Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2555








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2555
เมื่อแชมป์เก่ามุ่งมั่นขอทวงตำแหน่งคืน             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 

   
related stories

พลิกวิถี หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน

   
www resources

โฮมเพจ บริษัท เครื่องจักรกลเกษตรไทย จำกัด

   
search resources

Agriculture
International
Myanmar
เกษตรพัฒนาอุตสาหกรรม, บจก.
จอว์ จอว์ อ่อง




พม่ากำลังดำเนินการอย่างเข้มข้นในการยกระดับ “อุตสาหกรรมข้าว” ของตนเอง โดยมีเป้าหมายในการกลับคืนสู่ตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก และดูเหมือนปัจจัยหลายด้านก็กำลังเอื้อต่อย่างก้าวของพม่าในเรื่องนี้

จอว์ จอว์ ทุน กำลังขะมักเขม้นศึกษาโครงสร้างรถเกี่ยวนวดข้าวล็อตใหม่ที่ญาติของเขา ดร.จอว์ จอว์ อ่อง (Kyaw Kyaw Aung) เพิ่งสั่งนำเข้ามาจากประเทศไทย

เขาต้องเร่งทำความเข้าใจกลไกการทำงานของรถคันนี้ทั้งหมด เพื่อจะควบคุมและสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้หากมีปัญหาเกิดขึ้นกับเจ้ารถคันนี้

จอว์ จอว์ ทุนจำเป็นต้องรู้จักรถเกี่ยวนวดข้าวคันนี้อย่างดี ก่อนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวรอบใหม่ที่จะถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

เมื่อตอนต้นปีระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึง 21 เมษายน ที่ผ่านมา จอว์ จอว์ ทุนพร้อมกับทีมงานอีก 3 คน ประกอบด้วย จอว์ ซัวร์ วิน หรือจอซัว มินทเว หรือโกเป๊าะ และโซ ลวย อู หรือโซ ลวย ได้เดินทางมาฝึกงานที่โรงงานของบริษัทเกษตรพัฒนาอุตสาหกรรมในเครือเกษตรพัฒนาที่จังหวัดพิษณุโลก

เกษตรพัฒนาคือกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรและเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถเกี่ยวนวดข้าวรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

(อ่าน “พลิกวิถี หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ ดิน” ประกอบ)

เกือบ 2 ปีมาแล้วที่ ดร.จอว์ จอว์ อ่อง ญาติของเขาได้ร่วมทุนกับพรรคพวกจัดตั้งบริษัทเพื่อนำรถเกี่ยวนวดข้าวจากเกษตรพัฒนาเข้ามาช่วยชาวนาของพม่าเกี่ยวข้าวเพื่อจะทำให้กระบวนการผลิตข้าวมีความรวดเร็วขึ้น

ดร.จอว์ จอว์ อ่อง เป็นหมอ แต่มีธุรกิจส่วนตัวด้านการเกษตรโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับข้าว เป็นเจ้าของโรงสีข้าวใหญ่แห่งหนึ่งของพม่า

บริษัทที่ ดร.จอว์ จอว์ อ่องร่วมทุนจัดตั้งขึ้นได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลพม่าในการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตร เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งของพม่ามีแนวความคิดที่ต้องการพัฒนากระบวนการผลิตข้าวของพม่าให้รวดเร็วและได้ปริมาณข้าวมากขึ้น

หนึ่งในหุ้นส่วนของ ดร.จอว์ จอว์ อ่อง ในบริษัทแห่งนี้คือ ออง ถั่น อู (Aung Than Oo) รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าว พม่า (Myanmar Rice Industry Association: MRIA)

มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ พม่าใช้คำว่า “อุตสาหกรรม” เข้ามาเป็นชื่อขององค์กรเอกชนที่จะเป็นตัวกลางในการรับผิดชอบเรื่องข้าว แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์อย่างหนึ่งของพม่าที่มองว่า “ข้าว” คือผลผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมมิใช่เกษตรกรรมเหมือนในประเทศไทย

