แผนการรุกของสยามซูบารุ ในเครือเคพีเอ็นทางด้านบริการ ที่ส่งผลถึงภาพพจน์ของสินค้าในทันทีครั้งนี้
ดูจะคุ้มค่าและเจาะใจกลุ่มเป้าหมายอย่างฉับพลันทีเดียว หรืออย่างน้อย แคมเปญชิ้นนี้ก็สร้างความสนใจให้เกิดกับกลุ่มเป้าหมายอย่างแน่นอน
กระนั้นก็ตาม ซูบารุ นิวเลกาซี่ ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นตัวนำ ที่จะมาผลักดันให้วงการรถยนต์ต้องรับประกันเพิ่มขึ้นเป็น
4 ปี
รถยนต์ซูบารุ นับเป็นรถยนต์ญี่ปุ่นอีกยี่ห้อหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากวงการว่า
เป็นรถยนต์คุณภาพในอันดับต้นๆ แต่ด้วยความเป็นสินค้าที่มีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม
ไม่เปิดกว้างมากนัก ด้วยบุคลิกหลายๆ ด้านของตัวสินค้า ทำให้ยอดจำหน่ายแต่ละปีมีไม่มากนัก
โดยเฉพาะในประเทศไทย
การเปิดตลาดรถยนต์นั่งซูบารุ ในยุคหลังเปิดเสรียานยนต์ไทย ถือได้ว่าเป็นยุคใหม่
ภายใต้การคุมเกมของเจ้าเดิมคือ คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช
ก่อนหน้านั้นซูบารุ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทสยามกลการ ซึ่งคุณหญิงพรทิพย์กุมบังเหียนอยู่
แต่กิจกรรมทางการตลาดของซูบารุเงียบเหงาอย่างมาก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
แต่บทสรุปก็คือว่า รถยนต์นิสสันยังคงจำหน่ายได้ดีกว่าอย่างมาก ต่อเมื่อคุณหญิงพรทิพย์หลุดจากการดูแลสยามกลการ
ซึ่งหมายถึงพ้นจากการทำตลาดรถยนต์นิสสันด้วย และที่สำคัญเครือข่ายเคพีเอ็นได้ถูกโปรโมตขึ้นมาแล้ว
การปลุกตลาดรถยนต์ซูบารุ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำเสียที
จากนี้ไปเชื่อได้ว่า แผนงานการรุกตลาดของรถยนต์นั่งยี่ห้อซูบารุในประเทศไทย
น่าจะมีออกมาเป็นระยะๆ
การรับประกันรถยนต์ซูบารุ รุ่นนิวเลกาซี่ เป็นเวลา 4 ปี หรือ 1 แสนกิโลเมตร
พร้อมฟรีค่าแรงค่าบริการ และค่าอะไหล่ต่างๆ นับเป็นการรุกที่สำคัญและชาญฉลาดมากกว่า
การที่จะลดราคาจำหน่ายลงมา ผู้บริหารของสยามซูบารุมองเช่นนั้น
"ผู้ซื้อซูบารุในช่วงแคมเปญนี้จะประหยัดเงินไปถึงเกือบสองแสนบาท เพราะตลอดระยะ
4 ปีหรือช่วง 100,000 กิโลเมตร ถ้าขับตามปกติและตรวจเช็กตามระยะทางสม่ำเสมอ
ผู้ซื้อจะไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษารถเลยแม้แต่น้อย ฟรีทุกอย่างตามสภาพการใช้งานปกติ"
ผู้บริหารกล่าว
เหตุผลที่เลือกวิธียืดอายุการรับประกันออกไปเป็น 4 ปี พร้อมกับฟรีทุกอย่างในงานซ่อมบำรุงนั้น
เพราะหวังในเรื่องของภาพพจน์มากกว่าประเด็นอื่น ต้องการที่จะเน้นความเป็นรถยนต์ญี่ปุ่นที่คุณภาพสูงสุดไม่แพ้รถยนต์ญี่ปุ่น
