ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำนักหนึ่ง ระบุว่ารัฐบาลสามารถเข้ามามีส่วนสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างสำคัญ
บางทฤษฎียืนยันว่า เศรษฐกิจมีกลไกในตัวที่ควรจะปล่อยให้ดำเนินไปเองตามธรรมชาติ
โดยปราศจากการแทรกแซง ในขณะเดียวกันก็มีทฤษฎีใหม่ ซึ่งถือเอานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทว่าทฤษฎีทั้งหลายเหล่านี้ ไม่อาจปรับใช้กับทุกประเทศได้ ทั้งไม่อาจนำมาใช้อธิบายความเป็นไปในด้านเศรษฐกิจของบางประเทศได้
เพราะ "ลักษณะพิเศษ" ซึ่งแต่ละประเทศต่างก็มีอยู่เป็นการเฉพาะ
ดังกรณีที่เกิดกับประเทศญี่ปุ่นเป็นอาทิ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศญี่ปุ่นดำเนินติดต่อกันมาเป็นปีที่
4 แล้ว ต้นตอของมันอาจจะนับได้ว่า สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยเศรษฐกิจฟองสบู่ในทศวรรษที่
1980 สมัยเมื่อมีการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์กันอย่างหนักหน่วง นโยบายของกระทรวงการคลังซึ่งสอดรับกัน
เปิดทางให้กำหนดระเบียบการให้สินเชื่ออย่างสะดวกในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และดังนั้น
ก็ส่งเสริมให้มีการกู้ยืมเพื่อการซื้อและพัฒนาที่ดินกันเป็นการใหญ่ ราคาบ้าน-อาคาร-ที่ดิน
สูงขึ้นพรวดพราดอย่างผิดธรรมชาติ และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ในขณะที่เงินสะพัดเฟื่องฟูจนเริ่มเฟ้อ
เมื่อถึงที่สุด ฟองสบู่ก็แตก ทุกอย่างก็เริ่มกลับสู่สภาพปกติ การพัฒนาที่ดินชนิดที่มิได้มีการพัฒนา
หากเป็นการเก็งกำไรซึ่งมิได้ก่อให้เกิดผลผลิตใดๆ ขึ้นมา เริ่มส่งผลปรากฏออกมาเป็นที่ดินเปล่าโล่งพร้อมกับหนี้สินในธนาคาร
และดอกเบี้ยที่ผู้กู้ไม่มีปัญญาชำระ ราคาที่ดินตกฮวบ
เมื่อถึงตอนนี้ก็แน่นอนว่า สถาบันการเงินเจ้าของเงินกู้ ย่อมประสบปัญหาเรียกคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยจากผู้ที่ไม่มีปัญญาจะจ่ายได้
หนี้เสียที่เกิดขึ้นกับธนาคาร สหกรณ์สินเชื่อสำหรับธุรกิจรายย่อย สหกรณ์สินเชื่อเพื่อการเกษตร
มีมูลค่าโดยประเมินถึง 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขนี้ชักนำไปสู่คำถามถึงเรื่องการปฏิบัติตามระเบียบการให้สินเชื่อ
และการกำกับควบคุมการปฏิบัติงานของสถาบันการเงินทั้งหลาย ทำนองเดียวกับตอนที่เกิดกรณีของธนาคารไดวาที่สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนระดับย่อยๆ
ให้กับตลาดการเงินสหรัฐอเมริกาเมื่อปีกลายนี้ (ดู "ผู้จัดการ"
ฉบับเดือนธันวาคม 2538) ทว่า คำตอบนั้นมิใช่จะมีเพียงความหละหลวมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
หากยังชี้ไปถึงกลไกในสังคมญี่ปุ่น ถึงการใช้เส้นสายการเห็นแก่หน้าตาชื่อเสียง
ความนับถือเป็นเพื่อนฝูงเครือญาติ
ทั้งนี้ ก็รวมถึงนักเลงหรือยากูซ่า ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในประจำท้องถิ่นต่างๆ
ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นญาติมิตรกับข้าราชการประจำผู้ทรงอำนาจและผู้นำทางการเมืองในระดับต่างๆ
ทั่วทุกลำดับชั้นในสังคมญี่ปุ่น
"ยากูซ่า" พอจะเทียบได้กับ "นักเลง" ในความเข้าใจของคนไทยและภาษาไทย
นักเลงยากูซ่ามีหลายระดับ ในแง่ของอิทธิพลและความเหี้ยมโหด ตลอดจนแบบอย่างการดำเนินชีวิตของแก๊งของกลุ่ม
