|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2555
|
|
ว่ากันว่า คน “แปดริ้ว” หรือชาวจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นเป็นนักประดิษฐ์ เพราะไม่ว่าจะเป็น “ควายเหล็ก” หรือเครื่องยนต์ “เรือหางยาว” ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวไทยในอดีต ล้วนมีจุดกำเนิดมาจากที่นี่
กลุ่มเกษตรพัฒนา ผู้คิดค้นนวัตกรรม “รถเกี่ยวนวดข้าว” ก็มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่แปดริ้วเช่นกัน
รถเกี่ยวนวดข้าวได้เข้ามาพลิกวิถีชาวนาไทย จากวลีดั้งเดิมที่ว่าต้อง “หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน” เวลาลงแขกช่วยกันเกี่ยวข้าว มาสู่ธุรกิจรับจ้างเกี่ยวข้าวโดยเครื่องจักร
ชาวนาสามารถลดกระบวนการทำนาให้ใช้ระยะเวลาสั้นลง ในทางตรงกันข้าม สามารถเพิ่มผลผลิตได้ในปริมาณมากขึ้น
“20 ปีที่ผ่านมา ถ้าประเทศไทยไม่ได้รถเกี่ยวข้าวจะไม่สามารถยืนเป็นอันดับ 1 ของผู้ส่งออกข้าวของโลกได้ เพราะเราไม่มีแรงงาน ไม่มีปัญญาที่จะทำให้ออกมาอย่างนี้ได้ เพราะรถเกี่ยวข้าวนี่แหละเป็นตัวหลักที่ทำให้ประเทศไทยสามารถยืนเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ได้ ขณะที่พม่าหรือเวียดนามก่อนหน้านี้ที่เขาไม่มีเครื่องมือยัง ใช้แรงคนอยู่ เขาจึงไม่สามารถเพิ่มผลผลิต ได้” สมชัย หยกอุบล กรรมการผู้จัดการ บริษัทเครื่องจักรกลเกษตรไทย ในกลุ่มเกษตรพัฒนา ให้ภาพกับ ผู้จัดการ 360 ํ
จุดกำเนิดของกลุ่มเกษตรพัฒนา อยู่ที่ตำบลเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุกวันนี้ถูกพัฒนาให้เป็นตลาดโบราณ “นครเนื่องเขต” แหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของแปดริ้ว
เดิมทีพี่น้องในตระกูลหยกอุบล ซึ่งมีชนะธัช หยกอุบล พี่ชายคนโต เป็นหลัก ประกอบอาชีพค้าพืชไร่อยู่ในตลาดเนื่องเขต แต่เมื่อทำไปแล้วเริ่มรู้สึกว่าอาชีพค้าพืชไร่นั้นไม่ค่อยยั่งยืน จึงมองหาอาชีพใหม่
“เราก็มองว่าเมืองไทยนี้เป็นเมืองที่มีการปลูกข้าวกันเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยหาอะไรทำที่เกี่ยวกับเรื่องข้าว” สมชัยเล่า
เครื่องนวดข้าวเป็นผลผลิตชิ้นแรกของตระกูลหยกอุบลที่เริ่มต้นผลิตออกมาขายตั้งแต่ปี 2518 โดยใช้ห้องแถวเล็กที่อยู่ ในตลาดเนื่องเขตเป็นโรงงาน
จนกระทั่งวันที่ 10 มกราคม 2521 ก็ได้เปิดเป็นร้าน “เกษตรพัฒนา” ขึ้นเพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องนวดข้าว
“คือสมัยก่อนเวลาเกี่ยวข้าวนี่ใช้คนเกี่ยว แล้วก็มีการตากฟ่อนอยู่ในนาสัก 3-4 แดด แล้วก็ขนข้าวจากนามาสู่ลาน แล้วก็เอาสัตว์หรืออะไรก็ได้ มาเวียนลานให้ข้าวหลุดออกจากรวง แล้วค่อยเอาไปสี ไปฝัด กระบวนการเยอะมาก แล้วหากฝนตก ข้าวก็เสียหมด เราก็เลยคิดมาทำเครื่องนวดข้าว เครื่องนวดข้าวนี่คือเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ ตากฟ่อนเสร็จ ก็เอามาใส่เครื่องนวดเลย ก็จบ ฟางก็ยังอยู่ในนาข้าว เหลือแต่เม็ดข้าวที่ได้มา ได้มาเป็นข้าวเปลือก”
