ถึงแม้จะลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการในอาณาจักรอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่ตนเป็นผู้ก่อตั้ง
ทุกวันนี้ ชุง จูยุง หรือบิ๊กชุง ในวัย 80 ปียังคุมบังเหียนการบริหารอยู่เบื้องหลัง
พนักงานบริษัทซึ่งมาร่วมงานในงานฉลองที่สำนักงานใหญ่ในกรุงโซลในวันที่ 3
มกราคม รับรู้การส่งมอบตำแหน่งจากประธานกรรมการคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นน้องชายของบิ๊กชุง
คืนให้แก่ ชุง มอง-กู บุตรชายคนโตของพี่ชาย
คนใกล้ชิดพูดกันว่า บิ๊กชุงเก็บความตั้งใจของตัวเองเป็นความลับจนกระทั่ง
1 สัปดาห์ก่อนวันงานเนื่องจาก "ต้องการที่จะเห็นการโอนสิทธิ์และการบริหารตามลำดับขั้น"
ที่ควรจะเป็นก่อนที่จะลงจากบัลลังก์อย่างสมบูรณ์ ความตั้งใจของบิ๊กชุง น่าจะเพื่อหลีกเลี่ยงการแย่งชิงกลุ่มกิจการมูลค่า
75,000 ล้านดอลลาร์ของคนในครอบครัวกันเอง ดังนั้น บิ๊กชุงจึงต้องกระจายอำนาจการบริหารอาณาจักรแบ่งสันปันส่วนให้ทั้งลูกและหลานทั่วถึงกัน
การส่งไม้เปลี่ยนมือครั้งนี้ทำให้ผู้บริหารหลายคนต้องพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย
บางคนที่สูงวัยหน่อยก็เตรียมตัวเกษียณ ขณะที่บางคนได้มอบหมายความรับผิดชอบน้อยลง
แหล่งข่าวในบริษัทกล่าวว่าผลที่ได้ตามาคือความพร้อมและความเป็นผู้นำเมื่อฮุนไดจำเป็นต้องเร่งเครื่องก้าวขึ้นแข่งขันในระดับโลก
อาจกล่าวได้ว่าบิ๊กชุงเลือกจังหวะเวลาได้เหมาะสม เนื่องจากในเกาหลีใต้ขณะนั้นข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นของ
"แชโบล" หรือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ให้สินบนใต้โต้ะอดีตประธานาธิบดีโรห์
แตวู กำลังโด่งดัง แม้ว่าคนวงในจะกล่าวว่าบิ๊กชุงทำไปเพื่อเหตุผลส่วนตัว
แต่การเปิดตัวผู้บริหารฮุนไดหน้าใหม่ต่อรัฐบาล และสาธารณะก็นับได้ว่าเป็นก้าวที่ฉลาดไม่น้อยในทางการเมือง
สำหรับอดีตประธานกรรมการ ชุง เซ-ยุง แม้ว่าจะต้องหลีกทางให้แก่บุตรชายของบิ๊กชุง
แก่ก็ยังมีโอกาสได้เห็นบุตรชายของตนเอง ชุง มอง-เกียว ได้รับตำแหน่งประธานกรรมการ
ฮุนได มอเตอร์ ธุรกิจรถยนต์ที่ดูท่าว่าจะเป็นเอกเทศจากกลุ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
และส่วนหนึ่งเนื่องจากมอง-เกียว อายุแค่ 34 ปี ดังนั้นเซ-ยุง ผู้เป็นบิดา
จึงยังต้องเป็นผู้ให้คำแนะนำวางแนวทางอยู่เบื้องหลัง แม้ว่าจะไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการก็ตาม
ในเรื่องความเป็นอิสระของฮุนได มอเตอร์ ที่ใครๆ จับตาว่าจะหลุดออกจากแชโบลใหญ่นั้น
ประธานคนใหม่ชุง มอง-กู วัย 57 ปี ยังคงยืนยันหนักแน่นว่า "บริษัทฮุนไดทั้งหมดจะยังคงอยู่ใต้ร่มเงาการบริหารเดียวกัน"
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ทั้งวงในและวงนอกคาดว่าฮุนได มอเตอร์จะต้องเป็นอิสระมากขึ้น
