Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2539
ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ยิ่งดิ้น เงื่อนปมยิ่งรัดแน่น             
โดย สันทิฏฐ์ สมานฉันท์
 


   
www resources

โฮมเพจ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (TPI) - ทีพีไอ

   
search resources

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย, บมจ.
ประชัย เลี่ยวไพรัตน์
Oil and gas




โครงการโรงกลั่นน้ำมันที่จะทำให้ 'ทีพีไอ' กลายเป็นยักษ์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของโลกกำลังจะเป็นเพียงฝันที่สวยหรูหรือไม่ อีกไม่นานจะถึงบทสรุป โรงกลั่นน้ำมันที่จะเป็นโครงการพื้นฐานของปิโตรเคมีแบบครบวงจร ตามที่ 'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์' หวังไว้ กำลังจะทำให้ทีพีไอเข้าตาจน เมื่อพยายามเบี่ยงเบนประเด็นเรื่องค่าต๋งว่าไม่เป็นธรรม ทั้งที่ตนเองไม่พร้อมเสียมากกว่า ที่สำคัญเกมตรั้งนี้ อีกฝ่ายกำลังเล่นไม่เลิก

จำได้ว่าภาพความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรทีพีไอ โดดเด่นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อประชัย เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ประกาศอย่างเป็นทางการถึงโครงการปิโตรเคมีครบวงจร มูลค่าลงทุนสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท

การแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2537 เป็นการพูดถึงรายละเอียดโครงการเป็นครั้งแรกนับจากเริ่มมีกระแสข่าวออกมาเกือบหนึ่งปีเต็ม

การประกาศถึงโครงการใหญ่โตครั้งนั้น เกิดขึ้นพร้อมกับแผนการนำบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอาราจักรแห่งนี้ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าโครงการที่ประกาศออกไปเช่นนั้น ได้สร้างภาพสวยให้กับบริษัทที่กำลังจะเข้าตลาดฯ อย่างทีพีไอ อีกมากโขทีเดียว

หลักๆ ของโครงการครบวงจรนี้ ได้ถูกแบ่งเป็นสองส่วน โรงกลั่นน้ำมัน โรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นจะรวมอยุ่ในโครงการส่วนที่หนึ่ง โดยนอกจากผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ได้จากการกลั่นแล้ว จะมีวัตถุดิบที่เกิดจากการกลั่นส่งตรงไปยังโรงโอเลฟินส์ ในโครงการส่วนที่สองด้วย สำหรับเงินลงทุนในส่วนที่หนึ่งนี้คาดจะใช้เงินลงทุนราว 20,000 ล้านบาทเศษ

โครงการส่วนที่สอง จะเริ่มตั้งแต่โรงโอเลฟินส์ จนถึงโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก โพลีเอทธีลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) และชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) ซึ่งถือเป็นขั้นปลายของโครงการปิโตรเคมีครบวงจรนี้ โครงการระยะที่สองนี้จะใช้เงินลงทุนเกือบ 20,000 ล้านบาท

แหล่งที่มาของเงินทุนของโครงการนี้ได้มีการชี้แจงว่าจะมาจากส่วนของเงินเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิมเมื่อ 15 สิงหาคม 2538 จำนวน 6,665 ล้านบาท และเงินจากการขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนจำนวนราว 9,000 ล้านบาท ที่เหลือราว 25,000 ล้านบาท จะเป็นเงินกู้ระยะยาวและเงินกู้หมุนเวียน

ครั้งนั้นผู้อยู่ในวงการมองกันว่าเงินกู้จำนวนมหาศาลเช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหามาได้

แต่ความสนใจในประเด็นเรื่องเงินลงทุนดูเหมือนจะถูกกลบด้วยความฮือฮาด้านอื่นในประเด็นที่ว่า การเข้ามาสู่อุตสาหกรรมดรงกลั่นน้ำมันของทีพีไอ ในฐานะรายใหม่ แต่กลับมีกำลังการผลิตมากที่สุดในวงการโรงกลั่นน้ำมันของไทย และจากนโยบายที่ประกาศชัดเรื่องการกำหนดราคาจำหน่าย ยิ่งน่าจับตาดูว่าถ้าโครงการเป็นจริง น้ำมันตราทีพีไอ จะรุ่งโรจน์แค่ไหนในตลาด

เพราะแน่นอนว่าถ้าพะยี่ห้อ "ประชัย" แล้ว วงการไหนก็เถอะจะต้องวงแตกแน่ โครงการโรงกลั่นน้ำมันของทีพีไอจะมีกำลังการกลั่นสูงสุดที่ 3 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยตามแผนจะเริ่มทำการกลั่นในอัตรา 6.5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ในปี 2538 และเพิ่มเป็น 1.5 แสนบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2540 และเป็น 3 แสนบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2543 ซึ่งการเพิ่มกำลังการกลั่นเป็น 3 แสนบาร์เรลต่อวันนั้น จะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 12,500 ล้านบาท

