เคเบิลทีวีภูธรกำลังถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อไอบีซี-ไทยสกาย และเคเบิลทีวีรายอื่น ๆ กำลังรุกเข้าสู่พื้นที่ที่พวกเขายึดกุมมากว่า 10 ปี รวมทั้งเงื่อนไขจากกรมประชาสัมพันธ์ ก็ยิ่งกดดัน พวกเขามากยิ่งขึ้น ทางออกของเบี้ยตัวเล็กเหล่านี้บนเกมหมากรุกที่กำลังกลายเป็นธุรกิจระดับชาติจะเป็น เช่นไร?
ปี 2532 หลายคนโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้รู้จักคำว่า "เคเบิลทีวี" จากการให้บริการของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนลบรอดคาสติ้งหรือไอบีซีในเครือชินวัตร และบริษัท สยามบรอดคาสติ้ง หรือไทยสกาย ที่ได้รับสัมปทานจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) โดยเรียกบริการเป็นทางการว่า ทีวีระบบบอกรับสมาชิก (PAY TV) สัญญาณที่ส่งเป็นระบบไมโครเวฟ (คลื่นความถี่ต่ำ) ที่ ผู้รับหรือสมาชิกต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อนเพื่อจะได้จานตะแกรงกว้างประมาณ 1 ข้อศอกเป็นตัวรับสัญญาณรายการเข้าเครื่องทีวีต่อไป
ตรงนี้หลายคนเลยเข้าใจว่า นี่เป็นการเข้าสู่ยุคเคเบิลทีวีเมืองไทยแล้ว
แต่หากเราลองขับรถออกจากกรุงเทพฯ ไปสักหน่อย แล้วถามชาวบ้านไม่ว่าจะเป็น บ้านบึง, พัทยา, บางละมุง หรือเขตตำบลในจังหวัดชลบุรี หรือแถบตัวเมืองนครสวรรค์และอีกหลายท้องถิ่น เขาจะตอบเลยว่ารู้จักมาตั้งแต่ปี 2525 หรือ 2526 แล้วที่เขาตอบได้อย่างมั่นใจก็เพราะว่าที่บ้านพวกเขาใช้บริการเคเบิลทีวีเหล่านี้อยู่แล้ว โดยระยะแรกยังเรียกว่า "ทีวีตามสาย" กันอยู่เนื่องจากเป็นการเอาสัญญาณทีวีปกติทั้ง 5 ช่องที่ชาวบ้านไม่สามารถตั้งเสารับได้ หรือรับได้ก็ไม่ชัดเจนเพราะภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยมาส่งเข้าผ่านสายเคเบิลแกนร่วม หรือสายโคแอกเชี่ยนเข้ามาถึงบ้านสมาชิก
ดู ๆ ไปเหมือนกับว่าธุรกิจนี้ทำไม่ยากใช้เงินลงทุนครั้งแรกประมาณ 5 ล้านก็พอ ที่จะให้บริการได้ เพราะเพียงมีเครื่องวิดีโอหลาย ๆ เครื่อง จานรับสัญญาณดาวเทียมเสารับสัญญาณทีวีปกติที่ คุณภาพสูง และก็เครื่องขยายสัญญาณเพื่อส่งสัญญาณไปตามสายโคแอกเชี่ยน ไม่ต้องผลิตรายการเองให้ยุ่งยาก
หลายพื้นที่ที่ไม่สามารถรับสัญญาณฟรีทีวีได้ชัดเจนไม่ว่าจะตามหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล หรืออำเภอ จึงเกิดธุรกิจเคเบิลทีวีขึ้นอย่างเป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับใครนอกจากความต้องการดูทีวีของคนพื้นที่ เป็นธุรกิจเล็กที่เติบโตเป็นดอกเห็ดนับแต่นั้นมา
