Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2539
ไทม์มิเตอริ่ง อย่าพูดนาน...ของมันแพง             
โดย ไพเราะ เลิศวิราม
 


   
www resources

โฮมเพจ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

   
search resources

องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย-TOT
Telecommunications




"ไทม์มิเตอริ่ง" กลับมาเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมธุรกิจไทยอีกครั้ง เมื่อองค์การโทรศัพท์ปัดฝุ่นกลับมาเสนอกระทรวงคมนาคมยุค "พรรคความหวังใหม่" สนับสนุน แน่นอนย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผลประโยชน์จะตกกับทีเอจริงหรือ นี่คือการขึ้นค่าโทรศัพท์แบบทางอ้อม หรือนี่คือความยุติธรรมสำหรับผู้บริโภค "ผู้จัดการ" รวบรวมทุกแง่มุมเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะ "โทรศัพท์" คือลมหายใจของสังคมไทยไปแล้ว!

ที่จริงแล้ว ไทม์โซนมิเตอริ่ง
หรือระบบการคิดค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานตามเวลาของการใช้งานไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย

ทศท.ริเริ่มมาเกือบ 10 กว่าปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งมีพลตำรวจตรีสมบัติ คามัษเถียร และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เป็นประธานบอร์ดองค์การโทรศัพท์ ซึ่งทั้งหมดได้ผ่านความเห็นชอบตามที่ ทศท.เสนอขอให้เปลี่ยนระบบการเก็บเงินค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานในจังหวัดเฉพาะในช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ใช้มากจากวันละ 3 บาท ให้เป็นระบบไทม์โซนมิเตอริ่ง

ความมั่นใจของ ทศท.ในยุคนั้น ถึงขั้นลงมือจัดซื้ออุปกรณ์ในการจับเวลามูลค่า 30 ล้านบาท จากอัลคาเทลบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมจากฝรั่งเศส เพื่อมารองรับกับระบบไทม์โซนมิเตอริ่งไว้แล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับอนุมัติการปรับค่าบริการอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

เงินที่นำมาซื้ออุปกรณ์นั้น ทศท.ใช้วิธีขอนุมัติงบประมาณซื้ออุปกรณ์จากบอร์ด ทศท. เนื่องจากวงเงินที่ใช้ซื้อมีไม่มากอยู่ในอำนาจที่บอร์ด ทศท.สามารถอนุมัติได้อยู่แล้วไม่ต้องรอ ครม. เพียงรอให้ ครม.อนุมัติในเรื่องการปรับค่าบริการเท่านั้น

ความฝันของ ทศท.เกือบความจริง หากไม่เกิดยุบสภาเสียก่อน และหลังจากเปลี่ยนเป็นรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ไม่เห็นด้วยที่จะนำระบบนี้มาใช้ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เรื่องจึงเงียบหายไป พร้อมกับอุปกรณ์มูลค่า 30 ล้านบาทที่ซื้อมาในครั้งนั้นจึงถูกปล่อยทิ้งร้างมาจนทุกวันนี้

"ทศท.ผลักดันเรื่องไทม์โซนมิเตอริ่งเสนอรัฐบาลไปแทบทุกสมัย แต่เรื่องก็เงียบหาย เพราะกระทบกับคนหมู่มาก จึงไม่มีรัฐบาลชุดไหนกล้าเสี่ยง" เจ้าหน้าที่ของ ทศท.เล่า

กระทั่งมาถึงรัฐบาลชุดนี้ ไทม์โซนมิเตอริ่งจึงถูกหยิบยกขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ ทศท.ไม่ได้ผลักดับเพียงลำพัง แต่มีแรงหนุนจากทีเอ เอกชนผู้รับสัมปทานโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับพรรคความหวังใหม่ และเป็นผู้ดูแลกระทรวงคมนาคมเป็นกองหนุน เรื่องจึงถูกจุดพลุขึ้นอีกครั้ง

