ความแตกแยกภายในของ "ซีวีดี" ยักษ์ใหญ่ตลาดวิดีโอเทปของไทย กล่าวเป็นช่องทางให้
"ออนป้า" โดย "ไร้ท์ พิคเจอร์ส" บริษัในเครือเข้าฮุบอย่างง่ายดาย
แต่การณ์ผิดคาด ผู้บริหารซีวีดีแก้เกมโดยยุบบริษัททิ้ง ตั้งบริษัทใหม่ กลายเป็นขวากหนามสำคัญที่ออนป้าต้องถอยร่น
และแผนยึดครองธุรกิจวิดีโอแต่เพียงผู้เดียวของไร้ท์ พิคเจอร์ ต้องสะดุดลงทันที!
จะว่าไปแล้ว ตลาดวิดีโอเมืองไทยที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทในปัจจุบันนี้
เกือบ 100% อยู่ในมือของยักษ์ใหญ่ 2 รายเท่านั้นคือ บริษัทซีวีดี จำกัด และบริษัทไรท์
พิคเจอร์ส จำกัด ซึ่งมีบริษัทออนป้า อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
แม้จะไม่มีจัวเลขยืนยันที่แน่นอน แต่ถ้าจะกล่าวว่ามีซีวีดีมีส่วนแบ่งการตลาดเหนือกว่าไร้ท์
พิคเจอร์สอยู่ไม่น้อยก็คงไม่ผิดพลาดนัก
และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ซีวีดีซึ่งถือว่าตนเองเป็นผู้สร้างตลาดวิดีโอเมืองไทยมากับมือ
ไม่ยอมปล่อยธุรกิจให้หลุดลอยไปอยู่ในมือของออนป้า เพราะสาเหตุเพียงว่า ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งต้องชำระความแค้นส่วนตัว
เปิดปูมซีวีดี ผู้สร้างตลาดวิดีโอไทย
ย้อนหลังไปเมื่อกว่า 12 ปี ก่อนที่ซีวีดีจะเข้ามาทำธุรกิจวิดีโอ ในขณะนั้นเกือบ
100% ที่ไม่ได้รับลิขสิทธิ์การผลิตอย่างถูกต้องหรือเป็นวิดีโอผีทั้งสิ้น
ซึ่งสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์หนังที่ถูกละเมิดยิ่งนัก
เพราะนอกจากจะไม่ได้ลิขสิทธิ์แล้ว ธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังได้รับผลกระทบอีกด้วย
ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด บรรดาเจ้าของหนัง เมเจอร์กรุ๊ป ชอว์บราเดอร์ จึงหว่านล้อมและสนับสนุนให้กลุ่มผู้ถือหุ้นของซีเนคัลเลอร์แลป
ซึ่งเริ่มทำธุรกิจรับจ้างล้างฟิล์มให้กับทั้งหนังไทย หนังเมเจอร์ หนังฮ่องกง
มาตั้งแต่ปี 2519 จัดตั้งบริษัทซีวีดี จำกัด ขึ้นเมื่อปี 2527 เพื่อทำธุรกิจวิดีโอลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายแข่งกับวิดีโอผีที่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง
โดยมอบหมายลิขสิทธิ์วิดีโอให้ซีวีดีเป็นผู้ดูแล
"เจ้าของสินค้าที่หว่านล้อมให้เราเข้ามาในวงการวิดีโอ ไม่ได้หวังผลกำไรจากธุรกิจตรงนี้
แต่เขาอยากให้เราช่วยคุมตลาดและปราบปรามวิดีโอผีให้ โดยหวังว่าถ้าวิดีโอผีน้อยลง
รายได้ของโรงภาพยนตร์ก็จะดีขึ้น ขณะเดียวกันวิดีโอลิขสิทธิ์ก็จะขายได้มากขึ้น"
เออศักดิ์ ถาวรวณิชย์ ผู้ก่อตั้งคนสำคัญของซีวีดี ร่วมกับศุภวัฒน์ จีระมงคล
และเผด็จ หงษ์ฟ้า เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ดังนั้น การที่วงการวิดีโอลิขสิทธิ์จะมีโอกาสเกิดและเติบโตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ซีวีดีต้องประสบปัญหาล้มลุกคลุกคลานอย่างมาก ถึงขนาดต้องยอมกัดฟันต่อสู้กับการขาดทุนในช่วง