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (พม่า) ได้เริ่มนำเข้ารถเกี่ยวนวดข้าวจากเกษตรพัฒนาเพื่อไปทดสอบการใช้งานในท้องนาของพม่าตั้งแต่ปี 2552 โดยนำเข้าครั้งแรกเพียง 1 คัน ถัดจากนั้นในปี 2553 ได้นำเข้าเพิ่มอีก 1 คัน

จนเมื่อมีการจัดตั้งบริษัทเพื่อเป็นผู้นำเข้าขึ้นมาเป็นการเฉพาะเมื่อปีที่แล้ว (2554) บริษัทแห่งนี้ส่งออร์เดอร์มายังเกษตรพัฒนาเพื่อสั่งซื้อรถเกี่ยวนวดข้าวส่งเข้าไปยังพม่า จำนวนทั้งสิ้น 24 คัน แต่สามารถส่งเข้าไปได้จริงเพียง 9 คัน เนื่องจากบริษัทผู้ซื้อไม่สามารถดำเนินการด้านเอกสารในการขออนุญาตนำเข้าจากรัฐบาลได้ทัน

ออร์เดอร์ที่เหลือเกษตรพัฒนาได้เริ่มทยอยส่งออกไปยังพม่าตั้งแต่ต้นปีนี้

มีการตกลงด้วยวาจาระหว่างเกษตรพัฒนากับบริษัทร่วมทุนที่ ดร.จอว์ จอว์ อ่อง และออง ถั่น อู จัดตั้งขึ้น โดยเกษตรพัฒนาจะมอบหมายให้บริษัทแห่งนี้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถเกี่ยวนวดข้าวในพม่าด้วย

นอกจากบริษัทแห่งนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ Green Asia Co. ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวรายใหญ่แห่งหนึ่งของพม่าก็ได้สั่งซื้อรถเกี่ยวนวดข้าวจากเกษตรพัฒนาไปด้วยจำนวน 2 คัน

รวมยอดแล้ว 2 ปีเศษๆ ที่ผ่านมาพม่าได้นำรถเกี่ยวนวดข้าวจากประเทศไทยเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตข้าวของพม่าแล้วไม่น้อยกว่า 12 คัน

คาดว่าจำนวนรถเกี่ยวนวดข้าวในพม่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันในวงจรการปลูกข้าวของพม่า ธุรกิจรับจ้างเกี่ยวข้าวเป็นธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น

รถเกี่ยวนวดข้าวของเกษตรพัฒนามีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 4 รุ่น โดยรุ่นเล็กสุดมีความสามารถในการเกี่ยวข้าวได้วันละประมาณ 20 ไร่ รุ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยสามารถเกี่ยวข้าวได้วันละ 20-30 ไร่ ส่วนรุ่นขนาดกลางเกี่ยวได้วันละ 40-60 ไร่ และรุ่นใหญ่สามารถเกี่ยวข้าวได้วันละ 40-80 ไร่

การที่พม่านำรถเกี่ยวนวดข้าวเข้าไปใช้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทดแทนการเกี่ยวข้าวด้วยแรงคน ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมแต่อดีตนั้น แม้หลายคนอาจมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวปกติที่เป็นไปตามพัฒนาการด้านการเกษตรของทุกๆ ประเทศที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร

แต่สำหรับพม่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตและส่งออกข้าวของไทย

นอกจากพม่ากำลังเป็นประเทศที่เนื้อหอมเนื่องจากเพิ่งเริ่มเปิดประเทศ มีหลากหลายประเทศโดยเฉพาะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกทุกวันนี้ ทุกประเทศกำลังต้องการจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเติบโตของพม่าที่กำลังจะเกิดขึ้น

หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งของพม่าได้ประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจนออกมาเลยว่า พม่ามีเป้าหมายที่จะทวงแชมป์ประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกคืนกลับไป

เป็นนโยบายที่ประเทศไทยมิควรอย่างยิ่งที่จะนิ่งดูดาย

เพราะตลอดเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว ที่ตำแหน่งแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกตกเป็นของประเทศไทย หลังจากที่พม่าถูกบอยคอตทางเศรษฐกิจจากมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา

เพิ่งจะมีเมื่อปีที่แล้ว (2554) ที่ไทยถูกอินเดียแซงหน้าขึ้นเป็นอันดับ 1 ของประเทศผู้ส่งออกข้าวไปทั่วโลกแทน

“ถ้าติดตามการวางนโยบายของรัฐบาลพม่าในช่วงที่ผ่านมา เขาค่อนข้างเจียมตัว สงบปากสงบคำ ไม่เคยประกาศตัวเองว่าจะฮับนั่น ฮับนี่ เป็นเมืองแฟชั่น เป็นดีทรอยต์ของเอเชียเหมือนไทย จะมีก็แต่เรื่องข้าวเรื่องเดียวนี่แหละ ที่เขาพูดออกมาชัดเจนที่สุด แสดงว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก” คนที่มีประสบการณ์ในการค้าระหว่างไทยกับพม่ามามากกว่า 20 ปี ท่านหนึ่งให้ความเห็นกับ ผู้จัดการ 360 ํ

เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อกิจการของผู้ให้สัมภาษณ์ท่านนี้ ผู้จัดการ 360 ํ มีความจำเป็นที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อหรือรายละเอียดของแหล่งข่าวท่านนี้ได้

การนำรถเกี่ยวนวดข้าวเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตข้าวของพม่าเป็นเพียง 1 ในกระบวนการเพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายที่ได้ประกาศเอาไว้ว่า พม่าต้องการทวงตำแหน่งแชมป์ประเทศผู้ส่งออกข้าวคืนประสบผลสำเร็จ

พม่ายังมีกระบวนการอื่นๆ ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ในอีกหลายๆ ด้านด้วยกัน

ที่สำคัญ เป็นการวางแผนดำเนินการมาตั้งแต่ยุคที่พม่าถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 เสียอีก

ก่อนที่รัฐบาลทหารพม่าจะตัดสินใจเปิดประเทศ ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 นั้น สภาพเศรษฐกิจของพม่าแม้ไม่ได้เลวร้ายเหมือนประเทศที่เคยถูกบอยคอตอื่นๆ หรือประเทศที่ยังถูกบอยคอตอยู่ในปัจจุบัน

แต่เศรษฐกิจของพม่าหากไม่นับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ และกำลังเป็นที่หมายปองจากนักลงทุนต่างชาติอย่างตาเป็นมันแล้ว

ในภาคธุรกิจยังถือว่าพม่ายังขาดจุดแข็งที่เป็นรูปธรรมที่รัฐบาลสามารถนำเสนอให้สังคมโลกมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นที่ได้เกิดขึ้นภายในประเทศหลังจากมีการเปิดประเทศแล้ว

มีเพียงเรื่องเดียวคือเรื่องข้าวที่พม่ามีความพร้อมมากที่สุด

“ที่เขามาพัฒนาตัวนี้ เพราะใกล้มือมากที่สุด ข้อแรกคือ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ข้อสอง การเตรียมการในเรื่องนี้ รัฐบาลทหารเขามีแผนไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทำให้สังคมทราบว่ารัฐบาลนี้สามารถจะทำอะไรที่ดีๆ ดังนั้น ล่วงหน้าก่อนเลือกตั้ง มีการเตรียมการมาเป็นระยะ มีการพัฒนาในเรื่องพวกนี้เป็นลำดับ พอสิ่งที่เตรียมไว้เริ่มสุกงอม ก็จัดเลือกตั้ง เขาก็จะโชว์ให้ดูว่ามีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นในพม่าแล้ว” แหล่งข่าวรายเดิมบอก

