|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2538
|
|
ที่ผ่านมา เมื่อผู้ซื้อบ้าน เกิดปัญหากับบริษัทขายบ้านหรือคอนโดมิเนียมแล้ว หน่วยงานที่เราจะคิดถึงเป็นประเดิมก่อนเพื่อนนั้นก็คือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สศบ. หรือกอง ควบคุมธุรกิจบ้านจัดสรรของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งหน่วยงานทั้งสองต่างต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้ง ที่จะได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนจำนวนมากที่ทับถมกันมาอย่างมหาศาล
แต่ด้วยอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทั้งสองที่มีค่อนข้างจำกัด แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ในมือก็ตาม แต่การที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของราชการเช่นตำรวจ ที่จะสามารถทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นได้จริงนั้น ทำให้หน่วยงานทั้งสองมักจะถูกเพ่งเล็งถึงความด้อยประสิทธิภาพในจุดนี้ จน ถูกขนานนามบ่อย ๆ ว่าเป็น "เสือกระดาษ"
มาบัดนี้เนื่องด้วยกระแสเรียกร้องของคนหลายกลุ่มที่อยากจะเห็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) หน่วยงานหนึ่งของกรมตำรวจที่ฝากฝังผลงานเอาไว้มาก หลายเกี่ยวกับคดีปั่นหุ้น หรือแม้แต่คดีลิขสิทธิ์ที่เพิ่งจะฮือฮาไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผลงานที่คนทั่วไปอยากเห็นคือ "ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์" ที่พึ่งอีกแห่งหนึ่งของผู้ซื้อบ้านที่จะสามารถเชื่อใจขึ้นมาได้อีกระดับหนึ่งว่าด้วยอำนาจหน้าที่และความคล่องตัวในการใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยปัดเป่าความทุกข์ของคนซื้อบ้านได้มากกว่าที่เคยเป็นมา
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการก่อกำเนิดของศูนย์แห่งนี้ นั่นคือตำรวจเศรษฐกิจที่สร้างชื่อไว้จากคดีปั่นหุ้นเคเอ็มซี อันอื้อฉาว พ.ต.อ.พีรพันธ์ เปรมภูติ ผู้กำกับการ 3 คือผู้ผลักดันให้ศูนย์นี้เกิดขึ้น
ผู้กำกับพีรพันธ์เล่าให้ฟังขั้นตอนกว่าจะมาเป็นศูนย์นี้ได้ว่า การที่จะเป็นศูนย์ข้อมูลได้นั้น จะต้องมีข้อมูลมากเพียงพอที่จะให้ผู้คนทั่วไปสามารถสืบค้นได้อย่างเต็มที่หรือจะต้องมีแหล่งข้อมูลที่พร้อมจะสนับสนุนด้านนี้ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นหน่วยงานที่เคยทำด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นกองควบคุมธุรกิจที่ดิน สคบ. กรมทะเบียนการค้า หรือแม้แต่กรมอัยการก็ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือในการเป็นที่ปรึกษากฎหมายด้วย
ความเป็นศูนย์ข้อมูลเป็นข้อแตกต่างสำคัญ ที่ผู้กำกับพีรพันธ์เน้นเป็นพิเศษโดยจะอำนวยความสะดวก ให้กับผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทพัฒนาที่ดินต่าง ๆ ว่า มีที่มาและมีที่ไปอย่างไร มีความน่าเชื่อถือหรือเคยก่อคดีฉ้อฉลประการใดหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการติดต่อกับบริษัทนั้น หรือให้เกิดความมั่นใจที่จะติดต่อกับบริษัทนั้นแล้ว
"เราพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างลูกค้ากับบริษัทขายบ้าน จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตนั้น มีรากฐานมาจากการขาดข้อมูลของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ซึ่งจะพบว่าเมื่อเราเปิดศูนย์ตั้งแต่ 10 เมษายนที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการสอบถามข้อมูลมากถึง 410 ราย ในขณะที่เป็นการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย 44 ราย ซึ่งสามารถไกล่เกลี่ยได้เกือบทั้งหมดคือประมาณ 90% ..."