4-5 ปีแรก แต่ด้วยความช่วยเหลืออย่างมากจากเจ้าของหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายการปราบปรามวิดีโอผีในยามที่บริษัทหมดกำลัง
ทำให้ซีวีดีซึ่งในบางครั้งอยากขะถอนตัวออกไปจากธุรกิจนี้ต้องกัดฟันต่อสู้ต่อ
จนกระทั่งสามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดได้ อานิสงส์จากความอดทนในอดีตส่งผลให้ซีวีดีกลายเป็นผู้กุมลิขสิทธิ์หนังจีนทีวีบีและหนังจาก
5 สตูดิโอในเครือเมเจอรื อาทิ ยูนิเวอร์แซล ฟอกซ์ วอร์เนอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตหนังมากถึง
80% ของหนังจากฮอลลีวูดไว้ได้อยู่หมัด จากลายเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่ให้กับบรรดาร้านเช่าและขายที่ผุดขึ้นมาอย่างมากมายเป็นดอกเห็ดจนทุกวันนี้
ปัจุจบันซีวีดีได้กลายเป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจวิดีโอครบวงจร โดยนอกจากซีวีดี
ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์วิดีโอแล้ว ยังมีบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจต่อเนื่องอยู่อีก
4 บริษัท คือซีนีแอดวิดีโอ เป็นผู้ผลิตและตัดต่อวิดีโอ มูฟวี่ลิ้งค์ ทำธุรกิจค้าปลีกและให้เช่าวิดีโอ
ไทยแมคเนติค ผู้ผลิตและจำหน่ายม้วนวิดีโอกับเครื่องเล่นระบบวีเอชเอส และมีเดียลิ้งค์
ค้าส่งและค้าปลีกวิดีโอในชื่อโชว์ไทม์ ซึ่งรวมแล้วปีหนึ่งมีรายได้สูงถึงประมาณ
1,500 ล้านบาท
ไรท์ พิคเจอร์ส มาที่หลังแต่มาแรง
หลังจากที่ซีวีดีต่อสู้กับวิดีโอผีมานานถึง 9 ปี ออนป้าฯ ผู้ผลิตเทปคาสเซทและม้วนวิดีโอเทปรายใหญ่ของเมืองไทย
ก็ให้กำเนิดบริษัทไร้ท์ พิคเจอร์ส จำกัด ขึ้นเมื่อต้นปี 2536
สิทธิชัย รุจิภาสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทไร้ท์ พิคเจอร์ส จำกัด
ซึ่งถูกวิโรจน์ ปรีชาว่อวไวกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทออนป้า อินเตอร์เนชั่นแนล
จำกัด ดึงตัวเข้ามาช่วยวางแผนก่อตั้งธุรกิจวิดีโอแห่งนี้ เล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟังว่า ก่อนที่ไร้ท์พิคเจอร์สจะเกิดขึ้น ขณะนั้นในตลาดวิดีโอ นอกจากซีวีดีซึ่งเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์วิดีโอของเครือเมเจอร์แล้ว
ลิชสิทธิ์วิดีโอภาพยนตร์ที่เหลือจะกระจัดกระจายอยู่กับหลายๆ ค่าย ไม่ว่าจะเป็นวีอาร์ซี,
เอสซี รวมทั้งยังมีการหมุนเวียนไปอยู่กับค่ายโน้นทีค่ายนี้ทีตลอดเวลา ทำให้ตลาดมีลักษณะค่อนข้างสับสน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศที่สหมงคลฟิล์ม นนทนันท์
เอเพ็กซ์ ซื้อลิขสิทธิ์มาจากเจ้าของหนัง เพื่อนำเข้ามาฉายเองในประเทศไทยด้วยแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ได้รับสิทธิ์หนังไปผลิตเป็นวิดีโอทุกปี
ไร้ท์ พิตเจอร์สจึงอาศัยช่องว่างตรงนี้เข้ามาแจ้งเกิดในตลาดเมื่อ 3 ปีก่อน
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยถูกบีบให้เอาจริงเอาจังกับเรื่องลิขสิทธิ์มากขึ้น
