หลังจากที่ซุ่มขายสินค้าเงียบๆ มาประมาณ 1 ปี จนกระทั่งมีจุดขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วกรุงเทพฯ
ทั้งสิ้น 14 แห่งแล้ว บรษัทพีดี เหมืองแร่และอัญมณี จำกัด ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวเครื่องประดับทองคำสวิส
99.99% ภายใต้แบรนด์เนม "โกลด์ เนเจอร์" อย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ว่ากันว่านอกจากจะเป็นการแนะนำสินค้าให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ยังเป็นการประกาศถึงความพร้อมในการรุกตลาดของโกลด์เนเจอร์อีกด้วย
เครื่องประดับทองคำสวิส 99.99% ในประเทศไทยถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2534 เมื่อบริษัท
โกลด์ มาสเตอร์ จำกัด (มหาชน) โดยสองพี่น้องสมองใส นพดลและปริญญา ธรรมวัฒนะ
ลุกขึ้นมาฉีกตำราการค้าทองตำรับเยาวราชทิ้งแล้วสร้างกลยุทธ์ใหม่ขึ้นมาแทนที่
ด้วยการนำเสนอรูปแบบและคุณภาพสินค้าที่แตกต่างจากทองตู้แดง ไม่เพียงเท่านั้นยังขายในราคาที่สูงกว่าทองเยาวราช
ซึ่งเป็นทอง 96% ถึงเท่าตัว
ด้วยคอนเซ็ปต์ทางการตลาดที่สมบูรณ์ ทำให้โกลด์ มาสเตอร์ประสบความสำเร็จอย่างงดงามเหนือความคาดหมาย
ชนิดที่นพดลและปริญญาไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า โกลด์ มาสเตอร์จะกลายเป็นแบบอย่างให้ผู้ค้าทองและเครื่องประดับรายอื่นๆ
เดินตามเหมือนปัจจุบันนี้
"ตอนเริ่มทำไม่เคยคิดเลยว่าจะมีคนตาม คิดอยู่แค่ว่าของเราจะไปรอดหรือเปล่า
แต่ผมว่าก็ดีที่ตอนนี้มีหลายบริษัททำทอง 99.99% ออกมาจำหน่าย เพราะจะได้ช่วยกันทำให้ตลาดคึกคักขึ้น"
ปริญญา ธรรมวัฒนะ ซีอีโอของโกลด์ มาสเตอร์ ที่กำลังจะกลายเป็นบริษัทมหาชนเร็วๆ
นี้ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทองสวิส 99.99%
"โกลด์ เนเจอร์" ซึ่งเขาบอกว่ามาร่วมแสดงความยินดีในฐานะคนวงการเดียวกัน
ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับทองคำสวิส "โกลด์ เนเจอร์" นับเป็นการขยายธุรกิจครั้งสำคัญของพีดี
เหมืองแร่และอัญมณี ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์
เพราะเป็นสินค้าตัวแรกของบริษัทที่ถูกแนะนำออกสู่สายตาสาธารณชน เนื่องจากที่ผ่านมาธุรกิจหลักของบริษัท
คือการทำเหมืองแร่รัตนชาติ อันประกอบไปด้วยพลอยหลัก 2 ชนิด คือ ไพลินและบุษราคัม
นอกเหนือไปจากความเชี่ยวชาญด้านการเจียระไนพลอยและการออกแบบอัญมณี ภายใต้การบริหารและดูแลอย่างใกล้ชิดของ
"สนธิ รัตนพันโทวงษ์" ประธานกรรมการบริหาร
"สนธิ รัตนพันโทวงษ์" นับว่าเป็นบุคคลผู้คร่ำหวอดในวงการอัญมณีมานานกว่า
30 ปี ก่อนที่จะแยกตัวออกมาตั้งพีดี เหมืองแร่และอัญมณี เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา
เขาเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างความสำเร็จให้กับแพรนด้า
จิวเวลรี่ โดยเป็นผู้ร่วมบุกเบิกกับ "ปรีดา เตียสุวรรณ์" มาอย่างใกล้ชิด
ก่อนที่จะแยกตัวออกมาทำธุรกิจตามลำพังนั้น เขามีตำแหน่งรองประธานบริษัท แพรนด้า
จิวเวลรี่ และเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ด้วย
"ความสัมพันธ์ของคุณพ่อ (สนธิ) กับคุณปรีดา เริ่มมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีแพรนด้า
จิวเวลรี่ ช่วงนั้นคุณปรีดาเป็นโบรกเกอร์หาออร์เดอร์มาให้กับโรงงานผลิต ขณะที่คุณพ่อจะเป็นคนที่เชี่ยวชาญในด้านการผลิตมาก
ดังนั้นเมื่อมีออร์เดอร์มากขึ้น ทั้งสองคนก็มาร่วมลงทุนกัน โดยที่คุณปรีดาเป็นคนดูแลด้านการตลาด
ฝ่ายคุณพ่อจะควบคุมด้านการผลิตทั้งหมด" กู้เกียรติ รัตนพันโทวงษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดพีดี
เหมืองแร่และอัญมณี ลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นของสนธิเล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง
ด้วยความเชี่ยวชาญในเรื่องการผลิตเครื่องประดับอัญมณีนี่เอง ที่ทำให้ "สนธิ"
มีความคิดที่จะผลิตเครื่องประดับทองคำสวิส 99.99% ออกมาสู่ตลาดกับเขาบ้าง
เพราะนอกจากจะได้นำประสบการณ์และความรู้ความสามารถมาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว
ยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัท รวมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้นด้วย
เพราะถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ตลาดทอง 99.99% ยังถือได้ว่ามีคู่แข่งน้อยมาก
โดยเฉพาะรายที่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดมีอยู่เพียง 2 ราย คือ โกลด์ มาสเตอร์
และพรีม่า โกลด์ ของแพรนด้า จิวเวลรี่เท่านั้น นอกนั้นก็เป็นแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยที่พยายามจะแจ้งเกิดให้ได้อีก
2-3 ราย จึงไม่ใช่เรื่องลำบากนัก สำหรับเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาดที่วางไว้
คือ 10% ของตลาดรวมมูลค่าปีละ 1,000 ล้านบาทในปีแรก ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 15%
ในปีถัดไป
เพียงแต่ต้องมีการปรับตัวกับบ้างเล็กน้อย กล่าวคือ แทนที่จะทำตลาดทั้งชนิดทอง
99.99% และ 96.5% ควบคู่กันไป ก็ต้องเหลือแต่ทอง 99.99% เพียงอย่างเดียว
เพราะทอง 96.5% ไม่สามารถสร้างจุดแตกต่างที่ชัดเจนจากทองตู้แดง ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ทองเท่ากันได้
แม้ว่าจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ด้วยราคาที่แพงกว่าทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาด
"อีกอย่างถ้าเราทำทอง 96.5% ด้วย จะทำให้เรามีปัญหาในการทำตลาดทอง
99.99% ซึ่งเป็นสินค้าหลัก เพราะไม่สามารถโหมกำลังไปในทางเดียวได้ แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าการมีทองทั้งสองชนิดจะดีตรงที่ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกก็ตาม"
กู้เกียรติกล่าว
สำหรับ "กู้เกียรติ" แม้ว่าเขาจะยังเป็นน้องใหม่ของพีดี เหมืองแร่และอัญมณี
ด้วยอายุงาน 7 เดือนเท่านั้น แต่ในฐานะทายาทคนโตเขาจึงถูกวางตัวให้เป็นหัวเรือใหญ่ที่จะรับช่วงการบริหารกิจการต่อจากคุณพ่อ
ซึ่งการเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดในช่วงสำคัญของบริษัทที่กำลังจะเปลี่ยนสถานะจากการเป็นผู้ผลิตเพียงอย่างเดียว
เข้าสู่การแข่งขันทางการตลาดกับคู่แข่งอย่างสมบูรณ์จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด
ก่อนที่จะมาร่วมงานกับพีดี เหมืองแร่และอัญมณี กู้เกียรติเป็นพนักงานของธนาคารกรุงศรีอยุธยา
จำกัด อยู่ประมาณ 6 เดือน หลังจากที่เขาสำเร็จการศึกษาด้านเอ็มบีเอกลับมาจากสหรัฐอเมริกา
ซึ่งที่นั่นเขาได้มีโอกาสเข้าไปฝึกงานและเรียนรู้เกี่ยวกับการดูพลอยอยู่นาน
6 เดือน เพราะรู้ดีว่าไม่ช้าก็เร็วเขาต้องเข้ามาสานต่อธุรกิจที่คุณพ่อวางรากฐานเอาไว้
และคาดว่าอนาคตคงมีบรรดาน้องๆ ของเขาที่ยังร่ำเรียนหนังสืออยู่เข้ามาช่วยกันทำงานมากกว่านี้
ซึ่งแน่นอนว่าพีดี เหมืองแร่และอัญมณี จะไม่หยุดการขยายธุรกิจอยู่เพียงแค่นี้
เพราะขณะนี้ก็ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 60 ล้านบาท เป็น 120 ล้านบาท
เพื่อนำมาใช้ลงทุนขยายกิจการไว้เรียบร้อยแล้ว โดยอันดับต่อไปที่จะทำคือ การแนะนำเครื่องประดับอัญมณีออกมาทำตลาด
จากเดิมที่ผลิตให้กับคนอื่นมานาน
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับซัปพลายเออร์เพชรรายใหญ่ของต่างประเทศ
ซึ่งหากสำเร็จจะทำให้บริษัทได้เปรียบในเรื่องการจัดหาวัตถุดิบอีกมาก รวมทั้งจะทำให้ได้ต้นทุนที่ถูกลง
จากเดิมที่มีพลอยไพลินและบุษราคัมอยู่แล้ว
ส่วนโกลด์ เนเจอร์เองนั้นก็มีแผนที่จะขยายตลาดในต่างประเทศเพิ่มเติมโดยขณะนี้กำลังเจาะตลาดอินโดนีเซียและมาเลเซียอย่างขะมักเขม้น
สำหรับตลาดเมืองไทยนั้น กู้เกียรติกล่าวว่าเขาไม่หนักใจในการทำตลาดนัก
เพราะโกลด์ เนเจอร์มีข้อเสนอที่ดีกว่าคู่แข่งหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ถูกกว่า
โกลด์ มาสเตอร์ 10-20% ถูกกว่าพรีม่า โกลด์ 5% นอกจากนี้ราคารับซื้อคืนยังสูงกว่าคือ
บวกให้ลูกค้าอีก 10% ของราคาการซื้อขายทองในวันนั้น ขณะที่คู่แข่งบวกให้ลูกค้าเพียง
5%
"ถ้าเราผลิตแบบที่ถูกใจลูกค้า เรามั่นใจว่าเขาต้องซื้อแน่ เพราะไม่รู้ว่าจะไปจ่ายแพงกว่าทำไม
ทองคำไม่เหมือนรถยนต์ จะได้ดูกันแค่ยี่ห้อ" กู้เกียรตืกล่าวทิ้งท้าย