|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2555
|
|
คำว่า “ซานไจ้” หากแปลตรงตัวแล้วจะมีความหมายว่าหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา (Small Mountain Village) โดยคำว่า “ซาน" นั้นแปลว่าภูเขา ส่วน “ไจ้” ก็แปลว่าหมู่บ้านเล็กๆ โดย “ไจ้หรือจ้าย” ตัวนี้เป็นตัวอักษรเดียวกับตัวอักษร “ไจ้” ในชื่อ “จิ่วไจ้โกว” สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันงดงามในมณฑลเสฉวนนั่นเอง
กระนั้นความหมายของ “ซานไจ้” ที่ถูกนำมาใช้กันบ่อยครั้งที่สุดในสังคมจีนยุคปัจจุบันกลับไม่ได้มีความหมายว่า “หมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา” แต่หมายความถึง “สินค้าลอกเลียนแบบ”
หากจะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ชาวจีนเปรียบเปรยว่าสินค้าจีนที่พยายามผลิตออกมาลอกเลียนแบบสินค้าชื่อดังของโลก โดยเป็นการเลียนแบบทั้งชื่อ เลียนแบบทั้งรูปร่างหน้าตา (ดีไซน์) เลียนแบบคุณสมบัติการใช้งาน และอีกสารพัดเลียนแบบ (ยกเว้นอยู่สองอย่างที่ไม่สามารถเลียนแบบได้ก็คือ ไม่สามารถเลียนแบบคุณภาพ และไม่สามารถเลียนแบบราคาได้ แน่นอนว่าสินค้าซานไจ้ย่อมมีราคาถูกกว่าสินค้าต้นฉบับมาก) เหมือนกับเป็นสินค้าคุณภาพต่ำที่ผลิตอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขาอันห่างไกล ชาวบ้านลงมือทำกันเอง ขณะที่เจ้าหน้าที่และกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่สามารถเอื้อมมือเข้าไปบังคับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ
เว็บไซต์สารานุกรมไป่เคอไป่ตู้ระบุถึงที่มาของคำว่า “ซานไจ้” ที่ใช้กันอยู่ในยุคปัจจุบันมีที่มาในช่วงทศวรรษ 1990 จากภาษากวางตุ้ง โดยเป็นคำที่ชาวกวางตุ้งและเกาะฮ่องกงเรียกสินค้าที่ผลิตจากโรงงานเล็กๆ ที่ผลิตของเลียนแบบหรือของใช้ในชีวิตประจำวันราคาถูกว่า “ซานไจ้” ก่อนหน้านั้นชาวฮ่องกงในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ก็เรียกโรงงานเล็กๆ ตามบ้าน-ห้องแถว ที่รับช่วงผลิตสินค้าอย่างดอกไม้พลาสติก เสื้อผ้า ฯลฯ มาจากโรงงานใหญ่ๆ อีกต่อว่า “ซานไจ้ฉ่าง (ฉ่าง แปลว่า โรงงาน)”[1]
ขณะที่ชาวจีนยุคใหม่ยังได้รับอิทธิพลคำว่า “ซานไจ้” มาจากคนในแวดวงสินค้าไฮเทคและไอทีของจีน ที่เข้าไปทำงานในเซินเจิ้น เมืองใหม่ เมืองเศรษฐกิจที่ติดกับมณฑลกวางตุ้งและตั้งอยู่ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกง
แม้ว่าท่านผู้อ่านชาวไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยได้ยินคำว่า “ซานไจ้” มาก่อน แต่ผมเชื่อว่าในช่วงหลายปีมานี้ทุกท่านคงเคยได้พบเห็นหรือสัมผัสสินค้า “ซานไจ้” มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือจีนที่ผลิตโดยลอกเลียนแบบไอโฟน-ซัมซุง-โนเกีย เครื่องเล่นเพลงเอ็มพี 3 ผลิตจากจีน ไม่นับรวมเครื่องวิทยุ จอแอลซีดี เครื่องเล่นดีวีดี เตารีด เครื่องซักผ้า เตาแก๊ส เตาอบ ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด กระทั่งรถยนต์จีน ที่ผลิตให้มีรูปลักษณ์เลียนแบบรถยนต์ต่างประเทศ
ดังที่ผมเคยกล่าวถึงเรื่อง “วัฒนธรรมซานไจ้” ไว้ในคอลัมน์เดียวกันนี้เมื่อต้นปี 2552 ว่า “หลายคนอาจคิดว่าซานไจ้ก็แค่ ‘วัฒนธรรมการลอกเลียนแบบ’ ของจีนที่มีมานานแล้ว แต่ในความเป็นจริง ‘ซานไจ้’ กลับมีนัยสำคัญต่อโลกปัจจุบัน และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนมากกว่าที่ใครหลายคนคิด”
ล่าสุดเดือนมิถุนายน 2555 ไชน่า เดลี หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษของจีนได้มีการหยิบยกเรื่อง “ซานไจ้” ขึ้นมากล่าวถึงอีกครั้ง โดยคราวนี้บอกถึงพัฒนาการของสินค้าซานไจ้ในจีนว่า บางส่วนของผู้ผลิตสินค้าซานไจ้เริ่มมีการพัฒนาตัวเองจาก “การผลิตสินค้าลอกเลียนแบบ” ขึ้นไปเป็น “การสร้างนวัตกรรมขนาดย่อม (Micro Innovation)” บ้างแล้ว[2]
ในรายงานชิ้นดังกล่าว ไชน่า เดลี หยิบยกสินค้า/บริการ 5 ประการของจีนขึ้นมาว่าเป็นตัวอย่างของการสร้าง นวัตกรรมโดยการเริ่มต้นจากการลอกเลียนแบบหรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ กระบวนการ C&D หรือ Copy & Development ประกอบไปด้วย