หากยังไม่ถึงขั้นแตกธุรกิจออกมาอย่างเต็มตัว นอกเหนือจากธุรกิจรถยนต์กลุ่มฮุนไดยังทำธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์
ต่อเรือ เครื่องยนต์หนัก และธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าใหญ่เกินกว่าที่คนเดียวจะบริหารได้
ดังนั้นจึงเป็นที่คาดกันว่าประธานคนใหม่น่าจะกระจายอำนาจการบริหารให้แก่ผู้จัดการระดับล่างลงมามากขึ้น
"หากเป็นอย่างนั้นได้จริงก็จะเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสไตล์การบริหารตั้งแต่ที่บิ๊กชุงปกครองอาณาจักรนี้ด้วยกำปั้นเหล็กมาตลอด"
นามูห์ รี ผู้อำนวยการ "ดอง แบง ซีเคียวริตี้ส์" ในกรุงโซลกล่าว
แม้ว่าชุง เซ-ยุงจะเป็นประธานกรรมการของกลุ่มถึง 7 ปี พันธมิตรบางรายกล่าวว่า
เขาไม่เคยมีอำนาจเต็มในการบริหารเนื่องจากผู้เป็นพี่ชายยังไม่ยอมวางมือ บริหารอยู่หลังฉากอย่างต่อเนื่อง
เหตุผลที่อธิบายได้เนื่องจากฮุนไดกังวลว่าจะไม่สามารถก้าวตามแชโบลคู่แข่งรายอื่นๆ
เช่น ซัมซุง และแอลจีได้ทัน
"เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางธุรกิจ" ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งกล่าว
"ยกเว้นอิเล็กทรอนิกส์แล้ว เราถูกมองว่าทำได้ไม่ดีนักในธุรกิจอื่นๆ
ที่เราเข้าไปเราต้องก้าวไปข้างหน้า โละทิ้งธุรกิจเก่าๆ บางประเภทและเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ"
ประธานกลุ่มคนใหม่ก็กำลังจะทำอย่างที่ว่านี้อยู่เช่นกัน "เราต้องเข้าไปทำธุรกิจรุ่นใหม่
หากเราต้องการที่จะแข่งขันและทำกำไรใรศตวรรษหน้า" ชุง มอง-กูกล่าว
ธุรกิจเป้าหมายที่ว่าได้แก่ อากาศยาน โทรคมนาคม การเงิน และเหล็กกล้า ขณะที่นักวิเคราะห์ไม่เชื่อว่าฮุนไดจะสามารถเริ่มต้นจากศูนย์ได้ในธุรกิจที่ไม่เคยทำมาก่อน
ดังนั้น ทางเดียวที่ฮุนไดจะทำได้คือการเข้าเทกโอเวอร์หรือรับซื้อบริษัทที่อยุ่ในวงการนั้นๆ
อยู่แล้ว แต่อาจจะอยู่ในสภาวะที่ไม่ดีนักมาบริหารต่อ
ในบรรดาบุตรชายที่เหลืออีก 4 คนของบิ๊กชุง ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดได้แก่
ซุง มอง-ฮุน ซึ่งบริหารฮุนได อิเล็กทรอนิกส์ อินดัสตรี้ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากของกลุ่มอยู่
มอง-ฮุนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานกรรมการวันเดียวกับที่พี่ชายรับมอบตำแหน่งเช่นกัน
บัดนี้จึงนับได้ว่าบุตรชายของบิ๊กชุงขึ้นครอบครองอาณาจักรของบิดาอย่างสมบูรณ์แบบ
ยกเว้นแต่ธุรกิจรถยนต์ ซึ่งทำให้หลายคนคาดว่าพวกเขาจะฝากผลงานแบบเดียวกับที่บิ๊กชุงเคยพลิกฟื้นอาณาจักรฮุนได
จนกระทั่งเริ่มเดินหน้าได้ในปี 1947 นอกจากการสยายปีกฮุนไดเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ
ทายาทของบิ๊กชุงเหล่านี้ยังตั้งใจที่จะเพิ่มยอดขายของกลุ่มจาก 75,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้
เป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ในปี 1997 ซึ่งนั่นคงพอที่จะทำให้บิ๊กชุงยิ้มแก้มปริด้วยความภูมิใจได้