การผลิตเครื่องนวดข้าวออกมาขาย ของร้านเกษตรพัฒนา ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้ที่มีอาชีพทำนาทั่วประเทศ มีลูกค้าจากภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างเดินทางไปสั่งซื้อเครื่องนวดข้าวถึงแปดริ้ว
วราภรณ์ หยกอุบล ในฐานะพี่สาวคนโต จึงชักชวนสมชัย น้องชายคนเล็กขึ้นมาเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดพิษณุโลก
โดยที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่า พิษณุโลกจะกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านการขนส่ง และเดินทางของอาเซียนในอนาคต เพราะถือเป็นจุดกึ่งกลางของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่อยู่บนแผ่นดิน ใหญ่
ขายเครื่องนวดข้าวมาได้ประมาณ 8 ปี พี่น้องหยกอุบลเริ่มพยายามต่อยอดสินค้า
ปี 2526 เกษตรพัฒนาได้เริ่มศึกษาและค้นคว้าหาทางผลิตรถเกี่ยวข้าวอยู่เงียบๆ
ที่พวกเขามองถึงสินค้าตัวนี้เพราะในขณะนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) และกำลังอยู่ระหว่างการร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-2534)
ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 ที่จะเริ่มใช้ในปี 2530 นั้น มีวัตถุประสงค์หลักคือ การกระจายรายได้สู่ภูมิภาค ซึ่งวิธีการหนึ่งในแผนนี้ คือการกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมไปตั้งโรงงานอยู่ในต่างจังหวัด
ซึ่งผลกระทบประการหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดหากมีการออกไปตั้งโรงงานอยู่ในต่างจังหวัดคือแรงงานภาคเกษตรกรรม จะถูกดึงเข้าไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก เพราะรายได้มีความมั่นคงกว่าและอาจส่งผลถึงการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรกรรมขึ้นได้
ตลาดของรถเกี่ยวข้าวสามารถเกิดขึ้นได้หากสถานการณ์เช่นนี้บังเกิดขึ้น เพราะวิถีของชาวนาไทยที่เคยอาศัยวิธีการ “ลงแขก” ชักชวนสมัครพรรคพวกคนร่วมหมู่บ้านไปช่วยกันเกี่ยวข้าวในแปลงนาของเพื่อนบ้านอาจหายไป เพราะคนในหมู่บ้านส่วนหนึ่งจะหนีไปทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมแทน
ปรากฏว่าพวกเขามองไม่ผิด
แต่กว่าจะคิดค้นพัฒนาจนได้คอนเซ็ปต์ของสินค้าที่ชัดเจน สามารถผลิตออกมาเป็นรถเกี่ยวข้าวที่สามารถใช้งานได้จริง ก็ย่างเข้าสู่ปี 2534
แม้ว่าเกษตรพัฒนาได้เริ่มนำเสนอสินค้าคือรถเกี่ยวข้าวออกสู่ท้องตลาดแล้ว ยังต้องใช้เวลาสร้างความมั่นใจกับลูกค้าอีกถึง 10 กว่าปี จนในปี 2546 รถเกี่ยวข้าวของเกษตรพัฒนาจึงได้รับการยอมรับจากท้องตลาด
รถเกี่ยวข้าวของเกษตรพัฒนาสามารถร่นระยะเวลาเก็บเกี่ยวข้าวลงจากเดิม ซึ่งที่นา 20 ไร่ ต้องใช้เวลาเกี่ยวด้วยแรงคนประมาณ 4-5 วัน เมื่อมาใช้รถเกี่ยวข้าวเกี่ยวแทนสามารถลดเวลาลงมาได้เหลือเพียงวันเดียว
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รถเกี่ยวข้าวจึงได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งของกระบวนการทำนาของไทย ก่อให้เกิดอาชีพใหม่คืออาชีพรับจ้างเกี่ยวข้าว และอาชีพรถขนส่งรถเกี่ยวข้าว
ส่วนตัวของสินค้าก็ได้มีการพัฒนาจากการเกี่ยวข้าวเพียงอย่างเดียว เป็นการเกี่ยวและนวดข้าวไปด้วยในตัว