“ถ้าดูรายได้หลักที่มาจากการส่งออกของเขา 2 ปีก่อน การส่งออกของเขาประมาณ 8,800 ล้านดอลลาร์ ในนี้ 55% เป็นก๊าซที่ขายให้กับเรา ก็แปลว่ามีประมาณ 4,200 ล้านเท่านั้นที่เป็นสินค้าส่งออกจริง แล้ว 4,200 ล้านดอลลาร์ที่เป็นสินค้าสำเร็จรูปมีตัวเดียวคือการ์เมนต์ นอกนั้นเป็นสินแร่ ถั่ว ปลา ซุง ข้าว รวมแล้วส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ด้านสาขาการเกษตร เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมนี่ไม่มีเลย การ์เมนต์ที่ส่งออก พอดูลึกๆ เข้าไปก็เป็นโรงงานจากฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ไปตั้งโรงงานเอาเครื่องจักรอุตสาหกรรมเข้าไป แล้วก็ใช้แรงงานตัดเย็บเท่านั้นเอง ไม่ได้พัฒนา เพราะฉะนั้นเขาต้องเน้นตัวข้าว ซึ่งวิธีคิดของเขาก็สมเหตุสมผล ทำอะไรที่ตัวเขามีความรู้ พอจะทำได้ ทำก่อน แล้วโลกจะเปลี่ยนแปลงยังไง ค่อยๆ ตามเอาทีหลัง” เขาย้ำ

การพัฒนาเป็นลำดับ เริ่มจากการคัดเลือกภาคเอกชนกลุ่มหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถ และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีเงินทุน แล้วผลักดันให้เอกชนกลุ่มนี้จัดตั้งบริษัทในลักษณะที่เป็น Special Company ขึ้นมา

Special Company เหล่านี้จะได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลหลายประการ อาทิ สิทธิการถือครองที่ดินเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว กระบวนการผลิตข้าว ตลอดจนสิทธิในการนำเข้าสินค้าที่จะเป็นปัจจัยในการผลิตและพัฒนา ตลอดจนสิทธิในการส่งข้าวออกไปขายยังต่างประเทศ ฯลฯ

ในอดีต ก่อนปี 2551 (2008) การส่งออกข้าวของพม่าถือเป็นกิจการที่ผูกขาดโดยรัฐบาล เพราะประเทศพม่าถูกทั่วโลกบอยคอต ลูกค้าข้าวของพม่าก็คือรัฐบาลของประเทศที่ไม่สนใจในมาตรการบอยคอต และกล้าเข้ามาค้าขายกับพม่า ดังนั้นการขายข้าวจึงเป็นในลักษณะรัฐต่อรัฐ

การผลักดันให้มีการจัดตั้ง Special Company รัฐบาลพม่าได้ผ่อนคลายการผูกขาดการส่งออกข้าว โดยการผลักภาระไปให้กับบริษัทเหล่านี้

มีภาคเอกชนที่ร่วมกันจัดตั้งบริษัทประเภทนี้รวมแล้วประมาณ 39 บริษัท

บริษัทร่วมทุนระหว่าง ดร.จอว์ จอว์ อ่อง และออง ถั่น อู ที่นำเข้ารถเกี่ยวนวดข้าวจากกลุ่มเกษตรพัฒนา หรือ Green Asia Co. บริษัทพัฒนาและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ก็เป็น 2 ใน 39 Special Company ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามนโยบายนี้เช่นกัน

เมื่อจัดตั้ง Special Company ขึ้นมาแล้ว บริษัทเหล่านี้มีภารกิจที่ต้องออกไปสร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ ตลอดจนการส่งคนออกไปแสวงหาความรู้และเทคโนโลยี โดยเข้าร่วมรับฟังการสัมมนา ดูนิทรรศการ ตลอดจนร่วมสังเกตการณ์ตามงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวซึ่งจัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก

ว่ากันว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา มีคนพม่าที่เดินทางไปตามงานต่างๆ เหล่านี้แบบเงียบๆ หลายร้อยคนทั่วโลก