ก็มีต่างๆ กันไป ปัญหาหนี้เสียส่วนหนึ่ง กล่าวกันว่าสืบเนื่องมาจากลูกหนี้ประเภทยากูซ่า
ซึ่งธนาคารไม่กล้ากระทำการทวงหนี้หรือยึดทรัพย์ สถิติจากนอตยสารบิสเนสวีกระบุว่า
นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 เป็นต้นมา มีการใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้บริหารงานบริษัทและธุรกิจการเงินแล้ว
20 ราย รวมทั้งการสังหารนายธนาคารสุมิโตโมและฮันวาตามแบบฉบับของเจ้าถิ่นยากูว่าด้วย
นักเลงยากูซ่าเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในกระบวนการเกิดหนี้เสีย อันจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ด้วยการเข้ามามีส่วนในการดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัย์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหนี้เสีย
บริษัทอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในข่ายมีอยู่ประมาณ 24 แห่ง ที่สำคัญที่สุดคือ
บริษัทซุเอโน โคซาน (Sueno Kosan) ซึ่งเป็นราชาที่ดินในโอซากาด้วย บริษัทเหล่านี้เป็นผู้กู้รายใหญ่ซึ่งกู้เงินผ่านสถาบันการเงินที่มีการตรวจสอบหละหลวมกว่าธนาคาร
โดยสถาบันการเงินเหล่านี้ ก็จะกู้ยืมธนาคารต่อไป บางครั้งบางคราว สถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางระหว่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับธนาคาร
ก็เป็นบริษัทที่อยู่ในเครือของธนาคารอีกทีหนึ่ง หรือไม่เช่นนั้นก็ก่อตั้งขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการให้สินเชื่อโดยเฉพาะ
ซึ่งส่งผลในเชิงส่งเสริมเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ด้วยพร้อมกัน
ผู้เล่นตัวสำคัญที่มีชื่อเป็นข่าวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์นอกเหนือไปจากนั้น
ก็ได้แก่ ธนาคารคิสุ เครดิต ยูเนียน (Kisu Credit Union บางสื่อเรียกว่า
สหกรณ์สินเชื่อคิสุ หรือ Kisu Credit Co-operative) ในเมืองโอซากา และธนาคารเฮียวโกะ
ในเมืองโกบา ซึ่งทั้งสองธนาคารนี้มีข่าวว่าอาจจะล้มเพราะหนี้เสียท่วมท้นและเป็นที่ถกเถียงกันว่า
รัฐบาลควรจะนำเอาเงินภาษีของประชาชนเข้ามาประคับประคองเอาไว้หรือไม่
ธนาคารอีกแห่งหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจฟองสบู่ คือธนาคารซันวา
(Sanwa) ซึ่งมีข่าวว่า ชักจูงให้ลูกค้าที่เป็นบริษัท กู้ยืมจากตนในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
แล้วนำเงินนั้นไปฝากที่สหกรณ์สินเชื่อคิสุ ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราตลาด
ทั้งธนาคารซันวาและบริษัทตัวกลาง ต่างก็ได้ประโยชน์ และต่างก็รู้ว่า คิสุเองปล่อยกู้อย่างไร้หลักประกันอย่างที่ควร
เช่นให้สินเชื่อมากถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าหลักทรัพย์ที่นำมาใช้ค้ำประกันเงินกู้
เป็นต้น
ในปี ค.ศ.1989 เงินฝากที่คิสุถึง 36 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3 พันล้านดอลลาร์
(75,000 ล้านบาท) มาจากธนาคารซันวา
คิสุและธุรกิจอื่นๆ ที่จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน มิได้อยู่โดดๆ หากยังมีสายสัมพันธ์กับองค์การที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร
ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเสรีประชาธิปไตยแอลพีดี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเสียงข้างมากของญี่ปุ่นมาตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี
ค.ศ.1955 จนกระทั่งปัจจุบัน
องค์การที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่ว่านี้ ก็มีสายสัมพันธ์อยู่กับองค์การนักเลงหรือยากูซ่า
ซึ่งนอกจากจะทำธุรกิจสามัญธรรมดาแล้ว ยังมีกิจกรรมที่ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย
สังคมญี่ปุ่นหนียากูซ่าไปไม่พ้น การเมืองของญี่ปุ่นเป็นผลสะท้อนที่มาจากวัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมญี่ปุ่น
ความคิดแบบบูชิโดของซามูไรเข้ามาประสานสร้างความจงรักภักดีกับตัวบุคคล...และพรรคการเมือง
พรรคการเมืองสำคัญของญี่ปุ่นในปัจจุบัน คือพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือที่เรียกกันย่อๆ
ว่า พรรคแอลดีพี.(Liberal Democratic Party หรือ LDP) กับพรรคชินชินโตะ (Shinshinto)
หรือพรมแดนใหม่ ซึ่งบางครั้งก็เรียกกันย่อๆ ว่า เอ็นเอฟพี (New Frontier
Party) พรรคหลังนี้แตกมาจากพรรคแอลดีพีเดิม เมื่อปี ค.ศ.1993 นี้เอง
ปัจจุบันนี้ ความแตกต่างของสองพรรคใหญ่นี้ มีอยู่ในนโยบายเรื่องระเบียบการควบคุมเศรษฐกิจ
การปรับเปลี่ยนภาษีรายได้และภาษีการค้า (เอ็นเอพีสนับสนุนให้ลดภาษีรายได้ลง
50 เปอร์เซ็นต์ แล้วเพิ่มภาษีการค้าจาก 3 เปอร์เซ็นต์ ในขณะนี้เป็น 10 เปอร์เซ็นต์)
ในขณะที่นโยบายความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ไม่สู่จะแตกต่างกันนัก แต่เรื่องบทบาทของญี่ปุ่นในเวทีโลก
ก้ำกึ่งกันระหว่างที่ปฏิบัติภารกิจเฉพาะที่สันติภายในกองทหารขององค์การสหประชาชาติ
(แอลดีพี) และร่วมปฏิบัติภารกิจในการรบด้วยเมื่อจำเป็น (เอ็นเอฟพี) รวมทั้งความคิดเผยตรงไปตรงมาในการหาเสียงเลือกตั้งและหาเงินทุนสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้ง
ซึ่งทางพรรคเอ็นเอฟพีประกาศว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คาดกันว่าเรื่องนี้จะส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปคราวหน้า
ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในกลางปี 1997 หากว่าไม่มีการยุบสภาเสียก่อน
หัวหน้าพรรคแอลดีพีในปัจจุบันคือ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่น นายริวทารุ
ฮาชิโมโต วัย 58 ส่วนหัวหน้าพรรคเอ็นเอฟพี ได้แก่ นายอิชิโร โอซาว่า วัย
53 ทั้งสองเป็นลูกศิษย์ก้นกฏิหรือลูกน้องที่ได้รับความอุปการะทางด้านการเมืองมาจากนายทานากะ
คาคูเคอิ นักการเมืองรุ่นเก่าที่มีคดีพัวพันกรณีสินบนบริษัทล็อคฮึด และเป็นผู้ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นเจ้าตำรับการเมืองแบบต้องใช้เงินดั้งเดิม
แต่ไหนแต่ไรมา การเมืองของญี่ปุ่นดูราวกับจะไร้รสชาติ ด้วยว่าพรรคแอลดีพีมีเสียงข้างมากอยู่ในสภาเสมอมา
ได้เป็นรัฐบาลเสมอมา เพิ่งจะมีความเปลี่ยนแปลงก็ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เมื่อแอลดีพีแตกเป็นสองพรรค
และมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมเป็นครั้งแรก 2 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีนายกรัฐมนตรีแล้ว
