แบงก์ไทยทนุเตรียมเพิ่มทุน 6.7 พันล้านบาท (DTDB) ขายผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อไถ่ถอนแคปส์กลางปีหน้า
หวังฟื้นฐานะ ขณะที่เมินควบรวมกับแบงก์เล็กด้วยกันอีก หลังถูกกลุ่มดีบีเอสสิงคโปร์
กลืนแล้ว คาดบาทปีหน้าแตะ 35 ต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังแนวโน้มเศรษฐกิจ ไทยขยายต่อเนื่อง
นายพรสนอง ตู้จินดา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ (DTDB) ในเครือกลุ่มดีบีเอสจากสิงคโปร์
เปิดเผยว่าช่วงกลางปี 2547 ธนาคารมีแผนจะเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยต้องการเงินประมาณ
6.7 พันล้านบาทอย่างต่ำ ซึ่งจะช่วยให้เงินกองทุนธนาคารเพิ่มขึ้น เพื่อไถ่ถอน หุ้นกู้ด้อยสิทธิควบหุ้นบุริมสิทธิ(แคปส์)
ของธนาคาร 6. 7 พันล้านบาท จะครบกำหนดกลางปีหน้า
ซึ่งเงิน 6.7 พันล้านบาท จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 5 พันล้านบาท จะอยู่ในเงินกองทุนขั้นที่
1 และ 1.7 พันล้านบาท เงินกองทุนขั้นที่ 2
นายพรสนองกล่าวต่อว่า ขณะนี้ ธนาคารมีต้นทุนดอกเบี้ยให้ผู้ถือ แคปส์ประมาณ 730-740
ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม หากสามารถลด ต้นทุนดอกเบี้ยส่วนดังกล่าวได้ จะส่งผลธนาคารกำไรเพิ่ม
ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยดีต่อเนื่องจนถึงปี 2547 จะทำให้การขยายสินเชื่อธนาคาร เพิ่มขึ้น
ดีบีเอสลอดช่องถือหุ้นเบ็ดเสร็จ 74%
การเพิ่มทุน จะเพิ่มให้ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งขณะนี้ ผู้ถือหุ้นกลุ่มดีบีเอส สิงคโปร์ถือหุ้นธนาคารอยู่
52% ถ้ารวมวอร์แรนต์ ที่ออกตอนเพิ่มทุนครั้งก่อน กับแคปส์ สัดส่วนถือหุ้นดีบีเอส
74%
แผนดำเนินงานปีหน้า ธนาคารจะให้ความสำคัญขยายสินเชื่อ ทั้งรายใหญ่ กลาง และรายย่อย
ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารมี สัดส่วนสินเชื่อ รายใหญ่ 78% ของพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร
อีก 22% เป็นสินเชื่อ รายย่อย นอกจากนี้ ธนาคารจะเน้นเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม ทำธุรกิจ
วาณิชธนกิจ
"สินเชื่อรายใหญ่ในขณะนี้ ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากการที่ลูกค้าหันไประดมทุน
ด้วยการออกหุ้นกู้เอง เนื่องจากภาวะอัตราดอก เบี้ยต่ำ แต่เชื่อว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ
ที่เริ่มปรับขึ้นปีนี้ จะช่วยให้ตลาดสินเชื่อรายใหญ่ปีหน้า จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ซึ่งจะขยายตามทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจ โดยธุรกิจที่ธนาคารสนใจ คือ ธุรกิจรถยนต์
อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมอาหาร และเทคโนโลยี สื่อสาร" นายพรสนองกล่าว
นายพรสนองกล่าวต่อถึงกรณีการรองรับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน)ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ที่ต้องการให้ธนาคาร มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นว่า ธนาคารดีบีเอสที่สิงคโปร์ พิจารณาการรองรับแผนดังกล่าวแล้ว
โดยมีแผนให้ธนาคารสามารถดำเนินการทางการเงินได้ครบวงจร (Universal Banking) ที่จะมีธุรกรรมต่างๆ
ให้บริการลูกค้า โดยใช้เครือข่ายธนาคารแม่เป็นจุดเด่น ดำเนินงาน
ไทยทนุไม่ควบรวมอีก
นายพรสนองกล่าวว่า ธนาคารไม่จำเป็นต้องควบรวมกิจการกับธนาคารแห่งอื่นอีก หลังจากถูกกลุ่มดีบีเอสจากสิงคโปร์กลืน
เพราะหากควบรวมเพิ่มกับธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กเหมือนกัน จะไม่เกิดประโยชน์ ประกอบกับธนาคารทำหน้าที่เสมือนสาขา
หนึ่งของบริษัทแม่ ที่ให้บริการการเงินลูกค้าบริษัทแม่ ที่สิงคโปร์ ที่ขยายการลงทุนในไทย
นายพรสนอง กล่าวต่อว่า ไตรมาส 3 ธนาคาร ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 2,700 ล้านบาท
ปีหน้า คาดว่าจะตั้งสำรองน้อยกว่า 800 ล้านบาท ยังคาดว่า กำไรจะเริ่มสูงขึ้นจากที่ปีก่อน