นอกจากแผนการผลิตแล้ว ทางด้านการตลาดในวงการค้าน้ำมันทีพีไอ ก็ได้วางแผนไว้อย่างสวยหรู โดยประชัยได้เข้าถือหุ้น 10% ในบริษัทสยามสหบริการ โดยมีข้อตกลงว่า ถ้าโรงกลั่นน้ำมันของทีพีไอ สามารถดำเนินการกลั่นได้แล้ว สถานีบริการน้ำมันของสยามสหบริการ ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้า "ซัสโก้" จะต้องเปลี่ยนป้ายเป็นทีพีไอ และการนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์จะต้องเปลี่ยนมาเป็นสั่งซื้อจากทีพีไอ

การแลกเปลี่ยนเช่นนี้ ประชัยมองว่า สยามสหบริการจะได้ในเรื่องของภาพพจน์สินค้า เพราะยี่ห้อทีพีไอย่อมดีกว่าซัสโก้ พร้อมทั้งวางแผนว่า จะตั้งสถานีบริการน้ำมันให้ได้ปีละ 100 สถานี ในช่วง 2-3 ปีแรกของการก่อตั้งและรุกเข้าสู่วงการนี้ นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะหนุนให้เอเยนต์ค้าปูนซีเมนต์ของทีพีไอ หันมาเปิดสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเติมจากธุรกิจเดิมที่ทำอยู่อีกด้วย

ความตั้งใจของประชัย พร้อมแผนงานที่วางไว้รอบด้านและต่อเนื่องเช่นนั้นเป็นการตอกย้ำถึงทิศทางของทีพีไอ ที่จะรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมด้านพลังงาน โดยเฉพาะการสร้างโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญที่จะป้อนวัตถุดิบให้กับโครงการปิโตรเคมีหรืออุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติก ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของทีพีไอ

และทุกอย่างนี้ก็เพื่อการเตรียมรับมือการค้าเสรีโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า "ถ้าถึงจุดที่ว่าเราครบวงจรแล้ว เราสามารถสู้ได้ทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาก็ตาม ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคากว่าภายใน 5 ปีจากนี้จะสามารถเดินไปครบวงจรได้" ประชัยกล่าวอย่างหนักแน่นในงานครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเป็นงานที่ประชัยกล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐในระดับบนอย่างรุนแรงที่สุด

แต่แล้วความล่าช้าในโครงการโรงกลั่นน้ำมันของทีพีไอก็เกิดขึ้น คงต้องพูดว่าอีกจนได้ สำหรับโครงการภายใต้ต้นคิดอย่างประชัย

เพราะมีข้อถกเถียงระหว่างประชัยกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในประเด็นการจ่ายค่าธรรมเนียมการตั้งโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งทีพีไอจะต้องจ่ายถึง 750 ล้านบาท เนื่องจากมีกำลังการผลิตสูงสุด 3 แสนบาร์เรลต่อวัน และค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมหรือรอยัลตี้ ที่จะจัดเก็บ 2% จากมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศ

ฝ่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งปลัดกระทรวงคือ ศิววงศ์ จังคศิริ และไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ รัฐมนตรีว่าการฯ ต่างมีความเห็นเป็นทิศทางเดียวกันว่า ประชัยกำลังพยายามบ่ายเบี่ยงเพื่อเลี่ยงที่จะจ่ายเงินตามเงื่อนไขที่ถือว่าเป็นธรรมเนียมกับทุกฝ่าย

ส่วนประชัยกลับมองว่า เงื่อนไขที่ตั้งขึ้นมานั้นไม่ยุติธรรมและไม่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะกับตนเอง ในฐานะที่เป็นบริษัทคนไทยอย่างแท้จริง

ซึ่งประชัยอ้างนักหนาว่า ตนเป็นคนไทยที่ทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติเป็นหลัก "สัญญาที่จะเซ็นกันยังตกลงไม่ได้ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับทางทีพีไอ จึงไม่รู้ว่าถ้าจ่ายค่ารอยัลตี้แล้วจะต้องจ่ายอย่างไรเลย ไม่มีการให้รายละเอียดในสัญญา เราก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดต่อตลอด แต่ยังไม่มีการตกลงกัน ถ้ากฎเกณฑ์เดียวกัน เราสามารถสู้ได้ทุกสนาม" ประชัยกล่าว

