Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2538
บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ ปลาหมึกที่หนวดกำลังพันตัวเอง?             
โดย ไพเราะ เลิศวิราม
 


   
search resources

บรรณวิทย์ บุญรัตน์
Entertainment and Leisure




บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ ได้ชื่อว่าเป็นแบงเกอร์ ที่มีบุคลิกแตกต่างไปจากนายแบงก์ทั่วไป นั่นคือความเป็นนักการตลาดอย่างเต็มตัว เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว บรรณวิทย์ยังเป็นเพียงแค่โปรแกรมเมอร์คนหนึ่งของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟอ.) ต่อมาเมื่อธนาคารได้เริ่มนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในกิจการ บรรณวิทย์ได้ผันตัวเองไปอยู่ฝ่ายระบบคอมพิวเตอร์ ธนาคารกรุงเทพ ในช่วงที่อยู่แบงก์กรุงเทพ บรรณวิทย์ มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสื่อสารธนาคาร หรือ ONLINE BANKING ซึ่งนับเป็นธนาคารแรก ๆ ที่นำระบบดังกล่าวมาใช้ แต่ผลงานในครั้งนั้นกลับไม่ได้สร้างความฮือฮาให้กับตัวบรรณวิทย์ เท่าระบบเอทีเอ็ม บรรณวิทย์ ได้แนวคิดในเรื่องของเอทีเอ็ม มาจากประสบการณ์ในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ เขามองว่า ระบบนี้จะเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจรีเทลแบงกิ้งในอนาคต เพราะจะสามารถดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการฝาก-ถอนเงินของแบงก์แทนที่จะนั่งรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาเช่นในรูปแบบเดิม ยิ่งไปกว่านั้นจะสามารถรองรับบริการในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต เรียกว่า แนวคิดของการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับกลยุทธ์ในเชิงการตลาดเพื่อช่วงชิงลูกค้าในระดับบุคคล แต่แนวคิดดังกล่าวกลับไม่ได้รับการตอบสนอง เนื่องจากผู้บริหารแบงก์กรุงเทพ มองว่าเป็นระบบใหม่ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ไม่มั่นใจว่าจะทำสำเร็จ เมื่ออกหักจากแบงก์กรุงเทพ บรรณวิทย์หันมาร่วมงานกับแบงก์ไทยพานิชย์ ตามคำชักชวนของธารินทร์ นิมาเหมินทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ในยุคนั้น และเป็นผู้ที่มีบทบาททำให้บรรณวิทย์ก้าวขึ้นมาได้จนทุกวันนี้ ด้วยความมีหัวก้าวหน้าในเรื่องของเทคโนโลยี ธารินทร์เห็นด้วยกับแนวคิดในเรื่องเอทีเอ็มของบรรณวิทย์ และนับตั้งแต่นั้นแบงก์ไทยพาณิชย์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกระบบการเบิกถอนเงินด้วยเอทีเอ็ม เป็นแห่งแรก จนกลายเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งของรีเทลแบงกิ้งในทุกวันนี้ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เป็นรางวัลตอบแทนในผลงานชิ้นโบแดง รับผิดชอบสายงานเทคโนโลยี และสายงานลูกค้าส่วนบุคคลของบรรณวิทย์ในครั้งนั้น บรรณวิทย์ เป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบงานศิลปะ การประพันธ์โครงฉันท์ กาพย์ กลอน ซึ่งครั้งหนึ่งในสมัยยังเป็นนักเรียน เขาเคยฝากผลงานลงในนิตยสารต่าง ๆ โดยใช้นามปากกาว่า "มณีไพร" "เวลาเขียนสคริปท์จัดงานประจำปี หรือเขียนสโลแกนโฆษณาของแบงก์ คุณบรรณวิทย์จะเป็นคนลงมือเขียนเองตลอด" อดีตพนักงานประชาสัมพันธ์แบงก์ไทยพานิชย์เล่าที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของบรรณวิทย์เล่า แต่ความชอบส่วนตัวกับแนวทางปฏิบัติ ในบางครั้งก็เดินสวนทางกัน "มีอยู่ครั้งหนึ่งคุณบรรณวิทย์ กำลังสนุกกันมีงานสไลด์ มัลติวิชั่น ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นของใหม่ และแกก็ไม่เชื่อมือใคร ต้องมาดูงานเองตลอด ทำให้บางครั้งงานไม่เดิน เพราะคุณบรรณวิทย์เองต้องรับผิดชอบงานหลายอย่าง" อดีต พนักงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ย้อนหลังถึงอดีต การปรับโครงสร้างทิ้งทวนของธารินทร์ ก่อนลาออกนั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ผู้บริหารครั้งใหญ่ ในครั้งนั้นบรรณวิทย์ได้รับการโปรโมตให้ขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลสายงานเทคโนโลยีสายงานลูกค้าบุคคล และสายงานควบคุมและธุรกิจการ มาในยุคของโอฬาร ไชยประวัติ ได้ชื่อว่าเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงมากที่สุดยุคหนึ่ง ทั้งในเรื่องของโครงสร้างธุรกิจ ตลอดจนโครงสร้างผู้บริหารระดับสูง โครงสร้างล่าสุด บรรณวิทย์ยังคงรั้งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบคุมสายงานลูกค้าบุคคล และสายเทคโนโลยี ส่วนสายงานควบคุมและธุรการ ซึ่งเคยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของบรรณวิทย์ ได้ถูกโยกย้ายไปขึ้นตรงกับสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมทั้งฝ่ายบริการบัตรเครดิต และฝ่ายฝึกอบรม ได้ถูกแยกออกในรูปของบริษัท ตามนโยบายโปรฟิทเซนเตอร์ของโอฬาร ที่ต้องการแยกหน่วยงานที่สามารถทำกำไรออกมาต่างหาก ภารกิจของบรรณวิทย์ในแบงก์วันนี้ จึงดูผ่อนคลายลงมากทีเดียว เขาสามารถนั่งควบคุมนโยบาย และมอบหมายการบริหารงานจะให้กับสองผู้ช่วย คือนะเพ็ง พาแสง กฤษณามระ ดูแลสายงานส่วนบุคคล ส่วนสายงานเทคโนโลยี ดูแลโดยวิชิต อมรวิรัตนสกุล ผู้ได้ชื่อว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ มูลค่า 1,300 ล้านบาท และมีบทบาทอย่างยิ่งในสายงานไฮเทคทุกวันนี้ เมื่อสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้หันมาให้ความสนใจในกิจการโทรคมนาคมและสื่อ ด้วยความที่ต้องการเป็น "ตัวกลาง" ในสงครามธุรกิจสื่อสารมวลชนของไทย อันเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจและสังคมในทุกวันนี้ แต่มีเอกชนมีเพียงบางรายเท่านั้นครอบครองสื่อเหล่านั้นอยู่ ก้าวแรกของสำนักทรัพย์สิน คือการเข้าสู่วงการวิทยุในปี 2532 โดยสหศีนิมา บริษัทในเครือที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เพื่อดูแลกิจการโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ได้หันมาทำธุรกิจผลิตข่าวป้อนให้กับวิทยุเอเอ็ม พล. 1 ใช้ชื่อว่า ข่าวด่วนพล. 1 มีสนธิญาณ หนูแก้ว รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการข่าว แต่เส้นทางธุรกิจผลิตข่าวสารของสหศีนิมา ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะเป็นเพียงผู้ผลิตข่าว แต่ไม่มี "สื่อ" เป็นของตัวเอง สหศีนิมา จึงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาตลอดเวลา สหศีนิมาต้องหันมาจับมือกับ มีเดียพลัสในยุคของอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ ซึ่งเป็นเจ้าของสถานีวิทยุหลายคลื่น ร่วมทุนกันก่อตั้งเป็นบริษัทไอเอ็นเอ็น (INDEPENDENT NETWORK) เพื่อผลิตข่าวป้อนให้กับสถานีวิทยุของมีเดียพลัส ต่อมาได้เปิดทางให้คีรี กาญจนพาสน์ เจ้าของไทยสกายทีวีด้วยอีกทางหนึ่ง เข้ามาถือหุ้นในไอเอ็นเอ็น เพื่อหวังจะผลิตข่าวป้อนให้กับ "สื่อ" อย่างเคเบิลทีวี ซึ่งจะทำให้ไอเอ็นเอ็นมีสื่อครบวงจรมากขึ้น แต่ฝันของไอเอ็นเอ็นต้องสลายลงเมื่อคีรี ขายหุ้นไทยสกายให้กับกลุ่มวัฎจักรเครื่องมือและบุคลากรที่เตรียมไว้สูญเปล่าทันที และยังต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีเดียพลัสพ่ายแพ้ต่อการประมูลคลื่นวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ บทเรียนในครั้งนั้นทำให้ทรัพย์สินตระหนักแล้วว่า การไม่มี "สื่อ" เป็นของตัวเองทำให้ธุรกิจต้องผันแปรตลอดเวลาที่สำคัญมีเพียงเอกชนไม่กี่รายที่ยึดครอง "สื่อ" ซึ่งนับวันจะมีบทบาทต่อสังคมอย่างมาก ขณะเดียวกันธุรกิจประชาสัมพันธ์ของสหศีนิมา ที่เกิดขึ้นมาในระยะหลังก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะมีเฉพาะลูกค้าในเครือทรัพย์สินเท่านั้น ทรัพย์สินเรียนรู้เพิ่มขึ้นว่า การทำธุรกิจในแนวอนุรักษ์นิยมเช่นในอดีตคงเป็นไปไม่ได้ ในโลกยุคใหม่ที่การแข่งขันสูงเช่นนี้ แต่ต้องมีมืออาชีพเข้าร่วม จิรายุ ได้ดึงจุลจิตต์ บุญเกตุ รองกรรมการอำนวยการไทยออยล์ มาร่วมบุกเบิกให้กับสำนักงานทรัพย์สิน และได้จัดตั้งบริษัทสหศีนิมา โฮลดิ้ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ขึ้น มีเป้าหมายอยู่ที่การประมูลทีวีเสรี ตัวของจุลจิตต์ นอกจากมีความสนใจในธุรกิจสื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เคยเป็นกรรมการ อ.