ปลายปีที่แล้วได้ไปชมนิทรรศการ Edvard Munchou l’anti-Cri ที่ Pinacotheque แถวปลาซ เดอ ลา มาดแลน (Place de la Madeleine) มิใช่เพราะชื่นชอบผลงานของจิตรกรผู้นี้ แต่เพื่อหาคำตอบให้ตนเองว่าทำไมผลงานของเอดวาร์ด มุงค์ จึงถูกขโมยบ่อยๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้คำตอบ แต่จะให้ปักใจชอบ ก็ไม่ถึงขนาดนั้น จะให้ไม่ชอบก็กระไรอยู่ เพราะผลงานจำนวนหนึ่งก็สวยทีเดียว หากไม่นับส่วนที่ดูน่ากลัว
อดแปลกใจไม่ได้ว่าในฤดูใบไม้ร่วง 2011 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งหรือชาติจอร์จส์ ปงปิดู (Centre national d’art et de culture Georges Pompidou) จัดนิทรรศการเอดวาร์ด มุงค์อีก จะไม่กระชั้นไปหน่อยหรือ หากก็ได้พบว่าเป็นนิทรรศการที่มองเอดวาร์ด มุงค์ในอีกแง่มุมหนึ่ง จึงต้องตามไปดูให้เป็นที่ประจักษ์
เอดวาร์ด มุงค์ (1863-1944) เป็นชาวนอร์เวย์ ชีวิตเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ด้วยว่าเมื่ออายุ 5 ขวบ แม่ก็เสียชีวิต พอเป็นวัยรุ่น พี่สาวก็ตายไปอีกคน ราวกับชีวิตเต็มไปด้วยความตาย เขาเข้าเรียนใน Royal School of Design ในปี 1885 ได้รับทุนไปปารีสเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ถัดไปปีหนึ่งนำผลงานชื่อ L’enfant malade ร่วมแสดงในนิทรรศการที่ทางการจัดซึ่งเรียกว่า Salon d’automne เป็นภาพที่สร้างความอื้อฉาว ด้วยว่ามีผู้กังขาว่าเป็นภาพที่ยังวาดไม่เสร็จ เป็นภาพเด็กที่ป่วยอยู่บนเตียง จึงไม่มีสีสัน เอดวาร์ด มุงค์ได้รับทุนมาศึกษาต่อที่ปารีสอีกครั้งหนึ่งในปี 1889 อันเป็นปีที่พ่อเสียชีวิต ความเศร้าโศกเพิ่มทวีคูณ เขาจัดนิทรรศการแสดงผลงานของเขาในปี 1892 รูปแบบภาพเขียนก่อให้เกิดความอื้อฉาวอีกครั้งหนึ่ง เขาถูกกล่าวหาว่าดูถูกศิลปะ นิทรรศการถูกปิดหลังจากแสดงได้เพียงสัปดาห์เดียว อย่างไรก็ตาม เขานำผลงานเดียวกันนี้ไปแสดงหลายเมืองในเยอรมนี เอดวาร์ด มุงค์จึงไปพำนัก ในเยอรมนีในปี 1893 ได้พบปะกับอาร์ทิสต์แขนงต่างๆ ต่อมาอีก 2 ปี น้องชายของเขาเสียชีวิต
จากเบอร์ลินไปปารีส แล้วเอดวาร์ด มุงค์ก็เดินทางกลับไปนอร์เวย์ ได้พบรักกับทุลลา ลาร์เซน (Tulla Larsen) แต่เป็นรักที่ไม่สุขนัก ทะเลาะเบาะแว้งกันเนืองๆ ครั้งสุดท้ายเอดวาร์ด มุงค์ถูกยิงที่มือซ้าย จึงเลิกร้างกันไป ในปี 1908 เอดวาร์ด มุงค์เข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าที่โคเปนเฮเกน