สายสัมพันธ์ระหว่างทีเอ และพรรคความหวังใหม่นั้น อย่างที่รู้กันว่าแน่นปึ้กเพียงใด โครงการต่างๆ ที่เคยรอมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ผ่านมาหลาย รมต.คมนาคมลุล่วงอย่างง่ายดายในรัฐบาลชุดนี้ ตั้งแต่ขยายโทรศัพท์ 1.1 ล้านเลขหมาย ยังขยายผลมาถึงบริการเสริมต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวสร้างเม็ดเงินมหาศาลในวันข้างหน้า

กองหนุนที่ผลักดันเรื่องนี้มีตั้งแต่สมบัติ อุทัยสาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สังกัดพรรคความหวังใหม่ ซึ่งรับผิดชอบดูแลทั้งองค์การโทรศัพท์ และการสื่อสารแห่งประเทศไทย ยังมีคณะกรรมการ ทศท.ที่ส่งตรงมาจากพรรคความหวังใหม่ รวมถึงแก้ว บัวสุวรรณ ส.ส.พรรคความหวังใหม่ จังหวัดเพชรบูรณ์ และเป็นประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม และโกศล เพ็ชร์สุวรรณ ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาของทีเอร่วมทีมอยู่ด้วย

ขั้นตอนนั้นเริ่มด้วยคณะกรรมาธิการต้องการลดค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐาน และ ทศท.ซึ่งรอมาเป็นเวลานานก็ออกมารับลูกทันที แต่แทนที่จะเป็นการลดค่าโทรลงตามปกติกลับเสนอให้นำระบบไทม์โซนมิเตอริ่งมาใช้แทน โดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นกองหนุน

แต่จากบทเรียนคราวที่แล้ว จึงยังไม่กล้าผลีผลามทำอะไรลงไป ที่สำคัญอาจกระทบถึงคะแนนเสียงของพรรคความหวังใหม่ สิ่งที่ทำได้ในช่วงต้นคือการทดสอบกระแส โดยสมบัติ อุทัยสาง ได้มอบหมายให้ ทศท.ไปศึกษาเป็นเวลา 3 เดือน การนำไทม์โซนมิเตอริ่งมาใช้นั้น แม้ว่า ทศท.จะอ้างถึงว่า เพื่อความเป็นมาตรฐาน และเพื่อความเป็นธรรมและสร้างวินัยไม่ให้คนใช้โทรศัพท์นาน แต่หลายคนมองว่าน่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับทีเอมากกว่า เพราะสาเหตุของการนำระบบนี้มาใช้และการผลักดันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ชวนสงสัยว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จริงหรือไม่

จะเห็นได้ว่าการนำระบบไทม์โซนมิเตอริ่งมาใช้นั้นมีทั้งเสียงเห็นด้วย และเสียงคัดค้าน ผู้ที่เห็นด้วยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารของ ทศท. อาทิ จุมพล เหราบัตย์ ผู้อำนวยการ ทศท. ดร.วัลลภ วิมลวณิชย์ กรรมการบริหารจากเทเลคอมเอเซีย สมบัติ อุทัยสาง รมช.คมนาคม รวมทั้งนักวิชาการ และนักธุรกิจบางส่วน

ประเด็นสำคัญๆ ที่ถูกหยิบยกมา คือต้องการให้เป็นมาตรฐานสากลเดียวกับในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ระบบไทม์โซนมิเตอริ่ง เหตุผลถัดมาคือความเป็นธรรมสำหรับคนใช้มากก็เสียค่าใช้จ่ายมาก คนใช้น้อยควรเสียน้อยและสร้างวินัยไม่ให้คนใช้โทรศัพท์นาน ซึ่งจะช่วยลดความคับคั่งในการใช้วงจรเชื่อมโยงระหว่างชุมสาย ซึ่งปกติจะมีประมาณ 10% ของเลขหมายโทรศัพท์ หากมีการใช้งานมาก ทศท.ก็จำเป็นต้องลงทุนขยายเพิ่มขึ้น และการลงทุนขยายบางครั้งก็อาจไม่คุ้ม เนื่องจากในช่วงกลางวันจะมีคนใช้มากแต่ในช่วงกลางคืนจะมีคนใช้น้อย