ปัจจุบันในจำนวนรถเกี่ยวนวดข้าวทั้งหมดที่พบเห็นกันในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะตามท้องนา หรือบนท้องถนน ในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณหมื่นกว่าคันที่เป็นรถเกี่ยวนวดข้าวของเกษตรพัฒนา
“เราขายรถเกี่ยวนวดข้าวมาประมาณ 20 ปี ยอดขายรวมจาก 2 โรงงานนี้ โดยเฉลี่ยปีละ 500 คัน 20 กว่าปีก็น่าจะได้ประมาณ 10,000 กว่าคัน” สมชัยให้ตัวเลข
นอกจากในประเทศไทยแล้วยังมีต่างประเทศที่ให้ความสนใจในตัวสินค้ารถเกี่ยวนวดข้าว เกษตรพัฒนาเริ่มได้รับออร์เดอร์สั่งซื้อรถเกี่ยวนวดข้าวจากต่างประเทศเข้ามาตั้งแต่ประมาณ 10 ปีที่แล้ว
ตลาดในต่างประเทศของเกษตรพัฒนามีตั้งแต่ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา บรูไน และประเทศในทวีปแอฟริกา ฯลฯ
แต่ตลาดที่เพิ่งจะมาใหม่และกำลังมาแรงคือ พม่า
“ตอนนี้ถ้าพูดถึงความพร้อม กัมพูชาดีกว่าพม่า แต่ถ้าพูดถึงเรื่องโอกาสที่จะเกิดขึ้น พม่าดีกว่ากัมพูชา คือกัมพูชา ผมว่าเขายังไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลไม่ได้ทุ่มเทในการที่จะเป็นเจ้าตลาดในเรื่องของข้าว แต่พม่าไม่ใช่ พม่าเขาบอกว่าที่แล้วมาเขาคือเบอร์ 1 ของโลกในการส่งข้าวออก เขามีพื้นที่เพาะปลูกใกล้เคียงกับไทย ฉะนั้นเขาจะทวงแชมป์คืน มันเลยต่างกัน”
พี่น้องในตระกูลหยกอุบลมีอยู่ด้วยกัน 6 คน ปัจจุบันมีการแตกธุรกิจออกเป็นหลายบริษัท
แต่ทุกบริษัทใช้แบรนด์สินค้าเดียวกันคือ “เกษตรพัฒนา”
ชนะธัช พี่ชายคนโต ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มเกษตรพัฒนา ยังอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ดูแลกิจการของบริษัทที่ใช้ชื่อว่า บริษัทโรงงานเกษตรพัฒนาฉะเชิงเทรา น้องชายคนรองของชนะธัชเสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้านี้
วราภรณ์ หยกอุบล น้องคนที่ 3 ในถ้าฐานะพี่สาวคนโต ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทเกษตรพัฒนาอุตสาหกรรม อยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก
สมชัย หยกอุบล น้องคนที่ 4 ในฐานะน้องชายคนเล็ก ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทเครื่องจักรกลเกษตรไทย อยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก
ส่วนน้องสาวของสมชัยอีก 2 คน คนหนึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย และอีกคนมีธุรกิจนำเข้า-ส่งออกเป็นของตนเอง ไม่ได้เข้ามาร่วมบริหารธุรกิจในกลุ่มเกษตรพัฒนา
การบริหารงานส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของ 3 พี่น้อง ซึ่งเป็นรุ่นแรกจะมีเพียงโรงงานของบริษัทเครื่องจักรกลเกษตรไทยที่ลูกชายและลูกสาวของสมชัยคือ กิตติศักดิ์ และรัชดาวรรณ หยกอุบล ได้เข้ามามีส่วนร่วมบริหารกิจการแล้ว ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ด้วยความชำนาญและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรมากว่า 30 ปี กลุ่มเกษตรพัฒนาถือเป็นกิจการหนึ่งที่มีโอกาสสูงมาก เมื่อประชาคมอาเซียน (AEC) ถือกำเนิดขึ้นจริงในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า
|
|
|
|
|