|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2555
|
|
วานนี้และวันนี้ปรอทในเขตชุมชนวัดได้ 46 องศาเซลเซียส ส่วนกลางทุ่งนาพุ่งขึ้นถึง 49.5 องศา บางพื้นที่ว่ากันว่าวัดได้ 52 องศา พาดหัวรองในหน้าหนังสือพิมพ์กรอบหนึ่งปลอบใจว่า “ยิ่งร้อนตับแลบเท่าไร ปีนี้น้ำท่าจะอุดมสมบูรณ์เท่านั้น” แต่อีกกรอบบอกว่าวานนี้วันเดียว ในรัฐเบงกอล มีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อน 67 คน ในบ่ายวันเดียวกัน ข่าวสั้นของทุกสถานีรายงานการมาถึงของมรสุมฤดูฝน ซึ่งปีนี้พัดเข้าฝั่งรัฐเกรละช้าไปสี่วัน แต่สำหรับเบงกอลฯ ที่อยู่ทางตะวันออกคงต้องกลั้นใจรออีกสักสิบวัน
แม้ฤดูร้อนในชนบทอินเดียจะหฤโหด และโหดเป็นพิเศษในปีนี้ เพราะถูกซ้ำเติมด้วยการขึ้นราคาน้ำมันและอาการร่วงกับร่วงของค่าเงินรูปี ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 55 รูปีต่อดอลลาร์ แต่กลับมีหลายเรื่องให้เรียนรู้ โดยเฉพาะสำหรับคนที่โตมาในเมืองไทย มีชีวิตเคยชินกับความสะดวกของเมืองหลวง ไม่รู้จักร้อนรู้จักหนาว สามารถเลือกเดินจากห้องแอร์ห้องหนึ่งไปยังห้องแอร์อีกห้องหนึ่งได้เสมอ จนเรื่องที่ว่าเมืองไทยมีสามฤดูเป็นแค่ความรู้มือสอง และคำว่า “หน้ามะม่วง” หาได้บอกเดือนหรือฤดูในขุมประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่
ชีวิตชนบทที่ศานตินิเกตัน ในรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย คือการเผชิญหน้ากับกาลอากาศ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนฤดู ฤดูหนาวที่นานราวสามเดือน ฤดูใบไม้ผลิสั้นๆ ไม่ถึงเดือน ฤดูร้อนแสนโหดที่เริ่มจากกลางเดือนมีนาคม แล้วเพิ่มองศาขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขีดที่แผ่นดินแทบสุกในเดือนพฤษภาคม และเมื่อแผ่นดินอนุทวีปร้อนได้ที่ เผาอากาศให้ร้อนและลอยตัวสูงขึ้นในมวลที่มากพอเท่านั้น คลื่นอากาศเย็น จากมหาสมุทรอินเดียจึงจะเคลื่อนเข้าแทนที่และพัดฝนมาชโลมรด เปลี่ยนฤดูไปสู่หน้ามรสุมหรือฤดูฝน อันหมายถึงฝนกับฝนยาวนานสี่เดือน แล้วแผ่นดินที่เย็นตัวลงจึงผันฤดูสู่ช่วงใบไม้ร่วงสั้นๆ ก่อนจะหนาวอีกครั้ง และนั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า หากฤดูร้อนร้อนไม่จริง ฝนก็ไม่มา หรือมาไม่เต็มที่พอใช้ทำการเกษตร และเติมสายน้ำใต้ดินไว้ให้ผู้คนใช้ดื่มกินไปอีกตลอดปี
แหล่งน้ำใช้ของบ้านเรือนส่วนใหญ่ในแถบนี้ คือน้ำบาดาลจากบ่อที่มีกันอยู่ทุกบ้าน ในการสร้างบ้านสิ่งที่ต้องทำพร้อมลงเสาหรือทำเสียตั้งแต่ยังไม่ลงเสาคือการขุดบ่อน้ำใช้ ความลึกนั้นขึ้นกับกำลังทรัพย์และความต่ำสูงของที่ดิน ทั่วไปมักลึก 30-40 ฟุต แต่บางหมู่บ้านบนที่โคกสูงจากตาน้ำมากก็ต้องขุดกันร้อยกว่าฟุต ครอบครัวที่มีฐานะปานกลางมักมีเครื่องปั๊มน้ำ ใช้สูบน้ำจากบ่อขึ้นไปเก็บในแท็งก์ไว้ ใช้สอย ส่วนคนที่ไม่มีปั๊มก็ยังต้องสาวน้ำขึ้นมาใช้ทีละถังเหมือนในสมัยโบราณ ในเขตศานตินิเกตันมีบ้านเพียงบางส่วนซึ่งตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ที่พอเรียกได้ว่ามีน้ำประปาใช้ โดยได้รับจ่ายน้ำจากแท็งก์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจ่ายเป็นเวลาในตอนเช้าและเย็น สำหรับน้ำดื่มนอกจากก๊อกน้ำดื่มสาธารณะที่จ่ายโดยมหาวิทยาลัยฯ ยังมีระบบจ่ายน้ำสำคัญอีกโครงการซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดยประเทศเยอรมนี ทำให้เรียกกันในหมู่ชาวบ้านว่า “เยอรมันวอเตอร์” มีก๊อกกระจายอยู่หลายจุดในเขตชุมชน และจ่ายน้ำเป็นเวลาวันละสองรอบเช่นกัน
บ่อน้ำใช้นี้ถือเป็นเครื่องเตือนสติชั้นดีถึงคุณค่า ของน้ำแต่ละถัง ในหน้าฝนที่ฝนตกเหมือนฟ้ารั่วจนพานจะสาปแช่งเทวดา คนก็อาจใช้น้ำได้เพลินมือ ครั้นย่างเข้าเดือนพฤศจิกายนฟ้าก็กลับใสเหมือนไม่รู้จักเมฆ และเป็นอย่างนั้นไปตลอดฤดูหนาว ซึ่งการใช้น้ำถือว่าน้อยกว่าฤดูอื่นๆ ระดับน้ำในบ่อจึงยังไม่อยู่ในความสนใจ แต่เมื่อเข้าหน้าร้อน ยิ่งคนต้องการใช้น้ำมากขึ้น ระดับน้ำในบ่อก็ยิ่งลดต่ำลง คนที่ต้องสาวน้ำขึ้นมาใช้มักพบว่ายิ่งอยากได้น้ำมา อาบแก้ร้อนเท่าไร ก็ยิ่งต้องเหงื่อตกกับการสาวน้ำเท่านั้น ราวต้นเดือนพฤษภาคมบ่อน้ำใช้หลายบ้านแห้งขอด โดยเฉพาะบ้านที่ขุดไว้ไม่ลึกหรือตั้งอยู่บนที่เนิน ก๊อกน้ำดื่มสาธารณะกลายเป็นที่พึ่งให้บางครอบครัวใช้ซักล้างและเป็นที่อาบน้ำของเด็กๆ มรสุม ฤดูฝนจะพัดเข้าอนุทวีปอีกครั้งก็ต้นเดือนมิถุนายน ตลอดเดือนพฤษภาคมที่พึ่งสุดท้ายสำหรับน้ำใช้คือพายุฤดูร้อน ซึ่งบางครั้ง จะหอบฝนหรือลูกเห็บมาตกแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย พอให้มีน้ำผุดขึ้นมาเลี้ยงบ่อ ใช้ต่อไปได้อีกสักสองสามวัน แต่พายุที่ว่าก็หวังพึ่งได้สักสองสามรอบตลอดหน้าร้อนเท่านั้น สิ่งเดียวที่ทำได้ คือประหยัดน้ำทุกหยด ต่อให้ปรอทพุ่งขึ้น 45-46 องศา และอยากอาบน้ำสักวันละสามสี่รอบก็ต้องกลั้นใจทน
บ้านในแถบนี้มีน้อยหลังที่ติดเครื่องปรับอากาศ และบ้านที่ติดนอกจากจะรวยมากมักเป็นคนรุ่นใหม่ เพราะคนทั่วไปยังไม่คุ้น กับอาการเย็นวาบแล้วร้อนผ่าวของการเดินเข้าออกห้องแอร์ ฉะนั้นคนที่คิดจะหนีร้อนด้วยการเดินเข้าห้องแอร์ ก็มีตัวเลือกแค่สองทาง ระหว่างตู้เอทีเอ็ม ซึ่งในรัศมีสามกิโลเมตรมีให้ใช้บริการเพียงหกตู้กับห้องทำงานผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ อย่างมหาวิทยาลัย ธนาคาร การไฟฟ้า ตำรวจ ฯลฯ