นิทรรศการแรกของเขาในสหรัฐอเมริกาจัดในปี 1912 ผลงานของเอดวาร์ด มุงค์ได้ออกแสดงนิทรรศการในเยอรมนีอยู่บ่อยๆ เมื่อถึงยุคที่นาซีเป็นใหญ่ในเยอรมนี ผลงานของเขาจำนวน 82 ภาพถูกพวกนาซียึดไป ด้วยเห็นว่าไม่สมควรแสดงต่อสาธารณชน เยอรมนีรุกรานนอร์เวย์ในปี 1940 ต่อมา 4 ปี เอดวาร์ด มุงค์ก็ถึงแก่กรรม เขามอบผลงานทั้งมวลของเขาแก่เมืองออสโล (Oslo) เป็นภาพสีน้ำมัน 1,100 ภาพ ภาพพิมพ์ 18,000 ภาพ ภาพดรออิ้งและภาพสีน้ำ 4,500 ภาพ รูปปั้น 6 ชิ้น รูปถ่าย 183 รูป สมุดร่างภาพ 92 เล่ม รวมทั้งเอกสารลายมือเขียนและหนังสือ
ชีวิตที่มีแต่ผู้เป็นที่รักดับสูญคนแล้ว คนเล่า ทำให้เอดวาร์ด มุงค์เศร้าไม่วายกลายเป็นสาเหตุให้เกิดความซึมเศร้าจนต้องเข้ารับการบำบัดภาพเขียนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง L’enfant malade และ Le cri สะท้อนความทุกข์ทรมาน ทำให้มีการตีความว่าเขาเป็นจิตรกรที่ซึมเศร้าและเก็บตัวจากโลกภายนอก นิทรรศการต่างๆ ที่จัดหลังจากที่เอดวาร์ด มุงค์เสียชีวิต มุ่งไปที่ผลงานของเขาในช่วงปี 1890 ดังภาพในชุด La frise et la vie ประกอบด้วยภาพหลายชุด Le cri, Le baiser, Vampire, Puberte...หากศึกษาผลงานของเอดวาร์ด มุงค์ จะพบว่าระหว่างปี 1913- 1930 จิตรกรผู้นี้เขียนภาพชุด La frise et la vie ในรูปแบบใหม่ เห็นชัดในภาพ Puberte ซึ่งมีรายละเอียดที่ต่างกันระหว่างภาพที่เขียนในปี 1894-1895 และ 1914-1916 ภาพหลังมีฝีแปรงที่ละม้ายแวงซองต์ วาน โก๊ก (Vincent Van Gogh) ซึ่งเคยมีผลงานแสดงเคียงกันที่เมืองโคโลญ (Cologne)
นิทรรศการ Edvard Munch, l’lil moderne ที่ศูนย์วัฒนธรรมจอร์จส์ ปงปิดู มุ่งให้เห็นภาพว่าเอดวาร์ด มุงค์มิได้เก็บตัวจากโลกภายนอกอย่างที่ใครๆ คิด หากเป็นผู้ที่สนใจความเป็นไปในโลกและวิวัฒนาการสมัยใหม่ เขาซื้อกล้องโกดัก (Kodak) ในปี 1902 และสนุกกับการถ่ายรูป อันมีรูปที่เขาถ่ายตนเองจำนวนหนึ่ง เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าหากวันใดเขาแก่เฒ่าจนไม่สามารถวาดรูปได้ เขาคงจะเขียนอัตชีวประวัติ จะได้ไม่ต้องไปลำบากหาภาพถ่ายของเขา เพราะเขาเตรียมไว้แล้ว ที่ปารีสเขาซื้อกล้อง Path?-Baby สำหรับช่างกล้องสมัครเล่น เขาถ่ายภาพชีวิตในเมืองทั้งในปารีส เยอรมนีและนอร์เวย์ เอดวาร์ด มุงค์ชอบไปชมภาพยนตร์ ซึ่งฉายภาพยนตร์ ข่าวด้วย เพื่อนของเขาคนหนึ่งเปิดโรงภาพยนตร์หลายแห่ง และนำภาพเขียนของเขาไปติดแสดงด้วย เขาสนใจการละคร และเขียนฉากให้ละครของมักซ์ ไรน์ฮาร์ดท์ (Max Reinhardt) อีกทั้งชอบอ่านหนังสือพิมพ์ที่มีรูปประกอบ ทั้งภาพยนตร์และภาพถ่ายจึงมีอิทธิพลต่อการเขียนรูปของเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงของกรรมกร การเดินขบวน ซึ่งเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ลงภาพข่าวด้วย เอดวาร์ด มุงค์ได้ถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบ ภาพเด็กๆ กำลังเดินในท้องถนนที่สะท้อนการมองจากมุมสูง ซึ่งภาพเขียนธรรมดาจะไม่เห็น หรือภาพม้าที่กำลังควบราวกับกำลังมุ่งสู่คนดูก็คงได้ความบันดาลใจจากภาพยนตร์ที่เขาได้ชม เป็นต้น
เอดวาร์ด มุงค์เขียนภาพเสมือนเป็นผู้สื่อข่าว เช่น เมื่อเกิดไฟไหม้ข้างบ้าน เขาก็ลุกขึ้นมาเขียนภาพไฟไหม้ หรือภาพการประหารชีวิตพวกคอมมิวนิสต์ในฟินแลนด์ ภาพความแตกตื่นของชาวออสโล เมื่อรัฐบาลประกาศสงคราม ภาพกรรมกรกำลังก่อสร้างทางรถไฟ หรือการวิวาทกับจิตรกรหนุ่มชื่อลุดวิก คาร์สเตน (Ludvig Karsten) ซึ่งเขาเขียนหลายภาพด้วยกัน
นับตั้งแต่ปี 1907 เอดวาร์ด มุงค์สนใจเขียนรูปแบบ primitve และเขียนซ้ำๆ ดังในกรณีภาพ Le cri, Melancolie, Le baiser ในปี 1930 เขามีเลือดออกในตา ทำให้การมองเห็นผิดแผกไป ภาพเขียนของ เขาในช่วงนี้จึงแปลกๆ ซึ่งได้นำมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย เขาชอบเขียนรูปซ้ำๆ ภาพ Vampire มี 10 รูป L’enfant malade และ Jeunes filles sur le pont มีอย่างละ 6 รูป และ Autoportrait อีกประมาณ 50 รูป โดย 41 รูปเขียนระหว่างปี 1900-1944 อีก 5 รูปในศตวรรษที่ 19
เอดวาร์ด มุงค์มีผลงานประติมากรรม 6 ชิ้นด้วยกัน เขาขอให้นำรูปปั้นชื่อ Femme en pleurs-ผู้หญิงกำลังร้องไห้ไปประดับที่หลุมฝังศพของเขา
นิทรรศการ Edvard Munch, l’il moderne มองเอดวาร์ด มุงค์เป็นจิตรกรศตวรรษที่ 20 มากกว่าศตวรรษที่ 19 เพราะเปิดกว้าง สนใจโลกภายนอก มิได้เก็บกดดังที่เข้าใจกัน ฝีแปรงที่เปลี่ยนไป ผลงานที่นำมาแสดง 140 ชิ้น เป็นภาพเขียน 59 ภาพ รูปถ่าย 50 รูป ภาพบนกระดาษ 30 ภาพ หนังสือและรูปปั้น 1 ชิ้น
ส่วนใหญ่เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์เอดวาร์ด มุงค์ (Munch Museet) พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของนอร์เวย์ (Nasjonal-galleriet) ที่กรุงออสโล พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เบอร์เกน (Bergen) แต่ไม่มีภาพ Le cri อันลือชื่อ เพราะนอร์เวย์ไม่ยอมให้ Le cri เดินทางออกนอกประเทศ เพราะเกรงจะถูกขโมยอีก แต่มีภาพอื่นๆ ในชุดเดียวกัน กล่าวคือ Vampire, Le baiser, L’enfant malade, Puberte อันถือเป็นผลงานชิ้นเอกของเขา
นิทรรศการนี้จะไปแสดงต่อที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต และที่ Tate Modern กรุงลอนดอน
|