ส.ม.ท. ที่สำคัญยังเคยนั่งเป็นคณะกรรมการร่างทีโออาร์ ประมูลทีวีเสรีอยู่ด้วย การเข้ามาของจุลจิตต์จึงค่อนข้างลงตัว แต่ด้วยความที่สำนักทรัพย์สินฯ ต้องการอนุรักษ์ภาพความเป็น "สถาบัน" เอาไว้ ซึ่ง จิรายุประกาศมาตลอดว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประมูลแข่งขัน อีกทั้งในการประมูลทีวีเสรี สหศีนิมาโฮลดิ้ง ถูกโจมตีมาตลอดว่า ได้เปรียบกว่าคู่แข่งรายอื่น เพราะมีคณะกรรมการร่างที่โออาร์อย่างจุลจิตต์นั่งบริหารอยู่ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นสำนักทรัพย์สินเคยได้รับบทเรียนที่สำคัญมากจากการนำเสนอข่าวของไอเอ็นเอ็นเกี่ยวกับทนง ศิริปรีชาพงศ์ อดีต ส.ส. พรรคชาติไทย หรือฉายา ป.เป็ด ถูกรัฐบาล สหรัฐอเมริกาห้ามเข้าประเทศ ในข้อกล่าวหาค้ากัญชา ทำให้สำนักทรัพย์สินตระหนักว่า คงไม่ดีแน่หากสหศีนิมา โฮลดิ้ง จะออกหน้าเอง โดยเฉพาะกิจการประเภทสื่อ และโทรคมนาคม "ในเวลานั้นทรัพย์สิน มาดูว่าจะให้หน่วยงานใดภายใต้สังกัดเป็นผู้ลงทุน ก็พบว่าแบงก์ไทยพาณิชย์นั้นเหมาะสมที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมานาน อย่างปูนซีเมนต์ก็คงไม่มาลงทุนในเรื่องนี้" แหล่งข่าวในสำนักทรัพย์สินกล่าว การดึงแบงก์ไทยพาณิชย์เข้ามาลงทุนนอกจากจะแหล่งเงินทุนแล้ว ทรัพย์สินยังได้มืออาชีพอย่างบรรณวิทย์ ซึ่งเคยเห็นฝีมือในเรื่องเอทีเอ็ม และเทเลแบงกิ้งจะมาช่วยในเรื่องการพัฒนาธุรกิจ และการจัดวางโครงสร้างให้เป็นระบบยิ่งขึ้น แบงก์ไทยพาณิชย์นั้น ให้ความสำคัญในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคของธารินทร์ จนมาถึงยุคของโอฬาร จะเห็นได้ว่าพอร์ตการลงทุนของไทยพาณิชย์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีกิจการเทคโนโลยีสารสนเทศรวมอยู่ด้วยหลายโครงการคือ บริษัท สยาม คอมเมอร์เชียลลิงค์ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนของอุตสาหกรรมไฮเทคต่างชาติ รวมทั้งหาแหล่งเงินทุน คู่ค้าทางธุรกิจ และหาผู้บริหารให้ด้วย บริษัท เอสซีบี เทคโนโลยี ดีเวลลอปเม้นท์ ให้คำปรึกษาด้านสารสนเทศและเทคโนโลยีชีวภาพกับลูกค้า รวมทั้งการลงทุนทางด้านไอที ซึ่งมีบริษัท สยามเทคโนโลยี เซอร์วิส จำกัด ทำธุรกิจศูนย์สำรองข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ และบริษัทสยามสารสนเทศ ประมวลผล การลงทุนของแบงก์ไทยพาณิชย์ ในเรื่องของกิจการโทรคมนาคม และมีเดีย จึงเป็นโอกาสและความจำเป็นอย่างยิ่งยวด แทบทุกแบงก์ ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องนี้มานานแล้ว แบงก์กรุงศรีอยุธยาเป็นสถาบันการเงินหลักให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ส่วนแบงก์กรุงเทพฯ สนับสนุนให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เช่นเดียวกับ บริการส่งสัญญาณข้อมูล ภาพ และเสียงผ่านดาวเทียม หรือวีแซท ที่เช่นแบงก์ได้เข้าไปลงทุนในกิจการนี้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการสื่อสารระหว่างธนาคาร แบงก์กรุงเทพ ลงทุนในคอมพิวเน็ท แบงก์กสิกรลงทุนร่วมกับสหวิริยา และยังลงทุนในคอมลิงค์อีกด้วย สำหรับบรรณวิทย์แล้ว เขาเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการลงทุนธุรกิจไอทีของแบงก์ไทยพาณิชย์ เพราะความคิดของเขาไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับการนำอุปกรณ์ไฮเทคมาใช้ประโยชน์ภายในแบงก์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการลงมือทำธุรกิจทางด้านไอทีเองด้วย บรรณวิทย์ มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับคนในไอบีเอ็มมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยทำเรื่องเอทีเอ็ม และยังเคยชักชวนพรรคพวกในนั้น อาทิ ชาญชัย จารุวัสตร์, อนันต์ ลี้ตระกูล, ประทิน บูรณบรรพต ลงทุนในนามส่วนตัวเปิดบริษัทบิสซิเนส อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี ทำธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และยังได้เปิดบริษัท อิมเมจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ทำธุรกิจโปรดักชั่นเฮาส์ แต่บริษัททั้งสองแห่งต้องปิดตัวลงในเวลาต่อมา "บรรณวิทย์ได้แนวคิดเรื่องเทคโนโลยีมาจากไอบีเอ็มมากทีเดียว และตัวเขาก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ลงตัว" อดีตพนักงานไอบีเอ็มกล่าว แต่จุดที่บรรณวิทย์ ลงมือบุกเบิกธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับแบงก์จริง ๆ เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ในช่วงที่พบกับกลุ่มเวชสุภาพร ผู้ถือหุ้นใหญ่ห้างโรบินสัน ซึ่งตอนนั้นบรรณวิทย์ เป็นที่ปรึกษาในเรื่องการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เมนเฟรมของไอบีเอ็มให้กับโรบินสัน ทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจทางด้านนี้ สยามเทเลมาร์เก็ตติ้งเกิดขึ้น ด้วยแนวคิดในการทำธุรกิจไดเร็กซ์เซล ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการทำตลาด มีผู้ถือหุ้น คือ แบงก์ไทยพาณิชย์ และบริษัทในเครือตระกูลเวชสุภาพร และกลุ่มสามารถแต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่นิยมระบบขายตรง ในเวลาใกล้เคียงกัน บรรณวิทย์ได้ก่อตั้งบริษัท สยามเทคโนโลยี เซอร์วิส เพื่อทำธุรกิจรับสำรองข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์เมนเฟรม (BACKUP) ให้กับธนาคารต่าง ๆ โดยมีแบงก์ไทยพาณิชย์ ไอบีเอ็ม กลุ่มสามารถ และตระกูลเวชสุภาพรถือหุ้น ซึ่งบรรณวิทย์มองว่า จากนโยบายของแบงก์ชาติที่ต้องการให้ธนาคารมีระบบสำรองข้อมูลทางธุรกิจนี้ทางด้านนี้น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะนอกจากจะใช้เองแล้วยังให้บริการกับแบงก์อื่นได้ด้วย แต่บรรณวิทย์ลืมไปว่า ข้อมูลของธนาคารต่าง ๆ เป็นความลับ ที่สำคัญระบบเมนเฟรมที่ใช้ธนาคารอยู่เป็นคนละยี่ห้อ และระบบกับเครื่องเมนเฟรมของไอบีเอ็ม มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ที่นำมาให้บริการหากจะให้เชื่อมต่อกันได้ต้องเสียค่าใช้บริการอีกมาก ธุรกิจของสยามเทคจึงไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันสยามเทค มีขาดทุนสะสม 30 ล้านบาท ต้องขายเครื่องเมนเฟรมคืนให้กับไอบีเอ็ม ในราคาต่ำกว่าต้นทุนมากกว่าครึ่ง ต้องซื้อหุ้นกลับคืนมาจากไอบีเอ็ม และกลุ่มสามารถที่ขอถอนตัวออกไป แม้ว่าบรรณวิทย์ จะเคยประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนเสริมในการทำตลาด แต่การลงมือเข้าไปถึงแก่นการทำธุรกิจไอทีนั้น ดูเหมือนจะไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร การตอบรับแบงก์ไทยพาณิชย์ในครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดฉากสู่ธุรกิจไอที และสื่อของบรรณวิทย์อย่างเต็มตัวอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้บรรณวิทย์จะมีทั้งเวลา กำลังทรัพย์และกำลังคน สยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นถือกำเนิดขึ้น โดยมีสหศีนิมา ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติถือหุ้นฝ่ายละ 33% และมีบรรณวิทย์นั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร มีเป้าหมายเพื่อประมูลทีวีเสรี และเป็นแม่ข่ายคุมธุรกิจสื่อ และโทรคมนาคม การเกิดแม่ข่ายขึ้นอีกขั้ว ทำให้ต้องมีการแบ่งบทบาทเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน สหศีนิมาโฮลดิ้ง ถูกกำหนดบทบาทให้เป็นเพียงผู้ลงทุน (NVESTER) ที่จะเข้าไปมีเอี่ยว ถือหุ้นในกิจการทางด้านสื่อและโทรคมนาคม ในขณะที่สยามทีวี จะทำหน้าที่เป็นกึ่ง INVESTER กึ่ง HOLDING COMPANY เท่ากับว่า บทบาทการบริหารงานและกำหนดนโยบายจะเป็นของแบงก์ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีบรรณวิทย์เป็นเสนาธิการส่วนสหศีนิมาโฮลดิ้ง ที่จุลจิตต์เป็นแกนนำจะเป็นเพียงผู้ลงทุน เพื่อไปมีเอี่ยว ในกิจการสื่อ และโทรคมนาคมให้ครบวงจรเพื่อมาเสริมฐานให้กับสยามทีวีอีกครั้งหนึ่ง การแบ่งบทบาทในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการเปิดทางให้แบงก์ไทยพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังเป็นทางออกอย่างหนึ่งของสำนักงานทรัพย์สิน ที่สามารถวางตัวเป็นกลางในการลงทุน โดยไม่ต้องออกหน้าเอง จะเห็นว่าด้วยภาพความเป็นสถาบัน โครงการด้านสื่อสารโทรคมนาคมหลายโครงการที่ต้องการให้ทรัพย์สินเข้าไปมีส่วนในการถือหุ้น เพื่อคานอำนาจระหว่างผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่าย เช่น โครงการอีเรเดียม โครงการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ของอ.ส.ม.ท. หรือแม้แต่ในแผนแม่บทโทรคมนาคม ที่กำหนดให้ทรัพย์สินไปถือหุ้นในบริษัททศท. 1 และ ทศท. 2 แม้ว่าหุ้นสหศินิมาไปถือจะเล็กน้อยมาก ประมาณ 10% หรือบางโครงการก็แค่ 2% ก็ตาม แต่ก็เป็นส่วนสำคัญทำให้ทรัพย์สินเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการเหล่านี้โดยไม่ต้องออกแรง ทุกวันนี้ บรรณวิทย์ ยังคงใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งบริหารงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์ บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่เพื่อควบคุมนโยบายสายเทคโนโลยี และลูกค้าบุคคลของแบงก์ ที่มีผู้ช่วยทั้งสองคนนั่งบริหารงานหลักอยู่ เวลาส่วนหนึ่งของเขาต้องใช้ไปกับการเข้าประชุมร่วมกับกรรมการของบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่มสยามทีวี บนตึกไทยออยล์ "8 เดือนที่ผ่านมานับจากก่อตั้งสหศีนิมา และสยามทีวี คือการมุ่งขยายธุรกิจในแนวกว้าง เพื่อต้องการมีเครือข่ายของสื่อครบทุกประเภท ขั้นต่อไปของเราคือการจัดหมวดหมู่ธุรกิจที่กระจายกันอยู่ให้ลงตัว เพื่อขยายลงไปในแนวลึก" บรรณวิทย์ และจุลจิตต์ ร่วมให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" เมื่อครั้งที่จัดชุมนุมพลพรรคในเครือทั้งหมดเป็นครั้งแรก ในเดือนตุลาคม 2537 ที่ศูนย์ฝึกอบรมไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน จ.ชลบุรี สิ่งที่บรรณวิทย์ต้องทำ คือจัดโครงสร้างบริหาร และการจัดหมวดหมู่ธุรกิจที่สหศีนิมา โฮลดิ้งเข้าไปลงทุนในช่วงแรก ๆ และยังกระจัดกระจายอยู่ให้เป็นระบบ ภายใต้แนวคิดที่ว่า มีเดียและโทรคมนาคมจะต้องเคียงคู่กันไป เพื่อเป็นต้นกำเนิดของระบบมัลติมีเดียที่จะมีบทบาทอย่างยิ่งในโลกยุคนี้ บรรณวิทย์ ได้จัดหมวดหมู่ธุรกิจที่กระจัดกระจายอยู่ แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มธุรกิจ 1. ทีวี 2. วิทยุ 3.ข่าวและสำนักพิมพ์ 4.โทรคมนาคมและไอที 5.โฆษณาและประชาสัมพันธ์ 6.บันเทิง 7.โปรดักชั่นเฮาส์ 8.การศึกษา ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีแม่ข่ายย่อยของตัวเอง "คุณบรรณวิทย์เป็นคนทะเยอทะยานสูง หากทำอะไรก็ต้องทำให้มันใหญ่ อาจจะสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง" คนสนิทในวงการไอทีสะท้อนบุคลิกของบรรณวิทย์ สยามทีวี ภายใต้การนำของบรรณวิทย์ จึงได้รุกขยายเครือข่ายธุรกิจออกไปอย่างน่าอัศจรรย์ใน ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี มีบริษัทในเครือข่ายเกือบ 50 บริษัทใน 8 กลุ่มธุรกิจ คาดว่าแบงก์ต้องใช้เงินลงทุนไปแล้วมากกว่า 3,000 ล้านบาท พนักงานในบริษัท เล่าว่า บางครั้งเปิดบริษัทในวันเดียว 3 แห่ง ผู้บริหารเองยังจำไม่ได้เลยว่ามีบริษัทอะไรบ้าง เรียกว่า เปิดบริษัทไว้รอท่าธุรกิจ การขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาพของสยามทีวี จึงดูยิ่งใหญ่ และถูกจับตามองอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น การแตกเป็นบริษัทย่อย ๆ เป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องดึงมืออาชีพจากภายนอกเข้ามารองรับ "การที่เราทำมีเดียครบวงจร แต่ละกลุ่มจะต้องมีแม่ทัพนายกองเป็นของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารระดับหัวหน้ากลุ่ม แต่การที่เราจะได้มืออาชีพเหล่านี้มา เราก็ต้องจ่ายแพง คนละสองแสนสามแสน