Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2538
"ลอรีอัล" เปิดฉากตลาดสกินแคร์ ศึกนี้จะระคารผิวเจ้าถิ่น?             
 


   
www resources

โฮมเพจ ลอรีอัล (ประเทศไทย)

   
search resources

Cosmetics
ลอรีอัล (ประเทศไทย), บจก.




"การเปิดตัวเพลนนิจูดครั้งนี้ ถือว่าเป็น TURNING POINT สำคัญของลอรีอัลในประเทศไทย" คำกล่าวของนายพอล-อังรี ดูเย่ ผู้จัดการทั่วไปประจำภาคพื้นเอเชีย ของลอรีอัล ปารีส ซึ่งเดินทางมาร่วมงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพลนนิจูดในประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าลอรีอัลวางเป้าหมายของสินค้าตัวนี้ไว้สูงมาก ลอรีอัลมีแผนที่จะนำเพลนนิจูดเข้ามารุกตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในประเทศไทยมาก่อนหน้านี้ ไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่ล่าช้าไปเพราะต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม ซึ่งเป็นฐานธุรกิจแรกให้มั่นคงเสียก่อนที่จะเปิดแนวรบในตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ดังนั้นเมื่อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมของลอรีอัล ซึ่งหลัก ๆ ได้แก่ "แอลแซฟ" ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเส้นผม "อิมมีเดีย" ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สีผม "สตูดิโอไลน์", เอลเน็ต" และ "ฟรีสไตล์" ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม ประสบความสำเร็จในการทำตลาด โดยแต่ละกลุ่มมีอัตราการเติบโต 233%, 150% และ 75% ตามลำดับ ในปี 2537 พร้อมทั้งวางเป้าหมายที่จะเติบโต 95% , 120% และ 34% ตามลำดับในปีนี้ ลอรีอัลจึงพร้อมเปิดตัวเพลนนิจูดในประเทศไทย ด้วยเป้าหมายที่ไม่ธรรมดา นั่นคือ การประกาศที่จะเป็นอันดับหนึ่งในตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สาเหตุที่ทำให้ลอรีอัลวางเป้าหมายของเพลนนิจูดไว้สูงลิ่วมีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลการสำรวจตลาดที่พบว่าคนไทยนิยมใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในสัดส่วน 60% สูงกว่าคนฝรั่งเศสซึ่งนิยมการใช้เครื่องสำอางที่มีอัตราการใช้ 55% เมื่อผนวกกับขนาดตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวซึ่งมีมูลค่า 2,100 ล้านบาทแม้ว่าจะเล็กกว่าตลาดผลิตภัณฑ์เส้นผมที่มีมูลค่า 5,000 ล้านบาท แต่ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมีคู่แข่งเพียง 5 ยี่ห้อเท่านั้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมมีคู่แข่งมากถึง 25 ยี่ห้อจึงทำให้ตลาดนี้น่าสนใจยิ่งขึ้น อีกกรณีหนึ่งคือตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวยังมีช่องว่างที่ไม่มีใครเข้าไปจับ นั่นคือช่องว่างระหว่างสินค้าที่วางจำหน่ายในเคาน์เตอร์ ซึ่งมีอิมเมจสูงแต่ราคาแพงกับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตซึ่งราคาจำหน่ายถูกกว่า จึงเป็นโอกาสดีของเพลนนิจูดที่วางภาพพจน์ไว้สูงแต่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตในราคาที่ใกล้เคียงกับคู่แข่งจะเข้าไปจับช่องว่างตรงนี้ ประการสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ "เพลนนิจูด" ประสบความสำเร็จในตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมาแล้วเกือบทั่วโลกทั้งในยุโรป อเมริกา และบางประเทศในเอเชียไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทำให้ลอรีอัลมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในการทำตลาดในประเทศไทยได้ไม่ยาก แม้ว่าลอรีอัลจะมั่นใจ แต่จริง ๆ แล้วผลิตภัณฑ์เพลนนิจูดคงไม่สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับหนึ่งไม่ได้ง่าย ๆ ซึ่งลอรีอัลเองก็ดูเหมือนจะรู้สถานการณ์ดี จึงไม่ยืนยันว่าจะทำได้ภายในระยะเวลานานเท่าใด เพราะถ้าพิจารณาดูคู่แข่ง ซึ่งแม้ว่าจะมีอยู่เพียง 5 รายคือ "พอนด์" ของลีเวอร์บราเธอร์ "ออย ออฟ อูลาน" ของ พีแอนด์จี "นีเวีย" ของไบเออร์สดอฟ "โฟม" "คาโอ" และ"เฮสลีน" แต่ละรายเป็นคู่แข่งระดับเจ้าบุญทุ่มทั้งนั้นโดยเฉพาะ 2 รายแรกที่ลอรีอัลรู้กิติศัพท์ดี เพราะได้ประสบมาแล้วในตลาดแชมพู และขณะนี้ทั้งสองรายก็เป็นผู้นำตลาด โดยพีแอนด์จีมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 25.5% ตามมาด้วย ลีเวอร์บราเธอร์ 24% ดังนั้นลอรีอัลจึงทุ่มสุดตัวในการทำตลาด เริ่มจากการใช้ภาพยนตร์โฆษณาแนะนำชื่อเพลนนิจูด ก่อนที่จะโฆษณาเจาะลงไปในสินค้าแต่ละกลุ่ม อันประกอบไปด้วย ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ผลิตภัณฑ์ ดูแลผิวหน้าเป็นพิเศษ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า ร่วมกับการทำไดเร็ก มาร์เกตติ้งถึงกลุ่มเป้าหมายอายุ 20 ปีขึ้นไป การแจกสินค้านับล้านชิ้น การลดราคาพิเศษช่วงแนะนำ เป็นต้น "เราหวังว่าสัดส่วนการตลาดของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไป หลังการลอนช์ของเพลนนิจูด โดยสิ่งที่เพลนนิจูดจะทำได้ในทันทีก็คือ การขยายตลาดและการสร้างผู้บริโภคกลุ่มใหม่" มร.