|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2555
|
|
อุตสาหกรรมกับชุมชนอยู่รวมกันได้จริงหรือ ในที่นี้หมายถึงอุตสาหกรรมหนักประเภทโรงกลั่นปิโตรเคมี ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมรีไซเคิล ซึ่งจะสะท้อนโอกาสของการสร้างอีโคทาวน์ (Eco Town) ในไทยว่าจะเป็นไปได้จริงไหม
“จะเป็นอีโคทาวน์ควรจะคิดตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วที่เริ่มโครงการมาบตาพุด แต่ตอนนี้แม้แต่ที่รัฐบาลบอกว่าควรจะลดเขตอุตสาหกรรมเก่า แต่พื้นที่อุตสาหกรรมยังขยายเพิ่มขึ้น” พัชรี ชาวบ้านจากบ้านชากลูกหญ้า หนึ่งในชุมชนของมาบตาพุด สะท้อนปัญหามาบตาพุด
เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มคนมาบตาพุดที่รวมตัวกันแจ้งปัญหามลพิษจากนิคมต่อรัฐบาลเมื่อปี 2550 ร่วมยื่นฟ้องชะลอโครงการอุตสาหกรรม 76 โครงการ รวมถึงเรียกร้องให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกาศเขตควบคุมมลพิษ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง เพียงแค่มีการปรับเปลี่ยนเป็นแผนลดและขจัดมลพิษของคนมาบตาพุดแทน
ส่วนการควบคุมมลพิษและเฝ้าระวัง ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการติดตั้งสถานีตรวจคุณภาพอากาศเพิ่มขึ้นในพื้นที่รอบนิคม เป็นการตรวจวัดกลุ่มสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOC โดยกลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ แต่กระนั้นสถานีตรวจวัดเหล่านี้ก็ไม่ได้สร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างพัชรีเท่าไรนัก
“ตอนโรงงานบีเอสซีระเบิด สถานีตรวจวัดยังโชว์สัญลักษณ์หน้ายิ้ม (แสดงว่าอยู่ในภาวะปกติ) อยู่เลย” พัชรีบอก
สิ่งที่เธอกังขามาตลอดในการอาศัยอยู่ในชุมชนใกล้นิคมก็คือเพราะเหตุใดหน่วย งานต่างๆ ยังทนเห็นความเจ็บป่วยของคนมาบตาพุดอยู่ได้ เธอบอกว่าทุกวันนี้พื้นที่ชุมชนมาบตาพุดยังมีค่าของสารเคมี 3 ตัวที่เกินมาตรฐานมาตลอด ได้แก่ ไวนีลคลอไรด์ ไดคลอโรอีเทน และเบนซีน
“3 ตัวนี้วัดกี่ครั้งก็ไม่เคยต่ำลง แต่ก็ยังคงมีโรงงานใหม่เกิดขึ้นในมาบตาพุด กรณีสารโทรูอีนรั่วไหลจากโรงงานบีเอสซีที่เกิดอุบัติเหตุล่าสุด ถึงไม่มีผลต่อมะเร็งแต่ก็ยืนยันว่ามีผลทำให้คลอดก่อนกำหนด ลูกสาวดิฉันอายุครรภ์ตอนนี้ 34 สัปดาห์ มีแนวโน้มคลอดก่อนกำหนด ถึงหมอบอกว่าพยายามประคองให้ถึง 37 สัปดาห์ก็ยังคลอดก่อนกำหนดอยู่ดี แล้วแบบนี้อีโคทาวน์ที่บอกไว้จะมีจริงได้หรือเปล่า” นี่คือคำถามตรงๆ จากคนในพื้นที่มาบตาพุด
ขณะที่อาจารย์กอบกุล รายะนคร นักวิจัยกฎหมายสิ่งแวดล้อมและนโยบายสาธารณะ อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าประสบการณ์ไปค้นหาอีโคทาวน์ถึงญี่ปุ่นว่า
“ดิฉันมีโอกาสไปดูเมืองคิตะคิวชู ที่เขาพูดกันว่าเป็นเมืองอีโคทาวน์ของญี่ปุ่น ก็ตั้งความหวังจะดูว่าเขาจัดการอุตสาหกรรมของเขาอย่างไรถึงเรียกว่าอีโคทาวน์ ไปถึงเจอแต่อุตสาหกรรมรีไซเคิล ข้อเท็จจริงคืออดีตเขาเคยมีอุตสาหกรรมหนัก แต่ย้ายฐานการผลิตออกไปหมดแล้ว ฉะนั้นจริงๆ ที่บอกว่าอีโคทาวน์เป็นเมืองสะอาด เมื่อดูวิธีการแก้ไขปัญหาจริงๆ ก็พบว่าการแก้ไขปัญหาของเขาคือย้ายอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมที่สกปรกออกไป”