ข้อคิดเห็นของผู้ที่เห็นด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นประโยชน์ในแง่ของผู้ให้บริการมากกว่าผู้ใช้บริการ ในขณะที่เสียงคัดค้านจะประกอบไปด้วยกรรมาธิการคมนาคม ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์และเอกชนในวงการธุรกิจและบุคคลทั่วไป

ประเด็นหลักของการคัดค้าน มองว่าเป็นการขึ้นราคาค่าโทรศัพท์อย่างแยบยล เพราะวิธีนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์หรือรายได้เพิ่มคือ ผู้ให้บริการคือ ทีเอและ ทศท. ไม่ใช่ประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งไม่มีทางเลือก

"คุณคิดดูจากครั้งละ 3 บาท มาเป็นวิธีการจับเวลา ไม่ว่าจะเป็นนาทีละเท่าไรก็ตามก็ถือว่าเป็นการขึ้นค่าโทรศัพท์ชัดๆ ยิ่งในอนาคตคนจะใช้โทรศัพท์มากขึ้น และใช้บริการอินเทอร์เน็ต หรือบริการผ่านคู่สายโทรศัพท์ อันเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากบริการโทรคมนาคม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบโดยตรง" ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และโฆษกคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ แสดงความคิดเห็น

ในขณะที่คนในวงการธุรกิจมองว่า เป็นเรื่องของการหาเสียงของพรรคการเมือง ที่แฝงมากับการหาผลประโยชน์ของเอกชนผู้รับสัมปทานมากกว่า แม้ว่าจะอ้างเรื่องการคับคั่งของวงจรเชื่อมโยง แต่ในความเป็นจริงแล้วปัจจุบันผู้ใช้ก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการโทรไม่ติด ไม่เหมือนในอดีตที่อาจมีปัญหานี้

จากการเปิดเผยของทีเอพบว่าสถิติในการโทรไม่ติดต่ำมากมีเพียงแค่ 0.01% หรือโทร 1,000 ครั้ง โทรไม่ติด 1 ครั้ง แม้จะเป็นในช่วงที่มีการใช้สายคับคั่งมากที่สุดก็ตาม หากวงจรเชื่อมโยงระหว่างชุมสาย ซึ่งมีอยู่ 10% ของคู่สายมีไม่เพียงพอ ก็ควรเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องขยายให้ทันกับความต้องการของประชาชน ไม่ควรผลักภาระมาให้ประชาชน แม้จะมีผู้เห็นด้วยให้มีการนำไทม์มิเตอริ่งมาใช้ แต่ยังมีเงื่อนไข หรือข้อเสนอแนะจากบรรดานักวิชาการ และคนในวงการโทรคมนาคม ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายข้อ

ประเด็นที่ให้ความสำคัญมากที่สุด คือ อัตราค่าบริการที่จะนำมาใช้จะต้องไม่ทำให้ทีเอ หรือ ทศท.ได้รับผลประโยชน์หรือรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะเท่ากับว่าเป็นการขึ้นราคาค่าโทรศัพท์ ขณะเดียวกันจะต้องไม่ทำให้รายได้ของผู้รับสัมปทานให้ลดลง เพราะอาจส่งผลกระทบถึงแผนการกู้เงินของผู้รับสัมปทาน เนื่องจากความไม่แน่นอนของรายได้ นั่นก็คือ จะต้องไม่กระทบทั้งประชาชน และผู้ให้บริการ