โดยได้เข้ารวบรวมลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศที่กระจัดกระจายอยู่กับหลายๆ
ค่ายมาไว้ในมือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังจีนและหนังฝรั่งที่เครือสหมงคลฟิล์ม,
นนทนันท์, เอเพ็กซ์, โกลเดนทาวน์ฟิล์ม ซื้อลิขสิทธิ์นำเข้ามาฉายในประเทศ
หรือหนังไทยที่ไฟว์สตาร์, ไทเอ็นเตอร์เทนเมนต์, กันตนา ผลิตออกสู่ตลาด
ขณะเดียวกันก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเวลาการถือครองลิขสิทธิ์จากเดิมที่เป็นลักษณะการซื้อลิขสิทธิ์
ปีต่อปี เป็นอย่างน้อยที่สุด 3 ปี เพราะไร้ท์มองว่า ถ้าได้ครองลิขสิทธิ์ในช่วงเวลาที่น้อยกว่านี้จะทำให้มีปัญหาในการควบคุมตลาด
เนื่องจากไม่แน่ใจว่าบริษัทจะได้ลิขสิทธิ์ ต่อหรือไม่
นอกจากการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าหนังดังกล่าวแล้ว
ไร้ท์ พิคเจอร์ส ยังบินไปติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ภาพยนตร์ต่างประเทศจากผู้ผลิตหนังอิสระเองโดยตรง
จนกระทั่งปัจจุบันได้เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์จากนิวไลน์ซิเนม่า, เทอร์เนอร์
เอนเตอร์เทนเมนต์, ไทรมาร์ค พิคเจอร์ส และพีเอ็ม เป็นต้น
การดำเนินงานในลักษณะนี้ทำให้ไรท์ พิคเจอร์ส มีศักยภาพขึ้นมาในตลาดได้
เพราะไร้ท์มีจุดเด่นสำคัญคือ ความหลายหลากของสินค้าที่อยู่ในมือ ซึ่งมีทั้งหนังไทย
หนังจีน หนังฝรั่ง หนังการ์ตูน และตลก โดยสินค้าของไร้ท์จะถูกรสนิยมคนในต่างจังหวัดเป็นพิเศษ
ไร้ท์จึงเปรียบเสมือนกับคนหนุ่มที่มาแรง เพราะใช้เวลาเพียง 3 ปีก็สามารถถีบตัวเองขึ้นมาเทียบเท่ากับซีวีดีได้
จนถือว่าเป็นสองยักษ์ใหญ่ในธุรกิจนี้
ผู้ถือหุ้นซีวีดีแตกคอ ต้นตอการชักศีกเข้าบ้าน
หลังจากที่เอาตัวรอดกับการล้มลุกคลุกคลานในธุรกิจวิดีโอมาได้อย่างสบายแล้ว
จู่ๆ ซีวีดีก็ต้องประสบกับปัญหาภายในอย่างไม่คาดฝัน
ต้นตอของปัญหาคราวนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2538 หลังจากการเสียชีวิตลงของศุภวัฒน์
จิระมงคล หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของซีวีดี และเป็นผู้ร่วมบุกเบิกธุรกิจมากับเลอศักดิ์
ถาวรวณิชย์และเผด็จ หงษ์ฟ้า
เมื่อศุภวัฒน์เสียชีวิตลง หุ้นจำนวน 1,180 หุ้น ที่คิดเป็น 23% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
5,000 หุ้นในซีวีดี ก็ตกเป็นของอุบล จิระมงคล ผู้เป็นภรรยา โดยที่เหลือเป็นของนาวสาวสุจิตรา
สุนทรพาณิชย์ 1,710 หุ้น นายนิติ ถาวรวณิชย์ 730 หุ้น นายสรรเพชร คงปัญญาพานิชกุล
280 หุ้น นายชวลิต วิสารทเวคิน 245 หุ้น นายอุไร จิระมงคล 140 หุ้น นายมาโนช
รัตนงาม 105 หุ้น นางสาวนฤมล จิระมงคล 55 หุ้น และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ
อีก 555 หุ้น
นอกจากนี้อุบลยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานบริษัท เยนเนอรัล มีเดียเทค
ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างซีวีดีและกิฟโก้ จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลิตฟล็อปปี้ดิสก์ขนาด
3.5 นิ้วอีกด้วย
แต่หลังจากที่อุบลเข้าไปทำงานได้ไม่กี่เดือน คณะกรรมการของบริษัทก็มีมติปลดเธอออกจากตำแหน่ง
เนื่องจากว่าเธอมีแนวความคิดและนโยบายการบริหารงานที่ขัดแย้งกับผู้ถือหุ้นและผู้บริหารคนอื่นๆ
การปลดอุบลออกจากตำแหน่งนี่เองที่บานปลายกลายเป็นเรื่องชักศึกเข้าบ้านโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
เพราะหลังจากที่ถูกปลดไม่นาน อุบลก็เทหุ้นจำนวน 1,080 หุ้น ขายให้กับวิโรจน์
ปรีชาว่องไวกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ของออนป้า ในราคา 80 ล้านบาท โดยวิโรจน์ไม่ได้ซื้อหุ้นดังกล่าวในนามตัวเอง
แต่ให้นายสมนึก แซ่ลิ้ม และนางสาววันดี กุญชรยาคง เป็นผู้ซื้อ
ออนป้าไล่ซื้อหุ้น ซีวีดีแก้เกมยุบบริษัททิ้ง
แม้ว่าจะไม่เคยคิดถึงเรื่องเทกโอเวอร์ซีวีดีมาก่อน เพราะเป็นเรื่องที่เห็นชัดๆ
ว่าเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่เมื่อมีโอกาสได้หุ้นส้มหล่นของซีวีดีมาอยู่ในมืออย่างง่ายดายถึง
23% วิโรจน์ก็วางแผนที่จะกว้านซื้อหุ้นของซีวีดีมากขึ้น เพื่อจะได้เข้าไปมีอำนาจในการบริหาร
ซึ่งดูเหมือนผู้บริหารของซีวีดีจะรู้ทัน จึงแก้เกมด้วยการเตรียมยุบบริษัทซีวีดี
จำกัด ทิ้งเสีย แล้วจัดตั้งบริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ซีวีดีไอ)
ขึ้นมาแทน และให้บริษัทนี้ทำหารเซ็นสัญญากับผู้ร่วมธุรกิจทั้งหมดเสียใหม่
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลิขสิทธิ์วิดีโอ เอเยนต์จัดจำหน่ายวิดีโอ ตลอดจนสัญญาที่ทำไว้กับร้านให้เช่าวิดีโอทั้งหมดทั่วประเทศ
ดังนั้นทันทีที่ปี 2538 ผ่านไป ซีวีดีไอก็เข้าไปทำธุรกิจต่อเนื่องจากซีวีดี
โดยปล่อยให้ซีวีดีเป็นบริษัทว่างเปล่าไม่มีความหมายทางธุรกิจแต่อย่างใด โดยถ้าไม่ทำเช่นนี้
ซีวีดีมีหวังตกไปอยู่ในมือออนป้าแน่ เพราะสัดส่วนหุ้นล่าสุดที่ตกไปอยู่ในมือของวิโรจน์นั้น
เลอศักดิ์กล่าวว่ามีถึง 40% แล้ว
"กิจการวิดีโอนี้ พวกผมเป็นคนสร้างขึ้นมา ถ้าเขาได้กิจการผมไปโดยไม่มีพวกผมก็ไม่มีความหมาย
อันนี้เป็นสิ่งที่เขาอาจจะไม่รู้" เลอศักดิ์กล่าว
งานนี้คนที่เดือดร้อนก็เลยกลายเป็นวิโรจน์ อย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อถึงที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ตกลงยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน
โดยวิโรจน์ยอมขายคืนให้ในราคาที่ซื้อมา บวกกับค่าใช้จ่ายอีกนิดหน่อย ขณะเดียวกันฝ่ายเลอศักดิ์ก็ยอมซื้อหุ้นคืน
แม้ว่าขณะนี้ซีวีดีจะไม่เหลือกิจการอะไรแล้วก็ตาม ทั้งนี้จากการเกลี้ยกล่อมของบุคคลทั้งสองฝ่ายเรียกว่า
"ผู้ใหญ่" โดยเลอศักดิ์กล่าวถึงบทบาทของซีวีดีว่า อาจเป็นเรื่องของวิดีโอโปรดักชั่น
แทนที่จะเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ วิดีโอภาพยนตร์เหมือนกับที่ผ่านมา
เบื้องหลังออนป้าฮุบซีวีดี