ดังได้กล่าวแล้วถึงความได้เปรียบของหน่วยงานเช่นสศก. ที่มีอำนาจหน้าที่ในการใช้กฎหมายอยู่ในมือ ซึ่งผู้กำกับพีรพันธ์ก็ยอมรับว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผู้คนแห่กันมาใช้บริการกันเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนเจรจาไกล่เกลี่ยนั้น หากจำเป็นต้องออกหมายเรียก แล้วทางบริษัทไม่ได้ส่งผู้หนึ่งผู้ใดมาเจรจาแล้ว ก็จะเข้าข่ายผิดตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่มีโทษปรับสูงถึง 50,000 บาท ขณะที่หน่วยงานอย่างสคบ. ไม่มีอำนาจเช่นนี้
แต่ด้วยข้อติดขัดด้านงบประมาณ ทำให้ในปัจจุบันศูนย์ข้อมูลฯ ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากนัก เนื่องจากคอมพิวเตอร์ที่จะไว้เก็บข้อมูลของบริษัทต่าง ๆ มีอยู่เพียง 1 เครื่องเท่านั้น ซึ่งระหว่างนี้ก็ได้รับการช่วยเหลือด้านนี้จากสมาคมเกี่ยวกับพัฒนาที่ดินทั้ง 2 คือ สมาคมบ้านจัดสรร และสมาคมการค้าอาคารชุด ที่จะให้คอมพิวเตอร์มาช่วยเหลือด้วย ในขณะที่ด้านบุคลากรมีถึง 12 คน และพร้อมจะเพิ่มเติมได้อีกในอนาคต จึงไม่มีปัญหามากนักในจุดนี้
แม้ว่าศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แห่งนี้จะมีข้อขัดสนด้านงบประมาณอยู่บ้าง แต่ผู้กำกับพีรพันธ์ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า งานของศูนย์ฯ จะไม่หยุดยั้งอยู่เพียงแค่นี้
โดยขณะนี้ อาณาเขตการให้บริการของศูนย์จะมีจำกัดอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ในช่วงต่อไป โดยการรับความร่วมมือจากกองบังคับการตำรวจภูธรภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะติดต่อถึงกันในการเปิดบริการกับประชาชน ที่มาติดต่อด้านข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ นั่นหมายถึงว่า ในขณะที่ประ-ชาชนในกรุงเทพฯ จะต้องใช้เวลารอการสืบค้นข้อมูล จากทางศูนย์ประมาณ 2-3 วันนั้นด้วยการใช้เวลา ไม่เกิน 4-5 วัน สำหรับประชาชนผู้อาศัยอยู่ต่างจังหวัด ก็จะสามารถเช็กข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน หรือบริษัทพัฒนาที่ดินในจังหวัดนั้นได้เช่นกัน
การเปิดบริการให้กับประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดนั้นด้านอสังหาริมทรัพย์นั้น ถือเป็นเป้าหมายแรกเท่านั้น เพราะต่อไปหากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว การสืบค้นข้อมูลให้กับประชาชนจะขยายออกไปเป็นข้อมูลบริษัทประเภทอื่นด้วย นอกจากนั้นการทำให้ศูนย์ข้อมูลแห่งนี้เป็นการแจ้งข้อมูลจากทางประชาชนอีกทางหนึ่งด้วยนั้น ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของศูนย์แห่งนี้
อย่างไรก็ตาม ณ จุดนี้ตำรวจเศรษฐกิจอย่างพีรพันธ์ยืนยันว่า การเกิดขึ้นของศูนย์ข้อมูลแห่งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับหน่วยงานอื่นที่สร้างชื่อมาก่อนหน้า โดยเฉพาะสคบ. แต่หวังว่าจะเป็นการสร้างข่ายงานอีกแห่งหนึ่ง เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานที่มีก่อนหน้า ทำให้ประชาชนมีตัวเลือกในการใช้บริการมากขึ้น
แต่เมื่อถามถึงความท้าทายในการเข้ามาจับงานด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผิดกับคดีปั่นหุ้นที่เคยทำมา ผู้กำกับพีรพันธ์อรรถาธิบายว่า เป็นความท้าทายที่แปลกและแตกต่างออกไป เพราะนอกจากจะต้องเข้าไปคลุกคลีกับผู้คนในวงการมากขึ้นแล้ว ยังสามารถเข้าไปสัมผัสปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้านตาดำ ๆ ได้อีกด้วย และมีความมั่นใจว่า ศูนย์ข้องมูลอสังหาริมทรัพย์แห่งนี้ น่าจะเป็นทางพึ่งที่เป็นเนื้อเป็นหนังได้ ท่ามกลางพัฒนาที่ดินหน้าเนื้อใจเสือบางราย
|
|
|
|
|