รถบีเอ็มดับบลิวอีก ดังนั้นผมจะต้องเลือกเองบรรณวิทย์ เคยกล่าวไว้ มืออาชีพเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบุคคลที่เคยมีสัมพันธภาพกับบรรณวิทย์มาก่อนแทบทั้งสิ้น อาทิ ไอบีเอ็ม กลุ่มสามารถ สยามกลการ บุคคล ที่มีบทบาทกับบรรณวิทย์ ค่อนข้างมาก คือฉัตรชัย บุนนาค อดีตกรรมการผู้จัดการสามารถเทเลคอม ที่รู้จักกันมาตั้งแต่แบงก์ไทยพาณิชย์เป็นลูกค้าวีแซทของสามารถ ได้เข้ามาร่วมงานกับสยามทีวี เมื่อปลายปีที่แล้ว จะทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ควบคุมธุรกิจทั้ง 8 กลุ่มให้เดินไปตามนโยบายที่วางไว้ ฉัต รชัย เป็นผู้มีส่วนในการริเริ่มธุรกิจการศึกษา รวมทั้งการเสนอให้ยกเลิกการลงทุนธุรกิจวิดีโอเท็กซ์ ทั้งที่บรรรณวิทย์ได้ตกลงใจแล้วว่าจะเข้าไปร่วมถือหุ้นกับกลุ่มทีเอ บรรณวิทย์ นำสไตล์การบริหารในรูปแบบโฮลดิ้งคอมปานี ที่เรีกว่าเน็ตเวิร์คสตรักเจอร์มาใช้ในการบริหารสยามทีวี นั่นคือการมีทีมผู้บริหาร จะเป็นผู้กำหนดนโยบายและสั่งการลงมายังกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีผู้อำนวยการบริหารในแต่ละกลุ่ม จะนำนโยบายไปปฏิบัติเพื่อให้เดินไปตามแนวทางที่วางไว้ (ดูโครงสร้างองค์กร) การบริหารงานในลักษณะนี้ บรรณวิทย์เชื่อว่าจะไม่ซ้ำซ้อน ที่สำคัญธุรกิจทั้ง 8 กลุ่ม จะ เกื้อหนุนกันได้ และสามารถใช้ทรัพยากรบุคลากรที่อยู่ได้อย่างคุ้มค่า ที่สำคัญ บรรณวิทย์ต้องการให้ผู้บริหารที่จ้างมาด้วยราคาแพงเป็นจำนวนมาก เป็นแขนขาเพื่อรองรับกับกิจการที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก "ผู้บริหารที่รับเข้ามา จะต้องเป็นระดับหัวหน้ากลุ่มธุรกิจ ซึ่งจะต้องมีความสามารถเฉพาะด้านในแต่ละธุรกิจ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน การลงทุน เพราะถ้าผมไม่มีมือผมตาย" บรรณวิทย์เล่าถึงสาเหตุที่ต้องลงทุนจ้างบุคลากรมืออาชีพเข้ามา ในขณะที่บรรณวิทย์ยังมุ่งหน้ารับมืออาชีพ และเปิดบริษัทเป็นดอกเห็ดเช่นนี้ แต่เมื่อมาพิจารณาธุรกิจทั้ง 8 กลุ่มธุรกิจแล้ว ดูเหมือนว่าเส้นทางธุรกิจของบรรณวิทย์ ยังเป็นเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น ไม่เท่านั้นยังอาจจะต้องเหนื่อยในการฟื้นฟูและหาจุดยืนในส่วนแบ่งตลาดซ้ำ กลุ่มโทรคมนาคมและไอที มีธุรกิจวีแซท ที่ซื้อต่อมาจากลุ่มธนายง และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทสยามแซทเทิ่ลไลท์ เน็ตเวิร์คเป็นแกนนำ สยามแซทเริ่มเปิดบริการตั้งแต่ต้นปี หลังจากที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูกิจการมาระยะหนึ่ง โดยใช้กลยุทธ์ราคาเป็นตัวทำตลาด ปัจจุบันเริ่มมีลูกค้าแล้วหลายรายทั้งในเครือและภายนอกผู้บริหารคาดว่าภายในปี 2540 จะสามารถล้างขาดทุนจำนวน 100 ล้านบาทได้ คู่แข่งสำคัญของสยามแซท คือสามารถเทเลคอม ซึ่งประกาศใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบมาใช้ทั้งในเรื่องของราคา และบริการใหม่ ๆ มาตอบโต้ สยามแซท ต้องทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายขยายธุรกิจโทรคมนาคม และปัจจุบันแตกหน่อขยายกิจการรวม 5 แห่ง ที่เปิดตัวในปีนี้ทั้งสิ้น คือ สยามวิดีโอคอนเฟอเรนสซ์ ที่ร่วมกับกลุ่มล็อกซเล่ย์จำหน่ายและติดตั้งระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ปัจจุบันมีลูกค้าในเครือไทยพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ บริษัท สยามอินโฟร์เน็ททำธุรกิจให้บริการอีดีไอระหว่างประเทศ มีคู่แข่งขันคือบริการไอไอเอ็นของไอบีเอ็ม บริติชเทเลคอม และเอทีแอนด์ที ที่เปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้แล้ว เป้าหมายของธุรกิจนี้ คือต้องการมีเครือข่ายระหว่างประเทศ สยามเน็ทเวิร์ค แมเนจเมนท์ ทำธุรกิจให้บริการของธนาคาร คือ อิเล็กทรอนิกส์ฟันด์ ทรานสเฟอร์ ซึ่งจะให้บริการบัตรเครดิต เดบิทของแบงก์ มีคู่แข่งที่สำคัญคือ กลุ่มสามารถ สยามคอนซัลติ้ง ให้บริการเกี่ยวกับการรับให้คำปรึกษา และดูแลระบบทางด้านโทรคมนาคม และเตรียมตั้งบริษัทใหม่เพื่อมาดูเรื่องอีเรเดียม สายไอที