ข้อที่ควรระวังคือ ตัวเลขสถิติของประชาชนส่วนใหญ่จะใช้เวลากี่นาทีจะต้องแม่นยำจริงๆ เพราะแนวการคิดค่าบริการนั้นจะยึดหลักไม่ให้กระทบกับคนหมู่มาก ซึ่งต้องเสียค่าโทรเท่าเดิม หรือน้อยลง แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า สถิติที่ ทศท.และทีเอออกมาบอกว่าคนส่วนใหญ่จำนวน 80-90% ใช้เวลาในการโทรศัพท์ไม่ถึง 3 นาทีเป็นตัวเลขที่แท้จริง ควรให้หน่วยงานกลางเป็นผู้สำรวจหรือทำสถิติการใช้งานที่แท้จริงแทนที่จะเป็น ทศท. หรือทีเอ เพราะหากสถิติดังกล่าวไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น จากตัวเลขข้างต้นกำหนดให้เก็บค่าบริการ 3 นาทีแรก 3บาท นาทีต่อไปนาทีละ 1 บาท ซึ่งนำมาจากตัวเลขสถิติบอกว่าประชาชน 80-90% ใช้เวลาโทรศัพท์ไม่ถึง 3 นาที แต่ในความเป็นจริงแล้วคนส่วนใหญ่ใช้เวลา 5 นาที เท่ากับว่าส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจะตกไปอยู่ในมือผู้ให้บริการทันที

ในขณะที่นักวิชาการ อ.สุธรรม อยู่ในธรรม อดีตที่ปรึกษา รมต.คมนาคม เสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรคมนาคมใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์มือถือ หรือวิทยุติดตามตัว โดยยึดหลักการคำนวณจากต้นทุนการลงทุน (Cost Accounting) และจึงบวกด้วยกำไร เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ส่วนหนึ่งนั้นมาจากการสำรวจของบริษัทคูเปอร์ แอนด์ ไรแบนด์ ที่ปรึกษาในการแปรรูป ทศท.พบว่า ทศท.ขาดทุนจากการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานภูมิภาคในขณะที่โทรศัพท์ทางไกล ทศท.มีกำไรมากเกินไป ขณะเดียวกันมีเสนอให้ใช้เฉพาะระบบไทม์มิเตอริ่ง ซึ่งเป็นการคิดเวลาตามที่ใช้ ไม่ควรนำระบบโซนนิ่ง หรือการแบ่งเป็นเขต ซึ่งอาจทำให้เกิดความยุ่งยากและสับสน และเอาเปรียบประชาชนมากเกินไป เพราะหากโทรข้ามเขตจะต้องเสียค่าโทรในอัตราที่เพิ่มขึ้น

สิ่งเหล่านี้จะตอบคำถามได้ว่าการนำระบบไทม์มิเตอริ่งจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการเพียงใด จะขึ้นอยู่กับอัตราค่าบริการที่ ทศท.กำหนดออกมา

โทรศัพท์ เรื่องของโลกาภิวัตน์

เหตุผลใหญ่ที่ผลักดันให้ประเทศไทยนำระบบไทม์มิเตอริ่งมาใช้ คือเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกับต่างประเทศ เมื่อดูอัตราค่าโทรศัพท์ในต่างประเทศ พบว่าส่วนใหญ่จะนำระบบไทม์มิเตอริ่งมาใช้จริง ซึ่งจะเป็นประเทศในแถบยุโรป และในย่านเอเชีย ที่มีสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีหรือในประเทศที่เจริญแล้ว แต่ก็มีบางประเทศคิดในลักษณะเหมาจ่าย เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง หรือบางรัฐของสหรัฐอเมริกา ที่คิดค่าใช้จ่ายในการโทรเหมารวมไว้ในค่าเช่าเลขหมายต่อเดือนแล้ว ผู้ใช้สามารถโทรได้ไม่จำกัดซึ่งสังเกตให้ดีประเทศเหล่านี้จะมีลักษณะเป็นเกาะมีพื้นที่ไม่มาก และมีการพัฒนาด้านเครือข่ายโทรคมนาคมค่อนข้างมาก