ประชัยกล่าวว่า การวางโครงการโรงกลั่นน้ำมัน คิดไว้ก่อนแล้วว่าจะต้องพบปัญหาเหล่านี้ "เรื่องโรงกลั่นน้ำมัน คิดว่าจะต้องเจอแน่ๆ เพราะเป็นสิ่งหวงแหนของผู้ประกอบการที่มีอยู้แล้ว แต่ถ้าไม่ทำ ประเทศไทยจะก้าวไปอีกระดับได้ยาก เพราะอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี"

จะว่าไปแล้ว การเรียกร้องนั้นมีมาตั้งแต่ยุคที่ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ และช่วงนั้นมีข่าวว่า พรเทพ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับอาสาเดินเรื่องอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้พีทีไอได้ตามสิ่งที่ต้องการ แต่ที่สุดก็ไม่สามารถดำเนินการได้

เมื่อมีแนวโน้มว่าตนเองจะไม่สามารถเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนแนวทางมาเป็นดังที่ตนต้องการแล้ว จึงพยายามหาทางออกด้านอื่น

ปลายปี 2538 ในช่วงเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ทีพีไอได้พยายามอีกครั้ง และดูเหมือนว่า ใกล้จะสำเร็จเมื่อกระทรวงการคลัง ซึ่งประชัยลงทุนเข้าพบสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการโดยตรง จากนั้นแนวคิดที่ประชัยพยายามให้เกิดซึ่งก็ได้รับการตอบสนองจากนายกรัฐมนตรีบรรหารในระดับหนึ่ง จากการบ็อบบี้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

"ผมได้ให้แนวทางไปว่า เมื่อรายใหม่มาถ้าไม่มีค่ารอยัลตี้หรือมีภาษีกินเปล่าจะได้หรือไม่ และรายเก่าที่เสียไปแล้วจะทำอย่างไร ท่านปลัดต้องไปคิดในรายละเอียดมา" นายกฯ บรรหารกล่าว

แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยังยืนยันระเบียบเดิมอย่างเข้มแข็งเป็นพิเศษ "เงื่อนไขที่ตั้งไว้มีเฉพาะนักลงทุนที่มีความพร้อมเท่านั้น หากใครไม่มีความพร้อมก็ควรถอยออกไป การที่ทีพีไอพยายามเบี่ยงเบนประเด็นมาตลอดถือว่าเป็นเรื่องงี่เง่าในการทำธุรกิจ หากมีการยกเลิกก็ถือเป็นผลเสียต่อภาพพจน์รัฐอย่างแน่นอน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

ที่สุดการเจรจาตกลงจึงยังไม่เกิดขึ้น ดูเหมือนว่าความพยายามของทีพีไอจะยากยิ่ง เพื่อให้สำเร็จถ้ายังมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชื่อ ศิววงศ์ จังคศิริ ซึ่งสอดประสานอย่างดียิ่งกับรัฐมนตรีว่าการ คำขู่เพื่อเปลี่ยนแนวทางเป็นโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้น ซึ่งเท่ากับประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับอาจลดน้อยลงบ้าง

เมื่อเป็นโรงกลั่นน้ำมันเพื่อการส่งออก 80% ของกำลังการกลั่นแล้ว ทีพีไอไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการตั้งโรงกลั่นแม้แต่บาทเดียว จะจ่ายก็เพียงค่ารอยัลตี้ในส่วนที่จำหน่ายในประเทศ 20% เท่านั้น ซึ่งถือว่ายังพอไหว

ศิววงศ์กล่าวว่า ถ้าทีพีไอยังยืนยันที่จะตั้งโรงกลั่นเพื่อผลิตจำหน่ายในประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมก็ยืนยันว่าจะต้องเก็บค่าธรรมเนียมจำนวน 750 ล้านบาท และค่ารอยัลตี้ 2% เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบต่อโรงกลั่นที่อยู่ระหว่างก่อสร้างหรือเปิดดำเนินการไปแล้ว

"หากทีพีไอต้องการที่จะผลิตเพื่อการส่งออก 80% ของกำลังการผลิตนั้น ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 750 ล้านบาท แต่ในส่วน 20% ที่ผลิตจำหน่ายในประเทศก็จะต้องถูกเก็บค่ารอยัลตี้ 2% อยู่ดี"

ศิววงศ์กล่าวอีกว่า แต่ถ้าช่วงที่เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันขึ้นในประเทศ และหากทีพีไอต้องการที่จะจำหน่ายน้ำมันในประเทศเกิน 20% ของการผลิต ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมก่อตั้งโรงกลั่น 750 ล้านบาททันที พร้อมกับอัตราดอกเบี้ย 15% ย้อนหลังนับจากเปิดดำเนินการ ข้อตกลงเช่นนี้ ดูเหมือนว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่สำหรับประชัยแล้วถือเป็นอุปสรรคสำคัญทีเดียว

