|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2555
|
|
เศรษฐกิจโลกกำลังตกอยู่ในอันตราย และจะรอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้หญิงเพียงคนเดียว
“ทุกคน ไปที่เรือชูชีพเดี๋ยวนี้!!!!” คือสัญญาณอันตรายที่ตลาดกำลังส่งออกมาว่าเศรษฐกิจโลกกำลังตกอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวง นักลงทุนจึงพากันเร่งรีบกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่าง สหรัฐฯ เยอรมนี และประเทศที่ถูกมองว่า “ปลอดภัย” ซึ่งมีเพียงหยิบมือเดียว และยังลดจำนวนลงเรื่อยๆ ในขณะที่นักลงทุนยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีอายุ 2 ปี และเต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลอเมริกัน ที่ต้องถือนานถึง 10 ปี ด้วยดอกเบี้ยหน้าตั๋วเพียงน้อยนิดไม่ถึง 1.5% นั้น นักลงทุนเหล่านั้นกำลังแสดงว่าพวกเขากลัวว่าเศรษฐกิจโลกจะซบเซา หรือจะเกิดภาวะเงินฝืดไปอีกนานหลายปี ไม่ว่าสิ่งที่นักลงทุนกลัวจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติมากๆ กำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้
“อะไรบางอย่าง” นั้นคือเศรษฐกิจโลกกำลังตกอยู่ในอันตราย และหายนะครั้งใหญ่ทางการเงินโลกกำลังจะเกิดขึ้น ขณะนี้เศรษฐกิจกำลังอ่อนแอทั่วโลก ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกลุ่มประเทศ euro zone กำลังดิ่งลึก ตัวเลขคนมีงานทำที่เบาหวิวติดต่อกัน 3 เดือนของสหรัฐฯ แสดงว่าการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ก็กำลังมีปัญหา หันไปทางประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ก็ดูเหมือนหัวจะชนเพดานแล้วเช่นกัน GDP ของบราซิลขณะนี้โตช้ากว่าของญี่ปุ่นเสียอีก ส่วนอินเดียก็กำลังแย่เลยทีเดียว แม้กระทั่งจีน ก็ดูเหมือนเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวมากเกินไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โลกที่อ่อนแรงเร็วเกินคาด ทั้งๆ ที่เพิ่งฟื้นตัวจากเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่เมื่อไม่กี่ปีก่อนได้ไม่นาน ทำให้กลัวกันว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะมีสภาพเหมือนกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับสภาพที่ซบเซานานนับเป็นสิบปี
แต่นั่นยังไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่สุด เมื่อเทียบกับอันตรายที่กลุ่ม euro zone และเงินยูโรกำลังจะล่มสลาย สหภาพยุโรป (European Union) เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังจะตกเข้าสู่วังวน แห่งการล่มสลายของธนาคาร การผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นี่คือหายนะทางการเงินครั้งใหญ่ที่จะทำให้การล้มละลายของ Lehman Brothers เมื่อปี 2008 กลายเป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลย ความเสี่ยงที่กรีซอาจจะต้องออกไปจากกลุ่ม euro zone หลังการเลือกตั้งวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ภาคการธนาคารสเปนที่กำลังเกิดปัญหาหนี้เสียขนาดหนัก และการไหลข้ามไปมาของเงินทุนภายในยุโรปที่กำลังเริ่มเกิดปัญหา ต่างเป็นตัวเร่งไปสู่การแตกสลายของ euro zone ทั้งสิ้น และครั้งนี้อาจไม่มีใครสามารถต้านทานเอาไว้ได้อีก เมื่อปี 2008 ธนาคารกลางและผู้นำประเทศยุโรปได้จับมือกันป้องกันเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากตกต่ำเอาไว้ได้ แต่ในครั้งนี้ผู้นำยุโรป กลับเอาแต่ทะเลาะกันเอง ส่วนธนาคารกลางต่างๆ ของยุโรปแม้อยากจะช่วย แต่ก็หมดกระสุนที่จะใช้ได้
ความผิดเริ่มที่กรีซ แต่ซ้ำเติมโดยเยอรมนี
ขณะนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้นำประเทศยุโรป ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่กับเงินยูโร อย่างไรก็ตาม หากผู้นำยุโรปสามารถจับมือกันคิดหาหนทางแก้ปัญหาได้สำเร็จ ก็ใช่จะสามารถรับประกันเศรษฐกิจโลกได้ แต่ประเด็นอยู่ที่หากผู้นำยุโรปแก้ปัญหาไม่ได้ต่างหาก เมื่อนั้นแหละรับประกันได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะต้องเละแน่ๆ และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ชะตากรรมของเศรษฐกิจ โลกจะอยู่หรือจะไปขึ้นอยู่กับผู้หญิงเพียงคนเดียว เธอคือ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี
อาจไม่ยุติธรรมนักหากจะโทษ Merkel ให้รับผิดชอบความผิดปกติที่กำลังเกิดกับเศรษฐกิจโลกแต่เพียงผู้เดียว เพราะผู้นำหลายประเทศทั่วโลกก็ดูเหมือนจะล้มเหลวกันโดยถ้วนทั่ว จากการไม่ยอมลงมือทำอะไรเลย ตั้งแต่อินเดีย ที่การปฏิรูปชะงักงันไปแล้ว ไปจนถึงสหรัฐฯ ที่การทะเลาะเบาะแว้งระหว่าง 2 พรรคหลัก ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นอัมพาต และกำลังจะทำให้การฟื้นตัวที่อ่อนแออยู่แล้วของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเจอภัยสองเด้ง คือการขึ้นภาษี พร้อมๆ ไปกับการต้องลดการใช้จ่ายงบประมาณภายในสิ้นปีนี้ ส่วนในยุโรปเองนักลงทุนไม่ได้ห่วงรัฐบาลที่แสนจะประหยัดมัธยัสถ์ของ Merkel แต่ปัญหาคือ นักลงทุนกำลังสูญเสียความเชื่อมั่นในประเทศยุโรปอื่นๆ ที่ไม่ได้ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเข้มงวดเหมือนกับเยอรมนีเมื่อ 10 ปีก่อน และยังบริหารเศรษฐกิจได้ดีไม่เท่าเยอรมนี
แต่ถ้าหาก euro zone และเงินยูโรล่มสลาย เยอรมนีเองนั่นแหละที่จะได้รับผลกระทบหนัก การที่ธนาคารในเยอรมนีเองถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเพียงตัวอย่างจิ๊บๆ ของผลกระทบที่เยอรมนีจะได้รับถ้าหากยูโรล่มสลาย และจะไม่โทษเยอรมนีก็ไม่ได้ เพราะแม้ว่ารัฐบาลกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส อิตาลี และสเปน จะทำผิดพลาดก็จริง แต่บรรดาประเทศลูกหนี้ในยุโรปเหล่านี้ถูกซ้ำเติมด้วยความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าของบรรดาประเทศเจ้าหนี้ในยุโรปเอง ซึ่งรวมถึงเยอรมนีด้วย ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งการเน้นมาตรการประหยัดรัดเข็มขัดที่ตึงเกินไป แผนการช่วยเหลือแบบครึ่งๆ กลางๆ แผนแล้วแผนเล่าที่ไปไม่สุดสักแผนเดียว รวมไปถึงการไม่ยอมกำหนดแผนการที่ชัดเจนสำหรับการรวมตัวกันทางการคลังและการธนาคารของยุโรป ทั้งๆ ที่แผนการดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หากต้องการรักษาเงินยูโรสกุลเดียวให้อยู่รอดต่อไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ทำให้ยูโรกำลัง เดินเข้าใกล้การล่มสลายเข้าไปทุกที และเยอรมนีซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดทิศทางเดินของยุโรปที่ผิดพลาดในช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่อาจหนีความรับผิดชอบนี้ได้พ้น
ขึ้นอยู่กับคุณแล้ว Merkel
ทั่วโลกกำลังมีความเห็นว่า Merkel ควรต้องทำอะไรบ้าง หากเธอต้องการปกปักรักษาเงินยูโรสกุลเดียวจริงอย่างที่พูด เริ่มแรกเธอต้องเปลี่ยนจากการเน้นนโยบายประหยัดรัดเข็มขัด ไปเป็นการเน้นกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเธอต้องเดินหน้าสานต่อระบบเงินสกุลเดียวให้เสร็จสมบูรณ์ ด้วยการเดินหน้ารวมการธนาคารของยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งได้แก่การมีระบบประกันเงินฝากระบบเดียวทั่วยุโรป มาตรฐานการตรวจสอบธนาคาร และการมีมาตรการร่วมกันในการเพิ่มทุนหรือแก้ปัญหาธนาคารที่กำลังประสบปัญหา รวมถึงการออกตราสารหนี้ที่ยุโรปจะรับผิดชอบร่วมกัน (debt mutualisation) เพื่อเป็นการสร้างสินทรัพย์ที่ปลอดภัยร่วมกันของยุโรป และช่วยให้ประเทศยุโรปอื่นๆ มีช่องให้หายใจและค่อยๆ ลดปัญหาวิกฤตหนี้ของตัวเองลงได้
แล้วเหตุใดผู้นำที่สามารถที่สุดในยุโรปอย่าง Merkel จึงไม่ยอมลงมือทำอะไรเลย บางคนบอกว่าเพราะเธอไม่กล้าที่จะอธิบายกับชาวเยอรมันตรงๆ ว่า ขณะนี้เยอรมนีกำลังเผชิญกับทางที่ต้องเลือกระหว่างความคิดผิดๆ ที่ว่า เยอรมนีไม่ควรช่วยอุ้มชาติเพื่อนบ้านยุโรปที่ไม่สมควรจะได้รับการช่วยเหลือ กับความจริงอันน่ากลัวที่ว่า เงินยูโรกำลังจะล่มสลาย สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเยอรมันส่วนใหญ่คัดค้านการทำ debt mutualisation ก็เป็นเพราะคิดว่าเงินยูโรจะไม่ล่มสลาย ถึงแม้จะไม่มีการสร้างตราสารหนี้ร่วมของยุโรปก็ตาม ส่วนตัว Merkel เองก็เชื่อมั่นว่าการเน้นนโยบายประหยัดของเธอ และการที่เธอยืนกรานไม่ยอมช่วยอุ้มชาติยุโรปที่กำลังเจอปัญหาวิกฤตหนี้นั้น จะเป็นการกดดันให้ชาติเหล่านั้นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ นอกจากนี้ Merkel ยังเชื่อว่าถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับเงินยูโรจริง เยอรมนีจะว่องไวพอที่จะลุกขึ้นสกัดปัญหาได้ทันท่วงที