ปรากฏว่า ประเทศที่คิดค่าโทรศัพท์ต่อครั้งจะมีเพียงแค่ไทย มาเลเซีย และรัฐนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกาที่ยังคิดค่าบริการเป็นครั้ง แต่คำถามคือ ประเทศไทยเหมาะสมเพียงใดที่จะต้องใช้มาตรฐานเดียวกับในต่างประเทศ

พูดจาเป็นเงินเป็นทอง

หาก ทศท.นำระบบไทม์มิเตอริ่งมาใช้จริง ก็มีคำถามเกิดขึ้นว่าอัตราเท่าใดจึงจะยุติธรรมที่สุด ซึ่งมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีคิดค่าโทรศัพท์มาหลายแนวทาง มีทั้งการเก็บค่าบริการโทรเป็นนาทีๆ ละเท่าๆ กัน เช่น นาทีละ 50 สตางค์ และ 1บาท อาจคิดเป็นช่วงเวลาลดหลั่นกันไป เช่น 3 นาทีแรก 3 บาท นาทีถัดไปนาทีละ 1 บาท บางรายเสนอให้คิดค่าโทรตามช่วงเวลากำหนดให้ในช่วงกลางวันแพงกว่ากลางคืนคือ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น เก็บ 3 บาทต่อการโทรทุกๆ 5 นาที และหลังจากหกโมงเย็นเป็นต้นไป ให้ลดลง 30% เช่น เหลือ 2 บาทต่อการโทรทุกๆ 5 นาที โดยให้เหตุผลว่า กลางวันส่วนใหญ่จะใช้ในเรื่องธุรกิจ ส่วนกลางคืนจะเป็นลูกค้าตามบ้านพักอาศัยเป็นส่วนใหญ่

รวมถึงการคิดเป็นล๊อตใหญ่ๆ และลดหลั่นไปตามจำนวนการใช้ และช่วงเวลา เช่น ช่วงกลางวัน จะเก็บในอัตรา 30 นาทีแรก 3 บาทและ 30 นาทีหลัง 1 บาท 20 นาทีถัดไปเก็บ 1 บาท 10 นาทีถัดไปเก็บ 50 สตางค์ และในช่วงกลางคืนเก็บเป็นครั้งๆ ละ 1 บาท

สังเกตได้ว่าการคิดค่าบริการแบบเหมาจ่าย เช่น ในฮ่องกง หรือสิงคโปร์ จะไม่มีผู้เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า ยุ่งยากต่อการเก็บค่าบริการ และไทยไม่ได้มีเลขหมายเหลือเฟือ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า หากเปิดเสรีให้มีเอกชนเข้ามาลงทุนก็อาจมีการนำระบบนี้มาใช้

อินเทอร์เน็ต-ไฟแนนซ์ หมดยุคเปิดจอแช่

การนำระบบไทม์โซนมิเตอริ่งมาใช้ นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว ได้มีการระบุถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบจาการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อย่างชัดเจน คือ ผู้ใช้บริการออนไลน์ข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ซื้อข้อมูลด้วยการออนไลน์มาจากตลาดหลักทรัพย์ โดยจะใช้วิธีผ่านคู่สายโทรศัพท์และโมเด็ม แหล่งข่าวใน ทศท.เล่าว่า ผู้ให้บริการเหล่านี้ส่วนใหญ่เมื่อโทรต่อเข้ามาเรียกดูข้อมูลจะเปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ซึ่งเสียค่าบริการเพียงแค่ 3 บาทต่อการออนไลน์ในแต่ละครั้ง ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนเป็นระบบไทม์มิเตอริ่งเมื่อใด จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียกดูแพงขึ้น เพราะเมื่อยิ่งดูข้อมูลนานเท่าใด จะต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้นเท่านั้น