ประการแรก ใช่ว่าโรงกลั่นน้ำมันของทีพีไอจะสามารถกลั่นน้ำมันเพื่อส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลกได้โดยง่าย ทั้งเรื่องต้นทุนและคุณภาพ

ประการที่สอง ประชัยไม่ได้หวังเช่นนั้น การเบนโครงการไปสู่การส่งออกเพียงต้องการหันเหประเด็นเท่านั้น ซึ่งดูเหมือนว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะทันเกมในเรื่องนี้ไม่น้อย และประการสุดท้าย ประชัยตั้งเป้าหมายเพื่อที่จะบุกในวงการค้าน้ำมันในประเทศมากกว่า เห็นได้จากแนวคิดของประชัยที่กล่าวออกมาว่า

"คืออย่างนี้นะครับขอเรียนให้ทราบว่าความต้องการการใช้น้ำมันของประเทศไทย ถ้าอีกสามปีข้างหน้าคิดว่าคงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อนาคตอาจสูงถึง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตอนนี้ประเทศไทยมีการผลิต 7 แสนบาร์เรลต่อวันเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่สร้างไปตอนนี้ อีก 3-4 ปีข้างหน้าประเทศไทยขาดแคลนน้ำมันแน่ แล้วท่านจะเห็นพวกรถไปรอคิวอยู่ที่ปั๊มน้ำมันเป็นแถว อีก 3 ปีข้างหน้าท่านจะได้เห็นภาพนี้"

ประชัยกล่าวเมื่อถูกซักถามว่า ถ้ายังมีอุปสรรคเช่นที่เป็นอยู่ โครงสร้างโรงกลั่นน้ำมันจะเป็นอย่างไร และว่า

"เพราะฉะนั้นผมคิดว่า จริงๆ แล้ว เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติอีกนั่นแหละ เราคิดว่าเราก็ควรจะต้องทำลงไป ยังไงก็ต้องทำเพราะต้องครบวงจร เราต้องการให้หัวหน้ารัฐบาลมองลงไปลึกๆ ว่า ไม่ต้องมานั่งควบคุมว่าจะต้องมีค่ารอยัลตี้ ยังไงก็ต้องทำลงไป ถ้าไม่ทำมันจะเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ ประเทศเราเป็นประเทศประชาธิปไตย ระบบเผด็จการที่ท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมใช้อยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้ผล ระบบประชาธิปไตยอย่างไรก็เหนือชั้นกว่า" คำกล่าวเสียดสีอย่างเผ็ดร้อน

จริงๆ แล้ว ประชัยก็เห็นช่องทางจากตลาดน้ำมันของไทย การหวังจะส่งออก จึงเป็นเพียงภาพลวงเสียมากกว่า

การเดินเรื่องให้ได้ถึงที่สุดเกิดขึ้นเป็นระยะ อย่างการออกข่าวว่าได้ดึงคูเวตเข้ามาร่วมถือหุ้นในโครงการนี้ราว 20-30% ก็เพื่อหวังล็อบบี้รัฐบาลทางอ้อม แต่ทุกอย่างก็ยังไม่เป็นผลอย่างรูปธรรม

กว่าหนึ่งปีมาแล้วที่การถกเถียงระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับทีพีไอเป็นเรื่องเป็นราวและเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง มีการดึงตัวละครหลักๆ ให้เข้ามาเกี่ยวข้อง ไทยออยล์ ในฐานะโรงกลั่นรายใหญ่ที่สุดของไทยในปัจจุบัน และแสดงความเป็นห่วงที่เกรงว่าน้ำมันจะล้นตลาด ถูกประชัยโยงเข้ามาเกี่ยวข้อง

ประชัยโยงความสัมพันธ์ระหว่างศิววงศ์กับเกษม จาติกวณิช ผู้บริหารสูงสุดของไทยออยล์ ด้วยพยายามบอกว่า เพราะไทยออยล์ต้องการสกัดผู้มาใหม่ จึงดึงความสัมพันธ์ระหว่างปลัดกับเกษม เพื่อมาบีบตนเองซึ่งเรื่องนี้ยากที่จะพิสูจน์

ส่วนกรณีโรงกลั่นระยองรีไฟน์นิ่งของเชลล์ และโรงกลั่นสตาร์ รีไฟน์นิ่งของคาลเท็กซ์ที่เกิดขึ้นใหม่ และกำลังจะเริ่มต้นการกลั่นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งทั้งสองได้จ่ายเงินตามเงื่อนไขของกระทรวงอุตสาหกรรมทุกอย่าง ทางประชัยก็มีเรื่องว่าอีกจนได้