แม่ข่ายที่สองของกลุ่มนี้จะมีสยามเทคโนโลยี เซอร์วิส ซึ่งถูกโอนย้ายจากไทยพาณิชย์มาอยู่ภายใต้สยามทีวีพร้อมกับปรับแผนการทำธุรกิจใหม่ รับเหมาบริการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์แบบเบ็ดเสร็จ และบริการให้คำปรึกษา และจัดการโครงการ "ธุรกิจนี้ยังอยู่ เพราะผมมองว่าข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นในยุคนี้ ที่สำคัญต่อจากนี้คอมพิวเตอร์จะเป็นระบบเปิด เครื่องทุกเครื่องจะสามารถคุยกันได้ และตัวของสยามเทคจะเป็นแม่ข่ายวงที่สองที่จะขยายธุรกิจออกมา" บรรณวิทย์เล่า ด้วยแนวคิดนี้เอง ปัจจุบันสยามเทคได้แตกลูกออกเป็น 3 บริษัท สยามโฟนไลน์ สยามอินเตอร์แอคทีฟ ให้บริการติดตั้งระบบมัลติมีเดีย และล่าสุดได้จัดตั้งบริษัทสยามอินฟอร์เมชั่นเบสท์ ทำธุรกิจให้บริการข้อมูล ในรูปแบบของคลังสารสนเทศทั้งสามบริษัทนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นทั้งสิ้น กลุ่มธุรกิจทีวี เป็นกลุ่มที่จะมีบทบาทอย่างมากต่อสยามทีวี โดยมีณัฐวุฒิ จิตะสมบัติ เป็นผู้อำนวยการบริหาร หลังจากคว้าทีวีเสรีผู้ถือหุ้นทั้ง 12 ราย ได้จัดตั้งบริษัทสยามอินโฟรเทนเมนท์ ทำหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์ ระบบยูเอชเอฟ มีอายุสัมปทาน 30 ปี นอกจากนี้จะตั้งบริษัทสยามอินโฟร์เทนเมนท์ โฮลดิ้ง เพื่อเป็นแม่ข่ายแตกลูกหลานในกิจการที่เกี่ยวกับทีวีทั้งหมดขึ้นเช่น บริษัทผลิตข่าว บริษัทผลิตรายการ เป็นต้น การช่วงชิงทีวีเสรีได้ ใช่ว่าจะเป็นบทสรุปความสำเร็จ เพราะบรรณวิทย์ยังต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรค ของการเป็นทีวีช่องใหม่ ที่ต้องเข้าไปช่วงชิงยอดโฆษณากับคู่แข่งทีวีอีก 5 ราย และเคเบิลทีวีอีกหลายราย ด้วยข้อกำหนดที่จะต้องเป็นรายการบันเทิง 30% ที่เหลือเป็นข่าวและสารคดี 70% แต่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐถึง 2,500 ล้านบาท และการเป็นระบบใหม่ ทำให้ต้องลงทุนผลิตและติดตั้งเสาอากาศ เพื่อรับสัญญาณยูเอชเอฟให้กับลูกค้ากว่า 7-8 ล้านหลังคาเรือนเพื่อให้ทันกำหนดเปิดให้บริการภายใน 2 ปี กลุ่มโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ธุรกิจเก่าแก่ของสหศีนิมาจนถึงวันนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนต้องมีการดึงเอาดร.เสรี วงษ์มณฑา เข้ามาเป็นกรรมการผู้อำนวยการบริหาร เป้าหมายของกลุ่มนี้คือ มอบหมายสยามวิชั่นเป็นแม่ข่าย และแตกเป็นบริษัทลูก เพื่อทำธุรกิจเอเยนซีครบวงจร กลุ่มวิทยุ ธุรกิจที่เกิดขึ้นมาในยุคแรก ๆ มีบริษัทสยามเรดิโอ ซึ่งร่วมทุนกับอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ เป็น ผู้บริหารสถานีวิทยุ 3 คลื่น คือ ช่องเพลงสากลคลื่น 94.5 ช่องเพลงบรรเลงคลื่น 95.0 และรายการข่าวคลื่น 102.5 ธุรกิจในกลุ่มนี้ยังมีภาพสับสนอยู่บ้างตรงที่ความเป็นตัวของตัวเองของอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ ที่บางครั้งดูเหมือนจะเป็นพันธมิตรชั่วคราว บางครั้งก็บอกว่าจะแยกมาทำธุรกิจวิทยุของตัวเอง โอกาสที่อิทธิวัฒน์จะทุ่มเทให้กับสยามเรดิโอจึงเป็นคำถาม กลุ่มบันเทิง ธุรกิจในช่วงเริ่มต้นจะเป็นลักษณะของการไปร่วมถือหุ้นกับบริษัทอื่น เช่นในบริษัทคีตา, ออนป้า, วิสา เอ็นเตอร์เทนเมนท์, ภัตตาคารแพลเน็ทฮอลลีวูด แต่หลังจากได้สถาพร สิริสิงห์ มือดีจากสยามเอ็กเพรส เป็นกรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มได้เริ่มขยายธุรกิจออกไป อาทิ สยามมีเดียเอาท์เล็ท สยามแลนด์มาร์ก กลุ่มข่าวและสำนักพิมพ์ เป็นธุรกิจในยุคแรกเริ่มอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเป็นการเข้าไปลงทุนร่วมกับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เป็นหลักจะไม่เข้าไปบริหารเอง ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ประกอบไปด้วย หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษบิสซิเนสเดย์, หนังสือพิมพ์รายวันสื่อธุรกิจ, โรงพิมพ์สยามเพรส แมเนจเมนท์ โรงพิมพ์ สยามเอ็นแอนด์บี