระทู้และเปิดเหมืองใหม่ชี่อเหมืองระเง็ง และขอประทานบัตรเพิ่มอีก 3 แปลงและได้ซื้อที่เหมืองแร่ที่จังหวัดระนองอีก
2 แปลงและมีโรงแต่งแร่ และเมื่อราคาแร่ดีบุกสูงขึ้นในปี 2522 จึงทำให้เกิดการขยายพื้นที่เหมืองแร่เพิ่มขึ้นเช่นเหมืองตีนเป็ดและเหมืองที่ไม้หลา
นอกจากนี้ยังเคยมีคนคิดจะทำเหมืองที่ยะลาแต่ก็ไม่ได้ทำเพราะเหมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
กิจการของตระกูลหงษ์หยกยังมีโรงน้ำแข็งซึ่งเกิดขึ้นเพราะกำลังไฟฟ้าที่บริษัทผลิตขึ้นใช้ทำเหมืองเหลือ
และเมื่อหมดความจำเป็นเพราะบริษัทซื้อไฟฟ้าฯได้แล้วประกอบกับการค้าน้ำแข็งขาดทุนเพราะลูกหนี้ค้างชำระสูง
จึงได้ขายกิจการและที่ดินเกือบ 4 ไร่ให้กับโรงน้ำแข็งทุ่งทองไปเป็นเงิน 3,700,000
บาทในปี 2520
นอกจากนี้ตระกูลหงษ์หยกยังมีโรงกลึง โรงไฟฟ้าท่าเรือคลองจีน ต่อมาตระกูลหงษ์หยกในรุ่นที่สามได้ขยายไปสู่กิจการค้าปลีกปั๊มน้ำมันเชลล์
2 แห่งและบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าและมาสด้า ตลอดจนสนามกอล์ฟแห่งแรกของภูเก็ต
หลวงอนุภาษภูเก็ตการเดิมชื่อ "จินหงวน หงษ์หยก" เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน
เกิดที่ตำบล กะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีบุตรชายหญิงทั้งสิ้น 10
คนคือฮักเหลี่ยง ฮักฮู่ หลุยเจ้ง ฮักจู้ ฮักเอก ฮักหยิน ยู่เป๊ก และยู่อี๋
แต่ผู้ที่มีบทบาทในการบริหารกิจการของตระกูลก็มีฮักเหลี่ยง หรือวิรัชบุตรชายคนโตซึ่งถึงแก่กรรมแล้วและฮักจู้หรือคณิตซึ่งเป็นลูกชายคนที่สามของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ
ต่อมาฮักจู้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมนูญ และในปี 2501 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณิต
พร้อมๆกับพี่ชายคือธนูหรือฮักฮู่ที่เปลี่ยนเป็นชื่อวีระพงษ์ "เขาถือเรื่องโชคลางจึงเปลี่ยนชื่อ"
คนเก่าแก่ในภูเก็ตเล่าให้ฟัง
ปัจจุบัน การบริหารทั้งหมดในเครือบริษัทอนุภาษและบุตร ตกมาถึงทายาทรุ่นหลานซึ่งมี
ภูมิศักดิ์ หงษ์หยกหรือเรียกกันว่า "โอมี่" เป็นกรรมการผู้จัดการบริหารกิจการในบริษัทอนุภาษและบุตรอยู่สืบต่อจาก
ณรงค์ หงษ์หยก ผู้เป็นอา
"โอมี่เป็นชื่อของผมที่พระจีนจากศาลเจ้าพุทธจ๊อที่ข้างตลาดสดตั้งชื่อให้
โดยมาจากคำว่าโอมิโตพุทธซึ่งเป็นภาษาฮกเกี้ยน ถ้าเป็นภาษาจีนกำลังภายในก็เรียก
โอมิโตโฟ พอเป็นภาษาไทยก็เรียกสั้นๆว่าโอมี่" โอมี่เล่าให้ฟัง
โอมี่เป็นลูกชายคนเดียวในหมู่พี่น้อง 6 คนเป็นบุตรที่เกิดจากคณิตและเพ็ญศรี
จบการศึกษามัธยมต้นจากรร.ดาวรุ่งวิทยา และจบปริญญาตรีเกียรตินิยมจากคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย
สหรัฐอเมริกา
โอมี่เคยรับราชการทหารที่สำนักงานปลัดบัญชี กองบัญชาการทหารสูงสุดและเมื่อ
ลาออกจากราชการก็ได้เข้าบุกเบิกกิจการบริษัทตัวแทนขายรถยนต์มาสด้าและฮอนด้าและกิจการปั๊มน้ำมันและสนามกอล์ฟ
"ภูเก็ตคันทรีคลับ"
ในระยะตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมากิจการบริษัทอนุภาษและบุตรซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่ที่ตั้งมานานต้องขาดทุน
