|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2538
|
 |
หากเปรียบเทียบความดังของบริษัทศูนย์วิจัยค่ายไทยพาณิชย์กับศูนย์วิจัยกสิกรไทยฝ่ายหลังย่อมดังกว่าเพราะสไตล์การนำเสนอสินค้าแบบหวือหวา โดยเกาะติดสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ผลกระทบจากข่าวลือลดค่าเงินบาท เรื่องซื้อเสียงเลือกตั้ง ที่สื่อมวลชนทุกแขนงต่างนำไปเผยแพร่
ยิ่งผู้บริหารอย่างพิศาล มโนลีหกุล ลูกหม้อเก่าเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ยิ่งมีฤทธิ์เดชแห่งผลงานมาก สลัดคราบเก่า ๆ ในรูปแบบหนังสือสรุปข่าวธุรกิจออกไป กลายมาเป็นการนำเสนอแบบ "เร่งด่วน" ในรูปแฟกซ์เขียนง่ายอ่านสนุก และพลิกโฉมหน้ากระดาษวิชาการให้กลายเป็นข่าวได้อย่างน่าทึ่ง แม้จะค่อนข้างใช้สำบัดสำนวนมากไปหน่อยก็ตาม แต่ก็เพื่อความหนักแน่นเชิงวิชาการจะได้แปรรูปเป็นอาหารสมองที่อ่านง่ายขึ้น
ขณะที่ทางค่ายใบโพธิ์นั้น แม้จะแตกตัวตั้งเป็นบริษัทศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์มาก่อนตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วก็ตาม แต่ก็เน้นการทำงานในแบบตรงกันข้ามโดยทำงานวิจัยเงียบ ๆ มีวัตถุประสงค์ขายข้อมูลให้ภายในเครือธนาคาร การนำเสนอต่อสาธารณชนเน้นรูปเล่มชัดเจนเป็นหลักเป็นฐานทางวิชาการมีกำหนดระยะเวลาเผยแพร่แน่นอน แต่ก็เคยจัดการสัมมนาใหญ่ครั้งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่อง "วิกฤตค่าเงินดอลลาร์" ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม
ที่เป็นดังนี้อาจเป็นเพราะสไตล์การทำงานของดร. พสุ พานิชศุภผล กรรมการผู้จัดการศูนย์ที่เป็นคนใหม่ในวงการสถาบันการเงิน เคยทำงานระดับนโยบายเงินกู้ของกระทรวงการคลัง สมัยยุคนายกรัฐมนตรีชื่ออานันท์ ปันยารชุน ดร.พสุเคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ คือไพจิตร เอื้อทวีกุล มาแล้ว
"ผมอยู่ราชการมาสิบกว่าปี นี่เป็นครั้งแรกที่เริ่มชีวิตทำงานภาคเอกชนแห่งแรกก็ที่ธนาคารไทยพาณิชย์แห่งนี้ ดร.โอฬาร เป็นผู้ชักชวนผมมาเรื่องบริษัทศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ ดร.โอฬารเห็นว่าถ้าหากสามารถรวมงานวิจัยไว้ในแหล่งเดียวกัน ก็จะมีประสิทธิภาพด้านต้นทุนและสมรรถภาพ" ดร.พสุ พานิชศุภ ผลเล่าให้ฟังถึงที่มา
บริษัท ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์และบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ต่างเป็นปรากฎการณ์ทางธุรกิจธนาคาร ที่ต้องขยายฐานข้อมูลทางกว้าง และลึกให้กับบริษัทในเครือธนาคารทั้งหมด ให้ได้ข้อมูลรวดเร็วและถูกต้อง
ในยุคทองของ MIS (MANAGEMENT INFORMAITON SYSTEM) ซึ่งถือว่า "ข้อมูลคืออำนาจ" รูปแบบใหม่ของการยกระดับฝ่ายวิชาการหรือกลุ่มวิจัยอุตสาหกรรมแบงก์พาณิชย์ให้เป็น "บริษัท" มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรองรับการแข่งขัน ที่จะต้องมีคลังข้อมูลและหน่วยวิจัยที่มีประสิทธิภาพ และคล่องตัว ในการทำงาน
นอกจากนี้ การแยกตัวออกมาตั้งในรูปบริษัทใหม่ในลักษณะ PROFIT CENTER ยังประโยชน์ในแง่การบริหารต้นทุน และมีโครงสร้างเงินเดือนและสวัสดิการที่ให้ผลตอบแทนจูงใจคนเก่งมาทำงานด้วย