4 คน รวมทั้งสร้างประวัติการณ์การมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคสังคมนิยมเป็นครั้งแรก
เมื่อพรรคแอลดีพีจับมือกับพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party)
จัดตั้งรัฐบาล อันมีนายโทมิอิชิ มูรายาม่า วัย 71 เป็นนายกรัฐมนตรี และเพิ่งลาออกไปเมื่อต้นเดือนมกราคม
2539
ว่ากันว่าคุณปู่ (ชื่อเล่นที่เรียกกันด้วยความนับถือ) มูรายาม่าหนักใจกับปัญหาที่รุมเร้ามาตลอดระยะเวล่
18 เดือน ที่อยู่ในตำแหน่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่โกเบก็ดี การออกอาละวาดใช้แก๊สพิษของสาวกในลัทธิโอม
ชิริเกียว ก็ดี รวมทั้งปัญหาการส่งออกซึ่งสืบเนื่องมาจากค่าเงินเยนที่แข็งและสูงจนราคาสินค้าส่งออกไม่อาจสู้กับนานาประเทศ
และเป็นผลให้ความเติบโตทางเศรษฐกิจย่ำอยู่กับที่ (เหมือนเช่นที่เป็นมาก่อนหน้านี้หลายปี)
ล้วนต่างมีข้อให้รัฐบาลถูกกล่าวประณามว่าดำเนินการชักช้าและไม่เด็ดขาด
แต่ไม่มีใครเอ่ยถึงความเป็นเสียงข้างน้อยอยู่ในสภา แต่ในรัฐบาลผสมของพรรคสังคมประชาธิปไตยของมูรายาม่าแต่อย่างใด
นโยบายของนายริวทารุ ฮาชิโมโต นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็คือการสร้างพรรคแอลดีพีให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงและใหญ่โตเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต
ซึ่งหมายความว่า ไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียง ส.ส.จากพรรคอื่นจนต้องตั้งรัฐบาลผสม
(ปัจจุบันมีที่นั่งในสภาอยู่ 209 และได้เสียงร่วมรัฐบาลจาก ส.ส.พรรคสังคมประชาธิปไตย
63 เสียง และพรรคซาคิกาเขะอีก 22 เสียง) นโยบายและภาวะเศรษฐกิจและการเมืองญี่ปุ่น
ภายใต้รัฐบาลนายฮาชิโมโต ทั้งในปัจจุบันและอนาคต (หากว่าจะรักษาเสียงไว้ได้)
ก็จะยังคงเป็นญี่ปุ่นในแบบเดิมที่เป็นมา อย่างน้อยในช่วง 38 ปีที่แอลดีพีเป็นใหญ่
สำหรับนายอิชิโร โอซาว่า หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน (มี 170 ที่นั่งในสภาที่ร่วมอยู่ในฝ่ายค้านด้วยกัน
มีพรรคคอมมิวนิสต์ 15 เสียง กับพรรคเล็กพรรคน้อยอีก 11 และ ส.ส.อิสระไม่สังกัดพรรค
7) กำลังถูกมองว่า หากว่าเขาได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงโดยไม่เพียงแต่หนุนหลังให้คนอื่นขึ้นมา
ก็อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้ดำเนินไปในอีกเส้นทางหนึ่งได้ประการแรก
เพราะนายโอซาว่า ประกาศนโยบายเปิดเสรีหรือลดกฎระเบียบต่างๆ อันส่งผลให้เกิดความผิดธรรมชาติขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
(เป็นต้นว่า ราคาที่ดินในบางแห่งสูงอย่างไม่มีเหตุผล ทั้งนี้เพราะระเบียบซึ่งตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการเกษตร)
ความโปร่งใสในการเมือง โดยเฉพาะในการหาเสียงเลือกตั้งและเงินทุนสำหรับการหาเสียง
ตามนโยบายที่นายโอซาว่าประกาศ อาจส่งผลสืบเนื่องต่อไปถึงเศรษฐกิจ และอาจป้องกันการเกิดกรณีหนี้เสียมหาศาลอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้กับความไม่ซื่อตรงเล่นพรรคเล่นพวกในวงการราชการได้
แต่ความเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้จะเป็นไปได้เพียงไร และอย่างไร ในเมื่อฐานเสียงนายโอซาว่าเองก็ดูเหมือนว่าจะมาจากพรรคพวกซึ่งเป็นมิตรสหายที่มีเส้นสายอยู่ในหมุ่
"นักเลง" เช่นเดียวกัน