ตลาดที่ไม่มีความสนใจหรือไม่ให้ความสำคัญในความเป็นรถยนต์นั่งขับเคลื่อนสี่ล้อ
จึงมักจะมองข้ามสมรรถนะพิเศษหลายๆ ด้าน ที่มีเหนือกว่ารถยนต์นั่งขับเคลื่อนสองล้อ
สุดท้ายการตัดสินใจซื้อซูบารุ จึงยังคงเป็นเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
กลุ่มที่รู้จักรถยนต์นั่งขับเคลื่อนสี่ล้อและรู้จักซูบารุเท่านั้น ที่จะเข้ามาเป็นลูกค้า
การกระจายออกไปยังวงกว้างเป็นเรื่องที่ยาก
"ซูบารุเป็นรถแมสได้ยาก มันไม่ใช่รถตลาด ลูกค้ามีเพียงเฉพาะกลุ่มเท่านั้น"
คำกล่าวบางส่วนเมื่อปลายปีที่แล้วของเกษม ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้งเครือข่ายเคพีเอ็น
เมื่อคราวตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์
และซูบารุอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งหรือไม่
คำกล่าวของเกษม ใช่ว่าจะเท่ากับเป็นการปิดหนทางเติบโตของซูบารุจนถึงขั้นประกอบในไทย
แต่กลับหมายถึงว่า นี่คืองานที่ท้าทายมากกว่า
แผนงานเพื่อเร่งปูพื้นฐานและสร้างตลาดให้กับซูบารุ ถูกระดมออกมา แคมเปญรับประกัน
4 ปี ฟรีทุกอย่าง ถือเป็นอาวุธแรกที่ซัดออกมา
"ยังมีต่อเนื่องอีก แต่ยังคงไม่อาจกล่าวได้ว่าจะเป็นอะไรบ้าง"
สำหรับการรับประกัน 4 ปีนั้น ในขั้นแรกนี้จะยังเป็นช่วงโปรโมชั่นเพียงไม่กี่ร้อยคันเท่านั้น
จากนั้นจะดูว่าผลที่ออกมาเป็นอย่างไร จึงมาพิจารณาอีกครั้ง แต่แนวโน้มที่ว่าจะรับประกัน
4 ปีตลอดไป หรือขยายช่วงแคมเปญให้ยาวขึ้นนั้น มีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะปกติตัวซูบารุ
นิวเลกาซี่ รับสภาพนี้ได้อยู่แล้ว
ส่วนการรุกมายังซูบารุ อิมเพรสซ่า ซึ่งเป็นรถยนต์ระดับราคาต่ำลงมานั้น
ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา แม้ที่ผ่านมารถยนต์นั่งในตลาดระดับบน จะมีการรับประกันมากกว่า
2 ปีอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการฟรีค่าแรง และอุปกรณ์ชิ้นส่วนเล็กๆ
น้อยๆ มากกว่า การเจาะในจุดนี้ของซูบารุ ก็น่าจะทำให้ตลาดระดับกลางกึ่งบนหันมาให้ความสนใจ
และคงส่งผลกระทบอยู่บ้าง
แต่แคมเปญชิ้นแรกของซูบารุ นิวเลกาซี่ ครั้งนี้ ก็ส่งผลต่อการทำตลาดซูบารุ
นิวเลกาซี่ เพียงวงแคบเท่านั้น คงไม่น่าจะถึงขั้นพลิกตลาดรถยนต์ในเรื่องการรับประกันที่ค่ายอื่นๆ
จะต้องเพิ่มเป็น 4 ปีตามไปด้วย แม้จะมีการพูดกันมานานหลายปีแล้วก็ตาม
เพราะถึงวันนี้ สยามซูบารุ ยังคงตั้งเป้าหมายการจำหน่ายเพียงปีละ 1,000
คันเท่านั้น คงต้องรอวันที่ซูบารุ กลายเป็นแมสโปรดักส์ในเมืองไทย ดังที่เกษมกำลังพยายามอยู่
ถึงวันนั้นการจุดพลุรับประกัน 4 ปี คงจะเร่งพลังให้เจิดจ้ากว่านี้