ดร.โมโมโกะ ชิบะ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคที่เกิดจากมลพิษของญี่ปุ่น เคยทำคดีสารซารินที่ลัทธิโอมชินริเคียวนำไปปล่อยในรถไฟใต้ดินจนมีผู้เสียชีวิต ก็เคยมาเยี่ยมชมมาบตาพุด เล่าวิธีการหนึ่งของการจัดการปัญหามลพิษที่เมืองมินามะตะ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโรคประหลาดชื่อเดียวกันให้ฟังว่า ที่มินามาตะใช้วิธีกำจัดสารปรอทตกค้างในดินเลนบริเวณอ่าวด้วยการขนไปทิ้งที่อื่นและต้องใช้เวลาในการกำจัดถึง 12 ปี (อ่านมาบตาพุดในมุมมองของคนตรวจโรค นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับมิถุนายน 2554)
อย่างไรก็ดีทีมงานนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ เคยไปดูอีโคทาวน์ของญี่ปุ่นเห็นว่ามีระบบการจัดการที่สามารถควบคุมมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนักอย่างปิโตรเคมี แต่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ถ้าสามารถเข้าถึงหัวใจของการอยู่ร่วมกันอย่างจริงใจ นั่นคือโรงงานดำเนินงานด้วยความโปร่งใส จริงใจต่อการป้องกัน และแก้ไขปัญหา ขณะที่ชุมชนต้องเข้มแข็งร่วมแรงร่วมใจช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่นิ่งดูดาย อีโคทาวน์ก็มีโอกาสเกิดได้จริงเช่นกัน (อ่านบทเรียนคาวา ซากิและอิจิฮารากับโลกทัศน์ของมาบตาพุด นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับกรกฎาคม 2553)
การพาไปดูตัวอย่างอีโคทาวน์ในญี่ปุ่นของเอสซีจีครั้งนั้นก็เพื่อให้เห็นต้นแบบที่ทำสำเร็จมาแล้ว เป็นแนวทางที่บริษัทจะนำมาใช้สร้างอีโคทาวน์ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย เพื่อทำให้การอยู่ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรม และชุมชนเป็นไปได้ตามวิสัยทัศน์ของเครือเอสซีจีที่ว่า อยู่ที่ไหนก็ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม และต้องอยู่บนความสมดุลระหว่างธุรกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม
“เราเชื่อว่าอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้และจะผลักดันเรื่องอีโคทาวน์ ที่เราทำก็คือการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มจากการเป็นอีโคแฟคตอรี่ เพื่อให้มั่นใจว่าโรงงานเราดูแลสิ่งแวดล้อมจากตัวเรา และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชนให้น้อยที่สุด” สมชาย หวังวัฒนาพานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าว
โรงงานอุตสาหกรรมในเครือเอสซีจีเคมิคอลส์ในพื้นที่มาบตาพุดมีอยู่ประมาณ 14 บริษัท รวม 20 กว่าโรงงาน มีทั้งหมด 7 ไซต์ทุกไซต์จะมีโรงงาน แนวคิดอีโคแฟคตอรี่จะทำกับทุกโรงงาน แต่ก็ต้องยอมรับว่าทำได้เต็มรูปแบบเฉพาะกับโรงงานใหม่ เพราะสามารถควบคุมและเลือกใช้นวัตกรรมสิ่งแวดล้อมมาออกแบบโรงงานให้เป็นไปตามหลักอีโคตั้งแต่ต้น