ว่ากันว่าส่วนหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้วิโรจน์หวังที่จะฮุบธุรกิจของซีวีดีไว้ในมือครั้งนี้
อาจจะมีสาเหตุมาจากเรื่องราวในอดีตที่เคยเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้วิโรจน์ตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจวิดีโอเมื่อ
3 ปีที่ผ่านมา
โดยแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับวิโรจน์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า สิ่งที่ทำให้ออนป้าตัดสินใจเข้าสู่ตลาดวิดีโอ
นอกจากจะเห็นว่าตลาดยังมีช่องว่างให้เข้าไปได้แล้ว ก็คือการที่บริษัทซีวีดี
ได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตม้วนวิดีโอเทปเองเมื่อประมาณปี 2532 โดยก่อนที่จะตั้งโรงงานก็ได้มาขอดูโรงงานผลิตวิดีโอเทปของออนป้า
แต่เมื่อผลิตออกมาแล้วกลับไปห้ามไม่ให้ลูกค้าของซีวีดี ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เช่าหรือเอเยนต์ว่าห้ามซื้อวิดีโอเทปเปล่าจากออนป้าเด็ดขาด
"ถ้าเขาบอกว่า ห้ามซื้อวิดีโอเทปเปล่าจากค่ายอื่น เราก็คงพอเข้าใจ
แต่นี่เขาเจาะจงเลยว่าห้ามซื้อจากออนป้า คุณวิโรจน์เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเห็นทีออนป้าคงจะต้องเข้าไปทำธุรกิจเดียวกับซีวีดีบ้างเสียแล้ว
และทันทีที่โอกาสเอื้ออำนวย ไร้ท์ พิคเจอร์สก็ถือกำเนิดขึ้น"
อีกส่วนหนึ่งก็คือออนป้ารู้ดีว่า โอกาสที่ไร้ท์ พิคเจอร์สจะเติบโตอย่างหวือหวาเหมือนที่ผ่านมาในอดีตนั้น
ออกจะเป็นเรื่องยากเสียแล้ว เพราะโอกาสที่ไร้ท์จะได้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จากผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ของโลก
โดยเฉพาะภาพยนตร์จากเมเจอร์กรุ๊ปมาไว้ในมือ เป็นเรื่องที่อาจจะพูดได้ว่ายากมาก
เนื่องจากเมเจอร์กรุ๊ปมีความสัมพันธ์อันดีกับซีวีดีมายาวนาน และเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนซีวีดีมาตลอด
"แม้ว่าในแต่ละเดือน ไร้ท์จะมีหนังใหม่ออกมาสู่ตลาดได้ถึง 60 เรื่อง
ซึ่งเป็นปริมาณที่มากพอๆ กับซีวีดี แต่ถ้าเทียบด้านศักยภาพของสินค้ากันแล้ว
หนังของซีวีดีจะมีอายุการขายนานกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของหนังจาก 5
สตูดิโอหลักของเมเจอร์ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นหนังคลาสสิกและส่วนใหญ่เป็นหนังดังที่ได้รับความนิยมของนักดูหนังในบ้านเรา
ขณะที่นานๆ ทีไร้ท์จึงจะมีหนังฝรั่งดังๆ จากค่ายอิสระหลุดมาอยู่ในมือสักเรื่อง
ประกอบกับช่วงความนิยมของหนังจีน หนังไทย และตลก ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าหลักของไร้ท์
จะมีช่วงวางตลาดที่สั้นมาก และนักดูหนังส่วนใหญ่ก็ไม่นิยมซื้อเก็บไว้ ผู้เชี่ยวชาญในวงการวิดีโอวิเคราะห์ให้ฟัง
ดังนั้น การก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าตลาดวิดีโอของไร้ท์ พิคเจอร์ส อาจจะทำได้เพียงแค่การเทกโอเวอร์ซีวีดีเท่านั้น