ทีวีตามสายหรือเคเบิลทีวีในท้องถิ่น จึงเป็นการเกิดเพื่อสนองความต้องการอยากดูทีวีปกติช่อง 3-5-7-9-11 เท่านั้น ก่อนจากนั้นก็แต่งเติมด้วยหนังจากวิดีโอของซีวีดี, ไรท์พิคเจอร์ และของค่ายอื่นใส่เข้าไปอีกช่องหนึ่ง บางพื้นที่ให้บริการ 6 ช่องเป็นช่องทีวีปกติ 4 ช่อง, ช่องหนังจีน และช่องหนังฝรั่งอย่างละหนึ่งช่อง บางพื้นที่ก็ให้บริการแค่รายการทีวีปกติเท่านั้น
แรกเริ่มเดิมทีก็ใช่ว่าจะราบรื่นนัก "ฉลาด วรฉัตร" เจ้าพ่อเคเบิลทีวีท้องถิ่นเล่าให้ฟังว่า กว่าจะเกิดได้ต้องต่อสู้กันนานเช่น โดนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตัดสาย เพราะสายเคเบิลทีวีไปพาดผ่านสายไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต, โดนศูนย์วิดีโอแจ้งจับว่าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือแจ้งว่าเป็นธุรกิจเถื่อน เพราะขณะนั้นยังไม่มีการอนุญาตจากรัฐแต่ฉลาดและพรรคพวก ก็ยืนหยัดอยู่ได้จนปัจจุบัน
การแข่งขันบริการเป็นอยู่ในลักษณะพี่ ๆ น้อง ๆ ไม่มีกระทบกระทั่งรุนแรงเหมือนไอบีซีกับไทยสกาย เพราะเคเบิลทีวีท้องถิ่นแต่ละคนก็กุมพื้นที่ของตัวเอง เป็นการครองพื้นที่กันไปในระยะช่วง 3-5 กิโลเมตรเท่านั้น มีบางพื้นที่เท่านั้นที่เป็นการแข่งขันที่รุนแรง เช่นพัทยาและจันทบุรี เป็นการแข่งขันในเรื่องการตัดราคาค่าสมาชิกกันอย่างเดียว เนื่องจากรายการที่ส่งเหมือนกัน
หลังจากนั้นไม่นานแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดก็เหลือผู้ให้บริการแค่รายเดียว เพราะไม่สามารถแบกรับภาระการขาดทุนได้
ดิเรก ศุภวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทซีทีวี เคเบิลทีวี จำกัด จันทบุรี และอุปนายกสมาคมเคเบิลทีวี (ประเทศไทย) ผู้ซึ่งหันหลังให้กิจการปลูกพืชไร่ในจังหวัดตราด มาทำเคเบิลทีวีในจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่าในช่วง 5 ปีแรก นับแต่ปี 2526 ธุรกิจนี้ค่อนข้างไปได้ดี แทบจะไม่ต้องไปหา ลูกค้า เพราะมีความต้องการในเกือบทุกพื้นที่ที่สัญญาณทีวีไปไม่ถึง
ปัญหาขณะนั้นคือการให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ไกลออกไปจะทำอย่างไร สายเคเบิลจะหาซื้อได้ที่ไหนในราคาที่เหมาะสม เป็นต้น
ซีทีวีของดิเรกมี 6 ช่อง เป็นการรับจากฟรีทีวี 4 ช่อง คือช่อง 3-5-7-9 และหนังจีน, หนังต่างประเทศอีกอย่างละช่อง รูปแบบรายการของซีทีวีเหมือนกับสถานีโทรทัศน์ขนาดย่อม ๆ เพราะดิเรกทำข่าวท้องถิ่นเองทั้งหมดใส่เข้าไปช่วง 20.20 น. ด้วย ส่วนในช่องที่รับทีวีปกติก็เป็นการรับสัญญาณมาแล้วยิงออกไปเลย บางครั้งก็เป็นการอัดรายการแล้วเลือกมาลงตามความนิยมของคนในพื้นที่อย่างเหมาะสม ไม่ได้รับสัญญาณมาแล้วยิงออกหมดไปเลยแต่อย่างใด ฉะนั้นโฆษณาจึงไม่ค่อยได้เห็นกันมากนัก นอกจากโฆษณาในระดับท้องถิ่นด้วยกันเอง
