|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2555
|
|
บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด บริษัทในเครือของ บมจ.ทียูเอฟ มีแรงงานพม่า เขมร จำนวน 30 เปอร์เซ็นต์จากพนักงานทั้งหมด ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต อาจกลายเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด (TUM) ก่อตั้งเมื่อปี 2520 ในจังหวัดสมุทรสาคร ผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่าบรรจุกระป๋องและอาหารแมวบรรจุกระป๋อง เป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ทียูเอฟ ทำหน้าที่ส่งออกสินค้า 98 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 2 เปอร์เซ็นต์จำหน่ายในประเทศ
จากจุดเริ่มต้นของการผลิตบริษัทมีพนักงานเพียง 120 คน แต่ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานทั้งหมด 8,000 คน ซึ่งเติบโตไปตามการขยายธุรกิจของกลุ่มทียูเอฟที่มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะรายได้เติบโตปีละ 40 เปอร์เซ็นต์
หากมองในมุมการเจริญเติบโตของธุรกิจจะเห็นว่าค่อนข้างดี แต่มิได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เพราะสิ่งที่กลุ่มทียูเอฟกำลังเผชิญหน้าอยู่ขณะนี้คือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และแรงงานต่างชาติ ค่าแรงขั้นต่ำกำลังส่งผลกระทบให้ต้นทุนการบริหารงานขยับตัวสูงขึ้น ในขณะที่แรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในโรงงานส่วนใหญ่จะมาจากประเทศพม่าและกัมพูชา
อย่างเช่นบริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีพนักงานพม่าและกัมพูชาประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2,400 คน จากพนักงานทั้งหมด 8,000 คน
บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาฯ เป็นโรงงานที่สะท้อนให้เห็นการใช้แรงงานต่างชาติของกลุ่มทียูเอฟได้อย่างชัดเจน เพราะในความเป็นจริงแล้วทั้งกลุ่มมีโรงงานกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10 แห่ง ที่เป็นโรงงานปลาทูน่า โรงงานกุ้งแช่แข็ง เป็นต้น
แสดงให้เห็นว่าธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานค่อนข้างมาก เนื่องจากเครื่องจักรไม่สามารถทำงานตั้งแต่ผลิตและจำหน่าย ได้อย่างครบวงจร อย่างเช่นปลาทูน่าที่มีขนาดไม่เท่ากัน หากใช้เครื่องจักรแยกชิ้นส่วนปลา อาจทำให้เกิดความสูญเสียระหว่างการผลิตได้ ดังนั้นการใช้ทักษะจากแรงงานจึงมีความจำเป็น
ความกดดันของกลุ่มทียูเอฟด้านแรงงานในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานพม่า การมาเยือนของอองซาน ซูจี ผู้นำพม่าได้ปราศรัยกับคนพม่าในมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งแรงงานของพม่ามากที่สุดในประเทศไทย เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2555 เพื่อเรียกร้องให้คนพม่ากลับไปพัฒนาประเทศในอีก 3 ปีข้างหน้า นับเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการไทยต้องยิ่งปรับตัวอย่างมาก ไม่เฉพาะธุรกิจในกลุ่มทียูเอฟเท่านั้น
แรงกดดันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอีก 3 ปีหลังจากกลุ่มอาเซียน (Asean Economic Community: AEC) ร่วมมือกันชัดเจนในปี 2558 (2015) เพราะแรงงานจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการแข่งขันแย่งชิงกันหนักมากขึ้นใน 10 ประเทศ
บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาฯ ไม่ได้ขาดแคลนพนักงานระดับแรงงานเท่านั้น แต่ยังขาดวิศวกรในโรงงาน จึงทำให้ผู้บริหารเริ่มออกไปรับสมัครงานพนักงานในประเทศฟิลิปปินส์ โดยอาศัยจังหวะความร่วมมือของเออีซีที่เปิดโอกาสให้วิศวกรหนึ่งในอาชีพที่อนุญาตให้สามารถย้ายไปทำงานในกลุ่มสมาชิกอาเซียนได้
ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าส่วนหนึ่ง นอกจากนี้บริษัทยังได้สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม มาพัฒนาบุคลากรภายใต้โครงการ “สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริม การเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร” รวมถึงการสร้างผู้เชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ดี การสร้างคุณภาพบุคลากรและรับพนักงานระดับวิศวกรเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องไปกับธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มทียูเอฟในยุโรป สหรัฐอเมริกา และภูมิภาคอื่นๆ แต่ในมุมของแรงงานอย่างแท้จริง บริษัทฯ ยังไม่ได้รับมือล่วงหน้ามากนัก จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากว่ากลุ่มทียูเอฟจะตัดสินใจสร้างโรงงานใน 10 ประเทศของเออีซีอย่างไร เพราะค่าแรงที่ต่ำกว่า เช่น พม่า กัมพูชา เวียดนาม หรือแม้แต่ค่าแรงในประเทศอินโดนีเซียยังต่ำกว่าแรงงานในประเทศไทยถึง 60 เปอร์เซ็นต์
ปัจจุบันในประเทศอาเซียนกลุ่มทียูเอฟมีโรงงานอยู่แล้ว 3 ประเทศ คือประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
ปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและจะมากขึ้นในอนาคต กลุ่มทียูเอฟย่อมตระหนักชัดเจนเป็นอย่างดีในเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทฯ จะเลือกหนทางใดแก้ไข เท่านั้น
|
|
|
|
|