ประชัยชี้ว่า เชลล์และคาลเท็กซ์มีการประเมินราคาโรงกลั่นสูงเกินความเป็นจริงไปถึง 20,000 ล้านบาท จากนั้นทั้งสองก็ขายหุ้นให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) รายละ 36% ซึ่งเป็นการซื้อที่ใช้เงินซื้อมาเกินความจริง และเชลล์กับคาลเท็กซ์ก็เอาเงินที่กำไรรอบแรกไปแล้วมาจ่ายค่าธรรมเนียม เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องง่ายที่ทั้งสองโรงกลั่นนั้นยอมจ่าย

"ภาษาตลาดเขาเรียกอัฐิยายซื้อขนมยาย เชลล์กับคาลเท็กซ์แทบไม่ต้องเอาเงินมาลงทุนในประเทศไทยเลย มาแบบจับเสือมือเปล่าครับ"

สำหรับแนวคิดของประชัยนั้น เขาต้องการเปลี่ยนระบบการจัดเก็บเกี่ยวกับอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน โดยภาครัฐกลับหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

"การที่เราขอให้เล่นอยู่ในกติกาเดียวกัน ทำไมเล่นไม่ได้ด้วยกติกาเดียวกันคือ 2% ถ้าจะเสีย เสียด้วยกัน ถ้าไม่เสียเราก็กอดคอไม่เสีย ถามว่ารัฐบาลเสียหายไหม ผมว่ารัฐบาลไม่เสียหาย แต่ว่าถ้ารัฐบาลกลัวว่าเงินไม่พอ ผมว่าไปเพิ่มในภาษีสรรพสามิตได้อีก 6 สตางค์ต่อลิตร เพิ่มเข้าไปเพราะฉะนั้นโรงกลั่นที่ไม่เคยเสีย อย่างบางจากไม่เคยเสีย ก็ต้องมาเสีย รัฐบาลก็เก็บเงินได้เพิ่มขึ้น ที่ต้องเสียก็เสียเท่าเดิม น้ำมันที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่ไม่เคยเสีย ก็มาเสียในสรรพสามิตเพิ่มขึ้น 6 สตางค์ต่อลิตร รัฐบาลมาอ้างว่าถ้าไม่เก็บค่ารอยัลตี้ 2% รัฐบาลจะเสียหาย ท่านปลัดกระทรวงการคลังท่านก็บอกไม่เสียหาย ท่านคิดเป็น แต่ท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมท่านบอก ท่านคิดไม่เป็น ทั้งที่อาวุโสท่านก็มากกว่า" ประชัยกล่าว

มองปัญหาความขัดแยังระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับทีพีไอ ในเรื่องกฎระเบียบข้อนี้แล้ว ไม่กล้าตัดสินว่าใครคือฝ่ายถูกฝ่ายผิด

แต่มองลึกลงไป การเรียกร้องประเด็นเหล่านี้ น่าจะมาจากความไม่พร้อมของทีพีไอเสียเองมากกว่าประเด็นอื่น แทนที่จะประกาศเลื่อนโครงการ หันมาใช้วิธีรี้ตามสไตล์ที่ถนัด น่าจะได้ผลคุ้มค่ากว่า ไม่เสียชื่อเสียง ว่าประกาศโครงการแล้วไม่พร้อม ดีไม่ดี ถ้ารัฐบาลคิดไม่เป็นเล่นตามเกม ก็จะได้สนุกสนานอย่างเต็มที่

ทุกวันนี้ ประชัยดูจะไม่มีเวลาว่างเอาเสียเลย งานล้นมือไปเสียทุกเรื่อง ที่สำคัญ ปัญหาแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในหลายโครงการยังติดขัดอยู่มาก โดยเฉพาะโครงการโรงกลั่นที่จะต้องใช้เงินกู้มากมายถึง 2.5 หมื่นล้านบาท

ความติดขัดในการบริหารงานด้านการเงิน ไม่อาจปฏิเสธว่า เป็นเพราะมือการเงินฝีมือเยี่ยม ที่อยู่กับกลุ่มทุนแห่งนี้นับจากรุ่นพ่อ ต้องตีจากไป

แม้ว่า คนในทีพีไอจะยืนยันว่า "มังกร เกรียงวัฒนา" จะยังอยู่ในทีพีไอ แต่ทุกวันนี้ มังกรผู้นี้กลับมิได้มีส่วนร่วมในการบริหารงานอีกต่อไป เป็นเช่นนี้มานานหลายเดือนแล้ว และแม้จะอ้างว่าด้วยปัญหาสุขภาพของตัวมังกรเอง แต่รู้ๆ กันว่า เพราะความขัดแย้งในแผนการเงินที่ผิดพลาด ซึ่งมังกรจำเป็นต้องเป็นผู้รับหน้าเสื่อ

เมื่อต้นปี 2538 ทีพีไอประสบปัญหาขาดทุนตราสารอนุพันธ์และการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งตัวเลขในการลงบัญชีบ่งชี้ว่าขาดทุนถึง 312 ล้านบาท