ผลงานโชว์ในครั้งนี้คือโรงงานผลิต ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของบริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด (MOC) ในเครือเอสซีจีเคมิคอลส์ ซึ่งเพิ่งก่อสร้างเสร็จและเริ่มเดินเครื่องเมื่อปี 2533 ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอลที่เอสซีจีซื้อต่อมาจากเอกชน แล้วขอผนวกเข้ากับนิคมมาบตาพุด ปัจจุบันเป็นโรงงานต้นแบบที่ต้องคอยต้อนรับชาวต่างชาติทั้งญี่ปุ่นและชาติตะวันตกที่เข้ามาขอดูงานอยู่เรื่อยๆ
“เพราะเราเอามาตรฐานที่เข้มที่สุดจากหลายประเทศมาใช้ทั้งจากอเมริกา ญี่ปุ่น แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์”
ภายใต้หลักการอีโคแฟคตอรี่ของ MOC ประกอบด้วย หนึ่ง-5S ได้แก่ Sight/Sound/Smell/Sickness/Safety สอง-VOC ดีโปรแกรม สาม-3R reduce/reuse/recycle สี่-ปราศจากขยะฝังกลบ ห้า-มีการแลกเปลี่ยน และซินเนอยี่การใช้ของเสีย หก-ทำแนวป้องกันสีเขียวรอบพื้นที่นิคม (Protection Stripe) และเจ็ด-ทำซีเอสอาร์และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน
สมชายอธิบายความสำคัญของอีแฟคตอรี่ว่า จำเป็นที่โรงงานยุคใหม่ต้องเริ่มป้องกันตั้งแต่ออกแบบไม่ต้องรอมีปัญหาแล้วค่อยทำถ้าเดินโรงงานแล้วยังไม่สมบูรณ์ก็ต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
เพราะฉะนั้นอีโคแฟคตอรี่ของ MOC ต้องมีหลักการดำเนินงานอยู่หลายประการ
5S เป็นเรื่องของมลภาวะที่สัมผัสง่าย ที่สุด MOC ออกแบบหัวเผาที่ช่วยลดไนโตร เจนออกไซด์ (NOx) ทำให้สามารถนำอากาศหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ลดอุณหภูมิในการเผาไหม้ต่ำกว่าปกติ ทำให้ค่า NOx ต่ำลง และออกแบบถังเก็บผลิตภัณฑ์ลักษณะเหมือนฝาชีครอบเพื่อไม่ให้มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายหลุดออกมา ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้มาจากสิงคโปร์ที่โรงงานตั้งอยู่ติดกับชุมชนเช่นกัน
อุปกรณ์ในโรงงาน เช่น ตัวปั๊มและวาล์ว ถ้าสังเกตก๊อกน้ำที่บ้านใช้ไปนานๆ ก็มีน้ำรั่วซึมได้ แต่ในโรงงานเป็นสารไฮโดรคาร์บอนถ้ารั่วอาจจะติดไฟและกระทบสิ่งแวดล้อม MOC ออกแบบให้มีระบบห่อหุ้มสองชั้นเป็นการป้องกันสาร VOC ออกสู่บรรยากาศด้วย โดยวาล์วที่ใช้จะยาวกว่าและทนกว่าวาล์วทั่วไปสิบเท่า
“ตาม EPA ของอเมริกากำหนดค่า VOC ไว้ที่ 500ppm แต่เราตั้งเป้าภายใต้ VOC ดีโปรแกรมไว้ต้องไม่เกิน 250ppm โดยเอ็นเคอเรจให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม เอาเครื่องเช็กไปวัดแก๊ส ถ้าเกินก็จะต้องรีบทำกิจกรรมที่จะช่วยลดไม่ให้เกิน”
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีระดับเวิลด์คลาสกำหนดค่า VOC ไว้ว่า จะต้องอยู่ที่ประมาณ 0.6-10.0 กิโลกรัมต่อตันเอทิลีน ปี 2553 ที่เริ่มเดินเครื่องโรงงาน MOC มีค่า VOC อยู่ที่ 2.92 และเมื่อทำกิจกรรมภายใต้ อีโคแฟคตอรี่อย่างต่อเนื่อง สามารถลดลงไปได้อีก 0.57