สำหรับรายได้ที่จะเข้ามาจุนเจือธุรกิจ นอกจากค่าสมาชิก 230 บาทต่อเดือนแล้ว ก็มีการขายเวลาให้กับภาคเอกชน ภาคราชการต่าง ๆ ที่ซื้อเข้ามาเพื่อเสนอกิจกรรมของตนเองในจังหวัดผ่านเคเบิลทีวี ยิ่งช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกคนที่สมัครผู้แทนล้วนมาใช้บริการกันทั้งหมด
ข่าวทุ่มครึ่งจบ ตามด้วยข่าวราชสำนัก จบแล้วตามด้วยข่าวท้องถิ่นที่ผลิตเองตามด้วยหนังจีน ตามด้วยละคร ตามด้วยมิวสิควีดีโอ แล้วก็หนังรอบดึกไปจนเช้าเป็นรายการเฉกเช่นทีวีปกติยังไงยังงั้น เพียงแต่ฉายกันตลอด 24 ชั่วโมงมากกว่าทีวีปกติเท่านั้นเอง
กลุ่มคนดูเคเบิลทีวีท้องถิ่นของดิเรกและรายอื่น ๆ ทั่วไป จะคล้ายกันคือแบ่งเป็นช่วงที่คนดูมากที่สุด 18.00-24.00 น. ช่วง 24.00-6.00 น. เป็นกลุ่มที่ทำงานกลางคืนแล้วก็ภาคกลางวัน 6.00-18.00 น. อีกกลุ่มหนึ่ง
หนังที่เอามาลงเคเบิลทีวีจะเป็นการเช่าจากศูนย์วิดีโอท้องถิ่นในลักษณะเหมาจ่ายประมาณ 20,000-30,000 บาทต่อเดือน โดยมีการจ่ายแต่ละม้วนอีกต่างหากตั้งแต่ 20-50 บาทต่อม้วน สำหรับของดิเรก เขาเสียม้วนละ 50 บาท ซึ่งถือแพงที่สุดในวงการ
กว่า 10 ปีแห่งการบริการแบบพี่น้อง มีผลกำไรพอสมควร จากยอดสมาชิกในพื้นที่ประมาณ 3,000-5,000 ครัวเรือน หรือ 80% ของคนพื้นที่
ในที่สุดก็ต้องมีจุดเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากการรุกเข้ามาของสองค่ายเบิลทีวียักษ์ใหญ่ ที่เพิ่งได้รับอนุมัติจากอ.ส.ม.ท. ก็เพิ่งอนุมัติผู้ให้บริการเคเบิลทีวีรายใหม่เพิ่มอีก 5 ราย
อีกประเด็นการพยายามของกรมประชาสัมพันธ์ก็ต้องการให้บริการเคเบิลทีวีทั้งใน กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่ควบคุมได้ ดังนั้นผู้ให้บริการอยู่แล้ว และ ผู้ที่ต้องการเปิดบริการใหม่ต้องมาขออนุญาตกับกรมประชาสัมพันธ์
ซึ่งเมื่อได้รับอนุญาตแล้วต้องเสียค่าสัมปทานให้รัฐด้วย
ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีที่ได้รับการอนุมัติผ่านกรมประชาสัมพันธ์จะต้องจ่ายค่าสัมปทานช่องละ 25,000 บาทต่อจุด (หรือจังหวัด) ต่อปี
ถ้าให้บริการ 6 ช่องก็ต้องจ่าย 150,000 บาท จากที่ไม่เคยจ่ายเลย ทั้งยังต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ค่าเช่าหนัง ค่าพาดสายตามเสาให้แก่การไฟฟ้าฯ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จิปาถะอีกด้วย เป็นต้นทุนที่บรรดาเคเบิลทีวีภูธรรายเก่าก้นร้อนกันเป็นแถว ๆ
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงทำให้บรรดาเคเบิลทีวีภูธรที่ให้บริการมาแล้วกว่า 10 ปี ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ !
ผู้บริหารเคเบิลทีวีภูธรเริ่มรวมตัว ซึ่งเป็นการรวมตัวกันแบบฉุกระหุกพอสมควร ในนามของ "สมาคมเคเบิลทีวี (ประเทศไทย)" เพื่อปกป้อง สานผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสมาชิกที่ประกอบกิจการเคเบิลทีวีภูธร และเพื่อจะได้มีอำนาจต่อรอง และเรียกร้องหาความยุติธรรมบ้างในกรณีถูกยักษ์ใหญ่กลั่นแกล้ง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 50 รายแล้ว
แผนแรกของสมาคมฯ ที่เป็นมติร่วมกันคือ ปรับระบบการส่งสัญญาณของสมาชิกให้ดีขึ้น ให้สามารถที่จะรับระบบอื่นเข้ามาได้มากขึ้น
ต่อจากนั้นสมาชิกของสมาคมก็ปรับแผนอีกขั้นด้วยการตั้งบริษัท ไฮเทคเคเบิลเทเลวิชั่น จำกัด ขึ้นมาเพื่อดำเนินแนวนโยบายรุกและรับคือ เป็นแหล่งรวบรวมติดต่อรายการต่าง ๆ ที่จะมาป้อนให้กับสมาชิก คอยจัดการเรื่องปัญหาลิขสิทธิ์รายการ, การดำเนินการทางกฎหมาย, ดำเนินการเกี่ยวอุปกรณ์เครื่องมือ หรือระบบให้ดีขึ้น, เป็นจุดระดมเงินทุนจากส่วนกลาง หรือจากส่วนภูมิภาคด้วยกันเอง เพื่อการลงทุนและพัฒนากิจการให้ดียิ่งขึ้น
นั่นก็คือบริษัทไฮเทคเคเบิลเทเลวิชั่น จะเป็นแขนขาให้กับกลุ่มเคเบิลทีวีภูธรในเรื่องซอฟต์แวร์ หรือรายการนั่นเอง
เกษม อินทร์แก้ว เลขาธิการสมาคมเคเบิลทีวี (ประเทศไทย) กล่าวว่า "เนื่องจากเราทราบดีว่าการเข้ามาของยักษ์ใหญ่ทั้งหลายล้วนมีศักยภาพเหนือกว่าทั้งสิ้น ทางเลือกในการทำธุรกิจหลายทางจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดี บริษัท ไฮเทคเคเบิลเทเลวิชั่น เราจดทะเบียนไปแล้ว 20 ล้านบาท ซึ่งก็คาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท และจะเพิ่มผู้ร่วมทุนเป็น 100 ราย มิฉะนั้นจะเล่นเกมใหญ่ไม่ได้ เพื่อเป็นบริษัทมหาชนที่ดำเนินยุทธวิธีทั้งแนวป้องกันและรุกไปข้างหน้าให้กลุ่ม เนื่องจากเห็นว่าหากปล่อยให้สมาชิกทำตลาดและเติบโตด้วยตัวเอง อาจจะไม่ทันกับการแข่งขันในอนาคต เขาหวังว่าคงจะช่วยให้กลุ่มสมาชิกสามารถยืนหยัดประกอบธุรกิจได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับยักษ์ใหญ่ ทั้งหลายได้"