การหนีร้อนที่ทำได้จริงในชีวิตประจำวัน คือการทำให้บ้านเย็นด้วยการปิดประตูหน้าต่างเสียตั้งแต่กระไอแดดเริ่มร้อน อันหมายถึงแปดหรือเก้าโมงเช้า ไปจนถึงสี่ห้าโมงเย็น แล้วเลือกอยู่ในห้องที่เย็นที่สุดของบ้าน ซึ่งมักเป็นด้านของบ้านที่รับแดดเช้า เมื่อสังเกตจากอาคารหรือบ้านเก่าในแถบนี้ พบว่าส่วนใหญ่ใช้บานหน้าต่างและประตูไม้ และมีกำแพงหนา บางบ้านผนังก่ออิฐสองชั้นโดยมีช่องว่างอยู่ตรงกลาง ให้อากาศทำหน้าที่เป็นฉนวนซับ และระบายความร้อน นอกจากนี้ทุกบ้านจะมีระเบียงไว้นั่งเล่นรับลม และทำหน้าที่กรองไอแดดและความร้อนไม่ให้เข้าถึงห้องชั้นในที่เป็นห้องรับแขกหรือห้องนอนโดยตรง
กลวิธีรับมือไอร้อนอีกอย่างที่พบตามอาคารสถานที่ราชการ คือการคลุมหน้าต่างด้วยม่านขนาดใหญ่ทำด้วยกาบมะพร้าวหรือวัสดุธรรมชาติที่อุ้มน้ำได้ดี แล้วฉีดน้ำใส่ ม่านชนิดนี้ช่วยให้ห้องเย็นได้ไม่แพ้เครื่องปรับอากาศทีเดียว
สิ่งสำคัญที่จะทำให้อยู่รอดได้ในองศาความร้อนเช่นนี้ คือการทำให้ตัวเย็นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการดื่มน้ำมากๆ สวมเสื้อผ้าฝ้ายเนื้อบาง โปร่ง สีอ่อน หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงสิบเอ็ดโมงถึงสี่โมงเย็น เปลี่ยนเมนูมาเป็นอาหารมังสวิรัติ งดอาหารมันรสจัดรวมถึงไข่ เน้นกินผักใบเขียวและผัก ที่มีน้ำมาก ซึ่งก็เป็นผักตามฤดูกาลของหน้าร้อนดังพบว่าแผงขายผักในช่วงนี้มักละลานตาด้วยสีเขียว เฉดต่างๆ อย่างน้ำเต้า ฟัก บวบ แตงกวา ถั่วฝักยาว มะระขี้นก ผักบุ้ง และผักบ้านใบเขียวหลากหลายชนิด ที่ถือว่ากินแล้วเย็นโดยธรรมชาติ เมนูหน้าร้อนยอดนิยมของชาวเบงกาลีมักได้แก่ ซุปถั่วใส่มะม่วงเปรี้ยว ซุปผักบ้าน ผัดบวบใส่เมล็ดดอกฝิ่นที่กินแล้ว เย็นและหลับสบาย สลัดใส่โยเกิร์ต และในวันที่ร้อนมากๆ นิยมนำข้าวสวยแช่น้ำข้ามคืนเพื่อเก็บไว้กินใน วันรุ่งขึ้น คล้ายการกินข้าวแช่ในหน้าร้อนของบ้านเรา
คุณูปการอย่างหนึ่งของชีวิตในชนบทอินเดีย คือการกินอยู่ด้วยผักผลไม้ตามฤดูกาล ที่ธรรมชาติให้มาอย่างเหมาะเจาะกับกาลอากาศ อย่างผลไม้ที่ล้นแผงในช่วงนี้ คือแตงโมกับมะม่วง ส่วนน้ำผลไม้ที่หาได้ง่ายคือ น้ำมะพร้าว น้ำอ้อย และน้ำมะตูมสด ที่ล้วนแต่ชวนชื่นใจคลายร้อน
เครื่องดื่มท้องถิ่นหน้าร้อนที่น่าสนใจอีกอย่าง คือน้ำตาลเมา และเหล้าพื้นบ้านทำจากเกสรดอกมาฮัว (mahua) น้ำตาลเมานี้เรียกกันว่าตาดี้ มีทั้งที่กรีดจากงวงตาลและต้นอินทผลัม โดยตาดี้ในหน้า ร้อนมักมาจากอินทผลัมที่นิยมปลูกไว้ตามคันนา ในสมัยโบราณตาดี้คือแหล่งน้ำและโภชนาการชั้นดีของชาวบ้านในยามที่ผืนนาร้อนแล้งและขาดแคลนน้ำดื่ม มาฮัวก็เช่นกันเคยนิยมกลั่นไว้กินเป็นยาระบายร้อน แต่ทุกวันนี้ก็เปลี่ยนสถานะมาเป็นเครื่องดองของเมาเต็มรูป แต่ถ้าใครคิดจะกินแบบไม่บันยะบันยังในองศาอากาศขนาดนี้ ก็เท่ากับคิดฆ่าตัวตาย
รออีกสักสิบวันฝนคงจะมา ระหว่างรอในเมื่อเราปรับอากาศไม่ได้ ก็คงต้องหันมาปรับวิธีมอง แทนที่จะเห็นความร้อนเป็นปัญหา อาจลองสังเกตว่าเราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากฤดูกาล
|
|
|
|
|