ครั้งนั้น มังกรชี้แจงว่า บริษัทขาดทุนในรูปของเงินสดที่ต้องชำระเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานแต่อย่างใด

แต่เพียงเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ที่จะทำให้สายสัมพันธ์ที่มีมานาน ตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ ซึ่งพ่อของมังกรเป็นหลงจู๊ของกลุ่มทุนแห่งนี้ ในสมัยยังเป็นธุรกิจแบบเถ้าแก่ เริ่มจืดจางลง จนในที่สุด มังกรจำต้องวางมือจากอาณาจักรแห่งนี้

ทุกวันนี้ ประชัยยังไม่สามารถหามือการเงินมาทดแทนได้ มีเพียงระดับล่างลงมาร่วมปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆ โดยมีประชัยเป็นผู้ดูแลโดยตรง ผิดกับแต่ก่อนที่เชื่อมือมังกรได้

กล่าวถึงมังกร เกรียงวัฒนา ผู้นี้ได้ฝากผลงานระดับเยี่ยมไว้กับทีพีไอไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นดีลเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ ระยะยาว มูลค่านับหมื่นล้านบาท ที่กู้มาลงทุนในโรงไฟฟ้าและการสร้างโรงปูนซีเมนต์ ทั้งการกู้จากญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งนับเป็นเอกชนไทยเพียงไม่กี่ราย ที่ได้รับความไว้วางใจเช่นนี้ หรืออย่างการออกพันธบัตรในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งนับเป็นเอกชนรายแรกที่ออกพันธบัตรในต่างประเทศได้สำเร็จ

ผลงานเหล่านี้อาจกล่าวว่าเป็นเพราะองค์กร ทีพีไอได้รับการยอมรับ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่า ถ้าไม่ใช่มังกรเป็นผู้เดินเรื่องและเจรจาติดต่อ ความสำเร็จคงไม่เกิดขึ้น

ทางด้านช่องทางการจำหน่ายน้ำมัน เพื่อรองรับน้ำมันที่จะเกิดจากโรงกลั่นก็ใช่ว่าจะราบเรียบ สถานีบริการน้ำมันที่ตกลงด้วยสัญญาสุภาพบุรุษกับทางสยามสหบริการ ซึ่งมีมงคล สิมะโรจน์ เป็นหัวเรือใหญ่นั้น เมื่อถึงเวลาจริงๆ ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อนกันแน่ เพราะต่างฝ่ายต่างมีเหลี่ยมในเชิงธุรกิจไม่แพ้กัน ขึ้นอยู่กับว่าจะตกลงผลประโยชน์ได้ลงตัวแค่ไหน

ถ้าตกลงไม่ได้ ทางทีพีไอจะสามารถสร้างขุมข่าย เพื่อต่อสู้กับรายเดิมได้อย่างไรในเวลาอันรวดเร็ว นโยบายที่จะบุกด้วยการค้าส่งน้ำมันเป็นหลัก ด้วยกลยุทธ์ราคานั้น ประชัยจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะฝ่าฟันไปได้ ความเจนสังเวียนในการจัดการกับธุรกิจนี้ ทางทีพีไอพร้อมแล้วหรือ ยิ่งเชลล์กับคาลเท็กซ์มีโรงกลั่นเป็นของตนเองด้วยแล้ว การแข่งขันในตลาดน้ำมันยิ่งร้อนแรงขึ้นอีกเป็นเท่าตัว เข้าใจว่า ประชัยก็คงจะลังเลไม่น้อย ปมขัดแย้งในเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องจึงเกิดขึ้น ตามวิสัยและบุคลิกของผู้นำองค์กรแห่งนี้

"ถ้าทุกคนลงทุนได้อย่างเสรี คงไม่มีใครอยากไปทะเลาะกับใคร นี่คือนิสัยที่เราได้รับการบ่มมา แต่ทีนี้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ด้วยสำนึกที่เราเป็นคนไทย อยากจะสร้างความเจริญให้กับประเทศ อยากตอบแทน ถ้าเป็นนักลงทุนคนอื่น เจออย่างนี้ก็อาจจะถอย ประเทศไทยก็จะล้าหลัง ด้อยพัฒนา มีแรงงานถูกๆ ขายออกไปอยู่ตลอดเวลา สังคมก็จะไม่เป็นอย่างนี้" ประชัยกล่าว

ประชัยมักจะกล่าวอ้างอยู่เสมอๆ ว่าลงทุนทุกอย่างเพื่อประเทศชาติเพื่อสังคม แต่ภายใต้การดำเนินการของกลุ่มทุนแห่งนี้ นับจากอดีตเรื่อยมา มีมากมายปัญหาทีเดียว และก็เข้าข่ายที่ว่าตนเองเท่านั้นถูกต้อง