ต้องยอมรับว่าการเน้นมาตรการรัดเข็มขัดของ Merkel ประสบความสำเร็จจริง เห็นได้ชัดจากการหมดอำนาจของ Silvio Berlusconi ในอิตาลี และการที่ชาติยุโรปใต้ต่างพากันผ่านกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจกันยกใหญ่ อย่างที่ไม่มีใครคิดฝันว่าจะเกิดขึ้นได้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่ต้องจ่ายไปให้กับนโยบายนี้สูงมาก เศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นจากการรัดเข็มขัดที่รัดติ้วเกินไป กลับย้อนมาซ้ำเติมปัญหาวิกฤตหนี้ของยุโรป โดยทำให้ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ฝ่ายการเมืองสุดโต่งเริ่มโผล่ตัวออกมาส่งเสียงโวยวาย ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างไม่รู้จริงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนหมดความเชื่อมั่น และผลักให้ euro zone เข้าใกล้ปากเหวของการล่มสลาย
ส่วนความคิดของเยอรมนีที่ว่าเยอรมนีจะปลอดภัยไร้อันตรายทั้งปวงในนาทีสุดท้าย ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับ euro zone จริง เพราะคิดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีความสามารถมากพอที่จะเข้าช่วยเสริมสภาพคล่องของประเทศใดประเทศหนึ่งที่เกิดปัญหาได้ แต่นั่นเป็นความคิดที่อันตราย เพียงแค่ภาคธนาคารของสเปนทำท่าว่าจะล้มเท่านั้น Merkel ก็ไม่สามารถจะยับยั้งได้แล้ว ถ้าหากกรีซต้องออกจาก euro zone ขึ้นมาจริงๆ คนเยอรมันอาจคิดว่าก็สมควรแล้วที่คนทำผิดสมควรจะโดนลงโทษ แต่ถ้าหากเกิด “Grexit” ขึ้นมาจริงๆ แล้วล่ะก็ ไม่เพียงแต่กรีซเท่านั้นที่จะเกิดปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาจะลามแพร่กระจายไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว และตลอดเวลาที่ยุโรปเกิดปัญหาวิกฤตหนี้มานานหลายปีนั้น Merkel ยังไม่เคยทำอะไรที่หนักแน่นมากพอที่จะทำให้ตลาดสงบลงได้ เหมือนกับที่สหรัฐฯ เคยทำได้มาก่อนกับแผนอุ้มภาคธนาคารและการเงินครั้งใหญ่ที่เรียกว่าแผน TARP
Merkel จำเป็นต้องมีแผนการที่ชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตของเงินยูโรสกุลเดียว ก่อนที่วิกฤตของกรีซจะลุกลามไปมากกว่านี้ และแผนนี้จะต้องมีความชัดเจนมากพอที่จะขจัดข้อสงสัยทั้งมวลที่ทุกคนมีต่อเยอรมนีได้ ว่าเยอรมนีจะปกป้องเงินยูโรจริงอย่างที่พูด รวมทั้งต้องมีการลงมือทำทันทีด้วย เพื่อรับประกันว่ายุโรปจะยังคงรวมตัวกันต่อไป อย่างเช่นการให้คำสัญญาว่าจะใช้กองทุนร่วมกันของยุโรปเข้าเพิ่มทุนธนาคารในสเปน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากลงมือทำในสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นอาจทำให้ Merkel ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียคะแนนนิยมในเยอรมนี แต่ผลดีที่เกิดขึ้นก็อาจพอชดเชยคะแนนเสียงที่เสียไปได้ เพราะหากเยอรมนีให้ความชัดเจนว่า จะยังคงร่วมหัวจมท้ายกับการรวมยุโรปต่อไป ก็จะเปิดช่องให้ ECB สามารถทำอะไรได้มากขึ้น อย่างเช่นการเข้าช้อนซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือการเข้าหนุนหลังธนาคารที่กำลังมีปัญหา และเมื่อความกลัวยุโรปจะล่มสลายค่อยๆ หมดไป ความ เชื่อมั่นของนักลงทุนก็จะกลับคืนมา
ส่วนเศรษฐกิจโลกอาจยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอ่อนแอ และความไม่สามารถของนักการเมืองต่อไปอีก แต่หาก Merkel และเยอรมนียอมลงมือแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรป เพียงแค่นี้ก็สามารถจะช่วยฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้ถอยหลังออกจากหายนะได้ก้าวใหญ่แล้ว
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิอีโคโนมิสต์
|
|
|
|
|