พับบลิชชิ่ง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวันอย่างบิสซิเนสเดย์กับสื่อธุรกิจก็ยังเป็นการลงทุนในระยะยาว ส่วนกลุ่มข่าว จะมีสยามเรียลไทม์บิสซิเนสนิวส์ ที่ร่วมกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ขายข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับแนวธุรกิจ เพราะไม่ประสบความสำเร็จเท่า ที่ควรพร้อมกันนี้มีแผนที่จะแตกขยายธุรกิจข่าวของไอเอ็นเอ็นไปในรูปแบบต่าง ๆ เช่น นำมาผลิตป้อน ทีวี วิทยุ และส่งผ่านระบบมัลติมีเดีย ซึ่งในแต่ละชนิดจะตั้งเป็นในรูปของบริษัทขึ้นมารองรับ กลุ่มธุรกิจโปรดักชั่นเฮาส์ กลุ่มนี้จะมีฉัตรชัย บุนนาค รักษาการเป้าหมาย คือ การสร้างโรงถ่ายหนังขนาดใหญ่ (PRODUCTION PARK) ที่จะมีทั้งโรงแรม ร้านอาหาร อยู่ในบริเวณ เพื่อทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปในตัว อยู่ระหว่างการเลือกสถานที่ ระหว่างจังหวัดระยอง และรังสิต กลุ่มการศึกษา เป็นกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นล่าสุด ช่วงแรกคือการจัดตั้งเป็นหน่วยงานมีชื่อว่าสยามโปรเฟสชั่นแนล เอ็กเซอร์เลน เซนเตอร์จะมีประสาน มฤคพิทักษ์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทำธุรกิจฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดการ การบริหาร ตลอดจน การทำข่าว วิทยุ โทรทัศน์ การจัดรายการเพลง จะรองรับกับธุรกิจในกลุ่ม และลูกค้าทั่วไป เป้าหมายต่อจากนั้น คือ การจะร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาทิ UCLA, อิมพีเรียล คอลเลจ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ลอนดอน เปิดเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ สอนทางด้านเทคโนโลยี ไอที กำหนดตั้งขึ้นที่สนามกอล์ฟ ฟินิกซ์ ศรีราชา พื้นที่ 300-400 ไร่ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัย สิรินทรสยาม เป็นแนวคิดของกลุ่มทรัพย์สิน ธนาคารไทยพาณิชย์ และกลุ่มเทิดทูนพระเทพฯ จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนขึ้น มีสถานที่ตั้งอยู่ที่วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 3,000 ไร่ จะเห็นได้ว่า ธุรกิจทั้งหมดนี้ จะมีเพียงวีแซท ที่เป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด คือเปิดให้บริการแล้ว แต่ยังต้องรอล้างขาดทุน นอกจากนนั้นจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น และบางแห่งยังไม่เริ่มดำเนินการ ส่วนธุรกิจเก่าแก่ อาทิ ประชาสัมพันธ์ หรือสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ก็อยู่ในช่วงฟื้นฟูเท่านั้น และแม้ว่าสยามทีวีจะคว้าสัมปทานทีวีได้ แต่ก็ไม่ใช่บทสรุปของความสำเร็จ เพราะเขายังต้องเผชิญกับอุปสรรคที่รายล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งทีวีเสรี ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มนี้ ยังต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคนานาประการ "สยามทีวี ไม่ได้ยิ่งใหญ่โตอย่างที่ใคร ๆ คิด เพราะเป้าหมายของแบงก์คือต้องการมีสื่อ และข่ายโทรคมนาคมของตัวเองเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินก็ต้องการเข้ามาคานอำนาจเท่านั้น" แหล่งข่าวในสยามทีวีกล่าวทั้งบทบาทสยามทีวี" เพราะหากพิจารณาจริง ๆ แล้ว การขยายตัวจะไปเน้นหนักในธุรกิจในกลุ่มทีวี และวีแซท เท่านั้น เนื่องจากธุรกิจทั้งสองประเภทนี้เป็นสัมปทาน หากทำรายได้ให้มากต้องยิ่งจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐมาก ดังนั้น จึงต้องมีการแยกออกมาเป็นบริษัทย่อยเพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อแยกรายได้ออกมาต่างหาก ไม่ต้องนำมารวมกับบริษัทที่ได้รับสัมปทาน ซึ่งบริษัทโทร-คมนาคมหลายรายก็ใช้วิธีนี้ การสานต่อธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาทั้งหมดให้สามารถเลี้ยงตัวได้ คือ โจทย์ที่บรรณวิทย์จะต้อง เผชิญต่อไป หลังจากเขาขยายอาณาจักรและเครือข่ายจนน่ากลัวในช่วงปีที่ผ่านมา   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us