ทีพีไอเคยนำเรือขุดสัญชาติจีนเข้ามาขุดลอกร่องน้ำในทะเลบริเวณจังหวัดระยอง เพื่อให้มีความลึกจาก 10 เมตรเป็น 15 เมตร เพื่อกิจการขนส่งของทีพีไอเอง โดยอ้างว่า ได้ว่าจ้างบริษัทคนไทยแล้วแต่ไม่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ ทำให้โครงการของตนล่าช้า จึงจำเป็นต้องละเมิดกฎหมาย มิหนำซ้ำยังอ้างว่าไม่รู้ระเบียบกรมเจ้าท่าในเรื่องนี้ว่าต้องขออนุญาตก่อน

ในพื้นที่จังหวัดระยอง ทีพีไออ้างว่าการตอบแทนสังคมเป็นเรื่องหลักของการดำเนินธุรกิจ แต่เมื่อสิ้นปี 2537 ผังเมืองกำลังจะหมดอายุ และเดิมเป็นพื้นที่สีเหลือง ซึ่งกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับการพาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัย ชุมชนหนาแน่นน้อยใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย สถาบันราชการ สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ

ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินดังนี้

1. โรงงานทุกประเภทเว้นที่ไม่ก่อเหตุรำคาญ

2. คลังวัตถุอันตราย

3. คลังเชื้อเพลิง สถานที่บรรจุและเก็บก๊าซ

เดิมนั้น ทีพีไอตั้งโรงงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี อยู่บนพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง ต่อมามีโครงการจะขยายพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานเดิมอีกประมาณ 6,700 ไร่ เพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและคลังเก็บก๊าซและสารเคมี จึงได้ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา

ซึ่ง สผ. ได้ส่งเรื่องกลับไปยังทีพีไอถึง 2 ครั้ง ว่าไม่อาจพิจารณาได้ เนื่องจากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่สอดคล้องกับผังเมือง

จนที่สุดเมื่อมีการพิจารณาแผนผังเมืองครั้งใหม่ปรากฏว่า พื้นที่เดิมได้กลายเป็นพื้นที่สีม่วงไปเสียแล้ว แม้จะถูกคัดค้านจากคนในพื้นที่ นักวิชาการอย่างมากก็ตาม จึงเท่ากับว่า ทีพีไอได้ตามที่ตนเองต้องการ

ยังมีการขุดอุโมงค์ลอดถนนหลวง เพื่อเป็นท่อส่งวัตถุดิบระหว่างโรงงานในเครือของทีพีไอ ในพื้นที่ จ.ระยองเช่นกัน แม้จะมีการคัดค้านในหลายเรื่องจากประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการขอเช่าพื้นที่จำนวน 3 ไร่ ของวัดปลวกเกตุ ต.เชิงเนิน เพื่อการณ์นั้น ที่สำคัญในสัญญาระบุว่า ทีพีไอมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้เท่านั้นทางวัดไม่มีสิทธิ์ แถมด้วยอัตราค่าเช่าก็แสนถูกคือ 24,000 บาทต่อปีเท่านั้น

ทางทีพีไอแก้ต่างในกรณีนี้ว่า ที่ไม่ให้ทางวัดบอกเลิกสัญญานั้น เนื่องจากทีพีไอลงทุนไปมาก เกรงว่าถ้าให้วัดบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผล จะทำให้โครงการเกิดความเสียหาย ส่วนค่าเช่าก็คงเป็นไปตามอัตราการเช่าที่ดินสงฆ์ ของกรมศาสนา

ชาวบ้านในระยอง ค่อนข้างจะหวั่นวิตกกับการดำเนินการของทีพีไอ ในหลายเรื่องเนื่องจากทีพีไอ ที่ประชัยพร่ำบอกว่าดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยดีนั้น แท้จริงแล้ว ชาวบ้านในระยองประสบเหตุหลายครั้ง เช่น โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก เอบีเอสและเอเอส ของบริษัทในเครือทีพีไอได้ปล่อยกลิ่นก๊าซและเขม่าควันดำ ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิต ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยในลักษณะต่างๆ เช่น อาเจียน หน้ามืด เป็นลม เป็นโรคผิวหนัง แท้งลูก จนถึงขั้นอาจเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาวได้ ซึ่งปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้ก็ยังยืดเยื้อมาจนปัจจุบัน การแก้ปัญหาก็เข้าข่ายลูบหน้าปะจมูกไปวันๆ

ภาพสวยหรูขององค์กรที่พยายามทำเพื่อประเทศชาติ ซึ่งประชัยพยายามสร้างขึ้นมา จึงไม่อาจจะปักใจเชื่อได้