ระบบหมุนเวียนน้ำในโรงงาน ปกติหอผึ่งเย็นหรือ Cooling tower ของโรงงานในนิคมมาบตาพุดจะมีรอบการใช้น้ำประมาณ 5 รอบแล้วปล่อยทิ้ง ที่ MOC เพิ่มเป็น 8-9 รอบ เพื่อลดปริมาณน้ำทิ้งให้น้อยที่สุด หมุนเวียนน้ำใช้ในระบบให้นานขึ้น แล้วนำน้ำทิ้งไปผ่านระบบ RO (Reverse Osmosis) ให้เป็นน้ำดี ทำให้ไม่ต้องปล่อยน้ำทิ้ง
ขณะที่ของเสียอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจะต้อง ไม่มีการฝังกลบ การกำจัดให้เหลือศูนย์มีทั้งส่วนที่ประสานงานกับอุตสาหกรรมอื่นของเอสซีจีนำของเสียที่เป็นของแข็งไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงปูน ส่วนถ่านกัมมันซึ่งต้องใช้ในกระบวนการผลิต ก็พัฒนาปรับปรุงจากเป็นกรดมาใช้แบบเป็นเม็ด เพื่อส่งกลับไปให้ ผู้ผลิตฟื้นฟูสภาพเมื่อใช้จนเต็ม แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่ต้องไปฝังหรือเผาทิ้ง ขณะที่หากเลือกใช้ถ่านกัมมันแบบเกล็ดจะได้ราคาถูกแต่เมื่อใช้จนอิ่มตัวก็ต้องไปเผาทิ้งหรือฝังกลบเท่านั้น
ขณะที่ของเสียบางอย่างสามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับโรงงานใกล้เคียงนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อีก เช่น กรณีที่ MOC ต่อท่อจากปล่อง Flare ระหว่างโรงงานกับโรงงานในเครือ PTTCG เพื่อนำสารไฮโดรคาร์บอนซึ่งเดิมต้องเผาทิ้งทุกครั้งเมื่อเริ่มสตาร์อัพ หรือหยุดเดินเครื่อง หรือฉุกเฉินไฟฟ้าดับ ต่อท่อไปอีกโรงงานหนึ่งเพื่อนำสาร ไฮโดรคาร์บอนดังกล่าวไปเป็นวัตถุดิบในขั้นตอนการผลิตถัดไป ซึ่งกรณีต้องหยุดเครื่อง อย่างน้อยเมื่อเดินเครื่องไปได้ 3-5 ปี เพื่อพักทำความสะอาดอย่างน้อย 30-45 วัน การดึงไฮโดรคาร์บอนไปใช้งานแทนการเผาทิ้งสามารถลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ครั้งละ 2,800 ตัน
“เราตัดสินใจเดินท่อระหว่าง MOC กับโรงงานในเครือ ปตท.ในนิคมเดียวกัน โชคดีที่สภาพภูมิศาสตร์ทำได้ ระบบนี้ต้องคิดตั้งแต่ออกแบบโรงงาน มูลค่าของเสียที่แลกเปลี่ยนเพิ่มเป็นผลผลิตได้เท่าไร กำไรหารสองเป็นซินเนอยี่โปรเจ็กต์ที่วิน-วิน เพราะปกติเปิดปิดโรงงานแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่าย ต้อง Flare ทิ้งเยอะมากอยู่แล้ว”
MOC ถือว่าการต่อท่อ Flare เพื่อนำของที่ต้องถูกเผาทิ้งไปใช้งานแค่คิดเรื่องสิ่งแวดล้อมก็คุ้มทันทีที่จะทำ เพราะถ้าปล่อย Flare ก็ต้องมีมลพิษทั้งแสงและเสียง ซึ่งปัจจุบันปล่อง Flare ที่มาบตาพุดมีมากกว่า 100 ปล่อง บางปล่องปล่อย Flare ทุกวันซึ่งไม่รู้ว่ามีสารพิษอะไรปนออกมาบ้าง ในหลายประเทศจึงออกฎหมายให้ปล่อยได้เฉพาะกรณีฉุกเฉิน หยุดเดินเครื่อง หรือเริ่มเดินเครื่องเท่านั้น
MOC ยังอยู่ระหว่างการวิจัยหาวิธีกำจัดของเสียประเภทอื่น เช่น ของเสียทางด้านชีวภาพที่เกิดจากกระบวนการหมักในระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งจะมีตะกอนซึ่งปกติต้องเอาไปเผาทิ้ง แต่นำมาพิจารณาแล้วเมื่อเป็นตะกอนจากปฏิกิริยาชีวภาพจึงเอาไปเลี้ยงหนอนให้หนอนย่อยสลาย เมื่อหนอนถ่ายก็ได้ปุ๋ยไปทำกิจกรรมกับชุมชน