"คุณบัณฑูรเคยพูดไว้ในลักษณะที่ว่าธุรกิจของศูนย์ข้อมูลกสิกรไทยนี้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เพราะเป็นธุรกิจขายข้อมูล ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ขายแต่จะเผยแพร่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักก่อนแต่ในอนาคตธุรกิจนี้จะขายข้อมูลแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ" เจ้าหน้าที่บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย เล่าให้ฟัง
ในระยะแรกกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ของทั้งสองศูนย์วิจัยก็คือ แบงก์และบริษัทในเครือแบงก์ ที่จะนำเอาข้อมูลทั้งระดับมหภาคและจุลภาคจากฝ่ายต่าง ๆ เช่นฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจทั่วไป ฝ่ายวิจัยอุตสาหกรรม ฝ่ายวิจัยการเงิน ฝ่ายวิจัยระหว่างประเทศและการลงทุน และศูนย์ลงทุนต่างประเทศที่คอยให้คำปรึกษา แก่นักลงทุนไทยและเทศ
ในด้านการค้นคว้าข้อมูลนั้น นอกจากการจัดเก็บข้อมูลทั่วไปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังใช้งบลงทุนให้พนักงานไปดูงานต่างประเทศ เพื่อหาข้อมูลภาคสนามมาเขียนวิจัยแนะนำนักลงทุนจริง ๆ เช่น กรณีบริษัท ล็อกซเล่ย์ไปประมูลสร้างเขื่อนในเมืองจีน ทางพนักงานบริษัทศูนย์วิจัยก็จะได้รับงบประมาณไปหาข้อมูลวิจัยเพื่อการตัดสินใจของลูกค้า นอกเหนือจากนั้นยังหาข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจไปด้วย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับแบงก์ในจีน
เฉกเช่นเดียวกับการทำงานของศูนย์วิจัยค่ายใบโพธิ์ที่พยายามสร้างคลังข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้สำหรับบริษัทในเครือแบงก์ไทยพาณิชย์ เช่นธนชาติ ธนสยาม และต่อไปในอนาคตก็วาดหวังว่าจะรับงานนอกแบงก์ได้ เพื่อให้บริษัทมีกำไร และเมื่อถึงจุดหนึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างแบงก์ไทยพาณิชย์อาจลดสัดส่วนถือหุ้นลง
"ตอนนี้เรามีพนักงานวิจัยกว่า 30 คน แต่ถ้าจะให้ดำเนินการเต็มรูปแบบ คาดว่าต้องเพิ่มอัตราพนักงานมากกว่านี้ ผลงานวิจัยแต่ละเรื่องที่เราผลิตก็หวังผลตอบแทนเช่นเดียวกัน โดยต้องวัดจากแรง นักวิชาการที่ทุ่มลงไปว่าใช้เวลาทำงานมากน้อยเพียงใด เพราะว่าเป็นลักษณะธุรกิจที่ต้องหวังเลี้ยงตัวเองได้และจะเป็นฐานสนับสนุนธุรกิจอื่น ๆ ด้วย" ดร. พสุเล่าให้ฟัง
ปัญหาบุคลากรที่ต้องดึงมาจากมหาวิทยาลัยและข้าราชการกลายเป็นเรื่องหายากของทั้งสอง บริษัท แม้จะพยายามใช้แรงจูงใจที่จะดึงคนในแบงก์มาร่วมงานด้วย เช่นกรณีของบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งคนแบงก์รวงข้าวเกิดการเปรียบเทียบด้านสวัสดิการที่ใหม่ได้ไม่จุใจเท่าที่เก่า เพราะสวัสดิการเงินกู้แก่พนักงานแบงก์กสิกรไทยจะได้รับดอกเบี้ยต่ำซื้อบ้านเพียง 4% ขณะที่พนักงานบริษัทศูนย์ข้อมูลกสิกรไทยต้องจ่ายแพงในอัตราดอกเบี้ย 13.25% กรณีกู้เกิน 7 แสนบาทขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่ออนาคตที่ชี้ชัดว่าข้อมูลคืออำนาจนั้นได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบริษัทใหม่ทั้งสองแห่งนี้ แม้ว่าทั้งสองแบงก์ยักษ์ใหญ่จะต้องควักเงินลงทุนไปไม่ต่ำกว่าหลักร้อยล้าน เพื่อก้าวไกลในยุคทอง MIS ก็ตามที
|
|
 |
|
|