เมื่อตัวแทนเหล่านี้ได้ไปพบกับนวัตกรรมใหม่ๆ หรือเห็นสิ่งใดที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของพม่า ก็จะศึกษารายละเอียดและทำเป็นโครงการเสนอต่อรัฐบาล

เมื่อได้รับอนุมัติก็เดินหน้าโครงการ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบทั้งเรื่องการซื้อ เทคโนโลยี การนำเข้าสินค้าที่เป็นนวัตกรรม การร่วมมือและร่วมทุนกับต่างประเทศเพื่อให้เข้ามาช่วยกันพัฒนา ฯลฯ

การพัฒนาเรื่องข้าวของพม่า จึงมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับแล้วตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน

ที่สำคัญ ความคืบหน้าเหล่านั้นได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประเทศที่เป็นเพื่อนมิตรของพม่าในช่วงที่ถูกบอยคอต ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และเวียดนาม

จีนเป็นประเทศที่ช่วยพม่าหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพราะจีนมีการพัฒนาเรื่องนี้ด้วยตนเองมาหลายปีแล้ว

สายพันธุ์ข้าวพม่าหลายสายพันธุ์มีจุดเริ่มต้นจากการซื้อเทคโนโลยีจากจีน แล้วนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาต่อ

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการยอมรับจากประเทศผู้ซื้อข้าวทั่วโลกว่ามีการพัฒนาด้านสายพันธุ์ที่มีความต่อเนื่องและยาวนาน โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิของไทยได้กลายเป็นสินค้าข้าวระดับพรีเมียมในตลาดข้าวโลก

พม่าก็ยอมรับในข้อเสียเปรียบ หากเทียบกับไทยในจุดนี้ จึงมีการทุ่มเททรัพยากร แสวงหาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ของตนเองให้โดดเด่นขึ้นมา

การที่ข้าวพันธุ์ Pearl Paw San ของพม่าได้รับรางวัลชนะเลิศในการจัดประกวดสุดยอดข้าว ซึ่งจัดขึ้นโดย Rice Traders ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม ปีที่แล้ว (2554) ที่เมืองโฮจิมินห์ซิตี ประเทศเวียดนาม ทั้งๆ ที่ตำแหน่งนี้เคยตกเป็นของข้าวหอมมะลิจากไทยถึง 2 ปีซ้อนในช่วงก่อนหน้านั้น ถือเป็นผลสัมฤทธิ์อย่างหนึ่งที่แสดงรูปธรรมในความพยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของพม่าในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ข้าวพันธุ์ Pearl Paw San เป็นข้าวที่มีลักษณะพิเศษ คือเมื่อยังเป็นข้าวสารจะมีลักษณะสั้น ป้อม แต่เมื่อผ่านการหุงแล้วเมล็ดข้าวจะยาวรีขึ้น

ไมเคิล ครอส พ่อครัวจากสถาบันด้านศิลปะการทำอาหารเลอ กอร์ดอง เบลอ จากเมืองซาเครเมนโต สหรัฐอเมริกา และอดัม แทนเนอร์ หัวหน้าพ่อครัวจากโรงแรม เชอราตัน ไซง่อน ซึ่งเป็น 2 ในคณะกรรมการตัดสินให้ความเห็นว่าการที่ข้าวสามารถขยายขนาดได้เมื่อผ่านการหุง ความแน่นของตัวข้าว เมื่อเคี้ยวและผิวสัมผัสที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งให้ข้าว Pearl Paw San ของพม่าเฉือนเอาชนะข้าวหอมมะลิของไทย และข้าวสีดำสายพันธุ์ Venere ของอิตาลี

แต่พม่าไม่ได้มีเพียงข้าวพันธุ์ Pearl Paw San ชนิดเดียว

ข้าวที่พม่าสามารถส่งออกได้มากที่สุดในช่วงที่ผ่านมาเป็นข้าวพันธุ์ Immata

แต่สิ่งที่พม่ากำลังเร่งพัฒนาอยู่ในขณะนี้ก็คือสายพันธุ์ข้าวลูกผสม (hybrid rice) โดยเฉพาะพันธุ์ Palethwe ที่เมื่อสำเร็จจะเป็นข้าวที่สามารถสร้างผลผลิตได้ถึง 2 ตัน ต่อ 1 ไร่

ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกข้าวของพม่ามีอยู่ประมาณ 51.2 ล้านไร่ น้อยกว่าของไทยที่มีอยู่ 62.6 ล้านไร่

ก่อนหน้านี้เคยมีหลายคนออกมาพูดเชิงสบประมาทการปลูกข้าวของพม่าว่า คงต้องใช้เวลาหากจะขึ้นมาแข่งกับไทยในด้านปริมาณการส่งออก เพราะพม่ายังไม่สามารถผลิตข้าวได้ในปริมาณมาก และยังใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต

แต่ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีผลผลิตต่อไร่สูง ตลอดจนการนำเครื่องจักรกลเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ล้วนเป็นความพยายามของพม่าเอง ที่ต้องการลบล้างคำสบประมาทดังกล่าว

ในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์และการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตข้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นนั้น นอกจากการที่ ดร.จอว์ จอว์ อ่อง และออง ถั่น อูได้นำรถเกี่ยวนวดข้าวจากกลุ่มเกษตรพัฒนาของไทยเข้าไปแล้ว

พม่ายังได้รับข้อเสนอทั้งจากภาครัฐและเอกชนของจีน อินเดีย และเวียดนาม ในการให้ความช่วยเหลือแก่พม่าในทั้ง 2 ด้านนี้อีกด้วย

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ นิวไลท์ ออฟ เมียนมา ได้นำเสนอความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาข้าวของพม่าเอาไว้

เนื้อความในข่าวดังกล่าวระบุว่า

“ชิด คาย (Chit Khaing) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวพม่า (Myanmar Rice Industry Association: MRIA) ออง ถั่น อู (Aung Than Oo) รองประธาน MRIA และเย มิน ออง (Ye Min Aung) เลขาธิการ MRIA ได้นำคณะผู้บริหารสมาคมเข้าพบหารือกับหลี จุ่นหัว (Li Junhua) เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงย่างกุ้ง ที่สำนักงานของ MRIA ในกรุงย่างกุ้งวันที่ 4 มีนาคม

ระหว่างการพบเยี่ยมเยือนครั้งนี้ทั้งหมดได้พูดคุยเกี่ยวกับการนำเข้าเครื่องมือทางการเกษตร การปลูกข้าวพันธุ์ผสมที่ให้ผลผลิตสูงและการขยายการส่งออก

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นขณะที่ผู้กำกับดูแลการปลูกและส่งออกข้าวหลายฝ่ายกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มผลผลิต และคาดว่าอาจจะส่งออกได้ถึง 1.5 ล้านตันในปี 2555 นี้เทียบกับประมาณ 7 แสนตันเมื่อปีที่แล้ว

ตามตัวเลขของ MRIA ปีงบประมาณ 2552-2553 พม่าส่งออกข้าวทั้งหมด 800,000 ตัน ส่วนปี 2553-2554 ส่งออกได้เพียง 400,000 ตัน เพิ่มเป็น 700,000 ตัน ในปีงบประมาณ ปัจจุบัน (2554-2555) กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคมศกนี้

หลายปีมานี้ พม่าซึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่งของโลกเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ได้ขยายระบบชลประทาน และขยายเนื้อที่นาอย่างกว้างขวาง ขณะที่รัฐบาลอนุญาตให้ส่งออกข้าวได้มากขึ้นในจุดที่ใกล้กับแหล่งเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตพะโค เขตย่างกุ้ง และเขตอิรวดี

ตามรายงานของสื่อทางการปีนี้ กระทรวงเกษตรพม่าได้ขยายแปลงทดลองปลูกข้าวหอมพันธุ์ดีออกไปในหลายจุดในเขตอู่ข้าวใหญ่ของประเทศ เมื่อปีที่แล้วข้าวหอมพม่าได้รับการยกย่องเป็นข้าวหอมคุณภาพดีที่สุดของโลก