เพราะกิจการเหมืองแร่ประสบปัญหาสวนมะพร้าวก็ให้ผลไม่คุ้มกับการลงทุน กิจการหลายอย่างถูกขายไปเช่นโรงน้ำแข็งและโรงกลึง
เพราะหมดความจำเป็น
เหมืองแร่ที่เคยเป็นรายได้หลัก 80-90%ของกิจการทั้งหมด ก็เสื่อมถอยจนกลายเป็นกิจการที่ขาดทุนอยู่เดือนละล้านบาท
การประคับประคองได้ถึงจุดสุดท้ายด้วยการปิดเหมืองเจ้าฟ้าเนื้อที่ 1,500 ไร่ซึ่งเป็นเหมืองสุดท้ายที่เปิดทำเหมืองอยู่หลังจากที่ต้องหยุดกิจการเหมืองทุ่งทองและเหมืองห้วยยอดไปเมื่อต้นปี
2530 ที่ผ่านมา เหมืองเจ้าฟ้าเป็นชื่อที่กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้ประทานชื่อให้เมื่อปี
2463
"อนาคตของเหมืองแร่ในภูเก็ตคงจะจบในเร็วๆนี้ แต่ก่อนเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ภูเก็ตเคยมีเหมืองบนบก
48 แห่งแต่เดี๋ยวนี้เหลือแค่ 3 แห่งและผมจะปิดเหมืองเจ้าฟ้าซึ่งดำเนินการมา
70 ปีในวันสองวันนี้ เพราะทำแล้วไม่คุ้ม เราได้แร่ดีบุกเดือนละประมาณ 40-100
หาบๆละ 60 กิโลกรัม และราคาดีบุกก็ตกต่ำมาตลอด 4 ปีและมีสต็อกเหลือในตลาดอีกมาก"
โอมี่เล่าให้ฟัง
วิกฤติการณ์ของแร่ดีบุกเกิดขึ้นในราวปลายปี 2528-2529 กิจการเหมืองส่วนใหญ่ในภูเก็ตขาดทุนจนต้องปิดเหมืองลงเพราะราคาดีบุกตกต่ำ
สต็อกดีบุกในตลาดโลกมีมาก และตลาดดีบุกที่กัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซียต้องปิดตัว
เมื่อภาวะเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของภูเก็ตเป็นเช่นนี้ ผลกระทบนี้ก็ทำให้ฐานะของตระกูลเริ่มทรุดด้วยปัญหาหนี้สินและปัญหาการบริหารระบบครอบครัวภายในของตระกูลหงษ์หยกเอง
สถานการณ์การทรุดลงของเหมืองแร่ ซึ่งเป็นรายได้หลักเป็นแรงบีบบังคับให้เศรษฐีเก่าภูเก็ตต้องปรัยตัวใหม่
แม้ตระกูลหงษ์หยกจะปรับตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่นด้วยปัญหาภายนอกภายในที่รุมเร้าก็ตาม
ตระกูลหงษ์หยกได้แตกตัวไปสู่กิจการปั๊มน้ำมันโดยโอมี่ได้ติดต่อกับบริษัท
เชลล์แห่งประเทศไทยซึ่งเคยส่งน้ำมันป้อนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของบริษัทฯ เพื่อทำสัญญาดำเนินกิจการปั๊มน้ำมันสองแห่งที่สามแยกถนนสุรินทร์และถนนพังงาในเนื้อที่ประมาณ
2 ไร่ครึ่งทั้งนี้เป็นการร่วมลงทุนกันฝ่ายละหนึ่งล้านบาทเศษ
ด้วยแนวความคิดการพัฒนาผืนแผ่นดินเหมืองแร่และสวนมะพร้าวสวนยางให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจได้โอมี่ได้พัฒนาพื้นที่เหมืองแร่จำนวน
1,500 ไร่ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกชาวบ้านโจมตีว่าการทำเหมืองทำใให้พื้นดินเสียหาย
แต่วันนี้โอมี่ได้พลิกฟื้นเหมือง แต่ที่ทรุดโทรมเหล่านี้ให้กลายมาเป็นสนามกอล์ฟมาตรฐานขนาด
18 หลุมที่เขียวราวกำมะหยี่ภายใต้ชื่อว่า "ภูเก็ต คันทรีคลับ"
เมื่อปี 2530
การทำสนามกอล์ฟของโอมี่ก็เพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูเก็ตซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ปีการท่องเที่ยวไทยในปี
2530 สนามกอล์ฟนี้อยู่ระหว่างทางจากตัวเมืองไปยังหาดป่าตองอันเป็นแหล่งชุมนุมของนักท่องเที่ยว
ทำให้ได้เปรียบทั้งด้านสถานที่และเงินลงทุนที่ต่ำกว่าที่อื่นเพราะไม่ต้องซื้อที่ดินใหม่