กำไร 1,100 ล้านบาท และตั้งสำรอง 800 ล้านบาท คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น
คาดบาทปีหน้าแตะ 35 ต่อดอลลาร์
ทางด้านนายเสถียร ตันธนะสฤษดิ์ ผู้ช่วยกรรม การ กลุ่มบริหารธุรกิจตลาดเงิน ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ
กล่าวถึงแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินปี 2547 ว่าบาทอาจมีโอกาสแข็งค่ามาก จนถึงเฉลี่ยทั้งปีประมาณ
35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
โดยมีปัจจัยพื้นฐานจากการที่เศรษฐกิจไทยขยายต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่มากขึ้น
รวมทั้งการที่เงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้น เป็นปัจจัยหนึ่ง ส่งผล บาทอ่อนค่าลงจากปัจจุบันยาก
นอกจากนี้ การเลือก ตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปีหน้า ยังคงเป็นปัจจัยภาย นอกที่ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง
เพื่อช่วยแก้ ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนค่าเงินเยนปีหน้า คาดว่าแตะ 100 เยนต่อดอลลาร์
นายเสถียรกล่าวต่อว่า มาตรการทุกข้อที่ภาค รัฐบาลจะประกาศใช้ ไม่ควรเปลี่ยนแปลงบ่อย
เพราะจะเป็นเครื่องบ่งชี้ความไม่แน่นอนในนโยบาย อาจลดความเชื่อมั่นได้ การที่บาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
จะส่งผลกระทบธุรกิจภาคส่งออกแน่นอน ผู้ประกอบ การภาคส่งออกจึงควรปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือ
"การดำเนินนโยบาย ต้องมีความแน่วแน่มั่นคง ต้องเข้าใจตลาด และความเคลื่อนไหวของค่าเงิน
ต้อง เอื้อกับการส่งออกด้วย ซึ่งส่วนผู้ส่งออกของไทย ต้อง ปรับตัวด้วยการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
ซึ่งส่วนของธนาคารจะมี หน้าที่คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าต่อเนื่อง" นาย เสถียร
กล่าว
สำหรับมาตรการป้องกัน และควบคุมเก็งกำไร ค่าเงินจากนักลงทุน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) ประกาศใช้ 14 ต.ค.เป็นมาตรการที่ได้ผลระดับหนึ่ง ควบคุมการเก็งกำไรค่าเงิน
อย่างไรก็ตาม นักเก็งกำไร ยังคงมีบทบาทเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดเงิน ซึ่งหาก การทำธุรกรรมในตลาดมีน้อย
อาจส่งผลกับค่าเงินได้ ถ้ามีการไหลเข้าออกเงินทุนรุนแรง
"หากมาตรการที่ออกมา ทำเพื่อลดความร้อนแรงก็ควรทำ แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีการซื้อขายดีพอ
มาตร-การที่ออกมาก็ไม่สามารถแก้ไขได้โดยตรง เพราะผู้เล่นแต่ละคน มีบทบาทที่ต่างกัน
การเก็งกำไร เป็นการ เพิ่มสภาพคล่องในตลาดเงิน เพราะหากนักเก็งกำไรย้ายไปเก็งกำไรค่าเงินสกุลอื่น
ก็จะทำให้สภาพคล่อง ลดลง และเมื่อมีเงินทุนไหลเข้าออกอย่างรุนแรง จะควบคุมไม่อยู่"
นายเสถียรกล่าว
ด้านนักบริหารเงินธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ค่า เงินบาทวานนี้ว่า (20 ต.ค.) เปิดตลาด
39.72-39.76 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนคงเล็กน้อยช่วงปิดตลาดฯ โดย แตะ 39.96-40.01 บาทต่อดอลลาร์
ขณะที่ตลอดทั้งวันวานนี้ บาทแข็งค่าสุดที่ 39.81 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุด 40 บาท
วันนี้ (21 ต.ค.) คาดว่าเงินบาทช่วงเปิดตลาดตอนเช้า น่าจะอ่อนค่าลงจากช่วงปิดตลาดวานนี้ประมาณ
3 สตางค์ต่อดอลลาร์ แต่หากพิจารณาภาพ รวมทิศทางและแนวโน้มค่าเงินบาทปีหน้า เชื่อว่าช่วงต้นปี
บาทน่าจะแข็งค่าแตะไม่ต่ำกว่า 38.50 บาทต่อดอลลาร์
ส่วนกรณีที่นายแบงก์มองว่า ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นจนแตะ 35 บาทปีหน้า เป็นไปได้
แต่อาจแข็งค่าจนแตะระดับดังกล่าวได้ช่วงปลายปีหน้า โดยภาพรวมเศรษฐกิจประเทศขยายตัวดีขึ้น
ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนส่งผลเงินบาทปีหน้าแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ประกอบกับตัวเลขขยายตัวเศรษฐกิจ
(จีดีพี) ไทย ขยายตัวแนวทางที่ดี ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นการลงทุนมากขึ้น