สำหรับเรื่องหนังวีดีโอซึ่งระยะแรกมีปัญหานั้น ดิเรก อุปนายกสมาคมฯ กล่าวว่า "ผมได้คุยกับซีวีดีและไรท์พิคเจอร์แล้ว เขาให้เราตกลงกับตัวแทนจำหน่ายในจังหวัดกันเอง อย่าทำให้เขาเสียผลประโยชน์ อีกอย่างความเป็นคนไทยที่พูดกันได้ด้วยคืออะลุ้มอล่วยกันไว้ก่อน ซึ่งก็ตกลงกันเมื่อก่อนคือม้วนละ 20-50 บาท แล้วแต่พื้นที่ และขณะนี้เรากำลังเจรจาอย่างเป็นทางการกับทาง ซีวีดี และไรท์พิคเจอร์อีกครั้งหนึ่ง เป็นการเจรจากับบริษัมแม่เลย เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในอนาคต และเพื่อให้สมาชิกไม่ต้องมาพะวงในเรื่องนี้ นี่คือภารกิจในนามบริษัทไฮเทคเคเบิลเทเลวิชั่นของเรา"
นอกเหนือจากนั้น ทางกลุ่มยังได้พยายามเจรจาหารายการจากผู้ผลิตรายการรายใหญ่ ในประเทศ ซึ่งเกษมบอกว่า ขณะนี้ก็มีการพูดคุยไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่จริงจัง
"คือเราไม่มั่นใจว่าเคเบิลทีวีภูธรที่ขอกัน 20 เจ้านี้ ถึงที่สุดแล้วจะลงเอยกันอย่างไร ซึ่งหากคุยกันได้ ก็คงตกลงกันเรื่องราคาไม่ได้อีก เพราะหนังหรือละครตอนหนึ่งก็หลายหมื่นบาทเข้าไปแล้ว บางเรื่องขายกันตอนละแสน แล้ววัฒนธรรมที่เคยเช่าวีดีโอ 1 ม้วน 50 บาทฉายได้ 120 นาที อย่างไหนจะคุ้มกว่ากัน ฉะนั้นผมว่าเขาต้องจนตรอกจริง ๆ เท่านั้นที่จะซื้อรายการคนไทยด้วยกันเอง ยิ่งบางเจ้าก็ผลิตเองได้ด้วยแม้คุณภาพไม่ดีนัก แต่มันก็เหมาะสมกับตลาดแล้ว" ผู้ผลิตรายการยักษ์ใหญ่ท่านหนึ่งให้ความเห็นไว้
ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ไม่เพียงเท่าที่กล่าวมาเท่านั้น หลายคนในวงการเห็นตรงกันว่า เหล่าเคเบิลทีวีภูธรคงต้องหายุทธวิธีเชิงรุกและรับมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้หม้อข้าวของพวกเขาแตก
"ความเจนจัดในพื้นที่จะเป็นตัวชี้ขาดของพวกเขาได้อย่างหนึ่ง หากใช้อย่างถูกวิธีและเหมาะสม"
"เมื่อถึงเวลานั้น ในฐานะที่เราอยู่ในพื้นที่ เราเข้าใจตลาดได้ดีกว่าใคร ผมว่ายักษ์ใหญ่เขาคงเข้ามาที่ตลาดต่างจังหวัดไม่ง่ายนัก เนื่องจากเขามักทำเป็นระบบใหญ่เป้าหมายทั้งประเทศ นี่จึงทำให้เขาเข้ามาลำบากเพราะลงทุนมาก แต่ผลที่ได้น้อยมาก จะไม่ลงทุนมากก็ไม่ได้ ฉะนั้นช่วงนี้ยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ จึงเป็นเพียงแค่พูดข่มขวัญผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ไปวัน ๆ เท่านั้น" เกษมกล่าว
ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีภูธรเชื่อว่า การรุกของเคเบิลทีวีจากกรุงเทพฯ อาจจะยังไม่เต็มที่นัก ตราบใดที่เจ้าถิ่นยังครองตลาดอยู่ตั้งกว่า 80% ทั้งนี้นอกเสียจากว่ายักษ์ใหญ่จะจับกลุ่มเป้าหมายผู้ชมที่ตลาดบน เพราะส่วนใหญ่เคเบิลทีวีภูธรเกือบทั้งหมดจะจับตลาดล่างไป ตลาดคนเมืองหลวงหรือตลาดบนจึงเป็นหนทางเดียว แต่อีกนั่นแหละตลาดบนในเขตเมืองต่าง ๆ ก็เป็นตัวเลขที่ ไม่มากอีก ปัญหานี้ทำให้เหล่าเคเบิลทีวีภูธรทั้งหลายมั่นใจในการทำธุรกิจของตนได้โดยไม่ครั่นคร้าม
นอกจากนั้น แม้ว่ากรมประชาสัมพันธ์จะอนุมัติให้ผู้ได้รับสัมปทานให้บริการได้ถึง 10 ช่อง แต่ทว่ากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เหล่าบรรดาเคเบิลทีวีภูธรก็ไม่มีใครสนใจที่จะเปิดถึง 10 ช่อง แต่อย่างใด เพราะไม่ใช่ความต้องการของคนพื้นที่ ส่วนใหญ่จึงคงอยู่ระหว่าง 3-6 ช่องเพราะในภูธรไม่มีใครจะมีเวลาดูและเลือกบริโภคข่าวสารได้ทั้งวันเหมือนคนเมืองหลวง
อย่างไรก็ตามโอกาสที่เคเบิลทีวีภูธรกับเคเบิลทีวียักษ์ใหญ่จากกรุงเทพฯ จะร่วมกันเป็นพันธมิตรกันจะเป็นไปได้หรือไม่
เกษมกล่าวว่า ที่ผ่านมาเคเบิลทีวียักษ์ใหญ่ต้องการให้พวกเขาเป็นเพียงดีลเลอร์หา สมาชิกเท่านั้น
"เขาจะให้เราเป็นเพียงดีลเลอร์หมดเลย โดยให้ผลตอบแทนแค่ 20-25% ของค่าสมาชิก 1 ราย คือให้เราหาสมาชิกเองบริหารงานเอง จ้างบุคลากรเอง หรือถ้าเอารายการของเขามาแพร่ภาพในพื้นที่ เราก็ต้องจ่ายสมมติ 500 บาท ที่มันเป็นเงินกลับมาหาเราแค่ 100 เท่านั้น ไม่ยุติธรรมจึงเป็นไปไม่ได้ และที่เราทำอยู่ก็ได้กำไรอยู่แล้ว เราอยากให้เขารับผิดชอบด้วย หรือร่วมทุนกันในพื้นที่ ซึ่งเขาก็รับไม่ได้ ฉะนั้นก็คงไม่ต้องพูดกัน เราก็ต้องมีศักดิ์ศรีในการควบคุมเกมเหล่านี้ได้บ้างเหมือนกัน" เกษมกล่าวอย่างมีอารมณ์
เกษมกล่าวอีกว่า ในอนาคตบทบาทของบริษัทมหาชนของกลุ่มจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มสมาชิกเห็นพ้องต้องกันให้บริษัทมหาชนเข้าไปถือหุ้นในกลุ่มผู้ให้บริการเคเบิลทีวีภูธรทุกแห่งทุกที่ เพื่อสามารถกำหนดทิศทางตลาด การขยายงานอย่างเป็นปึกแผ่นชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็คาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจะสามารถขยายบริการได้ครบทุกจังหวัด
สงครามการต่อสู้ระหว่างเคเบิลทีวีภูธรกับยักษ์ใหญ่จากกรุงเทพฯ กำลังเริ่มต้น การปรับตัวของฝ่ายแรกครั้งนี้จะพร้อมรับมือกับศึกครั้งนี้ได้หรือไม่ และไอบีซีกับไทยสกายจะปฏิบัติการเชิงรุกในพื้นที่เหล่านี้รุนแรงเพียงใด
หมากรุกเกมนี้เริ่มแล้ว!
|