แต่ใช้ที่ดินที่ผ่านการทำเหมืองมาแล้วครับ
ความฉลาดในการเจาะช่องทางพัฒนาที่ดินเป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกของเมืองภูเก็ต
ได้นำความสำเร็จและชื่อเสียงมาสู่โอมี่อย่างมาก
"โครงการส่วนมากของบริษัทเราจะหวังผลระยะยาว คือไม่ลงทุนหวือหวาและจะเน้นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
เพราะเราคิดถึงชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลที่เราทำกันมา 50-60 ปีมาแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะลงทุนหรือก้าวไปด้านไหนก็ตาม
เราจึงค่อนข้างช้ากว่ากลุ่มอื่น เพราะเราคิดมากถึงผลกระทบระยะยาวและความรับผิดชอบต่อสังคม"
โอมี่เล่าให้ฟัง
โครงการในอนาคตโอมี่เปิดเผยว่ามีอยู่ 4-5 โครงการ คือโครงการโรงแรมขนาดใหญ่
320-400 ห้องที่มีมูลค่าการลงทุน 1,600 ล้านบาท ที่ชายทะเลหาดไม้ขาวซึ่งเดิมเป็นสวนมะพร้าว
"เราได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว" โอมี่เล่าให้ฟัง
"ขณะนี้เรากำลังออกแบบอยู่ เหตุผลที่ยังช้าอยู่ เพราะจะเข้าหุ้นกับต่างประเทศ
ซึ่งที่น่าเป็นไปได้ก็คือไฮแอท"
ส่วนอีกโครงการหนึ่งก็คือศูนย์การค้าในเมืองซึ่งโอมี่จะพัฒนาที่ดินเก่าของตระกูลให้มีลักษณะเป็น
GARDEN CITY สถานที่ตั้งอยู่ถนนพังงาใกล้บริเวณ บขส.
"สำหรับโครงการบ้านจัดสรรตอนนี้เราชะลออยู่เพราะปัญหาวัสดุก่อสร้างขาดแคลน
และมีผู้จัดสรรรายอื่นอีกมากเราจึงรอจังหวะอยู่" โอมี่เล่าให้ฟัง
วันนี้โอมี่เป็นสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ที่ได้รับการเลือกตั้งถึงสองสมัย
ๆ ละ 5 ปี แล้วนับตั้งแต่เขาได้กระโดดลงมาในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2523
เขาเป็นหัวหน้าทีม "กลุ่มคนหนุ่ม" ที่ครองเก้าอี้ทั้งหมด 18 ที่นั่งในสภาเทศบาลและในวันที่
23 กันยายน นี้ก็ คงรู้ว่าโอมี่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสท. สมัยที่สามหรือไม่?
"ตระกูลนี้เล่นการเมืองท้องถิ่นก็คงเพราะเสียงอ้อนวอนของชาวบ้านไม่ได้
และถือได้ว่าตระกูลที่ช่วยเหลือท้องถิ่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงตั้งแต่รุ่นคุณลุงของเขาคือวิรัชเป็นต้น"
ประสิทธิ์ ชิณกาญจน์ ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต เล่าให้ฟัง
และในปี 2522 ตระกูลหงษ์หยกได้บริจาคที่ดินบริษัทเบอั้วจำนวนประมาณ 70 ไร่
เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนขึ้น จนเป็นที่ยอมรับกันถึงความเป็นเศรษฐีใจบุญของคนในตระกูลนี้
บนบ้านเนื้อที่ 17 ไร่ ที่สนามหญ้าสีเขียวรายล้อมคฤหาสน์โบราณทรงชิโน-โปรตุกีส
ที่สร้างขึ้นในปี 2473 โอมี่กลับเป็นคนหนุ่มฉกรรจ์ที่มีความเรียบง่ายด้วยการแต่งกายเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาวและกางเกงสีน้ำเงิน
สามแว่นกันแดดสีชา
คนหนุ่มวัย 40 ที่เติบโตมากับเหมืองแร่ของตระกูลเก่าแก่ ได้เห็นทั้งความรุ่งโรจน์และเสื่อมสลายของเหมืองแร่ที่คืบคลานสู่ภูเก็ตมาชั่วสามอายุคน
และในวันนี้โอมี่คือนักธุรกิจภูเก็ตรุ่นใหม่ที่พัฒนาแผ่นดินแม่ให้เปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาข้างหน้า