หนึ่ง Sina Weibo เครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยมของจีน ซึ่งพัฒนามาจากการลอกเลียนแบบทวิตเตอร์
สอง BYD บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่
สาม สถาบันจีโนมปักกิ่ง (Beijing Genomics Institute)
สี่ Taobao เว็บไซต์ขายของยอดนิยมในจีน ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความสำเร็จของเว็บไซต์อีเบย์ในสหรัฐฯ
และห้า G’Five บริษัทผู้ผลิตมือถือจีนเล็กๆ จากเซินเจิ้น ที่ก้าวข้ามพรมแดนไปประสบความสำเร็จในประเทศ อินเดียและตะวันออกกลาง
จริงๆ เรื่องราวสินค้าและบริการทั้งห้าล้วนแล้วแต่น่าสนใจด้วยกันทั้งสิ้น แต่ด้วยเนื้อที่บทความอันจำกัด ผมจึงขอบอกเล่าเรื่องราวของ G’Five โทรศัพท์ซานไจ้ของจีนที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในสังคมจีนให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันเสียก่อน
G’Five หรือจีอู่ เป็นโทรศัพท์ มือถือซานไจ้เจ้าแรกของจีนที่สามารถก้าวขึ้นมาติดอันดับโลกได้ ด้วยการเจาะตลาดต่างประเทศอย่างประเทศในแถบตะวันออกลาง อเมริกาใต้ แอฟริกา และที่สำคัญคือ อินเดีย
จากข้อมูลของเอบีไอรีเสิร์ช ระบุว่าในปี 2554 (ค.ศ. 2011) ยอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในอินเดียนั้นสูงถึง 180 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 14.1 ส่วนคาดการณ์ในปี 2560 (ค.ศ.2017) ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 340 ล้านเครื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่าศักยภาพในการเติบโตของตลาดโทรศัพท์มือถือในอินเดียนั้นมีมากมายขนาดไหน
ในปี 2553 (ค.ศ.2010) จากรายงานของไซเบอร์มีเดีย รีเสิร์ช โทรศัพท์ยี่ห้อ G’Five จากจีนแผ่นดินใหญ่สามารถทำยอดขายในอินเดียได้มากถึง 35 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึงร้อยละ 21 โดยตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดดังกล่าวทิ้งห่างตัวเลขร้อยละ 13 ของโนเกีย ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือระดับโลกจากฟินแลนด์ไปไกล ทั้งยังผลักดันให้ G’Five ติดอันดับเป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลกในปี 2553 อีกด้วย
แม้ในปี 2554 จะมีรายงานว่าตัวเลขส่วนแบ่งทางการตลาดในอินเดียของ G’Five จะลดลงอย่างมาก โดยเหลือเพียงราวร้อยละ 8 ขณะที่โนเกียยังยึดอันดับ 1 ด้วยการรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ร้อยละ 13 จากสภาวะการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถืออินเดียที่ร้อนแรงขึ้นอย่างมาก แต่เรื่องราวของ G’Five ก็ยังคงเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในหมู่นักธุรกิจชาวจีน ณ พ.ศ. นี้อยู่
แน่นอนว่าทุกปรากฏการณ์ทางธุรกิจย่อมมีที่มาที่ไป ส่วนความสำเร็จหรือความล้มเหลวก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
การศึกษาเบื้องหลังความสำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้นของบริษัทโทรศัพท์มือถือซานไจ้ G’Five เอาเข้าจริงก็หนีไม่พ้นแนวคิดและยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจของซีอีโอหนุ่ม ที่มีชื่อว่า จาง เหวินเสียว์ ซึ่งผมจะกล่าวถึงอย่างละเอียดในบทความฉบับหน้า
หมายเหตุ:
[1] http://baike.baidu.com/view/268947.htm
[2] Shanzhai special: From ‘Made-in-China’ to ‘Designed-in-China’, China Daily, 13 Jun 2012.
อ่านเพิ่มเติม
- “ซานไจ้” วัฒนธรรมค้ำเศรษฐกิจจีน โดยวริษฐ์ ลิ้มทองกุล นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับกุมภาพันธ์ 2552
- จีนกับการปฏิวัติเวยป๋อ โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเมษายน 2554
- อิทธิพลของ “เวยป๋อ” โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับมิถุนายน 2554
|
|
|
|
|