การเรียกร้องต่อกระทรวงอุตสาหกรรม ในประเด็นโรงกลั่นน้ำมันครั้งนี้ก็เช่นกัน ไม่อาจจะสรุปได้ว่า ทีพีไอได้เรียกร้องความเป็นธรรม

และดูเหมือนว่ายิ่งประชัยก้าวรุกในเรื่องนี้มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งจะผูกมัดตนเองมากขึ้นเท่านั้น

ปลายเดือนมกราคม 2539 จากปัญหาที่ขัดแย้งกันนี้ทำให้ไชยวัฒน์ สินธุวงศ์ เริ่มจี้ทีพีไอในเรื่องการละเมิดระเบียบเรื่องสัญญาโรงกลั่น โดยมีการสั่งไปย้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบโรงกลั่นคอนเดนเสทที่มีอยู่ในประเทศจำนวน 4 ราย ว่ามีการกลั่นผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเปิดกว้างในกรณีการนำคอนเดนเสทมากลั่นเพื่อให้ได้วัตถุดิบไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

"แต่ในขณะนี้บางรายได้ดำเนินการผิดวัตถุประสงค์ โดยกลั่นเพื่อให้ได้น้ำมันมาจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง" ไชยวัฒน์กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันนั้น การนำคอนเดนเสทมากลั่นเพื่อให้ได้วัตถุดิบไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้น ในขั้นตอนแล้วก็สามารถที่จะกลั่นเพื่อให้ได้น้ำมันเชื้อเพลิงเช่นกัน เพียงแต่ว่าการนำน้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น จะมีขั้นตอนการเพิ่มคุณภาพน้ำมันเพื่อให้ได้ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด แต่การกลั่นจากคอนเดนเสทนั้นจะไม่มีกระบวนการนี้ ผู้ลักลอบกลั่นตามกระบวนการนี้จึงเท่ากับว่าเอาเปรียบผู้บริโภคและผู้ค้ารายอื่น

ปัจจุบัน โรงคอนเดนเสทในไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 4 โรงกลั่น คือ บริษัทศักดิ์ไชยสิทธิ์, บริษัทวีระสุวรรณ, บริษัทซิค และบริษัททีพีไอ ซึ่ง 3 โรงงานแรกนั้น ทางกรมโรงงานฯ ระบุว่ามีการดำเนินการถูกวัตถุประสงค์

ส่วนทีพีไอนั้น รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า มีการกระทำที่ส่อเจตนาโดยกลั่นน้ำมันจากคอนเดนเสทมาจำหน่ายในตลาดทั่วไป การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายเป็นการสร้างโรงกลั่นเถื่อน เพราะยังไม่มีการขออนุญาตจากกระทรวงฯ และที่สำคัญยังไม่มีการจ่ายค่าธรรมเนียมจัดตั้งโรงกลั่น และค่ารอยัลตี้

ไชยวัฒน์กล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่า จะหาทางให้ทีพีไอเข้ามาสู่ระบบที่ถูกต้องให้ได้ภายใน 3 เดือน พร้อมกับข่าวการกลั่นคอนเดนเสทผิดวัตถุประสงค์ของทีพีไอ ได้มีข่าวการเร่ขายน้ำมันดีเซล โดยตัวแทนจากทีพีไอในราคาถูกอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือคุ้มทุนประดังเข้ามา ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการตอกย้ำการลักลอบนั้น ซึ่งจะมีต้นทุนการกลั่นถูกกว่าการนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่น

ดูเหมือนว่า การแสบีบรัดทีพีไอจะหนักข้อขึ้นทุกวัน นี่ยังไม่รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะเข้าตรวจสอบระบบความปลอดภัยของโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกของทีพีไอ ที่ระยะหลังมีอุบัติเหตุเพลิงไหม้บ่อยครั้ง รวมทั้งตรวจสอบระบบป้องกันปัญหามลพิษด้วย

สำหรับประชัยก็ได้แต่ปฏิเสธและเกรี้ยวกราดเท่านั้น ไม่อาจจะทำอะไรได้ ถามถึงความคืบหน้าโครงการโรงกลั่นน้ำมัน ประชัยตอบอย่างไม่ยี่หระว่า "กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาราคาเครื่องจักรกับเจรจาในสัญญารวมทุนผู้ถือหุ้น ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง"

ที่สำคัญคำตอบนี้ มีอายุเกือบ 1 ปีแล้ว และก็ไม่รู้ว่าอีก 1 ปี หรือ 2 ปีข้างหน้า คำตอบจะยังคงเดิมเช่นนี้หรือไม่ เพราะเกมที่ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ สร้างขึ้นครั้งนี้ นับวันจะยิ่งลุ่มลึกขึ้นเรื่อยๆ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us