สำหรับกิจกรรมซีเอสอาร์ MOC มีนโยบายชัดเจนว่าไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แม้เอสซีจีเคมิคอลส์จะมีทีมซีเอสอาร์อยู่กว่า 30 ชีวิต แต่ซีเอสอาร์ถือเป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนที่ต้องมีส่วนร่วมและเรียนรู้ว่ากิจกรรมใดที่ทำแล้วชุมชนไม่เห็นด้วยองค์กรก็จะไม่ยั่งยืนเช่นกัน
“เราต้องเริ่มต้นเป็นคนดีให้เขาเห็นก่อน แล้วค่อยให้เขามีส่วนร่วม มีชุมชนที่อยู่รอบๆ บริษัทในเครือ 30 กว่าชุมชน ชุมชนในมาบตาพุด 80-90 ชุมชน ที่อยู่ในพื้นที่อาร์ไอแอล 13 ชุมชน ช่วงก่อสร้างก็ไปแต่ละชุมชน แจ้งว่าจะขึ้นโรงงาน จะเป็นอย่างไร เราทำอะไรบ้าง ที่อาจจะส่งผลกระทบชุมชนแล้วเราจะทำอย่างไร ชุมชนมีความต้องการอย่างไร เราพยายามไปสร้างความสัมพันธ์และทำให้ชุมชนเห็นว่าเรามีความตั้งใจดี ผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำแล้วทำให้เกิดความยั่งยืน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องใช้เวลา เพราะการสร้างความเข้าใจไม่ใช่เรื่องง่าย การเริ่มต้นจากความตั้งใจดีและเป็นคนดีก่อน อันนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นคำตอบขั้นต้น”
ส่วนสำคัญที่ทำให้ MOC วางกรอบอีโคแฟคตอรี่ไว้อย่างละเอียด เพราะบริษัทมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมากกว่า 30 ปี พร้อมๆ กับการเกิดมาบตาพุด จึงนำประสบการณ์ที่ได้มาออกแบบเพื่อสร้างอีโคแฟคตอรี่ เพื่อเป็นขั้นตอนแรกก่อนจะพัฒนาไปสู่การเป็นอีโคทาวน์ที่กินพื้นที่กว้างขึ้น
“ชุมชนรอบๆ นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอลมีอยู่จำนวนมาก เราอยากจัดเป็นอีโคคอมมูนิตี้ทั้งหมด แต่ใหญ่เกินกว่าจะทำคนเดียวสำเร็จ อยากให้ทั้งผู้ประกอบการอื่นและชุมชนเป็นแนวร่วม โดยเราพยายามทำชุมชนต้นแบบขึ้นมาก่อน ตอนนี้เริ่มแล้วที่ชุมชนห้วยโป่ง”
นอกจากผลักดันให้คนนอกเข้ามาสร้างอีโคคอมมูนิตี้ร่วมกัน แต่สำหรับพนักงาน MOC จะต้องเจอกับภาคบังคับเมื่อผู้จัดการหนึ่งคนจะต้องมีชุมชนที่ดูแลประจำหนึ่งชุมชน
เรื่องสำคัญที่ต้องใกล้ชิดกับชุมชนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ก็เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน เพราะอย่างน้อยโรงงานในเครือเอสซีจีเคมิคอลส์ที่เริ่มก่อสร้างในนิคมอาร์ไอแอลมาตั้งแต่ปี 2549 ก็ใช้เงินลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท จะทำให้เป็นเงินลงทุนที่จะเดินหน้าสร้างการเติบโตต่อไปด้วยดี ก็ต้องเป็นที่เข้าใจและยอมรับของชุมชน
ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนก็มีหน้าที่ต้องทำ ราชการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานรับผิดชอบหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ประชาชนร่วมกันตรวจสอบดูแลเป็นหูเป็นตาภายใต้ความร่วมแรงร่วมใจกัน เพียงเท่านี้โอกาสของการพัฒนาอีโคทาวน์ให้เกิดขึ้นจริงในเมืองไทยสักแห่ง ก็คงจะไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน
|
|
|
|
|