การเก็บเกี่ยวข้าวหอมสินธุกา-3 (ข้าวหอมพันธุ์ดีแต่ปลูกยาก) วันที่ 16 กุมภาพันธุ์ ที่ผ่านมา จากแปลงทดลองเนื้อที่ 3.78 เอเคอร์ (9.56 ไร่) ในเขตเมืองพะสิม (Pathein) ที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีได้ข้าวเปลือก 95.65 ตะกร้า (2,008 กิโลกรัม) ต่อเอเคอร์ (2.529 ไร่) หรือประมาณ 771 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่การเพาะทดลองเพื่อเพิ่มผลผลิตยังดำเนินต่อไป

พม่าทะยานขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อีกครั้งหนึ่ง การจัดตั้งระบบเช็กสต๊อกข้าวเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้สามารถควบคุมตัวเลขการผลิตและการส่งออกได้แม่นย่ำยิ่งขึ้น ช่วยคลายความห่วงใยของทางการเกี่ยวกับปริมาณข้าวที่จะต้องสำรองไว้เพื่อบริโภคภายในประเทศอย่างเพียงพอ

เหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้สามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้นก็คือการขยายท่าเรือใหญ่ในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อกลางปีที่แล้ว ทำให้สามารถส่งออกข้าวจากอู่ข้าวใหญ่ได้โดยตรง ไม่ต้องขนส่งเข้าย่างกุ้งเพื่อส่งออกผ่านท่าเรือในกรุงเก่า

การส่งออกโดยตรงจากเขตที่ราบใหญ่อิรวดี ช่วยให้ประหยัดค่าขนส่งที่คิดเป็นประมาณ 30-40% ของราคาข้าว ช่วยลดต้นทุนแก่ผู้ค้าและชาวนาได้กำไรมากขึ้น ข้าวพม่าสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลกอีกด้วย

อินเดียในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกับพม่า ก็ได้มีการเสนอขายเครื่องจักรกลการเกษตร โดยเฉพาะรถเกี่ยวนวดข้าวให้กับพม่า

ส่วนเวียดนามมีรายงานข่าวว่าช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เวียดนามได้เข้าไปลงทุนเพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของพม่า ทั้งด้านการพัฒนาสายพันธุ์และปรับปรุงกระบวนการผลิต คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตอนนี้พม่ามีความพร้อมเต็มที่ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมข้าวของตนเองขึ้นมาเป็นจุดเด่นในสายตาสังคมโลก

แต่ปัจจัยเดียวที่พม่ายังต้องเร่งพัฒนา คือในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยโดยตรงต่อระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ

แม้ว่าราคาข้าวของพม่าในตลาดโลกสามารถขายได้ต่ำกว่าราคาข้าวของไทย ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ข้าวของพม่าได้รับความสนใจ

ต้นทุนการขนส่งข้าวภายในประเทศของพม่า ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคที่จะสนับสนุนการส่งออกข้าวของพม่า ซึ่งยังมีการพัฒนาน้อยมาก ได้กลายเป็นสัดส่วนสูงมากที่อยู่ในต้นทุนราคาขายข้าวของพม่า

หากรัฐบาลพม่าสามารถพัฒนาในจุดนี้ หรือได้รับความช่วยเหลือ ความร่วมมือจากประเทศมหาอำนาจต่างๆ ที่กำลังต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมเก็บเกี่ยวความเติบโตของพม่าภายหลังการเปิดประเทศ ในการร่วมสร้างระบบสาธารณูปโภคเหล่านี้แล้ว

เชื่อว่าการกลับมาทวงแชมป์ประเทศผู้ส่งออกข้าวของพม่าจะสามารถทำได้ไม่ยากและใช้เวลาไม่นาน

ถึงวันนั้น ขึ้นอยู่กับประเทศไทยแล้ว ว่าจะวางท่าทีหรือมียุทธศาสตร์ต่อเรื่องนี้อย่างไร?
-   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us