เช่นเดียวกับบริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งกำลังเป็นที่ฮือฮาอยู่ในเวลานี้ ปัจจุบันผู้ใช้จะเสียค่าบริการครั้งละ 3 บาท ในการโทรติดต่อกับเครือข่ายภายในประเทศ โดยไม่จำกัดระยะเวลา แต่เมื่อมีการใช้ระบบดังกล่าวเมื่อใด ผู้ใช้จะต้องเสียค่าบริการแพงขึ้นทันทีเช่นกัน

ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ของ ทศท. คือ สถาบันการเงินซึ่งมีสาขาอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ธนาคาร ไฟแนนซ์ ส่วนใหญ่จะมีความจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารข้อมูลถึงกันตลอดเวลา วิธีหนึ่งอันเป็นที่นิยม คือ การใช้โทรศัพท์วันละ 1 ครั้ง และแช่สายไว้ตลอดเวลา จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 3 บาทเท่านั้น

การส่งแฟกซ์ เป็นอุปกรณ์สื่อสารที่นิยมไม่แพ้โทรศัพท์ คงต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการส่งแฟกซ์นั้นต้องพึ่งพาคู่สายโทรศัพท์ และการส่งแต่ละครั้งจะเสียเพียงแค่ 3 บาท จะส่งกี่แผ่นก็ได้

ทีเอ ได้อีกแล้ว

เมื่อมาพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการ คือ ทีเอ และ ทศท.นั้น จะเห็นได้ว่าจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย ในเรื่องของรายได้ ภายใต้ทฤษฎีการโทรมากจ่ายมาก โทรน้อนจ่ายน้อย โอกาสที่ผู้ให้บริการจะได้รับเพิ่มขึ้นหรือเท่าเดิมมีมากกว่ารายได้ลด เพราะการกำหนดอัตราค่าบริการนั้น ทศท.เป็นผู้กำหนดเอง ซึ่งเป็นไปได้ว่า ทศท.จะกำหนดอัตราค่าบริการให้ต่อรายได้ลดลง

ทางด้านผู้ใช้เมื่อจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์คงไม่สามารถกำหนดเวลาการโทรได้ คงต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นโอกาสที่ผู้ให้บริการจะได้รับรายได้เพิ่มขึ้นจึงมีอยู่มาก

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มนั้นไม่มี เพราะทั้งทีเอ และ ทศท.ออกมายืนยันแล้วว่า ปัจจุบันชุมสายโทรศัพท์เปลี่ยนไปใช้ระบบ SPC ซึ่งมีระบบที่สามารถจับเวลาการใช้งานได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม ไม่เหมือนในอดีตที่เป็นระบบครอสบาร์ (X-Bar) ซึ่ง ทศท.ต้องซื้ออุปกรณ์มาเพิ่มเพื่อใช้จับเวลา

ผู้ใช้ตามบ้านกระทบมากที่สุด

จะเห็นได้ว่าจำนวนเลขหมายที่มีผู้เช่า และปริมาณการใช้โทรศัพท์ท้องถิ่นในเขตนครหลวง ซึ่งปรากฏว่าจะเป็นผู้ใช้ตามบ้านมากกว่ากลุ่มธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ ทศท.ควรจะนำมาพิจารณาถึงช่วงเลาที่จะกำหนดใช้ด้วยว่า จะให้เหมาะสมเพียงใดกับจำนวนของผู้ใช้โทรศัพท์และไม่ให้กระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ ข้อมูลเหล่านี้อาจจะสะท้อนภาพไม่ทางใดก็ทางหนึ่งให้กับ ทศท. และผู้ที่เกี่ยวข้องว่าควรจะนำระบบไทม์มิเตอริ่งมาใช้มากน้อยเพียงใด

ที่สำคัญใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ระหว่าง ทศท.หรือทีเอ หรือพรรคความหวังใหม่ ที่จะได้ทั้งเงิน ทั้งกล่อง หรือประชาชน ซึ่งไม่มีทางเลือก เป็นเรื่องต้องติดตาม

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us