เอริค เดอลามาร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทกล่าวถึงเป้าหมายช่วงแรก การวางจำหน่ายเพลนนิจูดมิได้มีความหมายแค่เป็นก้าวย่างที่สองของลอรีอัลในประเทศไทยเท่านั้น เพราะเป้าหมายแท้จริงลอรีอัลอีกประการหนึ่งก็คือ การรักษาตำแหน่งผู้นำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวโลกเอาไว้ "ขณะนี้ลอรีอัลมีส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสูงสุดคือ 12% ขณะที่คู่แข่งสำคัญ 5 ราย อย่างพีแอนด์จี ยูนิลีเวอร์ ชิเชโด เอวอน เอสเต้ ลอเดอร์จะมีส่วนแบ่งรวมกัน 32% และเพื่อครองความเป็นหนึ่งต่อไป เราจึงต้องมุ่งความสนใจมาที่เอเชีย เพราะเอเชียกำลังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก และมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก แม้ว่าขณะนี้ตลาดยังเล็กกว่าอเมริกา ยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักที่มีส่วน แบ่งตลาดถึง 50% ของตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวโลก และเอเชียนี่แหละที่จะเป็นจุดพลิกผันของโลกในอนาคต" นายดูเย่กล่าว ความสนใจภูมิภาคเอเชียของลอรีอัล เห็นได้ชัดเจนในปี 2537 เพราะเป็นปีที่ลอรีอัลมีการจัดตั้งบริษัทสาขาในเอเชียหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และไทย โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ผลิตภัณฑ์เส้นผมของลอรีอัลมีวางจำหน่ายมานาน โดยในช่วงแรกให้บริษัท ดีทแฮล์ม ประเทศไทย เป็นผู้ทำตลาดให้ ก่อนที่ลอรีอัลจะเข้ามาทำตลาดเอง โดยย้ายสินค้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ บริษัท เนสท์เล่ โปรดักท์ส (ไทยแลนด์) อินค์ เมื่อปี 2535 และแยกตัวจากเนสท์เล่ฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2537 มาอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ไทยลอร์ จำกัด ซึ่งมีบริษัท FINAN THAI จำกัด ในเครือแบงก์อินโดสุเอช เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% และลอรีอัล ปารีส ถือหุ้น 49% ที่เหลือ และมีนายอีริค เดอลามาร์เป็นกรรมการผู้จัดการ และมร.โลรองต์ ออสโตรสกี้ เป็นผู้จัดการทั่วไป แผนกสินค้าอุปโภค-บริโภค นอกจากนี้ลอรีอัลยังสนใจประเทศเวียดนาม ซึ่งมีการเซ็นสัญญาแต่งตั้งเอเยนต์ไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา และกำลังหาพันธมิตรธุรกิจในจีนและเริ่มมีการทดสอบผลิตภัณฑ์ของลอรีอัลในจีนแล้ว ถ้าจัดอันดับสาขาของลอรีอัลในเอเชีย ลอรีอัล ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาสินค้ารวมทั้งโรงงานผลิต นับเป็นตลาดใหญ่ที่สุด อันดับสองซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตคือประเทศไทย ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาทำรายได้ให้ลอรีอัล 650 ล้านบาท อันดับสามได้แก่เกาหลี ไต้หวัน อันดับสี่ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ทั้งหมดก็ทำยอดขายให้ลอรีอัลเพียง 5.4% ของยอดขายลอรีอัลทั่วโลกที่มียอดขาย 47.624 ล้านเฟรนช์ฟรังก์เมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากการเปิดสาขาแล้ว ลอรีอัลยังมีแผนที่จะตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมทั้งโรงงานผลิตเพิ่มอีกอย่างละ 1 แห่งในเอเชีย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าควรจะเป็นประเทศใด ดังนั้นความสำเร็จในตลาดของเพลนนิจูดในประเทศไทยนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดบำรุงผิวหน้าโลกของลอรีอัลแล้ว ยังเป็นสะพานไปสู่การวางรากฐานทางธุรกิจขั้นต่อไปของลอรีอัลไทย เพราะหลังจากที่เพลนนิจูดประสบความสำเร็จแล้ว "PERFECTION" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุดแต่งหน้าจะเป็นแนวรบใหม่ที่ไทยลอร์จะเข้าไปเล่น เพื่อความไม่ประมาทผู้ประกอบการในตลาดนี้เตรียมรับมือไว้ได้เลย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us